รายงาน: ทบทวนข้อเสนอมุสลิมศึกษากับสังคมศาสตร์: การเมืองและวัฒนธรรม

หมายเหตุ: รายงานจากโครงการเสวนาทางวิชาการระดับชาติ "ทบทวนข้อเสนอมุสลิมศึกษากับสังคมศาสตร์: การเมืองและวัฒนธรรม" เมื่อวันที่ 20 ก.ย. 2557 ณ ห้องประชุม 4 อาคารปฏิบัติการเทคโนโลยีและพัฒนานวัตกรรม มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์


ที่มาภาพ: โรงเรียนนักข่าวชายแดนใต้ ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้

มุสลิมศึกษา-อิสลามศึกษา และวิธีวิทยาในการศึกษาสังคมมุสลิม เป็นประเด็นที่มีการสนทนาอย่างกว้างขวางหลังจากที่เกิดกระแสการฟื้นฟูอิสลามในช่วงคริสต์ทศวรรษที่ 1970 ต่อเนื่องมาถึงหลังเหตุการณ์ 11 กันยายน 2544 ประเด็นมุสลิมศึกษาได้ถูกหยิบยกขึ้นมาพูดคุยทั้งฝั่งฟากโลกตะวันตกและโลกตะวันออก แม้แต่กระทั่งสังคมไทย ได้มีการผลิตงานที่เกี่ยวข้องกับสังคมมุสลิมเพื่ออธิบายปรากฏการณ์อันเกี่ยวเนื่องกับมุสลิมและศาสนาอิสลามในสังคมไทยอย่างต่อเนื่อง

ศ.ดร.ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ เสนอมุมมองมุสลิมศึกษาไว้อย่างน่าสนใจในบทความ มุสลิมศึกษา: สังคมศาสตร์ทวนกระแสและ “ความเป็นอื่น” (2541) ประเด็นสำคัญเกี่ยวกับแนวคิดการศึกษาวิจัย “มุสลิมศึกษา” ว่าเป็นพื้นที่ทางวิชาการที่สามารถใช้แนวคิดทฤษฎีการวิเคราะห์เชิงวิพากษ์ที่สัมพันธ์กับบริบท ในขณะที่อิสลามศึกษาสัมพันธ์กับสภาวะศักดิ์สิทธิ์ในเรื่องของกุรอานและพื้นที่อันศักดิ์สิทธิ์ โดยข้อเสนอดังกล่าวถูกนำมาถกเถียง อภิปราย ต่อยอดในการเสวนาทางวิชาการระดับชาติ "ทบทวนข้อเสนอมุสลิมศึกษากับสังคมศาสตร์ กับ สถานการณ์ทางการเมืองและวัฒนธรรม" เมื่อวันที่ 20 กันยายน 2557 ที่ผ่านมา ณ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ จ.นครศรีธรรมราช ซึ่งจัดโดย โครงการอิสลามศึกษาและการพัฒนาชุมชนมุสลิมเพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างสันติ ส่วนส่งเสริมวิชาการ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์

งานเสวนาครั้งนี้มีการนำเสนอประเด็นมุสลิมศึกษาผ่านงานวิจัยและบทความทางวิชาการทั้งในแง่มุมวิธีวิทยาในการศึกษาชุมชนมุสลิม ประเด็นที่สัมพันธ์กับอิสลามศึกษา ปรัชญา มานุษยวิทยา สถาปัตยกรรม วรรณกรรม ตลอดจนแง่มุมจากผู้ทำงานองค์กรมุสลิม และองค์กรด้านสันติภาพชายแดนใต้

การเสวนาเริ่มต้นที่การแสดงปาฐกถาจาก ผศ.ดร.สุชาติ เศรษฐมาลินี จากสถาบันศาสนา วัฒนธรรม และสันติภาพ มหาวิทยาลัยพายัพ โดยได้นำเสนอถึงมุสลิมศึกษาจากการเชื่อมโยงงานวิชาการในบริบทโลก “มุสลิมศึกษา” ที่กลายเป็นอุตสาหกรรมทางวิชาการหลังเหตุการณ์ 11 กันยายน 2001 ซึ่งงานจำนวนมากที่ชาวตะวันตกใช้อธิบายมุสลิมว่า มุสลิมมีอัตลักษณ์ที่ค่อนข้างตายตัว แข็งกระด้าง เป็นเนื้อเดียวกันทั้งหมด นั่นเป็นความเข้าใจจากตะวันตก โดยเชิญชวนให้ชาวมุสลิมหันมาศึกษาแนวคิดอิสลามที่เปิดมุมมองอันเป็นประโยชน์เพื่อมวลมนุษยชาติ เสนอให้มีการอธิบายความเป็นมุสลิมที่มีความหลากหลาย และเชื่อมโยงการอธิบายร่วมกับศาสตร์แขนงต่างๆ ทั้งเน้นย้ำว่ามุสลิมศึกษาไม่สามารถแยกขาดออกจากการศึกษาแก่นของศาสตร์อิสลามศึกษาได้

การเสวนาช่วงแรกในหัวข้อ วิพากษ์ “มุสลิมศึกษา-อิสลามศึกษา และข้อเสนอการวิจัยในสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ การเมืองและวัฒนธรรม” มีนักวิชาการสาขาต่างๆ นำเสนอถึงประเด็นมุสลิมศึกษาโดยอาศัยมุมมองจากศาสตร์ต่างๆ เริ่มต้นที่ ผศ.สุรัยยา สุไลมาน อาจารย์ประจำคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กล่าวถึงมุสลิมศึกษาในงานวรรณกรรม

สุรัยยาเล่าถึงกลิ่นอายของมุสลิมในงานวรรณกรรมว่าสะท้อนถึงเรื่องราวของวิถีชีวิตมุสลิมได้ชัดเจน จากทฤษฎีวรรณกรรมของมุสลิมศึกษาพบว่า งานเหล่านี้จะมีความแตกต่างจากงานวรรณกรรมกระแสหลักโดยทั่วไป หากศึกษาวรรณกรรมร่วมกับฐานความรู้ศาสนาในยุคกลาง จะพบว่าวรรณกรรมบางเรื่องของแต่ละศาสนามีความสอดคล้องกัน เช่น วรรณกรรมเอกของโลกอย่างเรื่อง The Divine Comedy ซึ่งหากอ่านโดยใช้มุมมองจากมุสลิมเข้าไปศึกษางานวรรณกรรมชิ้นนี้จะเห็นถึงการนำเสนอเรื่องราวจากคริสต์ศาสนายุคกลางที่สะท้อนถึงโลกก่อนความตายและหลังความตาย ซึ่งมีลักษณะเดียวกันกับปรากฏการณ์อิสรออ์ เมียะร้อจ (การเดินทางสู่ฟากฟ้าของศาสดามูฮัมมัด)

นอกจากนั้น สุรัยยายังได้เสนอตัวอย่างวรรณกรรมในโลกตะวันตกช่วงคริสต์ทศวรรษ 1980 อาทิ The Satanic Verses ของซัลมาน รัชดี ที่มีเนื้อหาดูหมิ่นศาสดาในศาสนาอิสลาม เป็นวรรณกรรมที่ถูกต่อต้านอย่างมากในโลกมุสลิม กระทั่งนำไปสู่กระแส “ความเกลียดกลัวอิสลาม” หลังเหตุการณ์ 11 กันยายน 2544 จนเกิดกระแสการเขียนวรรณกรรมที่เป็นกลางต่อมุสลิมมากขึ้นในโลกตะวันตก วรรณกรรมเหล่านี้โดยส่วนใหญ่เขียนโดยนักเขียนชาวมุสลิมผู้อพยพ รวมไปถึงมุสลิมที่มีบรรพบุรุษจากประเทศอาณานิคม

ดร.มูฮัมหมัดอิลยาส หญ้าปรัง ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาเอเชียอาคเนย์ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง เสนอว่า Modern Social Science เป็นกรอบในการศึกษาที่ไม่เพียงพอต่อการทำความเข้าใจสังคมมุสลิม เนื่องจากการศึกษาอิสลามและสังคมมุสลิมไม่ใช่ปริมณฑลของการศึกษาสิ่งศักดิ์สิทธิ์เท่านั้น แต่อิสลามศึกษากว้างกว่านั้น

มูฮัมหมัดอิลยาสเห็นว่าอิสลามศึกษาเป็นองค์ความรู้ที่ได้มาจากอัลกุรอาน อัซซุนนะฮ์ และประวัติศาสตร์อิสลาม ประเพณีทางความคิดอิสลาม องค์ประกอบเหล่านี้รวมกันเพื่อนำมาศึกษาสังคมของมุสลิม ขณะที่มุมมองในเชิงทฤษฎีจาก Modern Social Science เป็นผลผลิตจากการพัฒนาศาสตร์ในโลกตะวันตกซึ่งมีการนำไปใช้ศึกษาสังคมอื่นรวมถึงสังคมมุสลิม โดยอ้างถึงความเป็นสากลของทฤษฎีนั้น ในตอนท้าย มูฮัมหมัดอิลยาสตั้งคำถามว่าผู้ศึกษาจะใช้กรอบคิดที่เรียกว่า Islamic Social Science ได้หรือไม่

อันวาร์ กอมะ อันวาร์ กอมะ จากศูนย์เอเชียศึกษา คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง เสนอความสัมพันธ์ระหว่างอิสลามศึกษากับมุสลิมศึกษา โดยชี้ให้เห็นว่าการศึกษาในส่วนของอิสลามศึกษาและมุสลิมศึกษานั้น ผู้ศึกษาต้องมีความเข้าใจในกรอบของศาสนพิธี (อิบาดะฮ์) และปฏิสัมพันธ์ทางสังคม (มูอามาละฮ์) โดยที่อิสลามศึกษานั้นเน้นการศึกษาอิบาดะฮ์ และมุสลิมศึกษาเน้นการศึกษามูอามาละฮ์

ขณะที่ ซากีย์ พิทักษ์คุมพล อาจารย์ประจำสถาบันสันติศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เสนอขนบในอิสลามศึกษา โดยอภิปรายว่า แม้แต่พื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ในอิสลาม ได้อนุญาตให้มีการโต้เถียงกันได้ ซึ่งการโต้เถียงย่อมเกิดจากพื้นฐานของความเชื่อก่อน ยกตัวอย่าง เช่น การถกเถียงในเรื่องของการมีอยู่ของพระเจ้า หรือตำแหน่งแห่งที่ของพระเจ้า มีการถกเถียงกันในพื้นที่อันเป็นปริมณฑลศักดิ์สิทธิ์

นอกจากนี้ ซากีย์ตั้งคำถามถึงการวิจัยมุสลิมศึกษาว่ามีความจำเป็นหรือไม่ที่ Islamic Study for Social Science เป็นฐานในการวิจัยสังคมมุสลิม เพราะงานวิจัยที่ขาดฐานความรู้อิสลามศึกษา จะทำให้เกิดผลงานในลักษณะของการเรียบเรียงข้อมูลเท่านั้น ขาดการตีความ การอภิปราย แม้กระทั่งมีการอธิบายที่ผิดพลาด

การเสวนาในช่วงที่สองในหัวข้อ “มุสลิมศึกษา: มุมมองประยุกต์และปฏิบัติการ” อสมา มังกรชัย อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ นำเสนอว่ามุสลิมศึกษาไม่ได้เป็นหัวข้อหรือแนวทางการศึกษาที่มีรูปแบบชัดเจน รวมไปถึงคำถามการวิจัยและเป้าประสงค์ที่ชัดเจน โดยเปรียบเทียบกับสตรีศึกษา อสมาเห็นว่าสตรีศึกษามีพื้นฐานการศึกษาที่มาจาก แนวคิดที่ว่าสตรีนั้นตกเป็นผู้ที่เสียเปรียบ หรือแม้แต่ถูกกดทับทางโครงสร้างทางสังคม การผลิตองค์ความรู้ในด้านนี้ เป็นการสร้างองค์ความรู้ พร้อมกับการเคลื่อนไหวเพื่อรื้อถอนมายาคติที่คิดว่าชายเป็นใหญ่

แต่โดยส่วนตัวอสมาตั้งคำถามว่า มุสลิมศึกษาเกิดขึ้นมาจากอะไร หากไม่ได้เกิดจากการสร้างองค์ความรู้เพื่อตอบสนองอะไรบางอย่าง จะสามารถเรียกว่ามุสลิมศึกษาได้หรือไม่ ทั้งที่งานวิจัยบางชิ้นไม่ได้วิเคราะห์อย่างลุ่มลึก มีเพียงกลุ่มผู้ให้ข้อมูลเป็นคนมุสลิมเท่านั้น

ดร.วิญญู อาจรักษา จากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการผังเมือง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นำเสนอการวิจัยการต่อรองการใช้พื้นที่ละหมาดประจำวันในกรุงเทพมหานคร ในมัสยิด รวมทั้งสถานที่ละหมาดอื่นๆ วิญญูพบว่าแม้สถานที่ละหมาดเป็นพื้นที่สาธารณะ แต่กลับถูกทำให้ไม่เป็นสาธารณะ เช่น ห้องละหมาดย่านใจกลางเมือง รวมไปถึงรอยต่อเมือง ซึ่งพบว่า ในส่วนของพื้นที่ขององค์กรรัฐ ไม่มีการจัดห้องละหมาด แต่ในขณะเดียวกันองค์กรเอกชน เช่น ห้างสรรพสินค้า โรงแรม และโรงพยาบาลได้มีการบริการห้องละหมาด คาดว่ามีการจัดไว้เพื่อบริการมุสลิมต่างประเทศ และมีการจัดแต่งอย่างหรูหรา แต่ในขณะที่พื้นที่ละหมาดที่ถูกจัดให้กับพนักงานมุสลิมในองค์กรบางแห่งกลับถูกจัดไว้แบบลึกลับ ซึ่งในกรณีนี้ได้ชี้ให้เห็นประเด็นทางสังคมว่า ห้องละหมาดที่ดูเหมือนว่าจะเป็นพื้นที่สาธารณะกลับไม่สาธารณะ เนื่องจากมีประเด็นธุรกิจเข้ามาเกี่ยวข้อง

เอกราช ซาบูร์ จากสถาบันการศึกษาเพื่อสันติภาพและการแปรเปลี่ยนความขัดแย้ง มูลนิธิทรัพยากรเอเชีย และเครือข่ายมุสลิมเอเชีย นำเสนอบทบาทขององค์กรและงานสำคัญด้านมุสลิมศึกษาของ AMAN (Asian Muslim Action Network) AMAN เป็นองค์กรเครือข่ายมุสลิมในเอเชียที่พยายามรวมกลุ่มนักวิชาการ และนักการศาสนาที่มีแนวคิดก้าวหน้า เพื่อพัฒนางานมุสลิมจากมุมมองคนในพื้นที่ งานของ AMAN มีหลายส่วน เช่น สนับสนุนให้เกิดงานวิจัยของนักวิจัยรุ่นใหม่ในประเด็นที่เกี่ยวกับแนวคิดของนักคิดมุสลิมและชุมชนมุสลิม เพื่อตอบสนองประเด็นทางสังคมที่ท้าทายมากขึ้น อาทิ งานวิจัยเกี่ยวกับการปราบปรามคอร์รัปชัน โดยตั้งคำถามว่าในศาสนาอิสลามมีหลักเกณฑ์ใดที่นำมาใช้ในการปราบปรามคอร์รัปชัน

นอกจากนี้มีงานวิจัยที่ตั้งคำถามกับหลักเกณฑ์ศาสนา กฎหมาย และความเป็นจริงในสังคมโลก ได้แก่ การดำรงอยู่ของกลุ่มนักเผยแผ่ศาสนาที่เป็นพังค์มุสลิม โดยคนกลุ่มนี้นำข้อเสนอทางศาสนามาเชื่อมโยงกับสถานะทางสังคม เพื่อธำรงอัตลักษณ์ของพังค์และอิสลามได้ในเวลาเดียวกัน เป็นต้น

ด้าน รอมฎอน ปันจอร์ บรรณาธิการศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ (Deep South Watch) เริ่มต้นพูดคุยการทำงานของศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ ว่าเป็นองค์กรที่ทำงานรวบรวมข้อมูลเกี่ยวข้องกับความขัดแย้ง ความรุนแรง และกระบวนสันติภาพในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ประเด็นมุสลิมศึกษานั้น รอมฎอนเห็นว่าแนวคิดอิสลามศึกษาของ ผศ.ดร.อับดุลลอฮ์ หนุ่มสุข ที่ได้วางกรอบเสนอให้กับนักศึกษาระดับบัณฑิตศึกษา วิทยาลัยอิสลามศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ โดยระบุว่าอิสลามศึกษาในอนาคตจำเป็นต้องขยายกรอบ จากเดิมที่ศึกษาเพียงการวิเคราะห์ตัวบท (Text) ไปศึกษางานเชิงบริบท (Context) ด้วย เพราะในอิสลามศึกษามีกรอบการศึกษาสองระดับคือ การศึกษาบริบทและตัวบท ในตัวบทนั้นนอกเหนือจากคัมภีร์อัลกุรอานและอัซซุนนะฮ์แล้ว อับดุลลอฮ์ หนุ่มสุข ยังเสนอให้ศึกษากีตาบยาวีโบราณของปัตตานีในนามของการศึกษาระดับตัวบทด้วย

รอมฎอนเห็นว่าเป็นที่น่าสนใจที่อับดุลลอฮ์ หนุ่มสุข ได้ให้ความสำคัญกับตัวบทที่มาจากเอกสารท้องถิ่น และเห็นว่า Thai Islamic Study ยังมีปัตตานีเป็นอู่อารยธรรมทางการศึกษา ด้วยเหตุนี้ อิสลามศึกษาและมุสลิมศึกษาจึงต้องมีความเชื่อมต่อกัน ไม่สามารถที่จะทำการศึกษาแยกขาดจากกันได้

ช่วงต่อมาเป็นการอภิปราย ข้ามพ้นเส้นแบ่งอิสลามศึกษากับมุสลิมศึกษา โดย รศ.ดร.อิบรอเฮ็ม ณรงค์รักษาเขต รองผู้อำนวยการวิทยาลัยอิสลามศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ปัตตานี และ ธานินทร์ สาลาม นักวิชาการประจำศูนย์ศึกษาชาติพันธุ์และการพัฒนา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

อิบรอเฮ็มนำเสนอการใช้แนวคิดมุสลิมศึกษาในสองแง่มุมว่าเป็นทั้งส่วนทั้งดีและไม่ดี ในส่วนดีเห็นว่าเป็นสิ่งที่ง่ายต่อผู้ศึกษาในการศึกษาวิชาแขนงต่างๆ แต่ในขณะเดียวกัน กรอบการศึกษาที่มีความเป็นเรื่องของทางโลก (Secular) ทำให้คุณค่าของอิสลามศึกษาลดลง เกิดการแบ่งมุสลิมศึกษาออกจากอิสลามศึกษา ซึ่งในความเป็นจริงแล้วการศึกษาทุกสรรพสิ่งนั้นก็เป็นอิสลาม

ขณะที่ ธานินทร์เสนอกรอบมานุษยวิทยาอิสลามในการศึกษามุสลิมศึกษา โดยนำเสนอให้มีการทำความเข้าใจปฐมบทกลุ่มบรรพชนนักวิชาการมุสลิมรุ่นแรกๆ ที่ได้สร้างงานศึกษาวิจัยเพื่อสากล ธานินทร์ย้ำว่ากรอบและทฤษฎีความรู้ของนักวิชาการมุสลิมเหล่านั้นไม่ได้รังสรรค์งานเพื่อมุสลิมเท่านั้น งานในกลุ่มมานุษยวิทยาอิสลามเป็นงานที่พยายามสร้างหลักความรู้เพื่อมนุษยชาติ โดยใช้หลักการของศาสนาอิสลามที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับความเป็นมนุษย์

ในตอนท้ายของงานเสวนา ศ.ดร.ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ อภิปรายการถกเถียงและข้อเสนอจากเวทีว่า อิสลามศึกษาไม่ได้ต่างไปจากศาสนศึกษา แต่มุสลิมศึกษาเป็นกลุ่มการศึกษาที่สามารถวางกรอบและเกณฑ์ในการศึกษาได้ในลักษณะของวิชาการด้านอาณาบริเวณศึกษา กระนั้น อาณาบริเวณศึกษานี้หาใช่การนำเอาลักษณะทางภูมิศาสตร์มาเป็นกรอบหลักในการศึกษาวิจัย นอกจากนี้ ชัยวัฒน์ยังได้กล่าวปิดท้ายการเสวนาถึงเรื่องของพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ว่า นักวิจัยผู้ใฝ่รู้เรื่องชุมชนมุสลิมและสนใจศึกษาข้อถกเถียงทางศาสนา นำเอามิติของพื้นที่แห่งความศักดิ์สิทธิ์มาใช้จนกลายเป็นทั้งข้อจำกัดและเป็นแรงบันดาลใจให้ค้นหาในเรื่องที่น่าตื่นเต้นและอัศจรรย์ ซึ่งชัยวัฒน์เห็นว่างานวิจัยควรทำหน้าที่เปิดมุมมอง ให้ข้อคิด ข้อเสนอ และทัศนะอันหลากหลายภายใต้กรอบความคิดมุสลิมศึกษาและอิสลาม จนสามารถพัฒนาต่อยอดงานวิจัยได้หลายแขนง ท้ายที่สุดแล้ว การผลิตงานวิจัยเหล่านี้ต้องสามารถตอบโจทย์ปัญหาสังคมมุสลิม ตลอดจนสามารถนำกรอบคิดมุสลิมศึกษาเป็นแนวคิดกระแสหลักและเป็นสากลได้
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท