Skip to main content
sharethis
 
โอบามา ตำหนิบริษัทเอกชนไม่แบ่งปันความสำเร็จให้กับพนักงาน
 
4 ต.ค. 2014 ประธานาธิบดีบารัค โอบามา ของสหรัฐกล่าวตำหนินโยบายของบริษัทเอกชนที่ขัดขวางไม่ให้พนักงานมีรายได้อย่างเพียงพอ
 
ทั้งนี้ นายโอบามาได้ชื่นชมนโยบายเศรษฐกิจของฝ่ายบริหารของเขา หลังจากรายงานเมื่อคืนนี้บ่งชี้ว่า อัตราว่างงานของสหรัฐปรับตัวลดลงแตะระดับต่ำสุดในรอบ 6 ปีในเดือนก.ย.
 
นายโอบามากล่าวที่โรงงานของบริษัทมิลเลนเนียม สตีล เซอร์วิส ในรัฐอินเดียนาว่า บริษัทต่างๆที่มีมีงบดุลที่แข็งแกร่งที่สุดในประวัติศาสตร์ไม่ได้แบ่งปันความมั่งคั่งให้กับพนักงานซึ่งมีส่วนในความสำเร็จดังกล่าว
 
“มันเหมือนกับว่าบริษัทต่างๆไม่โอกาสมากพอสำหรับการจ่ายเงินเพิ่มให้กับพนักงาน แต่มันเป็นเพราะว่าพวกเขาไม่ทำ" เขากล่าว พร้อมกับเสริมว่า “งบดุลของบริษัทได้รับส่วนแบ่งที่สูงขึ้นและก็สูงขึ้น ในขณะที่พนักงานได้รับส่วนแบ่งที่ลดลงและลดลง"
 
นอกจากนี้ นายโอบามายังหวังว่า เศรษฐกิจที่ปรับตัวดีขึ้นจะเป็นแรงสนับสนุนพรรคเดโมแครตในการเลือกตั้งสมาชิกสภาคองเกรสกลางเทอมที่จะมีขึ้นในเดือนพ.ย.นี้ และหลีกเลี่ยงการสูญเสียที่นั่งให้กับพรรครีพับลิกันในสภาสูงของสหรัฐ
 
นายโอบามาระบุว่า บริษัทเอกชนกำลังฉวยโอกาสความได้เปรียบจากตลาดแรงงานยังคงอ่อนแอ เนื่องจากผู้คนไม่กล้าลาออกจากงานเพราะเกรงว่าจะหางานทำที่อื่นไม่ได้
 
พนักงาน จี้ปธ.เวิลด์แบงก์ แจงเหตุจ่ายโบนัสผู้บริหารอาวุโสแพง ในช่วงที่องค์กำลังรัดเข็มขัด
 
5 ต.ค. 2014 สมาคมเจ้าหน้าที่ธนาคารโลก ร้องขอประชุมกับนายจิม ยอง คิม ประธานธนาคารโลก โดยอ้างว่าขณะนี้ตกอยู่ในบรรยากาศความหวาดกลัว สับสน และไม่สบายใจ กรณีที่มีการเลือกจ่ายโบนัสเฉพาะเจ้าหน้าที่ระดับสูงบางคน ซึ่งนายคิม ได้เรียกประชุมในเช้าวันจันทร์นี้ เพื่อคลี่คลายความวิตกเรื่องนี้ รวมทั้งหารือประเด็นเกี่ยวข้องกับการปฏิรูป ที่ได้เคยประกาศไว้นับจากเข้ามานั่งเก้าอี้ประธานธนาคารโลกเมื่อสองปีที่แล้ว
 
หนังสือเวียน ที่สมาคมนำออกเผยแพร่ ก่อนการประชุมประจำปีสมาชิกและเจ้าหน้าที่ธนาคารโลก ในกรุงวอชิงตัน สัปดาห์หน้า ระบุว่า มีความไม่พอใจอย่างมาก กรณีที่มีการเลือกจ่ายโบนัสแก่ฝ่ายบริหารอาวุโส ทำให้ต้องตัดลดค่าใช้จ่าย และงบประมาณในการดำเนินโครงการต่างๆ อีกทั้ง การที่ฝ่ายบริหารขาดการสื่อสารเกี่ยวกับทิศทางการดำเนินงาน ทำให้บรรยากาศความกลัว และสับสนแผ่ไปทั่วองค์กร ทางสมาคม ซึ่งเป็นตัวแทนของพนักงานราว 1 หมื่นคน จึงต้องการให้ประธานคิม ไขข้อข้องใจโดยตรง
 
ทั้งนี้ สถาบันการเงินของโลก ที่มีภารกิจหลักคือต่อสู้ความยากจน ถูกรุมเร้าไปด้วยข่าวที่ว่า เจ้าหน้าที่อาวุโสบางคนได้รับโบนัสก้อนโต ทั้งที่พยายามลดรายจ่าย โดยเฉพาะนายแบร์ทรองด์ บาเดร ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการเงิน ด้านการปรับโครงสร้างของธนาคารโลก ที่ได้รับโบนัสในงบปีการเงิน 2557 จำนวน 94,000 ดอลลาร์ นอกเหนือจากเงินเดือนสุทธิปีละประมาณ 380,000 ดอลลาร์ ทั้งยังได้รับเงินพิเศษจ่ายเป็นงวดอีกเกือบ 95,000 ดอลลาร์ เมื่อครั้งถูกดึงตัวมาทำงานเมื่อมีนาคมปีที่แล้ว
 
เวียดนามพิจารณาแผนพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ สร้างแรงงานฝีมือในภาคพลังงานนิวเคลียร์อีก 5,000 คน
 
7 ต.ค. 2014 กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเวียดนาม จัดประชุม "การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในภาคนิวเคลียร์" เมื่อเร็ว ๆ นี้ เพื่อพิจารณาเรื่องการสร้างแรงงานมีทักษะและบัณฑิตอีกราว 6,000 คน สำหรับอุตสาหกรรมพลังงานนิวเคลียร์ ที่ปัจจุบันเวียดนามมีคนงานในภาคนิวเคลียร์เพียง 1,300 คน จำเป็นต้องสร้างเพิ่มเติมอีก 5,000 คนภายในปี 2563
 
นายไบรอัน มอลลอย หัวหน้าแผนกทรัพยากรมนุษย์สำนักงานพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ หรือไอเออีเอ กล่าวระหว่างการประชุมว่า การฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ให้ดำเนินการโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ของเวียดนามในจังหวัดนินห์ถ่วน ทางตอนใต้ของประเทศนั้น ต้องใช้เวลา 7-10 ปี เวียดนามจึงจำเป็นต้องมีแผนที่ละเอียดและปฏิบัติได้ เรื่องแผนการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในภาคส่วนนี้
 
ด้านนายจัน เวียด ถั่น รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์ เปิดเผยว่า เวียดนามกำลังเร่งพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ เพื่อให้บรรลุความต้องการแรงงานมีทักษะด้านพลังงานนิวเคลียร์ในอนาคต การร่วมมือกันระหว่างเวียดนามและผู้เชี่ยวชาญจากไอเออีเอ จะช่วยพัฒนาทักษะและความรู้ของแรงงานชาวเวียดนามได้ นอกจากนี้เวียดนามยังส่งนักศึกษา 300 คนไปศึกษาเทคโนโลยีนิวเคลียร์ที่ก้าวหน้าจากรัสเซียด้วย
 
พนักงานรถไฟใต้ดินลอนดอนประกาศหยุดงาน 48 ชม.
 
7 ต.ค. 2014 สหภาพขนส่งอังกฤษแถลงว่า พนักงานการรถไฟใต้ดินกรุงลอนดอนของอังกฤษกำหนดผละงานประท้วงเป็นเวลา 48 ชั่วโมงในวันอังคารสัปดาห์หน้าเนื่องจากยังตกลงกรณีปิดจุดจำหน่ายตั๋วโดยสารยังไม่ได้ คาดว่าจะทำให้การเดินทางโกลาหล
 
สมาชิกสหภาพขนส่งที่มีจำนวน 80,000 คนประกาศผละงานประท้วงสัปดาห์หน้าตั้งแต่ช่วงค่ำวันที่ 14 ตุลาคมไปจนถึงค่ำวันที่ 16 ตุลาคม การนัดหยุดงานดังกล่าวตรงกับเจ้าหน้าที่สาธารณสุข และข้าราชการทั่วอังกฤษจากความขัดแย้งเรื่องค่าตอบแทน การจ้างงาน และการตัดลดค่าใช้จ่าย ผู้บริหารการรถไฟใต้ดินกล่าวว่า การปิดจุดจำหน่ายตั๋วบางแห่งเนื่องจากมีผู้ใช้บริการน้อย เพราะมีตู้จำหน่ายและระบบบริการอัตโนมัติเพียงพอแล้ว และว่าพนักงานควรประจำอยู่ที่สถานี
 
CNN ประกาศปลดพนักงานหลายร้อยตำแหน่ง บริษัทแม่อ้างเหตุผลยอดฮิต “ต้องปรับโครงสร้างองค์กร
 
8 ต.ค. 2014 รายงานข่าวล่าสุดยืนยันว่า สถานีข่าว 24 ชั่วโมงชื่อดังอย่าง “เคเบิล นิวส์ เน็ตเวิร์ก” หรือ “ซีเอ็นเอ็น” ซึ่งมีฐานอยู่ในนครแอตแลนตา ในมลรัฐจอร์เจียของสหรัฐฯประกาศปลดพนักงานทั่วโลกจำนวน 300 ตำแหน่งจากจำนวนพนักงานในองค์กรทั้งหมดที่มีจำนวนราว 3,500 คน ตามแผนปรับโครงสร้างองค์กรครั้งใหญ่ที่มีชื่อว่า “เทอร์เนอร์ 2020” ของบริษัท “เทอร์เนอร์ บรอดแคสติง” ที่เป็นบริษัทแม่ของซีเอ็นเอ็น
       
แหล่งข่าวภายในบริษัทซึ่งไม่เปิดเผยชื่อยืนยันว่า การปลดพนักงานจำนวน 300 คนดังกล่าวของซีเอ็นเอ็นจะมีผลสมบูรณ์ภายในไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้า หรือภายในสิ้นเดือนนี้ โดยในจำนวนนี้ราว 130 คนเป็นพนักงานที่มีอายุ 55 ปีขึ้นไป ที่ถูกบีบให้ต้องยินยอม “ลาออกโดยสมัครใจ” ขณะที่เหลืออีกราว 170 ตำแหน่งจะเป็นการเลิกจ้างโดยตรง
       
นอกเหนือจากพนักงานของซีเอ็นเอ็นแล้ว ทางบริษัทแม่อย่างเทอร์เนอร์ บรอดแคสติง ยังประกาศปลดพนักงานของบริษัทอื่นๆที่อยู่ในเครือรวมทั้งสิ้นราว 1,475 ตำแหน่งด้วยเช่นกัน ซึ่งรวมถึงพนักงานของช่องการ์ตูนชื่อดังอย่าง “Cartoon Network”
       
ด้านจอห์น มาร์ติน ซีอีโอของบริษัท เทอร์เนอร์ บรอดแคสติง ออกคำแถลงภายในถึงพนักงานในองค์กรโดยระบุว่าการปลดพนักงานออกถือเป็นสิ่งที่มีความจำเป็นสำหรับ “ช่วงเวลาแห่งการเปลี่ยนผ่าน” ที่บริษัทต้องเร่งปรับโครงสร้างองค์กรให้มีความแข็งแกร่ง พร้อมกล่าวขอบคุณพนักงานที่ต้องถูกปลดออกในครั้งนี้ ถึงความทุ่มเทของพวกเขาให้กับบริษัทตลอดหลายปีที่ผ่านมา 
 
ชาวพม่าสามารถทำประกันสุขภาพได้แล้ว
 
9 ต.ค. 2014 เว็บไซต์มิซซิมา รายงานเมื่อวันที่ 9 ตุลาคมว่า ชาวพม่าจะสามารถทำประกันสุขภาพได้แล้วในโครงการประกันสุขภาพที่ทางการพม่าจะเริ่มให้มีการบริการแก่ประชาชนในช่วงต้นปีหน้า โดยจะเริ่มนำร่องที่นครย่างกุ้งและเมืองมัณฑะเลย์ของพม่า ก่อนที่จะให้มีการบริการเต็มสูบครอบคลุมทุกพื้นที่
 
ปัจจุบันการทำประกันในพม่ามีครอบคลุมการทำประกันไฟไหม้ รถยนต์และอสังหาริมทรัพย์ แต่ยังไม่มีการประกันด้านสุขภาพ เมื่อผู้ที่เจ็บป่วยต้องเข้าโรงพยาบาลก็จะต้องเสียค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลสูง ซึ่งก็เป็นภาระหนักสำหรับผู้เจ็บป่วยที่มีรายได้น้อย แต่การมีโครงการประกันสุขภาพก็จะช่วยดูแลสิทธิประโยชน์และชดเชยค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลของผู้ทำประกัน
 
โดยขณะนี้คณะทำงานที่มีตัวแทนจากบริษัทประกันภัยของเอกชนในพม่าจำนวน 12 บริษัท กระทรวงสาธารณสุข สมาคมโรงพยาบาลเอกชนและกรมสวัสดิการสังคมของพม่ากำลังร่วมกันทำงานเพื่อทำให้โครงการประกันสุขภาพนี้เกิดขึ้นเป็นรูปธรรม
 
“โนเกีย-ยาฮู” ลดพนักงาน ปิดโรงงานในอินเดียแล้ว
 
9 ต.ค. 2014 ไมโครซอฟท์แจ้งว่า ข้อตกลงที่ทำไว้กับทางโนเกียจะมีผลให้ต้องยุติการผลิตในวันที่ 1 พฤศจิกายนนี้ และเมื่อไม่มีออเดอร์จากทางไมโครซอฟท์ โนเกียก็จำเป็นต้องยุติการผลิตโทรศัพท์มือถือในโรงงาน Sriperumbudur” พร้อมกันนั้น ทางโนเกียยังได้แถลงด้วยว่า เป็นเพราะปัญหาด้านภาษีทำให้โนเกียไม่สามารถสร้างโอกาสให้แก่โรงงานนี้ได้ดีกว่าที่เป็นอยู่
       
สำหรับการดำเนินการดังกล่าวเป็นการทำตามแผนที่ได้ประกาศไว้ตั้งแต่เดือนกรกฎาคมของไมโครซอฟท์ ว่า ไมโครซอฟท์จะลดพนักงานลง 18,000 ตำแหน่ง รวมถึงพนักงาน 12,500 ตำแหน่งที่โอนมาจากโนเกียด้วย
       
สำหรับโรงงาน Chennai นั้นอาจกล่าวได้ว่าเป็นโรงงานผลิตโทรศัพท์มือถือที่ใหญ่ที่สุดในโลก มีพนักงานทำงานทั้งสิ้น 6,600 คน แต่ในการขายให้แก่ไมโครซอฟท์ โนเกียพบปัญหาด้านภาษีจึงทำให้ไม่สามารถขายโรงงานในส่วนนี้ให้ได้ ซึ่งในเดือนเมษายนที่ผ่านมา โนเกียได้เคยเสนอแผนทางเลือกให้แก่พนักงาน เช่น ขออาสาสมัครลาออกจากงาน ฯลฯ และมีผู้รับข้อเสนอทั้งสิ้น 5,700 คน ส่วนที่เหลืออีก 900 คน คือผู้ที่ต้องประสบชะตากรรมกลายเป็นคนตกงานหลังไมโครซอฟท์ยุติการจ้างผลิต ซึ่งขณะนี้พนักงาน 900 คน อยู่ระหว่างการเตรียมดำเนินการตามกฎหมายต่อบริษัท
       
ทางโนเกียเผยด้วยว่า ได้แจ้งเรื่องการปิดโรงงานให้แก่ผู้ถือหุ้น และคณะกรรมการแรงงานได้รับทราบแล้ว ขณะนี้ทางบริษัทพยายามหาทางออกที่สร้างผลกระทบน้อยที่สุดต่อพนักงานที่ทำงานในโรงงานดังกล่าว และจะเปิดเผยข้อมูลอีกครั้งเมื่อได้ข้อสรุป
       
ไม่เพียงโนเกีย แต่ยักษ์ใหญ่อย่างยาฮู (Yahoo) ก็มีแผนจะลดพนักงานในเมืองบังกาลอร์ของอินเดียลงด้วยเช่นกัน ทั้งๆ ที่ฐานในอินเดียอาจถือได้ว่าเป็นฐานที่ใหญ่มากของยาฮู โดยทางผู้บริหารของยาฮูให้ความเห็นว่า ต้องการรวมบริษัทให้อยู่ใกล้กันมากขึ้น และมีสำนักงานที่ตั้งอยู่ข้างนอกเพียงไม่กี่ออฟฟิศ
       
สำหรับพนักงานที่จะถูกปรับลด คาดว่ามีทั้งสิ้น 400 ตำแหน่ง และงานบางชนิดก็จะย้ายไปทำที่สำนักงานใหญ่ของยาฮู ใน Sunnyvale แคลิฟอร์เนีย ยาฮู ทิ้งท้ายด้วยว่า นี่เป็นการตัดสินใจเพื่อให้บริษัทสามารถเติบโตได้อย่างยั่งยืน
 
แรงงานกัมพูชารวมตัวครั้งใหญ่ชุมนุมประท้วงร้องเพิ่มค่าแรง
 
13 ต.ค. 2014 แรงงานตัดเย็บเสื้อผ้าสำเร็จรูปมากกว่า 1,000 คน รวมตัวกันในกรุงพนมเปญ วานนี้ (12) เดินขบวนผ่านย่านใจกลางเมือง เรียกร้องการปรับเพิ่มค่าแรงจากบรรดาโรงงานต่างๆ ที่นับว่าเป็นการชุมนุมประท้วงของภาคอุตสาหกรรมตัดเย็บเสื้อผ้าสำเร็จรูปครั้งใหญ่ที่สุดในเมืองหลวง ตั้งแต่ครั้งที่เจ้าหน้าที่ได้ปราบปรามการชุมนุมเรียกร้องปรับเพิ่มค่าแรงในเดือนม.ค.
       
สหภาพแรงงาน 6 กลุ่ม รวมตัวกันจัดการชุมนุมด้วยวัตถุประสงค์ที่จะสร้างแรงกดดันต่อรัฐบาลเพื่อขออนุมัติปรับเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำของภาคอุตสาหกรรมส่วนนี้ จากในปัจจุบันค่าแรงอยู่ที่ 100 ดอลลาร์ต่อเดือน คณะกรรมการที่ปรึกษาแรงงาน ประกอบด้วย ตัวแทนจากภาครัฐ โรงงาน และสหภาพแรงงาน กำหนดที่จะออกคำแนะนำต่อรัฐบาลในเดือนหน้า โดยอัตราค่าจ้างขั้นใหม่จะมีผลในเดือน ม.ค.
       
แรงงานตัดเย็บเสื้อผ้าสำเร็จรูปจากกรุงพนมเปญ และจังหวัดข้างเคียงรวมตัวกันที่สวนสาธารณะเสรีภาพ พร้อมสวมเสื้อสีชมพูมีข้อความระบุว่า “เราต้องการค่าแรงที่เหมาะสม” ในเช้าวันอาทิตย์ (12) ก่อนเริ่มเดินขบวน
       
“เราเรียกร้องค่าแรงที่เหมาะสมเพราะเราต้องการความเป็นอยู่ที่ดี สุขภาพที่ดี และให้ลูกหลานของเราไปเรียนหนังสือได้” ตัวแทนจากสมาคมสหภาพสิ่งทออิสระแห่งชาติในกัมพูชา กล่าวต่อผู้ชุมนุม
       
เมื่อเดือนก่อน องค์การแรงงานระหว่างประเทศ ระบุว่า จากการสำรวจกลุ่มตัวอย่างเมื่อไม่นานนี้กับแรงงานตัดเย็บเสื้อผ้าสำเร็จรูปของกัมพูชา 600,000 คน พบว่า 2 ใน 3 ของแรงงาน มีภาวะขาดสารอาหาร และมากกว่า 40% เป็นโรคโลหิตจาง และ15.7% มีน้ำหนักต่ำกว่าเกณฑ์
       
“เราเข้าร่วมการชุมนุมประท้วงเพราะเราไม่สามารถอยู่ได้ด้วยค่าแรงจำนวนเท่านี้ เราต้องจ่ายค่าไฟ ค่าน้ำ ค่าเช่าบ้าน และค่าอาหาร และยังต้องส่งเงินกลับบ้านด้วย บางครั้งเราต้องยืมเงินคนอื่นเพื่อมาใช้จ่ายเวลาที่เราเจ็บป่วย” แรงงานตัดเย็บเสื้อผ้าสำเร็จรูปจากกรุงพนมเปญ กล่าว
       
แรงงานเดินขบวนจากสวนเสรีภาพไปยังสถานทูตสหรัฐฯ และสำนักงานสหภาพยุโรปเพื่อส่งคำร้องเรียกร้องให้รัฐบาลต่างชาติกดดันรัฐบาลกัมพูชาเพื่อพิจารณาอนุมัติปรับเพิ่มค่าแรง และสหภาพแรงงานยังต้องการให้สินค้าแบรนด์สหรัฐฯ และยุโรปที่ซื้อจากกัมพูชาปรับเพิ่มราคาที่จ่ายให้แก่โรงงานของกัมพูชา เพื่อช่วยให้การปรับค่าแรงแก่บรรดาแรงงานนั้นมีความเป็นไปได้มากขึ้น
       
ขณะเดียวกัน ที่ด้านนอกอาคารรัฐสภา แรงงานได้ยื่นคำร้องต่อสมาชิกรัฐสภาของพรรค CNRP และพรรค CPP ที่ให้คำมั่นว่าจะช่วยเหลือ โดยสมาชิกรัฐสภาของพรรค CNRP ที่เป็นหัวหน้าคณะกรรมาธิการแรงงานของรัฐสภา กล่าวต่อแรงงานว่า มีคำเชิญไปยังรัฐมนตรีกระทรวงแรงงานเพื่อตอบคำถามเกี่ยวกับค่าแรงขั้นต่ำ และประเด็นปัญหาแรงงานอื่นๆ ในวันอังคารนี้ (14) แต่ยังไม่ได้รับคำตอบ
 
พม่ากดดัน ไทย มาเลเซีย สิงคโปร์ ยกเลิกวีซ่าแรงงาน
 
14 ต.ค. 2014 เว็บไซต์ข่าวของเมียนมาร์ "Mizzima" รายงานว่า นาย อู เนียง นึง ฮาน (U Naung Naung Han) เลขานุการองค์การการท่องเที่ยวของเมียนมาร์ เปิดเผยว่า ขณะนี้รัฐบาลเมียนมาร์กำลังพิจารณาการลงนามข้อตกลงร่วมกัน เพื่อมุ่งจุดประสงค์ไปที่การยกเลิกวีซ่าสำหรับแรงงานพม่า เช่นที่ผ่านที่ได้ยกเลิกใน 5 ประเทศเพื่อนบ้านที่ร่วมภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
 
นอกจากนี้ นายอูกล่าวเพิ่มว่า เมียนมาร์ต้องเผชิญกับปัญหาการยื่นขอวีซ่า เพื่อเข้ามาทำงานต่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศไทย มาเลเซีย และสิงคโปร์ ซึ่งเริ่มเข้มงวดมากขึ้นเกี่ยวกับปัญหาความเคลื่อนไหวของแรงงานพม่า
 
ทั้งนี้ ในฐานะที่เมียนมาร์เป็นประธานอาเซียนในปีนี้ จึงใคร่ครวญและสร้างความกดดันต่อหลาย ๆ ประเทศที่กล่าวมาข้างต้น ให้มีการพิจารณาการยกเลิกวิซ่าเพื่อแรงงานพม่า และสร้างความผ่อนปรนมากขึ้นนั่นเอง
 
และล่าสุด ทางกระทรวงการต่างประเทศของเมียนมาร์ ออกมาแถลงการณ์ว่า ปัจจุบันเมียนมาร์ได้ลงนามข้อตกลงยกเลิกวีซ่าเพื่อแรงงาน ร่วมกับประเทศกัมพูชา ลาว อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม 
 
รัฐมนตรีคลังสหภาพยุโรปสนับสนุนมาตรการลงทุนเพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ
 
15 ต.ค. 2014 รัฐมนตรีคลังของสหภาพยุโรปซึ่งเสร็จสิ้นการประชุมที่ประเทศลักเซมเบิร์กสนับสนุนมาตรการลงทุนจากภาครัฐเพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่ฝรั่งเศสกับเยอรมนียังมีท่าทีที่แตกต่างกัน ในเรื่องนโยบายเพื่อกระตุ้นการเติบโตทางเศรษกิจ ขณะเดียวกันก็มีความกังวลเพิ่มขึ้นว่าเศรษฐกิจของกลุ่มยุโรปโซน 18 ประเทศอาจกลับสู่ภาวะถดถอยอีกครั้งได้จากปัญหาเศรษฐกิจในสองประเทศสมาชิกที่สำคัญ เพราะเยอรมนีเพิ่งประกาศลดประมาณการณ์ทางเศรษฐกิจสำหรับปีนี้และปีหน้าลงอย่างมาก ในขณะที่ฝรั่งเศสก็มีปัญหาว่างงานในระดับสูงมากเช่นกัน และคาดว่าร่างงบประมาณประจำปี 2558 ของฝรั่งเศสจะถูกปฏิเสธโดยสหภาพยุโรปเพราะเชื่อว่าฝรั่งเศสจะไม่สามารถทำตามเป้าของสหภาพยุโรป เรื่องการรักษาวินัยด้านการคลังที่กำหนดการขาดดุลงบประมาณไม่ให้เกิน 3% เป็นครั้งที่สองด้วย
 
นาย Jean Tirole นักเศรษฐศาสตร์ชาวฝรั่งเศสผู้เพิ่งได้รางวัลโนเบลให้ความเห็นว่า ฝรั่งเศสควรต้องดำเนินการปฏิรูปหลายด้าน โดยเรื่องหนึ่งนั้นคือการปฏิรูปตลาดแรงงาน เพราะขณะนี้การปฏิรูปดังกล่าวของฝรั่งเศสยังไม่ประสบความสำเร็จเหมือนในเยอรมนีและกลุ่มประเทศสแกนดิเนเวีย
 
อินโดนีเซียเตรียมระบบประกันสังคมอให้กับแรงงานท้องถิ่นทั้งหมด 20.7 ล้านคนในปีหน้า
 
16 ต.ค. 2014 เจ้าหน้าที่อาวุโส ในสำนักงานประกันสังคมอินโดนีเซีย หรือ บีพีเจเอส "นายเอลวิน จี มาซาสยา" กล่าวว่า ปัจจุบัน บีพีเจเอสมีเงินประกันสังคมภายใต้การบริหารจัดการทั้งหมด 177 ล้านล้านรูเปียะห์ จากการให้บริการแรงงาน 15.4 ล้านคนจาก 218,000 บริษัท ซึ่งราว 70% ในจำนวนนี้เป็นวิสาหกิจขนาดกลาง และเล็ก หรือเอสเอ็มอี
 
ผลประโยชน์ที่แรงงานได้รับจากบีพีเจเอสในขณะนี้ รวมถึง ประกันชีวิต เงินบำนาญ และประกันอุบัติเหตุขณะทำงาน ซึ่งตั้งแต่ปีหน้า ประกันสังคมจะเริ่มโครงการเงินบำนาญสำหรับแรงงานในภาคเอกชน โดยกรุงจาการ์ตา จะเป็นพื้นที่แรกที่ได้รับการจัดหาสวัสดิการอย่างเต็มรูปแบบ
 
ทั้งนี้ บีพีจีเอส จัดตั้งกองทุนเพื่อคนงานขึ้นเมื่อปีที่แล้ว พร้อมกับกองทุนบีพีเจเอสเพื่อสาธารณสุข ทั้งสองโครงการถูกออกแบบขึ้นให้เป็นสัญลักษณ์ของการประกันสังคมภายใต้โครงการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือเจเคเอ็น รองรับข้าราชการพลเรือน ข้าราชการบำนาญ ตำรวจ ทหาร ทหารผ่านศึกและครอบครัว บริษัทเอกชนและบุคคลทั่วไป
 
ผลสำรวจชี้ ช่องว่างทางเพศช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ลดลงอย่างมาก โดยเฉพาะในระบบการศึกษาและตลาดแรงงาน
 
16 ต.ค. 2014 บริษัทที่ปรึกษาบอสตัน คอนซัลติง กรุ๊ป เผยรายงาน ที่จัดทำขึ้นสำหรับการประชุมสตรีสำหรับเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งแสดงให้เห็นว่า เด็กอายุระหว่าง 6-11 ปี ที่ได้เข้าเรียนชั้นประถมศึกษา คิดเป็นสัดส่วนถึง 91% ของเด็กในวัยนี้ทั่วโลกแล้ว และดัชนีความเสมอภาคระหว่างหญิงชายของสหประชาชาติหรือยูเอ็นชี้ว่า ถึงแม้ในปี 2543 จะมีอัตราเด็กผู้หญิงเข้าเรียน 95 คนต่อเด็กผู้ชาย 100 คน แต่ปัจจุบัน อัตราเข้าเรียนของเด็กผู้หญิงได้เพิ่มขึ้นเป็น 98 คนแล้ว อย่างไรก็ตาม จำนวนนักเรียนชั้นมัธยมศึกษายังคงล้าหลังสำหรับทั้งสองเพศ โดยเด็กผู้หญิงยังคงมีแนวโน้มเข้าเรียนน้อยกว่า
 
ขณะที่ในกลุ่มประเทศองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนาหรือโออีซีดี ยังคงมีช่องว่างขนาดใหญ่ในวิชาสาขาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรม และคณิตศาสตร์ ในระดับอุดมศึกษา และมีผู้หญิงที่เรียนสาขาวิทยาศาสตร์เพียง 43% ที่จะไปทำงานในสายฟิสิกส์ คณิตศาสตร์ หรือวิศวกรรม เทียบกับผู้ชายที่มี 71% และคาดว่าทั้ง 4 สาขาวิชาจะต้องเผชิญกับการขาดแคลนแรงงานในอนาคต เนื่องจากอัตราวัยเกษียณเพิ่มขึ้นและอัตราการเกิดลดลงในประเทศพัฒนาแล้ว
 
อย่างไรก็ดี รายงานระบุว่า หากมีผู้หญิงเข้าศึกษา เท่ากับผู้ชายใน 4 สาขาวิชาเหล่านี้ในระดับอุดมศึกษา จะทำให้มีผู้หญิงได้งานในสาขาวิชาชีพเหล่านี้เพิ่มขึ้นถึง 4 ล้านคน ภายในปี 2568 นอกจากนี้ ในตลาดแรงงานทั่วโลกก็มีช่องว่างระหว่างเพศลดลง โดยเพิ่มจาก 54% ในปี 2543 มาอยู่ที่ 57% ในปี 2555
 
รายงานชี้อีกว่า จำนวนผู้หญิงที่ทำธุรกิจก็เพิ่มขึ้นด้วย เห็นได้จากในปี 2554 ที่มีผู้หญิงทำธุรกิจ 41% เทียบกับปี 2547 ที่มีเพียง 35% และถึงแม้อัตราการมีส่วนร่วมของผู้หญิงทั่วโลกจะเพิ่มขึ้น แต่บางประเทศยังมีอัตราดังกล่าวลดลงในตลาดแรงงาน เช่น อินเดีย ที่ลดลงจาก 36% เหลือ 30% จีน ที่ลดจาก 77% เหลือ 70% และสหรัฐ ที่ลดจาก 70% เหลือ 67%
 
คนขับรถไฟเยอรมนีผละงานครั้งใหญ่สุดในรอบหลายปี
 
18 ต.ค. 2014 ผู้ใช้บริการรถไฟในเยอรมนีประสบกับความล่าช้าและความวุ่นวายในวันนี้ ซึ่งเป็นช่วงที่มีการเดินทางสุดสัปดาห์จอแจที่สุดช่วงหนึ่งของฤดูใบไม้ร่วง เนื่องจากสหภาพพนักงานขับรถไฟเริ่มการหยุดงานประท้วงครั้งใหญ่ที่สุดในรอบหลายปี
 
การรถไฟเยอรมนี ออกแถลงการณ์ว่า ขณะนี้บริการรถไฟสายหลักให้บริการได้เพียง 1 ใน 3 เท่านั้น และจะพยายามรักษาบริการเส้นทางภูมิภาคและในเมืองไว้ให้ได้ร้อยละ 30 หลังจากสหภาพพนักงานขับรถไฟเริ่มหยุดงานประท้วงครั้งใหญ่ที่สุด นับตั้งแต่ปี 2551 โดยได้ขอให้สมาชิกเริ่มหยุดงานตั้งแต่เวลา 15.00 น. วันศุกร์ ตามเวลาท้องถิ่น (20.00 น. วันศุกร์ ตามเวลาในไทย) สำหรับบริการขนส่งสินค้า และเริ่มหยุดงานตั้งแต่เวลา 02.00 น. วันนี้ ตามเวลาท้องถิ่น (07.00 น. วันนี้ ตามเวลาในไทย) สำหรับบริการรถไฟโดยสารระยะไกลและภูมิภาค กำหนดสิ้นสุดการหยุดงานในเวลา 04.00 น. วันจันทร์ ตามเวลาท้องถิ่น (09.00 น. วันจันทร์ ตามเวลาในไทย)
 
การหยุดงานประท้วงนี้มีขึ้นในช่วงสุดสัปดาห์ที่มีการเดินทางจอแจที่สุดช่วงหนึ่งของฤดูใบไม้ร่วงในเยอรมนี เพราะเป็นช่วงปิดภาคเรียน สหภาพพนักงานคนขับรถไฟกล่าวหาการรถไฟว่า ขัดขวางการเจรจาเรียกร้องขึ้นค่าแรงร้อยละ 5 และลดชั่วโมงการทำงานจากสัปดาห์ละ 39 ชั่วโมง เหลือ 37 ชั่วโมง ด้านการรถไฟเยอรมนีตำหนิการหยุดงานครั้งใหม่ ซึ่งเป็นครั้งที่ 5 ในช่วงไม่กี่สัปดาห์ ว่า การหยุดงานนาน 50 ชั่วโมง ในช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์ ถือเป็นการกระทำที่เกินไป สหภาพและประธานสหภาพฯ กระหายอำนาจโดยไม่สนใจผลประโยชน์ของพนักงานขับรถไฟและผู้โดยสาร
 
องค์การนิรโทษฯ จวกการล่วงละเมิดสิทธิ “แรงงานต่างด้าว” ในภาคเกษตรกรรมเกาหลีใต้
 
20 ต.ค. 2014 แรงงานต่างด้าวที่เข้าไปทำงานตามฟาร์มเกษตรกรรมของเกาหลีใต้ตกเป็นเหยื่อการล่วงละเมิดอย่างรุนแรง ภายใต้ระบบการออกใบอนุญาตทำงานซึ่งเปิดช่องให้นายจ้างสามารถฉวยโอกาสกับแรงงานเหล่านี้ได้ ถือว่าเป็นเรื่อง “น่าละอาย” องค์การนิรโทษกรรมสากล (เอไอ) ระบุในรายงานซึ่งเผยแพร่วันนี้ (20 ต.ค.)
       
ผู้ตรวจการพิเศษสหประชาชาติว่าด้วยการเหยียดผิว (UN's special rapporteur on racism) ซึ่งได้เดินทางไปปฏิบัติภารกิจในเกาหลีใต้ ยังเอ่ยถึง “ปัญหาร้ายแรง” ที่คนต่างด้าวซึ่งเป็นแรงงานไร้ฝีมือและได้ค่าจ้างเพียงน้อยนิดต้องเผชิญ
       
รายงานของเอไอ เรื่อง “การเก็บเกี่ยวผลผลิตที่ขมขื่น” (Bitter Harvest) ซึ่งสรุปจากการสัมภาษณ์แรงงานต่างด้าวหลายสิบชีวิตตามฟาร์มเกษตกรรมทั่วเกาหลีใต้ เผยข้อมูลเกี่ยวกับการข่มขู่และใช้ความรุนแรง การใช้ให้ทำงานเกินเวลา และที่อยู่อาศัยซึ่งสกปรกซอมซ่อ
       
“การแสวงหาผลประโยชน์จากคนงานต่างด้าวในภาคเกษตรกรรมถือเป็นรอยด่างที่บั่นทอนภาพลักษณ์ของเกาหลีใต้” นอร์มา กัง มุยโก นักวิจัยด้านสิทธิแรงงานต่างด้าวในเอเชีย-แปซิฟิกของ เอไอระบุ
       
“รัฐบาลเกาหลีใต้ได้สร้างระบบอันน่าละอาย ซึ่งเปิดโอกาสให้การค้ามนุษย์เพื่อฉกฉวยผลประโยชน์ และการบังคับใช้แรงงานสามารถเฟื่องฟูขึ้นมาได้... ในทางกลับกัน หากพลเมืองเกาหลีใต้ตกเป็นเหยื่อการล่วงละเมิดอย่างนี้บ้าง พวกเขาต้องไม่ยอมแน่นอน” เธอกล่าว
       
จากข้อมูลในปี 2013 มีแรงงานต่างด้าวเข้าไปทำงานในเกาหลีใต้ประมาณ 250,000 คน ในจำนวนนี้เป็นแรงงานภาคเกษตรกรรมราว 20,000 คน
       
แรงงานเหล่านี้ทำสัญญาว่าจ้างภายใต้ระบบการอนุญาตจ้างงาน (Employment Permit System –EPS) ของรัฐบาลเกาหลีใต้ ซึ่งเอไอชี้ว่ามีรายละเอียดที่เอื้อผลประโยชน์ต่อนายจ้างมากเกินไป จนทำให้แรงงานต่างด้าวตกอยู่ในความเสี่ยง และไม่ได้รับการปกป้องทางกฎหมายอย่างเพียงพอ
       
ในขณะที่นางจ้างสามารถไล่คนงานออกได้ตามใจชอบ แรงงานซึ่งส่วนใหญ่มาจากกัมพูชา เนปาล และเวียดนาม จะสามารถเปลี่ยนงานได้ก็ต่อเมื่อนายจ้างยอมเซ็นใบอนุญาตปล่อยตัวเท่านั้น เนื่องจากแรงงานส่วนใหญ่ต้องกู้หนี้ยืมสินเพื่อเดินทางจากบ้านเกิดมาหางานทำในเกาหลีใต้ การตกงานจึงถือเป็นเรื่องใหญ่ และทำให้พวกเขาแทบจะไม่มีอำนาจต่อรองใดๆ เลย
       
“ระบบอีพีเอสของเกาหลีใต้ทำให้ชีวิตของแรงงานต่างด้าวต้องขึ้นอยู่กับความเมตตาของนายจ้าง ซึ่งบางรายก็ไม่ซื่อสัตย์ และถือโอกาสแสวงหาผลประโยชน์จากเงื่อนไขจ้างงานที่จำกัดสิทธิของแรงงานในการเปลี่ยนงาน” มุยโกระบุ
       
รายงานฉบับนี้ยังอ้างถึงการ “สมรู้ร่วมคิด” จากฝ่ายเจ้าหน้าที่รัฐเองด้วย เพราะเมื่อแรงงานที่ถูกล่วงละเมิดเข้าไปร้องเรียนเพื่อขอความช่วยเหลือ ก็มักจะถูกทางการโน้มน้าวให้หยุดดำเนินการเสีย
       
คนงานชาวกัมพูชาวัย 25 ปีรายหนึ่งเผยกับเอไอว่า เขาเคยไปที่ศูนย์จ้างงานของรัฐบาลเกาหลีใต้พร้อมกับคลิปในโทรศัพท์มือถือที่บันทึกภาพนายจ้างกำลังทุบตีเขา
       
“เจ้าหน้าที่รับเรื่องร้องเรียนบอกผมว่า เป็นความผิดผมเองที่ตัดกะหล่ำปลีผิดวิธี... เธอบอกให้ผมรีบกลับไปหานายจ้างและขอโทษเสีย”
       
ด้วยอัตราความชราภาพที่สูงขึ้นและการหลั่งไหลเข้าสู่เมืองของคนรุ่นใหม่ๆ เกาหลีใต้จึงต้องพึ่งพาแรงงานต่างด้าวมาเติมเต็มตำแหน่งงานที่ขาดแคลนในภาคการเกษตร การประมง และการก่อสร้าง
       
เอไอ เรียกร้องให้รัฐบาลโซลหามาตรการคุ้มครองสิทธิขั้นพื้นฐานของแรงงานทั้งในด้านชั่วโมงทำงานและวันหยุดพักผ่อน รวมถึงอนุญาตให้พวกเขาสามารถเปลี่ยนงานได้ โดยไม่ต้องรอให้นายจ้างเซ็นใบปล่อยตัว
       
มาทูมา รูทีรี ผู้ตรวจการพิเศษสหประชาชาติ ก็ได้อ้างถึงปัญหาของระบบอีพีเอสระหว่างการเยือนเกาหลีใต้เมื่อต้นเดือนตุลาคมเช่นกัน โดยชี้ว่านอกจากแรงงานต่างด้าวจะได้ค่าจ้างต่ำกว่ามาตรฐานแล้ว “ส่วนใหญ่ยังถูกแบ่งแยกกีดกัน ถูกดุด่าด้วยถ้อยคำหยาบคาย และถูกทำร้ายร่างกายด้วย” 
 
แรงงานตัดเย็บเสื้อผ้าสำเร็จรูปชาวกัมพูชาได้รับบาดเจ็บ 4 คน หลังพื้นโรงงานพังถล่ม
 
21 ต.ค. 2014 แรงงานตัดเย็บเสื้อผ้าสำเร็จรูปชาวกัมพูชาได้รับบาดเจ็บ 4 คน หลังพื้นโรงงานพังถล่มลงในบ่อที่อยู่ใต้โรงงาน ตามการรายงงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจท้องถิ่น
       
เหตุดังกล่าวเกิดขึ้นเมื่อเวลา 10.00 น. ตามเวลาท้องถิ่นของวันนี้ (21) ที่โรงงาน Nishiku Enterprise ใน จ.ตาแก้ว ทางภาคใต้ของประเทศ และแรงงานที่ประสบเหตุถูกนำตัวส่งโรงพยาบาลเพื่อรักษาอาการบาดเจ็บ
       
เจ้าหน้าที่ตำรวจในพื้นที่ระบุว่า มีแรงงานเพียงแค่ 4 คน ที่ได้รับบาดเจ็บ หลังพื้นโรงงานบางส่วนพังถล่มลงไปในบ่อน้ำที่สร้างอยู่ใต้โรงงาน และว่าเหตุที่เกิดขึ้นเป็นเพราะพื้นคอนกรีตของโรงงานสร้างโดยไม่มีเหล็ก
       
ข้อมูลที่ระบุอยู่บนเว็บไซต์ของสมาคมผู้ผลิตเสื้อผ้าสำเร็จรูปในกัมพูชาแจ้งว่า โรงงานแห่งนี้เป็นโรงงานผลิตกางเกง มีแรงงานทำงานอยู่ 1,200 คน
       
นับเป็นครั้งที่ 3 ที่เกิดอุบัติเหตุขึ้นภายในโรงงานตัดเย็บเสื้อผ้าสำเร็จรูปในรอบ 2 ปี ก่อนหน้านี้เมื่อเดือน พ.ค.2556 เกิดเหตุเพดานคอนกรีตโรงงานรองเท้าวิงสตาร์ถล่ม ทำให้แรงงานเสียชีวิต 2 คน และได้รับบาดเจ็บสาหัส 9 คน และในเดือนเดียวกันนั้น ยังเกิดเหตุศาลาพักร้อนของโรงงานตัดเย็บเสื้อผ้าสำเร็จรูปท็อปเวิลด์ถล่มลงในสระน้ำ ทำให้แรงงานได้รับบาดเจ็บ 23 คน
       
อุตสาหกรรมตัดเย็บเสื้อผ้าสำเร็จรูปเป็นแหล่งรายได้จากต่างชาติใหญ่ที่สุดของกัมพูชา มีสัดส่วนมากกว่า 80% ของการส่งออกทั้งหมดของประเทศ และรายงานของกระทรวงแรงงาน ระบุว่า ภาคส่วนนี้มีโรงงานทั้งหมด 960 โรง และมีการจ้างแรงงานราว 620,000 คน
       
ในช่วง 8 เดือนที่ผ่านมา อุตสาหกรรมตัดเย็บเสื้อผ้าสำเร็จรูปส่งออกสินค้าทำรายได้ 3,990 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 11% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน
 
บอสอินเดีย ใจป้ำ ! แจกโบนัส เก๋ง-คอนโด-เพชร ให้พนักงานไม่อั้น
 
21 ต.ค. 2014 สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า นายซาฟจิบฮาย โดลาเกีย เศรษฐี และนักธุรกิจชาวอินเดีย ซึ่งเป็นประธานบริษัทส่งออกเพชร ‘Hari Krishna Export’ ใจป้ำสุดๆ แจกโบนัสพนักงานกว่าพันคนแบบไม่อั้น แถมของรางวัลยังแพงระยับ เพราะมีทั้งรถเก๋งยี่ห้อเฟียตถึง 491 คัน ที่จะมอบเป็นของขวัญ ให้แก่พนักงาน 491 คน, เครื่องประดับเพชรให้พนักงานกว่า 600 คน และสำหรับพนักงานจำนวน 200 คนที่ดวงเฮงสุดๆ จะได้รับอพาร์ตเมนต์ ขนาด 2 ห้องนอน เป็นของขวัญอีกด้วย หลังจากปีที่ผ่านมา บริษัทมีรายได้จากการส่งออกเพชรให้แก่ลูกค้าในประเทศต่างๆ คิดเป็นเงินกว่าพันล้านดอลลาร์ หรือ 32,000 ล้านบาท 
 
สำหรับการแจกของรางวัลให้แก่พนักงานบริษัทกว่าพันคน ของ นายโดลาเกีย ประธานบริษัทสุดใจดีในครั้งนี้ ยังเลือกให้ตรงกับช่วงเทศกาล Diwali ของอินเดีย ซึ่งเป็นเทศกาลที่เหมือนกับเทศกาลคริสต์มาสของชาวตะวันตก ซึ่งในเทศกาลนี้ ชาวอินเดียจะให้ของขวัญเล็กๆ น้อยๆ แก่เพื่อนสนิท คนในครอบครัว และญาติพี่น้อง
 
สวิสยกเลิกวีซ่า ‘นางระบำเปลื้องผ้า’ นอกอียูเข้าประเทศ
 
23 ต.ค. 2014 รัฐบาลสวิตเซอร์แลนด์ประกาศหยุดให้วีซ่าเข้าประเทศแก่แรงงานต่างชาติภาคพิเศษอาชีพนักเต้นระบำเปลื้องผ้าตามไนท์คลับ ซึ่งแรงงานสาวต่างชาติจำนวนมากไปจากรัสเซีย สาธารณรัฐโดมินิกันและจากเมืองไทย โดยคำสั่งดังกล่าวจะเริ่มมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. ปี 2559 โดยอนุญาตให้เฉพาะสตรีจากชาติสมาชิกสหภาพยุโรป (อียู) เท่านั้น ที่สามารถขอวีซ่าเข้าไปทำงานนางระบำเปลื้องผ้าในสวิตเซอร์แลนด์ได้
 
ด้าน นางซิโมเนตตา ซอมมารูกา รมว.ยุติธรรมสวิตเซอร์แลนด์ให้เหตุผลระงับวีซ่าดังกล่าวหลังได้ศึกษาเชิงลึกแล้วพบว่าวีซ่าประเภทนี้แก้ปัญหาการแสวงประโยชน์ทางเพศจากแรงงานเหล่านั้นไม่ได้ ผู้หญิงจำนวนมากถูกบังคับให้ดื่มแอลกอฮอล์และค้าประเวณี ซึ่งวิธีการแยบยลเหล่านั้นยากจะพิสูจน์ความจริงประจักษ์
 
ทั้งนี้ กฎหมายอนุญาตนางระบำเปลื้องผ้าต่างชาติเข้าประเทศในสวิตเซอร์แลนด์ เริ่มมีมาตั้งแต่ปี 2538 หวังปกป้องแรงงานสตรีต่างชาติจากการถูกบังคับค้าประเวณี แต่บทสรุปกลับแก้ปัญหาเหล่านั้นไม่ได้ ดังนั้น รัฐบาลสวิตเซอร์แลนด์จึงจำเป็นต้องยกเลิกวีซ่าเข้าประเทศประเภทนี้ที่มีระยะเวลาทำงานนาน 8 เดือน โดยให้เหลือเพียงวีซ่าประเภท C คืออนุญาตแรงงานนางระบำเปลื้องผ้าจากชาติยุโรปเท่านั้นและจะบังคับใช้วีซ่าประเภท B ซึ่งต้องต่อวีซ่าทุกปีลำดับต่อไป อย่างไรก็ตาม เหล่านักสิทธิมนุษยชนเตือนว่ามาตรการใหม่นี้อาจยิ่งผลักดันแรงงานนางระบำเปลื้องผ้าต่างชาติหันไปทำงานอย่างผิดกฎหมายมากขึ้นอีก
 
ลอยด์แบงก์จ่อปลดพนักงาน 9,000 คน
 
23 ต.ค. 2014 สำนักข่าวสกายนิวส์ รายงานอ้างแหล่งข่าวไม่เปิดเผยชื่อว่า ลอยด์ แบงก์กิง กรุ๊ป ธนาคารชั้นนำสัญชาติอังกฤษ เตรียมลดพนักงานประมาณ 9,000 ตำแหน่ง หรือประมาณ 1 ใน 10 ของพนักงานทั้งหมดของธนาคารที่มีอยู่ทั่วโลกในระยะ 3 ปีข้างหน้า ด้านโฆษกหญิงของลอยด์แบงก์ ซึ่งปฏิเสธที่จะให้ความเห็นต่อรายงานข่าวชิ้นนี้ ระบุว่า ธนาคารมีกำหนดจะเปิดเผยผลประกอบการไตรมาสสามและกลยุทธทางธุรกิจในสัปดาห์หน้า ทั้งนี้ นับตั้งแต่เกิดวิกฤติการเงิน ธนาคารชั้นนำของอังกฤษแห่งนี้ ปรับโครงสร้างองค์กรให้มีขนาดเล็กลงและปลดพนักงานมาแล้วหลายพันคน
 
ผลวิจัยชี้ผู้ผลิตสินค้ารายใหญ่เตรียมทิ้ง “จีน” กลับไปตั้งฐานผลิตในสหรัฐฯ
 
23 ต.ค. 2014 บริษัทผู้ผลิตสินค้ารายใหญ่ของโลกกำลังหันหลังให้ “จีน” และทยอยย้ายกลับไปตั้งฐานการผลิตในสหรัฐฯ ซึ่งหาแรงงานฝีมือได้ง่ายกว่า รายงานจากบริษัทที่ปรึกษา บอสตัน คอนซัลติง กรุป (บีซีจี) เผยวันนี้ (23 ต.ค.)
       
จากการสอบถามผู้บริหารระดับสูงของบริษัทใหญ่ๆ ในสหรัฐฯ ที่มียอดจำหน่ายสินค้าไม่ต่ำกว่าปีละ 1,000 ล้านดอลลาร์ พบว่า จำนวนผู้ตอบคำถามที่ยอมรับว่าบริษัทของพวกเขากำลังย้ายฐานการผลิตกลับมาสู่อเมริกาเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 20 จากเมื่อปีที่แล้ว
       
คณะนักวิจัยซึ่งเก็บข้อมูลเมื่อเดือนสิงหาคมได้ตั้งคำถามกับผู้บริหารของบริษัทต่างๆที่มีฐานการผลิตในจีนว่า“เนื่องจากค่าจ้างแรงงานในจีนมีแนวโน้มสูงขึ้น ท่านคิดว่าบริษัทของท่านจะย้ายฐานการผลิตกลับไปสหรัฐฯ หรือไม่”
       
ผู้ที่ตอบว่า “ใช่ เรากำลังดำเนินการอย่างจริงจังอยู่แล้ว” เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 16 ในแบบสอบถามชุด “เมด อิน อเมริกา, อะเกน” จากสถิติเดิมร้อยละ 13 ในปีที่แล้ว และเพียงร้อยละ 7 ในการสำรวจครั้งแรกเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ปี 2012
       
แฮโรลด์ เซอร์กิน หนึ่งในผู้เรียบเรียงงานวิจัยของบีซีจี ให้สัมภาษณ์กับเอเอฟพีว่า “ตอนนี้เรากำลังเห็นปรากฏการณ์ย้อนกลับ” หลังจากสหรัฐฯ เคยสูญเสียตำแหน่งงานมหาศาลเพราะบริษัทใหญ่ๆ ย้ายฐานการผลิตไปที่จีนหมด
       
บีซีจี ซึ่งรับให้คำปรึกษาด้านการจัดการทั่วโลก ระบุว่า การสำรวจออนไลน์ครั้งนี้ครอบคลุมอุตสาหกรรมหลากหลายประเภท ตั้งแต่อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์ เรื่อยไปจนถึงเครื่องจักรกลเพื่อการขนส่ง โรงกลั่นน้ำมัน เครื่องนุ่งห่ม และผลิตภัณฑ์อาหาร
       
บีซีจีระบุว่า แบบสอบถามชุดนี้มีผู้ตอบ 252 ราย เกือบทั้งหมดเป็นผู้บริหารของบริษัทซึ่งมีฐานการผลิตทั้งในสหรัฐฯและต่างประเทศ และวางจำหน่ายสินค้าเพื่อผู้บริโภคชาวอเมริกันและประเทศอื่นๆ ด้วย
       
ผู้บริหารที่ตอบว่าบริษัทของพวกเขาจะ “พิจารณา” ย้านฐานการผลิตกลับมายังสหรัฐฯ ในอนาคตอันใกล้ เพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 24 ขณะที่ร้อยละ 54 หรือเกินครึ่งระบุว่าพวกเขา “สนใจ” ย้ายฐานการผลิตกลับมายังอเมริกา ซึ่งเป็นสัดส่วนพอๆ กับเมื่อปีที่แล้ว
       
กว่าร้อยละ 70 ยอมรับว่า พวกเขาต้องการย้ายฐานการผลิตกลับสู่สหรัฐฯ เพราะแรงงานฝีมือหาได้ง่ายกว่า ซึ่งจำนวนผู้ที่ตอบเช่นนี้มากกว่าพวกที่อ้างเหตุผลเดียวกันเพื่อย้ายออกจากสหรัฐฯ ถึง 4 เท่าตัว
       
ผู้ผลิตสินค้าเพื่อวางจำหน่ายในสหรัฐฯ เกือบ 80% ชี้ว่า การผลิตสินค้าในอเมริกาจะช่วยตัดทอนห่วงโซ่ซัพพลายเออร์ และลดค่าขนส่งได้อีกด้วย
       
ผู้บริหารร้อยละ 71 บอกว่า เศรษฐกิจสหรัฐฯที่ใหญ่เป็นอันดับ 1 ของโลกทำให้การประกอบธุรกิจสะดวกง่ายดาย ขณะที่ร้อยละ 75 ชี้ว่า การผลิตสินค้าในอเมริกานั้นเอื้อต่อการควบคุมกระบวนการผลิตและปรับปรุงคุณภาพ
       
ผู้ตอบแบบสอบถามร้อยละ 72 มีแผนที่จะลงทุนด้านเครื่องจักรอัตโนมัติและเทคโนโลยีการผลิตที่ทันสมัยในระยะ 5 ปีข้างหน้า เพราะเป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยลดต้นทุน และเพิ่มศักยภาพในการแข่งขัน
       
“สหรัฐฯ อยู่ในจุดที่จะได้รับประโยชน์จากบริษัทซึ่งต้องการสร้างฐานการผลิตในภูมิภาค โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อต้นทุนในการซื้อเครื่องจักรมาใช้แทนแรงงานคนเริ่มถูกลง” บีซีจีระบุ
       
ในส่วนของการจ้างงานก็มีแนวโน้มที่ดีเช่นกัน ผู้บริหารร้อยละ 50 คาดว่าตำแหน่งงานในภาคการผลิตของสหรัฐฯ จะเพิ่มขึ้นอย่างน้อย 5% ภายใน 5 ปีหน้า และมีเพียงร้อยละ 17 เท่านั้นที่มองไปในทางตรงกันข้าม 
 
ฮิวแมนไรท์วอชจี้ 'ยูเออี' เลิกละเมิดสาวใช้
 
24 ต.ค. 2014 ฮิวแมนไรท์วอช เรียกร้องให้สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ปฏิรูประบบการออกวีซ่าที่มีความเข้มงวด และให้สาวใช้สามารถเปลี่ยนงานได้โดยไม่มีความผิด รวมทั้งแก้ไขกฎหมายแรงงานให้เพิ่มการคุ้มครองแก่ผู้ประกอบอาชีพสาวใช้ รวมทั้งจำกัดชั่วโมงการทำงานไม่ควรเกิน 8 ชั่วโมงต่อวัน และมีวันหยุดอย่างน้อย 1 วันต่อสัปดาห์
 
นางสาวมาเรลี บรัว สาวใช้ชาวฟิลิปปินส์ กล่าวว่า ผู้เป็นเจ้านายซื้อตัวเธอมา เธอไม่มีสิทธิ์ปริปากบ่นใดๆ ทั้งสิ้น แต่ละเดือนเธอจะได้รับค่าจ้างเพียง 800 เดอห์แฮม หรือประมาณราว 7000 บาท น้อยกว่าในสัญญาว่าจ้างที่ระบุไว้ที่เดือนละ 1,000 เดอห์แฮม หรือประมาณ 8,800 บาท
 
ส่วนสาวใช้ชาวฟิลิปปินส์อีกคน นางสาวจีนี่ อัลฟิเลอร์ บอกว่า เธอถูกแม่ของผู้ว่าจ้างรายเดิม นำเหล็กร้อนมาทาบกับต้นแขนด้านซ้าย เพราะปฏิเสธที่จะนำลูกเกดไปตากแดด ซึ่งขณะนี้กลายเป็นแผลเป็นสีดำติดตัว
 
นอกจากนี้ กลุ่มสิทธิมนุษยชนโลก ยังเรียกร้องให้สถานฑูตของแต่ละประเทศเพิ่มการตรวจสอบ และแจ้งประชาชนให้ทราบถึงสิทธิ และช่องทางการแจ้งเหตุกับสถานฑูตหากเกิดการล่วงละเมิดขึ้น
 
ทั้งนี้ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ มีสาวใช้จากต่างชาติจำนวน 146,000 คน ส่วนใหญ่มาจากฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย อินเดีย บังคลาเทศ ศรีลังกา เนปาล และ เอธิโอเปีย
 
สหภาพแรงงานอิตาลีชุมนุมประท้วงแผนยกเครื่องตลาดแรงงานของนายกฯ
 
25 ต.ค. 2014 ชาวอิตาลีหลายหมื่นชุมนุมตามท้องถนนในกรุงโรมวันนี้ตามการระดมของสหภาพแรงงานใหญ่ที่สุดในประเทศ เพื่อประท้วงแผนการยกเครื่องตลาดแรงงานของนายกรัฐมนตรีมัตเตโอ เรนซี
 
ผู้ประท้วงเคลื่อนขบวนไปตามท้องถนนเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีหาทางส่งเสริมการจ้างงานและคุ้มครองสิทธิของผู้ที่จะเข้าสู่ตลาดแรงงาน จากนั้นผู้ประท้วงได้รวมตัวกันที่โคลอสเซียม สถานที่ท่องเที่ยวสำคัญของกรุงโรม ปล่อยลูกโป่งสีแดงและจุดพลุไฟสีแดง เพื่อแสดงการคัดค้านกฎหมายแรงงาน เนื่องจากนายกรัฐมนตรีเรนซีต้องการดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติด้วยการเปิดช่องให้บริษัทเลิกจ้างพนักงานได้ง่ายขึ้น จุดกระแสขัดแย้งขึ้นภายในพรรคประชาธิปไตยของเขา ซึ่งปกติแล้วมีสายสัมพันธ์ที่ดีกับสหภาพแรงงาน สมาชิกพรรคโต้แย้งอย่างรุนแรงเรื่องอนาคตของมาตรา 18 ที่คุ้มครองผู้ถูกเลิกจ้างอย่างไม่เป็นธรรม
 
อิตาลีมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับสามของเขตยูโรโซน ปัจจุบันมีอัตราเยาวชนว่างงานสูงถึงร้อยละ 44.2 ขณะที่ผู้มีงานทำก็มักเป็นสัญญาจ้างชั่วคราวที่ไม่มีหลักประกันหรือสิทธิประโยชน์
 
เผยอัตราว่างงานในฝรั่งเศสพุ่งสูงทำลายทำสถิติเดิม ทะยานสูงมากกว่า 3.4 ล้านคนแล้ว
 
27 ต.ค. 2014 ทางการฝรั่งเศส เผยผลสำรวจอัตราการว่างงานของผู้คนในฝรั่งเศสเมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา พบว่ามีอัตราการว่างงานพุ่งสูงทำสถิติใหม่ โดยมีผู้ว่างงานมากถึง 3.4 ล้านคน ขณะที่ นายฟรองซัวส์ เร็บซามอง รัฐมนตรีกระทรวงแรงงาน กล่าวขณะให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนว่า อัตราว่างงานสูงขึ้นอีกร้อยละ 0.6 เมื่อเดือนกันยายน ส่งผลให้สัดส่วนของผู้ว่างงานในประเทศสูงกว่าร้อยละ 10.3 ซึ่งนับว่าสูงสุดเป็นประวัติการณ์
 
คนงานเหมืองในทวายประเทศพม่าประท้วงบริษัทไทย
 
27 ต.ค. 2014 สำนักข่าวทวายวอท์ช (Dawei Watch) รายงานว่า คนงานกว่า 200 คนในเหมืองต่างพากันหยุดงานตั้งแต่วันที่ 27 ตุลาคมที่ผ่านมา โดยร่วมกันลงชื่อในข้อเรียกร้อง 7 ข้อกับทางบริษัท และประกาศว่าจะนัดหยุดงานจนกว่าข้อเรียกร้องจะบรรลุผล
 
ข้อเรียกร้องที่สำคัญคือ ขอให้บริษัทขึ้นค่าแรงจาก 2,000 จ๊าต (60 บาท) เป็น 8,000 จ๊าต (240 บาท) ต่อวัน หรือเท่ากับ 500 จ๊าต (15 บาท) ต่อชั่วโมงเท่านั้น ซึ่งต่ำมาก ทั้งนี้ คนงานใหม่ และผู้หญิงยังได้ค่าแรงน้อยลงไปอีกคือ 1,500 จ๊าตสำหรับคนงานใหม่ และ 1,800 จ๊าต สำหรับคนงานหญิงทั่วไป
 
คนงานกล่าวว่า ในบางวันที่บริษัทจำเป็นต้องเร่งการผลิต พวกเขาต้องทำงานต่อเนื่องกันถึง 24 ชั่วโมงโดยไม่ได้หยุดพัก เนื่องจากบริษัทไม่อนุญาตให้กลับบ้าน ทั้งนี้ คนงานระบุว่าบริษัทไม่ได้ทำตามกฎหมายเหมืองแร่ของพม่าในมาตรา 93 (A) ปี 1996 ที่ต้องจ่ายค่าล่วงเวลาเป็นสองเท่าของค่าแรงอีกด้วย
 
ทั้งนี้ เหมืองเฮ็นดาดำเนินการโดย บริษัท เมียนมาร์พงษ์พิพัฒน์ จำกัด บริษัทไทยที่เข้าไปทำเหมืองดีบุกในเมืองทวาย โดยดำเนินการร่วมกับวิสาหกิจเหมืองแร่ หมายเลข 2 ภายใต้กระทรวงเหมืองแร่ของพม่า ในแคว้นตะนาวศรี ทางตอนใต้ของประเทศเมียนมาร์
 
นอกจากนี้คนงานยังเรียกร้องสวัสดิการภายในสถานที่ทำงาน โดยขอให้บริษัทจัดหาน้ำดื่มสะอาด พร้อมทั้งสร้างระบบสาธารณสุขสำหรับคนงาน  พวกเขาอ้างว่าในอดีตเมื่อครั้งที่อังกฤษเป็นผู้ดำเนินการเหมืองแห่งนี้ มีโรงพยาบาลสำหรับคนงานในเหมือง แต่เมื่อบริษัทเมียนมาร์พงษ์พิพัฒน์เข้ามาดำเนินการในปี 2542 โรงพยาบาลกลับถูกปิดไปจนกระทั่งทุกวันนี้ 
 
ด้านนาย คายง์ สวอน ผู้จัดการบริษัทเมียนมาร์พงษ์พิพัฒน์ กล่าวว่า ทางบริษัทได้พยายามเจรจากับคนงาน แต่ค่าแรงรายวัน 8,000 จ๊าต ที่คนงานเรียกร้องนั้นสูงเกินไป
 
เหมืองเฮ็นดาเป็นเหมืองที่มีขนาดใหญ่ที่สุดของแคว้นตะนาวศรี มีคนงานพม่าทั้งหมด300 คน และคนงานไทย 20 คน นอกจากกรณีคนงานเหมืองนัดหยุดงานประท้วงในขณะนี้ บริษัทเมียนมาร์พงษ์พิพัฒน์ยังอยู่ระหว่างการถูกดำเนินคดีในชั้นศาลจากข้อกล่าวหาว่าการดำเนินการของบริษัทได้ทำลายวิถีชีวิตของชาวบ้านในแถบนั้นโดยการปล่อยน้ำเสียและตะกอนดินลงมาตามลำน้ำท่วมเรือกสวนไร่นา และบ้านเรือน ซึ่งเป็นคดีที่อยู่ในขั้นตอนการไต่สวนของศาลในทวายขณะนี้
 
มาเลเซียจะอนุญาตให้นำเข้าแม่บ้านชั่วคราวมาจากอินโดนีเซียได้ เพื่อแก้ปัญหาขาดแคลนแม่บ้านต่างชาติในมาเลเซีย
 
28 ต.ค. 2014 สมาคมสำนักงานแม่บ้านต่างชาติมาเลเซียหรือปาปา เปิดเผยว่า ปาปาจะอนุญาตให้นำเข้าแม่บ้านชั่วคราวมาจากอินโดนีเซียได้ เพื่อแก้ปัญหาขาดแคลนแม่บ้านต่างชาติในมาเลเซีย
 
รองประธานาปาปา "นายฟู ย่ง หุย" กล่าวว่า มาตรการนี้จะกระตุ้นให้นายจ้างหันมาใช้บริการแม่บ้านแบบชั่วคราวแทนการจ้างแบบเต็มเวลามากขึ้น และค่อย ๆ ลดการพึ่งพาแม่บ้านต่างชาติลง
 
นายฟู เสนอว่า รัฐบาลควรพิจารณาเรื่องนี้อย่างจริงจัง และเบื้องต้นอาจกำหนดโควต้านำเข้าแม่บ้าน ซึ่งการจ้างแม่บ้านแบบชั่วคราวนี้มีข้อดีคือประหยัด นายจ้างไม่ต้องจัดหาที่พักและอาหารให้ โดยเฉพาะในครอบครัวเล็กที่มักจะทำความสะอาดบ้านแค่สัปดาห์ละสองครั้งเท่านั้น ทั้งยังช่วยหลีกเลี่ยงการล่วงละเมิดภายในบ้านได้ด้วย
 
นอกจากอุตสาหกรรมแม่บ้านมาเลเซียจะขาดแคลนแรงงานอินโดนีเซียแล้ว ภาคการผลิตและก่อสร้างยังขาดแคลนแรงงานด้วย เนื่องจากเศรษฐกิจอินโดนีเซียมีแนวโน้มดีขึ้น ซึ่งนายฟูมองว่า ค่าจ้างในมาเลเซียยังไม่ดึงดูดใจมากพอ ขณะเดียวกันนายจ้างมาเลเซียต้องพึ่งพาแม่บ้านจากกัมพูชาและพม่าด้วย ซึ่งปาปายินดีจะประสานงานกับกระทรวงทรัพยากรมนุษย์เพื่อหามาตรการนำเข้าแรงงานชั่วคราวเข้ามาทำงานในประเทศ
 
 
 
 
 
ที่มาข่าวเรียบเรียงจาก: ประชาไท, ครอบครัวข่าว, ASTV ผู้จัดการออนไลน์, สำนักข่าวไทย, กรุงเทพธุรกิจ, ไทยรัฐออนไลน์, เดลินิวส์, สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์, VOA
 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net