Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis


ความเห็นของ "กุหลาบพิษ" ที่วิจารณ์ คุณสุภิญญา ในฐานะผู้หญิงเพียงคนเดียว (และอายุน้อยที่สุด) ของคณะกรรมการ กสทช. ที่ลุกขึ้นมาต่อสู้กับสถานีโทรทัศน์กลุ่มทุนที่ทรงอิทธิพลอย่างยิ่งในวงการสื่อไทยนั้น  เป็นภาพสะท้อนให้เห็นถึง อคติที่มีต่อผู้หญิงในสังคมไทยได้อย่างชัดเจน ดังจะเห็นได้จาก หากเราพิจารณาถึงข้อเขียนดังกล่าวในมิติของเชื้อชาติ / ชาติพันธ์ (race / ethnicity)  ชนชั้น (class) เพศสถานะ (gender) เพศวิถี (sexuality/ies) ความสวย (beauty) และ อายุ (age) เราจะพบว่า ข้อเขียนดังกล่าวมีมุมมองของการผสมผสานมิติต่างๆ ที่นำไปสู่ "วัฒนธรรมการเหยียดผู้หญิง" หรือ  การเหยียดเพศหญิง (womanism/sexism) ในสังคมไทย ได้อย่างชัดเจน  ดังจะเห็นได้จาก

"กุหลาบพิษ" ได้นำเอาภูมิหลัง ของ คุณสุภิญญามาตีแผ่เพื่อสร้างความชอบธรรมให้กับวาทกรรมการเหยียดผู้หญิงของตนเอง  ในฐานะที่คุณสุภิญญาเป็น ผู้หญิงที่มาจากภาคใต้ ที่มีการศึกษา (เก่งและฉลาด) แม้จะไม่ได้สวยสอดคล้องกับสังคมอุดมคติ (ผิวขาว) แต่ก็มีความสวยแบบ 'หน้าตาคมขำ' ในช่วงอายุในวัยปลาย 38 (ต้น 40) ซึ่งมุมมองของกุหลาบพิษสะท้อนให้เห็นมุมมองของสังคมไทย ที่มีต่อ เพศสถานะ หรือ บทบาทความคาดหวังทางเพศ ที่ว่า ผู้หญิงในวัยนี้ จะต้องแต่งงาน(กับผู้ชาย) มีครอบครัว โดยรับบทบาทตามประเพณี ในการเป็นเมีย และ แม่ที่ดี

ที่น่าสนใจ คือ หากพิจารณา จากนามปากกา "กุหลาบพิษ" ซึ่งผู้เขียน (ซึ่งเป็นผู้ชาย) จงใจใช้นามปากกา และ สรรพนามแทนตัว ที่ดูเสมือนว่า ตนเองมีความเป็นกลาง ปราศจากอคติทางเพศ โดยทำประหนึ่งว่า เข้าใจมุมมอง และ "หัวอกผู้หญิงคนหนึ่ง" มาอ้างอำนาจในการแสดงความคิดเห็นที่เหนือกว่าว่า มีความเข้าอกเข้าใจ เพื่อกลบเกลื่อนมุมมองอคติ และความสัมพันธ์เชิงอำนาจที่ลึกซึ้งของตนเอง ทั้งในฐานะที่ตนเอง เป็นผู้ชาย เป็นสื่อมวลชน เป็นตัวแทนของมุมมองอคติของสังคม ในการทำลายความชอบธรรม (discredit) การต่อสู้ของคุณสุภิญญา ต่อกรณีการเรียกร้องให้มีการเปิดเผยอย่างโปร่งใสของสื่อมวลชนยักษ์ใหญ่ของสังคมไทย

นอกจากนี้ การที่  "กุหลาบพิษ" ได้เน้นย้ำถึงประเด็น  "คานทองนิเวศ"  หรือ การที่คุณสุภิญญา เป็นสาวโสด ที่ไม่ได้แต่งงาน ไม่ได้ทำหน้าที่เป็นเมีย และเป็นแม่ ในฐานะที่เปรียบเสมือนเป็น "หน้าที่" เป้าหมายสูงสุดในชีวิตของผู้หญิง ที่แท้จริงยิ่งกว่ามิติอื่น เพื่อลดทอนการต่อสู้ของคุณสุภิญญา ย่อมแสดงให้เห็นถึง การต่อสู้ของการให้ความหมายในเชิงคุณค่าสูงสุด ในชีวิตของผู้หญิงว่า ระหว่างบทบาทหน้าที่ตามประเพณีดั้งเดิมที่คาดหวังให้ผู้หญิงเป็นเพียง แม่ และ เมีย ที่ดี ที่ต้องสงบเสงี่ยมเจียมตัว ทำงานบ้าน ปรนนิบัติสามี ดูแลลูก กับ บทบาทของผู้หญิงสมัยใหม่ ที่เลือกที่จะทำหน้าที่ในฐานะ "พลเมือง" ที่ตรวจสอบสื่อ และ ทุน ที่ คุณสุภิญญาเลือกที่จะ "ต่อสู้" มาตลอดนั้น  บทบาทใด จะมีคุณค่า ในสังคมไทยมากกว่ากัน 

ปรากฏการณ์ดังกล่าว จึงไม่เพียงแต่เป็น "บทพิสูจน์" ของคุณสุภิญญา และผู้หญิงยุคใหม่ทุกคนที่ออกมาจากกรอบประเพณี แต่เป็น บทพิสูจน์ ทั้งต่อสื่อมวลชน และสังคมไทยว่า จะสามารถก้าวข้าม อคติทางเพศ และ วัฒนธรรมการเหยียดผู้หญิง ที่มีต่อผู้หญิงไปได้หรือไม่ อย่างไร ในสถานการณ์ที่ผู้หญิงในปัจจุบัน ได้รับการศึกษา เป็นโสด (หรือหย่าร้าง) มากขึ้น และมีเสรีภาพ ทางเลือก ที่จะสร้างตัวตน และบทบาทใหม่ๆ ที่ไม่ยึดโยงอยู่แต่เพียงบทบาทตามประเพณีที่สังคมกำหนดอีกต่อไป.

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net