Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

"[สภาคองเกรสมีอำนาจในการ]สนับสนุนวิทยาศาสตร์และศิลปะที่มีประโยชน์โดยการรับประกันสิทธิพิเศษในระยะเวลาจำกัดเหนืองานเขียนต่างๆ และการค้นพบสิ่งใหม่ๆ ของนักเขียนและนักประดิษฐ์"

รัฐธรรมนูญสหรัฐอเมริกา ส่วนที่ภายหลังเรียกกันว่าบัญญัติลิขสิทธิ์และสิทธิบัตร (1789)

หลังจากรัฐคอนเนตทิกัตออกฎหมายลิขสิทธิ์มาหลังปฏิวัติหมาดๆ รัฐต่างๆ ของประเทศใหม่อย่างสหรัฐอเมริกาแทบทุกรัฐ (ในเวลานั้นมีแค่ 13 รัฐ) ก็ออกกฎหมายลิขสิทธิ์ตามๆ กันมาซึ่งตัวต้นแบบกฎหมายก็คือ Statute of Anne อันเป็นกฎหมายลิขสิทธิ์ฉบับแรกของโลกของเจ้าอาณานิคมเก่าอย่างอังกฤษนั่นเอง ซึ่งปรากฏการณ์ที่กฎหมายลิขสิทธิ์ของแต่ละรัฐดาหน้ากันมาอย่างไม่ได้นัดหมายก็เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นตั้งแต่รัฐธรรมนูญอเมริกายังไม่เสร็จสิ้นและยังไม่มีประธานาธิบดีด้วยซ้ำ

ถ้ากฎหมายลิขสิทธิ์ของอเมริกานั้นเลียนแบบกฎหมายลิขสิทธิ์อังกฤษมา ก็น่าจะอนุมานได้ว่ามีเจตนารมณ์แบบเดียวกันก็คือการสนับสนุนให้คนในชาติมีความรู้ผ่านการกระตุ้นให้มีงานเขียนผ่านการออกกฎหมาย [1] วิธีคิดแบบนี้ดูจะชัดเจนกว่าอังกฤษด้วยซ้ำเมื่อในปี 1789 ทางสภาคองเกรสก็ได้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพิ่มเติมเพื่อให้สภาคองเกรสมีอำนาจในการ "สนับสนุนวิทยาศาสตร์และศิลปะที่มีประโยชน์" โดยให้อภิสิทธิ์ประพันธกรในเวลาที่จำกัด และปี 1790 กฎหมายลิขสิทธิ์ฉบับแรกของรัฐบาลกลางสหรัฐฉบับแรกก็ออกมาสู่โลก ซึ่งนี่ก็เป็นการรองรับลิขสิทธิ์ของอเมริกันชนซึ่งมีผลการบังคับใช้ในทุกรัฐผ่านการขึ้นทะเบียนงานตามที่กฎหมายกำหนด

ภายใต้กรอบคิดของยุคนั้น วลี "สนับสนุนวิทยาศาสตร์และศิลปะที่มีประโยชน์" ดูจะมีความหมายที่ชัดเจนมากว่ากฎหมายลิขสิทธิ์อเมริกาเป็นกฎหมายเพื่อสนับสนุนการสร้างความรู้ ซึ่งในอีกแง่หนึ่งมันก็ไม่สนสิ่งที่ไม่ใช่ความรู้ด้วย เพราะถึงคำว่า “ศิลปะ” ในศตวรรษที่ 18 จะเริ่มมีความหมายแบบวิจิตรศิลป์ (fine art) บ้างแล้วในหมู่แวดวงปัญญาชนในอังกฤษและภาคพื้นทวีป  [2] แต่ความหมายของศิลปะในแบบนี้ก็ไม่ใช่ความหมายที่จะแพร่หลายในคนทั่วไปที่ “ศิลปะ” (art) ในความหมายของอเมริกาตอนนั้นก็ไม่น่าจะต่างจากความหมายของคำว่า “ศิลปะ” ที่ใช้กันในชีวิตประจำวันของชาวยุโรปที่หมายถึงงานหรือทักษะที่ผ่านการฝึกฝนมาที่มนุษย์เท่านั้นจะทำได้ ซึ่งความหมายของศิลปะก็เป็นคนละเรื่องกับ “งานศิลปะ” ทุกวันนี้ เพราะในความหมายของ “ศิลปะ” พวกนี้ ทักษะทางการทหาร ทักษะทางการต่อสู้ ทักษะทางการปกครอง ยันทักษะในการซ่อมโต๊ะ ทักษะทำอาหาร ทักษะการทำนาฬิกา และทักษะถลกหนังสัตว์ ก็ล้วนนับเป็น “ศิลปะ” นี่เป็นความหมายของคำนี้ในช่วงสมัยใหม่ตอนต้น [3]

ในกรอบของความหมายแบบนี้รัฐธรรมนูญก็ได้กำหนดเพิ่มไปอีกว่าศิลปะที่ว่าต้อง “มีประโยชน์” ดังนั้นมันจึงยิ่งชัดเจนมากว่าภายใต้กรอบของรัฐธรรมนูญอเมริกา ทางสภาคองเกรสก็ไม่ได้มีอำนาจที่จะออกกฎหมายมาคุ้มครองศิลปะที่ “ไม่มีประโยชน์” อย่างไรก็ดีผ่านมาจากนั้นสองร้อยปีเราก็คงจะพบว่า “ศิลปะที่มีประโยชน์” ของทางสภาคองเกรสก็ดูจะมีความหมายกว้างในระดับที่แทบจะควานหาสิ่งที่ไม่มีประโยชน์ไม่เจอ

แม้ว่ากฎหมายลิขสิทธิ์ของสหรัฐอเมริกาจะผ่านมาด้วยเจตนาที่ดีไม่ต่างจากอังกฤษ แต่สิ่งที่จะพบก็คือมันก็เป็นกฎหมายที่ไม่มีใครสนใจซึ่งก็ไม่ได้ต่างจากที่เกิดขึ้นในอังกฤษเช่นกัน ดังที่จะเห็นว่าในทศวรรษ 1790 มีหนังสือตีพิมพ์ออกมาไม่ต่ำกว่า 13,000 เล่ม แต่มีเพียง 500 เล่มเท่านั้นที่นำไปขึ้นทะเบียนเพื่อให้มีลิขสิทธิ์ (คิดเป็นไม่ถึง 4% ของงานที่ตีพิมพ์ออกมาทั้งหมด) [4] ซึ่งในกรอบแบบนี้เราก็จะเห็นได้ว่า สภาคองเกรสไม่มีความจำเป็นต้องใช้อำนาจใดๆ ด้วยซ้ำในการให้อภิสิทธิ์แก่นักเขียนเหนืองานเขียนเพื่อกระตุ้นให้นักเขียนผลิตงานที่มีประโยชน์ออกมา

ทำไมพวกนักเขียนและสำนักพิมพ์อเมริกันไม่ต้องการลิขสิทธิ์? คำตอบง่ายๆ คือในโลกของสำนักพิมพ์การทำข้อตกลงระหว่างกันและการจัดสรรปันส่วนการพิมพ์อย่างเหมาะสมดูจะเป็นสิ่งที่มีประสิทธิภาพมากกว่าการทำธุรกิจแบบไม่สนใจโดยไปจดลิขสิทธิ์แล้วค่อยฟ้องร้องยามที่มีเรื่องมีราวในที่สุด

พวกสำนักพิมพ์ในสหรัฐอเมริกา (ซึ่งก็ต้องย้ำว่าตอนนั้นหมายถึงแค่รัฐไม่กี่รัฐในแถบชายฝั่งตะวันออก) มีการประชุมและรวมตัวกันอย่างต่อเนื่องตลอดทศวรรษ 1790 และ 1800 ซึ่งผลที่ได้ก็คือระบบการพิมพ์ที่เหล่าสำนักพิมพ์ตกลงที่จะไม่ “ละเมิดลิขสิทธิ์” กันและกันโดยไม่ต้องใช้กฎหมายลิขสิทธิ์มากำกับให้วุ่นวาย สำนักพิมพ์พวกนี้ตกลงกันเองว่าจะไม่ตีพิมพ์งานที่สำนักพิมพ์อื่นๆ ที่เป็นภาคีได้พิมพ์ไปแล้ว โดยผู้ละเมิดข้อกำหนดนั้นจะมีโทษทางการค้าจากเหล่าภาคีผู้ทำข้อตกลงกัน [5] ซึ่งแนวทางแบบนี้เป็นแนวทางที่ได้ผลไม่น้อยในการ “คุ้มครอง” สิทธิในการผูกขาดการพิมพ์และขายหนังสือของสำนักพิมพ์ในพื้นที่หนึ่งๆ แต่ปัญหา “การละเมิดลิขสิทธิ์” ของผู้ผลิตหนังสือในถิ่นอื่นๆ ซึ่งถือว่าอยู่นอกข้อตกลงก็ดูจะเกิดขึ้นเนืองๆ เช่นกัน

ที่ตลกคือ “การละเมิดลิขสิทธิ์” ที่ว่านี้ที่หนักข้อมากๆ ก็คือการละเมิดลิขสิทธิ์ของนักเขียนอังกฤษ ที่ไม่ถือว่ามีลิขสิทธิ์ด้วยซ้ำในอเมริกา ตรงนี้ต้องเข้าใจว่าชาติเกิดใหม่อย่างสหรัฐอเมริกานั้นไม่ได้มีนักเขียนมากมาย งานที่คนอเมริกันอ่านส่วนใหญ่ก็เป็นงานที่เจ้าอาณานิคมเก่าอย่างอังกฤษเขียน ซึ่งใต้กรอบกฎหมายลิขสิทธิ์อเมริกันก็ไม่ได้ต่างจากกฎหมายลิขสิทธิ์ยุคแรกๆ ทั้งหมดที่มีขอบเขตการคุ้มครองเพียงแค่ประชาชนของชาติๆ เท่านั้น ชาวต่างชาติไม่เกี่ยว

นี่ทำให้หนังสือจากอังกฤษสามารถถูกตีพิมพ์ในอเมริกาได้โดยเสรี ซึ่งแม้ว่านี่จะเป็นประโยชน์สำหรับผู้บริโภค แต่มันก็หมายถึงภาวะที่สำนักพิมพ์ต้อง “แย่งกันพิมพ์” อย่างไม่มีกฎเกณฑ์ใดๆ กำกับยกเว้นแต่ข้อตกลงที่สำนักพิมพ์มีต่อกันที่มีขอบเขตแค่ในท้องถิ่นเท่านั้น นี่ทำให้สำนักพิมพ์ต่างถิ่นกันต้องแย่งกันตีพิมพ์งานจากทางฝั่งอังกฤษอย่างเอาเป็นเอาตายเลยทีเดียว ซึ่งนี่นำไปสู่ระบบการส่ง “ตัวแทน” (agent) ของสำนักพิมพ์ต่างๆ ไปประจำอยู่ที่อังกฤษ เพื่อให้ส่งหนังสือที่พิมพ์ใหม่ๆ สดๆ ร้อนๆ มาอเมริกาให้เร็วที่สุดเพื่อสำนักพิมพ์จะได้รีบไปรับต้นฉบับที่ท่าเรือมาพิมพ์ในอเมริกา ซึ่งในบางครั้งระบบนั้นก็นำไปสู่การที่ “ตัวแทน” ทั้งหลายจ่ายเงินค่าต้นฉบับให้เหล่านักเขียนดังๆ ของอังกฤษด้วยซ้ำเพื่อที่จะได้ต้นฉบับมาพิมพ์ในอเมริกาโดยไม่ต้องรอให้หนังสือตีพิมพ์ในอังกฤษก่อน [6]

อย่างไรก็ดีระบบนี้โดยรวมๆ ก็สร้างความหายนะให้เหล่าสำนักพิมพ์ ตลอดช่วงทศวรรษ 1820 ถึง 1840 ซึ่งการตีพิมพ์หนังสือจากฝั่งอังกฤษออกมาซ้ำซ้อนกันเป็นเรื่องปกติ และมันก็สร้างความเสียหายจากการที่หนังสือค้างสต็อกเป็นปริมาณมหาศาล จนในที่สุดทางสำนักพิมพ์ต่างถิ่นกัน (ที่โดดเด่นที่สุดคือกลุ่มสำนักพิมพ์จากนิวยอร์กและฟิลาเดลเฟีย) ก็ต้องมาทำข้อตกลง “มารยาททางการค้า” (trade courtesy) กันเพื่อให้การพิมพ์ซ้ำซ้อนนี้ไม่เกิดขึ้นอีก ในช่วงกลางศตวรรษที่ 19 ก่อนเกิดสงครามกลางเมืองเล็กน้อย

ข้อตกลงนี้ประกอบไปด้วยเงื่อนไข เช่น สำนักพิมพ์จะพิมพ์งานใดใหม่ก็ต้องมีต้นฉบับอยู่ในมือแล้วประกาศก่อน สำนักพิมพ์ที่พิมพ์งานของนักเขียนคนใดไปแล้วก็จะได้สิทธิตีพิมพ์งานชิ้นต่อไปของนักเขียนคนนั้นๆ ไปจนถึงข้อตกลงพื้นๆ อย่าง การที่สำนักพิมพ์พิมพ์งานใดไปแล้วก็จะได้สิทธิในการตีพิมพ์งานนั้นๆ ต่อไป ฯลฯ ซึ่งทั้งหมดก็ได้กลายมาเป็น “กฎของเกม” ในการตีพิมพ์งานจากฝั่งอังกฤษที่ไร้ลิขสิทธิ์ในอเมริกามาจนอเมริกายอมออกกฎหมายลิขสิทธิ์นานาชาติและยอมรับลิทธิของนักเขียนอังกฤษในที่สุดในปี 1891

 

[1] Ronan Deazley, On the Origin of the Right to Copy: Charting the Movement of Copyright Law in Eighteenth-Century Britain (1695–1775), (Hart Publishing: Oxford, 2004) 

[2] Martha Woodmansee, The Author, Art, and the Market: Rereading the History of Aesthetics, (New York: Columbia University Press, 1994)
 
[3] William H. Sewell, Jr., Work and Revolution in France: The Language of Labor from the old Regime to 1848, (New York: Cambridge University Press, 1980), pp. 22
 
[4] Adrian Johns, Piracy: The Intellectual Property Wars From Gutenberg to Gates, (Chicago: University of Chicago Press, 2009), p. 196

[5] Adrian Johns, Piracy: The Intellectual Property Wars From Gutenberg to Gates, (Chicago: University of Chicago Press, 2009), pp. 195-203
 
[6] Adrian Johns, Piracy: The Intellectual Property Wars From Gutenberg to Gates, (Chicago: University of Chicago Press, 2009), pp. 295-302

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net