Skip to main content
sharethis

5 พ.ย.2557 ที่ห้องประชุมสัญญา ธรรมศักดิ์ อาคารสถาบันพัฒนาข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม มีการสัมมนาเรื่อง “ปัญหาอุปสรรคและแนวทางในการเตรียมความพร้อมเกี่ยวกับการบังคับใช้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่แก้ไขใหม่” โดยคนในแวดวงตุลาการเข้าฟังเต็มห้องประชุมใหญ่ราว 200 คน

ผู้ร่วมแลกเปลี่ยนได้แก่ ชาญณรงค์ ปราณีจิตต์  ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลอุทธรณ์ ช่วยทำงานชั่วคราวในตำแหน่งผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลอุทธรณ์ประจำศาลฎีกา, วันดี สุชาติกุลวิทย์ ผอ.ฝ่ายพัฒนากฎหมาย สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา, ชุลีพร น่วมทนง รองเลขาธิการสมาคมธนาคารไทย, ชัยรัตน์ แสงอรุณ ทนายความจากมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค

ตัวแทนจากกฤษฎีกากล่าวถึงที่มาและสถานะปัจจุบันของกฎหมายฉบับบนี้ว่า กฎหมายดังกล่าวเป็นหนึ่งในไม่กี่ฉบับที่ริเริ่มและนำเสนอโดยคณะกรรมการกฤษฎีกา ใช้เวลาหารือและยกร่างตั้งแต่ ม.ค.2554-ก.ย.2555 โดยสำนักพัฒนากฎหมายซึ่งมีทั้งตัวแทนกฤษฎีกาและผู้ทรงคุณวุฒิภายนอก เช่น ตัวแทนจากสถาบันการศึกษา, ตุลาการ, ภาคเอกชน รวมถึง ม.ร.ว.ปรีดียาธร เทวกุล ที่ผ่านมากฎหมายดังกล่าวอยู่ในวาระการพิจารณาของรัฐสภา แต่เมื่อสภาถูกยุบจึงถูกส่งกลับมาสำนักงาน ต่อมา คสช.ได้กระตุ้นหน่วยงานต่างๆ ให้ส่งร่างกฎหมายเข้าสู่การพิจารณาของ สนช. ร่างกฎหมายนี้มีความสำคัญและได้นำเสนอสู่การพิจารณาของ สนช.อีกครั้งในวาระแรกของ สนช. จากนั้นผ่านคณะกรรมาธิการ และล่าสุดอยู่ระหว่างรอโปรดเกล้าฯ

ร่างกฎหมายฉบับนี้มีทั้งการแก้ไขเพิ่มเติมมาตราเดิมและมีการกำหนดมาตราใหม่ รวมแล้ว 14 ประเด็นแต่ทั้งหมดเป็นไปตามเจตนารมณ์ในเหตุผลท้ายพระราชบัญญัติ คือเพื่อคุ้มครองสิทธิของผู้ค้ำประกันและผู้รับจำนอง

ตัวแทนจากมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคกล่าวว่า ที่ผ่านมามีประชาชนร้องเรียนเข้ามาเป็นจำนวนมากในเรื่องการบังคับใช้กฎหมายที่มีผลกระทบต่อผู้ค้ำประกัน ทั้งนี้เพราะมีคำว่า “เจ้าหนี้ร่วม” เป็นสภาพบังคับของผู้ค้ำประกัน แต่ชาวบ้านเข้าใจผิดว่าเจ้าหนี้จะไปตามทวงหนี้ให้ถึงที่สุดกับลูกหนี้ก่อนแล้วค่อยมาที่ผู้ค้ำ หรือคิดว่าเอาที่นาไปค้ำประกันให้ลูกหลาน หากลูกหลานจ่ายหนี้ไม่ได้อย่างมากก็แค่โดนยึดที่นาไป การปรับปรุงกฎหมายนี้จะช่วยอุดช่องโหว่เหล่านี้และคุ้มครองสิทธิผู้ค้ำประกันได้ดีขึ้น

ตัวแทนจากสมาคมธนาคารไทยกล่าวว่า การรับฟังความคิดเห็นทั้งสองครั้งของกฤษฎีกาไม่มีตัวแทนธนาคารเข้าไปร่วมด้วย ทำให้ไม่มีโอกาสนำเสนอมุมมองจากสถาบันการเงิน อย่างไรก็ตาม แม้เห็นด้วยกับหลักการ แต่คาดว่ากฎหมายนี้อาจกระทบกับบางเรื่อง เช่น สถาบันการเงินจะปล่อยสินเชื่อยากขึ้น เข้มงวดมากขึ้น เพราะรายละเอียดในกฎหมายที่คุ้มครองผู้ค้ำประกันนั้นทำให้ธนาคารในฐานะเจ้าหนี้เสี่ยงมากขึ้น ดังนั้น สุดท้ายประชาชนรายย่อยอาจเข้าถึงเงินกู้ยากขึ้น เพราะที่ผ่านมาธนาคารพยายามผ่อนปรนและเน้น SMEs

ตัวแทนสมาคมธนาคารฯ ยกตัวอย่างว่าแม้กฎหมายนี้จะไม่กระทบกับสัญญาเดิมแต่ดูเหมือนบางมาตราจะครอบคลุมถึงสัญญาเดิม เช่น การลดหนี้ การผ่อนเวลา ซึ่งแม้เป็นสัญญาเดิมแต่ต้องถูกบังคับด้วยกฎหมายใหม่ นอกจากนี้กฎหมายใหม่ยังกำหนดว่าหากลูกหนี้ผิดนัดเจ้าหนี้จะต้องแจ้งผู้ค้ำประกันภายใน 60 วันซึ่งสร้างความยุ่งยากให้กับเจ้าหนี้ในทางปฏิบัติ การปรับโครงสร้างหนี้ เช่น การลดหนี้ การขอหย่อนเวลา ต้องให้ผู้ค้ำประกันยินยอม ซึ่งหากผู้ค้ำประกันไม่ยินยอมก็จะเกิดปัญหา และท้ายที่สุดเจ้าหนี้ก็ต้องฟ้องถ้าจ่ายไม่ได้ มาตรการเหล่านี้ไม่เอื้อให้เกิดการปรับโครงสร้างหนี้ นั้นธนาคารเองก็กลัวว่าจะกระทบต่อระบบเศรษฐกิจในภาพรวม

ตัวแทนศาลกล่าวว่า มีหลักการที่ถูกปรับแก้ใหม่หลายเรื่องทำให้น่ากังวลใจ เพราะแนวปฏิบัติที่ศาลใช้กันมายาวนาน หรืแนวคำพิพากษาศาลฎีกา ก็อาจไม่ตรงกับกฎหมายที่ปรับปรุงใหม่ แต่คนที่น่าจะหนักใจว่าตุลาการก็คือ เจ้าหนี้และลูกหนี้ที่เขาต้องทำสัญญากันทุกวัน ดังนั้นภารกิจตอนนี้จึงควรจำกัดกรอบว่าอะไรจำเป็นต้องเปลี่ยนแปลง อะไรต้องวางแนวปฏิบัติให้ชัดเจน เพื่อให้ช่วงเปลี่ยนผ่านนี้สามารถดำเนินการไปได้ ไม่ใช่ผู้ปฏิบัติเกิดข้อสงสัยตลอดเวลา 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net