เข็มขัดกับหวี...ทางเลือกของจะดอ...จะโบแปลว่าผู้มีวาสนา หนังสั้นสะท้อนสิทธิชนเผ่า ฝีมือ 3 หนุ่มลาหู่

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

น่าสนใจ ถือว่าไม่ธรรมดาและน่าชื่นชม เมื่อยินข่าว 3 หนุ่มชนเผ่าลาหู่(Lahu) จากหมู่บ้านเล็กๆ ตามริมชายแดน ไทย-เมียนม่าร์ ในเขตตำบลเมืองนะ อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ ได้ลงมือทำภาพยนตร์สั้น หรือหนังสั้น บอกเล่าเรื่องราววิถีชนเผ่า จนเป็นที่กล่าวขวัญไปทั่วประเทศ  คนหนึ่งนั้นคือ ‘ไมตรี จำเริญสุขสกุล’ กับเรื่อง ‘จะโบแปลว่าผู้มีวาสนา’ ธนิต จำเริญสุขสกุล กับเรื่อง ‘ทางเลือกของจะดอ’ และ 'สุทิตย์ ซาจ๊ะ' ทำเรื่อง ‘เข็มขัดกับหวี’ ซึ่งเรื่องนี้ของสุทิตย์ ได้รับรางวัลดีเด่นช้างเผือกพิเศษ จากเทศกาลภาพยนตร์สั้นและวิดีโอครั้งที่ 16 ของมูลนิธิหนังไทย เมื่อปี 2555 ที่ผ่านมา แต่ทว่าไม่ค่อยมีใครในพื้นที่เชียงดาว หรือในสังคมไทยได้รับรู้กันมากนัก

โดยเฉพาะเด็กหนุ่มคนนี้ ‘จะบื้อ’ หรือ 'สุทิตย์ ซาจ๊ะ' เด็กหนุ่มชนเผ่าลาหู่ วัย 18 ปี(ในขณะนั้น) จากบ้านกองผักปิ้ง ต.เมืองนะ อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ ใช่แล้ว เขาเป็นเพียงเด็กลาหู่คนหนึ่งที่ไม่มีใครให้ความสำคัญหรือสนใจ แต่ชีวิตจริงของเขาก็ยิ่งกว่านิยายเสียอีก บางครั้งเหมือนตลกร้าย จะบื้อ เกิดในหมู่บ้านชายแดนแห่งนี้ เติบโตขึ้นมาและมารู้ว่าตนเองเป็น "คนไม่มีบัตร" คนเดียวในครอบครัว ทั้งที่ในทะเบียนบ้านสัญชาติไทย มีชื่อพ่อแม่พี่น้องทุกคน ยกเว้นตัวเขา พอโตขึ้น เขาเป็นคนมี "บัตรเลขศูนย์" หรือมีชื่อเต็ม ๆ ว่าบัตรผู้ไม่มีสถานะทางทะเบียน

การเป็นคนไม่สัญชาติไทย จึงทำให้เขาเป็นคนเงียบๆ ไม่ค่อยพูดจากับใคร  ชีวิตเขาถูกจำกัดสิทธิหลายๆ อย่าง เรียนหนังสือก็ไม่รู้จะเรียนสูงไปทำไม ไม่รู้ไปไหนต่อ จะไปทำงานในเมืองก็ไม่กล้า เพราะไม่มีบัตร กลัวตำรวจจับ จะเปิดเบอร์โทรศัพท์เป็นชื่อตัวเองยังมีปัญหา ซื้อมอเตอร์ไซค์เองก็วุ่นวาย เปิดบัญชีธนาคารยังโดนไล่กลับมาสองธนาคาร กว่าจะมาเปิดได้ก็ถึงธนาคารที่สามที่บังเอิญอ่านบัตรประหลาดของเขาเข้าใจ ในที่สุด, วันๆ วิถีเขาวนเวียนอยู่ในวงแคบๆ เพียงแค่ในหมู่บ้านเกิด ไกลออกไปอีกหน่อย ก็คือทุ่งไร่ที่เป็นพื้นที่ปลูกข้าว ปลูกผัก เลี้ยงดูชีวิตครอบครัวเพียงเท่านั้นเอง                

กระนั้น ชีวิตเขาแม้อยู่ยาก แต่ยังคงมีความฝัน วันหนึ่ง ‘จะบื้อ’ ผละจากงานในไร่ แบกกระเป๋าเดินทางเข้าเวียงเชียงใหม่ ไปเข้าร่วมโครงการเกี่ยวก้อย ที่ทางมูลนิธิเพื่อนไร้พรมแดน จัดขึ้น เพื่ออบรมคนไร้สัญชาติ กลุ่มชาติพันธุ์ในหลายพื้นที่มาฝึกทำหนังสั้น เพื่อบอกเล่าเรื่องราวของชุมชนตนเองให้สังคมข้างนอกได้รับรู้และเข้าใจ จากนั้น เขาเดินทางกลับบ้านเกิด พร้อมพลังและไฟฝัน แอบซุ่มทำหนังสั้นเรื่องแรกในชีวิต 'เข็มขัดและหวี / A Belt and a Comb' โดยเขาลงมือทำ เรียนรู้ ทั้งเขียนบท เป็นผู้กำกับเอง แล้วมานั่งตัดต่อ ปรับแก้เอง แน่นอน หนังเรื่องนี้ เขาเขียนบทง่ายๆ ส่วนนักแสดง เขาก็หาเด็กๆ ชาวบ้านในหมู่บ้านนั่นเองมาแสดง จนหลายคนมองว่า ทำหนังง่ายเกินไป ไม่มีมาตรฐาน แบบนี้น่าจะถ่ายทำใหม่ แต่เขายิ้ม นิ่งเงียบ ไม่พูดไม่จา ยังคงมุ่งมั่นทำหนังสั้นเรื่องนี้ต่อไปจนสำเร็จ      

กระทั่งต่อมา หนังสั้น 'เข็มขัดและหวี / A Belt and a Comb' ของเขา ได้รับรางวัลดีเด่นช้างเผือกพิเศษ จากเทศกาลภาพยนตร์สั้นและวิดีโอครั้งที่ 16 ของมูลนิธิหนังไทย เมื่อเดือนสิงหาคม ปี พ.ศ.2555 ที่ผ่านมา จนเป็นที่กล่าวขวัญไปทั่ว หลายคนที่ได้ดูถึงกับบอกว่า ฉาก เนื้อเรื่อง เหมือนกับหนังอิหร่าน และที่น่ายินดีและทุกคนตื่นเต้นแทนเขา ก็คือ เขาได้รับสิทธิให้ไปทัศนศึกษาที่ญี่ปุ่นอีกด้วย            

"..ดีใจ" เขาบอกกับทุกคนสั้นๆ ก่อนนิ่งเงียบเหมือนเดิม บางที ความฝันเขาเรื่องทำหนังสั้นนั้นสำเร็จแล้ว แต่ยังเหลือความจริงบางอย่างที่เขายังเฝ้าหวัง และรออยู่...อาจเป็นเพราะเขารู้ดีว่า เขาเป็นคนไม่มีสัญชาติไทย แล้วจะมีโอกาสบินลัดฟ้า ข้ามน้ำ ข้ามภูเขา ไปญี่ปุ่นได้อย่างไร แต่ยังดี ที่หลายคนหลายองค์กร ช่วยกันลุ้น ทั้งเพื่อนไร้พรมแดน และอาจารย์ที่ทำงานด้านกฎหมาย สิทธิชนเผ่า พยายามหาทางเดินเรื่อง ทั้งผลัก หนุน กรุยทางให้เขาได้ไปญี่ปุ่นครั้งนี้ให้ได้     

ในที่สุด, จะบื้อ ได้บินไปญี่ปุ่น ตามความฝัน เหมือนกับนกอิสระตัวหนึ่งที่สามารถบินลัดฟ้า ข้ามผ่านเขตแดน ภูเขา แม่น้ำ ได้อย่างเสรี                                                                                                                       

ทว่าเมื่อเขากลับมาเมืองไทย คืนสู่บ้านเกิด วิถีเขาคืนสู่ความจริงอีกครั้ง นั่นคือ เขายังคงเป็นคนไม่มีสัญชาติ

จะบื้อพยายามนั่งนึก ภาพเก่าๆ วนเวียน ว่าก่อนหน้านั้น จะบื้อ กับพี่เขย พยายามเดินเรื่องขอสัญชาติไทยมานานตั้งแต่เขาอายุได้ 15 ปี แต่ก็ติดขัด เจอกับปัญหาต่างๆ นานา แล้วเงียบหาย ทั้ง ๆ ที่ผลตรวจดีเอ็นเอก็ออกมาชัดเจนแล้ว กระทั่ง เราได้รับข่าวดีว่า เขาได้รับสัญชาติไทยแล้ว เมื่อเดือนตุลาคม ปี 2556 ที่ผ่านมานี่เอง

ปัจจุบัน ‘จะบื้อ’ หรือ สุทิต ซาจ๊ะ ตอนนี้ได้สัญชาติไทยแล้ว เขามีชีวิตใหม่ และกำลังค้นหาทางเดินของชีวิต ข่าวแว่วมาว่า เขาไปทำงานอยู่ในอู่ซ่อมรถแห่งหนึ่งในเมืองเชียงใหม่ เป็นอู่ซ่อมรถของอินทรีย์ คัมภีร์ปัญญากุล ซึ่งเป็นคนม้งที่ทำหนังในโครงการนี้เหมือนกัน  ส่วน ไมตรี จำเริญสุขสกุล พี่เขยของเขา ที่ทำเรื่อง ‘จะโบแปลว่าผู้มีวาสนา’ ย้ายไปอยู่บ้านแกน้อย ต.เมืองนะ อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ ในขณะที่ ธนิต จำเริญสุขสกุล ที่ทำเรื่อง ‘ทางเลือกของจะดอ’ อาศัยอยู่ที่บ้านกองผักปิ้ง ต.เมืองนะ อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ เช่นเดิม

หากใครมีโอกาสได้ดูชม หนังสั้นทั้ง 3 เรื่อง ของ 3 หนุ่มลาหู่ของเมืองนะ นี้จะรู้สึกทึ่งในฝีมือว่าไม่น่าเชื่อว่าจะผลิตหนังสั้นออกมาได้โดดเด่น ตรึงคนดูได้ขนาดนี้ หลายคนดูแล้วบอกว่า หนังสั้นพวกเขานั้นกำลังฉายภาพวิถี ความงามและความจริง                                                                                                       

พรสุข เกิดสว่าง จากมูลนิธิเพื่อนไร้พรมแดน เจ้าของโครงการเกี่ยวก้อย บอกเล่าให้ฟังว่า หนังสั้นลาหู่ทั้งสามเรื่องนี้ ได้รับการตอบรับจากกลุ่มคนดูหนัง ในกลุ่มที่ไม่ใช่คนทำงานสังคมหรือรู้เรื่องชาติพันธุ์มากมาย ค่อนข้างดี หรือเรียกว่าดีมากก็ว่าได้ ถ้าเทียบกับเรื่องอื่น ๆ ในปีเดียวกัน                                     

“หนังทั้งสามเรื่อง ของพวกเขา มีความจริงใจ ไม่ต้อง "พยายาม" หรือเสแสร้งอะไรเลย คือศิลปะที่มันออกมาจากใจ ถึงแม้ด้านเทคนิคอาจมีความไม่เรียบร้อยอยู่บ้าง แต่มันก็ส่งสารถึงใจคนดูได้แรง”                               

ซึ่งเป็นที่น่าเสียดาย ที่พวกเขาสามคนในห้วงเวลานี้ ไม่ได้ผลิตหนังสั้นกันต่อ ทั้งที่มีฝืมือในเรื่องนี้มาก แต่เนื่องจากติดขัดเรื่องการระดมทุน อีกทั้งวิถีชีวิตของแต่ละคนนั้นต้องดิ้นรนค้นหาทางออกให้กับชีวิตครอบครัวกันต่อไป แต่อย่างไรก็ตาม หนังสั้นทั้งสามเรื่องของพวกเขา ก็ได้พิสูจน์แล้วว่า คนชนเผ่าเล็กๆ ในหมู่บ้านเล็กๆ ก็สามารถลงมือทำหนังสั้นได้ และตรึงหัวใจคนดูมาแล้วทั่วประเทศ

 

 

หมายเหตุ : ผู้สนใจดีวีดี ภาพยนตร์สั้น ในโครงการเกี่ยวก้อยปี 2 ชุดนี้ ซึ่งมีหนังสั้นรวมทั้งหมด 23 เรื่องด้วยกัน รวมทั้งหนังสั้นของ 3 หนุ่มลาหู่จากเมืองนะ สามารถติดต่อสั่งซื้อได้ที่ ร้านหนังสือเชียงดาว (อยู่ติดร้านศรียนต์ วังจ๊อม) ในราคา 150 บาท ติดต่อได้ที่ FB: ร้านหนังสือเชียงดาว หรือเบอร์โทร 081 111 3693

ข้อมูลประกอบ : ชนา ดำเนิน,บทความเรื่อง ‘ซามูไรน้อย ดอยเชียงดาว’,มูลนิธิเพื่อนไร้พรมแดน,2555

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท