เวทีถอดบทเรียน 10 ปี ตากใบ “คืนอากาศให้ตากใบ โอกาสกับสันติภาพ”

ประชาสังคมเพื่อสันติภาพปาตานี จัดเสวนา “ถอดบทเรียนตากใบสู่อนาคตปาตานี”ในงาน “รำลึก 10 ปี ตากใบ” ย้อนความหลังวันวิปโยค ผู้ชุมนุมถูกทำให้เป็นอื่นนำสู่ความรุนแรง เผยชุดเหตุการณ์สร้างอคติ ความเกลียดชัง ชี้บทเรียนของรัฐ ผลักดันให้มีศัตรูเพิ่ม ต้องให้อากาศตากใบ ให้โอกาสสันติภาพ ทางออกของความขัดแย้ง 

เมื่อเวลา 10.00 น. วันเสาร์ที่ 25 ตุลาคม 2557 เครือข่ายประชาสังคมเพื่อสันติภาพปาตานีจัดเสวนาหัวข้อ “ถอดบทเรียนตากใบสู่อนาคตปาตานี” เนื่องในงาน  “รำลึก 10 ปี ตากใบ” ณ หอประชุม สำนักงานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดปัตตานี ซึ่งตรงกับวันเกิดเหตุการณ์สลายการชุมนุมที่หน้าสถานีตำรวจภูธรตากใบ จ.นราธิวาส เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2547 ที่นำไปสู่การเสียชีวิตของประชาชนรวม 85 คน โดยมีนายสุไฮมิง ดุละสะ ประธานสหพันธ์นิสิตนักศึกษานักเรียนและเยาวชนปาตานี (PERMAS) เป็นผู้ดำเนินรายการ

3 เหตุการณ์ใหญ่ในเดือนตุลา

นายตูแวดานียา ตูแวแมแง ผู้อำนวยการสำนักปาตานีรายาเพื่อสันติภาพและการพัฒนา (LEMPAR) กล่าวว่า กล่าวว่า ในเดือนตุลาคมมีเหตุการณ์ใหญ่ๆ 3 เหตุการณ์ คือ เหตุการณ์ 14 ตุลา 2516 , 6 ตุลา 2519 และ 25 ตุลา 2547 แต่สิ่งที่แตกต่างกันคือ 2 เหตุการณ์แรกได้รับการยกย่องจากสังคมไทยว่าเป็นวีรชน แต่เหตุการณ์ตากใบไม่ได้รับการยกย่องเทียบเท่า 2 เหตุการณ์แรก แม้มีความสูญเสียเหมือนกัน อาจเป็นเพราะเป็นประเด็นอัตลักษณ์ หมายถึงไม่มีคนไทยพุทธหรือคนมลายูที่เป็นพุทธสูญเสียในเหตุการณ์ตากใบ

นายตูแวดานียา มองว่า บางส่วนอาจมองว่าผู้ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ตากใบโดยตรงคือผู้สูญเสียหรือญาติ แต่ตนมองว่าทุกคนได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ในครั้งนี้ และเสียงสะท้อนจากชาวบ้านก็คือแทนที่เราจะตั้งคำถามว่าอะไรทำให้เสียชีวิต เราน่าจะตั้งคำถามว่าใครทำให้เสียชีวิตมากกว่า ประเด็นต่อมาเรื่องหลักมนุษยธรรม เมื่อมองไปยังเหตุการณ์ตากใบที่เกิดขึ้น ภาพมันเหมือนกับเจ้าหน้าที่เจตนาที่จะให้เกิดเช่นนั้น แต่ลึกๆ เราไม่อาจทราบได้ คำถามก็คือ อะไรที่ทำให้ฝ่ายนโยบายเห็นด้วยกับฝ่ายปฏิบัติการ

บริบทของปี 2547 ถูกทำให้มองเป็นอื่น

นายตูแวดานียา กล่าวต่อไปว่า เมื่อพูดถึงเหตุการณ์ตากใบ ต้องย้อนไปดูเหตุการณ์ในช่วงต้นปี 2547 ที่เป็นจุดเริ่มต้นของสงครามจรยุทธ์ครั้งใหม่ หลังจากการปล้นปืนก็คือการหายตัวไปของทนายสมชาย นีละไพจิต ต่อมาเป็นเหตุการณ์กรือเซะ จากนั้นจึงมีเหตุการณ์ 25 ตุลา จึงไม่แปลกที่เจ้าหน้าที่จะมองว่าไม่ใช่กลุ่มคนปกติที่มาร่วมชุมนุม เพราะส่วนหนึ่งไม่มีแกนนำที่ชัดเจน

“ถ้าวิเคราะห์โดยทั่วไป ประชาชนที่เข้าร่วมการชุมนุมไปด้วยความบริสุทธิ์ใจ แต่ฝ่ายความมั่นคงอาจจะวิเคราะห์ไปอีกแบบ และมีการสื่อสารออกไปสู่สาธารณะว่าการชุมนุมถูกจัดตั้งขึ้นมา ซึ่งการสื่อสารด้านเดียวสามารถครอบงำผู้คนได้” นายตูแวดานียา กล่าว

นายตูแวดานียา มองว่า ประชาชนที่ไปร่วมการชุมนุมก็เพื่อสร้างพื้นที่ปลอดภัย และใช้รูปแบบสันติวิธีในการเคลื่อนไหวทางการเมือง แต่การที่ประชาชนขาดประสบการณ์ ไม่มีแกนนำที่ชัดเจน รวมไปถึงไม่มีการสื่อสารออกสู่สาธารณะที่ชัดเจน ไม่มีเครือข่ายกับองค์อื่นๆ ที่เห็นด้วยกับประเด็นความไม่เป็นธรรม ประชาชนจึงเคลื่อนไหวอย่างลำพังเพื่อที่จะสร้างหลักประกันความยุติธรรม หลักประกันสิทธิมนุษยชนและมนุษยธรรมของพื้นที่ความปลอดภัยและพื้นที่ทางการเมือง นี่คือเจตนาของพี่น้องตากใบที่เคลื่อนไหวทางการเมือง แต่ผลลัพธ์ไม่ได้ตามที่ตั้งไว้ ณ เวลานั้นภาวะวิสัยของฝ่ายความมั่นคงมองว่า ไม่ใช่และให้ไม่ได้

เวทีที่ขาด 3 คนที่สำคัญ

นายรอมฎอน ปันจอร์ บรรณาธิการศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ (DSW) กล่าวว่า ในโอกาสครบรอบ 10 ปี เหตุการณ์ตากใบ เวทีนี้ขาดคนไป 3 คนที่น่าสนใจ ก็คือ นักกฎหมาย เพราะเรื่องตากใบโยงไปถึงกระบวนการยุติธรรมและคดีความ อีกคนคือทหาร เพราะจะได้รู้ว่ากองทัพและรัฐไทยเรียนรู้บทเรียนจากตากใบอย่างไร และคนที่สามก็คือตัวแทนจาก BRN เพราะเขาเป็นตัวแสดงที่สำคัญมากในสงครามหรือในความขัดแย้งครั้งนี้

นายรอมฎอน กล่าวต่อไปว่า แม้ข้อมูลเรื่องตากใบในอินเตอร์เน็ตที่มีจะต่างหรือไม่ต่างกัน แต่ต่อให้อ่านข้อมูลเดียวกันความเข้าใจของคนต่างกันในแง่การทำงานด้านความคิด แต่คนมักจะเลือกอธิบายความเป็นจริงที่อยู่บนจุดยืนทางการเมืองบางอย่างกับมุมมองที่แตกต่างกัน

ชุดเหตุการณ์สร้างอคติ

นายรอมฎอน กล่าวอีกว่า เมื่อย้อนไปยังบริบทของปี 2547 ดังที่ตูแวดานียาย้อนให้ฟังนั้นยังขาดเหตุการณ์สำคัญอีก 2 ชุด คือ เหตุการณ์เกิดระเบิดที่เยอะมาก สะเก็ตระเบิดไม่อาจถามคนได้ว่าคุณเป็นใคร มาจากไหน การระเบิดจึงมีนัยยะทางการเมืองมาก

“อีกประการคือ วันที่ 22 มกราคม มีการสังหารพระสงฆ์เป็นครั้งแรก ซึ่งเปลี่ยนหน้าการต่อสู้ในปาตานีในรอบหลายสิบปีที่ผ่านมา เพราะพระสงฆ์ไม่ใช่คนธรรมดาทั่วไป แต่เป็นสัญลักษณ์ทางศาสนาหรือสัญลักษณ์ทางความดีของผู้คนอีกจำนวนมาก นั่นเป็นการเกิดขึ้นของกระแสอคติเกลียดชังเพิ่มมากขึ้นในสังคมไทย”

ตอกย้ำความทรงจำ 2 ด้าน

นายรอมฎอน มองว่า ถ้าตีความแบบง่ายๆ ตากใบมีจุดเน้นอยู่ 2 ชุดหลักๆ ชุดแรกคือการแทรกแซงของมือที่สามมายุย่งปลูกปั่นและก่อให้เกิดความรุนแรง วันดีคืนดีไม่มีใครเคยคิดว่าจะมีคนมาร่วมชุมนุมที่ตากใบเป็นพันๆ คน และไม่ว่าความจริงจะเป็นอย่างไร ความทรงจำในลักษณะนี้ยังมีอยู่เพราะเหตุการณ์ก่อนหน้านั้นมันมีอะไรมากมาย

อีกด้านหนึ่งมีความทรงจำในเรื่องประวัติศาสตร์บาดแผลในระยะใกล้ด้วย ก็คือก่อนหน้านี้ประวัติศาสตร์ปาตานีเป็นประวัติศาสตร์บาดแผลของการต่อสู้ ช่วงชิงอำนาจกันระหว่างปาตานีกับสยาม และมีเรื่องราวเกี่ยวกับสงคราม ทารุณกรรมเยอะแยะมากมาย เหตุการณ์ตากใบมันทำให้ประวัติศาสตร์เหล่านี้ใกล้ชิดตัวโดยที่ไม่ต้องย้อนไปร้อยๆ ปี และเป็นการยืนยันชุดความคิดอีกชุดหนึ่งว่า รัฐไทยไม่สามารถปกครองพื้นที่แห่งนี้ด้วยความยุติธรรมได้

บทเรียนของรัฐ คือผลักดันให้มีศัตรูเพิ่ม

นายรอมฎอน สะท้อนว่า เมื่อพูดถึงบทเรียน ในมุมของรัฐจากที่ได้ไปคุยมาปรากฏว่าเขาหวาดกลัวตากใบ 2 มาก เพราะไม่รู้จะรับมือกับการชุมนุมหรือการเคลื่อนไหวในลักษณะนี้อย่างไร ซึ่งในช่วงตากใบนั้นต้องเผชิญกับ 2 เหตุ คือ เหตุซึ่งหน้าและการขนย้าย แต่ประเด็นที่ยากคือการตายภายในการดูแลของเจ้าหน้าที่รัฐ อันนี้เป็นสิ่งที่เลวร้ายมาก

“รัฐเองก็ประเมินแล้วว่าไม่น่าจะทำอย่างนั้น เพราะสิ่งที่ตามก็คือก่อกำเนิดนักรบรุ่นใหม่ที่ได้รับแรงบันดารใจและมีอุดมการณ์ร่วม คล้ายกับ 6 ตุลา 19 ที่กลายเป็นรัฐไปผลักดันให้ศัตรูของรัฐเพิ่มมากขึ้น ดังนั้นเราไม่สามารถแยกเหตุการณ์ต่างๆ ออกจากกัน แต่เราต้องมองมันเชื่อมโยงอย่างเป็นระบบ และเราจะเห็นว่า การเห็นเป็นระบบในลักษณะนี้สำคัญในทางการเมืองอย่างไร”

ความยุติธรรมระยะเปลี่ยนผ่าน

นายรอมฎอน กล่าวว่า ประเด็นต่อมาคือเรื่องความยุติธรรม กล่าวคือไม่มีความยุติธรรมเป็นดุ้นๆ ที่เราต้องการเพราะความยุติธรรมก็เป็นการเมืองอย่างหนึ่ง และในภาวะที่มีการต่อสู้ด้วยกำลังอาวุธมันทำให้ความยุติธรรมทำงานไม่ได้ นี่คือข้อสรุปที่น่าสนใจมาก ข้อสรุปนี้ได้ยินมาจากนักสิทธิมนุษยชนหรือนักกฎหมายเอง

“ความยุติธรรมไม่มีสูตรสำเร็จ โดยเฉพาะความยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่าน อย่างกรณีราวันดาที่มีการฆ่ากันเป็นแสนๆ คน จะนำคนผิดไปขึ้นศาลทั้งหมดคงไม่ได้ แต่จะต้องมีกระบวนการเพื่อให้ผู้เสียหายรู้สึกว่า ได้รับความเป็นธรรม อาจจะรวมถึงการเยียวยาด้วย”

นายรอมฎอน กล่าว่าต่อว่า จะทำอย่างไรให้ตากใบเป็นเรื่องราวสาธารณะ ไม่ใช่แค่ประชาชนแต่รวมถึงภาครัฐด้วย เพื่อจะได้เข้าถึงกระบวนการสันติภาพที่เรียกว่า การแสวงหาทางออกในทางการเมือง เวทีวันนี้ถือว่ารัฐใจกว้างมากที่เปิดโอกาสให้มีการจัดได้ ในขณะที่ภาคอื่นๆ อาจมีปัญหาหากจัดกิจกรรมในทางการเมืองในลักษณะนี้

อากาศตากใบ-โอกาสสันติภาพ

“หลังเหตุการณ์ตากใบก็มีการชุมนุมเกิดขึ้นมากมาย รัฐเองก็พยายามที่จะรับมือเพื่อไม่ให้บานปลาย เขามีการพัฒนาเหมือนกัน พวกเราบอกว่าออกซิเจนฆ่าคนที่ตากใบ แต่เราอย่าให้ออกซิเจนฆ่าพวกเราด้วย กล่าวคืออย่ามองเรื่องตากใบหรือความรุนแรงโดยรัฐ หรือโดย BRN เอง มันจำกัดการเคลื่อนไหวทางการเมือง มันทำให้เราต้องระมัดระวัง เราต้องสร้างความเป็นไปได้ในทางการเมือง”

นายรอมฎอน เสนอว่า เราต้องให้อากาศตากใบ และให้โอกาสกับกระบวนการสันติภาพในการเปิดพื้นที่ในการที่จะถกเถียงอภิปราย เพราะมันมีแค่วิธีการนี้เท่านั้น ที่มันจะทำให้อำนาจต่อรองของคนที่ไม่ใช้อาวุธ ไม่ว่าจะฝ่ายใดมีอำนาจต่อรองเพิ่มขึ้น เพราะหากว่าคุณยังอนุญาตให้ผู้ที่ใช้กำลังทั้งสองฝ่ายเป็นใหญ่ ความตายก็จะอยู่ที่พวกเราเหมือนเดิม เพราะฉะนั้นคุณจะต้องยิ่งให้อากาศมากขึ้น ให้โอกาสมากขึ้น

“เราต้องทำให้ตากใบมีชีวิตชีวาให้คนมีการอภิปรายมีการถกเถียง เราเจ็บได้ แต่เราต้องเปลี่ยนจากโดนกระทำมาเป็นผู้กำหนดกฎเกณฑ์ มาเคลื่อนไหวด้วย เพราะอากาศมันทำงานได้ดีในสิ่งที่มีชิวิต เราจึงต้องทำให้คนเคลื่อนไหวได้อย่างมีอิสระ”

วีรชนในสายตาประชาชน

นางชลิดา ทาเจริญศักดิ์ ผู้อำนวยการมูลนิธิศักยภาพชุมชน กล่าวว่า เมื่อพูดถึงเดือนตุลาเรามักจะนึกถึง 3 เหตุการณ์ใหญ่ๆ ดังที่หลายคนกล่าวมาแล้ว แต่ทั้ง 3 เหตุการณ์มีความแตกต่างกัน เหตุการณ์ 14 ตุลา 16 ถือเป็นวันมหาปิติ เพราะคนเรือนแสนออกมาชุมนุมบนท้องถนน และประชาชนเป็นฝ่ายชนะจนมีการร่างรัฐธรรมนูญหลังจากนั้น ในขณะที่เหตุการณ์ 6 ตุลา 19 ถือเป็นวันมหาวิปโยค เพราะหลังจากขบวนการนักศึกษาเติบโตในเรื่องประชาธิปไตย รัฐกังวลในเรื่องความเข้มแข็งของนักศึกษา และหลังจากการชุมนุมประท้วงการเดินทางกลับประเทศของจอมพล ถนอม กิตติขจร อดีตนายกรัฐมนตรี นำไปสู่การล้อมปราบนักศึกษาอย่างโหดเหี้ยม

นางชลิดา สะท้อนว่า ทั้ง 2 เหตุการณ์ข้างต้น ผู้ชุมนุมถูกเรียกว่าเป็นวีรชนจากฝ่ายประชาชน แต่ไม่ได้เป็นวีรชนในสายตาของรัฐ ดังนั้นกรณีตากใบหากจะเรียกว่าเป็นวีรชนก็เรียกไปเลย เพราะคงไม่ได้เป็นวีรชนในสายตารัฐเช่นเดียวกัน

ยังไม่มีทางออกที่ดีสำหรับตากใบ

นางชลิดา กล่าวว่า กรณีตากใบคล้ายกับเหตุการณ์ 6 ตุลา 19 เพราะหลังจากเหตุการณ์นั้น มีนักศึกษาหนีเข้าป่าเป็นจำนวนมาก รัฐสูญเสียกองกำลังและงบมหาศาลในการใช้ต่อสู้กับพรรคคอมมิวนิสต์ซึ่งมีความเข้มแข็งมากที่สุดในช่วงนั้น ก่อนที่จะมีนโยบาย 66/23 มีการนิรโทษกรรม รวมไปถึงความแตกแยกภายในพรรคคอมมิวนิสต์เอง ถือเป็นทางออกของปัญหาในครั้งนั้น หากแต่หลังเหตุการณ์ตากใบยังไม่มีทางออกที่ดีจนถึงปัจจุบัน

“กรณีตากใบหากจะพูดให้ถึงที่สุดแล้ว ควรจะหาว่าใครเป็นคนสั่งการ กล้าเข้ากระบวนการยุติธรรมหรือไม่ เพราะเงินซื้อความยุติธรรมไม่ได้” นางชลิดากล่าว

นางชลิดา กล่าวต่อไปว่า การจัดเวทีในลักษณะนี้ไม่ใช่การต่อต้านรัฐ แต่เป็นการศึกษาเพื่อสร้างความเข้าใจ และลบล้างทัศนคติที่ไม่ถูกต้อง ที่สำคัญพื้นที่เสวนาควรจะเป็นพื้นที่ที่ปลอดอาวุธ และเมื่อเสวนาเสร็จแล้วกลับบ้านไปไม่มีผู้ติดตามภายหลัง เจ้าหน้าที่ควรเคารพคนทำงานด้านสันติภาพ

นางชลิดา เสนอว่า รัฐควรปล่อยนักโทษการเมือง หรือนักโทษทางความคิด ผู้ที่เห็นต่างจากรัฐ อย่างกรณีอันวาร์ เพราะเขาไม่เคยก่อเหตุความรุนแรงใดๆ เลย และรัฐควรปรับทัศนคติและต้องมีความจริงใจต่อการแก้ไขปัญหา เพราะพวกเขาไม่ใช่ผู้ก่อการร้ายแต่เป้นผู้ที่มีความคิดเห็นต่างจากรัฐในทางการเมือง

“ชลิดา”เสนอให้ทำประชามติ

นางชลิดา เสนอต่อไปว่า รัฐจะต้องจัดการเรื่องการทำประชามติของประชาชน จะดำเนินก่อนการพูดคุยเพื่อสันติสุขหรือหลังจากนั้นก็ตาม เพราะเวทีเสวนาบีจารอปาตานี ที่ผ่านมา ประชาชนมีความสนใจประเด็นการทำประชามติเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะกรณีสก็อตแลนด์ เพราะในความเป็นจริงแล้ว ประชามติก็คือการแสดงทัศนะของประชาชนนั้นเอง

นางชลิดา กล่าวว่า ประเด็นสุดท้าย ประชาชนจะต้องเป็นส่วนกลาง กระบวนการสร้างสันติภาพจะต้องให้ประชาชนมีส่วนร่วมและมีบทบาทให้มากที่สุด นอกจากนั้นแล้วประชาชนจะต้องมีองค์ความรู้และมีความกล้าหาญ เพื่อที่จะปกป้องผลประโยนช์มหาศาลในพื้นที่แห่งนี้

ย้อนความหลังวันวิปโยค

นายอัซฮัร ลูเละ ผู้สื่อข่าว สถานีวิทยุมีเดียสลาตัน (MEDIA SELATAN) ซึ่งอยู่ในเหตุการณ์ตากใบด้วย เล่าว่า ในวันนั้นตัวเขาและเพื่อนๆ ได้ไปร่วมชุมนุมด้วย ด้วยความรู้สึกว่าไม่ได้ทำผิดกฎหมาย แม้มีความกลัวอยู่บ้าง โดยไปชุมนุมเพื่อเรียกร้องความยุติธรรมให้ชาวบ้านที่ถูกจับกุมข้อหาให้อาวุธของรัฐแก่คนร้าย ขณะชุมนุมได้ยินเสียงปืนดังไม่ขาดสาย จากนั้นช่วงประมาณบ่ายสามกระสุนปืนได้พุ่งมาทางผู้ชุมนุม ทำให้มีผู้ชุมนุมบาดเจ็บล้มตาย

นายอัซฮัร เล่าต่อไปว่า ส่วนคนที่เหลือถูกจับมัดมือไขว้หลังด้วยเสื้อ เข็มขัดหรือเชือก แล้วถูกเอาขึ้นไปซ้อนบนรถจีเอ็มซีของเจ้าหน้าที่ นอนคว่ำหน้าซ้อนทับกันถึง 4 ชั้น ถูกนำตัวไปที่ค่ายอิงคยุทธ อ.หนองจิก จ.ปัตตานี ถือเป็นการเดินทางที่ยาวนานมาก ทำให้มีคนเสียชีวิตกว่า 80 คน ซึ่งคดีนี้ศาลชี้ว่าขาดอากาศหายใจ และมีคนบาดเจ็บจำนวนมาก ถือเป็นวันวิปโยค ที่อาจเกิดจากความระแว้งที่มีต่อประชาชนจนเกินเหตุ

คือบทเรียนราคาแพง

“ผมไม่อยากเห็นการนองเลือดเหมือนเหตุการณ์ในวันนั้นอีก เพราะนี่คือบทเรียนที่ราคาแพง ที่เกิดจากความอคติ หรือการมองคนอื่นในแง่ลบ สันติภาพไม่อาจเกิดขึ้นได้ ถ้าเรายังมีอคติต่อกัน ดังนั้นผมมองว่าผู้ที่มีอำนาจจะต้องคุยกัน” นายอัซฮัร กล่าว

นางสาวรุซดา สะเด็ง อุปนายกสมาคมสตรีจังหวัดชายแดนภาคใต้ (PERWANI) เล่าว่า ในช่วงเกิดเหตุ ตนดูโทรทัศน์อยู่ที่บ้าน และเกิดคำถามขึ้นมาว่า ในช่วงเดือนถือศีลอดขณะนั้น คนไปทำอะไรเป็นพันๆ คนทั้งที่หิวและกระหาย ตอนนั้นยังไม่เข้าใจเรื่องสิทธิความเป็นพลเมือง สิทธิมนุษยชน และสิทธิอื่นๆ หากเข้าใจตั้งแต่ตอนนั้น ตนก็คิดว่าคงจะไปร่วมชุมนุมกับเขาด้วย และปัจจุบันมีข้อมูลเกี่ยวกับตากใบมากมายในอินเตอร์เน็ต ซึ่งเมื่อเราค้นก็จะพบข้อมูลที่ไม่ต่างกัน

นางรุซดา มองว่า ไม่แปลกที่จะมีคนคิดว่าการชุมมีการจัดตั้งหรือเปล่า เพราะมีคนเข้าร่วมจำนวนมาก ส่วนตัวมองว่าประชาชนตื่นตัวกับการกดขี่ที่เกิดขึ้นในพื้นที่ แต่เพียงแค่มีข้อมูลว่ามีแกนนำประมาณ 100 คน ปะปนกับผู้ชุมนุม เจ้าหน้าจึงใช้เหตุผลนี้ในการสลายการชุมนุม จนมีผู้เสียชีวิตทันที 6 คน เสียชีวิตที่โรงพยาบาลอีก 1 คน ที่เหลือถูกจับซ้อนทับบนรถ 5 ชั่วโมง ในระยะทาง 150 กิโลเมตร จนมีผู้สียชีวิตที่บางรายงานระบุว่า 89 คน และบาดเจ็บจำนวนมาก

เยียวยากับความยุติธรรมคนละประเด็นกัน

นางสาวรุซดา กล่าวว่า การกระทำข้างต้นถือเป็นการกระทำที่เกินกว่าเหตุหรือประมาท และไม่เคารพในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ มากไปกว่านั้นมีชุมชุม 58 คนถูกฟ้องก่อนที่จะถอนฟ้องในภายหลัง และมีการเยียวยาด้วยเงินรวมกว่า 700 ล้านบาท การเยียวยาคือการชดเชยในสิ่งที่มีอยู่และถูกทำให้หายไป นั่นคือ ชีวิตของผู้เป็นพ่อ เป็นพี่ เป็นน้อง เป็นญาติ รวมถึงมิตรสหาย จากที่มีชีวิตอยู่ถูกทำให้หายไปจากโลกนี้ ถึงต้องเยียวยามากกว่า 700 ล้านบาทก็จำเป็นต้องทำ แต่ถึงกระนั้นคดีความก็ต้องดำเนินต่อไป เพราะนี่คือคดีอาญา มันคนละประเด็นกับการเยียวยา
ทหารห้ามแสดงละครตากใบ ต่อรองได้แค่ชูป้าย

จากนั้นในงานมีการถ่ายทอดความรู้สึกผ่านบทกวี โดยนักกวี และนักเขียนในพื้นที่ ส่วนในช่วงมีการจัดกิจกรรมภาคสนาม : Flash Mob & Action หน้ามัสยิดกลางจังหวัดปัตตานีที่อยู่ใกล้สถานที่จัดเสวนา แต่ปรากฏว่า มีนายทหารยศ พ.อ.คนหนึ่งจากหหน่วยเฉพาะกิจปัตตานีได้มาขอให้หยุดกิจกรรมเคลื่อนไหวนี้ โดยระบุว่าเป็นคำสั่งจากผู้บังคับบัญชา แต่กลุ่มนักศึกษาที่มาจัดกิจกรรมได้ขอต่อรองเพราะเป็นการแสดงออกด้วยสันติวิธี พ.อ.จึงอนุญให้ได้แค่การชูป้ายเท่านั้น ทั้งนี้ในช่วงเวลาดังกล่าวจะมีคณะบิ๊กไบค์จากประเทศมาเลเซียมาเยี่ยมชมมัสยิดกลางปัตตานีด้วย
 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท