หารือทางออกสุขภาพผู้ต้องขัง สิทธิหลักประกันสุขภาพอยู่ที่ตีความ

เมื่อวันที่ 26 กันยายน 2557 สมาคมนักวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล โดยความร่วมมือของกรมราชทัณฑ์ กระทรวงยุติธรรม และสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ จัดการประชุมเรื่อง “สุขภาพผู้ต้องขังหญิง: ให้เท่าที่จำเป็นหรือสิทธิที่พึงได้รับ?” ณ ห้องสานใจ อาคารสุขภาพแห่งชาติ กระทรวงสาธารณสุข ได้รับความสนใจจากหลายภาคส่วนไม่ว่าจะเป็น นักวิชาการอิสระ เจ้าหน้าที่กรมคุมประพฤติ กรมสิทธิเสรีภาพ คณะกรรมการปฏิรูปกฏหมาย เป็นต้น

มุมมองของสังคมไทย มักมองผู้ต้องขังในเรือนจำว่าเป็นผู้ร้าย สมควรได้รับการลงโทษด้วยการจองจำให้สมกับความผิดที่ทำไว้ ต้องแยกกันไว้ต่างหากจากสังคม ไม่จำเป็นต้องมีสิ่งอำนวยความสะดวก สังคมจึงไม่ค่อยให้ความสำคัญกับการทำงานเกี่ยวกับผู้ต้องขัง โดยเฉพาะการปรับปรุงคุณภาพชีวิตให้ผู้ต้องขัง เรื่องสุขภาพผู้ต้องขังจึงเป็นเรื่องที่ถูกมองข้ามเสมอมา 

ปัญหาการเข้าไม่ถึงบริการสุขภาพที่ดีเกิดขึ้นกับทั้งผู้ต้องขังทั้งเพศชายเเละหญิง แต่ด้วยปัจจัยหลายอย่างไม่ว่าจะเป็น กฏเกณฑ์ที่เข้มงวด และการบังคับใช้กฏเกณฑ์ที่ไม่เข้ากับบริบทกับผู้ต้องขังหญิง จึงทำให้ผู้ต้องขังหญิงมีภาวะความเครียดเเละความกดดันมากกว่าผู้ต้องขังชาย  

กุลภา วจนสาระ สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า สภาพความแออัดในเรือนจำเป็นปัญหาสำคัญที่ส่งผลต่อสุขภาพของผู้ต้องขัง เรือนจำส่วนใหญ่ต้องรับผู้ต้องขังมากกว่าความจุจริง 2-6 เท่า เรือนจำบางแห่งมีความจุ 77 คน แต่รับผู้ต้องขังหญิงมา 444 คน หลายแห่งต้องให้นอนสับฟันปลาหรือไขว้เสียบขาชนกัน มีทั้งผู้ป่วยและผู้สูงอายุ นอนรวมกันหมด ผู้ต้องขังส่วนใหญ่ใช้เวลาอยู่ในเรือนนอนเฉลี่ย 11 ชั่วโมงต่อวัน ระบบการระบายอากาศในเรือนนอนก็ไม่ดี สุ่มเสี่ยงต่อโรคติดต่อผ่านทางเดินหายใจ  

การเข้าส้วมก็ไม่มีความเป็นส่วนตัว เนื่องจากกลางคืนไม่ปิดไฟ และห้องส้วมก็เปิดโล่ง แดนหญิงในเรือนจำหลายแห่งมีห้องส้วมน้อยมาก คือ ประมาณ 10 ห้องต่อผู้ต้องขัง 500 คนซึ่งถือว่าไม่เพียงพอ

ในทัณฑสถานหญิงและแดนหญิงขนาดใหญ่ มักมีการแบ่งพื้นที่สำหรับสถานพยาบาลอย่างเป็นสัดส่วน มีอุปกรณ์ทางแพทย์พื้นฐานและมีแพทย์เข้าไปตรวจสุขภาพเป็นประจำ แต่ในแดนหญิงขนาดเล็กกลับมีเพียงพื้นที่เล็กๆ สำหรับการจ่ายยา ไม่มีห้องแยกผู้ป่วย ขาดแคลนทั้งแพทย์และพยาบาล

นภาภรณ์ หะวานนท์ นักวิชาการอิสระ กล่าวว่า เรือนจำนั้นมีลักษณะต่างจากองค์กรอื่นเนื่องเป็นเรื่องของการจำกัดสิทธิ ผู้ต้องขังจะมีสิทธิเท่าที่เรือนจำให้เท่านั้น เรือนจำเป็นองค์กรที่ผูกขาดอำนาจเบ็ดเสร็จ เพระเมื่อเข้าไปอยู่ในเรือนจำแล้ว ทุกอย่างของชีวิตจะขึ้นอยู่กับเรือนจำอย่างเดียว หากทางเรือนจำไม่อนุญาตก็คือไม่สามารถทำได้ เรือนจำเป็นเครื่องมือที่สลายตัวตนของผู้ต้องขังให้สยบยอม ทำให้ผู้ต้องขังมีความคิดว่าเขาหรือเธอเป็นเพียงเเค่ผู้ต้องขัง ไม่มีความสามารถกำหนดชีวิตตัวเองได้อย่างเสรี 

การดูเเลสุขอนามัยของผู้ต้องขังเป็นไปโดยยากในทางปฏิบัติ ผู้ต้องขังอาจหวาดกลัวกับเสียงดุของผู้คุม เช่น “แค่นี้จะกินยาหรอ?” การเจ็บป่วยแล้วจะเดินไปขอยาจึงมักไม่ใช้เรื่องที่ผู้ต้องขังกล้าทำ เพราะมีความสัมพันธ์เชิงอำนาจที่กดทับไว้อยู่ การจะประกันสุขภาพผู้ต้องขังจึงไม่ใช่เรื่องง่าย นอกจากปัจจัยที่ว่ามาเเล้วเรื่องบางเรื่องยังถูกละเลย เช่น การลงโทษบางประเภทที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ

ดาริการ ขมินทกุล กองบริการทางการเเพทย์ กรมราชฑัณฑ์ ให้ความเห็นว่าในทางปฏิบัติของเรือนจำ จะมีสถานพยาบาลเฉพาะในเเต่ละเรือนจำ หากมีกรณีฉุกเฉินก็จะส่งตัวไปโรงพยาบาลข้างนอกได้ ซึ่งเมื่อได้ส่งตัวผู้ต้องขังไปเเล้วสิทธิที่ผู้ต้องขังจะได้รับคือสิทธิประกันสุขภาพ ทั้งนี้ตนเองก็เห็นด้วยที่จะมีหน่วยเเพทย์เคลื่อนที่เข้ามาดูแลผู้ต้องขังในเรือนจำเป็นครั้งคราว

นพ.กฤช ลี่ทองอิน ผู้อำนวยการเเผนงานสนับสนุนระบบบริการส่งเสริมสุขภาพเเละป้องกันโรคสำนักงานหลักประกันสุขภาพ(สปสช.) กล่าวว่า เรื่องสิทธิตามระบบหลักประกันสุขภาพนั้นผู้ต้องขังจะถือว่าเป็นผู้ใช้สิทธิได้หรือไม่ ขึ้นอยู่กับการตีความตัวบทกฏหมายของผู้ที่มีอำนาจดำเนินนโยบาย ทั้งนี้ สปสช. ยังไม่มีข้อมูลหรือหลักปฏิบัติเรื่องการให้บริการผู้ต้องขังอย่างเป็นระบบ

เจ้าหน้าที่ผู้คุมมีหน้าที่ในการขึ้นทะเบียนผู้ต้องขังในระบบประกันสุขภาพ โดยเลือกหน่วยสถานพยาบาลที่ใกล้เคียง ซึ่งเมื่อได้ลงทะเบียนเเล้วหน่วยงานสุขภาพนั้นๆ จะมีหน้าที่รับผิดชอบดูเเลรักษา ส่งเสริมป้องกันโรค โดยไปรับบริการหรือให้หน่วยบริการเข้าไปภายใน

นพ. พรเพรช ปัญจปิยะกุล รองผู้อำนวยการสำนักบริหารการสาธารณสุข สำนักปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้ข้อมูลว่า สถานพยาบาลในเรือนจำสังกัดกระทรวงยุติธรรม ทำให้สถานพยาบาลในเรือนจำยังไม่ได้อยู่ในระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้าและไม่อาจได้รับงบประมาณจากสิทธิประกันสุขภาพถ้วนหน้าได้ ซึ่งสิทธิประกันสุขภาพถ้วนหน้า มีปัญหาคือการโอนย้ายสิทธิเข้าไปยังพื้นที่ในเรือนจำ ปัจจุบันกระทรวงสาธารณสุขยังขาดระเบียบปฏิบัติเกี่ยวกับเรือนจำทำให้การปฏิบัติต่างๆ ยังไม่เป็นเอกภาพ

จากการประชุมครั้งนี้ ได้ข้อเสนอว่าควรจะมีหน่วยบริการทางการเเพทย์เเละทันตกรรมอย่างเป็นระบบ เช่น มีหน่วยเคลื่อนที่ทางการเเพทย์เข้าไปให้บริการในเรือนจำต่างๆ จะเป็นทางออกที่เป็นไปได้เเละมีประสิทธิภาพในการเเก้ไขสุขภาวะของผู้ต้องขังหญิงในเรือนจำอย่างมาก นอกจากนี้เเล้วเรือนจำควรประสานงานกับโรงพยาบาล ด้าน สปสช. ควรวางเเผนเเม่บทเกี่ยวกับเรื่องผู้ต้องขังเเละการใช้สิทธิประกันสุขภาพถ้วนหน้า รวมทั้งการพัฒนาการคุมขังในรูปเเบบอื่นที่ไม่ใช่การควบคุมตัวในเรือนจำ ก็จะสามารถแก้ปัญหาคนล้นคุกที่เกิดขึ้นได้ เเละส่งผลโดยตรงให้วิกฤตสุขภาวะของผู้ต้องขังคลี่คลายลง

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท