Skip to main content
sharethis
นักศึกษาร่วมชาวบ้านชุมชนบ่อแก้วทำกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ ‘กำแพงมนุษย์ หยุดไล่รื้อที่ทำกินคนจน’ ประกาศจุดยืนจัดตั้ง ‘เครือข่ายนักศึกษาติดตามและเฝ้าระวังผลกระทบจากแผนแม่บทที่ดินและป่าไม้’ ร่วมกับเครือข่ายนักศึกษาจากทั่วประเทศ
 
 
25 ก.ย. 2557 กลุ่มนักศึกษาในภาคอีสาน จากมหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยมหาสารคาม และราชภัฎเพชรบูรณ์ กว่า 40 คน รวมกลุ่มลงพื้นที่บ้านบ่อแก้ว ต.ทุ่งพระ อ.คอนสาร จ.ชัยภูมิ ซึ่งได้รับผลกระทบจากประกาศจังหวัดชัยภูมิ ตามคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 64/2557 เรื่อง “การปราบปรามและหยุดยั้งการบุกรุกทรัพยากรป่าไม้” ขับไล่กดดันให้ออกจากพื้นที่
 
 
จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา ตัวแทนนักศึกษา กล่าวว่า วันนี้ (25 ก.ย. 2557) เป็นวันที่ครบกำหนดที่เจ้าหน้ารัฐได้ออกคำสั่ง ให้ชาวบ้านอพยพออกจากพื้นที่ จึงมีนักศึกษาจากหลายสถาบันและหลายกลุ่มเข้าร่วมทำกิจกรรมเพื่อเฝ้าระวังการคุกคามจากเจ้าหน้าที่รัฐ แต่ขณะนี้สถานการณ์ยังปกติ ยังไม่มีเจ้าหน้าที่เข้ามาในพื้นที่ แต่มีการออกประกาศว่าจะเข้ามาในพื้นที่ภายใน 2 เดือนนี้ ทำให้ชาวบ้านอยู่ในความกังวล และทางกลุ่มนักศึกษาคาดการณ์ว่ามีเจ้าหน้าที่รัฐจะเข้ากดดันให้ชาวบ้านออกจากพื้นที่อย่างแน่นอน
 
ตัวแทนกลุ่มนักศึกษา กล่าวด้วยว่า พื้นที่บ้านบ่อแก้วมีปัญหาเรื่องที่ดิน กลุ่มนักศึกษาจึงลงพื้นที่เพราะเห็นว่าชาวบ้านไม่ได้รับความเป็นธรรม โดยชาวบ้านตั้งหมู่บ้านก่อนที่จะมีนโยบายจาก คสช. อีกทั้งทั่วทุกภาคของประเทศไทยตอนนี้ได้รับผลกระทบจากแผนแม่บทแก้ไขปัญหาการทำลายทรัพยากรป่าไม้ การบุกรุกที่ดินของรัฐ และการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน ของ คสช. ทำให้มีชาวบ้านต้องออกจากพื้นที่ไปหลายหมู่บ้านแล้ว
 
 
“ไม่เห็นด้วยกับนโยบายรัฐ เพราะยังมีข้อบกพร่องหลายจุด เช่นการเลือกปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ รัฐพยายามไล่พื้นที่ชาวบ้าน แต่กับพื้นที่ของนายทุนเป็นเพียงการไล่เพื่อให้เป็นข่าว แต่พอเรื่องเงียบก็เหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น ซึ่งเราเห็นว่าชาวบ้านไม่ได้รับความเป็นธรรม” ตัวแทนกลุ่มนักศึกษากล่าว
 
จตุภัทร์ กล่าวเพิ่มเติมว่า การที่เจ้าหน้าที่รัฐเข้ามากดดันชาวบ้านโดยอ้างจากภาพถ่ายทางอากาศซึ่งเป็นหลักการทางวิทยาศาสตร์ แต่ไม่เคยคำนึงถึงวิถีชีวิตของชาวบ้าน ทั้งที่ชาวบ้านอยู่กับป่ามาได้หลายชั่วอายุคน แต่ต้องมาออกพื้นที่จากนโยบายของรัฐ เขาเห็นว่ามันไม่เป็นธรรมกับชาวบ้าน
 
“นิยามของคำว่าป่า คือ คนกับป่าอยู่ด้วยกันได้” ตัวแทนกลุ่มนักศึกษา กล่าวทิ้งท้าย
 
 
ผู้สื่อข่าวรายงานกิจกรรมของนักศึกษาในวันนี้ว่า มีการร่วมพูดคุยให้กำลังใจชาวบ้าน และร่วมเฝ้าระวังประเมินสถานการณ์เป็นระยะๆ ตลอดทั้งวัน นอกจากนั้นในช่วงบ่ายมีการร่วมประชุมกับชาวบ้านชุมชนบ่อแก้ว เพื่อประเมินสถานการณ์และออกแบบการเคลื่อนไหวต่อสู่เพื่อที่ทำกินของตัวเอง และทำพิธีผูกข้อต่อแขนเพื่อรวมพลังใจหลังจากประชุมใหญ่เสร็จสิ้น
 
ต่อมาในช่วงเย็นนักศึกษาและชาวบ้านร่วมกันทำกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ ‘กำแพงมนุษย์ หยุดไล่รื้อที่ทำกินคนจน’ พร้อมทั้งร่วมกันอ่านแถลงการณ์แสดงจุดยืนและจัดตั้ง ‘เครือข่ายนักศึกษาติดตามและเฝ้าระวังผลกระทบจากแผนแม่บทที่ดินและป่าไม้’ โดยมีเครือข่ายนักศึกษาจากทั่วประเทศเข้าร่วม
 
 
ส่วนหนึ่งของแถลงการณ์ระบุว่า จากแผนแม่บทแก้ไขปัญหาการทำลายทรัพยากรป่าไม้ การบุกรุกที่ดิน และการบริหารจัดการทรัพยากรอย่างยั่งยืน ตามนโยบายคณะรักษาความสงบแห่งชาติหรือ คสช. มีวัตถุประสงค์เพื่อหยุดยั้งการตัดไม้ทำลายป่าและทวงคืนพื้นป่าจากผู้บุกรุกและเพื่อฟื้นฟูสภาพป่าให้สมบูรณ์ขึ้นให้ได้อย่างน้อยร้อยละ 40 ของพื้นที่ประเทศภายใต้ 10ปี โดยเน้นดูแลประชาชนในพื้นที่ป่าและรอบพื้นที่ป่าให้มีรายได้และความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น แต่ทว่า สถานการณ์ที่เกิดขึ้นเพียง 4 เดือน ภายใต้คำสั่ง คสช. ฉบับที่64/2557 ทำให้เกิดปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนของประชาชนผู้ยากกไร้ในพื้นที่ดินพาทต่างๆ ทั่วประเทศ
 
อำนาจที่ไม่มีความชอบธรรมย่อมนำมาซึ่งการกระทำที่ไม่เป็นธรรม เหมือนกับต้นไม้พิษผลที่ออกมาย่อมเป็นพิษ การไล่รื้อที่ดินทำกินของชาวบ้าน ทำลายบ้านเรือนที่อยู่อาศัย ทำลายพืชผลการเกษตร การใช้กำลังและอาวุธ การบีบบังคับข่มขู่ จะไม่เกิดขึ้นในสังคมที่เป็นประชาธิปไตย สังคมที่ยอมให้มีความเห็นที่แตกต่าง ถกเถียงแลกเปลี่ยนเพื่อนำไปสู่สิ่งใหม่ เป็นสังคมที่สิทธิ เสรีภาพของประชาชนได้รับการเคารพและเชิดชู เป็นสังคมที่ประชาชนเป็นเจ้าของอำนาจและผู้ปกครองมีหน้าที่รับใช้ตามเจตจำนงของประชาชน
 
ความไม่เป็นธรรมในสังคมยังคงถูกตั้งคำถามต่อไปว่า ที่ดินในประเทศนี้ประชาชน 80% ถือครองที่ดิน20% แต่คนกลุ่มน้อยเพียง 20% กลับถือครองที่ดินมากถึง 80% แท้จริงแล้วที่ดินเป็นของใคร? มิใช่ของผู้ถือคันไถดอกหรือ? ทำไมเจ้าหน้าที่รัฐถึงได้เร่งรัดเอากับประชาชนตัวเล็กตัวน้อยนัก ซึ่งส่วนใหญ่ก็อาศัยอยู่มาก่อนการประกาศเขตสงวนหรือเขตอุทยาน ทำไมถึงไม่จัดการเอากับพวกนายทุน นักการเมือง และพวกข้าราชการ ที่ถือครองที่ดินกันอย่างเป็นล่ำเป็นสำ และอิ่มหนำสำราญจากการแสวงหาผลประโยชน์ทั้งบนเขา ตีนเขา ทั้งในน้ำและในป่า ปล่อยให้ประชาชนอดตายไม่มีที่ดินทำกิน ไม่มีที่อยู่อาศัย ที่ดินที่มีอยู่อย่างน้อยนิดก็กำลังจะถูกยึดไป พวกเราประชาชนมีชีวิตอยู่ไม่สมศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์เลย ถึงเวลาแล้วที่พวกเราขอประกาศว่า “พอกันที!”
 
“ถึงไล่เราเราก็ไม่ไป เราไม่มีที่จะไป เรามันคนจน” นี่คือเสียงหนึ่งจากชาวบ้านที่บ่อแก้ว และเป็นเสียงที่ดังมาจากใจของพี่น้องประชาชนทั่วประเทศ ที่ต่อสู้เพื่อความเป็นธรรมในสิทธิการทำกินในที่ดิน และได้หลอมรวมเข้าเป็นจิตวิญญาณแห่งการต่อสู้ร่วมกัน พร้อมกับประกาศก้องว่า “ที่ดินต้องเป็นของประชาชน” แถลงการณ์ระบุ
 
 
 
ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 24 ก.ย. 2557 กลุ่มลุ่มน้ำโขงศึกษา กลุ่มสันติภาพเพรชบูรณ์ ชมรมนักศึกษาเพื่อการพัฒนา มหาวิทยาลัยขอนแก่น และชมรมอาสาพัฒนา มหาวิทยาลัยราชภัฎเพรชบูรณ์ ได้ออกถ้อยแถลงเจตจำนงคนหนุ่มสาวต่อกรณีปัญหาการไล่รื้อชาวบ้านออกจากที่ดินทำกิน ชุมชนบ่อแก้ว อ.คอนสาร จ.ชัยภูมิ “ยุติการไล่รื้อ หยุดการคุกคามคนจน คืนที่ดินด้วยความเป็นธรรม” รายละเอียด ดังนี้
 
 
 
 
ถ้อยแถลงเจตจำนงคนหนุ่มสาว
ต่อ กรณีปัญหาการไล่รื้อชาวบ้านออกจากที่ดินทำกิน ชุมชนบ่อแก้ว อำเภอคอนสาร จังหวัดชัยภูมิ
“ยุติการไล่รื้อ หยุดการคุกคามคนจน คืนที่ดินด้วยความเป็นธรรม”
           
จากตามประกาศลงวันที่ 25 สิงหาคม 2557 โดยเจ้าหน้าที่หน่วยงานภาครัฐ ที่อาศัยอำนาจคณะอนุกรรมการป้องกันและปราบปรามการตัดไม้ทำลายป่าจังหวัดชัยภูมิ และ คำสั่งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 64/2557 ลงวันที่ 14 มิถุนายน 2557 ให้ชาวบ้าน ชุมชนบ้านบ่อแก้ว ต.ทุ่งพระ อ.คอนสาร จ.ชัยภูมิ ย้ายออกจากพื้นที่ทำกิน ภายใน 30 วัน นับตั้งแต่วันที่ปิดประกาศ ด้วยเหตุผลของผู้ถืออำนาจและกฎหมาย ว่า “ ชาวบ้านบุกรุกป่า “
 
ด้วยความฉงน ในข้อเท็จจริง ในสิ่งที่เกิดขึ้น พวกเราในนามของกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่เกาะติด และ เฝ้ามอง ปัญหาผลกระทบต่างๆจากกฎหมายและนโยบายรัฐที่เกิดขึ้นกับชาวบ้านและคนยากจนในอีสานมาอย่างต่อเนื่อง จึงตัดสินใจลงพื้นที่ เพื่อพูดคุย แลกเปลี่ยน สอบถาม กับชาวบ้าน เมื่อวันที่ 13 – 14 สิงหาคม 2557 ที่ผ่านมา ความเป็นหน้าฉากและอำนาจแห่งกฎหมาย กลับตาลปัตรเหมือนหนังคนละม้วน เมื่อชาวบ้านที่อยู่ในพื้นที่ อ้างว่า อยู่อาศัยทำมาหากินตั้งแต่บรรพบุรูษ เส้นเขตแบ่งประกาศพื้นที่ป่าสงวนนั้นไซร้กับมาหลังชาวบ้านในพื้นที่ ชาวบ้านต่างหากคือผู้อารักษ์ป่า หาใช่หน่วยงานจากกรมป่าไม้ที่นำเอาต้นยูคาลิปตัสมาปลูก ซึ่งไม่ให้คุณประโยชน์อันใดแก่ผืนดินอันอุดมสมบูรณ์เลย การไล่รื้อจึงจะบังเกิดขึ้นมิได้ หากไม่มีการพิสูจน์สิทธิอย่างเป็นธรรม
 
และหากย้อนกลับไปมองอย่างถี่ถ้วนใน คำสั่งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ที่ 64/2557 ลงวันที่ 14 มิถุนายน 2557 ข้อที่ 2.1 “ การดำเนินการใดๆต้องไม่ส่งผลกระทบต่อประชาชนผู้ยากไร้ ผู้ที่มีรายได้น้อย และผู้ไร้ที่ดินทำกิน ซึ่งได้อาศัยอยู่ในพื้นที่เดิมๆนั้น ก่อนคำสั่งนี้มีผลบังคับใช้ฯ ” มันคือความย้อนแย้งและลักลั่นของคำสั่ง ที่อาศัยจังหวะและโอกาสที่ทหารเรืองอำนาจในประเทศนี้ เพื่อตลบหลังคนจนที่ไร้ที่ดินทำกิน ที่ปกปัก แผ้วถางทำกิน และอารักษ์ผืนป่า มาก่อนกฎหมายจะบังเกิด
 
ประการนี้ ด้วยจิตใจ และ ความหวัง ของพวกเราในนาม นักศึกษา และ คนรุ่นใหม่ ที่พอจะส่งสำเนียงเสียงกังวานเล็กๆได้บ้างในประเทศนี้ จึงขอแสดงเจตจำนงร่วมกัน ส่งผ่านเสียงของชาวบ้านอันบริสุทธิ์เพื่อให้ดังไกลออกไปยังคนทุกผู้นาม ทั้งในประเทศ และ โลกใบนี้ ว่า ..
 
1)         ขอให้ยกเลิก ประกาศคำสั่งของทางจังหวัดชัยภูมิ ในการไล่รื้อชาวบ้านออกจากที่ดินทำกิน ในชุมชนบ้านบ่อแก้ว ต.ทุ่งพระ อ.คอนสาร จ.ชัยภูมิ ที่จะครบกำหนดในวันที่ 25 กันยายน 2557 ที่จะถึงนี้
 
2)         หยุด กระบวนการคุกคาม ทั้งทางกฎหมาย และ คำสั่งปกครอง ต่อชาวบ้านในพื้นที่ จนกว่าจะมีการพิสูจน์ทราบสิทธิอย่างเป็นธรรมและชัดเจน โดยการมีส่วนร่วมของชุมชน
 
3)         ทบทวน แผนแม่บทป่าไม้และที่ดินที่กำลังเกิดขึ้น โดยการให้ประชาชนที่ได้รับผลกระทบเข้าไปมีส่วนร่วมในการออกแบบ แสดงความคิดเห็น เสนอร่างกฎหมายของประชาชนเอง “หยุดคิดจากข้างบน” 
ท้ายสุด พวกเรายังยืนยันในเจตจำนงและความหวังดีต่อกรณีปัญหาดังกล่าวข้างต้น แม้ผู้ที่มีอำนาจที่เกี่ยวข้อง จะมองเห็นและปฏิบัติตามด้วยหรือไม่ เราหาได้สนใจ “ แต่เราจะยังคงยืนหยัดและเคียงข้างประชาชนที่โดนเอาเปรียบต่อไป อย่างถึงที่สุดและมั่นคง..
 
ด้วยศรัทธาและหัวใจบริสุทธิ์
24 กันยายน 2557
..พวกเรา
-           กลุ่มลุ่มน้ำโขงศึกษา
-           กลุ่มสันติภาพเพรชบูรณ์
-           ชมรมนักศึกษาเพื่อการพัฒนา มหาวิทยาลัยขอนแก่น
-           ชมรมอาสาพัฒนา มหาวิทยาลัยราชภัฎเพรชบูรณ์
 
 
 
 
 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net