เมื่อกะเทยเกณฑ์ทหาร-บวชพระ ผิดหรือไม่?

27 ต.ค. 2557 โครงการปริญญาโท สตรี เพศสถานะ และเพศวิถีศึกษา วิทยาลัยสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดเวทีเสวนาเรื่อง “ปรากฏการณ์เควียร์ เมื่อกะเทยเกณฑ์ทหาร กะเทยบวชพระ ท่านถามเควียร์เราตอบตรง” พระวรธรรมชี้การบวชไม่เกี่ยวกับเพศ ด้านตัวแทนทหารแจงกะเทยเกณฑ์ทหารไม่ได้แต่เป็นทหารอาชีพได้

พระวรธรรม กล่าวว่า ในหลักศาสนาพุทธที่มีกฎข้อห้ามบุคคลที่ห้ามบวชคือ บัณเฑาะก์ 5 ประการ  ได้แก่ 1.บัณเฑาะก์ ออรัลเซ็กส์ 2.บัณเฑาะก์ ถ้ำมอง 3.บัณเฑาะก์ ถูกตอน 4.บัณเฑาะก์ มีอารมณ์ ข้างขึ้น ข้างแรม (ขยายความ) และที่สำคัญที่สุดคือ 5.บัณเฑาะก์ ที่ไม่ชัดเจนในเพศ มีเพียงอวัยวะเป็นช่องขับถ่ายปัสสาวะเท่านั้น จะเห็นได้ว่าไม่มีกฎข้อห้ามไหนที่ระบุว่าเพศที่สามห้ามบวช นอกเหนือจากบุคคลที่ทำศัลยกรรมทางเพศที่ถือว่าผิดกฎข้อห้ามของหลักศาสนาพุทธ

พระวรธรรม แสดงความเห็นว่า เรื่องเพศไม่ได้เกี่ยวกับการบวช เพราะทุกเพศควรมีสิทธิเท่าเทียมกัน สิ่งนี้คือใจความสำคัญ ที่ปัจจุบันยังถกเถียงกันว่า การบวชเป็นเรื่องของผู้ชาย อาตมาเห็นว่าไม่ว่าใครก็ตามสามารถบวชได้ การทำความดีเป็นเรื่องของจิตใต้สำนึกของแต่ละคน การบวชไม่ได้จำกัดว่าท่านต้องรักษาศีลได้ทุกข้อ สิ่งที่สำคัญที่สุดคือท่านจะรักษาความดีได้เพียงใด

พระวรธรรม กล่าวว่า ที่ผ่านมา มีกรณีเพศที่สามจะขอบวชแต่พระไม่อนุญาตให้บวช แต่ก็จะเห็นได้ว่าถ้าบุคคลนั้นไปบวชในพื้นที่อื่นแล้วได้รับอนุญาตก็สามารถบวชเป็นพระได้  กรณีนี้จะเห็นได้ว่าการบวชต้องขึ้นอยู่กับพระที่เป็นผู้อนุญาตให้บวช

พระวรธรรม กล่าวทิ้งท้ายว่า “การเรียกเขาว่าเพศที่สาม ก็เหมือนเราแบ่งแยกเขา อยากให้คิดว่าเขาก็เป็นมนุษย์เหมือนเรา มีสิทธิเท่าเทียมกับเรา”

พ.ท. ปิยะชาติ ประสานนาม กล่าวถึงการเกณฑ์ทหารของกะเทยโดยยกตัวอย่างกรณีของน้องน้ำหวานซึ่งเกิดขึ้นในปี 2548 ที่ จ.ลพบุรี โดยขณะนั้น เจ้าหน้าที่ได้แจ้งในใบ สด.43 ว่าน้ำหวานมีอาการของการเป็น “โรคจิตอย่างถาวร” อ้างอิงตามกฎกระทรวงฉบับที่ 74  ทำให้มีการเรียกร้องความเป็นธรรมต่อศาลปกครอง กองทัพบก กรรมการณ์เกณฑ์ทหารจังหวัดลพบุรี และหน่วยบัญชาการรักษาดินแดน  เพราะส่งผลต่อการสมัครเข้าทำงานของน้ำหวาน ต่อมา ในปี 2555 จึงมีการแก้กฎกระทรวงฉบับที่ 75 เพิ่มเติมไปในฉบับที่ 37 ที่ใช้มาตั้งแต่ 2516 โดยแก้ไขจากที่ใช้คำว่า “โรคจิตถาวร” เป็น “เพศสภาพไม่ตรงกับเพศกำเนิด” รวมถึงกำหนดให้ผู้ที่ได้รับผลกระทบก่อนปี 2555 ซึ่งถูกระบุว่าเป็น "โรคจิตถาวร" สามารถยื่นเรื่องที่หน่วยบัญชาการรักษาดินแดนและสัสดีในพื้นที่ได้ เพื่อที่จะได้รับการเยียวยาจากกองทัพต่อไป

พ.ท. ปิยะชาติ กล่าวว่า ในการคัดเลือกทหารเกณฑ์ จะมีข้อห้ามสำหรับบุคคลที่มีการศัลยกรรมหรือแสดงออกว่าเป็นเพศที่สาม แต่กรณีของทหารประจำการหรือทหารอาชีพ เพศที่สามสามารถเข้าสมัครได้ โดยมีหลายตำแหน่งที่เหมาะสม อาทิ การเงิน ทหารธรรมนูญ สัสดี ทั้งนี้ ในการทำงานต้องสำรวมกิริยา ไม่แสดงออกในเวลาราชการ และต้องอยู่ในเกณฑ์การรับสมัครของกองทัพ สิ่งที่สำคัญคือ วุฒิการศึกษามัธยมปลายหรือปริญญาตรี และสัดส่วนของร่างกาย ถ้าบุคคลใดที่มีร่างกายสมบูรณ์ได้มาตรฐาน ก็จะได้รับการพิจารณาจากกองทัพ เพื่อคัดเลือกในรอบต่อไป

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท