มายาคติเกี่ยวกับการเมืองต่างประเทศ

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

 

ต่อไปนี้เป็นมายาคติหรือความเข้าใจผิดของคนไทยจำนวนมากเกี่ยวกับการเมืองต่างประเทศซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการเมืองของไทยทางอ้อมเพราะคนไทยจำนวนมากไม่ว่าจะเป็น คสช. นักวิชาการ ชนชั้นกลางหรือแม้แต่ชาวบ้านได้นำความเข้าใจเช่นนี้มาเพื่อเปรียบเทียบกับประเทศไทยในการสร้างความชอบธรรมให้กับอุดมการณ์ทางการเมืองที่ตัวเองสนับสนุนหรือไว้สำหรับโจมตีแนวคิดอื่นที่ตัวเองเกลียดชัง พฤติกรรมเช่นนี้พบมากในบรรดาผู้ที่ต่อต้านระบอบประชาธิปไตย  

1.ประชาธิปไตยคือสหรัฐอเมริกา

ความเชื่อเช่นนี้ดูน่าเชื่อถืออย่างมากในช่วงสงครามเย็นที่กระบวนการทำให้เป็นประชาธิปไตย (Democratization) ของโลกยังไม่แพร่หลายอย่างเช่นในปัจจุบันนี้ สงครามเย็นได้ทำให้สหรัฐอเมริกาโฆษณาชวนเชื่อว่าตนเป็นต้นแบบของประชาธิปไตยเพื่อเอาชนะสหภาพ โซเวียตเช่นเดียวกับความพยายามในการครอบงำชาวโลก  การโฆษณาเช่นนี้ก็ถือได้ว่าทรงพลังเพราะระบบการเมืองของสหรัฐฯ มีลักษณะอันโดดเด่นไม่ว่า การกระจายอำนาจแบบสหพันธรัฐ การคานอำนาจระหว่างสถาบันต่างๆ   รัฐธรรมของสหรัฐฯ ที่สนับสนุนเสรีภาพการแสดงออกได้ทำให้เกิดการแพร่หลายของขบวนการประชาสังคม การเรียกร้องสิทธิและเสรีภาพของชนกลุ่มน้อยในทศวรรษที่ 60  และ 70 ฯลฯ   ภาพเงาเช่นนี้ย่อมทำให้คนเข้าใจว่าประชาธิปไตยคือสหรัฐ ฯ  สหรัฐ ฯ คือประชาธิปไตย มาตลอดเวลา  เมื่อสหรัฐฯ ในปัจจุบัน ถูกโจมตีอย่างมากในความลดถอยของประชาธิปไตย ปัญหาเศรษฐกิจที่ถดถอยและความน่าเชื่อถือในเวทีโลก ก็ทำให้คนที่ต้องการต่อต้านประชาธิปไตยมักจะใช้สหรัฐฯ เพียงประเทศเดียวในการโจมตีแบบเหมารวมว่าประชาธิปไตยนั้นไม่ได้เรื่องและไม่เหมาะกับประเทศไทยเป็นอันขาด

ตามความจริงแล้วประชาธิปไตยนั้นเจริญเติบโตและงอกงามในยุโรปและมีความเจริญกว่าสหรัฐอเมริกาในปัจจุบันมากมาย ดังจะดูได้จากการจัดอันดับความเป็นประชาธิปไตยและความโปร่งใสในปัจจุบันว่าประเทศในยุโรปย่านสแกนดิเนเวียรวมไปถึงประเทศเล็กๆ ดังเช่นนิวซีแลนด์นั้นมีอันดับสูงกว่าสหรัฐ ฯ มากมายนัก  ซึ่งเป็นข้อมูลที่คนสนับสนุนเผด็จการมักมองข้ามไม่ยอมพูดถึงนักโดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อสหรัฐฯ มีท่าทีแข็งกร้าวต่อการทำรัฐประหารของไทย

2.การสนับสนุนประชาธิปไตยของตะวันตกเป็นเรื่องผลประโยชน์เพียงอย่างเดียว

ความเข้าใจเช่นนี้อาจดูสมเหตุสมผลเพราะรัฐบาลตะวันตกก็ได้ใช้ประเด็นเรื่องประชาธิปไตยในการต่อรองเรื่องผลประโยชน์ และมีอยู่มากมายหลายครั้งที่รัฐบาลตะวันตกทำตนเป็นพวก “มือถือสากปากถือศีล” ดังกรณีท่าทีของสหรัฐฯ ต่อประเทศอียิปต์ แต่หากมองอีกแง่มุมหนึ่งนโยบายต่างประเทศของตะวันตกส่วนหนึ่งก็ได้รับการผลักดันจากความศรัทธาและความต้องการเผยแพร่ประชาธิปไตยอย่างแท้จริง ดังเช่นการที่สหรัฐฯ บุกอัฟกานิสถานและอิรักนั้น มักมีคำอธิบายว่าสหรัฐฯต้องการขยายอิทธิพลและวงผลประโยชน์เหนือตะวันออกกลางจนหลงลืมไปว่ากลุ่ม นวอนุรักษ์นิยม (Neo-conservative)  ที่มีอิทธิพลต่อรัฐบาลของบุชก็มีความเชื่อมั่นในเรื่องการใช้กำลังทางทหารเพื่อทำให้เกิดประชาธิปไตยในประเทศที่เป็นเผด็จการ

ในทางกลับกัน วาระเรื่องประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนที่สหรัฐฯและสหภาพยุโรปใช้กดดันประเทศซึ่งมีปัญหาด้านประชาธิปไตยดังเช่นไทยและพม่าก็ได้ส่งผลทางบวกให้กับประชาชนในประเทศนั้นเป็นอย่างมาก เพราะทำให้รัฐบาลเผด็จการระมัดระวังไม่ล่วงละเมิดสิทธิมนุษยชนจนโจ่งแจ้งมากไปและการกดดันของตะวันตกก็อาจนำไปสู่การฟื้นฟูและพัฒนาประชาธิปไตยในอนาคตในที่สุด (ถึงแม้อาจจะปลอมๆก็ตาม)  เหตุผลสำคัญที่ทำให้คสช. พยายามเลี่ยงบาลีในการปิดกั้นเสรีภาพการแสดงออกทางวิชาการหรือทางการเมืองโดยการหันไปเป็นการปรับทัศนคติหรือการข่มขู่ด้วยรอยยิ้มแบบเสแสร้งมากกว่าการคุมขังและการอุ้มหาย  ก็เพราะไม่ต้องการให้ชาติตะวันตกโจมตีและอาจเป็นข้ออ้างในการประณามและนำไปสู่การคว่ำบาตรที่ร้ายแรงกว่าเดิม หากไม่เช่นนั้นแล้ว คสช.คงหันไปใช้วิธีการแบบ จอมพลสฤษดิ์        ธนะรัชต์อย่างแน่นอน (แน่นอนว่าในยุคจอมพลสฤษดิ์ สหรัฐฯก็เฝ้าจับตาไทยเหมือนกัน แต่ปัจจุบันบริบททางการเมืองได้เปลี่ยนไปอย่างมากมายไม่ว่าการสิ้นสุดของสงครามเย็นและความก้าวหน้าของเทคโนโลยีเกี่ยวกับการสื่อสาร)  นอกจากนี้ยังมีคำถามว่าเหตุใดพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชาจึงต้องกล่าวคำขอโทษต่อหน้าสื่ออยู่บ่อยๆ  ไม่ว่ากรณีการสวมบิกีนีของนักท่องเที่ยวหรือการพาดพิงถึงผู้หญิงคนหนึ่งด้วยคำหยาบคาย (คำตอบก็คืออิทธิพลทางอ้อมของสิทธิสตรี)

3.ชาวตะวันตกรักและชื่นชอบระบบการเมืองของตนเอง

เป็นความเข้าใจผิดโดยเฉพาะนักคิดเสรีนิยมที่ต้องการนำมุมมองนี้มาสนับสนุนแนวคิดประชาธิปไตย ตามความจริงแล้ว มีคนจำนวนไม่น้อยทั้งในสหรัฐฯและตะวันตกต่างท้อแท้และสิ้นหวังในระบบการเมืองของตน โดยเฉพาะอย่างยิ่งสหรัฐฯในช่วงของจอร์จ ดับเบิลยู บุชซึ่งมีคนอเมริกันจำนวนมากอยากจะให้เขาออกจากตำแหน่งด้วยวิธีพิเศษที่ไม่อยู่ในรูปแบบประชาธิปไตยเพราะเป็นไปไม่ได้ที่จะให้ประธานาธิบดีอเมริกันออกจากตำแหน่งเหมือนนายกรัฐมนตรีแม้จะดำเนินงานบริหารผิดพลาด (ยกเว้นเป็นกรณีที่กระทำความผิดขั้นร้ายแรงจนต้องถูกไต่สวน หรือ Impeachment)   กรณีดังเช่นการนำสหรัฐฯ เข้าสู่สงครามในอิรักก็ยังไม่สามารถทำให้บุชออกจากตำแหน่งหรือถูกดำเนินคดีได้ อันสะท้อนถึงความเน่าเฟะของการเมืองอเมริกัน ข้อกล่าวหานี้ยังเกิดกับนายโทนี แบลร์อดีตนายกรัฐมนตรีของอังกฤษซึ่งดำเนินนโยบายการทหารอิงกับรัฐบาลของนายบุช

นอกจากนี้ระบบประชาธิปไตยของสหรัฐฯ ซึ่งเน้นการคานอำนาจมากจนเกินไปอันส่งผลถึงการกลายเป็นการชะชักงันทางอำนาจเพราะพรรคการเมือง 2 พรรคงัดข้อกันเองจนไม่สามารถออกกฎหมายอันได้ทำให้เกิดวิกฤตในยุคของนายบารัก โอบามา จนรัฐบาลต้องปิดทำการชั่วคราวเพราะรัฐสภาไม่สามารถตกลงกันเรื่องงบประมาณของประเทศได้เช่นเดียวกับการกำหนดเพดานหนี้จนเกือบทำให้สหรัฐฯต้องพบกับวิกฤตทางเศรษฐกิจครั้งใหญ่อีกครั้ง จนนักวิชาการหลายคนต้องการให้สหรัฐฯ เปลี่ยนรูปแบบการปกครองแบบประธานาธิบดีซึ่งมาเป็นระบอบรัฐสภาเพื่อให้สามารถเปลี่ยนผู้นำได้ง่ายและกฎหมายสามารถถูกออกเพื่อนำมาใช้ได้ง่ายกว่านี้

ชาวตะวันตกจำนวนมากก็มีความคิดเหมือนกับคนไทยอีกหลายคนที่เสื่อมศรัทธาในนักการเมืองอยากให้ประเทศตนปกครองด้วยเผด็จการที่แสนดี ฉลาดและเปี่ยมด้วยความสามารถ (ดังความคิดของนักปรัชญาเช่นลีโอ สตราส ซึ่งผลิตซ้ำแนวคิดของเปลโตมา)  ในทางกลับกันก็มีชาวตะวันตกอีกพอสมควรที่นิยมแนวคิดแบบอนาธิปไตยคือต่อต้าน อยากยุบรัฐบาล และให้ประชาชนและชุมชนปกครองตัวเองเพราะเห็นว่ารัฐบาลนั้นเป็นของคนรวย โดยคนรวยและเพื่อคนรวย  แนวคิดนี้ย่อมส่งผลมาถึงคนไทยจำนวนมากที่ได้รับสารจากชาวตะวันตกเหล่านั้น

ไม่ว่าอย่างไรก็ตามสิ่งเหล่านี้สะท้อนให้เห็นว่าประชาธิปไตยของตะวันตกแม้แต่ประเทศในย่านสแกนดิเนเวียหรือนิวซีแลนด์ที่ได้คะแนนด้านประชาธิปไตยสูงๆ นั้นไม่ได้มีความสมบูรณ์หากแต่เป็นกระบวนการที่ยังบกพร่อง มีการเดินถอยหลังและต้องอาศัยปฏิรูปอีกไปเรื่อยๆ ไปตามอุดมการณ์หรือจุดหมายที่ประเทศเหล่านั้นได้วางไว้เอง ซึ่งเราจะนำมาเป็นเงื่อนไขเพื่อปฏิเสธระบอบประชาธิปไตยไม่ได้เพราะอย่างน้อยที่สุดเราควรศรัทธาในตัวของอุดมการณ์ประชาธิปไตยเสรีนิยมแบบสากลที่ประเทศเหล่านั้นพร่ำบอกมากกว่าตัวของประเทศเองเช่นเดียวกับที่ชาวพุทธยึดมั่นในหลักธรรมของพระพุทธเจ้าโดยไม่ต้องดูว่าพฤติกรรมของพระสงฆ์และองค์กรของสงฆ์ในปัจจุบันนั้นเป็นอย่างไร

4.เผด็จการอำนาจนิยมเป็นเรื่องดีดูอย่างลัทธิปูตินสิ

ฉากทางการเมืองสำคัญที่เป็นการโฆษณาลัทธิปูตินหรือเผด็จการอำนาจนิยมตามแบบประธานาธิบดีรัสเซียคือวลาดิเมียร์ ปูตินได้อย่างดีในบรรดาคนเกลียดสหรัฐ ฯ   (และเลยไปถึงลัทธิประชาธิปไตยได้)  คือการแสดงแสนยานุภาพของทหารในกรณียูเครน ภาพตามสายตาของนงนุช สิงหเดชะ  ปูตินเป็นบุรุษเหล็ก ทำให้รัสเซียมีความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจและการเมือง 

ตามความเป็นจริง ปูตินก็เป็นเผด็จการที่สกปรกไม่แพ้กับคนอื่นที่เรารู้จักและรังเกียจในประวัติศาสตร์ เขาทำให้ประชาธิปไตยของรัสเซียเสื่อมถอยโดยการเข้ากุมอำนาจในสถาบันทางการเมืองที่สำคัญทั้ง 3 สถาบันคือนิติบัญญัติ บริหารและตุลาการ สังคมรัสเซียเต็มไปด้วยการคอรัปชั่นโดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ของรัฐ อาชญากรรมและมาเฟียเต็มบ้านเต็มเมืองโดยเจ้าพ่อเหล่านั้นก็มีความสัมพันธ์อันดีกับเจ้าหน้าที่ของรัฐ การที่เขาสามารถอยู่ในตำแหน่งได้อย่างยาวนานก็เพราะเขาสามารถใช้อำนาจมืดในการสะกดการเคลื่อนไหวของมวลชนได้เช่นเดียวกับความชาญฉลาดในการสร้างภาพครอบงำมวลชนกลุ่มอื่นให้นิยมชมชอบ นอกจากนี้ตะวันตกก็เห็นว่าปูตินมีข้ออาชญกรรมไม่แพ้กับเผด็จการคนอื่นๆ ในประวัติศาสตร์เช่น

ปูตินใช้อำนาจของรัฐในการแทรกแซงตุลาการเพื่อเล่นงานพวกคนรวยหรือ Oligarchy เก่าในยุคของเยลต์ซินในทางกฎหมายเช่นยัดเหยียดข้อหาให้เจ้าของยูคอสคือนายมิกคาอิล           คอร์โดคอฟสกีจนต้องติดคุกเป็นเวลานาน

ปูตินถูกแฉโดยวิกีลิกว่าแอบยักยอกเงินจากรัฐเอาไปเก็บไว้ในบัญชีต่างประเทศ

ปูตินใช้หน่วย FSB มีอำนาจและโยงใยกับกิจกรรมผิดกฎหมายต่างๆ  ร่วมกับมาเฟียเช่นสังหารนายอาเล็กซานเดอร์  ลิตวินเนนโกที่กรุงลอนดอนปี 2006  ปีเดียวกับที่นักข่าวคือแอนนา โปลิตกอฟสกายา ซึ่งเขียนหนังสือโจมตีปูตินถูกยิงตายที่กรุงมอสโคว์

นอกจากนี้สาเหตุที่เศรษฐกิจของรัสเซียรุ่งเรืองอีกครั้ง ไม่ใช่เพราะการดำเนินนโยบายของรัฐบาลปูตินเช่น state capitalism (ระบบทุนนิยมทีรัฐเป็นนายทุนใหญ่) เพียงอย่างเดียวแต่เพราะความร่ำรวยของน้ำมันและก๊าซธรรมชาติของรัสเซียเป็นสำคัญเช่นเดียวกับการวางรากฐานเศรษฐกิจของบอริส เยลต์ซินที่เศรษฐกิจรัสเซียผ่านการเปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลันจากคอมมิวนิสต์มาเป็นทุนนิยมหรือ Shock มาในทศวรรษที่ 90 ทำให้ย่ำแย่ แต่ก็ฟื้นตัวในภายหลังและเป็นช่วงที่ปูตินขึ้นมาบริหารประเทศมาพอดี (และปัญหาคือทำไมเราไม่ยกย่องผลงานของ ดมีทรี เมดเวเดฟ ประธานาธิบดีอีกคนหนึ่ง ซึ่งถึงแม้ปูตินจะมีอำนาจอยู่เบื้องหลัง แต่ดมีทรีอาจจะมีบทบาทหลายอย่างในช่วง 4  ปีต่อการทำให้รัสเซียดีขึ้น)

อย่างไรก็ตามปัจจุบัน เศรษฐกิจของรัสเซียกำลังอยู่ในภาวะทดถอย มีอัตราความเจริญเติบโตเพียงร้อยละ  1.3  ในปี 2013 ยิ่งถูกการคว่ำบาตรจากตะวันตกไปเรื่อยๆ ก็ทำให้สถานการณ์ย่ำแย่ลง  นอกจากนี้การทหารที่แข็งแกร่งของรัสเซียจนสามารถทัดทานกับสหรัฐฯและสหภาพยุโรปก็อาจจะไม่ได้บอกความเข้มแข็งของประเทศเสมอไปเช่นเดียวกับสหภาพโซเวียตในอดีตที่ทุ่มเงินไปกับการทหารเป็นจำนวนมากแต่ก็ต้องล่มสลายเพราะปัจจัยหนึ่งมาจากปัญหาเศรษฐกิจในที่สุด

5.ประชาธิปไตยแบบตะวันตกเป็นเรื่องวุ่นวาย ไร้ระเบียบ

ความคิดแบบดึกดำบรรพ์เช่นนี้ย่อมฝังแน่นในชนชั้นปกครองไทยตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันจนยากจะถอนออกได้ภายใต้ข้ออ้างถึงความมั่นคงหรือความเป็นระเบียบของชาติ  ซึ่งมันก็ได้สำแดงเดชเมื่อไม่กี่วันมานี้โดยการที่เจ้าหน้าที่ของรัฐเข้าไปยุติเสวนาในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ซึ่งมีอาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์เป็นผู้กล่าวปาฐกถานำ  โดยผู้เขียนคิดการกระทำเช่นนี้เป็นการล่วงละเมิดความเป็นมนุษย์ในสังคมยุคใหม่ขั้นร้ายแรง เพราะการแสดงออกทางวิชาการที่ปราศจาก hate speech หรือการปลุกระดมให้เกิดความรุนแรงนั้นเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของมนุษย์ที่จะได้แสดงออกสิ่งที่อยู่ในความคิดของเขาและทำให้คนที่ได้รับรู้ข่าวสารนั้นเกิดความรู้ที่หลากหลายอันเป็นเรื่องธรรมดาที่เกิดขึ้นในประเทศที่เป็นประชาธิปไตยถึงแม้จะมีความแตกต่างจากอุดมการณ์หลักของรัฐและอาจนำไปสู่วิวาทะก็ตามดังที่เกิดขึ้นในประเทศตะวันตก 

มีคนมากมายมักยกย่องเผด็จการโดยเข้าใจว่าการตัดสินใจโดยคนเดียวๆ อย่างเด็ดขาด ปราศจากความวุ่นวายสับสนจากเสียงนกเสียงกาย่อมทำให้ประเทศเกิดความเจริญรุ่งเรืองโดยดูโมเดลเพียงจีนและสิงคโปร์ โดยไม่สำเนียกว่าแนวคิดนี้ก็เกิดขึ้นในประเทศเยอรมันนาซี  อิตาลียุคมุสโสลินี สเปนในยุคของฟรานซิสโก ฟรังโก  อาเจนตินาและหลายประเทศในละตินอเมริกายุคทศวรรษที่ 70  หรือฟิลิปปินส์ในยุคของเฟอร์ดินันท์ มาร์คอส  หรือยุคปัจจุบันเช่นประเทศในเอเชียกลางหรือซิมบับเวในยุคของโรเบิร์ต  มูกาเบ   ซึ่งผู้นำเผด็จการของประเทศเหล่านั้น (ซึ่งมักไม่เรียกว่าตัวเองเป็นนักการเมืองแต่เป็น “ผู้รับใช้เมือง”(?) ) ถ้าไม่นำความเดือดร้อนอย่างมากมายให้กับประชาชน ก็นำความหายนะให้กับประเทศชาติเสียพอๆ หรือ ยิ่งกว่านักการเมืองชั่วๆ ที่ส่งเสียงโวยวายหรือต่อสู้กันในสภาดังผู้ต่อต้านประชาธิปไตยมักโจมตีอยู่เสมอ

ขอปิดท้ายด้วยความคิดคำนึงของผู้เขียนต่อนักวิชาการท่านหนึ่งซึ่งเป็นศาสตราจารย์ด้านกฎหมายและอยู่ฝั่งตรงกันข้ามกับกลุ่มนิติราษฎรทั้งที่เป็นอาจารย์อยู่ในคณะเดียวกัน ท่านได้ประกาศตนต่อต้านระบอบทักษิณมาตลอดเวลา และมักกล่าวเป็นนัยๆ ว่าทักษิณนั้นเหมือนกับเป็นฮิตเลอร์ซึ่งจะนำประเทศไปสู่ความพินาศเช่นเดียวกับเยอรมันนาซี แต่เมื่อ คสช.ขึ้นมามีอำนาจและได้ปกครองประเทศเป็นเผด็จการเสียยิ่งกว่ายุคของทักษิณ ท่านก็ได้หุบปากเสียแน่นอันสะท้อนให้เห็นว่าท่านนั้นไม่มีความศรัทธาหรืออาจมีความเข้าใจคลาดเคลื่อนต่อประชาธิปไตยแบบตะวันตกที่ท่านมักโฆษณาป่าวประกาศเสมอมาก็เป็นได้

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท