Skip to main content
sharethis
นักกฎหมาย ชี้ ศาลจังหวัดอุบลราชธานีพิพากษาบทลงโทษผิด คดีหนุ่มนักดนตรี ศาลลงโทษซ้ำซ้อนทั้ง ม. 112 กับ พ.ร.บ.คอมฯ นั้นไม่ถูกตามหลักกฎหมาย  ต้องลงโทษตามกฎหมายที่โทษหนักที่สุดเท่านั้น
 
2 ต.ค. 2557 คดีนี้จำเลยไม่เปิดเผยชื่อ อายุ 27 ปี เป็นนักดนตรี ศาลพิพากษาเมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2557 ให้จำคุก 27 ปี 36 เดือน (ประมาณสามปี) แต่เนื่องจากจำเลยรับสารภาพ ศาลจึงลดโทษให้กึ่งหนึ่ง เหลือโทษจำคุก 13 ปี 24 เดือน (ประมาณ 15 ปี) เขาถูกตัดสินว่าผิด ในกรณีที่ถูกกล่าวหาว่าโพสต์ข้อความหมิ่นฯ 9 ข้อความในเฟซบุ๊กในระหว่างปี 2554-2555 
 
โดยที่โทษจำคุกนั้น มาจากการลงโทษ 9 กรรม (การโพสต์ข้อความ 9 ครั้ง) ซึ่งแต่ละกรรมนั้น ศาลพิพากษาว่าผิดทั้ง มาตรา 112 (หมิ่นนประมาทกษัตริย์)  และ พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ฯ (นำเข้าข้อความหมิ่นฯ เข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์) และให้ลงโทษจำคุก สำหรับความผิดตามมาตรา 112 กรรมละ 3 ปี และสำหรับความผิดตามพ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) อีกกรรมละ 4 เดือน รวมเป็นโทษจำคุกสำหรับมาตรา 112 ทั้งหมด 27 ปี และโทษจำคุกสำหรับมาตรา 14 (3) 36 เดือน จึงรวมเป็นโทษจำคุกทั้งหมด 27 ปี 36 เดือน   
 
“จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 พรบ. คอมพิวเตอร์ มาตรา 14 (3) การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ พระราชินีและรัชทายาท จำคุก กระทงละ 3 ปี รวม 27 ปี ฐานนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ จำคุกกระทงละ 4 เดือน รวม 36 เดือน รวมโทษทุกกระทง 27 ปี 36 เดือน จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 13 ปี 24 เดือน . . .” 
 
สาวตรี สุขศรี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวกับประชาไทว่า การพิพากษาบทลงโทษดังกล่าว เป็นการพิพากษาที่ไม่ถูกต้อง จำเลยคดีนี้ถูกกล่าวหาว่า โพสต์ข้อความหมิ่นสถาบันฯ ทั้งหมดเก้าครั้ง ต่างเวลากัน จึงเป็นการกระทำผิดทั้งหมดเก้ากรรม อัยการก็ฟ้องทุก ๆ กรรมนั้นว่าเป็นความผิดตามมาตรา 112 และ พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ มาตรา 14 (3) ซึ่งหมายความว่า การกระทำของจำเลยหนึ่งครั้ง เป็นความผิดของกฎหมายทั้งสองบท ศัพท์ทางกฎหมายเรียกว่า “กรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท” โดยตามมาตรา 90 ประมวลกฎหมายอาญา กำหนดหลักเกณฑ์ในการกำหนดบทลงโทษในลักษณะนี้ไว้แล้วอย่างชัดเจนว่า "ให้ใช้กฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดลงโทษแก่ผู้กระทำความผิด" หรือที่นักกฎหมายมักพูดกันสั้น ๆ ว่า "กรรมเดียวหลายบท ให้ลงโทษบทหนัก"   
 
มาตรา 90 เมื่อการกระทำใดอันเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อ กฏหมายหลายบท ให้ใช้กฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดลงโทษแก่ผู้ กระทำความผิด
 
สาวตรีกล่าวว่า มาตรา 91 ประมวลกฎหมายอาญาที่ศาลอ้างถึง ว่าใช้กับการกระทำผิดต่างกรรมต่างวาระนั้น ก็เป็นอีกกรณีหนึ่ง เพราะคดีนี้จำเลยถูกฟ้องทั้งหมดเก้ากรรม ซึ่งทำต่างเวลากัน (ศัพท์ทางกฎหมายเรียกว่า "หลายกรรมต่างกัน") ดังนั้น หากศาลพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดทั้งเก้าครั้ง ศาลย่อมสามารถลงโทษจำเลยทุกกรรรมเรียงกระทงความผิดกันไปได้ ตรงนี้ศาลไม่ได้พิพากษาผิด 
 
มาตรา 91 เมื่อปรากฏว่าผู้ใดได้กระทำการอันเป็นความผิดหลาย กรรมต่างกัน ให้ศาลลงโทษผู้นั้นทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปแต่
ไม่ว่าจะมีการเพิ่มโทษ ลดโทษ หรือลด มาตรา ส่วนโทษด้วยหรือไม่ ก็ตาม เมื่อรวมโทษทุกกระทงแล้ว โทษจำคุกทั้งสิ้นต้องไม่เกินกำหนด ดังต่อไปนี้
(1) สิบปี สำหรับกรณีความผิดกระทงที่หนักที่สุดมีอัตราโทษ จำคุกอย่างสูงไม่เกินสามปี
(2) ยี่สิบปี สำหรับกรณีความผิดกระทงที่หนักที่สุดมีอัตราโทษ จำคุกอย่างสูงเกินสามปีแต่ไม่เกินสิบปี
(3) ห้าสิบปี สำหรับกรณีความผิดกระทงที่หนักที่สุดมีอัตราโทษ จำคุกอย่างสูงเกินสิบปีขึ้นไป เว้นแต่กรณีที่ศาลลงโทษจำคุกตลอดชีวิต
 
แต่ที่ผิดคือ บทลงโทษที่ศาลเรียงกระทงกันเก้ากรรมนั้น ศาลรวมโทษเอาโทษของกฎหมายทุกบทเข้ามาหมด ทั้งๆ ที่ ที่ถูกต้องแล้ว ศาลต้องลงแค่ "กรรมละบทเดียว" ซึ่งเป็นบทหนักที่สุดเท่านั้น ในที่นี้ก็คือ โทษตาม มาตรา 112 ลงเก้ากรรม ก็เท่ากับบ 27 ปี ส่วนโทษอีก 36 เดือน ในส่วนของมาตรา 14(3) พรบ.คอมพิวเตอร์ฯ จะต้องถูกตัดออกไปตั้งแต่แรกแล้ว จะเอามานับรวมด้วยไม่ได้ ตามหลักการในมาตรา 90   
 
สาวตรียังกล่าวเสริมเพื่อแก้ปัญหาในเรื่องนี้อีกว่า แม้ว่า ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาคดีอาญา มาตรา 190 จะห้ามมิให้มีการแก้ไขคำพิพากษาที่อ่านแล้ว นอกจากแก้ถ้อยคำที่เขียนหรือพิมพ์ผิดพลาด แต่โดยเจตนารมณ์ของมาตรานี้ ต้องการห้ามไม่ให้แก้ไขในส่วน "เนื้อหา" (่ว่าจำเลยผิด หรือไม่ผิด) ของคำพิพากษาเท่านั้น กล่าวคือ หากคู่ความเห็นว่าศาลนั้นพิพากษาไม่ถูกต้อง คู่ความต้องอุทธรณ์หรือฏีกาไปยังศาลที่สูงกว่า มาตรา 190 ไม่ได้ห้ามศาลแก้ไขในส่วนของ "บทบังคับ" ในคำพิพากษา ดังนั้น หากศาลกำหนดบทบังคับผิดพลาดไป ไม่ว่าด้วยสาเหตุใด เช่น ศาลคำนวน หรือนับโทษผิดพลาดไป แบบนี้ศาลชั้นที่ทำคำพิพากษานั้นเองสามารถแก้ไขเองได้ ไม่ต้องส่งไปให้ศาลสูงแก้ ดังที่เคยมีแนวคำพิพากษาฎีกามาแล้วหลายคดี เช่น คำพิพากษาฏีกาที่ 1175/2503  เป็นต้น 
 
“ในฐานะนักกฎหมาย เห็นว่าจำเลยน่าจะทำคำร้องขอให้ศาลแก้ไขส่วนคำบังคับในคำพิพากษานี้เสียใหม่ ไม่ควรปล่อยให้ศาลพิพากษาไปแบบผิด ๆ และนี่ก็เป็นสิ่งที่สามารถทำคู่ขนานไปกับการขอพระราชทานอภัยโทษได้ (กรณีหากจำเลยไม่ได้ต้องการอุทธรณ์เนื้อหาคดีไปยังศาลสูงแล้ว) และไม่ได้เกิดผลเสียหายใด ๆ ต่อจำเลยด้วย” สาวตรีกล่าว
 
ประเวศ ประภานุกูล ทนายจำเลยบอกกับประชาไทว่า จำเลยไม่คิดจะอุทธรณ์หรือติดใจในเรื่องบทลงโทษ และต้องการจะขอพระราชทานอภัยโทษโดยเร็ว
 
คดีของเขาเกิดขึ้นอย่างเงียบเชียบในจังหวัดอุบลราชธานี จากกรณีที่ถูกกล่าวหาว่าโพสต์ข้อความหมิ่นฯ 9 ข้อความในเฟซบุ๊กในระหว่างปี 2554-2555 หลังจากตำรวจบุกจับกุมตัวเขาที่บ้านในวันที่ 16 มี.ค.2555 เขาก็ได้รับการประกันตัวมาโดยตลอดในชั้นสอบสวน โดยญาติใช้หลักทรัพย์มูลค่า 500,000 บาท จนกระทั่งถึงวันครบกำหนดฝากขังก็ไม่มีการส่งฟ้องศาลจึงมีคำสั่งปล่อยตัว
 
อย่างไรก็ตาม เว็บไซต์ศูนย์ข้อมูลและคดีเสรีภาพฯ ระบุว่า จากคำบอกเล่าของมารดา ระบุว่า ในระหว่างที่เขาได้รับการประกันตัวจากการฝากขัง ตำรวจมีจดหมายและโทรศัพท์มาเรียกให้จำเลยไปพบและถูกส่งตัวไปพบแพทย์เพื่อตรวจอาการทางจิต และก่อนพิพากษาก็มีการไต่สวนแพทย์ผู้รักษาซึ่งแพทย์ระบุว่าจำเลยมีอาการทางจิต อาการไม่รุนแรงแต่หากไม่รักษาต่อเนื่องอาการอาจรุนแรงได้ อย่างไรก็ตามแพทย์มีความเห็นว่าจำเลยยังสามารถต่อสู้คดีได้ นอกจากนี้ยังไม่สามารถยืนยันได้ว่าในระหว่างกระทำความผิดเมื่อสองปีก่อนจำเลยมีอาการทางจิตหรือไม่
 
หลังการรัฐประหาร ปรากฏชื่อของเขาในคำสั่งเรียกรายงานตัวด้วย เขาเข้ารายงานตัวในวันที่ 13 มิ.ย. 2557 และถูกควบคุมตัวภายใต้กฎอัยการศึกเป็นเวลาสามคืน หลังการควบคุมตัว วันที่ 16 มิ.ย.อัยการสั่งฟ้องคดีนี้ทันที เขาถูกควบคุมตัวระหว่างการพิจารณาคดีที่เรือนจำจังหวัดอุบลราชธานีเรื่อยมาจนกระทั่งมีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 31 ก.ค.2557 นับเป็นคดีที่มีโทษหนักที่สุดในรอบหลายปีที่ผ่านมา
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net