จาก “รัฐศาสตร์ 101” สู่ “รัฑศาสตร์ 010”

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

 

มุ่งพิจารณาเฉพาะวิชารัฐศาสตร์ในเชิงการศึกษา เพื่อแก้ปัญหาเรื่องเนื้อหาวิชารัฐศาสตร์ 101 เพื่อพัฒนาการศึกษารัฐศาสตร์ให้เป็นรัฑศาสตร์ จะได้ไม่ต้องมีปัญหาเวลาสอน ทั้งยังเป็นการจัดบทเรียนให้เหมาะสมและบูรณาการ เพื่อความสอดคล้อง เพื่อความสุข เพื่อความเจริญแก่ข้าพเจ้าทั้งหลาย................

เกริ่นนำ

การศึกษาทางวิชาการในศตวรรษที่ 21 เป็นการศึกษาที่มีความซับซ้อนในตัวเอง อาจเป็นเพราะตัวบททางวิชาการภาษาต่างประเทศเขียนด้วยโครงสร้างไวยากรณ์และคำศัพท์ที่ซับซ้อนขึ้น นั่นทำให้การแปลองค์ความรู้เหล่านั้นเป็นภาษาไทยทำได้อย่างไม่ราบรื่น แม้จะแปลออกมาแล้ว ก็เป็นที่เข้าใจได้ยาก เช่น งานทางวิชาการที่นักวิชาการต่างประเทศเรียกว่า “งานอ่านยาก”  จำต้องใช้ความรู้พื้นฐานจำนวนมากในการศึกษาค้นคว้า เฉพาะอย่างยิ่ง พัฒนาการของวิชารัฐศาสตร์ ที่มีจุดหมายเพื่อตอบคำถามเรื่องความเป็นรัฐ หรือรับใช้เป้าหมายของการเป็นรัฐที่ดี ดังนั้น หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่การศึกษาในระยะหลังจะมีลักษณะข้ามศาสตร์ (Interdisciplinary) หรือเรียกให้สวยงามว่า “สหวิทยาการ” มีงานทางวิชาการสำคัญๆ ที่มีลักษณะเช่นนี้ เป็นต้น  งานของ มิเชล ฟูโกต์ (Michel Foucault), จีลส์ เดอเลิซ (Gilles Deleuze), ฟีลีกซ์ กวตตารี (Felix Guattari) เป็นต้น แต่งานเหล่านี้สำหรับวงวิชาการต่างประเทศนั้น ถึงจะเป็นงานที่ทรงพลังอยู่ แต่ก็กล่าวได้ว่า “กลางใหม่กลางเก่า” เพราะยังมีนักวิชาการที่ชื่อเสียงยังไม่โด่งดังเท่าอีกจำนวนมาก นำเสนอวิถีคิดของตน และหลายๆแบบน่าสนใจ หากพิจารณาในบริบทของประเทศไทย เราจะเห็นได้จากการอ้างมาใช้ (Reference) แต่ตอนนี้ ปัญหาคือ ถ้าวิชารัฐศาสตร์ในประเทศหนึ่ง รวมถึงศาสตร์ที่รัฐศาสตร์ข้ามไป (Intradisciplinary & Interdisciplinary Political Studies) ถูกห้ามสอนในประเด็นที่ไม่อาจแยกได้กับเรื่องสิทธิความเป็นคน (ดังที่รัฐศาสตร์ทั่วโลกเป็นในศตวรรษที่ 21) อะไรจะเป็นทางออกหรือการกำหนดความแตกต่าง (Différance) ของศาสตร์นี้ในประเทศนี้ เพื่อให้เข้าใจง่าย ขอนำเสนอคำว่า “รัฑศาสตร์” (รัด-ทะ-ศาสตร์) เพื่อสร้างหลักสูตรที่มีเอกลักษณ์และค่านิยม โดยไม่สนใจพลวัตของสากลโลก เพื่อตอบสนองนโยบายในรัฑสารขัณฑ์แห่งหนึ่ง โดยแยกออกจาก “รัฐศาสตร์”

รัฑศาสตร์ 010

เห็นได้ชัดว่า วิชาใหม่นี้สะกดด้วย “ฑ” (ฑ มณโฑ) แทนที่จะเป็น “ฐ” เพราะ รัฐ แปลว่า บ้านเมือง ซึ่งบ้านเมืองสำหรับนิยามของความเป็นประชาธิปไตย ในศตวรรษที่ 21 ไม่ใช่ บ้านเมืองของผู้ปกครองกับผู้ถูกปกครอง (นาย-บ่าว) แต่เป็นบ้านเมืองของประชาชนกับผู้ถูกเลือกหรือไว้วางใจให้เป็นตัวแทนประชาชนผ่านกระบวนการที่ตรวจสอบได้ ดังนั้น “ฐ” จึงส่งสัญญะของความเป็น “ฐาน”  นั่นคือ “ฐานนิยม”, “ฐานเสียง” และคำว่า “ฐาน” คือ พื้นฐาน, รากฐาน ซึ่งถูกให้ความหมายใหม่ไปเรียบร้อยแล้วว่า คือ “ประชาชน” (ดังนั้น ไม่ใช่ฐานที่ใช้ในความหมายของสิ่งที่ถูกเหยียบย่ำอีกต่อไป) แต่ในเมื่อ “รัฐ” ซึ่งสะกดด้วย “ฐ” ถูกทำให้คลุมเครือด้วยการใช้เป็น “ฐาน” สำหรับเหยียบประชาชนขึ้นไปสู่ “ฐานะ” ซึ่งเป็นการละเมิดความเท่าเทียมทางการใช้ภาษา ก็ควรแล้วที่แยกออกให้ชัดเจนโดยการจงใจใช้ “รัฑ” ซึ่ง สะกดด้วย “ฑ” ที่ยังไม่มีความหมายบรรจุอยู่  นั่นคือ รัฑศาสตร์ = รัฐศาสตร์ที่มีลักษณะเกลียดตัวกินไข่เกลียดปลาไหลกินน้ำแกง หยิบเอาเฉพาะบางชิ้นที่มีผลต่อการกดบังคับมาใช้ ไม่เน้นการปลดปล่อยที่สมบูรณ์ มีลักษณะแยกไม่ออกระหว่างเผด็จการกับประชาธิปไตย (จึงไม่ต้องระบุในแบบเรียนว่าปกครองระบอบอะไรและไม่ต้องสอนด้วย) ที่สำคัญ “ฑ” ยังส่งสัญญะ ถึงคำที่สะกดด้วย “ฑ” ที่คุ้นชิน เช่น “อัณฑะ” (หรือในภาษาชาวบ้านเรียก กระโปก) ซึ่งเป็นวัฒนธรรมแบบลึงค์เป็นศูนย์กลาง (Phalluscentricism) หมายถึงการปกครองแบบอำนาจเชิงชายเป็นใหญ่ (Patriarchy) ไม่เกี่ยวกับเพศสภาพ แต่เกี่ยวกับความเบ็ดเสร็จเด็ดขาดตามอำเภอใจ กล่าวคือ ถือสิทธิ์ในการใช้อำนาจตามอารมณ์ คล้ายกับ สามีขี้เมาที่ใช้อำนาจของความเป็นผู้นำซ้อมภรรยาเมื่อคราวมีโทสะขึ้นมา (แน่นอนในมิติของความเป็นคน สามีย่อมมีส่วนที่อารมณ์ปกติและแสดงออกต่อภรรยาอย่างผ่อนคลาย แต่ปัญหาคือเราจะปล่อยหรือภรรยาจะยอมให้สามีทำแบบนั้นเพื่ออะไร?) อีกประการ “ฑ” ยังชวนให้นึกถึง นางมณโฑ  ที่นิยมเรียกกันว่า “มณโฑ นมโตข้างเดียว” ซึ่งเป็นสำนวนลักษณะสนุกปากและไม่ควรที่จะพูดเป็นทางการ เพราะแง่หนึ่งเป็นการดูหมิ่นทางการต่อนางมณโฑ แต่สำนวนนี้ก็โด่งดังถึงกับเคยมีคนถามว่า ทำไมนมถึงโตข้างเดียว และคำตอบอย่างไม่เป็นทางการ คือ ก็ทศกัณฐ์มีตั้ง 20 มือ (ฮา) จากลักษณะเช่นนี้ ก็ดูจะเข้ากันได้ดี กับ “รัฑศาสตร์” ที่เน้นการเหยียดหยามดูหมิ่นความเป็นคน เช่น การดูหมิ่นเหยียดหยามความเป็นคนของ “เพศที่สาม” (บัณเฑาะก์-สทิสูปจารัตถนัย)  นี่เป็นอีกหนึ่งความรุนแรงเชิงโครงสร้างที่บรรจุอยู่ใน “รัฑ” ในยุคที่ “รัฑ” มีการปกครองที่ระมัดระวังปากของผู้ไร้อำนาจ แต่ไม่ระมัดระวังปากของผู้มีอำนาจ (ซึ่งยังไม่ระบุลงลึกว่ายุคไหน ที่ไหน แต่มีหลายยุค หลายที่)

นื้อหาวิชารัฑศาสตร์ 010

(1) วิชาหลอกตัวเอง (mauvaise foi) เป็นเนื้อหาหลัก ต้องผ่านวิชานี้ให้ได้ก่อน ใช้ตัวบทจาก Sartre เพื่อที่จะเป็นตามที่ Sartre ระบุถึงคนหลอกตัวเอง (เพื่อจะเป็นคนหลอกตัวเองแบบมีหลักฐานวิชาการรองรับ) เช่น ฝึกใช้ข้ออ้างที่ว่า “คนอื่นไม่อาจจะคาดเดาฉันได้ทั้งหมดจากสิ่งที่ฉันทำ เพราะฉันยังมีนิสัยและความเป็นไปได้อื่นๆ ที่ฉันยังไม่แสดงออกมา (และฉันไม่ขอรับผิดชอบสิ่งที่ได้แสดงออกไปแล้วเพราะมันไม่ใช่ตัวฉันทั้งหมด) เช่น ฉันเขียนอะไรออกมาไม่ค่อยดี ก็เพราะฉันไม่ค่อยมีเวลาให้กับมัน ฉันไม่มีความรักที่ยิ่งใหญ่เพราะฉันยังไม่เจอใครที่คู่ควร”[1] นั่นคือ เราจะทำการศึกษาวิชานี้เพื่อทำให้เรากลายเป็น มนุษย์ที่หลบอยู่เบื้องหลังข้ออ้างบางอย่าง มนุษย์ที่สร้างกำแพงขึ้นมา มนุษย์ที่ยินดีทำในสิ่งที่ตรงข้ามกับตรรกะ [2]  (ซึ่งเป็นเรื่องที่ถูกอภิปรายได้) และถ้าจะประกาศยืนยันว่า “ก็ฉันจะหลอกตัวเองแล้วจะทำไม?” นั่นจะกลายเป็น ความซื่อสัตย์ในทัศนะของ Sartre ซึ่งจะกลายเป็นการทรยศต่อวิชาหลอกตัวเอง แต่โดยปกติทุกคนล้วนภักดีต่อวิชาหลอกตัวเองทั้งนั้น 

(2) วิชาตรรกะวิบัติ (Fallacy Logic) ใช้ตัวบทจากสำนักคิดปฏิฐานนิยมเป็นสำคัญ มุ่งแสวงหาระบบตรรกะที่กลับหัวกลับหาง การให้คุณค่าที่วิปริตผิดปกติ เช่น การใช้  Ad hominem เพื่อโจมตีบุคคลต่างๆ ด้วยการพูดอย่างเป็นทางการที่ลดทอนความเป็นมนุษย์ของอีกฝ่ายอย่างรุนแรง หรือ Argumentum ad baculum คือ ใช้อำนาจที่มีอยู่ข่มขู่กรรโชกให้ประเด็นข้อผู้สงสัยลดทอนน้ำหนักลงไป หรือ Argumentum ad misericordiam คือ อ้างความน่าเห็นใจว่า เช่น รู้แล้วว่าผมกำลังทำสิ่งที่ผิดแต่ขอความเห็นใจหน่อยนะ จากนั้นก็ฝึกทับถมจุดอ่อนของคู่ตรงข้าม (Straw man) ผลิตซ้ำประโยคสะกดจิตฟุ่มเฟือย (Argumentum verbosum) เพื่อโน้มน้าวครอบงำให้เชื่อว่ากำลังทำสิ่งนั้นอยู่ ซึ่งนักวิชาการที่เชี่ยวชาญวิชานี้ก็จะสามารถนำความรู้ทุกแขนงในโลกมากลับหัวกลับหางเพื่อใช้ในการรับใช้อำนาจได้ทั้งสิ้น

(3) วิชาการปกครอง จะพยายามใช้ตัวบทที่ถูกตีความด้วยนักคิดก่อนหน้าศตวรรษที่ 18 เท่านั้น (เพราะในปี  1790 ขบวนการไพร่ในต่างประเทศเริ่มขึ้นแล้ว หลังจากนั้นก็ผลิตหนังสือและงานที่เป็นภัยต่อชนชั้นปกครอง) ต้องเป็นการนำปรัชญากรีกมารับใช้อำนาจ (ทำแบบที่ศาสนจักรนำปรัชญากรีกมาใช้) นักศึกษาและบรรดานักวิชาการ ต้องไม่ศึกษานักคิดที่มีแนวคิดแบบสุดโต่ง เช่น ฟูโกต์ (Foucault) หรือใครก็ตามที่ศึกษาเรื่องการกดบังคับ ห้ามสอนอะไรที่กำลังเป็นที่อภิปรายกันในโลกของรัฐศาสตร์โลก เนื่องจากเป็นคนละวิชากับรัฑศาสตร์  ปรัชญาต้องเป็นปรัชญาที่มีรากฐานอยู่บนศาสนาประจำชาติเท่านั้น และสอดคล้องอย่าง “บูรณาการ” ไปกับวิชารัฑศาสตร์ ดังนั้น ทุกอย่างต้องนำไปสู่ “รัฑที่ดี” ซึ่งเป็น “รัฑรวมศูนย์อำนาจ” กล่าวคือ “ทำอย่างไรให้การกดบังคับมีอยู่ สถาพรมั่นคง และผู้ต่อต้านหมดไป”

(4) วิชาวิจัย ให้วิจัยเฉพาะประเด็นที่ไม่ขัดหรือแย้งกับ “รัฑศาสตร์” จะวิจัยแบบรัฐศาสตร์ไม่ได้ ต้องประกอบด้วยตรรกะวิบัติ การหลอกตัวเอง ชมกันเองอวยกันเอง และชวนให้ละเมิดสิทธิความเป็นคนทางอ้อม วิจัยอย่างไรก็ได้ที่จะชี้ให้เห็นว่า “คนในรัฑ” ไม่พร้อมสำหรับสิ่งใหม่ๆ ไม่พร้อมสำหรับเสรีภาพ ไม่พร้อมสำหรับวิชาการที่ซับซ้อน มุ่งมั่นคืนพลวัตในสังคมให้ย้อนกลับไปสู่ยุคก่อนหน้า (เป็นการทวนกระแสแบบหนึ่ง) อะไรที่สมัยใหม่ให้ลดทอนลงให้หมดสิ้น เพื่อจะได้ปกครองได้ง่ายไม่เกิดการตั้งคำถาม จะต้องไม่มีลักษณะการจลาจลแบบศตวรรษที่ 18 จะต้องไม่มีพื้นที่สำหรับการอภิปรายสิ่งที่ระคายหูอีกต่อไป (ซึ่งในบริบทของโลกสิ่งเหล่านี้ เช่น การแสดงความเห็นต่าง หรือการวิพากษ์วิจารณ์ พัฒนามาตั้งแต่ปี 17XX หรือ 200 กว่าปี ควรยิ่งที่จะนำมาเปรียบเทียบกับประวัติศาสตร์ตามตำราเรียน เฉพาะอย่างยิ่ง ในสังคมที่อนุญาตให้วิพากษ์วิจารณ์ดาราในฐานะคนเต้นกินรำกินได้ แต่วิพากษ์อำมาตย์และนักวิชาการบนหอคอยงาช้างไม่ได้)
บัณฑิตในอุดมคติ

บัณฑิต (Bandit) ต้องมีลักษณะของความเป็นโจร นั่นคือ พร้อมจะแย่งโอกาสคนหาเช้ากินค่ำด้วยคุณวุฒิและชาติวุฒิที่สูงส่งกว่าชนชั้นรากหญ้า ต้องพร้อมจะเหยียบเพื่อนร่วมสังคมในฐานะ “ฐาน” และแสดงความเมตตากรุณาต่อพวกเขาในฐานะผู้ด้อยกว่า (เหมือนนายกรุณาต่อบ่าวไพร่) เมื่อบรรลุหลักสูตรตามลำดับ คือ Bandit, มหา Bandit และ ดุษฎี Bandit ต้องมีงานวิชาการเป็นที่ประจักษ์ นั่นคือ งานวิชาการที่เป็น Plagiarism (เราจะไม่เรียกว่าขโมย แต่จะเรียกว่า เพลเจอริสซึ่ม เพราะยังไงผู้ฟังจะไม่เข้าใจอยู่ดี และภาษาอังกฤษวิเศษเสมอในรัฑนี้) พวกนี้ต้องเป็น เพลเจอริส (Plagiarist) ให้ได้อย่างแนบเนียนเพื่อจะได้รับการดุษฎีว่าเป็นผู้เชี่ยวชาญ เป็นปราชญ์ (ในประเทศที่ปราชญ์เริ่มเยอะ แต่คนจนเยอะมากกว่า) ฝึกฝนให้เป็นที่ยอมรับในสังคมด้วยการหลอกตัวเอง หรือที่จะเรียกว่า “โลกสวย” พยายามหลับหูหลับตานึกถึงแผ่นดินในอุดมคติอย่างยูโทเปีย ไม่ลังเลที่จะใช้ตรรกะวิบัติเพื่อดูถูกหรือดูหมิ่นดูแคลนผู้ที่พยายามจะเข้ามาอภิปรายด้วย หากมีอำนาจอยู่ในมือด้วยก็ไม่ลังเลที่จะใช้อำนาจข่มขู่ และใช้วิธีแบบศรีธนญชัยเพื่อสร้างเรื่องให้ไม่ขัดต่อหลักสากลมากนัก (ทั้งที่ สากลโลกมีนักวิชาการหรือนักรัฐศาสตร์ที่รู้ดีว่าแบบนี้คือศรีธนญชัย) ดังนั้น บัณฑิตในอุดมคติแบบนี้ “ข้างนอกสุกใส ข้างในเป็นโพรง” สุกใสด้วยความชื่นมื่น การถูกตีตราประทับว่าเก่งว่าดี เป็นชนชั้นที่เป็นความหวังในสังคม (สังคมไหน?) แต่ข้างในกลวงเปล่า เพราะถูกกดบังคับตั้งแต่เกิด (และเพราะไม่อนุญาตให้เรียนรู้งานวิชาการที่พูดเกี่ยวกับการกดบังคับ จึงไม่รู้ตัวและยินดีที่จะถูกกดบังคับ) และไม่เคยรับรู้หรือสัมผัสความเป็นคน (เพราะมีเงิน ได้ทุน และสบาย)

สรุป

รัฑศาสตร์จะไม่เป็นสิ่งที่ถูกห้ามหรือต้องห้าม เพราะเป็น “ศาสตร์ใหม่” จะเป็นการยอวาที และรัฑศาสตร์ต้องเป็นไปในแนวทางที่รับใช้หรือสอดรับกับอำนาจ (นักวิชาการหลายคนเคยเป็นนักรัฐศาสตร์แต่ก็กลายเป็นนักรัฑศาสตร์ไปแล้วก็มีและอยู่ในตำแหน่งที่สูงส่ง) ทุกอย่างจะดีงามตามแบบแผน (ฟรุ๊งฟริ๊ง มุ้งมิ้ง) ท้องฟ้าของวิชารัฑศาสตร์จะมีแต่สายรุ้งปรากฎพาดผ่านเป็นวันอันสดใส เพราะจากนี้ รัฑศาสตร์ จะสมาทานเรื่องชนชั้นเป็นสำคัญ ใครที่ไม่มีเงิน ไม่มีอำนาจ ต้องถูกกดขี่ข่มเหง เป็นกรรมของสัตว์โลก (ตามคติรัฑศาสตร์ที่บูรณาการเข้ากับศาสนา) ใครที่มีอำนาจเขาเรียกว่ามีวาสนา คนไม่มีวันเท่าเทียมกันอยู่แล้วโดยสภาพ จำจะต้องมี “ผู้สั่ง” กับ “ผู้ถูกสั่ง” และสองภาวะนี้แยกกันชัดเจน “ผู้สั่ง” จะสั่งเราจากภายนอก ครอบงำเราให้ต้องทำตามคำสั่งเท่านั้น และถ้าเราทะเยอทะยานพอ เหมือนกับนางทาสในละครที่เผยอจะขึ้นเป็นคุณนายของบ้าน (ในรัฑที่สนับสนุนให้ผลิตซ้ำสื่อลักษณะนี้) ที่สุดเราจะเป็น “ผู้สั่ง” ได้บ้าง และได้เลื่อนสถานะขึ้น ดังนั้น ต้องสอนลูกสอนหลานว่า “ขอให้เป็นเจ้าคนนายคน” และวิชารัฑศาสตร์เกี่ยวข้องอย่างยิ่งกับการเป็นเจ้าคนนายคน ดังนั้น รัฑศาสตร์ 010 จึงน่าอภิปราย เป็นการสรรเสริญดุษฎี เต็มไปด้วยรอยยิ้มชื่นมื่น อะไรๆก็หวานหูไปหมด เพื่อยืนยันซ้ำๆว่า “บ่าวยินดีสยบยอมต่อท่านเจ้าคุณ ก็เมื่อบ่าวเป็นทาสในเรือนเบี้ยแล้ว อิสรภาพของบ่าวก็แล้วแต่ท่านเจ้าคุณ เมื่อท่านเจ้าคุณส่งบ่าวไปเรียนรัฑศาสตร์ 010 บ่าวจึงรู้ซึ้งว่าท่านเจ้าคุณใจกว้างขวางเพียงไร

Requiescat in pace,

รัฑสารขันธ์ที่ไม่รู้จักความเป็นไปของสากลโลก

 

อ้างอิง

ควรรู้ Elite จำนวนไม่น้อยชำนาญภาษานี้
[1] “Bien sûr, je n'ai pas eu de grand amour, ou de grande amitié, mais c'est parce que je n'ai pas rencontré un homme ou une femme qui en fussent dignes, je n'ai pas écrit de très bons livres” (Jean-Paul Sartre. (1946).L'existentialisme est un humanism)
[2] “Tout homme qui se réfugie derrière l'excuse de ses passions, tout homme qui invente un déterminisme est un homme de mauvaise foi” (Jean-Paul Sartre. (1946).L'existentialisme est un humanism)

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท