Skip to main content
sharethis

นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. ระบุน้ำท่วมภาคใต้คนในพื้นที่ทราบดี 1 ปีท่วม 4 ครั้ง เพราะน้ำมาจากภาคเหนือไหลผ่านภาคกลางลงสู่ภาคใต้ และจะลงพื้นที่พบประชาชนแน่นอน อยากบอกให้รู้ว่า "รักประเทศไทย รักคนไทยทุกคน" จะบริหารอย่างโปร่งใส ปฏิรูปประเทศไทยให้ได้ และเตรียมผลักดันกฎหมายชุมนุม รอบบ้านมีใช้กันแล้ว คนไทยต้องเคารพกติกา

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนเมื่อวันที่ 8 ต.ค. 2557 ด้านหลังคือรัฐมนตรีใน ครม.ประยุทธ์ 1 (จากซ้ายไปขวา) พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รมว.กลาโหม และ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล และ พล.อ.ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร รมว.ต่างประเทศ (ที่มาของภาพ: เว็บไซต์รัฐบาลไทย)

8 ต.ค. 2557 - เว็บไซต์รัฐบาลไทย รายงานว่า เมื่อเวลา 11.00 น. ณ บริเวณทางเชื่อมตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีกล่าวถึงสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ภาคใต้ว่า ถือเป็นเรื่องปกติของคนในพื้นที่ที่จะทราบดีว่าในรอบ 1 ปีจะมีน้ำท่วม 4 ครั้ง โดยจะมีน้ำจากทางภาคเหนือไหลผ่านภาคกลางลงสู่ภาคใต้ การแก้ไขคือจะทำอย่างไรให้มีพื้นที่ ที่สามารถกักเก็บน้ำได้ตลอดเส้นทางน้ำ โดยงบประมาณปี 57 ได้เริ่มดำเนินการแล้ว ส่วนการลงพื้นที่พบปะประชาชนนั้น นายกรัฐมนตรียืนยันว่าไปแน่นอนในเร็ว ๆ นี้ ซึ่งฝ่ายความมั่นคงกำลังประเมินอยู่ว่าจะลงพื้นที่ใดก่อ

สำหรับการบริหารประเทศนั้น นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า อยากให้คนไทยทุกคนทราบว่า “รักประเทศไทย รักคนไทยทุกคน” ทุกวันนี้บริหารราชการแผ่นดิน ด้วยความโปร่งใส และจะปฏิรูปประเทศให้ได้ เพื่อสร้างความมั่นคง ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน รวมถึงการวางยุทธศาสตร์ประเทศในระยะยาวให้ได้

ขณะเดียวกัน เว็บไซต์รัฐบาลไทย รายงานด้วยว่า พล.อ.ประยุทธ์ ให้สัมภาษณ์ถึงความพยายามผลักดันให้ประเทศไทยมี ร่าง พ.ร.บ.ควบคุมการชุมนุมในพื้นที่สาธารณะว่า กำลังทำอยู่ อยู่ในขั้นตอนเข้าไปสู่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และได้ดำเนินการไว้ตั้งแต่ต้น โดยจะมีการหารือ ระดมความคิดเห็น ว่าจะออกมาอย่างไร จะแก้ไขตรงไหน จะทำได้หรือไม่ได้ สังคมก็ต้องเรียนรู้ ก่อนหน้านี้กฎหมายออกไม่ได้เพราะเป็นเรื่องของการเมือง และการเมืองต้องมีมวลชนสนับสนุนการเมือง เมื่อมีมวลชนสนับสนุนก็มีโอกาสมาต่อต้านต่อสู้ให้พรรคการเมือง กฎหมายฉบับนี้จึงออกมาไม่ได้ เพราะรัฐบาลต้องไปจำกัดการชุมนุมของทุกกลุ่มทุกฝ่าย และอาจจะไปจำกัดกลุ่มของตนเอง ฉะนั้น วันนี้เราไม่ต้องการให้มีกลุ่มของใครทั้งสิ้น สิ่งที่เราทำวันนี้ไม่มีกลุ่มใครทั้งสิ้น

ผู้สื่อข่าวถามว่า แสดงว่าต้องมีกฎหมายนี้ออกมาแน่นอนใช่หรือไม่ นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ต้องมี ประเทศรอบบ้านและทั่วโลกเขามีหมดแล้ว คนไทยต้องยอมรับกติกากันบ้าง ไม่เช่นนั้นประเทศชาติจะวุ่นวาย วันนี้การเมืองคือการเมือง ตนไม่ได้ขัดแย้งกับการเมือง ตอนนี้อยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของวิป ถ้าเสร็จเรียบร้อยถึงจะเสนอรัฐบาล ซึ่งรัฐบาลจะเห็นชอบและนำเข้า ครม. โดยการนำเข้าครม. ไม่ได้หมายความว่าจะอนุมัติเลย เมื่อผ่าน ครม.ก็จะเข้าสู่ สนช. พิจารณาในวาระ 1 -3 เสร็จแล้วก็ประกาศ ใช้เป็นกฎหมาย เมื่อประกาศแล้วก็มีผลการบังคับใช้ตามระยะเวลาที่กำหนดไว้ ฉะนั้นยังมีโอกาสโต้แย้ง แต่ตนเห็นว่าควรจะมีกฎหมายดังกล่าว จะได้ป้องกันเจ้าหน้าที่ได้ไม่เช่นนั้นจะเกิดปัญหาการกระทบกระทั่งกับประชาชน หากมีคนไม่ดีซักคนสองคนใช้อาวุธเจ้าหน้าที่ก็ตาย ประชาชนก็เจ็บ ท้ายที่สุดเจ้าหน้าที่ก็ต้องรับผิดชอบอีก ตรงนี้มันเป็นประเด็นและจะไม่จบ ถ้าทุกรัฐบาลคิดแบบตนการเมืองก็ว่าของท่านไป ท่านจะอะไรก็ทำไป แต่ต้องไม่ลืมเสียงส่วนน้อย ต้องดูแลทั้งเสียงส่วนน้อยและเสียงส่วนใหญ่ จะสนับสนุนหรือไม่สนับสนุนรัฐบาล เขาเป็นคนไทย ต้องดูแลคนไทยควรจดจำไว้ทุกรัฐบาล

ผู้สื่อข่าวถามว่า ห่วงหรือไม่ที่รัฐบาลนี้พยายามจะออกกฎหมาย แต่นักการเมืองจ้องฉีก นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ตนไปทะเลาะกับเขาไม่ได้ ต้องพยายามสร้างความเข้าใจ ถ้าต้องการให้ประเทศไทยไปข้างหน้า ไม่ใช่การเมืองดีแล้วประเทศไทยถอยหลังมันไม่ได้ หากพรรคท่านดีหรือรัฐบาลดี แต่ประเทศชาติไม่ได้รับการยอมรับจากสังคมโลกภายนอก แล้วเราจะทำอะไรต่อไปได้ รายได้จะมาจากไหน วันนี้รายได้ของเรามาจากการส่งออก 60 -70 เปอร์เซ็นต์ เมื่อทั่วโลกรายได้ตก เราก็ตกตามเขา เราจะทำอย่างไรถึงจะสู้เข้าได้ ให้เวลาตนมาคิดอย่างนี้ดีกว่า วันนี้เราสร้างความเข้มแข็ง การลงทุน บีโอไอ คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน เพิ่มเทคโนโลยี เครื่องจักรเครื่องมือใหม่ อะไรต่าง ๆ เราคิดใหม่ทั้งหมด ซึ่งต้องใช้เวลา

ผู้สื่อข่าวถามว่า รัฐบาลเตรียมรับอย่างไร ซึ่งประเทศที่เคยให้สิทธิพิเศษ มองว่าประเทศไทยหลุดพ้นจากความยากจน และจะไม่ให้สิทธิพิเศษแก่ประเทศไทยแล้ว นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า นี่คือปัญหา ซึ่งต้องไปคเจรจาสร้างความเข้าใจ โดยจะขอยืดเวลาให้ผ่อนผัน เช่น การลดสิทธิทางภาษีที่จะไม่ยกเว้นให้แล้ว ถ้าไม่ลดสิทธิทางภาษีต้นทุนก็จะสูงขึ้น เพราะค่าแรงสูงบวกต้นทุนแล้วจะทำให้ค่าลงทุนสูง จะสู้กับประเทศที่มีค่าแรงงานถูกไม่ได้ ตรงนี้คือภาพรวมของเศรษฐกิจ ขึ้นอยู่ว่ารัฐบาลนี้จะแก้ปัญหาอย่างไร ทั้งยังใช้มาตรการเร่งด่วน ระยะสั้น และระยะยาว เพื่อสร้างความเข้มแข็ง และปรับทั้งหมดทำคู่ขนานกันไปในระยะเวลาแค่ 4 เดือน รัฐบาลที่ผ่านมาไม่ได้ทำอย่างนี้

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net