Skip to main content
sharethis

30 ต.ค. 2557 นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณี พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา รมว.ยุติธรรม มีแนวคิดขอคนในฝ่ายตุลาการ หรือศาล มาเป็นที่ปรึกษารัฐมนตรี ทั้งที่ นายสราวุฒิ เบญจกุล รองเลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม ได้แถลงย้ำถึงจริยธรรมศาล ผู้พิพากษาว่า ไม่ควรไปเป็นที่ปรึกษาของรัฐมนตรี หรือข้าราชการการเมือง ว่า ตนขอให้รัฐบาลและรัฐมนตรีทุกกระทรวงตั้งหลักให้ดี ในการจะขอบุคคลจากศาล หรือผู้พิพากษามาเป็นที่ปรึกษาหรือคณะทำงาน เพราะที่สุดแล้วจะเป็นการทำลายระบบศาลและกระบวนการยุติธรรมไทยซ้ำเติมลงไปอีก เนื่องจาก คสช.ไม่ทราบถึงต้นตอความขัดแย้งทางการเมืองตั้งแต่ต้น ตั้งแต่ปี 2549 ที่ประชาชนไม่ไว้วางใจฝ่ายการเมือง ทั้งฝ่ายบริหารและนิติบัญญัติ จึงมีการออกแบบรัฐธรรมนูญให้ฝ่ายตุลาการซึ่งเป็น 1 ใน 3 อำนาจหลักในระบอบประชาธิปไตยไทย เข้ามาช่วยพยุงอำนาจของฝ่ายบริหารและนิติบัญญัติ

นายนิพิฏฐ์ กล่าววต่อว่า ขณะนั้น มีการให้ฝ่ายศาลเข้ามาคัดกรองบุคคลที่จะเข้ามาดำรงตำแหน่งสำคัญในองค์กรอิสระเพื่อตรวจสอบฝ่ายการเมือง จนถูกเรียกว่า ยุคตุลาการภิวัฒน์ จนฝ่ายการเมืองไม่ยอม และสร้างวาทกรรมโจมตีฝ่ายตุลาการว่า ยุติธรรม 2 มาตรฐาน ที่สุดระบบการปกครองของไทย จึงพังระเนระนาดทั้งระบบ วันนี้รัฐมนตรีในรัฐบาลที่มาจาก คสช.ยังพยายามดึงเอาบุคลากรจากฝ่ายตุลาการเข้ามาในวังวนของการเมือง ทั้งที่ฝ่ายตุลาการได้ส่งสัญญาณชัดเจนแล้วว่า ไม่อยากเข้ามาเกี่ยวข้องอีก

นายนิพิฏฐ์ กล่าวต่อว่า ขอย้ำเตือนไปยัง คสช.ว่า หากจะยังพยายามดึงบุคลากรจากฝ่ายตุลาการเข้ามาอีก ที่สุดจะเป็นการทำผิดซ้ำซ้อนและสร้างวิกฤติตุลาการรอบใหม่ขึ้น แม้กระทั่งนายพรเพชร วิชิตชลชัย อดีตผู้พิพากษาศาลฎีกา ที่มาทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษา คสช.และประธาน สนช. เช่นวันนี้ ตนยังรู้สึกไม่สบายใจ และขอเตือนถึง สปช.หรือ กมธ.ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ว่า ต้องเอาศาลหรือบุคลากรฝ่ายตุลาการออกจากกระบวนการ หรือวังวนทางการเมืองให้หมด ไม่เช่นนั้นเมื่อเกิดวิกฤติใดขึ้นจะไม่เหลืออำนาจใดไว้พยุง โดยเฉพาะฝ่ายศาลก็จะพังลงทั้งระบบ เพราะอำนาจหลักทั้ง 3 ควรจะทำหน้าที่ตรวจสอบถ่วงดุลซึ่งกันและกัน

รองเลขาฯ ศาลยุติธรรม ย้ำประมวลจริยธรรมศาล ชี้ผู้พิพากษาไม่ควรเป็นขรก.การเมือง
ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 29 ตุลาคม นายสราวุธ เบญจกุล รองเลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม ให้สัมภาษณ์กรณีที่มีการแต่งตั้งผู้พิพากษาไปเป็นที่ปรึกษารัฐมนตรี ผู้ชำนาญการประจำตัวสนช. และผู้เชี่ยวชาญประจำตัวสนช. ว่า ตาม พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม มาตรา 59 กำหนดว่า ข้าราชการตุลาการต้องไม่เป็นข้าราชการทางการเมือง ซึ่งรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวมาตรา 41 ระบุว่าสามารถยกเว้นได้นั้น แต่ผู้พิพากษามีประมวลจริยธรรมกำกับไว้อีกชั้นหนึ่งซึ่งสูงกว่ากฎหมายเพราะเป็นข้อห้ามเรื่องการไปประกอบวิชาชีพอย่างอื่นที่ผู้พิพากษาจะต้องปฏิบัติตาม แต่สุดท้ายแล้วก็อยู่ที่มติของคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม (ก.ต.) เป็นหลัก หากมติ ก.ต. ไม่เห็นชอบในเรื่องดังกล่าว แม้ว่าจะมีการประกาศแต่งตั้งไปแล้วหรือโปรดเกล้าฯ แล้วก็ตาม แต่ผู้พิพากษาก็คงไม่สามารถไปรับตำแหน่งทางการเมืองได้ ซึ่งคงจะต้องรอดูความชัดเจนในที่ประชุม ก.ต. ในวันที่ 17 พ.ย.นี้

นายสราวุธ กล่าวด้วยว่า ขณะเดียวกันนายดิเรก อิงคนินันท์ ประธานศาลฎีกา ท่านก็ได้แสดงจุดยืนชัดเจนเกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ของผู้พิพากษา ว่าต้องมีความเป็นอิสระของสถาบันตุลาการและมีความเป็นกลาง ต้องปฏิบัติตัวตามระเบียบแบบแผนและประเพณีปฏิบัติของทางราชการ และประมวลจริยธรรมข้าราชการตุลาการ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ทาง ก.ต. จะนำมาประกอบการพิจารณาด้วยทั้งหมด ซึ่งถ้าหากอยู่ในสถานการณ์ปกติไม่มีรัฐธรรมนูญชั่วคราวมาตรา 41 ยกเว้นไว้ เรื่องดังกล่าวก็คงไม่สามารถทำได้อยู่แล้ว

 

ที่มา: ไทยรัฐออนไลน์ และมติชนออนไลน์
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net