Skip to main content
sharethis

อภิปราย ‘รัฐไทยกับการแก้ปัญหาโครงสร้างเศรษฐกิจ’ นิธิ ชี้ต้นตอจาก Oligopoly - Oligarchy ‘บรรยง’ ระบุอยู่ที่ขนาด บทบาทและอำนาจรัฐ 'สมเกียรติ' แนะเปลี่ยนโมเดลการพัฒนา ‘ผาสุก’ วิเคราะห์การตอบสนอง Global value chain

เมื่อวันที่ 30 ต.ค.ที่ผ่านมา ณ หอประชุมศาสตราจารย์สังเวียน อินทรวิชัย ชั้น 3 อาคารตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จัดงานสัมมนาทางวิชาการประจำปี 2557 เรื่อง Sustaining Thailand : ก้าวอย่างไรให้ประเทศไทยยั่งยืน โดยภายในงานมีการอภิปรายในหัวข้อ “รัฐไทยกับการแก้ปัญหาโครงสร้างเศรษฐกิจ” โดยมีผู้ร่วมอภิปรายประกอบด้วย ศ.ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์ นักวิชาการอิสระ ศ.ดร.ผาสุก พงษ์ไพจิตร ศาตราภิชาน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI)  และนายบรรยง พงษ์พานิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารเกียรตินาคิน จำกัด (มหาชน) โดยมี ผศ.ดร.อภิชาต สถิตนิรามัยคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นผู้ดำเนินรายการ

00000

บรรยง : ปัญหาของขนาด บทบาทและอำนาจรัฐ

บรรยง กล่าวว่า เน้นกลับไปที่ ขนาด บทบาทและอำนาจของรัฐไทย  ค่อนข้างมั่นใจว่า 15 ปีที่ผ่านมาการขยาตัวของขนาด บทบาทและอำนาจรัฐ เป็นปัจจัยหนึ่งและเป็นรากฐานของปัญหาอื่นๆ ทั้งมวล ไม่ว่าจะเป็นปัญหาข้อจำกัดของการแข่งขัน ข้อจำกัดของการเจริญเติบโต การกระจาย ความเหลื่อมล้ำ  และที่สำคัญที่สุดทำให้เกิดการขยายตัวของการคอรัปชั่นกันค่อนข้างมโหฬาร

15 ปี หลังวิกฤติเศรษฐกิจ ขนาดบทบาทและอำนาจรัฐ หากดูที่งบประมาณเปรียบเทียบกับ GDP ที่อาจไม่ขยายตัวมากมาย ถ้าเทียบแล้ว รัฐไทยเล็ก เพราะประเทศที่เจริญแล้วขนาดมากกว่า แต่รัฐหลายๆ รัฐ โดยเฉพาะรัฐที่พัฒนาแล้ว ขนาดของงบประมาณส่วนมากเป็นการ Redistribution เป็นการส่งผ่านทรัพยากรระหว่างภาคต่างๆ แต่ของไทย ถ้าเราฟังคำแถลงงบประมาณของหัวหน้า คสช. งบ 78.7%  เป็นงบรายจ่ายประจำ ตรงนี้เป็นงบ Operation ซึ่งค่อนข้างใหญ่ และ ตัวนี้จะต้องตั้งคำถามกลับมาว่า Operation มีประสิทธิภาพขนาดไหน ช่วยให้เป็นรากฐานทางเศรษฐกิจของภาคอื่นๆ ได้อย่างไร จึงเป็นข้อสังเกตุเวลาที่เราพูดถึงขนาดของรัฐ

แต่เรื่องขนาด มีอีก 2 ส่วน ที่คนไม่ค่อยพูดถึง คือรัฐวิสาหกิจ ซึ่งเมื่อ 16 ปีที่แล้วหลังวิกฤติเศรษฐกิจ มีขนาดค่าใช้จ่ายรวมกันของรัฐวิสาหกิจ แค่ 17% ของ GDP ปีที่แล้วเรามีค่าใช้จ่ายทั้งหมด 4.6 ล้านล้านบาท แน่นอนว่าน้ำมันเสียมาก ราคาน้ำมันขึ้นมามาก แต่อย่างไรก็ดีก็เป็นการขยายตัวมโหราฬ รัฐวิสาหกิจ กลายเป็น 42 % ของ GDP ซึ่งยังไม่รวมถึงสถาบันการเงิน ตัวรัฐวิสาหกิจใหญ่ไปไหม ทั้งนี้เวลาระบุว่า 42% นั้นไม่ได้หมายความว่าที่เหลือคือ 58% เพียงแต่เป็นการเปรียบเทียบกับเวลาก่อนด้วย ตรงนี้จึงมีคำถามว่ารัฐวิสาหกิจใหญ่ไปไหม มีประสิทธิภาพไหม โกงไหม

เรามีสิ่งที่เรียกว่า privatization คือการเอารัฐวิสาหกิจเข้าจดทะเบียนในตลาด 3-4 แห่งหลังวิกฤติ ถ้าตามนิยามของ privatization คือการโอนจากขอรัฐไปให้เอกชน แต่ของเราไม่ได้โอนจากรัฐให้เอกชน ทุกอย่างอยูใต้อุ้งเท้าของ รมว. อยู่ ดังนั้นหากมองกลับกันก็กลายเป็นการกวาดตอนทรัพยากรต่างๆ มาอยู่ภายใต้อำนาจรัฐ จึงเป็นจุดที่น่าสนใจ เราไม่ได้ privatization จริง เราไม่ทำโดยสมบูรณ์ เพื่อที่จะดึงอำนาจไว้

ส่วนที่ 3 ที่ยิ่งขยายตัว โดยรัฐวิสากิจมี 7 แห่ง เป็นสถาบันการเงิน ทั้งหมดหลังวิกฤติเศรษฐกิจมีทรัพย์สินรวมกันแค่ 4 แสนล้าน หรือประมาณ 13% ของ GDP ในเวลานั้น ปัจจุบันทรัพย์สินอยู่ที่ 4.7 ล้านล้านบาท 42% จาก 13% คำถามคือขยายตัวอย่างมีประสิทธิภาพมากน้อยแค่ไหน

โดยรวมทั้งงบประมาณ ทั้งรัฐวิสาหกิจ รวมทั้งตัวสถาบันการเงิน ที่ไม่รวมแบงก์กรุงไทย คำถามคือการขยายตัวนี้ โดยเฉพาะการขยายตัวนอกงบประมาณ ระบบมีความรัดกุม หรือไม่ นำมาซึ่งความรั่วไหลขนาดใหญ่ตามมาด้วย

เรื่องที่ 2 คือเรื่อง บทบาทรัฐ ปกติในปัจจุบันค่อนข้างเป็นฉันทมติของทั่วโลกว่ารัฐที่ดีที่เก่งไม่มีในโลก แต่ของเราเหมือนสวนทางกับเขา รัฐเราค่อนข้างจะเข้าไปทำบทบาทแทนตลาด เช่น จำนำข้าว ชัดเจนที่สุด รัฐเข้าไปจัดการทุกจุด  ปัจจุบันก็มี G to G ทำไมไม่ปล่อยกลไกตลาด

เรื่องที่ 3 เรื่องของอำนาจ สังเกตุว่าเมื่อออกกฏหมายเพิ่ม จะเป็นการออกกฏหมายเพิ่มอำนาจรัฐ แม้แต่องค์กรอิสระก็เป็นการสร้างอำนาจขึ้นมาอีกที ในขณะที่โลกมีกระแส deregulation แต่เราสวนทางไปในทางมีกฏระเบียบมีอำนาจมากขึ้น และอำนาจรัฐนั้นก็ชัดเจนว่ามันเป็นสินค้าคอรัปชั่น

วิธีลดคอรัปชั่นที่ดีที่สุดคือการลดรัฐ

บรรยง กล่าวต่อว่า บางทีกฏระเบียบก็มีความซ้ำซ้อน เช่น หากทำธุรกิจสังหาริมทรัพย์ก็จะมีกฏระเบียบและหน่วยงานเข้ามาเกี่ยวข้องจำนวนมาก และทุกหน่วยงานต้อหยอดทั้งนั้น ไม่เช่นนั้นไม่เดิน จะเห็นว่าเมื่อมีอำนาจก็จะเกิดกระบวนการความไม่โปร่งใสเกิดขึ้นมาทุกจุด จากข้อสังเกตุมันชัดเจนค่อนข้างมากว่ารัฐขยายขนาด บทบาท และอำนาจมาก ขณะที่ทั่วโลกค่อนข้างไปตรงกันข้าม

เรื่องประสิทธิภาพ มันมีตัวอย่างที่ชัดเจนเรื่องระบบกลไก วิธีการของรัฐมันมีประสิทธิภาพทีเมื่อเทียบกับเอกชน รัฐมีปัญหามากกว่า วิธีลดคอรัปชั่นที่ดีที่สุดคือการลดรัฐ รัฐเป็นพื้นฐานของศักยภาพการแข่งขันอยู่แล้ว แต่ถ้ารัฐทำจะมีอยู่ 3 อัน คือ ป่วย หายและไม่พอ คุณภาพต่ำ มีการรั่วไหลและต้นทุนสูงแพง

อันนี้เป็นปัญหาโครงสร้าง ดังนั้นมุมของการปฏิรูปที่จะต้องทำคือลดรัฐ คือลดขนาด ทำให้มีประสิทธิภาพ และลดการรั่วไหล อาจมีข้อโต้แย้งว่ามีหลายประเทศที่ใช้การพัฒนาโดยให้รัฐเป็นตัวนำอย่างสิงคโปร มาเลเชีย แต่ถ้าจะทำอย่างนั้น บริบทของประเทศไทยปัจจุบันน่าจะเลยจุดที่จะเป็นอย่างนั้นแล้ว โดยเฉพาะระบบราชการของเราที่ไม่เข้มแข็ง

 

สมเกียรติ :  ปัญหาของโครงสร้างเศรษฐกิจไทยอยู่ที่โมเดลการพัฒนา

สมเกียรติ กล่าวว่า ปัญหาของโครงสร้างเศรษฐกิจไทยอยู่ที่ ‘development models’ โมเดลการพัฒนาเราที่ผ่านมามันมีปัญหา ที่ผ่านมาเราประสบความสำเร็จในเรื่องการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ แต่ที่สำคัญมันก่อให้เกิดความเหลื่อมล้ำในวงกว้าง การพึ่งตาดส่งออกมากเกินไป ทำให้เราผันผวนกับภาวะเศรษฐกิจโลกมากเกินไป เราใช้พลังงานและสิ่งแวดล้อมมาก

จึงมาถึจุดที่เราต้องปรับโมเดลการพัฒนา ถ้าพูดแบบธุรกิจก็คือถ้าทำธุรกิจแล้วโมเดลทางธุรกิจผิด มันต่อไปไม่ได้ การพัฒนาประเทศก็เช่นกัน เราจะใช้โมเดลการพัฒนาแบบเดิมไม่ได้ จึงต้องปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจไปพร้อมกับโมเดลการพัฒนา

การจะแก้ปัญหาทั้งความเหลื่อมล้ำ พึ่งส่งออกมาก ใช้พลังงานมากและทำลายสิ่งแวดล้อม ต้องมาแก้ในด้านอุปทานคือด้านซัพพรายไซด์ เหลืออยู่ 2 ตัวใหญ่ๆ หนึ่ง เรื่องของคุณภาพแรงงาน ซึ่งจะโยงเรื่องระบบการศึกษา สอง เรื่องของคุณภาพผู้ประกอบการ เพราะเงินทุนไม่ใช่เรื่องใหญ่ เป็นเรื่องที่หาง่าย เรื่อใหญ่คือ 2 เรื่องดังกล่าว

ทำไมเรื่องอย่างนี้แก้ไม่ได้ ส่วนหนึ่งความรู้ยังไม่เต็ม ยังไม่รู้หมด ความรู้ด้านเศรษฐศาสตร์ ช่วยตอบคำถามมากน้อยขนาดไหน ตอบได้ภาพใหญ่ๆ แต่ไม่สมบูรณ์โดยตัวมันเอง ต้องใช้หลายๆ ศาสตร์เข้ามาช่วยตอบปัญหา

เรื่องคุณภาพผู้ประกอบการนั้น เศรษฐศาสตร์ให้องค์ความรู้น้อยมาก ทำให้การศึกษาเรื่องนี้ต่อได้ยากเพราะไม่มีกรอบความคิดอื่นเข้ามาช่วยเท่าไหร่ด้วย

มี solution ในเชิงเทคนิคหรือยัง พอมีในเรื่องการปฏิรูปการศึกษา ที่ตอนนี้ระบบการศึกษา แพง ป่วยและเหลื่อมล้ำ การศึกษาแพง เป็นเพราะว่าต้นทุนการบริหารจัดการเป็นส่วนที่มากด้วย งบการศึกษาของราซึ่งตอนนี้ไม่น้อยแล้ว 100% นั้น เป็นงบบุคลากร 80% และในจำนวนนั้น 40% เป็นงบบริหารจัดการที่ไม่เกี่ยวกับตัวนักเรียน ส่วนอีก 60% เป็นงบค่าจ้างครู

พอรู้ปัญหา พอรู้ solution เป็นส่วนๆ แล้ว ในเชิงเทคนิค แต่ถ้าจะไปถึงการแก้ปัญหาจริงๆ แล้ว เรารู้ political solution แล้วหรือยัง ตรงนี้เป็นสิ่งที่หนักใจมาก พอเห็นปัญหาแล้วจะไปให้เกิดการแก้ไขได้อย่างไร เพราะเกี่ยวข้องกับคนเยอะมาก เช่น เรื่องครู ต้องมีการปฏิรูปเยอะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาฯ ไม่ว่าคนไหน คิดว่าไม่มีใครกล้าไปแตะปัญหาที่เป็นเผือกร้อนนี้ ทางออกด้านเทคนิคนั้นพอหาได้ แต่ทางออกด้านการเมืองนั้นเป็นเรื่องยากลำบากเหลือเกิน

เรื่องของผู้ประกอบการ เห็นทางออกด้านเทคนิคบางเรื่องเหมือนกัน ธุรกิจที่มีการวิจัยและพัฒนา(R&D)นั้นมีแค่ 2 กลุ่เม คือกลุ่มที่ใหญ่มากๆ กับกลุ่มที่ค่อนข้างเล็ก กลุ่มธุรกิจที่ใหญ่มากๆ หากไปอยู่ในตลาดที่แข่งขัน เขาก็จะทำ R&D แต่ผูกขาดนั้นแม้มีเงินทุนมหาศาลก็ไม่ทำ R&D เลย เพราะหากินสบายอยู่แล้ว ส่วนธุรกิจขนาดเล็กนั้นกู้มาลงทุนมักได้ แต่กู้มาทำ R&D นั้นมักติดปัญหา ที่สำคัญคือการขาดบุคลากรที่จะมาทำ สาเหตุเพราะบุคลากรด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีส่วนใหญ่ไปติดอยู่กับภาครัฐ เช่น สถาบันหม้อหุงข้าว ซึ่งเป็นสถาบันที่มี Ph.D ต่อตารางเมตรมากที่สุดให้ประเทศ แต่ไม่เชื่อโยงกับภาคการผลิตเลย การวิจจัยก็ทำไปในแบบของเขา

ถ้าเห็นทางออกทางเทคนิคแบบนี้แล้ว และทางออกทางการเมืองที่ผ่านมา ปัญหาทั้งการศึกษาและการยกระดับนวัตกรรมของประเทศนั้น มันยากทางการเมืองคือรัฐบาลอายุสั้น แต่ปัญหาอายุยาว ดังนั้นต้องใช้เวลาแก้ยาว

 

ผาสุก : การตอบสนองระบบ Global value chain

ผาสุก กล่าวว่า ปัญหาเมืองไทยไม่ได้เยอะมาก เราเป็นประเทศที่ไม่เก่งเรื่องเทคโนโลยีหรือ R&D แต่เป็นที่น่าสนใจว่าเราเป็นประเทศเอเชียนิคประเทศหนึ่ง และปรับตัวเองเป็นประเทศรายได้ปานกลางค่อนข้างสูง ทำมาได้อย่างไร ถ้าย้อนกลับไป เราจะพบว่า ทศวรรษ 1980 เป็นต้นมา เราโชคดีที่เข้าไปอยู่ในระบบการผลิตอุตสาหกรรมในระบบโลก เป็นส่วนหนึ่งของ Global production chain หรือ Global value chain โดยที่เราไปพึ่งการลงทุนจากต่างประเทศ  แล้วเศรษฐกิจไทยเติบโตมาในระดับที่น่าพอใจตามพอสมควร เราต้องมาคิดว่าการที่เราเข้าไปอยู่ในระบบ Global value chain เราควรจะต้องทำอะไร เพื่อที่จะให้เศรษฐกิจขยับไปอีก เพราะว่าใน Global value chain นักลงทุนเขาคาดหวังอะไร จากเมืองไทย นักวิเคราะห์ก็ได้วิเคราะห์ไว้แล้วในทศวรรษ 1990 ได้ชี้ให้เห็นว่าประเทศอย่างเมืองไทยสิ่งสำคัญที่ต้องทำ คือ

1. ปรับคุณภาพคนงานให้ทันความต้อการบริษัทที่มาลงทุน และทันความต้องการของบรัทไทยที่มีการพัฒนาขึ้นไปด้วย

2. สาธารณูปโภค เรามีความพร้อมที่จะตอบสนองความต้องการบริษัทที่จะมาลงทุนเพียงพอหรือไม่

3. เราปฏิรูประบบภาษีของเรา เพื่อที่จะมีรายได้เพียงพอที่จะใช้จ่ายด้านสาธารณูปโภค รวมทั้งจัดหาสินค้าและบริการสาธารณะ ที่ประชาชนคนไทยต้องการเพื่อที่จะให้มีชีวิตที่จะอยู่ดีกินดีมีความสุข ที่จะทำงานในสังคมเดียวกัน

3 เรื่องนี้เมื่อไทยทำได้แค่ไหน เรื่องคุณภาพของคนงาน เราทำได้ในระดับหนึ่ง แต่ประเทศอื่นเขาก้าวหน้าไปมากกว่า ทำให้เรื่องการศึกษาเราล้าหลังกว่า สิงคโปร์ มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ เมื่อล้าหลังจึงเกิดปัญหาว่าอุปทานในตลาดโลกเปลี่ยนไปแล้ว  ขณะนี้ความต้องการระดับโลกมีความต้องการคุณภาพแรงงานไปอีกระดับหนึ่งแล้ว

เมื่องไทยไม่ได้ลงทุนโครงสร้างพื้นฐานสำคัญๆ มาตั้งแต่ปี 40 ระยะแรกเป็นปัญหาเรื่องเรื่องเศรษฐกิจ แต่ระยะหลังเป็นเรื่องปัญหาเสถียรภาพทางการเมืองทำให้ไม่สามารถลงทุนสาธรณูปโภคได้เป็นชิ้นเป็นอัน ทั้งที่จิรงเราไม่น่ามีปัญหาทางการเมือง เพราะเราเริ่มมีประชาธิปไตย ใช้กติกาสากล แต่อยู่มาเราเริ่มมีปัญหาความขัดแย้งทางการเมือง การที่ชนชั้นกลางเกิดความกลัวพัฒนาการเมืองภาคมวลชน หลังจากนั้นเราก็มีความระส่ำระส่าย เพราะการเมืองไร้เสถียรภาพ

 

นิธิ : ปัญหาระบบเศรษฐกิจแบบ Oligopoly และการปกครองแบบ Oligarchy

“การปฏิรูปตอนนี้ ในทัศนะผมนะครับ มันไม่ใช่การปฏิรูปอย่างที่ทุกคนพูดถึง มันเป็นเรื่องของการปรับ การรวมกลุ่มของกลุ่มคณาธิปไตยใหม่อีกกลุ่มหนึ่ง บางกลุ่มถูกจัดออกไป บางกลุ่มถูกกัน หลายกลุ่มด้วยกัน จะซื้อ จะประจบ จะเลีย นั้นผมไม่ทราบ แต่คอนเนคชั่นก็เป็นสินค้าอย่างยิ่ง คุณต้องซื้อคุณต้องแสวงหาเข้ามา จนกระทั่งสามารถผนวกตัวเองเข้าไปอยู่ในกลุ่มคณะธิปไตยอันใหม่ได้ มันจึงไม่ใช่การปฏิรูปในความหมายที่เรากำลังพูดถึง แต่รูปของคณาธิปไตยจะเปลี่ยน” นิธิ กล่าว

นิธิ กล่าวว่า สิ่งที่เป็นปัญหาเชิงโครงสร้างที่แก้ไม่ออก ที่ตกทอดมาจากอดีตสืบทอดมาถึงปัจจุบัน ประเทศนี้เป็นประเทศที่ผ่านการเข้าสู่ยุคสมัยใหม่ โดยจำกัดกลุ่มคนที่เป็นผู้นำเข้าสู่ยุคจำนวนน้อย แบ่งผลประโยชน์กันจำนวนน้อย สืบมาจนกระทั่งทุกวันนี้ คูรอยู่ในเศรษฐกิจที่ฝรั่งเรียกว่า Oligopoly (ตลาดผู้ขายน้อยราย) คนจำนวนน้อยเพียงหยิบมือเดียวเท่านั้นเองที่มีผลต่อตลาด 70-90% นี่เป็นเรื่องสำคัญ และแก้อะไรไม่ได้ตราบเท่าที่เศรษฐกิจมันยังอยู่ในลักษณะแบบนี้  

ทำไมถึงเป็นเช่นนี้ ถ้าไล่ย้อนไปในประวัติศาสตร์ประเทศไทยเป็นประเทศเดียวในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่เป็นอาณานิคมแล้วยังไม่ได้กู้เอกราชมาจนถึงนาทีนี้ เราไม่เคยผ่านประสบการณ์ของการกู้เอกราช ที่สำคัญในการกู้เอกราชคือ ต้องเปลี่ยนสังคมทั้งสังคม ต้องทำให้คนรู้สึกว่าฉันกับเขาเป็นคนพวกเดียวกันและเสมอภาคกัน ความรู้สึกว่าเราอยู่ร่วมชาติเป็นเรื่องใหญ่มากๆ เป็นเรื่องที่เปลี่ยนแปลงมนุษย์มากๆ เพราะชาติมันเป็นรัฐชนิดเดียวในโลกนี้ที่ยอมรับว่าชาติเป็นสมบัติของทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน คุณไปถือธงชาติแล้วบอกว่ามนุษย์ไม่เท่ากัน คุณไม่ได้รักชาติ คุณรักแต่ธงชาติ เพราะฉะนั้นเราไม่ได้เปลี่ยนตรงนี้ เมื่อไม่ได้เปลี่ยนตรงนี้คนไทยจึงยอมๆ หยวนๆ หือไม่ขึ้น มองเห็นคนเป็นช่วงชั้นลึกไปในหัวใจ มีสำนึกชาติช้ากว่าคนอื่นเขาทั้งหมด

ด้วยเหตุดังนั้นจึงแก้ไม่ได้ และสิ่งที่มันตลกมาก Oligopoly เกิดขึ้นมาบนฐานทางการเมืองอะไร คำตอบง่ายๆ คือ ต้องมี Oligarchy ก่อน มีกลุ่มคณาธิปไตยก่อน ไม่ว่าจะเป็นทหาร ข้าราชการ นักการเมือง เจ้าพ่อ ร่วมกันกับพวกทุน แบ่งผลประโยชน์กัน จึงเกิด Oligopoly ซึ่งจริงๆ คือคอรัปชั่นที่ยิ่งใหญ่มากๆ ในสังคมไทย และไม่ค่อยมีคนพูดถึง

อยากทำลายสิ่งนี้ทำอย่างไร คุณบอกว่าคณาธิปไตยมาจากการเลือกตั้ง มันไม่ดี ฉะนั้นคุณจึงไปหาคณาธิปไตยที่มาจากการรัฐประหารแทนเพื่อจะแก้ปัญหา Oligopoly ซึ่งมันตลกสิ้นดี เป็นการคิดอะไรแปลกๆ อย่างคนในอาณานิคมโดยแท้

ทำให้ ‘รัฐวิสาหกิจ’ เล็ก สะอาด มีประสิทธิภาพ

“มันเป็นเรื่องของเศรษฐศาสตร์ ถ้าเซกเตอร์ไหนมันมีกำไรมาก ทรัพยากรก็ไหลเข้าเซกเตอร์นั้น ผมยืนยันครับว่าเซกเตอร์ที่กำไรมากที่สุดในประเทศไทยคือเซกเตอร์ที่ corruptible เมื่อเซกเตอร์ที่ corruptible มันก็โยงกลับไปเลยว่าส่วนใหญ่มันไม่แข่งขันกับโลก เพราะคุณไม่สามารถช่วยให้ใครไปชนะโลกได้ แต่คุณช่วยพรรคพวกให้เอาเปรียบคนอื่นที่ต้องอยู่แถวนี้ได้ นี่ก็คือคอนเซปต์ของพรรคพวกนิยม R&D ก็เหมือนกัน ภาคเอกชนทำ R&D เพื่ออะไร เพื่อให้มีศักยภาพในการแข่งขัน แต่ถ้าความได้เปรียบในการแข่งขันมันหาซื้อได้มันก็ไม่ทำ เพราะฉะนั้น R&D ของเมืองไทยจึงค่อนข้างต่ำ” บรรยง กล่าว

บรรยง กล่าวว่า สิ่งที่ทำอยู่ผมเป็นคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจ สาเหตุที่ทำเพราะคิดว่าจะวางรากฐานอะไรได้บ้าง แนวคิดคือ หนึ่ง ทำอย่างไรให้มันเล็ก สอง ทำอย่างไรให้มันสะอาด สาม ทำอย่างไรให้มันมีประสิทธิภาพ

การทำให้มันเล็ก พอไปดูแล้วมันมีรัฐวิสาหกิจบางแห่งไม่ค่อยมีหน้าที่บบทบาท ยุบไปก็ไม่มีปัญหา อีกส่วนหนึ่งสามารถปล่อยไปได้ไปสู่เอกชน กลุ่มที่ สาม คือกลุ่มที่สามารถปรับประสิทธิภาพได้ เชื่อว่าถ้าทำได้ก็สามารถลดขนาดได้ครึ่งหนึ่ง อาจจะไม่ลดทันที แต่อย่างน้อยก็เป็นการวางรากฐานไว้ ส่วนที่ทำให้สะอาด เป็นเรื่องกระบวนการต่อต้านคอรัปชั่นทั่วโลก ที่เน้น ทำให้โปรงใส และให้มีส่วนร่วม เรื่องโปรงใสนั้น ความจริงมีมาตรฐานสากลอยู่มาก เช่น ของธนาคารโลก ไอเอ็มเอฟ เป็นต้น ส่วนการทำให้มีประสิทธิภาพ ซึ่งแนวเดียวกับโปร่งใส่ ที่ให้ตลาดเข้ามามีส่วนร่วมและผลักดัน โดยหวังว่าเมื่อมีการเลือกตั้งไปแล้วรากฐานที่วางไว้จะยังอยู่ต่อไป

ในความเห็นส่วนตัว เป็นเรื่องที่ผู้มีอำนาจจะต้องเลือกระหว่างการปฏิรูปกับการเติบโต ถ้าจะปฏิรูปให้ได้ผลจริงการเติบโตก็จะมีผลบ้าง ในสังคมระบอบอย่างนี้การคอรัปชั่นมันมีหน้าที่ของมันอยู่ ถ้าปราบคอรัปชั่นเหลือ 0 วันนี้ เศรษฐกิจหยุด รับรองว่าทำงานกันไม่เป็น นักธุรกิจก็ลงทุนกันไม่เป็น ตู่อยู่อีก 1 ปี จะเกิดเกียร์ว่งมาก ถ้าจะปราบคอรัปชั่นจริงๆ  

 

การปฏิรูปที่ไม่ดึงคู่ขัดแย้งมาร่วม สุดท้ายนำสู่ความขัดแย้งมากขึ้น

ผาสุก กล่าวว่า ปกติเวลาเรานึกถึงการปฏิรูป มันต้องมีบุคคลที่มีส่วนร่วมเข้าไปมาก เพราะสังคมมันหลากหลายมาก และเหตุที่จะปฏิรูปนั้นก็มาจากคู่ขัดแย้ง ดังนั้นคู่ขัดแย้งก็ต้องเข้ามามีส่วนร่วมด้วย การปฏิรูปที่จำกัดอยู่ในคนกลุ่มน้อยมาก และกีดกันคู่ขัดแย้งออกไป ผลการปฏิรูป ก็เป็นที่พอใจกับคนส่วนน้อยนี้ แนวโน้มนี้ในท้ายที่สุดจะนำไปสู่ความขัดแย้งมากกว่านี้หรือไม่

 

แก้ไข Oligopoly และ Oligarchy ต้องใช้ ‘ตลาด’ เข้ามาช่วยจัดการ

สมเกียรติ กล่าวว่า การเติบโตเศรษฐกิจนั้น โมเดลการพัฒนาแบบนี้มันตันแล้ว การลงทุนในโครงสร้างพื้ยฐานแม้มีปัญหาเรื่องความไม่มีเสถียรภาพทางการเมือง แต่อย่างไรก็มี สิ่งที่เป็นห่วงคือศักยภาพเราต่ำ โดยโครงสร้างพื้นฐานอีกอย่างที่ยากกว่าคือโครงสร้างพื้นฐานเรื่องน้ำ ที่จะต้องมีการเวนคืนที่ดิน ที่คิดว่ารัฐไทยไม่มีความสามารถทำได้ ต่อให้มีรัฐบาลที่มีเสถียรภาพก็ตาม ก็เป็นเรื่องยากที่จะพ้นกับดักรายได้ปานกลาง

ประเด็นเรื่อง Oligopoly และ Oligarchy มีวิธีการจัดการพวกนี้ได้ ข้อเสนอพวกนี้ถ้าไม่มองมันจำกัดเกินไป กรณีที่รัฐแข็งๆ เป็นปัญหา ยาถอนพิษ ที่มีประสิทธิภาพมากคือสิ่งชื่อเสียงแย่มากคือ วอชิงตันคอนเซ็นซัส (washing ton consensus) ที่มียาอยู่ 3 ขนาน 1. Privatization 2. Liberalization ซึ่ง 2 ตัวนี้คนรักเกียจอย่างยิ่ง ตัวที่ 3 คนจะรังเกียจน้อยลงคือ Competition ทำให้มันเกิดการแข่งขัน คิดว่าการถอนพิษการที่รัฐเป็นต้นเหตุของการผูกขาดทางเศรษฐกิจ ถ้าจะแก้ไข Oligopoly และ Oligarchy ต้องใช้ตลาดเข้ามาช่วยจัดการอำนาจผูกขาดของรัฐด้วย

การกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น เป็นเรื่องที่น่ารอง ควรมีกฏกติกากลางอะไรบางอย่างที่ควบคุมความเสียหายจากการกระทำของท้องถิ่น แล้วที่เหลือปล่อยให้ท้องถิ่นมีอิสระในการดำเนินการ และการกระจายอำนาจไม่ใช่ไปสู่ท้องถิ่นอย่างเดียว เช่น การโอนโรงเรียนไม่ใช่ไปสู่การกำกับของท้องถิ่นอย่างเดียว แต่ให้โรงเรียนมีความเป็นอิสระมากขึ้นด้วยในการบริหารจัดการ

 

กระจายอำนาจลดการคอรัปชั่น

ผาสุก กล่าวว่า ในทางทฤษฏี การกระจายอำนาจจะทำให้ตอบสนองต่อประชาชนในท้อถิ่นมากกว่าที่มาจากส่วนกลาง แต่ต้องใช้เวลา การกระจายอำนาจทำให้คอรัปชั่นเพิ่ม ซึ่งแน่นอนมันเพิ่ม แต่ไม่ใช่การตัดการกระจาย เพราะยิ่งไม่กระจายอำนาจการคอรัปชั่นมันกระจุกตัวมาก

บรรยง กล่าวว่า โดยหลักแล้วการกระจายอำนาจ เรื่องที่หนึ่ง มันจะเป็นตัวที่จะกระจายโอกาสและทรัพยากรในที่สุด เรื่องที่สองมันจะทำให้เกิดการแข่งขันระหว่างท้องถิ่น ในระยะสั้นมันดูเหมือนว่ามันเพิ่มการคอรัปชั่น แต่ในระยะยาวมันจะป้องกันการคอรัปชั่น เพราะเปิดโอกาสให้คนคอรัปชั่นที่เกิดภาวะได้กระจุกเสียกระจายมันยากขึ้น เพราะว่าถ้าประชาชนในท้องถิ่นจะตามดูทรัพยากรของเขา เพราะทุกเรื่องมันเริ่มจากบทเรียน

กระจายอำนาจที่ไม่ใช่แค่เชิงภูมิศาสตร์ แต่ต้องเป็นเรื่องความหลากหลาย

นิธิ กล่าวว่า เรื่องกระจายอำนาจ เราให้ความสนใจแต่ในเชิงภูมิศาสตร์ อย่างไรก็ตามเรื่องความหลากหลายนั้นมีสำคัญมาก เช่น มหาวิทยาลัยที่จะต้องมีมาตรฐานอันเดียว ซึ่งไม่ควร เพราะจะมันเกิดการกระจุกของวิธีคิด

เวลาเราพูดถึงการปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจ เราควรคิดถึงช่องโหว่ต่างๆ ที่เราจะแทรกเข้าไปในเศรษฐกิจโลกาภิวัฒน์ให้มาก ไม่คิดว่านายทุนเหล่านั้นจะเห็นมาก แต่ต้องให้ความสำคัญกับ SMEs มากขึ้นที่จะเห็นช่องโหว่เหล่านั้น

เรื่องการหลุดจากกับดักประเทศรายได้ปานกลาง ค่อนข้างแน่ใจว่าประเทศไทยจะรับจ้างทำของ ไปถึงรุ่นลูกหลาน แต่จะรับจ้างทำของแพงได้ไหม ดังนั้นต้องปฏิรูปการศึกษา แนวทางดังนี้

1.     สร้างสมรรถภาพในการเรียนรู้ด้วยตนเอง ของคนทั่วไป การเรียกรู้นอกโรงเรียนสำคัญ ในชีวิตจริง ผ่านทีวีหนังเพลง ฯลฯ โรงเรียนเป็นเพียงตัวกระตุ้น เรื่องเนื้อหาไม่สำคัญแล้ว สามารถถาม google แต่ที่สำคัญคือเรื่องทักษะ

2.     เรื่องคุณภาพ

3.     เรื่องโครงสร้างพื้นฐานในโลกปัจจุบัน ซึ่งอย่านึกถึงแต่คมนาคม แต่ปัจจุบันภาษาอังกฤษก็ถือเป็นโครงสร้างพื้นฐาน

ประเด็นสุดท้าย ไม่เคยหมดหวัง เชื่อว่าประเทศไทยอยู่รอดได้ด้วยประชาธิปไตยและต้องให้โอกาสมัน ก่อนหน้ารัฐประหาร 49 มันมีรอยแตก ของกลุ่มคณะธิปไตย ถ้าให้โอกาสกับประชาธิปไตยก็เชื่อว่าทักษิณ ไปไม่รอยสักกี่สมัย ต้องอดทนกับมัน  ยังมีความหวัง ถ้าเราสามารถนำประชาธิปไตยกลับคืนมาได้ ไม่ใช่ที่การเขียนของเนติบริกร นั่นคือความหวังของประเทศไทย

บทบาทกองทัพ - ภาษีมรดก

ผาสุก กล่าวว่า ประเทศอื่นรอบบ้านเราบทบาทของกองทัพในรัฐมันได้หดหาย ตรงนี้มันทำให้ภาคประชาสังคมทำงานได้ด้วย แต่เรายังอยู่ในภาวะที่ฝ่ายกองทัพยังคิดว่าเป็นสิทธิอันชอบธรรมในการเข้ามามีบทบาทในระบบการเมืองไทย และอีกส่วนที่แก้ยากคือมีคนอีกหลายกลุ่มหนุนให้กองทัพมีบทบาท ทำให้เกิดปัญหาเชิงอำนาจที่ใหญ่ยิ่ง

การให้ประชาชนมีการศึกษาที่เท่าเทียมอย่างกว้างขวางเป็นวิธีการที่จะลดควาทเหลื่อมล้ำได้นรุ่นต่อไป ปัญหาเรื่องความเหลื่อมล้ำด้านการศึกษาในบ้านเรามันเริ่มตั้งแต่ระดับอนุบาล

เรื่องของภาษี ภาษีมรดกนั้นเป็นวิธีจัดการกับการตกทอดแบบนี้ เหลื่อมล้ำมาจากความแตกต่างด้านการศึกษากับความแตกต่างเรื่องเงินทุนหรือเงินออมที่ตกทอดมาจากคนอื่น แม้คุณไม่ได้ทำอะไร คุณก็จะสามารถก้าวไปได้ไกลกว่าคนอื่น ดังนั้นในทางทฤษฎีระบบภาษีเพื่อให้ทำตรงนี้ไม่ให้มันเกินไป เป็นการป้องกันไม่ให้ความเหลื่อมล้ำมันกระจายตัวไปและเป็นการบอกให้ผู้ที่มีทรัพย์สินเอาทรัพย์สินมาทำประโยชน์กระจาย แทนที่จะเก็บไว้กับตัว และวิธีการแบบนี้ไม่ใช่แค่มรดก อย่างออสเตรเลีย ไม่มีภาษีมรดก มี Capital Gains Tax หลักคืออะไรทรัพย์สินที่มันมีการเปลี่ยนมือก็จะต้องมีการเก็บภาษี

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net