เมื่อโลกเป็นไข้และรัฐไทยไปประชุมผู้นำยูเอ็นเรื่องโลกร้อน

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

 

 

วันอังคารที่ 23 กันยายน ที่จะถึงนี้ พล.อ.ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ จะเข้าร่วมการประชุมระดับผู้นำเรื่องโลกร้อนของสหประชาชาติ หรือ UN Climate Summit ที่เมืองนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ก่อนที่จะเข้าร่วมการประชุมประจำปีสมัชชาใหญ่สหประชาชาติ โดยรัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศมีชื่อเป็นผู้ขึ้นกล่าวสุนทรพจน์อยู่รายชื่อสุดท้ายของช่วงบ่าย และนี่ถือเป็นการเยือนประเทศตะวันตกของรัฐบาลปัจจุบันอย่างเป็นทางการเป็นครั้งแรก

 

เมื่อความมุ่งมั่นของผู้นำโลกขาดแคลน

การประชุมโลกร้อนครั้งนี้เป็นนัดพิเศษที่จัดขึ้นโดยนายบัน คี มูน เลขาธิการสหประชาชาติเพื่อกระตุ้นให้ผู้นำระดับโลกแสดงเจตนารมณ์ว่ายังจริงจังกับการหยุดภาวะโลกร้อนอยู่ โดยเปิดโอกาศให้เหล่าผู้นำกล่าวสุนทรพจน์แสดงวิศัยทัศน์และแผนการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของประเทศคนละ 4 นาที เนื่องจากช่วงหลายปีที่ผ่านมา การเจรจาเพื่อหาหนทางลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกภายใต้ “กรอบอนุสัญญาด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของสหประชาชาติ (UNFCCC)” ซึ่งดำเนินมากว่าสองทศวรรษ ปรากฏสัญญานชัดว่า ผู้นำโลกโดยเฉพาะประเทศขนาดใหญ่และประเทศที่พัฒนาอุตสาหกรรมไปไกลแล้วต่างขาด “ความมุ่งมั่นทางการเมือง”  ทั้งที่จะต้องเจรจาหาข้อตกลงใหม่ร่วมกันเพื่อกำหนดการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ได้ภายในปีหน้า 

อย่างไรก็ดี ภาวะที่น่ากังวลในขณะนี้คือ แม้จะมีการประกาศเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซฯ ของประเทศต่างๆ แต่เมื่อนำมารวมกันแล้วก็ยังไม่เพียงพอที่จะหยุดภาวะโลกร้อนไว้ไม่ให้เกิน 2 องศาเซลเซียสภายในสิ้นศตวรษได้ ในทางกลับกัน เรากำลังเผาเชื้อเพลิงฟอสซิลเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในอัตราที่จะพาเราไปสู่โลกที่ร้อนขึ้น 4-6 องศา ขณะที่ประเทศมหาอำนาจส่วนใหญ่ที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกจำนวนมากรวมทั้งประเทศกำลังพัฒนา ต่างยังไม่ยอมให้การลดการปล่อยก๊าซฯ ของตนเป็นพันธะผูกพันทางกฎหมายภายใต้กฎหมายระหว่างประเทศ

 

เสียงของประชาชนเรียกร้อง หยุดโลกร้อนให้ทันอย่างถูกวิธี

กล่าวในส่วนการตื่นตัวของภาคประชาชน วันอาทิตย์ที่ 21 กันยายน ก่อนการประชุมผู้นำเรื่องโลกร้อนของสหประชาชาติ กระบวนการเคลื่อนไหวของประชาชนทั่วโลกพร้อมใจกันจัดการเดินขบวนเรื่องโลกร้อนครั้งใหญ่(ที่สุด) ภายใต้ชื่อ People's Climate March หรือ #PeolplesClimate โดยคาดว่ามีผู้เข้าร่วมการเดินขบวนกว่า 100,000 คนในนิวยอร์ค และอีกกว่า 100,000 คนในเมืองใหญ่ทั่วโลก เช่น เบอร์ลิน ปารีส ลอนดอน อัมสเตอร์ดัม ฯลฯ ขณะที่นักกิจกรรมอีกส่วนหนึ่งกำหนดการเดินขบวนในวันจันทร์ที่ 22 กันยายน ณ ถนนวอลล์สตรีท ศูนย์กลางการเงินการธนาคารของสหรัฐอเมริกาและโลก ภายใต้แคมเปญ #FloodWallStreet เพื่อกระตุ้นให้คนตระหนักถึงอิทธิพลของกลุ่มทุน ต่อการทำให้เกิดภาวะโลกร้อนและการขัดขวางการลดโลกร้อนอย่างจริงจัง

ในโอกาสนี้ คณะทำงานโลกเย็นที่เป็นธรรม (Thai Climate Justice) ร่วมกับขบวนการเคลื่อนไหวและกลุ่มองค์กรประชาชนกว่า 340 องค์กรทั่วโลก ได้ออกแถลงการรวมพลังและขับเคลื่อนเพื่อ “หยุดยั้งและป้องกันโลกป่วยไข้” ระบุเหตุพื้นฐานของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศว่า เพราะระบบการผลิตและการบริโภคของมนุษย์ปัจจุบันพึ่งพาเชื้อเพลิงฟอสซิลมากเกินไป คิดว่าทรัพยากรธรรมชาติเป็นสิ่งของที่ซื้อขายได้ไม่สิ้นสุด และไม่ยอมรับว่าโลกมีข้อจำกัด  ในขณะเดียวกัน เราปล่อยให้คนไม่กี่กลุ่มควบคุมทิศทางการพัฒนา ทำให้ผลประโยชน์จากการใช้ทรัพยากรและการพัฒนาไปไม่ถึงคนส่วนใหญ่ในสังคม  ยิ่งไปกว่านั้น เราปล่อยให้นักการเมืองและผู้มีอำนาจตัดสินใจ ฟังและอุ้มนักธุรกิจมากกว่าประชาชน ดังนั้นหนทางแก้ปัญหาโลกร้อนอย่างยั่งยืนคือการสร้างระบบเศรษฐกิจใหม่ที่ยั่งยืน เป็นอันหนึ่งอันเดียวกับธรรมชาติ และตอบโจทย์ประชากรส่วนใหญ่ของสังคม  ขณะที่ประชาชนและชุมชนต้องถ่ายโอนอำนาจการตัดสินใจและควบคุมระบบพลังงงาน-การผลิต-การบริโภค กลับคืนมาจากผู้มีอำนาจและกลุ่มธุรกิจที่อยู่เบื้องหลัง

แถลงการดังกล่าวได้รับการแปลเป็นภาษาอังกฤษ ฝรั่งเศษ สเปญ โปรตุเกส และไทย นำเสนอว่า ถึงเวลาที่สังคมมนุษย์ต้องรีบ “ทบทวนนิยาม คุณภาพชีวิต การกินดีอยู่ดี และความเจริญรุ่งเรือง ใหม่ เพื่อให้มนุษย์ดำรงอยู่ได้อย่างเคารพและกลมกลืนกับธรรมชาติ สรรพชีวิต และขีดจำกัดของโลก" โดยนำเสนอทางออกในระยะยาวคือ "การเปลี่ยนผ่านไปสู่ระบบเศรษฐกิจและการพัฒนารูปแบบใหม่ ที่หลุดกรอบการพึ่งพาเชื้อเพลิงฟอสซิล มุ่งหน้าพัฒนาพลังงานสะอาด และให้ประชาชนเป็นศูนย์กลางอย่างแท้จริง ไม่คำนึงแต่ผลกำไรของภาคธุรกิจ-อุตสาหกรรม”  ทั้งยังนำเสนอทางออกที่ควรทำได้ทันทีอย่างน้อย 10 ประการ เช่น แต่ละประเทศต้องให้พันธะสัญญาลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่มีผลผูกพันโดยทันที, ไม่นำเชื้อเพลิงฟอสซิลสำรองที่ค้นพบแล้วกว่า 80% ขึ้นมาเผา, หยุดโครงการสำรวจและขุดเจาะเชื้อเพลิงฟอสซิลและนิวเคลียร์ใหม่ทั้งหมด, หยุดการสร้างโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ที่ไม่จำเป็นและมิได้ก่อประโยชน์ให้แก่ประชาชนอย่างแท้จริง ทั้งยังเป็นตัวก่อให้เกิดก๊าซเรือนกระจกและทำลายธรรมชาติ เช่น โครงการเขื่อนขนาดใหญ่ ทางด่วน-ถนนขนาดใหญ่, และส่งเสริมการผลิตในท้องถิ่นและการบริโภคผลิตภัณฑ์คงทนที่จะตอบสนองความต้องการขั้นพื้นฐานของประชาชน เป็นต้น

 

ความจริงจังของรัฐไทยในการหยุดโลกร้อน

สำหรับประเทศไทย ได้ประกาศต่อที่ประชุมประจำปีภาคีอนุสัญญา UNFCCC เมื่อปีที่แล้ว (2556) ว่ามีแผนโดยสมัครใจที่จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ได้ 7-20% ภายในปี 2020 (ในอีก 6 ปีข้างหน้า) โดยเตรียมนำเสนอแผนปฏิบัติการที่จะเน้นภาคพลังงานและภาคขนส่งในปีนี้  อย่างไรก็ตาม สังคมไทยยังไม่เคยมีการถกเถียงในทางสาธารณะอย่างกว้างขวางเพียงพอ ว่าการตั้งเป้าหมายเหล่านี้มีผลอย่างไรต่อการกำหนดทิศทางกาพัฒนาประเทศในอนาคตอย่างยั่งยืน และเราจะต้องมีปฏิบัติการอะไรบ้างเพื่อนำไปสู่การบรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้

ขณะเดียวกัน เมื่อย้อนมาดูทิศทางนโยบายพลังงานของกระทรวงพลังงานภายใต้รัฐบาลปัจจุบัน ยังคงเป็นไปในทางเพิ่มและพึ่งพาการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลที่ไม่ยั่งยืนเป็นหลัก ดังที่ได้มีการประกาศนโยบายสำคัญได้แก่ การเปิดสัมปทานปิโตรเลียมในอ่าวไทยรอบที่ 21 การเพิ่มโรงไฟฟ้าถ่านหินทั่วประเทศอีก 10,000 เมกกะวัตต์ การเดินหน้าโครงการโรงไฟ้านิวเคลียร์ การนำเข้าไฟฟ้าที่ผลิตจากโรงไฟฟ้าถ่านหินและเขื่อนขนาดใหญ่ในประเทศเพื่อนบ้าน เป็นต้น ในขณะที่ คสช. เพิ่งจะอนุมัติการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินแม่เมาะเพิ่มเติมอีก 600 เมกกะวัตต์ในเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ขณะเดียวกัน รัฐบาลยังคงชูนโยบายฟื้นฟูเศรษฐกิจที่พึ่งพาการผลิตอุตสาหกรรมเพื่อการส่งออก การก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่รวมทั้งการทำเหมือนแร่ซึ่งจะส่งผลต่อการทำลายทรัพยากรธรรมชาติที่มีเหลือน้อยอยู่แล้ว โดยไม่ฟังเสียงทัดทานจากชุมชนต่างๆ ทั่วประเทศ

แนวทางการพัฒนาและกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลในขณะนี้ ยังคงไม่ต่างจากรัฐบาลอื่นๆ ที่ผ่านมา อันเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการนำพาประเทศไทยไปสู่การเป็นส่วนหนึ่งของประชาคมโลกในการรับมือกับภาวะโลกร้อน ซึ่งขณะนี้ต้องการความร่วมมือของทุกประเทศเพ่ือเร่งลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ได้มากที่สุดโดยเริ่มต้นในทันที เพื่อป้องกันหายนะภัยจากภาวะโลกร้อนที่นับวันจะทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ  ทั้งนี้ การเดินหน้าพัฒนาแบบเดิมๆ ด้วยความเชื่อว่าเศรษฐกิจจะโตได้ต้องเอาน้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ และถ่านหินขึ้นมาเผา เป็นการละเลยต่อขีดจำกัดของโลกและทรัพยากรธรรมชาติ ทั้งยังเป็นการเพิกเฉยต่อเสียงเรียกร้องของประชาชนที่เริ่มมีการตื่นตัวต้องการเห็นระบบเศรษฐกิจใหม่ที่ยั่งยืน อยู่บนฐานพลังงานสะอาดที่ไม่ส่งผลกระทบต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจัง

 

แก้โลกร้อน ต้องส่งเสริมประชาธิปไตยในกระบวนการนโยบายสาธารณะ

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมานี้ ประชาชนทั่วโลกมีความตื่นตัวเป็นอย่างยิ่ง ว่าการแก้ปัญหาโลกร้อนที่แท้จริง จะต้องทำให้ระบบพลังงานและระบบการผลิตต่างๆ กระจายศูนย์โดยให้ชุมชนและประชาชนสามารถมีส่วนร่วมได้มากขึ้น ทำให้การควบคุมนโยบายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องเป็นประชาธิปไตยขึ้น จึงไม่อาจปฏิเสธว่าเรื่องพลังงาน-ทิศทางการพัฒนา-โลกร้อน มีความเกี่ยวข้องเชื่อมโยง เป็นการเมืองเชิงอำนาจ เพราะการเปลี่ยนแปลงในเชิงบวกจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อมีการถ่ายโอนอำนาจการตัดสินใจจากนักการเมืองและบรรษัทเอกชนมาเป็นของประชาชนและชุมชน ซึ่งเป็นโจทย์ใหญ่ที่สังคมไทยต้องช่วยกันคิด

น่าเศร้าว่าสำหรับประเทศไทยในขณะนี้ การออกเดินขบวนและรณรงค์ของกลุ่มประชาชน ที่ต้องการมีส่วนร่วมในการปรับปรุงโครงสร้างระบบพลังงานไทยและนโยบายสาธารณะอื่นๆ กลับถูกจำกัดพื้นที่ในการแสดงความเห็น และยิ่งถูกปราบปรามอย่างหนักภายใต้กฎอัยการศึก ในขณะที่ตัวแทนของกลุ่มธุรกิจพลังงาน (เชื้อเพลิงฟอสซิล) และวิสาหกิจพลังงานขนาดใหญ่ มีพื้นที่อย่างมั่นคงในคณะรัฐมนตรี สภานิติบัญญัติแห่งชาติ และคณะกรรมการสรรหาสภาปฏิรูปแห่งชาติ ดังนั้น สุทรพจน์แสดงวิสัยทัศน์เรื่องโลกร้อนของของรัฐมนตรีต่างประเทศที่จะแถลงในที่ประชุมสหประชาชาติในวันอังคารนี้ ซึ่งต้องสอดคล้องกับทิศทางของนโยบายรัฐบาลปัจจุบันดังได้กล่าวมา คงจะเป็นเพียงลมปากที่ไม่สามารถนำพาประเทศไปสู่ระบบเศรษฐกิจและการพัฒนาแบบใหม่ที่ยั่งยืนและตอบโจทย์ผลประโยชน์ของคนส่วนใหญ่ในสังคมได้
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท