Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

เช้าวันที่ 23 มีนาคม ปี 1919 ทหารผ่านศึก เหล่าผู้สนับสนุนสงคราม ศิลปินฟิวเจอริสต์ ปัญญาชน นักข่าว และอิตาเลียนมุงประมาณหนึ่งร้อยคน รวมตัวกันที่สมาพันธ์อุตสาหกรรมและพาณิชย์แห่งมิลานเพื่อเป็นประจักษ์พยานกำเนิดใหม่ของพรรคการเมือง เบนิโต มุสโสลินีเรียกพรรคการเมืองของเขาว่า Fasci di Combattimento / "พรรคแห่งนักรบ" แถลงการณ์นโยบายฉบับแรกไม่มีอะไรเป็นชิ้นเป็นอันไปกว่า

"พวกเราจะสู้กับนักสังคมนิยม...เพราะพวกมันต่อต้านลัทธิชาตินิยม"

นั่นคือจุดเริ่มต้นของขบวนการฟาสซิสต์

มุสโสลินีไม่ได้เผยแพร่ปรัชญาของขบวนการเข้าไปในเยอรมัน ไม่ได้มีการสอนสั่งจากครูไปหาศิษย์ จากมุสโสลินีไปหาฮิตเลอร์ อันที่จริงในช่วงเวลาไล่เลี่ยกัน นอกจากในอิตาลีและเยอรมัน ยังมีการเคลื่อนไหวลักษณะดังกล่าว ทั้งในฝรั่งเศส เบลเยียม และฮังการี

ฟาสซิสต์คือการเคลื่อนไหวของภาคประชาชนที่เป็นอิสระต่อกันในแต่ละพื้นที่ เราไม่อาจใช้คำคำเดียวอธิบายอย่างครอบจักรวาลสิ่งที่เกิดในทุกประเทศได้ แต่ในทางกลับกัน ถ้าเราไม่พยายามทำความเข้าใจความหมายของคำนี้เลย เท่ากับเรากำลังมองข้ามขบวนการ ปรัชญา และปรากฏการณ์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในช่วงครึ่งแรกของศตวรรษที่ 20

ฟาสซิสต์คือรูปแบบหนึ่งของเผด็จการ ระบอบที่คนกลุ่มน้อยหรือกระทั่งคนเพียงคนเดียวกุมอำนาจเหนือคนส่วนใหญ่ อย่างไรก็ดี ถ้าแค่นั้น ฟาสซิสต์ก็คงไม่ต่างอะไรจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราช ที่เฟื่องฟูในยุโรปศตวรรษที่สิบเจ็ดถึงสิบเก้า ภายหลังสงครามโลกครั้งที่สอง หลากหลายประเทศลาตินอเมริกาปกครองด้วยผู้นำเผด็จการ แต่ก็เป็นเผด็จการที่แตกต่างจากฮิตเลอร์หรือมุสโสลินี

ขุมอำนาจเผด็จการทั่วไปคือกำลังทหาร ใครมีมีด มีหอกมากกว่า คนนั้นคือผู้ครองแดนดิน ในทางตรงกันข้ามต้นขั้วอำนาจฟาสซิสต์ไม่ได้มาจากปากกระบอกปืนเพียงอย่างเดียว -- แม้อาวุธจะยังเป็นปัจจัยที่ขาดเสียมิได้ -- แต่มาจากความนิยมของมวลชน มวลชนส่วนน้อยที่เชื่อฝังหัวในความถูกต้องของตัวเอง แน่นอนว่าเมื่อฟาสซิสต์ครองอำนาจได้ พวกเขาก็จะใช้กลไกทุกอย่างของรัฐ การประชาสัมพันธ์เอย การโฆษณาชวนเชื่อเอย ขยับขยายมวลชนส่วนน้อยให้ครอบคลุมทั่วทั้งประเทศ

ในทางกลับกันฟาสซิสต์แตกต่างจากประชาธิปไตยอย่างไร ในเมื่อต่างฝ่ายต่างคืออำนาจที่มาจากประชาชนทั้งคู่

ประชาธิปไตยเป็นทางออกชั่วคราวของความขัดแย้ง ประชาธิปไตยไม่พยายามปฏิเสธความจริงว่า สังคมยุคใหม่สลับซับซ้อนเกินกว่าผู้คนจะยอมรับในคำตอบคำตอบเดียว หลังจากชนะการเลือกตั้ง วันที่ประธานาธิบดีหรือนายกรัฐมนตรีขึ้นปฏิญาณตน เขาหรือเธอย่อมตระหนักว่า ตัวเองมาอยู่ตรงนี้ได้ เพราะความเห็นชอบของคนเพียงกึ่งหนึ่ง -- อาจไม่ใช่แม้เสียงส่วนใหญ่เลยด้วยซ้ำ -- และต่อจากวันนี้ เขาหรือเธอต้องบริหารประเทศด้วยนโยบายที่ขัดแย้งกับความเห็นชอบของคนอีกจำนวนมหาศาล

ผู้นำประชาธิปไตยตระหนักอยู่ตลอดเวลาว่าตัวเองมีศัตรูทางการเมืองทั้งซ้ายและขวา ในทางตรงกันข้าม ผู้นำฟาสซิสต์ไม่ยอมรับว่าตัวเองมีศัตรูทางการเมือง เขาปกครองด้วยความเห็นชอบของคนทั้งประเทศ ไม่เกี่ยงว่าสิ่งนั้นเป็นไปไม่ได้เลยในสังคมยุคใหม่ เล่ห์กระเท่จึงจำเป็นเสมอ ฟาสซิสต์ผลักศัตรูทางการเมืองให้กลายเป็นศัตรูแห่งชาติ ศัตรูร่วมกันที่ทุกคนต้องกดขี่หรือเข่นฆ่า พวกเขาอ้างถึงความสมัครสมานสามัคคี และเรียกความรักชาติว่าเป็น "ความรู้สึกในความเป็นมนุษย์ขั้นพื้นฐาน"

นี่คือมายากลทางวัฒนธรรมที่ฟาสซิสต์หยิบมาใช้เพื่อปฏิเสธความขัดแย้ง และความหลากหลายในสังคมยุคใหม่
และมายากกลที่สำคัญที่สุดสถิตอยู่ในตัวผู้ร่ายคาถา ในตัวนักมายากลนั่นเอง ฟาสซิสต์จะเกิดขึ้นมาไม่ได้เลย ถ้าปราศจากความรู้สึกอันแน่นแฟ้นที่มวลชนมีต่อผู้นำ ฮิตเลอร์ตระหนักถึงความจริงข้อนี้

ในประวัติศาสตร์อันยาวนานของมนุษชาติ สักร้อยปีจะมีนักการเมืองคนเดียวที่เป็นศาสดาพยากรณ์ เข้าถึงสัจธรรมอันยิ่งใหญ่...ผู้นำคือผู้ปลุกเร้า...เขาคนนั้นต้องเป็นทั้งนักทฤษฎี นักวางระบบ มีแต่ชายผู้ยิ่งใหญ่เท่านั้น จึงจะมีคุณสมบัติของผู้นำอย่างครบถ้วน

ตำนาน "ชายผู้ยิ่งใหญ่" คือหัวใจ คือแก่นกลางของพรรคนาซี พรสวรรค์การตีกลอง การสร้างแรงบันดาลใจให้กับผู้ฟัง ส่งเสริมให้อดอฟ ฮิตเลอร์เชื่อว่าตัวเองเหมาะสมสุดแล้วกับการเล่นบทบาทนี้


"มวลชนคืออิสตรี คิดอะไรแง่มุมเดียว รู้จักแต่ขาวและดำ...ทั้งตาบอด และซื่อบื้อ พวกเขาไม่รู้หรอกว่าตัวเองกำลังทำอะไรอยู่..."

ฮิตเลอร์มองเห็นความอ่อนแอของมวลชน ท่ามกลางผู้มาฟังปราศรัยเรือนหมื่นเรือนแสน ปัจเจกรู้สึกราวกับตัวเองเป็นมดปลวก ฮิตเลอร์สามารถมอบความแข็งแกร่งให้กับคนเหล่านั้นได้ ความแข็งแกร่งที่มาพร้อมกับความสมัครสมานเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน เชื่อในบุคคลคนเดียวกัน ซึ่งก็คือตัวเขา "มวลชนคิดเป็นแต่เรื่องง่ายๆ ...ความเข้าใจน่ะ ทั้งง่อนแง่นและโอนเอน สิ่งที่มีเสถียรภาพที่สุดคืออารมณ์ คือความเกลียดชัง"

 

ที่มาภาพ: https://www.facebook.com/NiSatharnrathWiMar

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net