Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

*หมายเหตุผู้เขียน: หากไม่มีเวลา อ่านแค่ข้อ 1-6 ก็ตอบข้อสงสัยจากหัวเรื่องได้ทันที


1. เกษตรกร โง่ ถูกหลอกให้ทำสัญญารึเปล่า

สัญญาทั้งหมดเขียนมาเป็นแบบสำเร็จรูป ห้ามแก้ไข หากอยากทำต้องทำตามที่บรรษัทกำหนด และบรรษัทก็ไม่มอบสัญญาให้เกษตรกรจำนวนมาก วิธีชักจูง คือ การนำเสนอตัวเลขรายได้ที่ปิดบังค่าใช้จ่ายจุกจิกแอบแฝง เพิ่มน้ำหนักโดยนำสถาบันการเงินมายืนยันสร้างความเชื่อมั่นให้เกษตรกร เข้าไปลงทุน โดยอาศัยภาพลักษณ์ดูดี มีความยิ่งใหญ่ระดับชาติมาค้ำประกันให้เกษตรกรเชื่อถือ ในหลายกรณีตัวแทนของบรรษัทใช้วิธีประสานกับผู้มีอิทธิพลบารมีในท้องที่ให้เข้ามาช่วยหาลูกไร่ ลูกฟาร์มให้อีกด้วย ส่วนเงื่อนไขที่เกษตรกรกระโดดเข้าไป คือ เรื่องการหารายได้เป็นก้อนมาปลดหนี้สิน หรือทำให้เงินเก็บงอกเงย
 

2. เกษตร จน เลยไม่มีทางเลือกอื่นต้องตกเป็นทาสสัญญากับบรรษัทรึเปล่า

เกษตรกรส่วนใหญ่มีที่ดิน และเป้าหมายหลักของบรรษัทคือหาเกษตรกรที่มีหลักทรัพย์ค้ำประกันเพื่อนำไปขอสินเชื่อกับสถาบันการเงินทั้งหลาย เพื่อให้แน่ใจว่าที่ดินสวยๆในหลายพื้นที่จะกลายเป็นทรัพย์ถูกขายทอดตลาด ลองดูตัวเลขการถือครองที่ดินของบรรษัทใหญ่ทางการเกษตรดูก็จะรู้ข้อเท็จจริง แล้วเสี่ยงอย่างนี้จะทำไปทำไม เกษตรกรตอบว่าดีกว่าไม่ทำอะไร อยู่เฉยๆเป็นคนขี้เกียจสันหลังยาว ให้คนเขาถากถางว่า จนเพราะขี้เกียจ หรือรอแต่ความช่วยเหลือ และเชื่อหรือไม่ คนจำนวนไม่น้อยเป็นอดีตข้าราชการเกษียณ หรือพนักงานองค์กรต่างๆที่เออรี่รีไทร์มา แล้วสูญเงินเก็บไปกับเกษตรพันธสัญญา แต่ไม่มีใครกล้าพูด เพราะ “อับอาย”
 

3. เกษตรกร เจ็บสำออย คอยเรียกร้องแต่ความช่วยเหลือ

เกษตรกรในระบบพันธสัญญา มิใช่ชาวนาที่มีภาพลักษณ์เป็นกระดูกสันหลังของชาติ ยากที่จะดึงดูดให้คนทั่วไปเห็นอกเห็นใจอยากช่วยเหลือ และถูกมองข้ามไปโดยนักการเมือง หรือแม้กระทั่งรัฐบาลทหาร เพราะช่วยไปก็มีแต่จะเสี่ยงภัย เนื่องจากเกษตรกรเหล่านี้มีคู่ต่อกรเป็นบรรษัทใหญ่ ที่เป็นผู้สนับสนุนทางการเงินให้กับกลุ่มการเมืองหลายกลุ่ม ทั้งการเมืองในระบบและนอกระบบ สังเกตตราสัญลักษณ์ของบรรษัทที่ปะไปตามทีมกีฬาของหน่วยงานรัฐ ทีมประจำจังหวัดที่นักการเมืองสนับสนุนอยู่ หรือดูโครงการร่วมระหว่างบรรษัทกับหน่วยงานต่างๆ ก็น่าจะเข้าใจ รวมถึงข่าวการใช้งบโฆษณาสร้างเครือข่ายกับสื่อกระแสหลักจนใครก็ไม่กล้าแตะต้อง ดังที่เป็นข่าวอื้อฉาว http://tcijthai.com/tcijthainews/view.php?ids=4559 >


4. ช่วยเกษตรกรโดยการจัดสรรที่ดินทำกิน หรือพัฒนาระบบชลประทาน พอรึเปล่า

เกษตรกรที่อยู่ในระบบพันธสัญญาจำนวนมากมีที่ดินเป็นของตัวเอง และอยู่ในเขตชลประทาน เส้นทางขนส่งดี จึงได้มีบรรษัทเข้ามาต่างหาก แต่สิ่งที่กำลังจะมีความสำคัญแซงหน้าไปแล้ว คือ “ความเป็นเจ้าของพันธุ์พืช/พันธุ์สัตว์” เนื่องจากเมล็ดพันธุ์ หรือตัวอ่อน โดนผูกขาดโดยไม่กี่บรรษัทเท่านั้น และมีจำนวนมากที่โดนตัดแต่งพันธุกรรมทำให้เป็นหมัน ปลูก/เลี้ยงได้รอบเดียว รอบหน้าต้องมาคอยซื้อจากบรรษัทเสมอ

“ความรู้ใน ปุ๋ย/อาหาร/ยา” ก็ถูกควบคุมโดยบรรษัทร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ของรัฐ ทำให้เกษตรกรต้องซื้อจากบรรษัทเสมอ
บรรษัท คุมต้นน้ำได้ทั้งหมด รู้ว่าเกษตรกรต้องลงทุนเท่าไหร่ ยังไง เลยมีอำนาจมากำหนดราคารับซื้อคืนที่ “ปลายน้ำ” คอยเลี้ยงเกษตรกรไว้ด้วยกำไรนิดๆหน่อยๆ พอเกิดภัยพิบัติเสียหายก็เข้ามาลดหนี้บอกว่าช่วยเหลือทั้งที่จริงแล้วควรจะแบกรับความเสี่ยงร่วมกัน กลายเป็นว่า ได้บุญคุณกับเกษตรกรไปเสียอีก
 

5. ปลดหนี้ให้เกษตรกรด้วยเงินภาษี แล้วชีวิตจะดีต่อไปในอนาคต

หากระบบสัญญายังเป็นเหมือนเดิม และบรรษัทผูกขาดอำนาจควบคุมตั้งแต่การผลิต ซื้อขาย ขนส่ง และการบริโภค มันก็ยังเป็นเหมือนเดิมไม่เปลี่ยน รัฐก็ต้องมาปลดหนี้ทุกปี ทุกห้าปี หรือทุกทีที่เปลี่ยนรัฐบาลเพื่อหาเสียง แต่ชีวิตเกษตรกรก็ยังเสี่ยงที่จะเจ๊งเหมือนเดิม คนกินก็ได้อาหารอันตรายไม่เปลี่ยน และประชาชนทั้งชาติก็มาจ่ายภาษีเพื่อปลดหนี้ที่เกิดจากรีดกำไรของบรรษัท
 

6. เราลืมอะไรสำคัญไปบ้างหรือเปล่า

เกษตรกร หรือแม้แต่นักวิชาการที่ทำงานศึกษาในเรื่องเกษตรพันธสัญญา จำนวนไม่น้อย มิได้วิเคราะห์ข้อมูลเหล่านี้ เช่น
- ค่าจ้างตัวเองและคนในครอบครัว
- ค่าเช่าที่ดิน
- ค่าลงทุนและดอกเบี้ยที่ต้องแบกรับเองทั้งหมด
- ความเสี่ยงระหว่างทางหากมีภัยพิบัติธรรมชาติ หรือห่าลง(โรคระบาด)
- ต้นทุนในการทำลายธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เช่น ป่าที่กลายเป็นไร่อุ้มน้ำไม่ได้ น้ำท่วมกรุง การเผาทำลายซากทำให้เกิดหมอกควัน ปุ๋ยเคมีและสารพิษที่ทำลายดิน น้ำ และสุขภาพ กลิ่นและเสียงที่รบกวนในชุมชน ลำน้ำทั้งสายที่กลายเป็นแพเศษซากอาหารและสารเคมี
แล้วใครเป็นคนจ่ายค่ารักษาพยาบาลให้เกษตรกร และคนกิน จากระบบประกันสุขภาพทุกรูปแบบ ก็ประชาชนทั้งชาติ ที่ไม่ได้กำไรอะไรจากธุรกิจอาหารและการเกษตร แต่ต้องมาแบกรับภาระด้านงบประมาณกันทุกปี


เกษตรกรจำนวนมากของประเทศไทยทำอะไรกัน

อยากชักชวนให้ผู้ที่มีหน้าที่เก็บข้อมูลสถิติทั้งหลาย และเพื่อนๆนักวิชาการสาขาต่างๆ เก็บข้อมูลว่า ชาวนากี่เปอร์เซ็นต์จากเกษตรกรทั้งหมด เพิ่มขึ้นหรือลดลงสอดคล้องกับ เทรนด์การบริโภคแป้งและข้าวในปัจจุบันที่ลดลงไหม

โดยเฉพาะตัวเลขเกษตรกรในระบบพันธสัญญาที่เถียงกันมากว่ามีกี่คน มีกี่ครัวเรือน ลองพิสูจน์กันดูว่าเพิ่มขึ้น ตามความนิยมในการบริโภคเนื้อ และอาหารสำเร็จรูป หรือซื้อตามร้านสะดวกซื้อ และห้างค้าปลีกทั้งหลาย เนื่องจากปัจจุบันข้อมูลเหล่านี้อยู่ในมือของบรรษัทผู้เป็นเจ้าของเครือข่ายขายโครงการเกษตรพันธสัญญาไปทั่วประเทศ หรือจะปล่อยให้ทุกอย่างอยู่ในการควบคุมของบรรษัท นักวิชาการแค่หยิบการทำงานของบรรษัทมาชื่นชมความสำเร็จ หรือเอามาสอนว่าเป็นวิธีการบริหารธุรกิจชั้นเลิศ ควรลอกเลียนแบบ โดยไม่ต้องลงไปดูในรายละเอียดว่าชีวิตคนในระบบเป็นอย่างไร


ข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องเกษตรพันธสัญญามีความสมดุลไหม

ทุกครั้งที่มีการพูดเรื่อง “ความเป็นธรรม” ในระบบเกษตรพันธสัญญา จะมีผู้สอบถามว่า มีข้อมูลด้านดีของเกษตรพันธสัญญาไหม ก็ตอบได้ว่ามีในโฆษณาประชาสัมพันธ์ของทุกบริษัทที่อยู่ในพื้นที่สื่อทุกรูปแบบ ส่วนข้อมูลในเชิงวิชาการก็หาอ่านได้ในงานวิจัยด้านบริหารธุรกิจ และเศรษฐศาสตร์ธุรกิจที่ทำเรื่องเหล่านี้อย่างมโหฬาร

โครงการเกี่ยวกับความเป็นธรรมในระบบเกษตรพันธสัญญาที่ทำโดยนักกฎหมาย เป็นการสร้างสมดุลด้านข้อมูล เนื่องจากเมื่อเริ่มทำวิจัยในส่วนทบทวนวรรณกรรม แทบไม่มีข้อมูลในมิตินี้เลย และแทบไม่มีงานวิจัยระดับเศรษฐกิจมหาภาคที่ชี้ให้เห็นว่า ในผลกำไรของบรรษัทและเม็ดเงินที่ไหลเวียนจำนวนมหาศาล ใครได้ส่วนแบ่งเท่าไหร่ และคุณภาพชีวิตของคนกิน และคนผลิตดีขึ้นรึเปล่า หรือทำให้เกิดพลวัตรทางเศรษฐกิจ เกิดการเสียภาษี หรือนำไปสู่การพัฒนาสวัสดิการให้สังคมหรือรัฐอย่างไร


ทำวิจัยเพราะอิจฉาริษยาบริษัทที่ร่ำรวย หรืออยากเด่นอย่ากดัง เลยทำเป็นโชว์ข้อมูลส่วนทาง?

ชุดโครงการวิจัยเกี่ยวกับความเป็นธรรมในระบบเกษตรพันธสัญญานี้ เริ่มจากหน่วยงานด้านสาธารณสุขแห่งชาติ ที่เห็นแนวโน้มของผู้ป่วยจากโรคที่เกี่ยวกับการกิน จึงต้องการรู้ว่าอะไรสร้างอัตราการเป็นโรคจากการกินให้เพิ่มมหาศาลจนโรงพยาบาลทั่วประเทศรับมือกันไม่หวาดไม่ไหว คำตอบที่ได้คือ อาหารที่มาจากระบบ เกษตรสารเคมี เกษตรเชิงพาณิชย์ เกษตรที่ผลิตเชิงอุตสาหกรรม แล้วจึงพบว่า คือ ระบบเกษตรพันธสัญญา (Contract Farming) นั่นเอง

สิ่งที่เป็นข้อมูลก่อนที่จะลงมือทำวิจัย คือ มีเกษตรกรจำนวนมหาศาลรู้ทั้งรู้ว่าวิธีผลิตของตนทำให้คนอื่นเป็นโรค แต่ทำไมไม่เปลี่ยน เช่น ทำเกษตรอินทรีย์ เกษตรกรรมยั่งยืน/ผสมผสาน เกษตรตามธรรมชาติ หรือ กล่าวรวมๆ คือ เกษตรปลอดภัย คำตอบของเกษตรกร คือ เปลี่ยน/เลิกไม่ได้ เพราะติดเงื่อนไขสัญญากับบรรษัท

งานวิจัยของนักเศรษฐศาสตร์ที่ทำกัน 2-3 ปี ก่อนหน้านี้ สะท้อนให้เห็นว่า เกษตรพันธสัญญา เป็นการนำวิธีการบริหารจัดการธุรกิจแบบสายพานการผลิตที่ต้องการลดต้นทุนให้ต่ำสุด ในเวลาที่สั้นที่สุด โดยใช้ระบบการผลิตที่บี้เกษตรกรให้ทำตามเงื่อนไขของบริษัทอย่างละเอียดทุกขั้นตอนชนิดที่เรียกว่า กำหนดกิจวัตร 24 ชั่วโมง 360 องศาของชีวิตเลยทีเดียว โดยเครื่องมือที่ใช้บีบเกษตรกร คือ การกำหนดราคารับซื้อผลผลิตที่บรรษัทเป็นผู้มีอำนาจเหนือการกำหนดทั้งหมด บริษัทขายปัจจัยการผลิตทั้งหมด รู้ต้นทุนทุกอย่าง แล้วตั้งราคารับซื้อแบบแทบไม่เหลือผลกำไรแบ่งปันให้เกษตรกร ทำให้เกษตรกรต้องใช้วิธีประหยัดสุดและอันตรายในการผลิตอาหาร เช่น สารเคมีหลายรูปแบบ การนำสัตว์ที่ตายกลับไปใช้เลี้ยงสัตว์อื่น หรือมีการนำไปขายเป็นเนื้อสัตว์ราคาถูก ฯลฯ รวมไปถึงการใช้พื้นที่น้อยสุดเวลาสั้นสุดในการเลี้ยงสัตว์จนมันเครียดจนหลั่งสารต่างๆ ส่งต่อไปยังคนกินได้


เป็นโครงการวิจัย ด่านายทุน สงสารเกษตรกร สู้เพื่อชนชั้นแรงงาน ใช่หรือไม่

เกษตรพันธสัญญา ใช้วิธีแก้ปัญหาแบบแรงงานไม่ได้ เนื่องจาก เกษตรกรไม่รับสถานะ “แรงงาน” ตั้งแต่ต้น และไม่มี “สถานประกอบการ” ที่ชัดเจน การสร้างเครือข่ายระหว่างเกษตรกรทั้งหลายจึงยาก และมีอุปสรรคจากการผลิตลักษณะ “เกษตรไร้ญาติ” คือ ต้องอยู่เฝ้าไร่ เฝ้าเล้า ตลอดทั้งวัน แทบไปไหนไม่ได้ เพราะเผลอเมื่อไหร่สัตว์อาจตาย หรือมีคนมีทำลายไร่ได้

เกษตรกรที่เลี้ยงสัตว์มักคิดว่าตัวเองเป็น ผู้ประกอบการ นักลงทุน หุ้นส่วน ผู้จัดการฟาร์ม กล่าวโดยสรุปคือ “นักธุรกิจ” แบบหนึ่ง อย่างมากก็เป็นผู้รับจ้างเลี้ยง รับจ้างผลิต ไม่ใช่ลูกจ้าง เพราะมีการไปขูดรีดแรงงานต่างด้าวหรือแรงงานราคาถูกต่ออีกทอดหนึ่งภายในเล้าฟาร์มตัวเอง

เกษตรกรที่ปลูกพืช มักบอกว่าตนเป็นเกษตรกรอิสระ เจ้าของที่ดินทำกิน ก็คือ “ผู้จัดการไร่สวน” เพราะไม่อยากเข้าไปเป็นกรรมกรอีก หรือหนีการเป็นลูกจ้างในเมืองหรือต่างประเทศมา การผลิตของตนก็ยังมีการจ้างแรงงานต่างด้าว หรือแรงงานย้ายถิ่นแบบตกเขียวด้วย

การบอกว่า “เกษตรกรมีสำนึกที่ผิดพลาด” หรือ ไม่รู้ตัวว่าเป็นแรงงาน อาจไม่เข้าใจเกษตรกร และการแก้ไขปัญหาภาคเกษตรกรรมสมัยใหม่ที่มีความสัมพันธ์แบบ ร่วมทุน หุ้นส่วน และการทำธุรกิจที่มีความซับซ้อน ซึ่งต้องการชุดกฎหมายและสถาบันที่ตอบสนองปัญหาได้อย่างตรงจุด มากกว่าพยายามยัดเกษตรกรใส่กล่องใดกล่องหนึ่งของกลไกที่มีอยู่เดิม


ความไม่เป็นธรรมในระบบเกษตรพันธสัญญาไม่ใช่ปัญหาใหญ่

มักมีการตอบโต้ว่า “ตัวอย่างเกษตรกรเจ๊งแค่ไม่กี่พัน เป็นคนส่วนน้อย” แต่ความสัมพันธ์ในระบบเกษตรพันธสัญญา แทบไม่ต้องเอาตัวเลขรวมทั้งประเทศมาบอกว่าเลยว่ามีกี่คนที่อยู่ในระบบสัญญา เพราะในแต่ละผลผลิตจะมีการใช้สัญญามาตรฐานเหมือนกันหมดทั้งประเทศ บางผลผลิตเกษตรอยู่ต่างบริษัทกันก็ยังใช้สัญญาเหมือนกันอีก หลักฐาน คือ เกษตรกรปรับปรุงแก้ไขสัญญาเป็นรายบุคคล บริษัทไม่ยอมบอกว่าต้องใช้สัญญาเดียวกันทั้งประเทศ สำนักงานใหญ่สั่งมา นั่นหมายความว่า การหยิบเกษตรกรคนใดในระบบมาศึกษา ก็กลายเป็น ตัวแทนเกษตรทั้งระบบ ทันที! (และเป็นข้อมูลระดับหลักฐานที่ฟ้องร้องกันในศาลได้ ส่วนทำไมเกษตรกรไม่ฟ้องดูในช่วง “เกษตรดราม่า”)

ระบบอุปถัมภ์ อิทธิพล หรืออำนาจเถื่อน มิได้หายไปทันทีแล้วแทนที่ด้วยนายทุนกลุ่มใหม่ กลับกัน ผู้มีบารมีในท้องถิ่นกลับได้ช่องทางทำกินใหม่จากการเป็นนายหน้าของทุนใหญ่ ทุนท้องถิ่น ในการควบคุมลูกไร่ ลูกฟาร์ม และสอดส่องพฤติกรรมต้องสงสัย รวมไปถึงทำกิจกรรมประชาสัมพันธ์ผ่านงานบุญ ประเพณี เลี้ยงฉลองต่างๆ กลายเป็นบรรษัทเพิ่มความเข้มข้นของระบบอุปถัมภ์ในท้องถิ่น เพียงแต่มีกระสุนจากบริษัทแทนนักการเมือง ในบางกรณีนักการเมืองเลยกระโดดมาเล่นเกมส์แย่งชิงอำนาจโดยเข้าข้างเกษตรกร แต่พอบรรษัทเข้าหา อุดหนุน ส่งเสริมก็เงียบหายไป หรือบางพื้นที่มีการหนุนคู่แข่งทางการเมืองอีกฝ่ายมาสู้แทน  กลเกมส์การเมืองของกลุ่มทุนที่อาศัยนักการเมืองบังหน้าจึงลงลึกและแพร่ไปทุกพื้นที่


“เกษตรดราม่า” เอาแต่เนื้อหาตัวเลข ข้อมูลสถิติได้ไหม

เหตุผลที่การนำเสนอสื่อ เช่น หนังสารคดี และหนังสือแจก การนำเสนองานในสื่อใหม่ ที่หยิบข้อมูลงานวิจัยที่แสดง “อารมณ์และความรู้สึกของเกษตรกร” ก็เพราะ อำนาจ อิทธิพล ในพื้นที่ มีผลต่อสำนึกในการลุกขึ้นต่อรองของเกษตรกร การเข้าใจทางเลือกของเกษตรกรในการต่อสู้หรือเลือกกลยุทธ์ต่างๆ ต้องมีมุมมองด้าน อารมณ์ ความรู้สึกว่า ทำไมเกษตรกรไม่กล้า กลัวอะไร ทำไมเสียงเกษตรกรจึงหายไปไหน ทำไมรวมกลุ่มไม่ได้ ต้องหวาดผวาและกังวลกับอะไรบ้าง

หากลองกลับไปฟังเกษตรกรฟังอย่างตั้งใจ จะรู้ว่า กลยุทธ์ของบรรษัทและผู้มีอิทธิพลในท้องถิ่นทำให้เขาต้องเผชิญกับอะไรบ้าง ซึ่งหลายอย่างวัดเป็น “ตัวเลข” มิได้แต่มีผลจริง เช่น เกรงว่าคนในครอบครัวถูกทำร้าย เพื่อนไม่คบ โดนตัดญาติ หรือกลัวโดนแกล้งไม่เอาปัจจัยการผลิตมาให้ หรือไม่มาซื้อผลผลิตคืนตรงเวลา ฯลฯ ซึ่งมีผลทางจิตวิทยาสูงมาก

ถ้าวันนี้เกษตรกรในระบบพันธสัญญาออกมาเรียกร้องว่าถูกบรรษัทรังแก จะมีใครช่วยจัดการบรรษัทใหญ่ไหม เพราะรัฐเผด็จการ กับ การส่งเสริมอุตสาหกรรม (อาหาร) เป็นของคู่กัน หรือว่าแค่คิดจะออกมาเรียกร้องก็ไม่ได้แล้ว

แล้วเกษตรพันธสัญญาหาดีไม่ได้เลยเหรอ ทำไมประเทศอื่นมีเกษตรพันธสัญญาได้ล่ะ

เกษตรพันธสัญญาที่ดี มีการสร้างความร่ำรวยให้กับเกษตรกรจำนวนมาก ลดความไม่แน่นอนในการผลิตและประกันว่ามีตลาดขายสินค้าแน่นอน หากมีปัญหาระหว่างการเพาะปลูก/เลี้ยงสัตว์จะมีการแบ่งรับความเสียหายกับบรรษัท นั้นมีจริง

แต่จะเกิดได้ในรัฐที่ได้สร้างระบบกฎหมายและมาตรการทั้งหลายมารองรับแล้ว เช่น มีกฎหมายข้อสัญญาที่เป็นธรรม กระบวนการยุติธรรมที่เข้าใจปัญหาในพื้นที่และชีวิตของคนในชนบท มีการส่งเสริมการรวมกลุ่มและติดอาวุธทางการต่อรองให้กับเกษตรกร เช่น สหกรณ์ที่เข้มแข็งถึงขนาดตั้งเป็น บรรษัทอาหารและเกษตรที่เกษตรกรเป็นเจ้าของเอง ต่อรองทำสัญญาได้ ค้าขายได้ และเก็บออมเพื่อนำไปลงทุนใหม่ได้ หรือบางแห่งอาจนำผลกำไรมาจัดสวัสดิการหรือหลักประกันต่างๆให้กับเกษตรกรได้

ระบบสื่อสารและการขนส่งดี จนเกษตรกรสามารถติดต่อกับผู้บริโภคได้โดยตรง และส่งสินค้าจากฟาร์มถึงครัวได้ในราคาถูก

และที่สำคัญมาก คือ กลุ่มเกษตรกรมีอำนาจเรียกร้องทางการเมือง หรือมีตัวแทนของตัวเองในสถาบันทางการเมือง

การเอารูปแบบเกษตรพันธสัญญาในประเทศอื่นที่ประสบความสำเร็จ มายัดใส่ประเทศไทยที่ยังไม่มี กฎหมาย นโยบาย มาตรการ หรือองค์กรที่สร้างพลังให้กับเกษตรกร จึงเป็นความไร้เดียงสา ของนักคิด นักฝัน จำนวนมาก

ดังนั้นใครที่เข้าใจผิดไปว่า งานวิจัยเกษตรพันธสัญญาของเครือข่าย เป็นเรื่องดราม่า เอาชาวนามาด่านายทุน และเรียกร้องความสงสารว่า ชาวบ้านโดนหลอกให้ทำสัญญา สุดท้ายต้องสูญเสียที่นาไปให้นายทุน เพราะรัฐไม่ช่วยเหลือ …หยุด!

แล้วลองดู “ความจริง” ที่เกิดขึ้นในพื้นที่เกษตรอุตสาหกรรมซึ่งผลิตอาหารมาป้อนคนทั้งประเทศดูก่อนไหม


สถานการณ์ปัจจุบันของเกษตรพันธสัญญาในประเทศไทย

เกษตรกรเผชิญกับ สถานการณ์ 4 อย่างคือ อยากได้ผลตอบแทนสูง มีความเสี่ยงสูง เกิดการขูดรีดสูง และเป็นปัญหาที่ไม่มีใครเห็นหัว (ไร้ตัวตน)


ทำไมเกษตรกรจึงอยากได้ผลตอบแทนสูง โลภมากหรือไง

เกษตรกรไม่ใช่คนโง่ แต่เป็นคนที่มีประสบการณ์ต่อสู้มาอย่างโชกโชน แต่เงื่อนไขที่เหนี่ยวรั้ง คือ หนี้สิน

เกษตรกรหน้าใหม่ คนที่เคยไปขายแรงงานต่างแดน หรืออดีตข้าราชการ เข้ามาในระบบโดยอาจมีประสบการณ์ไม่มากนัก แต่อยากเกษียณแล้วทำงานอยู่กับบ้าน เก็บกินรายได้จากผลผลิตทางการเกษตรที่เขาว่า “แน่นอน ชัดเจน”

บรรษัทมีการนำเสนอแผนธุรกิจโดย การใช้ตัวเลขผลตอบแทนที่ แน่นอน ชัดเจน และมีตัวแทนจากสถาบันการเงินมาพร้อมกับตัวแทนของบรรษัทใหญ่

การทำสัญญาที่ประกันราคาขาย(ราคารับซื้อ) แต่อาจไม่เข้าใจในรายละเอียดอื่นๆ ซึ่งเป็นเทคนิคทางการเกษตร ปศุสัตว์ ที่บรรษัทกุมความรู้เหล่านี้ไว้ทั้งหมด ในหลายกรณีบรรษัทร่วมกับเจ้าพนักงานของรัฐที่ควรจะดูแลเรื่องนั้นๆ ด้วย

ผลตอบแทนที่ว่าแน่ตามราคาที่เขียนในสัญญา จริงๆก็ยังขึ้นอยู่กับสถานการณ์ตลาด ณ ตอนที่ผลผลิตออกมา ถ้าราคาตลาดสูงกว่าที่เขียนในสัญญา โดนบังคับขายแน่นอน แต่ถ้าราคาตลาดต่ำ บริษัทอาจชิ่งหนีไปก็มี หรือมารับซื้อช้าจนราคาตก หรือเกษตรกรต้องเสียเงินบำรุงผลผลิตไปเรื่อยๆ ทั้งที่ควรจะขายแล้วจบการลงทุนในรอบนั้นไปแล้ว

ถ้าเกษตรกรเอาผลผลิตตนเองไปขายให้ได้ราคาดีกว่า เจอฟ้อง เป็นคนขี้โกง ชั่วช้า ต้องฟ้องจนล้มละลาย เอาไปประจาน

ถ้าบริษัทชิ่ง เกษตรกรอยากได้เงินตามสัญญา ตัวแทนบรรษัทก็ท้าให้ไปฟ้องเอาเอง ครับ ไปจ้างทนายสู้คดีในศาล อีกกี่ปีกว่าจะได้เห็นเงิน แต่ที่แน่ๆ เงินที่ลงทุนไป ดอกเบี้ยที่กู้เงินมา วิ่งทุกวัน

ดังนั้น ผลตอบแทนที่สูง จึงมาพร้อมกับการลงทุนมากและความเสี่ยงสูงเสมอ

เกษตรกรจึงกระโดดเข้าไปหาความเสี่ยง เพราะหวังผลตอบแทนสูงที่ บรรษัท สถาบันการเงิน เจ้าหน้าที่รัฐบางคน ปั้นมา


ทำไมเกษตรกรจึงชอบเสี่ยง

เกษตรกรอยู่ในความเสี่ยงมาแต่ไหนแต่ไร
เกษตรกรอยู่ในความเสี่ยงว่าระหว่างการผลิต ไม่รู้จะมีห่าลง(โรคระบาด) ฝนฟ้าลงโทษ หรือตัวเองตายไปก่อนรึเปล่า
เกษตรกรอยู่ในความเสี่ยงว่า ผลิตแล้วไม่รู้จะขายใคร ขายยังไง จะได้กำไรไหม
เกษตรกรอยู่ในความเสี่ยงว่า รัฐจะมีมาตรการรองรับอย่างไร จะจับเกษตรกรเป็นตัวประกันด้วยโครงการต่างๆรึเปล่า ทั้งจาก นักการเมือง และระบบราชการ เพราะใกล้เลือกตั้งหรือรัฐประหารเมื่อไหร่ ก็ใช้เกษตรกรเป็นฐานคะแนนนิยมทั้งนั้น

ผลผลิตเกษตรเฉพาะบางสินค้าเท่านั้นที่ได้รับการดูแลจากฝ่ายการเมือง ชัดที่สุด คือ ชาวนา แล้วคนเลี้ยงหมู เลี้ยงไก่ เลี้ยงปลา ปลูกอ้อย ทำไร่ข้าวโพด อยู่ในความสนใจไหม

มีนักเศรษฐศาสตร์จำนวนมากบอกว่า ถ้าอยากให้เกษตรกรมีรายได้แน่นอน ไม่เจ๊ง ไม่เสี่ยง ให้ แจกเงินเลย ไม่ต้องเข้าไปแทรกแซงกลไกตลาด แต่ เกษตรกรไม่อยากเอาของใครฟรี เขามีศักดิ์ศรี การเอาผลผลิตที่ตั้งใจทำมาแลกเงินจึงมีค่า มากกว่าเดินไปขอทานจากรัฐ

การเปลี่ยนเกษตรกรจากผู้ประกอบการรายย่อยที่ด้อยประสิทธิภาพ ให้เห็นลูกจ้างบรรษัทแล้วกินเงินเดือน เช่น เปลี่ยนที่ดินให้เป็นฟาร์มหรือไร่ แล้วรับเงินรายเดือนจากบรรษัท 15,000 บาท เป็นต้น เป็นเส้นทางที่ขัดกับความตั้งใจเบื้องแรกของเกษตรกร ที่ต้องการความอิสรเสรี ไม่มีเจ้านาย หรือใครมากดขี่ จึงได้มาทำเกษตรในที่ดินตนเอง

ยิ่งถ้าเป็นการสูญเสียที่ดินไปเพราะทำเกษตรพันธสัญญาแล้วเจ๊ง จนสุดท้ายต้องมาเป็นลูกจ้างบรรษัทในที่ดินตนเอง มันคือ ความอดสู ที่อยู่ไปก็ไร้ค่า นี่คือ ที่มาของชาวนาฆ่าตัวตาย ในหลายพื้นที่


ทำไมระบบเกษตรพันธสัญญาจึงขูดรีดสูง

การขูดรีดรูปเกษตรกรแบบล่าสุด ผ่านการปรับเปลี่ยนระบบอุปถัมภ์ในท้องถิ่นเสียใหม่

ทุนใหญ่ระดับชาติที่มีภาพลักษณ์ดี ทุนหนา และสร้างเครือข่ายนักการตลาดรุ่นใหม่รุกไปทุกพื้นที่

มีการสร้างเครือข่ายกับผู้มีอิทธิพลมีบารมีในท้องถิ่น แบบแนบเนียน ผ่านการให้ค่าคอมมิชชั่น ไปจนถึงงานบุญประเพณี

ยิ่งไปกว่านั้นยังมีการสร้างเครือข่ายกับนักการเมืองระดับชาติและท้องถิ่น ผ่านการสนับสนุนเงินทุน

ไหนจะใช้งานข้าราชการด้านเกษตรของประชาชนเพื่อผลประโยชน์ของบรรษัท และตัวข้าราชการ เกษตร ปศุสัตว์

จนกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นำตัวเลข ผลประกอบการของบรรษัทเกษตร มาเป็นภาพแทนความสำเร็จของกระทรวง

แล้วหนี้สินของเกษตรกรล่ะเป็นความรับผิดชอบของใคร

บรรษัท หน่วยงานรัฐ และนักวิชาการ รวมหัวกันชี้หน้า เกษตรว่า “เจ๊งเพราะห่วย” เป็น “คนส่วนน้อย”

ใครที่ฮึดสู้กับบรรษัทจะต้องเจอกับยุทธวิธีพิฆาตเกษตรกรเต็มรูปแบบ ตั้งแต่การตัดสัมพันธ์ เลิกสัญญาที่ลงทุนไปแล้ว เอาเรื่องไปเล่าเสียๆหายๆให้คนในชุมชนทอดทิ้ง นินทา การสร้างความหวาดกลัวด้วยการข่มขู่ ทำลายทรัพย์สิน ทำร้ายร่างกาย หรือเอาชีวิต

เกษตรกรจำนวนมากโดนฟ้องร้องเป็นคดีในศาล และเสี่ยงว่าจะล้มละลาย โดนขายทรัพย์สินทอดตลาดด้วยความผิดที่ตัวเองมิได้ก่อขึ้น มีหลายครั้งที่เห็นว่าสัญญาไม่เป็นธรรมแต่ก็บังคับต่อไปเพราะบอกว่าได้เซ็นไปแล้ว ทั้งที่ตามกฎหมายสามารถปรับปรุงแก้ไขข้อสัญญาไม่เป็นธรรมได้ แต่ก็นั่นล่ะต้องแก้สัญญาโดยไปจ้างทนายฟ้องศาลเอาเองอีกเช่นกัน

ทำไมเจ๊งกันเยอะถึงไม่บอกเล่า ก็เพราะอยากลดหนี้ โดยที่ใช้วิธีหาเกษตรกรคนอื่นมารับกรรมแทน เช่น ให้มีเซ๊งต่อฟาร์ม มาซื้ออุปกรณ์การผลิตต่อ ฯลฯ

วงจรของการรักษาหน้า รักษาภาพลักษณ์ และหาคนมารับเคราะห์แทน ทำให้ปัญหาของระบบเกษตรพันธสัญญาแบบห่วยๆ เงียบงัน และส่งผลต่อตัวเกษตรกรเองในท้ายที่สุด คือ ไม่มีใครเห็นปัญหา ไม่มีพลังในการบอกเล่าเรื่องให้สังคมฟัง เพราะทุกครั้งที่หาตัวเกษตรกรมายืนยันแทบทุกคนหันหลบ เกษตรกรในฐานะเจ้าของปัญหาจึงกลายเป็นคน “ไร้ตัวตน”


เกษตรกรที่เดือดร้อนอยู่ไหน ทำไมถึงโดนมองข้ามหัว

วิธีการปิดข่าว ปิดข้อมูล และทำให้คนทั้งสังคมมองไม่เห็นปัญหามีดังนี้
- การสร้างความสัมพันธ์กับหน่วยงานรัฐที่ทรงอำนาจ ทรงอิทธิพล โดยการโฆษณาและทำโครงการร่วม
- การทำกิจกรรมเสริมสร้างภาพลักษณ์โดยการเข้าไปสนับสนุนโครงการพัฒนาขององค์กรทรงบารมี
- การใช้อาวุธทางกฎหมายในการรักษาภาพลักษณ์ของตัวเอง การฟ้องหมิ่นฯเพื่อปิดปากคนวิพากษ์วิจารณ์
- การสร้างเครือข่ายอุปถัมภ์กับสื่อมวลชนกระแสหลัก จนมักมีคนลุกมาปกป้องบรรษัทในฐานะลูกจ้าง
- การทำกิจกรรมร่วมกับนักวิชาการ เพื่อรักษาพลังในการครอบงำสังคม ด้วยการยืมนักวิชาการมาสร้างความน่าเชื่อถือ
- การรุกไล่ซื้อพื้นที่โฆษณาประชาสัมพันธ์ทุกรูปแบบ ทุกระดับ ให้มีการสร้าง “ความรู้สึกที่ดีกับแบรนด์”

ผลกระทบต่อสังคมในวงกว้าง คือ ไม่มีใครกล้าพูดด้านไม่ดี เพราะจะโดน ลูกค้าผู้ซื่อสัตย์รุมขย้ำ หรือถึงกับเซ็นเซอร์ตัวเองไปเพราะกลัวโดนฟ้อง ดังกรณีมีผู้โพสต์เรื่องระบอบ “....” แล้วต้องรีบลบทิ้ง

ขบวนการเคลื่อนไหวทางการเมืองจะมีคนหันมาสนใจเกษตรกร ก็ตอนจะเอา “น้ำตาและหยาดเหงื่อ” ไปขยายผลทางการเมืองเพื่อชัยชนะของกลุ่มการเมืองอื่น ทั้ง ขบวนการการเมืองในท้องถนน การเลือกตั้ง และการเมืองประชานิยม พ่อขุนอุปถัมภ์ทั้งหลาย แต่มันสะท้อนว่าเมืองไทยไม่มีกลุ่มที่ทำเรื่องการเมืองของผู้บริโภคหรือเกษตรกรอย่างจริงจัง


แล้วจะแก้ไขปัญหา หรือหาทางออกอย่างไร

หากมองว่าเกษตรกรกลายไปเป็นแรงงาน และต้องใช้วิธีแก้ไขแบบขบวนการแรงงาน หรือกฎหมายแรงงานหรือไม่ สำหรับผู้ที่ตอบว่า ใช่ คงหนีไม่พ้นต้องมาช่วยจัดตั้งเครือข่ายเกษตรกรในระบบพันธสัญญา และสร้างกลไกลระงับข้อพิพาทระหว่างเกษตรกรกับบรรษัท ด้วย มิใช่แค่เขียนกฎหมาย หรือเพิ่มนิยามในกฎหมายแรงงานว่า เกษตรกรต้องได้สิทธิแรงงาน

เมื่อวิเคราะห์ระบบอาหารและการเกษตร จะเห็นชัดว่า เกษตรกรในยุคปัจจุบันเกี่ยวข้องกับการผลิตเพื่อขาย มากกว่าผลิตเพื่อยังชีพอย่างเดียว แม้เกษตรกรมิใช่คนส่วนใหญ่ของประเทศอีกแล้ว แต่ทุกคนในประเทศยังเป็นผู้บริโภคสินค้าเกษตร

การตั้งบรรษัทเกษตรและอาหารแห่งประเทศไทย ขึ้นมาเพื่อสร้างความมั่นคงด้านอาหาร และถ่วงดุลกับ บรรษัทเอกชนที่ผูกขาดตลาด น่าจะเป็นวิถีทางที่เหมาะสมกว่าไปล้มล้างสายพานอาหารทั้งระบบ

อาจตั้งต้นในรูปแบบรัฐวิสาหกิจก็ได้ หรืออยู่ในรูปบริษัทสหกรณ์ที่มีเกษตรกรรายย่อยและผู้บริโภครายย่อยเป็นผู้ถือหุ้น ซึ่งขี้คร้านว่าในอนาคต บรรษัทอาหารและเกษตรจะมีรายได้มหาศาล จนกลายเป็นมีกลุ่มธุรกิจการเมืองพยายามฮุบไปแบบ ปตท.

บังคับใช้กลไกขจัดการผูกขาดการผลิต การขนส่ง การซื้อขาย และการโฆษณาประชาสัมพันธ์ ของบรรษัทเกษตรและอาหาร

การส่งเสริมระบบเกษตรและอาหารทางเลือก ให้ดำเนินการได้ด้วยการลด ค่าขนส่ง เพิ่มความสามารถด้านเทคโนโลยีสื่อสาร และการตลาดให้กับกลุ่มเกษตรกร และกลุ่มผู้บริโภค

การเสริมความสามารถในการต่อสู้ฟ้องร้องคดีของเกษตรกรที่โดนโกง

การสนับสนุนให้ผู้บริโภคที่ได้รับอันตรายจากอาหารของบรรษัทร้องเรียน

การคุ้มครองความปลอดภัยของเกษตรกร และผู้บริโภคที่เป็นคดีกับบรรษัท

การคุ้มครองสิทธิของ “ลูกจ้าง” ในฟาร์ม เล้า ไร่ ที่เป็นผู้ใช้แรงงานภายใต้เกษตรกรผู้จัดการด้วย ไม่ว่าจะไทยรึต่างด้าว

การสร้างนโยบาย/กฎหมาย ที่รับรองสิทธิด้านอาหาร เป็นพื้นฐานแห่งสวัสดิการที่ประชาชนคุณพึงได้อย่างมีคุณภาพ

 

การแก้ปัญหาเหล่านี้ต้องการความเชี่ยวชาญด้านใด จากใครบ้าง

นักกฎหมาย นักพัฒนา หรือนักอะไรก็แล้วแต่ ไม่อาจแก้ปัญหาระบบอาหารและการเกษตรได้โดยลำพัง

ขอเชิญชวน เพื่อนนักวิชาการ นักพัฒนา และผู้ที่สนใจปัญหาสังคม เข้ามาหาคำตอบให้เหนือกว่าที่วิจัยโครงการนี้พบ

ทุกท่านมีความเก่งกาจ เชี่ยวชาญกว่าทีมวิจัยที่มีนักกฎหมายเป็นหลัก จึงขอเชิญให้นำเสนอทางออกอื่นให้ดียิ่งๆขึ้นไป
เพื่อเป้าหมายในการมีอาหารอร่อย สด สะอาด คนกินคนผลิตมีเงินเหลือเก็บกันทั้งคู่ โดยที่อยู่คำฟ้าไปได้อีกนานๆ

เช่นเดียวกับท่านที่มีเป้าหมายทางธรรม จะปฏิบัติธรรมได้อย่างไรหากร่างกายบกพร่องไปเพราะโรคภัยไข้เจ็บจากการกิน

สาเหตุที่เราทุกคนต้องให้ความสำคัญกับเรื่องอาหารก็เพราะอาหารเป็นเรื่องพื้นฐานที่สุดในการมีชีวิตที่ดี สุขภาพแข็งแรง จิตใจแจ่มใส ไปจนถึงการทำมาหากิน และพัฒนาสติปัญญาส่วนตน ไปจนแก้ไขปัญหาอื่นๆ ในสังคม
เนื่องจากมีหลายปัญหาในประเทศนี้ ที่ต้องสู้กันด้วยเงื่อนไขที่ว่า “ใครตายหลัง ชนะ!!!”


สนใจข้อมูลหลักฐานงานวิจัยในระดับ “นำไปฟ้องในชั้นศาลได้” ติดตามเพิ่มเติม

- แฟนเพจ Facebook “Fair Contract Free Farming ปลดแอกเกษตรกรจากพันธนาการ”
- หนังสารคดีชีวิตเกษตรกรในระบบพันธสัญญา “ตัวจริงเสียงจริง”
- ชุดโครงการวิจัย “ความไม่เป็นธรรมในระบบเกษตรพันธสัญญา”
- หนังสือ “บ่วงบาศพิฆาตเกษตรกร” ตามแผงหนังสือทั่วไป
- เนื้อหาบทสรุปงานวิจัยเป็นภาษาอังกฤษ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net