ประวัติศาสตร์นิติศาสตร์ของราษฎร

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

 

คงต้องยอมรับกันว่า ในขบวนการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยของไทยในระยะ 8 ปีที่ผ่านมา กลุ่มนิติราษฎร์เป็นกลุ่มนักวิชาการด้านกฎหมายฝ่ายประชาชนที่โดดเด่นที่สุด ซึ่งการเกิดกลุ่มนิติราษฎร์ได้สะท้อนลักษณะพิเศษทางการเมืองไทยหลังการรัฐประหาร พ.ศ.2549 อย่างมีนัยสำคัญ และถือว่า ผลงานของนิติราษฎร์ได้ช่วยยกระดับความรู้ทางกฎหมายของฝ่ายประชาชนให้เข้าใจและเท่าทันการใช้กฎหมายอย่างไม่เป็นธรรมของฝ่ายชนชั้นปกครอง

ถ้าจะถามว่าใครคือกลุ่มนิติราษฎร์ คงตอบได้ว่านิติราษฎร์ก็คือ กลุ่มอาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่ตัดสินใจไม่สนับสนุนแนวทางกฎหมายของฝ่ายกระแสหลัก และยืนยันในหลักการของกฎหมายเพื่อความถูกต้องและเป็นธรรมของฝ่ายประชาชน ชื่อของนิติราษฎร์ได้แสดงให้เห็นว่า หลักอ้างอิงในทางกฎหมายก็คือ คณะราษฎร ที่มีส่วนสำคัญในการเปลี่ยนแปลงการปกครองบ้านเมืองให้เป็นประชาธิปไตย และวางรากฐานของกฎหมายมหาชนสมัยใหม่ ดังนั้นในเว็บไซด์เดิมของคณะนิติราษฎร์ จึงได้ลงประกาศฉบับที่ 1 ของคณะราษฎร ที่เป็นเอกสารสำคัญไว้ แต่เป็นที่น่าเสียดายว่า หลังจากการรัฐประหาร 22 พฤษภาคม พ.ศ.2557 ที่ผ่านมา กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ได้ปิดเว็บไซด์นี้เสียแล้ว

บุคคลสำคัญของนิติราษฎร์ ก็คือ วรเจตน์ ภาคีรัตน์ ซึ่งถือว่าเป็นผู้ริเริ่มของนิติราษฎร์ ตามประวัติที่เป็นที่เผยแพร่ไม่นานมานี้ คือ วรเจตน์เป็นชาวพระนครศรีอยุธยา บิดาเป็นนายสถานีรถไฟบ้านม้า เขาสำเร็จชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายที่โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา แล้วจบนิติศาสตรบัณฑิต มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อปี พ.ศ.2533 และรับทุนมูลนิธิอานันทมหิดลไปศึกษาต่อจนสำเร็จปริญญาเอกด้านนิติศาสตร์ ที่มหาวิทยาลัยเกิททิงเงิน (University of Göttingen) สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี จากนั้น ก็รับราชการเป็นอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

บทบาทของวรเจตน์เริ่มเป็นที่ชัดเจน หลังจากที่ได้แสดงความเห็นในเชิงกฎหมายคัดค้านการตั้งนายกรัฐมนตรีด้วยมาตรา 7 เมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ.2549 ด้วยเหตุผลว่า การดำเนินการเช่นนั้นเป็นการล้มล้างประชาธิปไตย จากนั้น วรเจตน์ ก็ได้ร่วมกับอาจารย์นิติศาสตร์อีก 4 คน คือ ประสิทธิ์ ปิวาวัฒนพานิช ธีระ สุธีวรางกูร ฐาปนันท์ นิพิฏฐกุล และปิยบุตร แสงกนกกุล  แสดงการคัดค้านการรัฐประหารเมื่อ 19 กันยายน พ.ศ.2549 ขณะที่นักกฎหมายมหาชนอีกหลายคนให้ความร่วมมือกับฝ่ายกระแสหลัก และเข้าไปมีส่วนร่วมในการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ แต่กลุ่มอาจารย์ทั้ง 5 คนก็แสดงความเห็นในทางวิชาการด้านกฎหมายในการคัดค้านการร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ และต่อมากลุ่มอาจารย์ทั้ง 5 คนก็แสดงความเห็นแย้งต่อกรณีที่ตุลาการรัฐธรรมนูญใช้หลักกฎหมายย้อนหลัง ในการยุบพรรคไทยรักไทยและลงโทษกรรมการบริหารพรรค 111 คน เมื่อเดือนพฤษภาคม พ.ศ.2550 อีกด้วย

เหตุการณ์สำคัญประการหนึ่งหลังจากการรัฐประหาร พ.ศ.2549 ก็คือ การสถาปนา”ตุลาการภิวัฒน์” ซึ่งหมายถึงการที่ชนชั้นนำในสังคมใช้อำนาจตุลาการเป็นเครื่องมือสำคัญในการทำลายศัตรูทางการเมือง ดังนั้น จึงได้มีการเพิ่มอำนาจให้ตุลาการกระแสหลัก เข้ามาแทรกแซงทางการเมืองได้อย่างเต็มที่ และได้เอาอำนาจทางการเมืองของตุลาการใส่ไว้ในรัฐธรรมนูญด้วย ยุคสมัยทางการเมืองหลังจากการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 จึงกลายเป็นยุคแห่งการแทรกแซงทางการเมืองของตุลาการ ซึ่งทำให้ “กฎหมายถูกนำไปใช้อย่างบิดเบี้ยว ทั้งการตราตัวบทกฎหมายที่ไม่สอดคล้องกับ นิติรัฐ-ประชาธิปไตย ทั้งการใช้และการตีความกฎหมายขององค์กรที่มีอำนาจไปในทิศทางที่ไม่สนับสนุน นิติรัฐ-ประชาธิปไตย และก่อให้เกิดความไม่ยุติธรรม” อาจารย์นิติศาสตร์ทั้ง 5 คนจึงได้แสดงบทบาทหลักในการแสดงความเห็นทางวิชาการแย้งการใช้กฎหมายตามอำเภอใจและสองมาตรฐานของตุลาการกระแสหลักเสมอมา

จนกระทั่งในวันที่ 19 กันยายน พ.ศ.2553 กลุ่มอาจารย์นิติศาสตร์ 5 คน และเพื่อนอาจารย์ เปิดตัวเว็บไซต์คณะนิติราษฎร์ พร้อมทั้งจัดงานเสวนาวิชาการ ในหัวข้อ “4 ปีรัฐประหาร 4 เดือนพฤษภาอำมหิต อนาคตทางสังคมไทย”ซึ่งถือเป็นการก่อตั้งคณะนิติราษฎร์อย่างเป็นทางการ สมาชิกของนิติราษฎร์ในขณะนั้น คือ จันทจิราเอี่ยมมยุรา ฐาปนันท์ นิพิฏฐกุล  ธีระ สุธีวรางกูร ปิยบุตร แสงกนกกุล วรเจตน์ ภาคีรัตน์  สาวตรี สุขศรี.และ ปูนเทพ ศิรินุพงศ์

ผลงานสำคัญของกลุ่มนิติราษฎร์ ก็คือ การเสนอให้ลบล้างผลพวงของการรัฐประหารในประเทศไทย พ.ศ.2549 เพื่อขจัดความขัดแย้งในสังคมไทย โดยออกแถลงการณ์อย่างเป็นทางการ ในวันที่ 19 กันยายน พ.ศ.2553 เสนอให้คำสั่งคณะรัฐประหารทั้งหมดสูญเปล่าและไมมีผล เพื่อจะได้เป็นการต่อต้านการรัฐประหารอย่างเป็นทางการ ส่วนคดีทั้งหมดที่สืบเนื่องจากการรัฐประหาร ให้นำมาดำเนินคดีในศาลปกติ ซึ่งข้อเสนอนี้ถือได้ว่าเป็นเรื่องที่ถูกต้อง แต่กลับถูกฝ่ายกระแสหลักโจมตีว่า ต้องการช่วยเหลือ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ให้พ้นผิด ทั้งที่ข้อเสนอของนิติราษฎร์คือ การนำ พ.ต.ท.ทักษิณมาขึ้นศาลปกติ จะให้ความเป็นธรรม และโปร่งใสมากกว่า การกลั่นแกล้งโดยใช้คำสั่งรัฐประหาร

ต่อมา งานสำคัญของคณะนิติราษฎร์ก็คือ การเสนอในวันที่ 27 มีนาคม พ.ศ.2554 ให้ปฏิรูปกฎหมายอาญามาตรา 112 ที่ว่าด้วยความผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์ ให้ลดความป่าเถื่อนในการลงโทษประชาชน โดยลดอัตราโทษ และป้องกันไม่ให้มีการใช้”ความจงรักภักดี”เป็นเครื่องมือทางการเมืองในการใส่ร้ายป้ายสีฝ่ายตรงข้าม ข้อเสนอนี้ได้รับการสนับสนุนอย่างมากจากกลุ่มนักวิชาการฝ่ายประชาธิปไตย จึงมีการตั้งขึ้นเป็น "คณะรณรงค์แก้ไขมาตรา 112 (ครก.112) ในเดือนมกราคม พ.ศ.2555 มีนักวิชาการสำคัญ เช่น นิธิ เอียวศรีวงศ์ ชาญวิทย์ เกษตรศิริ เกษียร เตชะพีระ พวงทอง ภวัครพันธุ์ ฯลฯ และยังมีกลุ่มนักเขียน นักกฎหมายรุ่นใหม่จำนวนมาก เข้าร่วม ได้มีการรณรงค์รวบรวมรายชื่อประชาชนภายใน 112 วัน แล้วเสนอเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภา กรณีนี้จึงนำมาสู่การที่มีคนร้าย 2 คนบุกเข้ามาในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แล้วดักชกวรเจตน์ ภาคีรัตน์ จนได้รับบาดเจ็บ เมื่อวันที่ 29 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2555

จากนั้น เมื่อพรรคไทยรักไทยใช้วิธีการสอดไส้ผลักดันกฎหมายนิรโทษกรรมแบบเหมาเข่ง คณะนิติราษฎร์ก็ได้ออกแถลงการณ์ในวันที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ.2556 คัดค้านร่างกฎหมายนิรโทษกรรมเหมาเข่ง-สุดซอย โดยยืนยันในหลักการนิรโทษกรรมประชาชนที่ตกเป็นเหยื่อ แต่ไม่นิรโทษกรรมแก่บรรดาเจ้าหน้าที่ของรัฐที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะได้กระทำการในฐานะเป็นผู้สั่งการหรือผู้ปฏิบัติการ

ในวันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ.2556 นักวิชาการที่สนับสนุนประชาธิปไตยได้ตั้งสมัชชาเพื่อปกป้องประชาธิปไตย( สปป.)เพื่อรณรงค์สนับสนุนการเลือกตั้งที่เป็นประชาธิปไตย และคัดค้านแนวทางของ กลุ่ม กปปส.ที่เรียกร้องการรัฐประหาร นักวิชาการกลุ่มนิติราษฎร์ก็ได้เข้าร่วมสนับสนุน สปป.อย่างแข็งขัน

จากบทบาทของฝ่ายนิติราษฎร์เช่นนี้ เมื่อเกิดการรัฐประหารครั้งใหม่ กลุ่มนิติราษฎร์จึงเป็นกลุ่มหนึ่งที่ถูกจับตา และควบคุมการเคลื่อนไหว บทความนี้จึงขอจบด้วยคำแถลงของนิติราษฎร์ในโอกาสก่อตั้ง ซึ่งสะท้อนแนวคิดของนิติราษฎร์ว่า

“เราจำเป็นต้องสร้างอุดมการณ์ทางกฎหมาย-การเมืองที่สอดคล้องกับนิติรัฐ-ประชาธิปไตย เพื่อแทนที่อุดมการณ์แบบเก่าและปลูกฝังให้เป็นอุดมการณ์ใหม่ของสังคม จึงรวมตัวกันขึ้นในนามของนิติราษฎร์ นิติศาสตร์เพื่อราษฎร ด้วยหวังเป็นฟันเฟืองหนึ่งในการสถาปนาอุดมการณ์กฎหมาย-การเมืองนิติรัฐ-ประชาธิปไตย เพื่อให้อำนาจสูงสุดของประเทศนั้นเป็นของราษฎรทั้งหลายและมนุษย์ทั้งปวงเกิดมามีอิสระและเสมอภาคกันในศักดิ์ศรีและสิทธิ”

 

 

เผยแพร่ครั้งแรกใน โลกวันนี้ วันสุข ฉบับที่ 480 วันที่ 20 กันยายน 2557

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท