สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ: ว่าด้วยสภาปฏิรูปลวง

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

 

เมื่อถูกถามถึงสภาปฏิรูปแห่งชาติ(สปช.) นายวิสุทธิ์ ไชยณรุณ อดีตรองประธานสภาผู้แทนราษฎร อดีต ส.ส.พะเยา พรรคเพื่อไทย ได้อธิบายในวันที่ 15 ตุลาคม ว่า เมื่อคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.)ถืออำนาจก็ทำกันตามสบาย จะไม่ไปขัดขวาง แต่ตนไม่สนใจและติดตามข่าว สปช. ไม่ได้อ่านรายชื่อด้วยช้ำว่าเขาเลือกใครมาใช้บ้าง และไม่ดูแม้แต่ใครมาเป็นรัฐมนตรีบ้าง เพราะไม่ได้มาจากประชาชน และไม่มีค่าพอที่จะไปใส่ใจ และเมื่อถามว่า ถ้า คสช. มีอำนาจนานเกิน 1 ปีจะเกิดความวุ่นวายหรือไม่ นายวิสุทธิ์กล่าวว่า เขาจะอยู่กี่ปีก็ตามใจเขา เพราะเขามีอำนาจ ไม่เช่นนั้นจะมาอ้างอีกว่าเวลาน้อย

ตามธรรมนูญชั่วคราว ฉบับ คสช.ที่ถูกบังคับใช้กันอยู่ในขณะนี้นั้น ได้กำหนดให้มีการตั้งสภาปฏิรูปแห่งชาติ มีจำนวนไม่เกิน 250 คน จากคณะกรรมการสรรหาจังหวัดจำนวน 77 คน และคณะกรรมการสรรหาจากผู้ทรงคุณวุฒิฯ ที่หัวหน้าคณะ คสช.แต่งตั้ง รวม 11 คณะเสนอมาอีกจำนวน 173 คน และสุดท้าย คณะคสช.ก็เป็นผู้คัดเลือกแล้วนำทูลเกล้าเสนอแต่งตั้ง ผู้จะมาเป็นสมาชิกต้องทำการสมัคร แต่ผู้สมัครมีคุณสมบัติข้อหนึ่งว่า จะต้องไม่เคยถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง ซึ่งเท่ากับเป็นการกีดกันอดีตสมาชิกพรรคการเมืองจำนวนมากที่เคยโดนคดีเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง 5 ปี ทั้งที่การเพิกถอนสิทธินั้นไม่ได้มีความเป็นธรรม

ตามธรรมนูญชั่วคราวระบุไว้ด้วยว่า สภา สปช.นี้จะทำหน้าที่ “ศึกษา วิเคราะห์ และจัดทำแนวทางและข้อเสนอแนะเพื่อการปฏิรูปประเทศ 11 ด้าน เพื่อเสนอต่อ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ คณะรัฐมนตรี คณะรักษาความสงบแห่งชาติ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แต่หน้าที่สำคัญของสภานี้ คือการนำเสนอกรรมการยกร่างรัฐธรรมนูญ และประธาน สปช.จะเป็นผู้แต่งตั้งกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ 35 คน ส่วน สภา สปช.ก็จะทำหน้าที่เสนอความเห็นหรือข้อเสนอแนะต่อคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญเพื่อประโยชน์ในการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญ และพิจารณาและให้ความเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญที่คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญจัดทำขึ้น

แต่กระนั้น ในกระบวนการทั้งหมดนี้จะเห็นได้ว่า สภาปฏิรูปชุดนี้ไม่ได้รับการสนับสนุนและยอมรับเลยจากฝ่ายพลังประชาธิปไตย ในปีกของคนเสื้อแดง พรรคเพื่อไทย หรือกลุ่มนักวิชาการประชาธิปไตย ปัญหาใหญ่ที่สุดก็เป็นเพราะที่มาของกระบวนการทั้งหมดไม่ได้มาจากการมีส่วนร่วมของประชาชน แต่มาจากการรัฐประหารที่ล้มล้างประชาธิปไตย และการสถาปนาอำนาจของคณะทหาร ทำให้ข้ออ้างที่จะปฏิรูปประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยมากขึ้นกลายเป็นสิ่งเหลือเชื่อ เพราะย่อมเป็นไปได้ยากที่ประชาธิปไตยอันแท้จริงจะคลอดมาจากการรัฐประหารที่ทำลายประชาธิปไตย (เข้าข่ายที่ว่า งาช้างคงไม่งอกมาจากปากสุนัข)

ยิ่งกว่านั้น ถ้าย้อนไปก่อนหน้าการรัฐประหาร ประเด็นสำคัญที่ขัดแย้งกันในขณะนั้น คือ ฝ่าย กปปส.และ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ได้เสนอหลักการในการโค่นรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ว่า ให้”ปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง” แต่ฝ่ายนักวิชาการประชาธิปไตยเสนอให้”เลือกตั้งก่อนปฏิรูป” ดังนั้น การดำเนินการทั้งหมดของสภา สปช.นี้ ก็คือ การปฏิรูปก่อนเลือกตั้งตามข้อเสนอของฝ่ายนายสุเทพนั่นเอง หรือกล่าวให้ชัดเจนขึ้นก็คือ สภา สปช. มีหน้าที่โดยตรงในการเลื่อนการเลือกตั้งให้นานที่สุด และชอบธรรมที่สุด ในข้ออ้างอย่างง่ายก็คือ การปฏิรูปประเทศยังไม่เรียบร้อย

เรื่องการปฏิรูปประเทศไทยเป็นประเด็นที่พูดกันมานาน ในสมัยรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หลังจากที่ปราบปราบเข่นฆ่าประชาชนเมื่อเดือนเมษายน-พฤษภาคม พ.ศ.2553 ก็ได้พยายามสร้างความชอบธรรมโดยการตั้งคณะกรรมปฏิรูปขึ้นมาถึง 2 ชุด คือ คณะกรรมการปฎิรูปประเทศ(คปร.) โดย นายอานันท์ ปันยารชุน เป็นประธาน และคณะกรรมการสมัชชาปฏิรูป โดย มี นายแพทย์ประเวศ วะสี เป็นประธาน คณะกรรมการทั้งสองชุดล้วนแต่ประกอบด้วยนักวิชาการผู้เชี่ยวชาญ และเอ็นจีโอ คนสำคัญ ใช้เงินงบประมาณเป็นเงินเดือน เบี้ยประชุม และค่าใช้จ่ายอื่น ไปมากกว่าหกร้อยล้านบาท เพื่อได้ข้อเสนอปฏิรูปการเมืองมาเก็บไว้ในลิ้นชัก ต่อมา ในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ.2553 ก็ยังผ่านกฎหมายเพื่อก่อตั้งคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย ขึ้นมาอีกชุดหนึ่ง โดยมี นายคณิต ณ นคร เป็นประธาน ทำงานมาจนถึงขณะนี้ ก็ยังไม่เห็นมีการปฏิรูปกฎหมายหรือการศาลที่จะให้ความเป็นธรรมแก่ประชาชนได้มากขึ้นแต่อย่างใด

จึงอาจสรุปได้เลยว่า ข้ออ้างเรื่องการปฏิรูปการเมืองทั้งหมดที่มีการนำเสนออยู่โดยกลุ่มชนชั้นนำ ก็คือ กระบวนการที่จะมาลดทอนหรือทำลายประชาธิปไตยเสียงข้างมากของประชาชน เพราะกลุ่มบุคคลเหล่านี้มีข้อสมมตฐานที่ยึดถือกันว่า การเมืองแบบประชาธิปไตยที่มีการเลือกตั้งนั้น เป็นที่มาของนักการเมืองชั่ว และเป็นการเปิดทางให้คนทุจริตเหล่านี้มาปกครองประเทศ และเมื่อนักการเมืองเหล่านี้บริหารประเทศ ก็ใช้นโยบายประชานิยมหลอกลวงประชาชนที่โง่เขลา ให้เลือกพวกเขาอยู่ในอำนาจต่อไป กลายเป็นวงจรอุบาทย์ทางการเมืองไม่จบสิ้น จึงต้องปฏิรูปการเมืองเพื่อควบคุมนักการเมือง ควบคุมนโยบายประชานิยม และทำให้ประชาชนฉลาดที่จะไม่เชื่อถือนักการเมือง

ปัญหาคือ ข้อสมมตฐานนี้ผิด เพราะในระบอบประชาธิปไตยนั้น นักการเมืองกลายเป็นกลุ่มบุคคลที่ถูกจับตาและตรวจสอบมากที่สุดเสมอมา ดังนั้น นักการเมืองจึงไม่ได้เป็นแหล่งเดียวที่นำมาซึ่งความเลวร้ายอันจะต้องปฏิรูป สถาบันอื่นในสังคมก็มีส่วนช่วยค้ำจุนระบอบอันไม่เป็นธรรมทั้งสิ้น ตั้งแต่ ข้าราชการ ศาลและระบบกฎหมาย กองทัพ สื่อมวลชนกระแสหลัก องค์กรธุรกิจผูกขาด ชนชั้นเจ้าที่ดินใหญ่ เป็นต้น แต่สถาบันและกลุ่มทางสังคมเหล่านี้กลับถูกตรวจสอบน้อยมาก และบางองค์การ เช่น องค์กรตุลาการ ก็กลายเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ห้ามตรวจสอบ ต้องศรัทธาในความยุติธรรมที่จะได้รับแต่เพียงอย่างเดียว ความผิดพลาดประการต่อมาก็คือ ประชาชนไทยไม่ได้โง่เขลา แต่รู้จักปรับตัวเลือกรับประโยชน์จากประชาธิปไตย ประชาชนจึงมีความคุ้นเคยกับประชาธิปไตยยิ่งกว่าชนชั้นนำ

ยกตัวอย่างประเด็นในการปฏิรูปสังคมไทย เช่น การปฏิรูปในด้านความยุติธรรม ควรจะต้องครอบคลุมถึงการยกเลิกกฎหมายเผด็จการ คำสั่งคณะรัฐประหาร การใช้กฎหมายสองมาตรฐาน การลงโทษผู้กระทำผิดอันเกิดกว่าเหตุ และ การใช้กฎหมายขัดขวางกระบวนการประชาธิปไตย เป็นต้น หรือการปฏิรูปกองทัพ ต้องครอบคลุมถึงการลดขนาดของกองทัพ การยกเลิกเกณฑ์ทหาร และการยุติการแทรกแซงทางการเมืองของกองทัพ การปฏิรูปที่ปราศจากเรื่องเหล่านี้ ย่อมเป็นการปฏิรูปอันปราศจากความหมาย

ดังนั้น ถ้าจะถามว่า จะฝากความหวังได้หรือไม่ว่า สมาชิก สปช. เหล่านี้ ซึ่งประกอบด้วยคนดีมีความรู้ที่คัดเลือกแล้วโดยฝ่ายทหาร จะสามารถสร้างสิ่งที่ดีอันนำไปสู่การปฏิรูปประเทศอย่างรอบด้านได้ คำตอบคือเป็นไปได้ยากมาก ก็ในเมื่อ สปช.ชุดนี้รวบรวมเอาคนที่มีความคิดในด้านเดียวกันเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งทั้งหมดก็มาจากฝ่ายที่สนับสนุนรัฐประหาร ต่อต้านประชาธิปไตย มีทางแต่จะเป็นไปได้ว่า จะมีมาตรการใหม่ในการจำกัดสิทธิในทางการเมืองของประชาชนมากยิ่งขึ้น

ทั้งนี้เพราะกระบวนการชอง สปช.ทั้งหมดล้วนคับแคบ และมาผิดทิศทาง คำอธิบายของนายวิสุทธิ์ ไชยณรุณ ที่ว่า สภานี้ไม่มีค่าควรแก่การใส่ใจ ก็เป็นไปตามนั้น

 

 

เผยแพร่ครั้งแรกใน โลกวันนี้ วันสุข ฉบับที่ 485 วันที่ 25 ตุลาคม 2557
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท