Skip to main content
sharethis
10 ตุลาคม 2557 เนื่องในวันเด็กหญิงสากล (International Day of the Girl Child) ในวันพรุ่งนี้ (11 ต.ค.) ยูนิเซฟได้ออกรายงานโดยรวบรวมข้อมูลซึ่งชี้ให้เห็นถึงปัญหาร้ายแรงเกี่ยวกับความรุนแรงต่อเด็กหญิงวัยรุ่น ตลอดจนทัศนคติของเด็กหญิงซึ่งยอมรับความรุนแรงดังกล่าว
 
ข้อมูลเหล่านี้เก็บรวมรวมจากรายงานต่างๆ ทั่วโลกที่เผยแพร่ตลอดปีนี้ โดยให้รายละเอียดเกี่ยวกับผลกระทบที่เกิดขึ้นกับเด็กหญิงวัยรุ่น อนาคตของพวกเขา ตลอดจนชุมชนที่เด็กๆ อาศัยอยู่ ข้อมูลหลักประกอบด้วย:
 
• เด็กหญิงอายุ 15 ถึง 19 ปี จำนวนเกือบหนึ่งในสี่คนทั่วโลก (เกือบ 70 ล้านคน) เคยตกเป็นเหยื่อความรุนแรงทางกายรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง
 
• เด็กหญิงอายุต่ำกว่า 20 ปีประมาณ 120 คนทั่วโลก (ประมาณ 1 ใน 10 คน) เคยถูกบังคับร่วมเพศหรือบังคับทำกิจกรรมทางเพศอื่นๆ และเด็กหญิงวัยรุ่นอายุ 15 ถึง 19 ปี ที่เคยแต่งงานจำนวนหนึ่งในสามคน (84 ล้านคน) เคยตกเป็นเหยื่อการกระทำรุนแรงทางอารมณ์ ทางกาย หรือทางเพศโดยสามีหรือคู่ครองของตน
 
• ในบางประเทศ เด็กหญิงอายุ 15 ถึง 19 ปี จำนวน 7 ใน 10 คน เคยตกเป็นผู้เสียหายจากการถูกล่วงละเมิดทางกายและ/หรือทางเพศ แต่ไม่เคยขอความช่วยเหลือใดๆ เด็กหลายคนกล่าวว่าตนไม่คิดว่าเป็นการล่วงละเมิดหรือไม่เห็นว่าเป็นปัญหา
 
• ผู้หญิงกว่า 700 ล้านคนทั่วโลกที่ยังมีชีวิตอยู่ทุกวันนี้ แต่งงานก่อนอายุครบ 18 ปี โดยมากกว่าหนึ่งในสามคน (ประมาณ 250 ล้านคน) แต่งงานก่อนอายุครบ 15 ปี
 
ข้อมูลเหล่านี้แสดงถึงทัศนคติยอมรับความรุนแรงที่เป็นอันตรายอย่างยิ่งโดยเฉพาะในกลุ่มเด็กหญิง โดยเด็กหญิงอายุ 15 ถึง 19 ปีเกือบครึ่งหนึ่งทั่วโลก (ร้อยละ 44) เชื่อว่าผู้ชายมีความชอบธรรมที่จะทุบตีภรรยาหรือคู่ครองภายใต้สถานการณ์หนึ่งๆ เช่น การปฏิเสธการมีเพศสัมพันธ์ การออกนอกบ้านโดยไม่ได้รับอนุญาติ การทะเลาะโต้เถียง การละเลยลูกหรือแม้แต่การทำอาหารไหม้
 
“ตัวเลขเหล่านี้บ่งชี้ถึงทัศนคติที่อดทนและยอมจำนนกับความรุนแรง หรือให้ความชอบธรรมแก่ความรุนแรงนั้น ซึ่งเป็นเรื่องที่ทุกฝ่ายต้องหันมาให้ความสนใจ” นางกีตา ราโอ กุปตา รองผู้อำนวยการบริหารยูนิเซฟกล่าว
 
ยูนิเซฟได้เน้นถึงมาตรการต่างๆ เพื่อป้องกันความรุนแรงต่อเด็กหญิง เช่น การให้เด็กหญิงได้เข้าเรียนในโรงเรียน การส่งเสริมทักษะชีวิตที่จำเป็น การให้เงินอุดหนุนเลี้ยงดูบุตรแก่พ่อแม่ การรณรงค์เพื่อเปลี่ยนแปลงทัศนคติในชุมชน และการสร้างความเข้มแข็งแก่ระบบตุลาการและบริการทางสังคม
 
“ปัญหานี้เป็นปัญหาระดับโลก แต่ทางแก้ไขต้องอยู่ที่ระดับชาติ ระดับชุมชน และครอบครัว เรามีหน้าที่ที่จะปกป้อง ให้การศึกษา และเสริมสร้างความเข้มแข็งให้แก่วัยรุ่น โดยเราต้องร่วมกันรณรงค์เพื่อยุติความรุนแรงต่อเด็กหญิงในทุกรูปแบบ” นางกีตา ราโอ กุปตากล่าว
 
อ่าน Hidden in Plain Sight: การวิเคราะห์ความรุนแรงต่อเด็กเชิงสถิติ
 
ดาวน์โหลดภาพและวิดีโอที่เกี่ยวข้อง http://weshare.unicef.org/C.aspx?VP3=SearchResult&ALID=2AM4080YD7CZ&PBC=:2AM4080YD7CZ
 
เกี่ยวกับการรณรงค์ดำเนินการยุติความรุนแรง (#ENDViolence initiative)
 
องค์การยูนิเซฟเริ่มโครงการนี้ในวันที่ 31 กรกฎาคม พ.ศ. 2556 เป็นกระตุ้นให้เกิดความร่วมมือเพื่อยุติความรุนแรงต่อเด็ก โดยนำเสนอข้อเท็จจริงที่ว่าความรุนแรงมีอยู่ทุกหนทุกแห่ง แต่มักจะเกิดขึ้นนอกสายตาหรือยอมให้เกิดขึ้นตามบรรทัดฐานทางสังคมและวัฒนธรรม ภายใต้คำรณรงค์ว่า “ทำให้สิ่งที่มองไม่เห็น ได้รับการมองเห็น” โครงการนี้มีเป้าหมายเพื่อสร้างความตระหนักรู้ให้เป็นก้าวแรกสู่การปรับเปลี่ยนทัศนคติ พฤติกรรม และนโยบาย นอกจากนั้น โครงการนี้ยังสนับสนุนความพยายามในการเก็บหลักฐานว่าการดำเนินการเช่นใดทำได้ดี และเน้นย้ำแนวคิดที่ว่า ความรุนแรงสามารถป้องกันได้ด้วยการแสดงให้เห็นถึงความพยายามและการขับเคลื่อนที่ประสบความสำเร็จในทุกระดับของสังคม ประเทศกว่า 70 ประเทศจากภูมิภาคต่างๆ ทั่วโลกได้เข้าร่วมโครงการอย่างเป็นทางการ อันเป็นการเสริมสร้างความพยายามในการระบุหา ติดตาม และรายงานความรุนแรงต่อเด็กในทุกรูปแบบ หากต้องการข้อมูลเพิ่มเติม โปรดเข้าไปที่ http://www.unicef.org/endviolence/

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net