Skip to main content
sharethis
 

 

28 ต.ค. 2557 จากกรณีที่กรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงานเปิดเผยว่าได้ประชุมร่วมกับผู้แทนบริษัทนายจ้างสัญชาติไทยและผู้ประสานงานตัวแทนของบริษัทผู้รับซื้อผลไม้ป่า เช่น บลูเบอร์รี เบอร์รีในประเทศฟินแลนด์และสวีเดน รวม 12 บริษัท ซึ่งพบว่ามีแรงงานไทยเดินทางไปเก็บผลไม้ป่าที่ประเทศฟินแลนด์และสวีเดนในช่วงเดือน ก.ค.- ก.ย. 2557 รวม 3,300 คน ซึ่งลดจากปีที่ผ่านมา 4,000 คน เนื่องจากกรมการจัดหางานได้ร้องขอให้รัฐบาลสวีเดน และฟินแลนด์ ลดจำนวนแรงงานไทยเพื่อให้มีจำนวนผู้เก็บผลไม้พอดีกับปริมาณผลไม้ และเพื่อให้แรงงานมีรายได้จากการเก็บผลไม้มากยิ่งขึ้น โดยแรงงานไทยมีรายได้หลังจากหักค่าใช้จ่ายแล้วเป็นเงินคนละ 50,000 - 200,000 บาท และในปีหน้า (2558) นั้นแนวทางการจัดส่งแรงงานไทยไปเก็บผลไม้ป่าที่ประเทศฟินแลนด์และสวีเดน คาดว่าจะจัดส่งไปจำนวน 3,300 คนเท่ากับปีนี้ โดยจะเชิญผู้เกี่ยวข้องมาประชุมปรึกษาหารือและวางแนวทางอีกครั้งภายในเดือนธันวาคมนี้

พัชณีย์ คําหนัก นักกิจกรรมแรงงาน โครงการรณรงค์เพื่อแรงงานไทย ระบุว่ากรณีการจัดส่งคนงานไปทำงานเก็บผลไม้ป่าที่สวีเดนและฟินแลนด์นี้จะต้องมีการเปิดเผยข้อมูลต่างๆ ให้คนงานก่อนไม่ว่าจะเป็นเรื่องค่าใช้จ่ายสถานะการจ้างงาน รวมทั้งตั้งคำถามกับกระทรวงแรงงานว่ามีวิธีการรับมือหรือไม่หากคนงานกลับมาแล้วพบว่ารายได้ไม่คุ้มค่ากับที่ต้องเสียค่าใช้จ่ายไปทำงานต่างประเทศ

"กระทรวงต้องบอกคนงานให้ครบถ้วนว่า คนงานต้องเสียค่าใช้จ่ายอะไรบ้างในกรณีสวีเดนและฟินแลนด์ และสถานะของคนงานคืออะไร เป็นลูกจ้างนายจ้างไทย หรือประเภทใด" พัชณีย์กล่าว

พัชณีย์ยังระบุต่อไปว่าถ้าคนงานไปในสถานะลูกจ้าง ในกรณีสวีเดน ต้องเสียค่านายหน้าหรือไม่ และตอนนี้ยังต้องเสียให้แก่บริษัทที่จัดส่งไปไหม พอไปถึงคนงานยังต้องเสียค่าใช้จ่ายพวกค่าอาหาร ค่าที่พัก ซึ่งพวกเขาจำต้องแบกภาระเหมือนเดิมใช่หรือไม่ ถ้ายังเป็นเช่นนั้น ก็ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง ปัญหาก็สามารถเกิดขึ้นซ้ำๆ

"วิธีรับมือของกระทรวงแรงงานคืออะไร ต้องให้คนงานไทยจัดการปัญหาเอง กลับมาร้องเรียนในไทย แล้วนายจ้างสวีเดนก็ลอยตัว เหมือนกรณีที่ผ่านมาหรือไม่ จึงขอฝากบอกคนงานไทยที่ไปเก็บผลไม้ป่าว่า กรุณาศึกษาบทเรียนเก่าๆ เพื่อเตรียมรับมือ และติดต่อสหภาพแรงงานคอมมูนที่สวีเดนและกระทรวงแรงงานที่ฟินแลนด์ จัดการปัญหาที่ประเทศปลายทาง เพื่อไม่ให้ถูกโกง ถูกเอารัดเอาเปรียบและเรียกร้องให้เจ้าหน้าที่แรงงานประเทศปลายทางเข้ามาตรวจสอบสภาพการทำงานด้วย" พัชณีย์กล่าว

อนึ่งจากข้อมูลสถานการณ์แรงงานที่ไทยไปทำงานต่างประเทศ ว่า ตั้งแต่เดือน ม.ค. -ก.ย. 2557 ของกรมการจัดหางานพบว่ามีแรงงานไทยที่เดินทางไปทำงานต่างประเทศ โดยผ่านระบบรัฐต่อรัฐ และบริษัทจัดหางานรวมแล้วเกือบ 1 แสนคน โดยมีประเทศเดินทางไปทำงานมากที่สุด 5 อันดับแรกได้แก่ ไต้หวัน 27,909 คน เกาหลีใต้ 7,213 คน สิงคโปร์ 6,764 คน ญี่ปุ่น 5,922 คน และ อิสราเอล 5,418 คน

โดยแรงงานไทยที่ไปทำงานอิสราเอล มีรายได้มากที่สุด เฉลี่ยอยู่ที่เดือนละ 40,000 บาท และแรงงานไทยในไต้หวัน มีรายได้ต่ำที่สุด เฉลี่ยเดือนละ 18,000 บาท อย่างไรก็ตาม โดยภาพรวมแรงงานไทยส่งเงินกลับมาไทยโดยผ่านระบบธนาคารกว่า 88,000 ล้านบาท และนอกระบบธนาคารกว่า 20,000 ล้านบาท รวมแล้วกว่า 1 แสนล้านบาท

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net