จิราพร บุนนาค: บทเรียนสันติภาพ Track 1 จากหลายรัฐบาล หลากตัวละคร สะท้อนมุมมองแต่ละฉาก

จิราพร บุนนาค อดีตรองเลขา สมช.เผยประสบการณ์ทำงานสันติภาพ เล่าย้อนความการพูดคุยระหว่างรัฐไทยกับขบวนการจากเจนีวาโปรเสสจนถึงกระบวนการพูดคุยที่แคแอล ผ่านหลายรัฐบาล หลากตัวละคร สะท้อนมุมมองแต่ละฉาก พร้อมระบุการเดินหน้าต่อจากนี้ควรเริ่มต้นจากการให้ความสนใจที่ 5 ข้อเรียกร้องบีอาร์เอ็นและโน้มน้าวใจคนที่ไม่เห็นด้วยในฝ่ายตนเอง

นางจิราพร บุนนาค อดีตรองเลขาธิการสำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.)

 

นางจิราพร บุนนาค อดีตรองเลขาธิการสำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) เป็นวิทยากรบรรยายเรื่อง “ความพยายามทั้งหมดของ Track 1 ต่อสันติภาพในชายแดนใต้/ปาตานี” ในหลักสูตรการเปลี่ยนผ่านความขัดแย้ง

 

นางจิราพร บุนนาค อดีตรองเลขาธิการสำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) เป็นวิทยากรบรรยายเรื่อง “ความพยายามทั้งหมดของ Track 1 ต่อสันติภาพในชายแดนใต้/ปาตานี” ในหลักสูตรการเปลี่ยนผ่านความขัดแย้ง เมื่อวันเสาร์ที่ 11 ตุลาคม 2557 ที่คณะวิทยาการสื่อสาร มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี (ม.อ.ปัตตานี) จัดโดยวิทยาลัยประชาชน (People’s College) โดยกล่าวถึงบทบาทของกระบวนการสันติภาพในกลุ่มระดับนำ หรือที่เข้าใจว่าเป็นกระบวนการใน Track 1 และอนาคตของการพูดคุยดังกล่าวจะเป็นอย่างไรต่อไป

การบรรยายครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งของวงเสวนาในหลักสูตรประกาศนียบัตรความขัดแย้งในระยะเปลี่ยนผ่าน ต่อเนื่องจากเวทีเสวนาว่าด้วย Track 2 และ Track 3 หรือกระบวนการสันติภาพในระดับองค์กรและเครือข่ายประชาสังคม และระดับประชาชนรากหญ้าที่จัดมาแล้วก่อนหน้านี้

“ต้องให้เขามีความสุขบนแผ่นดินของตัวเอง”

นางจิราพร บุนนาค อดีตรองเลขาธิการสำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) กล่าวว่า ตนได้ติดตามการทำงานของหน่วยงานด้านความมั่นคงมาโดยตลอด ไม่ว่าจะเป็นด้านนโยบาย คือ สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) และฝ่ายปฏิบัติ คือกองทัพ กรมการปกครองและตำรวจ ประกอบกับสนใจในเรื่องสิทธิมนุษยชน จึงเข้าไปอยู่ในคณะอนุกรรมการปฏิบัติการยุทธศาสตร์ด้านสิทธิมนุษยชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้

นางจิราพร เชื่อว่า ความมั่นคงของประชาชนเกิดขึ้นไม่ได้โดยลำพัง ถ้าไม่คำนึงถึงความสำคัญของสิทธิเสรีภาพ สิทธิมนุษยชนและศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ที่เท่าเทียมกัน หากไม่มีสิ่งเหล่านี้แล้วก็ไม่มีวันที่จะเกิดความมั่นคงของประชาชนและของชาติได้

“สิ่งที่จะพูดต่อไปนี้ไม่ได้พูดเพราะเกษียณแล้ว แต่ได้คิดและพูดแบบนี้มาตั้งแต่ก่อนเกษียณ และได้กำหนดเป็นนโยบายด้านความมั่นคงจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งกำหนดไว้ในช่วงต้นๆ ของวิสัยทัศน์ว่า ให้มุสลิมอยู่ได้อย่างมุสลิม อัตลักษณ์ของคนในพื้นที่สำคัญที่สุด เพราะฉะนั้นจะต้องให้เขามีความสุขกับการเป็นมุสลิมในพื้นที่ของตัวเองหรือในแผ่นดินของตัวเอง” นางจิราพร กล่าว

จุดเริ่มต้นพูดคุย บทบาท HDC และเจนีวาโปรเสส

นางจิราพร ได้เล่าความเป็นมาของกระบวนการแก้ปัญหาภาคใต้ที่ดำเนินการใน Track 1 หรือจากกลุ่มผู้นำระดับสูงว่า ตนเองเป็นส่วนหนึ่งในกลุ่มคนเหล่านี้ที่เชื่อมั่นในการแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ด้วยกระบวนการสร้างสันติภาพที่ต้องมีจุดเริ่มต้นมาจากการพูดคุย โดยเมื่อปลายปี 2548 ในขณะที่ตนดำรงตำแหน่งเป็นรองเลขาธิการ สมช. มีองค์กรจากต่างประเทศองค์กรหนึ่งชื่อ Center for Humanitarian Dialogue ซึ่งมีชื่อย่อว่า HDC (จากที่เดิมชื่อ Henry Dunant Centre for Humanitarian Dialogue) มีสำนักงานอยู่ที่กรุงเจนีวา ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ และได้รับการสนับสนุนงบประมาณเพื่อดำเนินการเกี่ยวกับกระบวนการพูดคุยในพื้นที่ที่มีความขัดแย้ง

นางจิราพร กล่าวต่อไปว่า HDC สนใจปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ และได้ติดต่อขอเข้าพบผู้นำรัฐบาลไทยในขณะนั้น คือ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เพื่อมาทำงานในพื้นที่ ซึ่งนายกฯ ทักษิณ ให้ติดต่อไปทางเลขาธิการ สมช.ในขณะนั้นคือ พล.อ.วินัย ภัททิยกุล และทาง สมช.ก็ไม่ขัดข้องที่ HDC จะเข้ามาทำงานในเรื่องนี้

“ตอนนั้น เลขาธิการ สมช.เห็นว่าตนเองทำงานด้านภาคใต้มานานตั้งแต่ก่อนปี 2542 จึงมอบหมายให้เป็นหัวหน้าคณะในการดำเนินการพูดคุยกับคณะที่ HDC ระบุว่าเป็นคนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้และเป็นตัวแทนขบวนการต่อสู้ ฝ่ายละ 4 คน คณะพูดคุยชุดนี้ถือว่าเป็น Track 1 ในสมัยนั้น และเรียกชื่อการพูดคุยครั้งนั้นว่า เจนีวาโปรเสส (Geneva Process)”

PULO สองสาย และ BIPP บนโต๊ะพูดคุย

นางจิราพร กล่าวว่า การพูดคุยของคณะพูดคุยดังกล่าวเริ่มต้นครั้งแรกที่กรุงเจนิวา เพราะสำนักงานใหญ่ของ HDC อยู่ที่นั่น และ HDC มองว่าฝ่ายขบวนการสะดวกที่จะเดินทางมายังกรุงเจนีวา เพราะส่วนใหญ่พำนักอยู่ที่สวีเดน ซึ่งขณะนั้นนายกัสตูรี มะห์โกตา จะเป็นหัวหน้าทีมพูดคุยฝ่ายขบวนการ นอกจากนั้นยังมีกลุ่มของนายซัมซุดดีน คาน ซึ่งมาจากกลุ่ม PULO เช่นกัน แต่แยกการพูดคุย

“การพูดคุยในขณะนั้นดำเนินการอย่างลับๆ ไม่เปิดเผยสู่สาธารณะ ซึ่งตอนนั้นตัวแทนฝ่ายขบวนการยังไม่มีตัวแทนจากกลุ่ม BRN แต่มีตัวแทนจากกลุ่ม BIPP ซึ่งเป็นอูลามาอ์หรือผู้รู้ศาสนา”

นางจิราพร สะท้อนว่า จากการพูดคุยที่เจนีวาทั้งกับกลุ่มของนายกัสตูรีและกลุ่มของนายซัมซุดดีน ผลปรากฏว่าไม่ได้มีการพูดถึงประเด็นการพูดคุยเพื่อสันติภาพ เพราะทั้งสองกลุ่มพูดแต่เพียงปัญหาของตนเองเท่านั้น และตัวแทนจากกลุ่ม BIPP ได้เน้นย้ำว่า หากจะดำเนินการพูดคุยเพื่อสันติภาพก็ไม่สามารถที่จะคุยเพียงแค่กลุ่มเดียวได้ เพราะยังมีอีกหลายกลุ่ม

ความล้มเหลวและการถอนตัวของ BIPP

นางจิราพร เล่าด้วยว่า มีอยู่ช่วงหนึ่งของการพูดคุยที่มีการตกลงกันว่าจะลดความรุนแรงทั้งจากฝ่ายรัฐไทยและฝ่ายขบวนการ ซึ่งตัวแทนรัฐไทยในขณะนั้นไม่มีตัวแทนที่มาจากกองทัพ จึงต้องกลับมาปรึกษากับกองทัพก่อน และทางผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) ในขณะนั้น คือ พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ได้ส่งนายทหารท่านหนึ่งเข้าร่วมพูดคุยกับฝ่ายของกลุ่มนายกัสตูรี ส่วนหนึ่งก็เพื่อที่จะพิสูจน์ว่ากลุ่มของนายกัสตูรีใช่ตัวจริงหรือเปล่า และมีมติร่วมกันว่าจะลดความรุนแรงในพื้นที่ไหน แต่ผลปรากฏว่าไม่สำเร็จ

“กลางปี 2550 ในช่วงที่ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี อุซตาสจาก BIPP ได้ถอนตัวออกจากการพูดคุย ซึ่งความจริงแล้วเขาสนิทกับอุซตาซฮัสซัน ตอยิบ และเป็นที่ปรึกษาของอุซตาสฮัสซัน โดยมีคุณหมออีกท่านเป็นทีมงาน ซึ่งทั้งสองท่านต่อมาได้เข้าไปเกี่ยวข้องกับกระบวน Track 1 ในปัจจุบัน” นางจิราพร กล่าว

หลังจากนั้น ในช่วงปลายปี 2550 หรือต้นปี 2551 ระดับสูงของภาครัฐได้ให้ HDC จัดการพูดคุยกับกลุ่มของคุณกัสตูรีที่อินโดนีเซีย แต่ไม่มีผลอะไรตามมาจากการพูดคุยครั้งนั้น เพราะอยู่ในระหว่างช่วงเปลี่ยนผ่านรัฐบาล

การปรากฏตัวของ BRN

นางจิราพร เล่าต่อไปว่า ในช่วงนายสมัคร สุนทรเวช ต่อด้วยนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ เป็นนายกรัฐมนตรี ไม่มีการพูดถึงประเด็นปัญหาในจังหวัดชายแดนใต้เลย ทาง HDC ไม่ได้ดำเนินการเรื่องนี้ต่อ เพราะมองว่ารัฐบาลไม่ได้ให้ความสำคัญต่อประเด็นปัญหาความไม่สงบในภาคใต้มากนัก แต่ทางฝ่ายอุซตาซที่เคยถอนตัวออกไปกลับไม่ได้อยู่นิ่งเฉย โดยได้ไปพูดคุยกับกลุ่ม BRN ว่าทางออกอีกทางหนึ่งที่น่าจะเลือกใช้ก็คือการพูดคุยเพื่อสันติภาพ ซึ่งยังไม่เคยมีใครพูดถึง เพราะก่อนหน้านี้เป็นการดำเนินการที่ยังไม่มีการพูดคุยเรื่องกระบวนการสันติภาพ

นางจิราพร เล่าต่ออีกว่า อุซตาซท่านดังกล่าวได้คุยกับตัวแทนกลุ่ม BRN 5 คน แต่มีเพียง 1 คนเท่านั้นที่คิดว่าการพูดคุยเพื่อสันติภาพเป็นอีกทางที่น่าเลือกมากกว่าการใช้ความรุนแรง ก่อนที่อีกหลายคนจะเริ่มให้ความสนใจในภายหลัง หลังจากที่มีการยกตัวอย่างกรณีจากต่างประเทศที่ยังไม่เคยปรากฏว่ากลุ่มที่ใช้ความรุนแรงประสบผลสำเร็จในการต่อสู้เรียกร้อง

ส่วนในฝ่ายไทยเองก็มีการพูดคุยถึงความสำคัญของกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติภาพ โดยเฉพาะกรรมาธิการวุฒิสภา ซึ่งมีคนในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้เป็นกรรมาธิการอยู่ด้วย รวมไปถึงกลุ่มนักวิชาการ สื่อมวลชน และภาคประชาสังคม

ทวี สอดส่อง และ ทักษิณ ชินวัตร

“ในช่วงปี 2552 ดิฉันและทีมจากสถาบันพระปกเกล้าได้ดำเนินการพูดคุยกับอุซตาซและคุณหมอดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้น ซึ่งดิฉันเรียกว่า Track 1.5 และดิฉันมีความเชื่อว่ากระบวนการพูดคุยหยุดไม่ได้ ถ้าหยุดหรือขาดตอนจะมาเริ่มต้นใหม่ก็จะต้องสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจกันใหม่ ดิฉันมองว่า Track 1.5 รวมทั้ง Track 2 และ Track 3 จะช่วยให้ Track 1 เดินต่อไปได้”  นางจิราพร กล่าว

นางจิราพร กล่าวต่อด้วยว่า การพูดคุยครั้งนี้มีจุดเริ่มต้นมาจากที่หลังจากตนเองทำงานใน Track 1.5 มาอย่างต่อเนื่อง ทำให้คิดว่าการพูดคุยเพื่อสันติภาพใน Track 1 ถึงเวลาที่จะต้องเริ่มต้นได้แล้ว เพราะตนมองว่าคนในพื้นที่ เจ้าหน้าที่ รวมทั้งขบวนการหรือนักต่อสู้เอง ผ่านความเจ็บปวดและความสูญเสียจากความรุนแรงมามาก จึงคิดว่าถึงเวลาที่จะต้องหาทางออกที่ไม่ใช้ความรุนแรงต่อกัน หรือหากจะยังคงใช้ความรุนแรงต่อไป คู่ขัดแย้งต้องไม่ใช่ประชาชนผู้บริสุทธิ์

นางจิราพร กล่าวว่า ในช่วงปี 2554 พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รองปลัดกระทรวงยุติธรรม คาดการณ์ว่าจะได้มาดำรงตำแหน่งเลขาธิการ ศอ.บต.(ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้) ตนกับทีมสถาบันพระปกเกล้าเข้าไปหา พ.ต.อ.ทวี และเสนอแนวคิดการพูดคุยเพื่อสันติภาพ โดยรัฐไทยจะต้องเป็นผู้ส่งสัญญาณก่อนว่าต้องการพูดคุย ซึ่ง พ.ต.อ.ทวี เองก็เห็นด้วย

“ดิฉันก็คิดว่าคุณทวีคงจะไปเล่าให้คุณทักษิณฟัง กระทั่งคุณทักษิณบินตรงไปยังมาเลเซีย จึงเป็นจุดเริ่มต้นของกระบวนการพูดคุยครั้งใหม่อย่างที่ปรากฏตามข่าว”

นางจิราพร เล่าต่อว่า ก่อนการพูดคุย ตำรวจสันติบาลของมาเลเซียได้เชิญตัวกลุ่มขบวนเพื่อมาพบคุณทักษิณ ซึ่งจำนวนคนที่ได้เข้าพบคุณทักษิณเป็นไปตามที่ทางมาเลเซียได้กำหนดไว้ โดยมีตัวแทนจาก BRN, PULO และ BIPP

บทเรียนการพูดคุยเคแอล

นางจิราพร สะท้อนว่า หัวหน้าทีมพูดคุยสันติภาพของไทย ซึ่งประกอบด้วย พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร เลขาธิการ สมช. รวมถึง พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการ ศอ.บต. และ พล.อ.นิพัทธ์ ทองเล็ก ปลัดกระทรวงกลาโหม ร่วมทีม ซึ่งนางจิราพรมองว่าในกระบวนการพูดคุยครั้งใหม่ของไทย ไม่มีความตั้งใจและจริงใจมากพอ รวมทั้งไม่มีประสบการณ์ และไม่มีทักษะในเรื่องกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติภาพ ซึ่งต่อมาได้มีการเชิญนักวิชาการเข้ามาร่วมใน Track 1 เพื่อให้มีความชอบธรรมมากขึ้น

นางจิราพร เล่าว่า เมื่อถึงเวลาพูดคุยปรากฏว่าทางฝ่ายขบวนการสะท้อนว่าทางการไทยไม่เตรียมการอะไรเลยก่อนมีการพูดคุย และการประชุมใช้ 3 ภาษา จึงทำให้เสียเวลาในการแปล เมื่อจบการพูดคุยก็ไม่สามารถสรุปประเด็นได้ ดังที่ดิฉันกล่าวไว้แล้วข้างต้นว่า ทางฝ่ายไทยไม่มีความตั้งใจและจริงใจมากเพียงพอ เหมือนทำไปเพื่อสร้างภาพทางการเมืองเท่านั้น ยกเว้นนักวิชาการที่เชื่อมั่นในกระบวนการพูดคุยเพราะเคยผ่านงานที่เกี่ยวกับประสบการณ์จากต่างประเทศ

นางจิราพร กล่าวต่ออีกว่า ทางฝ่าย BRN จึงมองว่าหากเป็นแบบนี้ต่อไป การพูดคุยจะไม่เกิดผลอะไรกับประชาชน จึงปรากฏข้อเสนอ 5 ข้อออกมา ปรากฏว่าสื่อของไทยไปนำเสนอข่าวว่าทางฝ่ายขบวนการตั้งเงื่อนไข จนเกิดกระแสไม่รับข้อเสนอ รวมไปถึง ผบ.ทบ.ในขณะนั้น (ซึ่งดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในปัจจุบัน) ก็ย้ำชัดว่า ไม่รับข้อเสนอในขณะที่ตนมองว่าเจตนาของ BRN คือต้องการทราบว่าฝ่ายไทยจะทำความเข้าใจและเห็นความสำคัญของข้อเสนอ 5 ข้อหรือไม่? ข้อเสนอเป็นไปได้หรือไม่? แล้วจะคุยกันต่อย่างไร?

อนาคตต้องเริ่มต้นที่ 5 ข้อเรียกร้อง

นางจิราพร กล่าวว่า การพูดคุยเพื่อสันติภาพจะเกิดขึ้นอย่างแน่นอนในอนาคต แม้ทางฝ่ายกองทัพจะเรียกว่าการพูดคุยเพื่อสันติสุขก็ตาม เห็นได้จากการที่ฝ่ายรัฐไทยมีการพิจารณาเปลี่ยนตัวหัวหน้าคณะพูดคุยเพื่อสันติสุข หลังจากที่มีเสียงคัดค้านมาจากฝ่ายขบวนการฯ ต่อการแต่งตั้ง พล.อ.อกนิษฐ์ หมื่นสวัสดิ์ เป็นหัวหน้าทีมพูดคุย และดูเหมือนจะเปลี่ยนให้ พล.อ.อักษรา เกิดผล เป็นหัวหน้าทีมแทน ซึ่งนับเป็นสัญญาณที่ดีต่ออนาคตการพูดคุย หากทั้งสองฝ่ายยอมรับบุคคลที่เป็นหัวหน้าคณะพูดคุย

อดีตรองเลขาธิการ สมช. สะท้อนความเห็นว่า ในภาวะที่รัฐบาลมีอำนาจอยู่ในมืออย่างเต็มที่เหมือนในปัจจุบันนี้ ซึ่งสามารถใช้ในทางสร้างสรรค์ได้ และการเรียนรู้จากกรณีการพูดคุยที่กัวลาลัมเปอร์ที่ผ่านมาและกรณีจากต่างประเทศ สามารถเป็นบทเรียนที่ดีในการดำเนินการพูดคุยในครั้งต่อๆ ไป และหากรัฐบาลอยากให้การพูดคุยเพื่อสันติภาพดำเนินต่อไปได้ สิ่งแรกที่จะต้องทำก็คือการกลับไปสนใจและให้ความสำคัญกับข้อเสนอ 5 ข้อของฝ่าย BRN และจะต้องดำเนินการพูดคุยด้วยความจริงจังและจริงใจ สันติภาพจึงจะบังเกิดผล

นางจิราพร กล่าวต่อว่า ประเด็นสำคัญอีกเรื่องคือการที่คู่พูดคุยทั้งสองฝ่ายจะต้องสื่อสารเพื่อทำความเข้าใจและโน้มน้าวจูงใจให้กลุ่มที่ยังมีท่าทีเฉยๆ หรือไม่เห็นด้วยกับกระบวนการพูดคุยในฝ่ายตนเอง ได้ตระหนักและเห็นความสำคัญของการพูดคุย โดยเชื่อมั่นว่าจะนำไปสู่สันติภาพได้จริง

“สำหรับการเริ่มต้นพูดคุยใน Track 1 ครั้งใหม่ ควรให้ความสำคัญกับการสร้างบรรยากาศของความไว้เนื้อเชื่อใจ ความมั่นใจในความปลอดภัย และการคิดหาทางออกร่วมกัน เพื่อให้เกิดผลต่อสันติภาพได้จริง”

นางจิราพร กล่าวย้ำอีกว่า นอกจากนี้ ประเด็นสำคัญอีกเรื่องคือความจำเป็นของการพูดคุยบนโต๊ะพูดคุยที่ทำให้ได้ความชัดเจนถึงเจตนารมณ์และความหมายที่เข้าใจตรงกันในข้อเสนอห้าข้อหรือข้อเสนออื่นๆ ที่จะมีตามมาต่อไปนั้น ทั้งนี้ เพื่อไม่ให้เกิดความเข้าใจผิด และเกิดทัศนคติที่ไม่ดีระหว่างกัน รวมทั้งการให้ความสำคัญกับเรื่องที่มีการตกลงหลังมีการพูดคุยแล้ว ควรมีการดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมด้วย

 

 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท