Skip to main content
sharethis

หากสังเกตให้ดี เหตุผลหลักที่คณะรัฐประหารประกาศต่อสาธารณะเพื่อสร้างความชอบธรรมในการยึดอำนาจในครั้งนี้ ไม่ใช่เรื่อง สถาบันพระมหากษัตริย์ ไม่ใช่เรื่องคอรัปชั่น ดังที่เคยปรากฏในการยึดอำนาจครั้งก่อน แต่เป็นเรื่อง ‘ความรุนแรง’ (อ่านประกาศคสช.ฉบับที่1)

รูปธรรมสำคัญที่ทยอยตามติดมา คือ การจับกุมผู้ต้องหาคดีอาวุธหนักต่างๆ ซึ่งเป็นการนำเสนอข้อมูลทางเดียวจากฝ่ายเจ้าหน้าที่โดยที่ยังไม่มีการพิสูจน์ในกระบวนการยุติธรรม

การจับกุมมีทั้งส่วนที่แถลงข่าวและไม่แถลงข่าว โดยมากมีการเชื่อมโยงกับเหตุการณ์ทางการเมืองที่ผ่านมา โดยส่วนใหญ่ตำรวจแถลงว่าผู้ต้องหาให้การรับสารภาพ ที่ผ่านมา แม้ ผบ.ตร.จะยืนยันว่าไม่มีการจับแพะ ข่มขู่ ซ้อมผู้ต้องหาให้รับสารภาพก็ตาม แต่ข้อมูลหนึ่งที่พอเป็นเบาะแสความไม่ชอบมาพากลของกระบวนการได้ คือ รายงานของศูนย์ทนายเพื่อสิทธิมนุษยชนที่ออกมาในวาระครบ 100 วันการรัฐประหาร รายงานนี้ระบุว่า

“ในคดีที่เกี่ยวข้องกับการครอบครองอาวุธสงคราม มีอย่างน้อย 14 กรณี ที่มีการซ้อมทรมาน ทั้งการทำร้ายร่างกายและพูดจาข่มขู่ เพื่อให้ผู้ถูกกักตัวให้การซัดทอดหรือรับสารภาพว่าได้เคยทำการก่อเหตุความไม่สงบในจุดต่างๆ ในช่วงการชุมนุมใหญ่ที่ผ่านมา ซึ่งส่วนใหญ่แล้วผู้ถูกจับกุมหรือกักตัวเป็นคนเสื้อแดง โดยเฉพาะการ์ดเสื้อแดง”

รายงานของประชาไทชิ้นนี้พยายามตรวจสอบข้อมูลชั้นต้นในบางกรณี เพื่อเปิดพื้นที่ข้อมูลข่าวสารหลายทางให้สังคมได้ร่วมพิจารณาตรวจสอบการได้มาซึ่งข้อมูลของเจ้าหน้าที่ อันเป็นการส่งเสริมความโปร่งใสในกระบวนการยุติธรรม และข้อมูลทั้งหมดได้รับอนุญาตจากแหล่งข้อมูลให้ทำการเผยแพร่ต่อสาธารณะแล้ว

ขั้นตอนก่อน ‘รับสารภาพ’

ผู้ต้องหาคดีอาวุธโดยส่วนใหญ่ทั้งที่ปรากฏเป็นข่าวและไม่เป็นข่าว เมื่อถึงชั้นสอบสวนของตำรวจก็จะรับสารภาพ อย่างไรก็ตาม เราพบว่าการข่มขู่คุกคามก่อนหน้าการรับสารภาพมีหลายรูปแบบ บางส่วนได้รับเพียงถ้อยคำข่มขู่ ขณะที่มีอย่างน้อย 3 รายที่ระบุว่าถูกทำร้ายร่างกายระหว่างควบคุมตัวโดยกลุ่มบุคคลที่พวกเขาคาดว่าเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ ก่อนจะถูกส่งตัวให้พนักงานสอบสวนแจ้งข้อกล่าวหาและนำไปฝากขังยังเรือนจำ หลายรายสั่งฟ้องยังศาลทหารแล้ว บางรายสั่งฟ้องยังศาลอาญาปกติ  ลักษณะร่วมของการถูกควบคุมตัวก่อนถึงมือพนักงานสอบสวนคือ การพันธนาการ การใช้ถุงผ้าดำคลุมศีรษะหรือใช้ผ้าปิดตา นำไปยังสถานที่ที่ไม่อาจรู้ว่าที่ใด สำหรับบางคนมีการจับกุมผู้ที่ติดตามไปด้วยและแยกคุมขังก่อนปล่อยตัวผู้ติดตาม

ชัชวาล ปราบบำรุง

อายุ: 45 ปี

อาชีพ: ช่างเครื่องเย็น

วันที่ถูกทหารจับกุม:  6 ก.ค.2557

วันที่ออกหมายจับ: 14 ก.ค.2557 โดยศาลอาญากรุงเทพใต้

วันที่ตำรวจแจ้งข้อหา (และแถลงข่าว):  15 ก.ค.2557

ระยะเวลาถูกควบคุมตัวก่อนแจ้งข้อหา: 9 วัน

ข้อหา:

ข้อหาร่วมกันฆ่าผู้อื่น โดยไตร่ตรองไว้ก่อน ร่วมกันให้ก่อเหตุระเบิดจนน่าเป็นอันตรายแก่ผู้อื่น มีและใช้วัตถุระเบิดที่นายทะเบียนไม่สามารถออกใบอนุญาตให้ได้ มีและพกพาอาวุธปืนโดยไม่ได้รับอนุญาต และฝ่าฝืนข้อกำหนดห้ามนำอาวุธปืนเครื่องกระสุน และวัตถุระเบิดออกนอกเคหะสถานตาม พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงในราชอาณาจักร

(ตามรายงานข่าวระบุว่าเขาถูกกล่าวหาว่าอยู่ในกลุ่มบุคคลที่ยิง M79 ใส่บิ๊กซี ราชดำริ ระหว่างมีการชุมนุมของกลุ่ม กปปส.เมื่อ 24 ก.พ.2557 มีเด็กเสียชีวิต 2 ราย)

พฤติการณ์การจับกุม:

เขาและภรรยาถูกจับกุมกลางสี่แยกในจังหวัดเชียงใหม่ หลังจากเดินทางไปทำธุรกรรมด้านที่ดิน โดยเจ้าหน้าที่ทหารราว 50 คนพร้อมอาวุธครบมือได้เข้าล้อมและควบคุมตัวขึ้นรถตู้ ระหว่างการเดินทางที่คาดว่าน่าจะเป็นการเข้ากรุงเทพฯ เขาถูกปิดตาโดยตลอดและถูกข่มขู่ว่าให้สารภาพมาให้หมดไม่เช่นนั้นภรรยาของเขาที่เดินทางมาด้วยกันและถูกคุมตัวแยกในรถอีกคันอาจจะไม่ปลอดภัย

เมื่อถึงที่หมายเขาถูกมัดมือไขว้หลังและถูกทำร้ายร่างกายโดยชายที่สวมหน้ากากรูปสัตว์ 2 คนประมาณครึ่งชั่วโมง จากนั้นถูกนำตัวไปบนรถตู้และถูกทำร้ายร่างกายเป็นระยะ อีกราว 3-4 ชม. ก่อนจะถูกนำตัวเข้าไปในอาคารและเดินลงด้านล่างซึ่งคาดว่าอาจเป็นห้องใต้ดิน มีการนำสายไฟพันสำลียัดเข้าไปในช่องทวารหนัก อีกส่วนหนึ่งนำมามัดที่อวัยวะเพศ เอาน้ำราดแล้วปล่อยกระแสไฟช็อต เมื่อร้องก็ถูกถุงพลาสติกดำคลุมศีรษะทำให้ร้องไม่ได้และหายใจติดขัด นอกจากนี้ยังมีการนำปืนพกสั้นยัดใส่ปากพร้อมบังคับให้สารภาพว่านำอาวุธไปซ่อนไว้ที่ใด

เขาถูกควบคุมตัวนานหลายวันก่อนที่จะถูกนำตัวมาแถลงข่าวและแจ้งข้อกล่าวหาจำนวนมากพร้อมกับผู้ต้องหารายอื่นอีก 3 คน

ขณะที่ภรรยาของเขาที่เดินทางมาด้วยกัน แม้จะไม่ใช่เป้าหมายของการจับกุมแต่ก็ถูกคุมตัวไว้หลายวันเช่นกันก่อนจะปล่อยตัว ไม่มีการทำร้ายร่างกายนอกจากปิดตา และแยกคุมตัวเดี่ยวในห้องปิดตายที่ไม่รู้เวลากลางวันหรือกลางคืนโดยมีเจ้าหน้าที่หญิงคอยเฝ้ายาม และมีการสอบสวนหลายครั้ง

นายกิตติศักดิ์ สุ่มศรี

อายุ: 45 ปี

อาชีพ: พนักงานหน่วยศึกษานิเทศ กรมอาชีวศึกษา เคยทำงานขับรถตู้เส้นทางรามอินทรา-สีลม โดยมีรถตู้เป็นของตนเอง

วันที่ถูกเจ้าหน้าที่นอกเครื่อแบบจับกุม: ค่ำวันที่ 5 ก.ย.2557

วันที่ตำรวจแถลงข่าว:  11 ก.ย.2557

ระยะเวลาถูกควบคุมตัวก่อนแจ้งข้อหา: ราว 6 วัน

ข้อหา: ร่วมกันมีและใช้อาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ที่นายทะเบียน ไม่สามารถออกใบอนุญาตให้ได้ /พกพาอาวุธปืนและวัตถุระเบิดไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะโดยไม่ได้รับอนุญาต หรือไม่มีเหตุอันสมควร

(ผู้ต้องหาถูกนำตัวมาแถลงข่าวพร้อมกับคนอื่นๆ อีกรวมเป็น 5 ราย ในช่วงแรกสื่อทุกสำนักลงข่าวตามการให้สัมภาษณ์ของ ผบ.ตร.ว่าเป็นกรณียิงต่อสู้ทหารในวันที่ 10 เม.ย.จนเป็นเหตุให้พล.อ.ร่มเกล้า ธุวธรรม และพลทหารเสียชีวิต แต่ต่อมา พ.ต.อ.ประสพโชค พร้อมมูล รองผู้บังคับการปราบปราบ ยืนยันว่าเป็นคนละกรณี ไม่เกี่ยวกับกรณีการเสียชีวิตของพล.อ.ร่มเกล้า)

พฤติการณ์การจับกุม:
เขาถูกชาย 3  คนบุกจับกุมยังที่ทำงานโดยไม่มีหมายจับ พร้อมข่มขู่ไม่ให้ภรรยาของเขาแจ้งความ ไม่เช่นนั้นจะไม่รับรองความปลอดภัยของครอบครัว หลังจากนั้นเขาถูกนำไปกักตัวไว้ที่สถานที่แห่งหนึ่ง

การสอบสวนมีตั้งแต่คืนแรก ระหว่างการสอบมีการใช้ถุงคลุมศีรษะเพื่อไม่ให้เห็นหน้าผู้สอบสวน มีการตบหัวและตบปาก นอกจากนี้ยังถูกจับนอนเหยียดตัวและมีคนนั่งทับเท้าทั้งสองข้างและนั่งทับบนตัวทำให้หายใจไม่ออก เพื่อให้พูดตามที่ผู้สอบสวนต้องการ มุ่งเน้นให้รับสารภาพเหตุการณ์ในวันที่ 10 เมษายน 2553 พร้อมทั้งให้ขยายผลไปถึงคนอื่นโดยนำรูปใบหน้าคนมาให้ดูพร้อมซักถามว่ารู้จักหรือไม่

เขาจะได้รับการเปิดตาในเวลานอนเท่านั้นแต่ขณะเดียวกันก็จะถูกใส่กุญแจมือตลอดการนอน

วันรุ่งขึ้นเขายอมรับสารภาพตามที่ผู้สอบสวนต้องการทุกประการเพราะเกรงว่าจะโดนทำร้ายอีก จากนั้นจึงมีการเซ็นชื่อรับสารภาพและรับรองว่าใบหน้าต่างๆ นั้นตรงกับรายชื่อของผู้สอบจริง

บัญชา  โคตรภูธร

อายุ: 28 ปี

อาชีพ:  รับเหมาก่อสร้าง

วันที่ถูกจับกุม: 22 ก.ค.2557

วันที่ถูกแจ้งข้อกล่าวหา: 23 ก.ค.2557

รวมระยะเวลาถูกคุมตัวก่อนแจ้งข้อกล่าวหา1 คืน

ข้อหา: ปล้นทรัพย์ (หมายจับคดีเก่า)

พฤติการณ์การจับกุม:

เขาถูกเจ้าหน้าที่ทั้งทหารและตำรวจในเครื่องแบบบุกเข้าจับกุมกลางดึกขณะอยู่กับเพื่อนนับสิบในบ้านหลังหนึ่ง เขาและเจ้าของบ้านถูกนำตัวขึ้นรถ ระหว่างเดินทางถูกปิดตาและไม่รู้จุดหมายปลายทางว่าไปที่ใด เมื่อถึงที่หมายเขาถูกเตะ ตบ และมีการข่มขู่ให้ให้ข้อมูลว่าใครอยู่ในขบวนการค้ายาบ้าง และเมื่อบอกว่าไม่รู้ก็จะถูกรุมเตะ หลังจากโดนทำร้ายอยู่ราว 1 ชั่วโมง จากนั้นเขาถูกถีบลงหลุมและมีการเทดินถมจนเหลือแต่ศีรษะ ระหว่างนั้นมีการข่มขู่พร้อมตบหน้าด้วยปืน ราวครึ่งชั่วโมงจึงถูกนำตัวขึ้นมา เขาถูกทำร้ายตั้งแต่ราวเที่ยงคืนจนถึงเช้าวันรุ่งขึ้น ขณะโดนซ้อมโดนปิดตา คาดเดาจากเสียงว่าเป็นชายราว 4-5 คน วันรุ่งขึ้นจึงถูกนำตัวไปส่งตำรวจยังสถานีตำรวจแห่งหนึ่ง ของกลางที่พบในบ้านคือ กัญชา 2 ห่อ ใบกระท่อม 100 กว่าใบ

ภาพรวมคดีอาวุธ

ข้อมูลจากเว็บไซต์อินเตอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน หรือ ไอลอว์ ซึ่งดำเนินการรวบรวมคดีต่างๆ หลังการรัฐประหาร ทั้งคดี 112 การเรียกเข้ารายงานตัวตามประกาศ คสช. การชุมนุมฝ่าฝืนกฎอัยการศึก และคดีอาวุธอันเกี่ยวพันกับการเมือง ระบุว่า มีผู้ต้องหาคดีอาวุธอันเกี่ยวพันกับการเมืองรวม 53 ราย ส่วนใหญ่คดีขึ้นสู่ศาลทหาร และมีจำนวนน้อยมากที่ได้รับการประกันตัว

นักกฎหมายจากไอลอว์ระบุว่า ลักษณะข้อหาครอบครองอาวุธจะขึ้นสู่ศาลทหาร เนื่องจากการครอบครองนั้นนับถึงปัจจุบันที่มีประกาศ คสช.แล้ว ส่วนคดีที่ก่อเหตุตามพื้นที่ต่างๆ ในช่วงการประท้วงทางการเมืองถือว่าเป็นเหตุที่เกิดก่อนการรัฐประหารจะขึ้นสู่ศาลยุติธรรมปกติ ผู้ต้องหาส่วนใหญ่ในคดีอาวุธมีปัญหาไม่มีหลักทรัพย์ในการยื่นประกันตัว รวมทั้งการหาทนายความในการต่อสู้คดีเป็นไปอย่างยากลำบากเนื่องจากเป็นคดีหนักและเกี่ยวพันกับการเมือง

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net