สถานการณ์แรงงานประจำสัปดาห์ 22 - 28 ตุลาคม 2557

ก.แรงงานเล็งตั้งศูนย์ช่วยเหลือคนตกงานทุกจังหวัด
 
(22 ต.ค)  พล.อ.สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน (รมว.รง.) กล่าวภายหลังมอบนโยบายแก่ผู้บริหารและข้าราชการสำนักงานปลัดกระทรวงแรงงาน (สป.รง.) ว่า ได้ขอให้ทุกคนร่วมมือกันส่งเสริมให้คนไทยมีงานทำโดยมีแนวคิดจะจัดตั้งศูนย์ช่วยเหลือผู้ว่างงานขึ้นในทุกจังหวัด เมื่อผู้ว่างงานมาแจ้งว่าต้องการงานทำศูนย์นี้ก็จะทำหน้าที่จัดตำแหน่งงานรองรับโดยได้มอบหมายให้นายนคร ศิลปอาชา ปลัดกระทรวงแรงงานไปคิดวางรูปแบบของศูนย์ดังกล่าวและเสนอต่อรัฐมนตรี ทั้งนี้ตนยังได้ขอให้ร่วมกันดูแลในการจัดระเบียบแรงงานต่างด้าว ซึ่งเป้าหมายในอนาคตแรงงานต่างด้าวที่เข้ามาอย่างผิดกฎหมายจะทำให้ค่อยๆ ลดลงจนหมดไปในที่สุด และส่งเสริมการนำเข้าแรงงานต่างด้าวอย่างถูกกฎหมายโดยจะพยายามทำให้เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนเป็นร้อยเปอร์เซ็นต์โดยมีการนำเข้าแรงงานต่างด้าวเท่าที่จำเป็น
        
นอกจากนี้ จะต้องดูแลแรงงานไทยที่ไปทำงานต่างประเทศให้เป็นแรงงานที่มีฝีมือและมีคุณภาพ และไม่ให้มีการถูกหลอกลวง รวมทั้งดูแลแรงงานไทยในประเทศให้ได้รับค่าจ้างและสวัสดิการที่เหมาะสมและเป็นธรรม และมีการพัฒนาฝีมือแรงงาน
 
(ASTV ผู้จัดการออนไลน์, 22-10-2557)
 
'เครือข่ายแรงงานข้ามชาติ' ระดมเงินช่วย 2 พม่าสู้คดีเกาะเต่า
 
เมื่อวันที่ 23 ต.ค. มีรายงานความคืบหน้าในคดีฆาตกรรม 2 นักท่องเที่ยวบนเกาะเต่า ล่าสุด นายสุรพงษ์ กองจันทึก ประธานอนุกรรมการสิทธิมนุษยชนด้านชนชาติฯ สภาทนายความ กล่าวถึงการเข้าให้ความช่วยเหลือ 2 ผู้ต้องหาชาวเมียนมาร์ ว่า ทางทีมทนายกำลังหารือถึงการต่อสู้ทางข้อกฎหมายและประเด็นอื่นๆ ที่อาจจะเกี่ยวข้องกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนของผู้ต้องหา ซึ่งในชั้นนี้มีการแบ่งหน้าที่กันทำงาน ทั้งทางส่วนกลางและในพื้นที่ โดยมีตัวแทนองค์กรด้านสิทธิมนุษยชน และเจ้าหน้าที่สถานทูตเมียนมาร์ ให้ความร่วมมือ
 
ส่วนความเป็นอยู่ของพ่อแม่และญาติของผู้ต้องหาชาวเมียนมาร์ทั้ง 2 คนนั้น อยู่ในความดูแลของเจ้าหน้าที่สถานทูตเมียนมาร์ และจะเดินทางไปเยี่ยมผู้ต้องหาในวันพรุ่งนี้ (24 ต.ค.) พร้อมกับทีมสภาทนายความและตัวแทนองค์กรด้านสิทธิมนุษยชน ที่จะเดินทางลงไปในพื้นที่พร้อมกัน โดยจะไปถึงเรือนจำเกาะสมุย ตอนเวลา 09.00 น.
 
นอกจากนี้ ยังมีรายงานว่า ทางเครือข่ายเพื่อสิทธิแรงงานข้ามชาติ หรือ MWRN ได้สร้างกองทุนออนไลน์ ระดมทุนช่วยเหลือเพื่อสนับสนุนการต่อสู้คดีของ 2 ผู้ต้องหารายนี้ โดยเชิญชวนบุคคลทั่วไปร่วมบริจาคผ่านเว็บไซต์ "ยูแคริง ดอทคอม" ซึ่งปรากฏว่ามีชาวต่างชาติได้ระดมเงินทุนช่วยเหลือแล้วจำนวนหนึ่ง
 
(ไทยรัฐ, 23-10-2557)
 
ลาว-กัมพูชาเริ่มดูดกลับ อุตสาหกรรมขาดแคลนแรงงานกว่า 3 แสนคน
 
นายพงศา แสนใจงาม กรรมการสายแรงงาน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยถึงสถานการณ์แรงงานไทยในขณะนี้ว่า ขณะนี้ภาคอุตสาหกรรมประสบปัญหาการขาดแคลนแรงงาน 310,000 คน แต่ถ้ารวมกับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีต่างๆ ที่ไม่ได้แจ้งตัวเลขเข้ามา ก็น่าจะมีจำนวนสูงกว่านี้ ซึ่งก็เป็นปัญหากับภาคอุตสาหกรรมพอสมควร และในช่วงต้นปีการขาดแคลนแรงงานจะรุนแรงมากที่สุด เพราะแรงงานส่วนหนึ่งจะกลับต่างจังหวัดไปช่วยงานในภาคการเกษตร โดยอุตสาหกรรมที่ขาดแคลนแรงงานมากที่สุด จะเป็นอุตสาหกรรมอาหาร เครื่องนุ่งห่ม และสิ่งทอ
 
สำหรับผลกระทบจากการที่ประเทศเพื่อนบ้านมีเศรษฐกิจขยายตัวจะทำให้ดึงแรงงานกลับประเทศ ตนมองว่าขณะนี้การดึงแรงงานกลับประเทศยังไม่รุนแรง โดยเฉพาะประเทศพม่า ที่แม้จะเปิดประเทศเร่งดึงดูดการลงทุน แต่ก็ต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่ง ในการสร้างโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ เช่น โรงไฟฟ้า น้ำประปา และระบบคมนาคม ที่เพียงพอต่อการขยายตัวทางธุรกิจ แต่ยอมรับว่ามีความน่าเป็นห่วงต่อการดึงแรงงานกลับในอนาคต ส่วนแรงงานในฝั่งกัมพูชาและประเทศลาว ก็เริ่มเห็นถึงผลกระทบต่อ
 
การดึงแรงงานกลับประเทศ เนื่องมาจากต่างชาติ รวมทั้งผู้ประกอบการไทยที่เข้าไปตั้งนิคมอุตสาหกรรม และย้ายฐานการผลิตเข้าไปตั้งโรงงานเป็นจำนวนมาก ได้เข้ามาแย่งแรงงานที่มีประสบการณ์ในประเทศไทยกลับไปทำงาน
 
นายพงศากล่าวว่า แม้ว่าจะมีปัญหาขาดแคลน แรงงาน แต่ก็คาดว่าภาพรวมในปี 2558 นายจ้างคงจะไม่มีการปรับขึ้นค่าแรงในทุกระดับ เพราะผลประกอบการยังไม่ฟื้นตัว และมีผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ที่ปิดกิจการลงเยอะพอสมควร ทำให้บรรเทาปัญหาการขาดแคลนแรงงานในส่วนหนึ่ง ส่วนการจ่ายโบนัสคาดว่าจะอยู่ในอัตราเท่ากับปีที่ผ่านมา เพราะถ้าไม่จ่ายในส่วนนี้ ก็อาจจะเกิดปัญหาแรงงานได้ ขณะที่แรงงานในพื้นที่ที่มีโรงงานหนาแน่นมีการแย่งชิงแรงงานในระดับล่างสูง เช่น จ.สมุทรสาคร และในภาคตะวันออก ก็จะมีการปรับขึ้นค่าแรง เพื่อรักษาแรงงาน ไม่ให้ย้ายไปโรงงานอื่น ส่วนแรงงานวิชาชีพที่ผ่านการสอบพัฒนาฝีมือแรงงาน ก็จะมีการขึ้นค่าจ้างตามเกณฑ์ที่กระทรวงแรงงานกำหนด
 
“เมื่อเปรียบเทียบทักษะฝีมือแรงงานไทย ในกลุ่มประเทศอาเซียน ในส่วนของแรงงานมีฝีมือยังอยู่ในระดับต้นๆของอาเซียน ดังนั้นจึงมีความเป็นห่วงว่า หากเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) อาจจะเกิดการเคลื่อนย้ายแรงงานที่มีความสามารถไปยังประเทศที่ให้ค่าจ้างสูงกว่า เช่น สิงคโปร์ โดยเฉพาะในสาขาวิชาชีพแพทย์ พยาบาล และวิศวกร ที่ประเทศไทยยังคงขาดแคลน เนื่องจากมีมาตรฐานสูงกว่าหลายประเทศในอาเซียน”
 
นอกจากนี้ ส.อ.ท.ได้มีนโยบายที่จะดําเนินการ หาแนวทางแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงานในภาคอุตสาหกรรม โดยได้จัดทําเว็บไซต์ www.ftijob.com ขึ้น เพื่อเป็นฐานข้อมูล ความต้องการแรงงานในภาคอุตสาหกรรม ให้บริการแก่สมาชิก ในการแจ้งความต้องการแรงงาน ผ่านทางเว็บไซต์นี้ พร้อมทั้งอำนวยความสะดวก ในการประชาสัมพันธ์ ตําแหน่งงานว่างของสถานประกอบการ ไปยังผู้สมัครงานหรือผู้สนใจอันจะเกิดประโยชน์ต่อสมาชิก ส.อ.ท. ในการคัดเลือกบุคลากรเพื่อบรรจุเข้าทํางานในสถานประกอบการ
 
(ไทยรัฐ, 24-10-2557)
 
บุกรวบไทย-พม่ารวม13ราย หลอกแรงงานกว่า 800 คน 
 
พันตำรวจเอกธงชัย วงศ์ศรีวัฒนกุล รักษาราชการแทนผู้บังคับการปาบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ ผบก.ปอศ. เล่าพฤติการณ์ของกลุ่มผู้ต้องหาเหล่านึ้ว่า จะมี นายทุนพิมพ์ใบปลิวเป็นภาษาพม่า แจกจ่ายไปตามแหล่งลงทุนที่มีแรงงานชาวเมียนมารอยู่ โดยโฆษณาว่าให้ร่วมลงทุนซื้อสินค้า โดยมีราคาหุ้นละ10,000บาท เมื่อซื้อหุ้นแล้วจะต้องซื้อสินค้า อาทิเข่น บัตรชมคอนเสิร์ต เครื่องอุปโภคบริโภคต่างๆ โดยอ้างว่าจะมีเงินปันผลให้ 45,000 บาท ภายในระยะเวลา5เดือน แต่พอผู้เสียหายหลงเชื่อไประยะหนึ่งจะหนีหายไม่สามารถติดต่อได้ และเปลี่ยนสถานที่ในการต้มตุ๋นหลอกลวง โดยเลือกนิคมอุตสาหกรรมชลบุรี พัทยา และ แพปลาจังหวัดสมุทรสาคร
 
นางติติโม เหยื่อชาวเมียนมาร์ กล่าวว่า ถูกหลอกให้ร่วมลงทุน1หมื่นบาทและถูกหลอกให้ซื้อสินค้าต่างๆ ล่าสุด ถูกหลอกให้ซื้อบัตรคอนเสิร์ตของศิลปินชื่อดังชาวเมียนมารที่จะมาเปิดการแสดงในเมืองไทยแต่วันจริงไม่มีการแสดงดังกล่าว รวมทั้งมีเครื่องใช้ไฟฟ้าชนิดต่างๆ ซึ่งใน5เดือนแรกได้จ่ายเงินปันผลกลับมา4หมื่นกล่าวจึงรู้สึกดีใจ และกระหน่ำซื้อสินค้ารวมราว2แสนบาท จากนั้นไม่สามารถติดต่อได้ จึงรู้ว่าถูกหลอก จึงรวบรวมเพื่อนสมาชิกที่ถูกหลอกในลักษณะเดียวกันที่ บก.ปอท.
 
อย่างไรก็ตามพบว่ามีผู้เสียหายถูกหลอกซื้อสินค้าขั้นต่ำ 20,000 บาท ไปจนถึงสูงสุด 3 แสนบาท ซึ่งมีตัวแทนจำหน่ายบางรายแอบอ้างว่าเป็นบริษัทขายตรงชื่อดังด้วย
 
(มติชน, 24-10-2557)
 
ก.แรงงาน ตั้งศูนย์ต่อต้านคอร์รัปชัน ป้องกัน ปรามปรามทุจริตภาครัฐ พร้อมบรรจุลงแผนปฏิบัติงาน 4 ปี 
 
(24 ต.ค.) นายอารักษ์ พรหมณี รองปลัดกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า กระทรวงแรงงานได้จัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการต่อต้านการทุจริตคอรัปชั่น (ศปท.) ประกอบด้วย 2 กลุ่มงาน คือ กลุ่มงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติไม่ชอบ และกลุ่มงานส่งเสริมและคุ้มครองจริยธรรม ซึ่งทั้ง 2 กลุ่มต้องทำงานสนับสนุนกัน ทั้งในเรื่องการป้องกัน การส่งเสริมและลงโทษผู้กระทำผิด เพื่อให้การดำเนินงานของศูนย์เห็นผลเป็นรูปธรรม และกระตุ้นให้สังคมตื่นตัวในเรื่องของการต่อต้านทุจริต
       
นายอารักษ์ กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ กระทรวงแรงงานยังได้นำเรื่องการต่อต้านทุจริตคอร์รัปชัน บรรจุลงในแผนปฏิบัติราชการ 4 ปี ตั้งแต่ปี 2557 - 2560 ในระดับกระทรวง จนถึงกรมต่างๆ โดยเน้นการป้องกันปราบปรามการทุจริตและประพฤติไม่ชอบ เพื่อให้หน่วยงานในสังกัดกระทรวงแรงงานบริหารงานตามหลักธรรมาภิบาลมีการป้องกันและรับความเสี่ยงในการเกิดการทุจริตและประพฤติไม่ชอบ มีการพัฒนาระบบบริหาร กลไกการตรวจสอบและควบคุม รวมทั้งการป้องกันและปราบปรามการทุจริตภาครัฐ และพัฒนาขีดความสามารถของข้าราชการ เพื่อให้การดำเนินการมีประสิทธิภาพ ขณะเดียวกันจะจัดทำโครงการรองรับ เช่น กิจกรรมการปั่นจักรยานต่อต้านการทุจริต โดยให้ข้าราชการในสังกัดกระทรวงแรงงานร่วมกันปั่น ที่ติดป้ายข้อความรณรงค์ต่อต้านการทุจริตคอรัปชั่น เพื่อสร้างจิตสำนึกให้แก่ข้าราชการ และกระตุ้นให้ประชาชนร่วมต่อต้าน ซึ่งในขณะนี้อยู่ในระหว่างการวางแผนดำเนินโครงการ
 
(ASTV ผู้จัดการออนไลน์, 24-10-2557)
 
ญาติแรงงานไทยในอิสราเอลร้องสื่อให้ช่วยถูกจับ 9 คน ยังไม่รู้ชะตากรรม
 
(24 ต.ค.57) เวลา 15.00 น.ผู้สื่อข่าวจ.อุดรธานีได้รับการร้องเรียนจากนางจิตรา คำพิมาน อายุ 64 ปี อยู่บ้านเลขที่ 54 หมู่ 11 ต.บ้านเชียง อ.หนองหาน จ.อุดรธานี ซึ่งเป็นแม่ของนายอำพล คำพิมาน อายุ 26ปี ชาวบ้านเชียง อ.หนองหาน จ.อุดรธานีและคนงานไทยอีก 8 คนไปทำงานเก็บผลไม้ที่ เมือง Ne’Ot Hakikar, Hadarom, Israelประเทศอิสราเอลขณะนี้ถูกตร.อิสราเอลจับกุมไปโดยไม่ทราบชะตาขณะทำงานอยู่ในแคมป์ทำงานวอนให้ติดต่อสถานทูตเพื่อให้การช่วยเหลือเป็นการด่วน
 
โดยนางจิตรา บอกว่า มีเพื่อนของลูกชายที่ทำงานอยู่ใกล้กันได้ติดต่อมายังตนว่า นายอำพลพร้อมเพื่อนๆ อีก 8 คนถูกตร.จับกุมไม่รู้ไปขังไว้ที่ไหนและไม่ทราบชะตากรรม โดยถูกจับตั้งแต่เมื่อวานนี้ ส่วนสาเหตุที่ถูกจับทราบคร่าวๆ ว่า ตร.ได้เข้ามาจับกุมตัวนายจ้างของคนงานไทยซึ่งเป็นหัวหน้าคนงานอิสราเอลแต่ตร.ได้พ่วงกับคนงานไทยไปด้วยที่กำลังทำงานอยู่ในสวนแอปเปิ้ลไปด้วย แม่ของนายอำพลบอกอีกว่า ลูกชายไปทำงานโดยถูกกฎหมายและกำลังกลับบ้านในเร็วๆ นี้แต่มาถูกจับโดยที่ไม่ได้ไปยุ่งเกี่ยวกับเรื่องยาเสพติด ไม่รู้จะให้การช่วยเหลืออย่างไรจึงขอความช่วยเหลือผ่านสื่อเพื่อให้หน่วยราชการหรือสถานทูตที่ทราบข่าวช่วยเหลือแรงงานทั้ง 9 คนด้วย
 
สำหรับนายอำพล เป็นหนึ่งในแรงงานไทยที่เคยให้สัมภาาษณ์ผู้สื่อข่าวถึงเหตุการณ์ต่อสู้กันระหว่างประเทศอิสราเอลและปาเลนไตน์เมื่อเดืิอนกรฏาคมที่ผ่านมา
 
(บ้านเมือง, 24-10-2557)
 
กนอ.เล็งแก้กฎหมายขยายขอบข่ายลงทุน เพิ่มรายได้รองรับนิคมใหม่
 
นายวีรพงศ์ ไชยเพิ่ม ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เปิดเผยถึงแนวทางการปรับปรุงการทำงานของ กนอ. ว่า ขณะนี้ กนอ.อยู่ระหว่างการพิจารณาแก้ไข พ.ร.บ.การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2522 โดยจะแก้ใน 4 ข้อหลัก ได้แก่ 1.เพิ่มวัตถุประสงค์ของการจัดตั้ง กนอ.ให้สามารถตั้งนิติบุคคล เพื่อให้ กนอ.ทำหน้าที่โฮลดิ้งลงทุนในธุรกิจสาธารณูปโภคต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับนิคมอุตสาหกรรม เช่น การก่อสร้างและบริหารท่าเรือ โรงไฟฟ้า ผลิตน้ำประปา การบำบัดน้ำเสีย การสร้างโรงงานสำเร็จรูป เป็นต้น เพื่อเพิ่มรายได้และอำนวยความสะดวกให้กับผู้ประกอบการในนิคมฯ
 
2.เพิ่มขอบข่ายการทำพาณิชยกรรม ซึ่งขณะนี้ก็มีเขตฟรีโซนรองรับการส่งออกแล้ว แต่กฎหมายยังไม่มีความชัดเจน เพื่อรองรับการลงทุนสร้างนิคมฯบริการ และนิคมฯโลจิสติกส์ เป็นต้น 3.พัฒนานิคมฯคอนโดมิเนียม เพื่อเปิดให้ กนอ.สามารถทำนิคมฯเชิงดิ่งได้ จากปัจจุบันที่กฎหมายกำหนดให้เพียงการทำนิคมฯเชิงราบ ที่เป็นการสร้างนิคมฯเป็นหลังๆ บนพื้นที่ ไม่สามารถทำเป็นตึกให้หลายโรงงานอยู่ในตึกเดียวกันได้
 
โดยนิคมฯคอนโดมิเนียมกำลังเป็นที่นิยมในหลายประเทศ โดยเฉพาะเกาหลีใต้ ที่สร้างคอนโดมิเนียมขนาดใหญ่แล้วให้อุตสาหกรรมเบา อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ อุตสาหกรรมครีเอทีฟ ดิจิตอลคอนเทนต์ และอุตสาหกรรมบริการ ที่ใช้พื้นที่ไม่มากมาใช้บริการ ซึ่งจะเป็นการประหยัดพื้นที่ และลดค่าใช้จ่ายให้กับผู้ประกอบการ เนื่องจากจะใช้ระบบสาธารณูปโภค ห้องแล็ป ห้องวิจัยร่วมกัน
 
4.เพิ่มอำนาจในการอนุญาตต่างๆให้เป็นวันสต็อปเซอร์วิสอย่างแท้จริง โดยปัจจุบัน กนอ.สามารถปฏิบัติหน้าที่ในการออกใบอนุญาตตาม พ.ร.บ.ของหน่วยงานอื่นได้เพียง 3 ฉบับ ได้แก่ พ.ร.บ.โรงงาน, พ.ร.บ.จัดสรรที่ดิน และพ.ร.บ.ควบคุมโรงงาน ซึ่งไม่ครอบคลุมหน่วยงานที่จำเป็นในการอำนวยความสะดวกให้กับผู้ประกอบการ เช่น การขยายขอบข่ายการออกใบอนุญาตให้ครอบคลุมในเรื่องการออกใบอนุญาตแรงงานต่างด้าว รวมทั้งกฎหมายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง
 
“การแก้ไข พ.ร.บ.การนิคมฯก็เพื่อปรับปรุงรูปแบบการทำให้ให้คล่องตัว สอดคล้องกับการตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษ ตามนโยบายของรัฐบาล โดยคาดว่าจะศึกษาเสร็จในเดือนพฤศจิกายนนี้ และจะเสนอเข้าที่ประชุมคณะกรรมการ กนอ. ในเดือนธันวาคมนี้ หากได้รับความเห็นชอบก็จะส่งไปยังสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ต่อไป” นายวีรพงศ์ กล่าว
 
ส่วนในปี 2558 จะเร่งตั้งนิคมฯเฉพาะทาง ได้แก่ นิคมฯยางหรือรับเบอร์ซิตี้ ซึ่งขณะนี้ได้ออกแบบเสร็จแล้ว จะเริ่มก่อสร้างในปี 2558 และแล้วเสร็จภายในปี 2559 โดยในระหว่างก่อสร้างในช่วงกลางปี 2558 จะตั้งสำนักงานขายทันที เพื่อดึงลูกค้าให้เข้ามาตั้งโรงงานโดยเร็ว รวมทั้งจะเดินหน้านิคมฯอากาศยานและศูนย์ซ่อมบำรุง ซึ่งเป็นโครงการที่ทำร่วมกับกระทรวงคมนาคม คาดว่าจะศึกษาเสร็จในช่วงกลางปี 2558 และจะเดินหน้านิคมฯพิทักษ์สิ่งแวดล้อม เพื่อกำจัดขยะอุตสาหกรรมครบวงจร
 
(แนวหน้า, 25-10-2557)
 
โรงงานเสื้อผ้าไทยแห่ย้ายซบเพื่อนบ้าน เหตุปีหน้าโดนยุโรปตัดสิทธิ์ภาษี-แรงงานหายาก
 
นายถาวร กนกวลีวงศ์ นายกสมาคมอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มไทย กล่าวว่า แนวโน้มการส่งออกเสื้อผ้าช่วง 8 เดือนแรกของปีนี้ เพิ่มขึ้น 1% จากช่วงเดียวกันปีก่อน หรือมีมูลค่า 1,952 ล้านเหรียญสหรัฐ เนื่องจากเศรษฐกิจโลกยังไม่ฟื้นตัว ส่งผลกระทบทำให้การขยายตัวน้อยกว่าที่คาด
 
แต่ในช่วงไตรมาสสุดท้ายการส่งออกเสื้อผ้าจะมีอัตราเติบโตเพิ่มขึ้นได้ 2-3% ซึ่งจะมีผลทำให้ปีนี้ทั้งปีการ ส่งออกเสื้อผ้าของไทยโตได้ 2% หรือมีมูลค่าประมาณ 3,000 ล้านเหรียญสหรัฐ เนื่องจากผู้ส่งออกเร่งผลิตส่งไปตลาดยุโรป หรืออียูเพิ่มขึ้น เพราะไทยจะถูกตัดสิทธิพิเศษทางภาษี หรือ จีเอสพีตั้งแต่ 1 ม.ค. 2558
 
"สำหรับแนวโน้มการส่งออกเสื้อผ้าปีหน้า คาดว่าจะสามารถเติบโตได้ระหว่าง 0-5% ตามภาวะเศรษฐกิจโลก สำหรับสัดส่วนตลาดในปีนี้สหรัฐอเมริกามีสัดส่วน 34.78%, ตลาดอียู 24.26%, ญี่ปุ่น 13.64% กลุ่มอาเซียน 5.22% จีนและฮ่องกง 4.15% และที่เหลือเป็นตลาดอื่นๆ เช่น ตะวันออกกลาง และออสเตรเลีย"
 
ด้านนายวัลลภ วิตนากร กรรมการและที่ปรึกษาสมาคมเครื่องนุ่งห่มไทย กล่าวว่า ในปีหน้าผู้ประกอบการเสื้อผ้าจะขยายฐานการผลิตไปประเทศเพื่อนบ้านมากขึ้น โดยเฉพาะในพม่าและเวียดนาม เนื่องจากได้สิทธิ์เอฟทีเอกับตลาดอียู ทำให้ภาษีเหลือ 0% อีกทั้งเพื่อแก้ปัญหาขาดแคลนแรงงาน ปัจจุบันผู้ส่งออกเสื้อผ้าของไทยระดับบนไปลงทุนในประเทศเพื่อนบ้านหมดแล้ว ส่วนปีหน้าคาดว่ามีรายใหญ่และรายกลาง 30-50 รายขยายฐานตามไปด้วย 
 
นางดวงกมล เจียมบุตร รองอธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กล่าวภายหลังเปิดงานแสดงสินค้า "เสื้อผ้าส่งออกแฟร์ ครั้งที่ 32" (EXPORT GARMENT FAIR ครั้งที่ 32) ว่า จากการประชุมทูตพาณิชย์สัปดาห์ที่ผ่านมาประเมินว่าสถานการณ์ในปีหน้าภาพรวมการส่งออกของไทยจะเติบโตได้ไม่ต่ำกว่า 4%
 
ขณะที่การส่งออกเครื่องนุ่มห่มไทยจะเห็นการแข่งขันด้านราคามากขึ้น ซึ่งผู้ประกอบการต้องเน้นการสร้างแบรนด์เพื่อรองรับต่อการแข่งขัน เพราะภาวะเศรษฐกิจที่ยังไม่ฟื้นตัวจะทำให้ผู้บริโภคพิจารณาซื้อโดยเน้นที่คุณภาพและราคา
 
(ประชาชาติธุรกิจ, 25-10-2557)
 
เตรียมส่งแรงงานกว่า 3 พันเก็บผลไม้ป่าฟินแลนด์-สวีเดน
 
นายอนุรักษ์ ทศรัตน์ รองอธิบดีกรมการจัดหางาน (กกจ.) กระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ ได้ประชุมร่วมกับผู้แทนบริษัทนายจ้างสัญชาติไทยและผู้ประสานงานตัวแทนของบริษัทผู้รับซื้อผลไม้ป่า เช่น บลูเบอร์รี เบอร์รีในประเทศฟินแลนด์ และ สวีเดน รวม 12 บริษัท ซึ่งพบว่ามีแรงงานไทยเดินทางไปเก็บผลไม้ป่าที่ประเทศฟินแลนด์ และ สวีเดน ในช่วงเดือน ก.ค.- ก.ย. 2557 รวม 3,300 คน ซึ่งลดจากปีที่ผ่านมา 4,000 คน เนื่องจากกรมการจัดหางานได้ร้องขอให้รัฐบาลสวีเดน และ ฟินแลนด์ ลดจำนวนแรงงานไทย เพื่อให้มีจำนวนผู้เก็บผลไม้พอดีกับปริมาณผลไม้ และเพื่อให้แรงงานมีรายได้จากการเก็บผลไม้มากยิ่งขึ้น โดยแรงงานไทยมีรายได้หลังจากหักค่าใช้จ่ายแล้วเป็นเงินคนละ 50,000 - 200,000 บาท 
       
รองอธิบดี กกจ. กล่าวอีกว่า ส่วนแนวทางการจัดส่งแรงงานไทยไปเก็บผลไม้ป่าที่ประเทศฟินแลนด์ และ สวีเดน ในปีหน้านั้นคาดว่าจะจัดส่งไปจำนวน 3,300 คนเท่ากับปีนี้ และได้กำชับให้ผู้แทนบริษัทที่เกี่ยวข้องดูแลแรงงานไทยให้มีรายได้คุ้มค่า ปฏิบัติตรงตามสัญญาจ้าง ไม่ถูกเอารัดเอาเปรียบ มีการเก็บค่าใช้จ่าย ที่พักอาศัยตามนโยบายของรัฐบาล
       
รวมทั้งขอให้บริษัทกำชับให้แรงงานไทยให้มีความซื่อสัตย์และรักษาความสะอาด โดยจะเชิญผู้เกี่ยวข้องมาประชุมปรึกษาหารือและวางแนวทางอีกครั้งภายในเดือนธันวาคมนี้
 
(ASTV ผู้จัดการออนไลน์, 25-10-2557)
 
ขายแรงงาน ตปท.สร้างรายได้เข้าไทย 1 แสนล. เล็งขยายตลาดแคนาดา-ญี่ปุ่น
 
นายอนุรักษ์ ทศรัตน์ รองอธิบดีกรมการจัดหางาน (กกจ.) กระทรวงแรงงาน กล่าวถึงสถานการณ์แรงงานที่ไทยไปทำงานต่างประเทศ ว่า ตั้งแต่เดือน ม.ค. -ก.ย. 2557 มีแรงงานไทยที่เดินทางไปทำงานต่างประเทศ โดยผ่านระบบรัฐต่อรัฐ และบริษัทจัดหางานรวมแล้วเกือบ 1 แสนคน โดยมีประเทศเดินทางไปทำงานมากที่สุด 5 อันดับแรกได้แก่ ไต้หวัน 27,909 คน เกาหลีใต้ 7,213 คน สิงคโปร์ 6,764 คน ญี่ปุ่น 5,922 คน และ อิสราเอล 5,418 คน โดยแรงงานไทยที่ไปทำงานอิสราเอล มีรายได้มากที่สุด เฉลี่ยอยู่ที่เดือนละ 40,000 บาท และแรงงานไทยในไต้หวัน มีรายได้ต่ำที่สุด เฉลี่ยเดือนละ 18,000 บาท อย่างไรก็ตาม โดยภาพรวมแรงงานไทยส่งเงินกลับมาไทยโดยผ่านระบบธนาคารกว่า 88,000 ล้านบาท และนอกระบบธนาคารกว่า 20,000 ล้านบาท รวมแล้วกว่า 1 แสนล้านบาท
       
นายอนุรักษ์ กล่าวอีกว่า ในภาพรวมจำนวนแรงงานไทยไปทำงานต่างประเทศมีจำนวนลดลง แต่มีรายได้เพิ่มขึ้น เนื่องจากการจัดส่งแรงงานไทยเน้นแรงงานฝีมือที่มีคุณภาพ ซึ่งเมื่อถึงสิ้นปีคาดว่าจะมีแรงงานไทยไปทำงานต่างประเทศทั้งหมด 1 แสนคน ซึ่งน้อยกว่าปีที่ผ่านมาที่มีแรงงานไทยไปทำงานต่างประเทศ 1.3 แสนคน สาเหตุแรงงานไทยเดินทางไปทำงานลดลง เนื่องจากแรงงานไทยเน้นไปทำงานที่ใช้ทักษะฝีมือ และมีรายได้ดี รวมถึงมีคู่แข่งในตลาดแรงงานไร้ฝีมือเพิ่มขึ้น เช่น บังกลาเทศ เนปาล ศรีลังกา
       
รองอธิบดี กกจ. กล่าวต่อไปว่า กกจ. จะจัดทำแผนยุทธศาสตร์การจัดส่งแรงงานไทยไปทำงานต่างประเทศ โดยเน้นประสานความร่วมมือกับภาคเอกชน ในการขยายตลาดแรงงาน ซึ่งจะมีการระดมความคิดเห็นจากภาครัฐและภาคเอกชน ในการจัดทำแผนยุทธศาสตร์ซึ่งจะเน้น การเก็บค่าใช้จ่ายการในการไปทำงานต่างประเทศตามจริง และคิดค่าบริการอย่างเหมาะสม แรงงานได้รับค่าตอบแทนที่ดี และสร้างทัศนคติที่ดีให้กับแรงงานไทย เพื่อให้มีเป้าหมายในชีวิตการทำงาน เพื่ออนาคตครอบครัว ไม่ยุ่งเกี่ยวกับการอบายมุข การพนัน และยาเสพติด นอกจากนี้ จะพัฒนาทักษะต่างประเทศให้แก่แรงงานไทยซึ่งเรื่องนี้เป็นจุดอ่อน
       
ทั้งนี้ ส่วนการขยายตลาดแรงงานต่างประเทศนั้น กกจ. จะรักษาตลาดเดิมเอาไว้ และขยายตลาดใหม่ ที่มองว่ามีอนาคตที่ดี เช่น แคนาดา ต้องการแรงงานด้านเกษตร แอฟริกาใต้ งานด้านช่างเชื่อม ยุโรป งานพ่อครัว และญี่ปุ่น งานวิศวกรและช่างเทคนิค ซึ่งขณะนี้กำลังเตรียมพิจารณาขยายตลาดแรงงานในประเทศเหล่านี้
 
(ASTV ผู้จัดการออนไลน์, 27-10-2557)
 
ชงปรับโครงสร้างเงินเดือนรัฐวิสาหกิจ 37 แห่ง เหตุเงินขั้นต้นยังน้อยกว่าค่าแรงขั้นต่ำ
 
เมื่อวันที่ 27 ตุลาคม ที่ห้องประชุมศ.นิคม จันทรวิทูร กระทรวงแรงงาน พล.อ.สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน(รง.)กล่าวหลังประชุมคณะกรรมการแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ว่า ในที่ประชุมได้หารือกรณีที่สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจ (สรส.)และกลุ่มประสานงานบุคคลรัฐวิสาหกิจ(กบร.) เสนอขอปรับปรุงบัญชีโครงสร้างเงินเดือนค่าจ้างของพนักงานรัฐวิสาหกิจ 37 แห่ง ซึ่งที่ประชุมได้มอบหมายให้คณะอนุกรรมการพิจารณาสภาพการจ้างของรัฐวิสาหกิจที่มีนายพีรพัฒน์  พรศิริเลิศกิจ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน(กสร.)ไปศึกษาตามข้อเสนอที่สรส.และกบร.ยื่นมา เมื่อได้ข้อสรุปก็ให้เสนอต่อประชุมคณะกรรมการฯ พิจารณาอีกครั้ง ว่าจะมีการปรับโครงสร้างเงินเดือนของพนักงานรัฐวิสาหกิจว่าจะออกในแนวทางใด ทั้งนี้เชื่อว่าเรื่องนี้จะไม่ล่าช้าเนื่องจากมีการเสนอมาหลายครั้งแล้ว หากผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์แล้ว จะนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรีต่อไป 
 
ด้านนายศิริชัย ไม้งาม ประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.)ในฐานะกรรมการแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ฝ่ายลูกจ้างกล่าวว่าปัจจุบันบัญชีโครงสร้างอัตราเงินเดือนค่าจ้างของรัฐวิสาหกิจไทย 37 แห่ง อาทิ บริษัทขนส่ง จำกัด องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ การประปานครหลวง องค์การเภสัชกรรม มีการใช้โครงสร้างอัตราเงินเดือน 58ขั้น โดยขั้นแรกอัตราเงินเดือน 5,780 บาท และขั้นที่ 58 อยู่ที่ 113,520 บาท แต่ที่มีการใช้จริงจะเริ่มจ่ายที่ขั้นที่ 12 อัตรา 9,040 บาท เนื่องจากขั้นที่ 1-11.5 จ่ายค่าจ้างต่ำกว่าจ้างขั้นต่ำวันละ 300 บาทหรือเท่ากับเดือนละ 9,000 บาท ตามที่กฎหมายคุ้มครองแรงงานกำหนด ดังนั้น สรส.จึงได้เสนอขอปรับปรุงบัญชีเงินเดือนอัตราค่าจ้างของรัฐวิสาหกิจใหม่โดยกำหนดให้ขั้นที่ 1อยู่ในอัตรา 9,040 บาท ส่วนขั้นต่อไปปรับขึ้นเฉลี่ยในอัตราร้อยละ 4.3 ของฐานเงินเดือนซึ่งจะทำให้อัตราเงินเดือนขั้นที่ 58 อยู่ที่ 189,330 บาท
 
นายศิริชัย กล่าวว่า ส่วนข้อเสนอของกลุ่มประสานงานบุคคลรัฐวิสาหกิจ อาทิ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย การไฟฟ้านครหลวง บริษัทการบินไทย จำกัด(มหาชน) ขอปรับปรุงขั้นที่ 1 โดยขั้นที่ 1 ยังคงอยู่ที่ 5,780 บาท ส่วนขั้นที่ 2-40 ยังใช้โครงสร้างอัตราเงินเดือนเดิม แต่ขั้นที่ 40.5 ถึงขั้นที่ 58 เสนอให้ปรับเพิ่มค่าจ้างในอัตราร้อยละ 5 ขณะที่ขั้นที่ 58.5 ถึงขั้นที่  70 เสนอให้ปรับเพิ่มค่าจ้างเฉลี่ยครึ่งขั้นละร้อยละ 2.80 โดยอัตราสูงสุดอยู่ที่ 231,280 บาท 
 
ทั้งนี้เหตุผลที่เสนอปรับโครงสร้างเงินเดือน เนื่องจากโครงสร้างเงินเดือนค่าจ้างของพนักงานรัฐวิสาหกิจได้ใช้มาตั้งแต่ปี 2537 จนถึงปัจจุบัน หากไม่มีการปรับโครงสร้างจะทำให้พนักงานรัฐวิสาหกิจขาดขวัญและกำลังใจซึ่งมีผลกระทบต่อการประกอบการ ทำให้เกิดผลเสียต่อส่วนรวมมากกว่าผลดี และกระทบถึงผลประกอบการและการนำเงินส่งเข้ารัฐ 
 
(มติชน, 27-10-2557)
 
ยอดจดทะเบียนแรงงานต่างด้าว 4 เดือน พุ่งกว่า 1.4 ล้านคน
 
เมื่อวันที่ 27 ตุลาคม นายสุเมธ มโหสถ อธิบดีกรมการจัดหางาน(กกจ.) กระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า กกจ.ได้ดำเนินการจดทะเบียนแรงงานต่างด้าว โดยข้อมูลตั้งแต่วันที่ 26 มิถุนายน-27 ตุลาคม 2557 มีนายจ้าง 276,598 ราย  พาแรงงานและผู้ติดตามมาจดทะเบียนรวมทั้งสิ้น 1,429,296  คน แบ่งเป็นแรงงาน 1,346,307 คน ผู้ติดตาม 82,989  คน เมื่อแยกตามสัญชาติเป็นแรงงานเมียนมาร์  537,959  คน  ผู้ติดตาม 37,808 คน แรงงานลาว 197,430  คน ผู้ติดตาม 8,620  คน และแรงงานกัมพูชา 610,918 คน ผู้ติดตาม 36,561 คน
          
นาย สุเมธ กล่าวว่า การเปิดจดทะเบียนแรงงานต่างด้าวจะสิ้นสุดลงในวันที่ 31 ตุลาคมนี้ จึงเหลือเวลาเพียง 5 วันเท่านั้นที่ผ่อนผันให้นายจ้างนำแรงงานต่างด้าวที่ผิดกฎหมายไปขึ้น ทะเบียน  หากนายจ้างฝ่าฝืนจะมีโทษปรับตั้งแต่ 10,000 - 100,000 บาทต่อการจ้างแรงงาน 1 คน ขณะที่แรงงานเพื่อนบ้านที่ฝ่าฝืน จะมีโทษ จำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับตั้งแต่ 2,000 - 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
 
(มติชน, 27-10-2557)
 
กรมชลฯ เริ่มจ้างเกษตกร 3 พ.ย. นี้ เน้นช่วยรายได้ช่วงหยุดทำนาปรัง
 
นายสุเทพ น้อยไพโรจน์ รองอธิบดีกรมชลประทานเปิดเผยถึงความคืบหน้าล่าสุด ถึงมาตรากรจ้างแรงงานภาคการเกษตรฯเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรในพื้นที่งดทำนาปรังจากปัญหาการขาดแคลนน้ำว่าล่าสุด ได้มีการประสานงานไปยังเจ้าหน้าที่สำนักชลประทาน ทั่วประเทศในพื้นที่ ให้เปิดรับสมัครเกษตรกรที่จะเข้าร่วมโครงการจ้างงานในส่วนของกรมชลประทาน  ซึ่งใช้งบประมาณ กว่า 4,137 ล้านบาท ในพื้นที่ชลประทานทั่วประเทศ  โดยจะเริ่มรับสมัครเกษตรกรที่สนใจทำงานตั้งแต่ วันที่ 3 พฤศจิกายนเป็นต้นไป  ที่สำนักงานชลประทานทั่วประเทศ
 
ทั้งนี้เกษตรกรที่จะเข้าทำงานนั้น มีการกำหนดกรอบเบื้องต้นว่าผู้ที่จะได้ทำงานดังกล่าวจะต้องเป็นเกษตรกรที่อายุ 18-60 ปี  และเป็นเกษตรกที่ขึ้นทะเบียนเกษตรกรไว้กับกรมส่งเริมการเกษตร และเป็นเกษตรกร ที่กลุ่มผู้ใช้น้ำชลประทาน  และจะยึดตามบัญชีกรมส่งเสริมการเกษตร ซึ่งกรมชลประทานจะจ้างแรงงงานในส่วนของการซ่อมแซมอาคาร ระบายน้ำ ถางหญ้า ขุดลอกคลอง ตัดหญ้า และ ซ่อมแซมคลองชลประทานที่ชำรุดเล็กน้อย บางส่วนเท่านั้น
 
"การจ้างงานจะเป็นงานเล็กๆน้อยๆไม่ใช่งานหนักมีทั้งการขุดลอกคลองชลประทานการซ่อมแซมการถางหญ้าการดากซิเมนต์ซ่อมแซมที่ชุดรุดซึ่งเน้นช่วยสร้างรายได้ให้เขาช่วงที่หยุดทำนาปรังจะได้มีการสร้างรายได้อีกทาง"นายสุเทพฯกล่าว
 
ทั้งนี้ในส่วนลุ่มน้ำเจ้าพระยา 22 จังหวัด นั้นจะใช้งบประมาณในการจ้างงานกว่า 1,260 ล้านบาท และลุ่มน้ำแม่กลอง 208 ล้านบาท ที่เหลือเป็นพื้นที่อื่นทั่วประเทศ โดยมอบหมายให้สำนักชลประทานในพื้นที่ประกาศรับสมัครเกษตรกรผู้สนใจเข้าร่วมโครงการสามารถ ยื่นความจำนงค์ และสมัครเข้าร่วมโครงการได้ และสามารถทำงานได้ทันที รวมทั้งพื้นที่อื่นทั่วประเทศ ส่วนพื้นที่  ลุ่มแม่กลองถือเป็นช่วงทำนาปี อาจ จะ เริ่มในช่วง1 มกราคม เป็นต้นไป โดยมาตรการดังกล่าว ถือเป็นเป็นมาตราการที่ช่วยสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรได้ อีกทางหนึ่ง ที่สามารถสร้างรายได้จากการงดการทำนาปรัง
 
(แนวหน้า, 28-10-2557)
 
แรงงานซับคอนแทรคนับ 100 คน ร้อง กสร.นายจ้างละเมิดสิทธิแรงงาน
 
(28 ต.ค.) นายชาลี ลอยสูง ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) เปิดเผยว่า คสรท. พร้อมด้วยเครือข่ายแรงงานได้นำแรงงานรับเหมาช่วง (ซับคอนแทรค) 4 บริษัท ซึ่งทำงานในบริษัทอุตสาหกรรมยานยนต์ใน จ.สมุทรสาคร พระนครศรีอยุธยา และบริษัท อุตสาหกรรมปิโตรเคมี ในกรุงเทพฯ รวม 100 คน เข้าร้องเรียนต่อกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) เนื่องจากได้รับการปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรมและละเมิดสิทธิแรงงาน เช่น ค่าจ้างและสวัสดิการต่างๆไม่เท่าเทียมกับพนักงานประจำ พนักงานซับคอนแทรคที่ตั้งครรภ์ แรงงานผู้พิการทางสายตาก็ให้ลาออกจากงาน และเมื่อพนักงานซับคอนแทรคเรียกร้องค่าจ้างและสวัสดิการเพิ่มขึ้นก็ให้ย้ายไปทำงานโรงงานแห่งอื่นในจังหวัดเดียวกันแต่ระยะทางไกลกว่าเดิม ทำให้มีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นแต่ไม่ได้เพิ่มค่าจ้าง และคืนตัวพนักงานซับคอนแทรคแก่บริษัทต้นสังกัดโดยจ่ายเงินชดเชยเพียง 15 วัน ซึ่งแรงงานกลุ่มนี้มีกว่า 70 คน
       
“อยากให้กระทรวงแรงงานตั้งคณะกรรมการเฉพาะกิจ ซึ่งประกอบด้วย ฝ่ายรัฐ นายจ้าง และลูกจ้าง เพื่อแก้ปัญหาแรงงานซับคอนแทรคในเชิงรุกมากกว่าตั้งรับเช่นในปัจจุบัน เชื่อว่า หลังจากนี้ ปัญหาแรงงานซับคอนแทรคจะมีมากขึ้นเรื่อยๆ” นายชาลี กล่าว
       
ด้าน นายยงยุทธ เม่นตะเภา อดีตประธานสหพันธ์แรงงานยานยนต์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า สาเหตุที่แรงงานซับคอนแทรคถูกเลิกจ้างเพิ่มขึ้น เนื่องจากขณะนี้เศรษฐกิจของประเทศไทยยังไม่ดีขึ้น โดยเฉพาะอุตสาหกรรมรถยนต์มียอดการผลิตลดลง ทำให้ผู้ประกอบการหาทางลดจำนวนแรงงานโดยเฉพาะแรงงานซับคอนแทรค รวมทั้งกรณีที่ศาลมีคำพิพากษาตามมาตรา 11/1 ของ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 ที่ให้ผู้ประกอบการดูแลลูกจ้างซับคอนแทรคให้ได้รับค่าจ้าง สิทธิประโยชน์และสวัสดิการต่างๆเท่าเทียมกับพนักงานประจำ ทำให้แรงงานซับคอนแทรคถูกเลิกจ้างเพิ่มขึ้น ซึ่งผู้ประกอบการรถยนต์หลายค่ายก็ทยอยบรรจุแรงงานซับคอนแทรคเป็นลูกจ้างประจำ แต่บางค่ายรถยนต์ก็เลิกจ้าง ปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรม
       
อย่างไรก็ตาม การแก้ปัญหานี้อยากให้รัฐบาลชุดนี้ซึ่งมีอำนาจเบ็ดเสร็จมีนโยบายที่ชัดเจนและเด็ดขาด โดยแก้ไขกฎหมายหากยังใช้แรงงานซับคอนแทรคก็ให้ทยอยบรรจุแรงงานกลุ่มนี้เข้าเป็นพนักงานประจำโดยยึดตามอายุงาน แต่ถ้าเลิกจ้างก็ต้องจ่ายเงินชดเชยและสิทธิประโยชน์ต่างๆ ตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน และจากการสอบถามจากแรงงานที่เข้าร้องเรียนพบว่าบางรายมีอาการตาอักเสบมาก จึงแจ้งหัวหน้างงานขอลางาน 1 เดือนไปรักษาตาแต่เมื่อกลับมาทำงานโดยยื่นใบรับรองแพทย์ทางบริษัทได้ให้ลาออกโดยไม่ได้เงินชดเชยใดๆ บางรายไปยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อขอให้พนักงานซับคอนแทรคในบริษัทได้รับค่าจ้างและสวัสดิการเท่าเทียมกับกับพนักงานประจำ ต่อมาบริษัทให้ถอนฟ้องแต่ยืนยันไม่ถอนฟ้อง ทางบริษัทจึงคืนตัวให้แก่บริษัทซับคอนแทรคต้นสังกัด และบริษัทต้นสังกัดได้ให้ตระเวนทำงานในจังหวัดต่างๆ เช่น ขอนแก่น บุรีรัมย์ นครนายก ปราจีนบุรีในรอบ 1 เดือน
       
ด้านนายสุวิทย์ สุมาลา รองอธิบดี กสร. กล่าวว่า กสร. จะช่วยเหลือแรงงานซับคอนแทรคโดยให้สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดต่างๆ ใช้วิธีการเจรจากับนายจ้างก่อน หากไม่ต้องการจ้างแรงงานซับคอนแทรคก็ให้ประกาศเลิกจ้างและจ่ายเงินชดเชยและสิทธิประโยชน์ต่างๆตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน แต่หากยังต้องใช้แรงงานซับคอนแทรคก็ให้ทยอยบรรจุแรงงานกลุ่มนี้เข้าเป็นพนักงานประจำโดยยึดตามอายุงาน ส่วนกรณีแรงงานที่พิการทางสายตานั้นบริษัทสามารถจ้างงานต่อไปโดยเป็นการจ้างผู้พิการทำงาน และกรณีแรงงานตั้งครรภ์นั้นตามกฎหมายบริษัทไม่สามารถเลิกจ้างได้ ซึ่งเร่งช่วยเหลือแรงงานทั้งสองรายนี้ก่อน 
       
รองอธิบดี กสร. กล่าวอีกว่า ส่วนการแก้ปัญหาระยะยาวนั้นที่ผ่านมาตนได้พูดคุยกับนักลงทุนชาวต่างชาติขอให้ดูแลแรงงานไทยเท่าเทียมกับแรงงานชาติของตนเอง และเป้าหมายของ กสร. จะแก้ไขกฎหมายคุ้มครองแรงงานเพื่อให้ในอนาคตแรงงานซับคอนแทรกหมดไปจากประเทศไทย เพราะที่ผ่านมาแรงงานซับคอนแทรคได้รับค่าจ้างและสวัสดิการต่างๆไม่เป็นธรรมมาโดยตลอด แม้ กสร. จะแก้กฎหมายมาหลายครั้งแต่ก็ยังมีปัญหานี้
 
(ASTV ผู้จัดการออนไลน์, 28-10-2557)
 
รมว.แรงงาน สั่งศึกษาโครงสร้างเงินเดือน พนง.รัฐวิสาหกิจ ก่อนชง ครม.
 
พล.อ.สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน (รมว.รง.) ในฐานะประธานการประชุมคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจ กล่าวว่า ที่ประชุมได้หารือกรณีที่สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจ (สรส.) และกลุ่มประสานงานบุคคลรัฐวิสาหกิจ (กบร.) เสนอขอปรับปรุงบัญชีโครงสร้างอัตราเงินเดือนค่าจ้างของพนักงานรัฐวิสาหกิจ จึงได้มอบหมายให้คณะอนุกรรมการพิจารณาสภาพการจ้างของรัฐวิสาหกิจรับไปศึกษาโครงสร้างให้เหมาะสมตามข้อเสนอที่สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจ และกลุ่มประสานงานบุคคลรัฐวิสาหกิจยื่นมา หากได้ข้อสรุปจะให้เสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการพิจารณาอีกครั้ง ซึ่งได้กำชับคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ให้ทำงานแบบยึดถือกติกา อย่าใช้ความรู้สึก ต้องยืนให้ตรง ยึดถือข้างใดข้างหนึ่งไม่ได้ว่าไปตามกฎกติกาในการพิจารณาทุกเรื่อง
       
“เชื่อว่า เรื่องนี้จะไม่ล่าช้า เนื่องจากมีการเสนอมาหลายครั้งแล้ว อย่างไรก็ตาม หากคณะกรรมการมีเรื่องที่เป็นข้อสังเกตต้องพูดคุยกัน ต้องปรับเพิ่มประสิทธิภาพ ปรับขั้นตอนการทำงาน เพราะความต้องการของพี่น้องประชาชนมีจำนวนมากต้องทำให้เกิดความรวดเร็วที่สุด” รมว.รง. กล่าว
 
(ASTV ผู้จัดการออนไลน์, 28-10-2557)
 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท