Skip to main content
sharethis

สมาคมพัฒนาทวาย ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้ทั้งสองรัฐบาลระงับการรื้อฟื้นโครงการเขตเศรษฐกิจ พิเศษทวายจนกว่าปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นจากโครงการจะได้รับการเยียวยาแก้ไขและหลักปฏิบัติตามมาตรฐานสากล ถูกนำมาใช้


ทวาย: ข้อมูลจากสมาคมพัฒนาทวายระบุ มีการประมาณการณ์ว่าชาวบ้านจาก 20-36 หมู่บ้าน (ประมาณ 4,384-7,807 ครัวเรือน หรือ 22,000-43,000 คน) จะได้รับผลกระทบโดยตรงจากโครงการเศรษฐกิจพิเศษทวายและโครงการที่เกี่ยวเนื่อง เช่น นิคมอุตสาหกรรม ท่าเรือ ถนนเชื่อมต่อ อ่างเก็บน้ำ และพื้นที่รองรับชาวบ้านที่ต้องถูกโยกย้ายจากที่ตั้งโครงการ

 

9 ต.ค.2557 สืบเนื่องจากกรณี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และหัวหน้า คสช. จะเดินทางไปเยือนประเทศเมียนมาร์ โดยมีกำหนดการพบปะกับผู้นำเมียนมาร์เพื่อรื้อพื้นโครงการท่าเรือน้ำลึกและเขตเศรษฐกิจพิเศษทวายขึ้นมาอีกครั้ง สมาคมพัฒนาทวาย ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้ทั้งสองรัฐบาลระงับการรื้อฟื้นโครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษทวายจนกว่าปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นจากโครงการจะได้รับการเยียวยาแก้ไขและหลักปฏิบัติตามมาตรฐานสากลถูกนำมาใช้ 

รายละเอียดมีดังนี้

เครือข่ายทวายเรียกร้องแก้ไขปัญหาสำคัญๆ ก่อนรื้อฟื้นโครงการทวาย
9 ตุลาคม 2557

สมาคมพัฒนาทวาย ขอเรียกร้องให้รัฐบาลพม่าและรัฐบาลไทยระงับการรื้อฟื้นโครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษทวายจนกว่าปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นจากโครงการจะได้รับการเยียวยาแก้ไขและหลักปฏิบัติตามมาตรฐานสากลถูกนำมาใช้  นายกรัฐมนตรีไทย พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา กำลังเยือนประเทศพม่าในสัปดาห์นี้ ซึ่งเป็นการเดินทางเยือนต่างประเทศครั้งแรกหลังจากการดำรงตำแหน่งเมื่อไม่นานในปีนี้ ท่านผู้นำของทั้งสองประเทศมีกำหนดการที่จะพบปะเจรจาเพื่อรื้อพื้นโครงการท่าเรือน้ำลึกและเขตเศรษฐกิจพิเศษทวายขึ้นมาอีกครั้ง

โครงการทวายเริ่มขึ้นเมื่อปี 2551 โดยเป็นโครงการความร่วมมือด้านเศรษฐกิจระหว่างรัฐบาลไทยกับพม่า ซึ่งมีหุ้นส่วนเท่ากันในโครงการ ในปี 2553 บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด มหาชน ได้รับสัมปทานเป็นระยะเวลา 60 ปี เพื่อพัฒนาท่าเรือน้ำลึก นิคมอุตสาหกรรม ถนนและทางรถไฟเชื่อมต่อสู่ประเทศไทย ในช่วงเวลาที่บริษัท อิตาเลียนไทยฯ พัฒนาโครงการนั้น ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมและสังคมเกิดขึ้นมากมาย ไม่ว่าจะเป็น การยึดที่ดิน การชดเชยให้กับประชาชนที่ต้องถูกโยกย้ายอย่างไม่เพียงพอและไม่เป็นธรรม การไม่ชดเชยให้กับความสูญเสียให้ที่ดินทำกินและป่าอันอุดมสมบูรณ์ รวมถึงผลกระทบสารพัดที่กระทบต่อเศรษฐกิจและสังคมอันดีของชุมชนท้องถิ่น โดยที่ไม่มีกลุ่มใดที่ออกมารับผิดชอบต่อปัญหาต่างๆ ที่เกิดขี้นเหล่านี้

ในเดือนพฤศจิกายน 2556 รัฐบาลพม่าและรัฐบาลไทยได้เข้ามาควบคุมโครงการและสิทธิในสัมปทานด้วยการเปลี่ยนแปลงจัดตั้งบริษัทใหม่ชื่อ บริษัท ทวาย เอส อี แซด ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด ในรูปของนิติบุคคลเฉพาะกิจ (เอสพีวี)  โดยรัฐบาลไทยและพม่าเป็นเจ้าของภายใต้กรอบข้อตกลงใหม่ ซึ่งรัฐบาลทั้งสองมีความรับผิดชอบโดยตรงกับโครงการทวาย และผลกระทบทางลบต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นจากการพัฒนาโครงการ

จากข้อมูลปัจจุบันเกี่ยวกับงานในอนาคตที่ต้องดำเนินการ ประมาณการณ์ว่าชาวบ้านจาก 20-36 หมู่บ้าน (ประมาณ 4,384-7,807 ครัวเรือน หรือ 22,000-43,000 คน) จะได้รับผลกระทบโดยตรงจากโครงการเศรษฐกิจพิเศษทวายและโครงการที่เกี่ยว เนื่อง เช่น นิคมอุตสาหกรรม ท่าเรือ ถนนเชื่อมต่อ อ่างเก็บน้ำ และพื้นที่รองรับชาวบ้านที่ต้องถูกโยกย้ายจากที่ตั้งโครงการ

ข้อมูลที่จำกัดเกี่ยวกับโครงการ การขาดการปรึกษาหารือที่มีความหมาย จุดด่างพร้อยของกระบวนการจ่ายค่าชดเชย และการไร้ความรับผิดชอบที่ผ่านมาจนถึงทุกวันนี้ ได้แสดงให้เห็นว่ารัฐบาลทั้งสองประเทศล้มเหลวในการจัดการกับปัญหาต่างๆ เหล่านี้  หากรัฐบาลทั้งสองต้องการที่จะรื้อฟื้นโครงการขึ้นมา ก็จะต้องเข้ามาจัดการเยียวยาแก้ไขปัญหาเหล่านี้เสียก่อน

"ชุมชนท้องถิ่นไม่ได้รับข้อมูลที่เพียงพอเกี่ยวกับโครงการ พวกเขาถูกบังคับให้ออกจากที่ดินของตนเองโดยไม่มีการชดเชยที่เพียงพอและเป็นธรรม จนบัดนี้ยังไม่มีการเยียวยาแก้ไขให้กับประชาชนที่ถูกล่วงละเมิดสิทธิในกระบวนการที่ผ่านมา ปัญหาต่างๆ ทั้งหมดนี้ต้องได้รับการแก้ไขก่อนที่จะเริ่มโครงการอีกครั้ง" ตัน ซิน - ผู้ประสานงานสมาคมพัฒนาทวาย กล่าว

"รัฐบาลทั้งสองประเทศควรจะเคารพในวัฒนธรรมประเพณีของชุมชนท้องถิ่น ต้องตระหนักถึงแบบแผนการใช้ที่ดิน และบทบาทของคนท้องถิ่นในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ" ซอ อเล็กซ์ จากเครือข่ายปฏิบัติการด้านสิ่งแวดล้อมและสังคมกะเหรี่ยง (KESAN) กล่าว

"มันชัดเจนว่ากิจกรรมของโครงการในพื้นที่นั้นดำเนินการโดยชี้ให้เห็นว่า การจัดการโครงการนั้นมีการทุจริตอย่างร้ายแรง หากโครงการดำเนินต่อไป การลงทุนในโครงการก็จะเป็นการรักษาสถานะการดำเนินกิจกรรมที่ผิดกฎหมาย รวมถึงการทุจริตคอร์รัปชั่น" ดร. จอ ตู นักกิจกรรมผู้ติดตามการดำเนินงานของโครงการทวายกล่าว

พวกเรา สมาคมพัฒนาทวายขอเรียกร้องกับรัฐบาลพม่าและรัฐบาลไทย ดังนี้
ก. ต้องดำเนินการแก้ไขปัญหาทั้งหมดที่ได้เกิดขึ้นในระยะเวลา 3 ปีที่ผ่านมา ก่อนจะเริ่มต้นในโครงการใดใด
ข. ต้องดำเนินการตามมาตรฐานสากลทางด้านสิ่งแวดล้อม และการคุ้มครองด้านสังคม
ค. ต้องเคารพในสิทธิชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิม รวมถึงหลักการยินยอมที่ได้รับการบอกแจ้งล่วงหน้า และเป็นอิสระ (Free, Prior and Informed Consent)
ง. ต้องดำเนินการให้เกิดการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างมีความหมาย ในขั้นตอนวางแผน การดำเนินงาน และการติดตามตรวจสอบโครงการ
จ. ต้องระงับการบีบบังคับหรือข่มขู่คุกคามชุมชนท้องถิ่นในกระบวนการอพยพโยกย้ายชาวบ้านออกจากพื้นที่
ฉ. ต้องเปิดเผยข้อมูลในช่วงเวลาและรูปแบบที่เหมาะสม เช่น การทำรายงานประเมินผลการดำเนินการ (Due Diligence) ที่ทำโดยบริษัท Ernst & Young
ช. ต้องมีมาตราการจัดการกับการทุจริตคอร์รัปชันอย่างมีความหมายและมีประสิทธิภาพ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net