Skip to main content
sharethis

นักวิจัยด้านความจำของมนุษย์ทดลองเชื่อมโยง 'ความสงสัยใคร่รู้' และ 'ความจำ' ของมนุษย์โดยอาศัยชุดคำถาม รูปภาพ และการตรวจสแกนสมอง พบว่าสมองของผู้ที่สงสัยใคร่รู้จะทำงานเพิ่มมากขึ้นในส่วนเกี่ยวกับการได้รับรางวัลและการเพิ่มความทรงจำใหม่ เป็นประโยชน์ทั้งด้านการศึกษาและเรื่องโรคทางระบบประสาท


5 ต.ค. 2557 ทีมนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เดวิส ทดลองด้วยเครื่องสแกนสมองพบว่า "ความสงสัยใคร่รู้" ช่วยเพิ่มสมรรถภาพด้านความจำของมนุษย์ได้แม้ว่าจะเป็นการจำข้อมูลในประเด็นที่ไม่เกี่ยวกับสิ่งที่พวกเขาสงสัยอยู่ก็ตาม

ในวารสาร "นิวรอน" ฉบับวันที่ 2 ต.ค. ระบุว่านักวิจัยทดลองเพื่อต้องการส่งเสริมการพัฒนาในด้านความจำและการเรียนรู้ทั้งในหมู่คนที่สุขภาพดีและผู้มีปัญหาเกี่ยวกับระบบประสาท

แมทเธียส กรูเบอร์ นักวิจัยด้านความจำจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เดวิส กล่าวว่า "ความสงสัยใคร่รู้จะทำให้สมองอยู่ในสภาพที่พร้อมจะเรียนรู้และรับข้อมูลประเภทใดก็ได้ ราวกับน้ำวนที่ดูดกลืนทั้งสิ่งที่คุณอยากเรียนรู้และสิ่งอื่นๆ รอบตัวมัน"

ในการทดลอง กรูเบอร์และเพื่อนร่วมทีมใช้วิธีการตรวจเอ็กซเรย์ด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า หรือ เอ็มอาร์ไอ (MRI) พร้อมทั้งแสดงคำถามความรู้รอบตัวชุดหนึ่ง รวมถึงให้ผู้เข้าร่วมการทดสอบให้คะแนนความสงสัยใคร่รู้ของตัวเองว่าพวกเขาอยากรู้คำตอบของคำถามแต่ละคำถามมากแค่ไหน หลังจากนั้นจึงให้ผู้เข้าร่วมมองภาพใบหน้าที่มีสีหน้าเฉยๆ เป็นเวลา 14 วินาที แล้วจึงเฉลยคำตอบของคำถามความรู้รอบตัว เสร็จจากกระบวนการนี้ผู้เข้าร่วมจะเข้ารับการทดสอบความจำรูปใบหน้าซึ่งเป็นการทดสอบที่ไม่ได้บอกล่วงหน้าแล้วตามด้วยการทดสอบความจำคำตอบของคำถามความรู้รอบตัวอีกครั้งหนึ่ง

ผลการทดลองในเรื่องแรกเป็นสิ่งที่คาดเดาได้ คือผู้ที่มีความสงสัยใคร่รู้คำตอบของคำถามความรู้รอบตัวจะจำข้อมูลความรู้รอบตัวในเรื่องที่พวกเขาสงสัยในคำตอบได้ แต่ผลที่ไม่ได้คาดการณ์ไว้คือผู้เข้าร่วมการทดสอบที่มีความสงสัยใคร่รู้จะจดจำใบหน้าได้ดีกว่าด้วยทั้งๆ ที่เป็นการจดจำซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับคำถามเลย นอกจากนี้ผู้วิจัยยังระบุอีกว่าผู้ที่มีความสงสัยใคร่รู้มากกว่าจะจดจำทั้งข้อมูลความรู้รอบตัวและใบหน้าได้ดีกว่าในการทดสอบอีกวันหนึ่งหลังจากนั้น

ผลจากการสแกนสมองด้วยวิธีเอ็มอาร์ไอพบว่า ผู้ที่มีความสงสัยใคร่รู้สมองของพวกเขา จะมีการทำงานเพิ่มขึ้นในส่วนที่ชื่อว่า "นิวเคลียส แอ็คคัมเบน" (Nucleus Accumben) ซึ่งเป็นส่วนที่เกี่ยวข้องกับ "การได้รับรางวัล" โดยสมองส่วนนี้ทำงานร่วมกับสารสื่อประสาทที่เรียกว่า "โดปามีน" (Dopamine) ซึ่งทำให้มันเชื่อมโยงกับแรงจูงใจจากภายนอกที่เป็นรางวัล เช่น อาหาร, เพศสัมพันธ์, ดนตรี, การออกกำลังกาย รวมถึงการติดยาเสพติดด้วย

นอกจากนี้การสงสัยใคร่รู้ในขณะที่กำลังเรียนอยู่ยังทำให้เกิดการทำงานเพิ่มสูงในส่วนของสมองที่เรียกว่าฮิปโปแคมปัส ซึ่งเกี่ยวข้องกับการสร้างความทรงจำใหม่และการเชื่อมโยงระหว่างความทรงจำกับส่วนการทำงานของสมองที่เกี่ยวกับการได้รับรางวัล

นักวิจัยกล่าวว่า ผลการวิจัยนี้ไม่เพียงแต่เน้นย้ำถึงความสำคัญของความสงสัยใคร่รู้ต่อการเรียนรู้ในคนที่มีสุขภาพดี แต่ยังทำให้ทราบเกี่ยวกับการทำงานของระบบประสาทมากขึ้น เช่น เมื่อคนเราอายุมากขึ้น ส่วนการทำงานของโดปามีนจะเสื่อมลง ดังนั้นการได้ทราบว่าความสงสัยใคร่รู้มีผลต่อวงจรการทำงานของสมองอย่างไรสามารถทำให้นักวิทยาศาสตร์พัฒนาการรักษาผู้ป่วยที่มีความผิดปกติเกี่ยวกับความทรงจำได้


เรียบเรียงจาก

Being Curious Can Boost Your Memory, LiveScience, 03-10-2014
http://www.livescience.com/48121-curiosity-boosts-memory-learning.html

ข้อมูลเพิ่มเติมจาก
http://en.wikipedia.org/wiki/Nucleus_accumbens

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net