แนวโน้มเศรษฐกิจการเมืองและสังคม – ผลกระทบต่อสังคมและแรงงาน

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

 

แนวโน้มเศรษฐกิจช่วงครึ่งปีหลังปีนี้ (พ.ศ.2557) น่าจะปรับตัวดีขึ้นเล็กน้อยเมื่อเทียบกับช่วงครึ่งปีแรกที่มีการขยายตัวติดลบ อย่างไรก็ตาม อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจทั้งปีไม่น่าจะเกิน 2% ราคาพืชผลเกษตรตกต่ำ ส่งออกขยายตัวติดลบ การถูกตัดจีเอสพีจะทำให้สถานะการส่งออกของไทยมีความยากลำบากมากขึ้นในอนาคต การท่องเที่ยวยังไม่ฟื้นตัวดีนัก แต่การลงทุนภาคเอกชนและการบริโภคกระเตื้องขึ้นมาบ้าง สถานการณ์ทางเศรษฐกิจจะปรับตัวไปในทิศทางดีขึ้นในปีหน้า (พ.ศ. 2558) โดยมีปัจจัยสำคัญจากพลังขับเคลื่อนของการลงทุนเอกชนโดยเฉพาะต่างชาติอันเป็นผลจากการรวมกลุ่มภายใต้ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน รวมทั้งการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจโดยรัฐบาล ปัจจัยบวกเหล่านี้จะขับเคลื่อนได้อย่างเต็มประสิทธิภาพเมื่อระบบการเมืองมีเสถียรภาพและกลับคืนสู่ประชาธิปไตยได้โดยไม่มีอุปสรรค เขตเศรษฐกิจพิเศษจะช่วยทำให้การค้าการลงทุนในพื้นที่ขยายตัวเพิ่มขึ้นและเป็นกลไกที่ไทยจะได้รับประโยชน์จากประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนเพิ่มขึ้นทางด้านการค้าและการลงทุน แต่เราต้องคำนึงถึงปัญหาสิ่งแวดล้อม การเปลี่ยนแปลงด้านวิถีชีวิตของชุมชน คุณภาพชีวิตของแรงงานด้วย ความสัมพันธ์ที่เหมาะสมระหว่างประเทศเพื่อนบ้าน บรรษัทข้ามชาติ ทุนไทย ทุนท้องถิ่น ทุนเอสเอ็มอี ประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจ ความสัมพันธ์ที่เหมาะสมจะช่วยกำหนดดุลยภาพที่ดีด้านเศรษฐกิจ การเมือง สังคม อันมีผลต่อชีวิตของผู้คนและประเทศ 

ยุทธศาสตร์การพัฒนาโดยเน้นการส่งออกไม่น่าจะเป็นยุทธศาสตร์ที่เหมาะสมภายใต้พลวัตสิ่งแวดล้อมใหม่ ประเทศไทยอยู่ในช่วงความจำเป็นในการปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจ การผลิตแบบใหม่ ซึ่งไม่อาจอาศัยแรงงานราคาถูกเพื่อการส่งออกและสินค้าส่งออกที่อาศัยฐานทรัพยากรโดยไม่สร้างมูลค่าเพิ่มหรือนวัตกรรมได้อีกต่อไป

รัฐไทยต้องเป็นรัฐประชาธิปไตยทั้งทางด้านเศรษฐกิจ การเมืองและสังคมจึงทำให้ประชาชนส่วนใหญ่มีคุณภาพชีวิตที่ดี รวมทั้งมีระบบสวัสดิการสังคมที่มีคุณภาพและเข้มแข็งแต่ต้องเป็นระบบสวัสดิการที่กระตุ้นให้เกิดผลิตภาพที่สูงขึ้นด้วย (Productive Welfare System) จึงไม่ทำให้เกิดปัญหาความสามารถในการแข่งขันในระยะยาว การขยายความคุ้มครองทางสังคมเป็นเรื่องเร่งด่วนที่ต้องดำเนินการพร้อมกับการจัดเก็บภาษีเพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคม เช่น ภาษีทรัพย์สิน ภาษีมรดก อย่างไรก็ตาม ภาษีมรดกอาจมีต้นทุนในการจัดเก็บสูงและรัฐอาจจะมีรายได้ไม่มากนักจากภาษีดังกล่าว รัฐบาลจึงควรให้ผู้มีฐานะร่ำรวยเลือกว่าต้องการบริจาคให้กับสาธารณะโดยตรงหรือจะจ่ายเป็นภาษีมรดก  

รัฐไทยมีปัญหาความเหลื่อมล้ำรุนแรงมาก ส่วนหนึ่งเป็นผลจากนโยบายที่ทำให้เกิดการผูกขาดในระบบเศรษฐกิจมากขึ้น ไม่ก่อให้เกิดการกระจายตัวของรายได้ ทรัพย์สิน ผลประโยชน์และโอกาสทางเศรษฐกิจและสังคมที่มากพอ กลุ่มครัวเรือนที่รวยที่สุด 20% มีสัดส่วนในรายได้มากกว่า 50% และถือครองที่ดินมากถึง 79% กลุ่มครัวเรือนรวยที่สุด 10% ถือครองรายได้ 39% กลุ่มครัวเรือนที่จนที่สุด 20% ท้ายสุดมีสัดส่วนรายได้ประมาณ 4% ขณะที่ 10% ท้ายสุดมีสัดส่วนรายได้ไมถึง 2% กลุ่มที่มีที่ดินน้อยสุด 20% หลังมีที่ดินเพียง 0.3% ที่ดินทั้งหมด (ข้อมูลสำนักงานสถิติแห่งชาติ ในปี พ.ศ. 2554 สำรวจไตรมาสสอง ปี พ.ศ. 2557) ดัชนีการกระจายรายได้วัดจากค่าสัมประสิทธิ์จีนี ดัชนีความโปร่งใส ดัชนีการพัฒนามนุษย์อยู่ในอันดับท้ายๆของโลก ปัญหาความเหลื่อมล้ำรุนแรงต้องแก้ด้วยกระบวนการประชาธิปไตยที่มีคุณภาพเพื่อให้เกิดทั้งประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจ การเมืองและสังคม หรือ ประชาธิปไตยสมบูรณ์นั่นเอง    

ทางด้านการเมืองนั้น เราอยู่ภายใต้รัฐบาลรัฐประหารและเราปฏิรูปประเทศไทยภายใต้กฎอัยการศึก จึงขอเสนอให้สภาปฏิรูปดึงการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนให้เข้าร่วมกระบวนการปฏิรูป เรื่องไหนเป็นการปฏิรูปสำคัญและมีความเห็นต่างทางความคิดมากควรจัดให้มีการลงประชามติ รวมทั้งเนื้อหารัฐธรรมนูญฉบับใหม่ต้องยึดหลักการประชาธิปไตย เราควรร่วมกัน

ผลักดันให้กระบวนการกลับคืนสู่ประชาธิปไตยและการเลือกตั้งเป็นไปตามกำหนดเวลา

ขบวนการแรงงานควรเป็นพลังสำคัญของฝ่ายประชาธิปไตย แต่ทำไมขบวนการแรงงานจึงอ่อนแอและขาดเอกภาพและยังอาจถูกจำกัดการเคลื่อนไหวในช่วงการประกาศกฎอัยการศึก สหภาพแรงงานเป็นองค์กรภาคประชาชนที่มีระบบการจัดตั้งที่ดีที่สุด แต่ทำไมจึงมีอำนาจในการต่อรองและผลักดันนโยบายสาธารณะไม่มากนัก บรรดาผู้นำสหภาพแรงงานและคนงานต้องไปพิจารณาหาทางพัฒนาบทบาทของขบวนแรงงานเพิ่มขึ้น

ในอีกด้านหนึ่ง เราต้องมีความหวังที่จะทำให้ “ไทย” เดินหน้าสู่การเป็นประเทศพัฒนาแล้วในอีก 15-20 ปีข้างหน้าแล้วเป็นเป้าหมายที่ท้าทาย พื้นฐานที่สุดที่จะทำให้เราบรรลุเป้าหมายได้ คือ ความมีเสถียรภาพทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคม โดยมี “คนไทย” เป็นศูนย์กลางของการพัฒนา เปล่าประโยชน์ที่เป็นประเทศพัฒนาแล้ว แล้วคนไทยไม่มีความสันติสุข ไม่มีคุณภาพชีวิต

มีงานวิชาการและงานวิจัยทางด้านเศรษฐศาสตร์มากมายศึกษาการขยายตัวทางเศรษฐกิจระยะยาวของประเทศต่างๆในโลกเพื่อให้เข้าใจถึงปัจจัยต่างๆที่มีผลต่อการยกระดับประเทศสู่การเป็นประเทศพัฒนาแล้ว และได้ข้อสรุปสอดคล้องกันว่า ปัจจัยเรื่อง “นวัตกรรมของประเทศ” เป็นสิ่งสำคัญต่อการก้าวข้ามพ้นกับดักของประเทศที่มีรายได้ระดับปานกลาง เป็น Breakthrough Growth with country innovation

นวัตกรรมของประเทศ จะเกิดขึ้นได้จำเป็นต้องมีการปฏิรูปเศรษฐกิจอย่างทั่วถึง โดยเฉพาะการลงทุนทางด้านทรัพยากรมนุษย์และวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี ขณะที่ เราไม่สามารถเป็นประเทศพัฒนาแล้วได้ภายใต้ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจสังคมที่สูงยิ่ง

การปฏิรูปเศรษฐกิจภายใต้ระบอบประชาธิปไตยจะสามารถทำเรื่องยากๆได้หากระบอบประชาธิปไตยนั้นเป็นประชาธิปไตยสมบูรณ์ที่ประชาชนส่วนใหญ่มีอำนาจอย่างแท้จริง กรณีที่การปฏิรูปเศรษฐกิจไปขัดกับผลประโยชน์คนส่วนน้อยอภิสิทธิ์ชนก็สามารถทำให้บรรลุเป้าหมายได้ด้วยพลังของประชาชนส่วนใหญ่ กระบวนการประชาธิปไตยย่อมมีความล่าช้าเป็นปรกติ เพราะเป็นกระบวนการที่ต้องดึงการมีส่วนร่วมของผู้คนที่เกี่ยวข้องให้มากที่สุด เมื่อมีการพลักดันให้เกิดขึ้นแล้วจะมีแรงต่อต้านน้อยมาก (จากฐานล่างสู่การตัดสินใจ) ขณะที่การปฏิรูปเศรษฐกิจที่อาศัยอำนาจเผด็จการบนสู่ล่างด้วยการสั่งการอาจขาดความรอบคอบและขาดการมองปัญหาอย่างรอบด้าน การปฏิรูปเศรษฐกิจภายใต้ระบอบอำนาจนิยม อาจทำให้เกิดแรงต่อต้านในภายหลัง หากผู้เผด็จการใช้อำนาจอย่างเป็นธรรม แรงต่อต้านจะน้อยลง หากผู้เผด็จการมีที่ปรึกษาที่ดี และทำตามข้อเสนอที่มีวิสัยทัศน์ ก็อาจเห็นการเปลี่ยนแปลงประเทศในทางที่ดีขึ้นก็ได้โดยไม่ต้องใช้เวลาในการดำเนินการนานเท่ากับการดำเนินการผ่านกระบวนการประชาธิปไตย อย่างไรก็ตาม ประชาธิปไตยที่ถูกครอบงำด้วยทุนผูกขาดก็จะมีปัญหาเช่นเดียวกันกับระบอบอำนาจนิยม  

การปฏิรูปรัฐวิสาหกิจ และ การจัดการทรัพย์สินของประเทศ

จุดพลิกผันของนโยบายเกี่ยวกับรัฐวิสาหกิจและการจัดการทรัพย์สินของประเทศ มักปรากฏเค้าลางเสมอเมื่อมีการเปลี่ยนขั้วอำนาจทางการเมือง ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนผ่านตามครรลองประชาธิปไตยหรือการรัฐประหารก็ตาม เค้าลางเหล่านี้บางครั้งก็ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงจริงๆ บางทีก็เป็นเพียงเค้าลางมีการเปลี่ยนแปลงพอเป็นพิธีเท่านั้น ที่มักจะทำกันเป็นธรรมเนียมปฏิบัติ คือ การเปลี่ยนแปลงกรรมการหรือบอร์ดรัฐวิสาหกิจ ผลก็คือทำให้การบริหารจัดการรัฐวิสาหกิจขาดความต่อเนื่อง เปลี่ยนแปลงรัฐบาลทีหนึ่ง ก็จะมีการเปลี่ยนบอร์ดรัฐวิสาหกิจ หรือบางทีเพียงเปลี่ยนตัวรัฐมนตรีภายใต้รัฐบาลชุดเดิมก็จะมีการเปลี่ยนแปลงผู้บริหารระดับสูงรัฐวิสาหกิจ ทางสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ กระทรวงการคลังจึงสร้างระบบ Director Poll ซึ่งเป็นบัญชีรายชื่อบุคคลที่มีคุณสมบัติและมีความเชี่ยวชาญต่างๆที่มีคุณสมบัติเหมาะสมเป็นบอร์ดรัฐวิสาหกิจประเภทผู้ทรงคุณวุฒิได้ เพื่อป้องกันไม่ให้ผู้มีอำนาจทางการเมือง (ทั้งโดยเลือกตั้งและไม่เลือกตั้ง) ใช้อำนาจตั้งคนใกล้ชิดที่ไม่มีคุณสมบัติมาดำรงตำแหน่ง และ ปิดช่องโหว่การแต่งตั้งคนมาหาประโยชน์ในทางที่มิชอบในรัฐวิสาหกิจต่างๆ อย่างไรก็ตาม แม้นการเมืองไทยจะมีการเปลี่ยนแปลงบ่อยครั้งแต่ทิศทางใหญ่ของนโยบายรัฐวิสาหกิจไทยยังคงเหมือนเดิม ประเทศไทยไม่เคยเปลี่ยนจาก “ระบบเศรษฐกิจแบบเสรีนิยม” มาเป็น “ระบบเศรษฐกิจแบบสังคมนิยม” หรือ แนวทางบริหารเศรษฐกิจแบบชาตินิยมขวาจัด ไม่ว่าจะปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย ระบอบกึ่งประชาธิปไตย เผด็จการหรือกึ่งเผด็จการ หรือ ช่วงเวลาการปฏิรูปประเทศ ก็ตาม  ยังคงเดินหน้าเปิดเสรีและเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของระบบทุนนิยมโลกาภิวัฒน์แบบแนบแน่นเช่นเดิม

การปฏิรูปรัฐวิสาหกิจจะนำมาสู่ประสิทธิภาพที่ดีขึ้น ลดภาระทางการคลัง บริการที่มีคุณภาพดีขึ้น และสามารถระดมทุนเพื่อลงทุนขยายบริการพื้นฐานให้เพียงพอต่อความต้องการในอนาคต 

ขบวนการแรงงานต้องมีส่วนร่วมตรวจสอบการบริหารจัดการทรัพย์สินของประเทศโดยเฉพาะรัฐวิสาหกิจให้เกิดประโยชน์ต่อประชาชน บทบาทของขบวนการแรงงานหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคมได้มีส่วนในการต่อสู้เรียกร้องเปลี่ยนแปลงการเมือง เศรษฐกิจ สังคมให้ดีขึ้น เป็นประชาธิปไตยมากขึ้น แม้นในบางช่วงเวลา ขบวนการแรงงานมีความสับสนในเรื่องทิศทางและเป้าหมาย ผู้ใช้แรงงานจึงต้องศึกษาค้นคว้าเพื่อให้เกิดความเข้าใจในสถานการณ์ปัจจุบันและอนาคตที่มีความสลับซับซ้อนมากกว่าเดิม

การเปลี่ยนแปลงเพื่อสิ่งที่ดีกว่าสำหรับคนส่วนใหญ่ต้องเป็นกระบวนการการเคลื่อนไหวจากล่างสู่บนและการมีส่วนร่วมของประชาชนส่วนใหญ่จึงถือได้ว่า เป็นการเปลี่ยนแปลงในเชิงโครงสร้างทางเศรษฐกิจและการเมือง อันนำมาสู่ คุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของประชาชนอย่างแท้จริง

 

 

 

 



[1] รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ และ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ ม.รังสิต/กรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย/รองประธานมูลนิธิปรีดี พนมยงค์ 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท