Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis


จดหมายน้อยถึงเพื่อน ๆ 


ข้าพเจ้าคิดเรื่องนี้มาหลายเดือนเต็มที ว่าเราต้องคุยกันอย่างน้อยกับเพื่อน ๆ ในเอฟทีเอวอช แต่การเจอะเจอหน้าตาแล้วคุยกันเป็นเรื่องยากขึ้นทุกทีสำหรับเรา จึงขออนุญาตใช้วิธีนี้ หวังว่าจะสื่อสารกันให้ได้ใจความความคิดครบถ้วน

บนพื้นฐานที่ยังเชื่อมั่นว่าเพื่อน ๆ ต่างมุ่งหวังการเปลี่ยนแปลงสังคมที่เป็นธรรม ยุติธรรม โดยไม่มีสิ่งใดแอบแฝง  อยากจะเริ่มที่สิ่งที่เราคิดว่าเราเห็นตรงกันอย่างน้อยสองเรื่อง 

ประการแรก ใช่เลยที่ระบอบการเมืองมีปัญหามาก นักการเมืองด้อยคุณภาพ (ทั้งฝ่ายค้านด้วย)ฉ้อโกง ควบคุมเสียงส่วนมากเป็นเผด็จการรัฐสภา ล่าสุดสะท้อนผ่านการผลักดัน พรบ.นิรโทษกรรม เหมาเข่งแบบหน้าด้าน

ประการที่สอง กระบวนการนโยบายสาธารณะมีปัญหามาก ทั้งนโยบายส่วนที่เป็น “ประชานิยม” นโยบายการจัดสรร จัดการทรัพยากร นโยบายเศรษฐกิจ การพัฒนาโครงการเศรษฐกิจขนาดใหญ่ต่าง ๆ ยังไม่มีจุดคัดง้าง และการมีส่วนร่วม การตรวจสอบอย่างมีประสิทธิภาพจากกลไกใด ๆ ทั้งนั้น

อย่างไรก็ตามการวิเคราะห์ปัญหา แนวคิดแนวทางแก้ไข และท่าทีต่อปัญหาหรือเหตุการณ์ต่างๆ ระหว่างพวกเรามีความต่างอย่างสำคัญนับแต่ปี 2553 เป็นต้นมา เริ่มตั้งแต่เราไม่มีปฏิกิริยาอย่างชัดแจ้ง หรือไม่ใยดีกับการสังหารหมู่ประชาชนโดยทหารเมื่อ พค.53 และการละเมิดสิทธิของประชาชนที่เพิ่มมากขึ้นเรื่อยมานับแต่นั้น ต่อมาพวกเราก็ไปสนับสนุนแซ่ซร้องกระบวนการศาลรัฐธรรมนูญที่ตัดสินอย่างพิลึกกึกกือสองสามสี่มาตรฐาน ขัดต่อรัฐธรรมนูญเอง  จนที่สุดก็ร่วมขบวนการ กปปส. ที่สาระสำคัญของข้อเรียกร้องคือ การงดเว้นการเลือกตั้ง ปฏิรูปโดยอำนาจพิเศษ พิเศษมากจนต้องมาโดยรัฐประหาร แล้วเราก็แสดงความเห็นชอบกับการรัฐประหาร ด้วยการร่วมมือกับกลไกต่าง ๆ อันเป็นผลพวงของการรัฐประหารนั้น

กล่าวอย่างรวบรัดคือ ท่าทีของพวกเราส่วนใหญ่เป็นไปในทางที่ถอยห่างจากกระบวนการประชาธิปไตย(แบบรัฐสภา) และการปกป้องสิทธิเสรีภาพของประชาชน  ออกไปทุกที

จริงอยู่ เราเคลื่อนไหว เราต่อสู้ เราทำงานในประเด็นปัญหาเชิงโครงสร้าง กระทบกับนโยบายสาธารณะในประเด็นต่าง ๆ มาโดยตลอด ไม่ว่ากับรัฐบาลไหน ๆ เราก็ต้องทำ ต้องเคลื่อนไหว

แต่ก็ไม่มีครั้งไหนที่ชัดเจนเท่าครั้งนี้ ว่าขบวนประชาสังคม องค์กรพัฒนาเอกชน ไม่อินังขังขอบกับที่มาของอำนาจทางการเมือง ไม่สนใจว่ามันจะมาจากอะไร วิธีการเช่นไร บิดเบือนการใช้รัฐธรรมนูญก็ได้ ยึดอำนาจรัฐประหารก็ได้ ละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชน ทำร้ายกดขี่ข่มเหงอุดปากคนเห็นต่างก็ได้

พวกเราเห็นว่าระบอบการเลือกตั้งมีปัญหาก็ล้มมันเสียกระนั้นหรือ แล้วพวกเราตระหนักกันหรือไม่ว่า การสนับสนุนแนวคิดการปฏิรูปแบบที่ กปปส.เสนอนั้น ด้านหนึ่งคือการละเมิดสิทธิของประชาชนอีกกลุ่มหนึ่งที่คิดเห็นต่างไปจากนั้น พวกเขายืนยันสิทธิการเลือกตั้ง แม้ว่าเราจะไม่เห็นด้วยกับตัวเลือกของพวกเขา เราก็ต้องอดกลั้น พวกเราทำงานกันมายี่สิบสามสิบปี ยังไปไม่ถึงไหน การที่พวกเรายังไม่สามารถทำให้คนจำนวนมากเห็นด้วยกับเรากลายเป็นพลังที่มีแรงผลักทางการเมือง ก็นับเป็นความบกพร่องของขบวนการเราเช่นกัน  หากผลของการประนีประนอมระยะสั้นส่งผลเสียต่อความเข้มแข็งของประชาธิปไตยที่ประชาชนมีอำนาจจริงในระยะยาว ได้จะคุ้มเสียหรือไม่ ใครจะเป็นคนวัดคนตัดสิน  หรือให้ประวัติศาสตร์ตัดสินการกระทำที่ผิดพลาดที่ไม่อาจย้อนคืนกันอีก  ทำไมเราไม่ยอมรับว่าพัฒนาการประชาธิปไตยที่เข้มแข็งต้องการเวลาและมีพลวัต ที่สำคัญต้องวางบนการเคารพสิทธิพื้นฐานของประชาชน

ที่สุดเราก็ต้องมาอยู่กับรัฐบาลเผด็จการทหารที่ใช้อำนาจเถื่อนโดยการสนับสนุนของมวลมหาประชาชนกลุ่มหนึ่งเข้ามาฉีกรัฐธรรมนูญยึดครองอำนาจรัฐ และดูว่าจะฉ้อฉลไม่ต่างจากนักการเมืองทั้งหลาย วันนี้ โปรเจคกลุ่มทุนทั้งหลายทั้งปวงก็ถูกรื้อมาทำต่อ ระบบหลักประกันสุขภาพถูกบ่อนทำลายไม่หยุดยั้ง  ชาวบ้านใกล้เหมืองแร่ ชาวบ้านและชนเผ่าที่อาศัยอยู่ในที่ดินป่าไม้ของรัฐก็ถูกข่มขู่คุกคามเหมือนเดิมหรือหนักกว่าเดิม  มีการใช้อำนาจถ่อยความรุนแรงคุกคามผู้คนโดยทั่วไป สามจังหวัดภาคใต้จะร้อนระอุขึ้นมาอีกมากจากปืนอีก 2,700 กระบอก  สิทธิเสรีภาพพื้นฐานของประชาชนในการแสดงออกถูกเหยียบย่ำถึงที่สุด ไม่มีใครสามารถส่งเสียงต่างไปจากผู้ถือครองอำนาจรัฐโดยมิชอบนี้ได้เลย และเราต้องยอมรับว่าเราเป็นส่วนหนึ่งที่ชักพาสังคมไทยมาถึงจุดนี้

แล้ววันนี้ พวกเรายังจะเข้าไปร่วม เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของกลไกที่ตั้งขึ้นเพื่อกลบเกลื่อนการใช้อำนาจไม่เป็นธรรมนี้  เราเชื่อกันจริง ๆ หรือครับว่าเราจะผลักจะดันอะไรอย่างเป็นผลในทางปฏิบัติจริง นอกจากบรรจุคำพูดหรูไว้ในเอกสารปฏิรูปอีกครั้งหนึ่ง เมื่อไรเราจะจึงจะสรุปได้ว่า เราเพียงเข้าไปเป็นเครื่องตกแต่งของพิธีกรรมรักษาอำนาจไม่เป็นธรรมที่ไม่ยอมรับอำนาจของประชาชนแม้แต่น้อยนิด

ข้าพเจ้าเชื่อว่า การเปลี่ยนแปลงที่พวกเรามุ่งหมายมาโดยตลอดนั้นจะเกิดขึ้นได้ก็จากพลังของประชาชนชนอันกว้างใหญ่ไพศาล (Mass mobilization) ซึ่งจะส่งผลให้เกิดแรงผลักดันทางการเมือง (political will) ไปเปลี่ยนแปลงเรื่องยาก ๆ ดังนั้นมวลชนต้องจัดตั้งอย่างเป็นอิสระ เคารพตัวเองและผู้อื่น  เข้าไปมีส่วนร่วมทางการเมือง และการตัดสินใจทางนโยบายทุกระดับและทุกรูปแบบ ทั้งในแบบปัจเจกและกลุ่มเครือข่ายหรือขบวนการ

ออกมาเถอะครับ ในสถานการณ์แบบนี้ กลับออกมาทำหน้าที่หลักของนักกิจกรรมทางสังคมคือ การเคลื่อนไหวทางสังคม เคลื่อนไหวมวลชน เพื่อสร้างแรงผลักดันทางการเมือง ที่จะเปลี่ยนแปลงสังคม เศรษฐกิจ การเมืองในทิศทางที่เป็นธรรม ยุติธรรม ลดความเหลื่อมล้ำจริงๆแล้วเฉพาะหน้านี้ การปฏิรูปที่เร่งด่วนสุดคือ การปฏิรูปให้เกิดสิทธิเสรีภาพของประชาชน ปล่อยนักโทษการเมือง หยุดคุกคามคนเห็นต่าง ปฎิรูปกองทัพ ปฏิรูประบบยุติธรรม และสถาบันครอบงำทั้งหลาย ไม่ใช่ปล่อยให้เขามาเขียนประวัติศาสตร์เขียนตำราครอบงำกดขี่กันชั่วลูกหลาน นั่นก็คือเราต้องออกมาร่วมกับประชาชนที่ตื่นตัว ตื่นรู้ทั้งหลายขับไล่ระบอกผด็จการออกไปโดยเร็วที่สุด
 

ด้วยความเคารพ  เชื่อมั่น และสมานฉันท์

กิ่งกร 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net