Skip to main content
sharethis

เสวนาสาธารณะ ‘ประชาธิปไตย คอร์รัปชั่น และการปฏิรูปประเทศไทย: จะใช้ประชาธิปไตยแก้ปัญหาคอร์รัปชั่นได้อย่างไร’ วิทยากรเห็นร่วม กำจัดคอร์รัปชั่นได้ ไม่จำเป็นต้องละทิ้งประชาธิปไตย

ภาพจาก : เฟซบุ๊ก Marc Saxer

เมื่อวันที่ 5 พ.ย. ที่ผ่านมา ณ โรมแรมเดอะสุโกศล โครงการ ‘เศรษฐกิจแห่งวันพรุ่งนี้’ ภายใต้ความร่วมมือระหว่างสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) และมูลนิธิฟรีดริค เอแบร์ท (FES) ได้จัดงานเสวนาสาธารณะในหัวข้อ ‘ประชาธิปไตย คอร์รัปชั่น และการปฏิรูปประเทศไทย: จะใช้ประชาธิปไตยแก้ปัญหาคอร์รัปชั่นได้อย่างไร’ โดยมีวิทยากรร่วมการเสวนาประกอบด้วย Marc Saxer (มาร์ค ศักซาร์) มูลนิธิฟรีดริค เอแบร์ท (FES)  ดร. สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ดร. ประจักษ์ ก้องกีรติ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ดร. ธานี ชัยวัฒน์ คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ดำเนินรายการโดย ผศ. ปกป้อง จันวิทย์ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

00000

ภาพจาก : เฟซบุ๊ก Marc Saxer

มาร์ค ศักซาร์ : การต่อสู้กับคอร์รัปชั่นในสังคมมีการเปลี่ยนแปลง

“หากคุณต้องการพัฒนาระบบการเมือง และกำจัดปัญหาคอร์รัปชั่น ด้วยโครงสร้างสถาบันทางการเมืองเดิมสามารถทำหน้าที่ได้ดีอยู่แล้ว แต่วิธีคิดของคนยังไม่พร้อมเท่านั้นเอง ฉะนั้นจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องพัฒนาประชาธิปไตย ทำให้คนรู้สึกว่าเขาทุกคนมีส่วนร่วมการการปกครอง ไม่ใช่การแก้ปัญหาด้วยการทำลายประชาธิปไตย”

มาร์คกล่าวว่า การจะจัดการกับปัญหาคอร์รัปชั่นในประเทศไทยนั้น ต้องมีมุมมองต่อคอร์รัปชั่นใหม่ คือควรมองคอร์รัปชั่นโดยมองไปพร้อมกับสภาวะสังคมที่มีการเปลี่ยนแปลง ซึ่งกรณีประเทศไทยนั้นเป็นสังคมที่มีความก้าวหน้ามากขึ้นในหลายๆด้าน เช่นมีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างเศรษฐกิจ มีความรู้ทางเทคโนโลยีต่างๆมากมาย แต่ระบบสังคม ระบบการเมืองยังไม่ได้พัฒนาไปไกลเท่าที่ควร

การที่ประเทศไทยมีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางเศรษฐกิจนั้น ส่งผลประการสำคัญอย่างหนึ่งคือการทำให้เกิดชนชั้นใหม่ขึ้นมา ทว่าโครงสร้างทางการเมืองยังคงเป็นคงเป็นโครงสร้างแบบเดิม โดยมีระบบระเบียบทางสังคม และการเมืองที่ชนชั้นนำเดิมเป็นผู้กำหนด ฉะนั้นปัญหาคอร์รัปชั่นอย่างการระบบอุปถัมภ์ ซึ่งเคยมีอยู่ในสังคมไทย ทว่าก่อนหน้านี้เป็นเพียงการใช้สายสัมพันธ์ส่วนตัวในระบบอุปถัมภ์กันในวงแคบ แม้ปัจจุบันสังคมจะอยู่ในช่วงที่มีการเปลี่ยนแปลง แต่ระบบอุปถัมภ์ก็ไม่ได้หายไปจากสังคมไทย จนถึงที่สุดแล้วกลายมาเป็นปัญหาที่ทำให้สังคมไม่เติบโต และบั่นทอนความก้าวหน้าของสังคมไทย

ประสบการณ์จากหลายๆประเทศผู้ที่จะออกมาขับเคลื่อนสังคมให้หลุดพ้นจากปัญหาคอร์รัปชั่น หรือระบบอุปถัมภ์นั้น และทำให้สังคมก้าวหน้ากว่าเดิม ไม่ใช่ชนชั้นนำ เหตุผลเพราะการดำรงสถานะของชนชั้นนำนั้นย่อมยินดีกับระบบอุปถัมภ์ เพราะเขายังได้ประโยชน์จากโครงสร้างแบบเดิมอยู่ ในขณะเดียวผู้ที่จะขับเคลื่อนเปลี่ยนแปลงสังคมก็ไม่ใช่คนชนชั้นล่าง เพราะคนชนชั้นล่างต่างก็ได้ผลประโยชน์ต่างตอบแทนอยู่กับชนชั้นนำ ด้วยเหตุนี้คนที่ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องในระบบอุปถัมภ์ส่วนมากจะเป็นคนชนชั้นกลาง ทว่าสำหรับประเทศไทย คนชนชั้นกลางจำนวนมากแม้จะต่อต้านการคอร์รัปชั่น แต่กลับมีอุดมการณ์ทางการเมืองแบบอนุรักษนิยม

เป็นเรื่องที่น่าสนใจว่าทำไมกลุ่มชนชั้นกลางในเมือง ของประเทศไทยส่วนมากจึงมีอุดการณ์ทางการเมืองแบบอนุรักษนิยม เขามองว่าชนชั้นกลางเหล่านั้นมีความกลัวว่า รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งจะนำเงินภาษีของพวกเขาไปใช้ในการซื้อสิทธิ์ขายเสียง หรือเอาไปดำเนินนโยบายประชานิยม อย่างไรก็ตามความกลัวเหล่านี้ใช่ว่าจะเกิดขึ้นเฉพาะแต่ในประเทศไทยเพียงประเทศเดียว ทว่าในหลายๆ ประเทศต่างก็เคยประสบปัญหาในลักษณะเดียวกันประเทศไทย แต่ในประเทศอื่นๆ ส่วนมากจะแก้ไขปัญหาการทำให้ประเทศเดินหน้าสู่ความเป็นประชาธิปไตยมากขึ้นกว่าเดิม

วงจรที่เกิดขึ้นในประเทศไทยคือ การที่มีพรรคการเมืองของทักษิณเข้ามาเป็นรัฐบาลโดยมีฐานความชอบธรรมจากการเลือกตั้ง แล้วดำเนินนโยบายที่มีลักษณะที่ถูกมองว่าเป็นประชานิยม ส่งผลให้คนชนชั้นกลางในเมืองเกิดความรู้สึกไม่พอใจ จนที่สุดนำไปสู่การออกมาชุมนุมบนท้องถนน เกิดความวุ่นวายและความรุนแรง จนเป็นเหตุให้ทหารออกมาทำการรัฐประหารยึดอำนาจ เพื่อจัดการกับปัญหาต่างๆ นั้นเป็นแก้ปัญหาคอร์รัปชั่นด้วยการรัฐประหาร อาจไม่มีวันประสบผลสำเร็จ และยังเปิดโอกาสให้ปัญหาการคอร์รัปชั่นกลับมาได้อีก

การเคลื่อนไหวของชนชั้นกลางในเมืองของประเทศไทยคือ คนกลุ่มที่ออกมาต่อต้านการคอร์รัปชั่นโดยไม่สนใจสาระสำคัญของประชาธิปไตยนั้น ส่วนมากเป็นคนกลุ่มเดียวกันกับคนที่ผ่านเหตุการณ์พฤษภาทมิฬมาทั้งสิ้น ซึ่งเหตุการณ์ในช่วงนั้นคนเหล่านี้ออกมาเรียกร้องประชาธิปไตย ทว่าในขณะที่วิกฤติทางการเมืองที่ผ่านคนเหล่านี้กลับไม่ได้สนใจประชาธิปไตยเลย เหตุที่เป็นเช่นนั้น เกิดจากความผิดหวังหลังจากมีรัฐธรรมนูญ 2540 ที่เปิดโอกาสให้นายทุนเข้ามาเล่นการเมืองได้ ้กลับไม่ได้สนใจประชาธิปไตยเลย เหตุที่เป็นเช่นนั้นมาร์คคิดว่า เกิดจากความผิดหวังหลังจา จนที่สุดทำให้เกิดการใช้อำนาจในทางไม่ชอบ และปัจจัยที่เป็นฐานคิดสำคัญอีกประการหนึ่งของสังคมไทยคือ แนวคิดแบบพุทธเถรวาทไทย ซึ่งเชื่อในเรื่องของ ‘ผู้ปกครองที่ดี’ จึงทำให้เกิดปรากฏการที่สลับที่สลับทาง จากการเรียกร้องระบบการปกครองที่ดี ไปสู่การเรียกร้องคนที่เข้ามาปกครองแทน

จากความผิดหวังดังกล่าว ได้ทำให้เกิดความเข้าใจผิดบางประการคือ การเกิดขึ้นของประชาธิปไตยนั้น นำมาซึ่งปัญหาคอร์รัปชั่น ฉะนั้นด้วยวิธีคิดแบบนี้จึงทำให้เกิดความเข้าใจว่า นักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง พร้อมที่ทำการทุจริตคอร์รัปชั่นเสมอ และส่งผลให้คนชนชั้นกลางต้องการคนที่ไม่ใช่นักการเมืองเข้ามาปกครองบ้านเมืองแทน โดยจะต้องเป็นคนดีมีศีลธรรมเป็นที่ชอบรับของสังคม ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้วปัญหาคอร์รัปชั่นมีอยู่ในทุกระบบการปกครอง และยิ่งมีมากขึ้นหากมีผู้ปกครองที่มีอำนาจสูง และไม่สามารถตรวจสอบได้

สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ : แก้คอร์รัปชั่นอย่าอ้างแต่เลือกตั้งเสรี แต่ต้องมีการระบบตรวจสอบที่ดีด้วย

“…ดูเหมือนว่าจะมีหลักฐานเยอะว่า ถ้าเอาเฉพาะการเลือกตั้งเป็นตัวตั้ง แล้วไม่สนใจการตรวจสอบถ่วงดุล ประชาธิปไตยอาจทำให้เกิดคอร์รัปชั่นหรือไม่ ก็อาจจะจริงอย่างนั้น…”

สมเกียรติ เริ่มต้นด้วยการชวนทำความเข้าใจความหมายของคำว่า ‘ประชาธิปไตย’ โดยกล่าวว่า ความหมายของประชาธิปไตยที่เข้าใจกันในเมืองไทยนั้น อาจจะเข้าใจกันเพียงแค่มีการเลือกตั้งอย่างเสรี และเป็นธรรม ถึงจะเป็นระบอบการปกครองที่เป็นประชาธิปไตย ซึ่งเป็นเพียงสนใจประชาธิปไตยแค่เพียงในแง่มุมของการข้าสู่อำนาจ กระนั้นก็ตามมีหลายประเทศที่แก้ไขปัญหาคอร์รัปชั่นได้แม้เขาจะไม่เป็นประชาธิปไตย เช่น จีน และสิงคโปร์ ในกรณีของจีนแม้จะมีพรรคการเมืองพรรคเดียว แต่ก็มีการแข่งขันกันสูง มีระบบที่จัดการกับคอร์รัปชั่นได้ดีพอสมควร แม้อันดับความคอร์รัปชั่นยังค่อนข้างสูง และมีความเติบโตในทางเศรษฐกิจที่อยู่ในระดับดีมาก กรณีสิงค์โปรเองก็เช่นกัน แม้จะมีพรรคการเมืองหลายพรรคแต่ก็เหมือนพรรคเดียว แต่ก็มีคอร์รัปชั่นต่ำ  

กระนั้นก็ตามความเป็นไปได้ที่จะมีผู้นำที่ดี ซึ่งไม่ได้เป็นประชาธิปไตยนั้นค่อนข้างที่จะมีความเป็นไปน้อย เพราะทุกๆหนึ่ง ลีกวนยูที่มีอยู่ในสิงคโปร์ อาจจะมีคนแบบ คิมจองอึน มูกาเบ้ ฮูโก้ ชาลเวซ อีกนับไม่ถ้วน

ถ้าเราตีความประชาธิปไตยว่าเป็นเพียงแค่การเลือกตั้งอย่างเสรีและเป็นธรรมนั้น อาจจะไม่เห็นว่าประชาธิปไตยสามารถลดการคอร์รัปชั่นได้จริงๆ นั่นเป็นเพราะเรามองเห็นประชาธิปไตยคับแคบไป ทว่าประชาธิปไตยที่จะสามารถกำจัดคอร์รัปชั่นได้นั้น จะต้องไม่เป็นประชาธิปไตยแค่เพียงมีการเลือกตั้งอย่างเสรีและเป็นธรรม ซึ่งไม่ได้ความว่าการเลือกตั้งไม่จำเป็น แต่สิ่งที่ต้องมีควบคู่กันไปด้วยคือการตรวจสอบถ่วงดุลการใช้อำนาจรัฐ คือต้องมีกลไก ที่ไม่ทำให้เกิดการใช้อำนาจในทางมิชอบ และมีกลไกในการรักษาสิทธิเสรีภาพของประชาชน ถ้าประเทศเรามีประชาธิปไตยในความหมายแบบนี้ก็อาจจะสามารถลดปัญหาคอร์รัปชั่นได้

ตัวอย่างกรณีประเทศอังกฤษ เขามีกลไกในการตรวจสอบถ่วงดุลอำนาจรัฐ โดยเหล่าขุนนาง ซึ่งกลไกเหล่านี้เกิดขึ้นก่อนที่ประเทศอังกฤษจะมีการเลือกตั้งอย่างเสรีด้วย  ถ้าเปรียบเทียบก็คงเปรียบได้กับการที่มีการเลือกตั้งอย่างเสรีและเป็นธรรมเป็นคันเร่ง การมีระบบตรวจสอบถ่วงดุลเป็นเบรก ฉะนั้นกรณีของประเทศอังกฤษนั้นเบรกเกิดขึ้นก่อนคันเร่ง แต่สำหรับประเทศไทยเราสนใจกันแต่คันเร่ง แล้วก็มานั่งเถียงกันว่าคันเร่งจะทำให้รถสะอาดได้อย่างไร  สำหรับคนที่หวงแหนประชาธิปไตย จำเป็นต้องมองคอร์รัปชั่นในทัศนะคติที่ว่า คอร์รัปชั่นเองก็เป็นตัวทำลายประชาธิปไตยด้วยเช่นกัน ถ้าปล่อยให้มีการคอร์รัปชั่นในระบบการเลือกตั้ง ระบบประชาธิปไตย ก็จะทำให้คุณค่าของประชาธิปไตยลดลงไป

หากอยากเห็นประชาธิปไตยที่สามารถกำจัดคอร์รัปชั่นได้  ประชาชนควรจะมีมุมมองใหม่อย่างน้อย 4 ข้อคือ 1.อย่าสนใจแต่การเข้าสู่อำนาจทางการเมือง ให้สนใจการใช้อำนาจทางการเมืองด้วย 2.อย่าใช้คอร์รัปชั่นกลั่นแกล้งกันทางการเมือง เช่นเดียวกันก็อย่าใช้ขั้วการเมืองปกปิดการคอร์รัปชั่น 3.อย่าปล่อยให้มีการอ้างการเป็นคนดีเพื่อปิดกั้นการตรวจสอบ และขณะเดียวกันอย่าปฏิเสธความสำคัญของจริยธรรม จนปล่อยให้ผู้ที่มีประวัติการคอร์รัปชั่นเข้าสู่อำนาจทางการเมือง 4.อย่าปิดกั้นการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น เวลาเดียวกันอย่าคิดว่า หากมีการเลือกตั้งในท้องถิ่นจะกำจัดการคอร์รัปชั่นได้  ทางที่ต้องทำคือต้องมีการกระจายอำนาจให้ประชาชนได้ตรวจ และต้องมีกลไกในการตรวจสอบถ่วงดุลที่เป็นกฎกติกาค่อยกับกำอีกชั้นหนึ่ง

ประเทศไทยสามารถแก้ไขปัญหาคอร์รัปชั่นบนวิถีของประชาธิปไตยได้หลากหลายวิธี โดยวิถีที่เห็นได้ชัดคือ บทบาทของรัฐสภาในการตรวจสอบถ่วงดุลฝ่ายบริหาร ซึ่งจริงๆและมีความเป็นรัฎฐาธิปัตย์มากกว่าฝ่ายบริหารด้วยซ้ำ เพราะในการเลือกตั้งฝ่ายบริหารมาที่หลัง แต่รัฐสภามาก่อน เพราะฉะนั้นรัฐสภามีอำนาจและความชอบธรรมเต็มที่ในการตรวจสอบฝ่ายบริหาร แต่กรณีของประเทศไทยคือรัฐสภาไม่ได้ทำหน้าที่นั้น และกรอบกติกาไม่ได้เอื้อให้ฝ่ายรัฐสภาทำหน้าที่ได้อย่างที่ควรจะเป็น  กรณีตัวอย่างที่เป็นรูปธรรม ที่รัฐสภาไม่สามารถทำหน้าที่ได้อย่างเต็มที่คือกรณี การทุจริตในโครงการจำนำข้าว

และหากจะแก้ปัญหาการคอร์รัปชั่นอย่างเป็นรูปธรรม ควรที่จะมีการปฏิรูปในเชิงสภาบัน ผ่านการแก้กฎหมายอย่างน้อย 5 ฉบับคือ

1.พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสาร ควรจะมีช่องทางที่เอื้อให้ประชาชน หรือสื่อมวลชนสามารถเข้าถึงข้อมูลสารของทางภาครัฐได้ง่ายขึ้น เพราะสิ่งที่เป็นอยู่ในปัจจุบันมีลักษณะที่ปิดกั้นการเข้าถึงมากกว่าที่จะเอื้อให้ประชาชนเข้าไปตรวจสอบ

2.กฎหมายจัดซื้อจัดสร้าง ถือเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับการที่รัฐใช้งบประมาณจากภาษีของประชาชน ซึ่งคอร์รัปชั่นในการจัดซื้อจัดจ้างเป็นคอร์รัปชั่นที่พบบ่อยในทุกรัฐบาล ประเด็นนี้ควรจะแก้ไขโดยการเปลี่ยนสภาพของกฎหมายจัดซื้อจัดจ้างจากระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ให้เป็น พ.ร.บ.ว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ เพื่อที่จะทำเกิดกลไกตรวจสอบถ่วงดุล และหากมีการทุจริตคอร์รัปชั่นเกิดขึ้น โทษก็จะมากขึ้นโดยเปลี่ยนจากโทษในทางวินัย มาเป็นโทษในทางกฎหมาย

3.กฎหมายแข่งขันการค้า ควรจะยกเลิกการผูกขาดของรัฐวิสาหกิจออก เพราะในการผูกขาดธุรกิจใดๆ ย่อมส่งผลให้เกิดการคอร์รัปชั่นตามมาด้วย และควรจะทำให้ประชาชนสามารถฟ้องร้องโดยตรงกับศาลได้หากมีการทุจริตคอร์รัปชั่นเกิดขึ้น

4.ควรจะมีกฎหมายควบคุมการโฆษณาภาครัฐ  เพราะจะช่วยลดปัญหาการคอร์รัปชั่นที่อาจนำปัญหาอีกหลายประการมาให้ เช่นการที่รัฐนำเงินไปจ้างสื่อสักสำนักมาจัดงานให้ สิ่งที่เกิดขึ้นคือสื่อสำนักนั้นก็จะไม่มีการวิพากษ์วิจารณ์หรือตรวจสอบรัฐบาลเลย

5.จัดมีกฎหมายที่ช่วยลดดุลพินิจของข้าราชการในการออกใบอนุญาตต่างๆ เพื่อลดการใช้ดุลพินิจในทางมิชอบ

ธานี  ชัยวัฒน์ : ความเหลื่อมล้ำเองก็เป็นรากฐานของปัญหาคอร์รัปชั่น

“โอกาสเป็นประชาธิปไตยจะดีขึ้น หรือแย่ลง เมื่อเศรษฐกิจเติบโตขึ้น ขึ้นอยู่กับความเหลื่อมล้ำของประเทศนั้นๆ ยิ่งประเทศไหนมีความเหลื่อมล้ำสูงชนชั้นกลาง มีโอกาสจะเปลี่ยนไปต่อต้านประชาธิปไตย”

ธานีเริ่มต้นด้วยการชี้ให้เห็นถึงความสัมพันธ์ของประชาธิปไตย การคอร์รัปชั่น และการเติบโตในทางเศรษฐกิจว่า เคยมีความเชื่อหลักว่า ถ้าประเทศมีประชาธิปไตย มีการกำจัดปัญหาคอร์รัปชั่นที่ดี ก็จะส่งผลให้เกิดการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ดีตามไปด้วย ทว่าเมื่อมองดูประเทศไทยจะพบว่า เป็นประเทศที่เป็นประชาธิปไตยบ้าง ไม่เป็นบ้าง มีปัญหาคอร์รัปชั่นที่ค่อนข้างสูง แต่การเติบโตทางเศรษฐกิจก็ยังคงอยู่ในระดับที่น่าพอใจ  ฉะนั้นดูจะไม่ถูกต้องเท่าไหร่นักกับคำกล่าวที่ว่า ประเทศไทยไม่มีประชาธิปไตย มีการคอร์รัปชั่นสูงขึ้น จนทำให้เศรษฐกิจตกต่ำลง 

ในขณะที่ค่าคอร์รัปชั่นของประเทศไทยเองก็ไม่ได้เปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยยะสำคัญในรอบ15 ปี เพียงแต่ว่าอันดับความโปร่งใสประเทศไทยเคยอยู่ในอันดับ 60 – 70 แต่พอช่วงปี 2549 กระโดดไปอันดับ 84 จนกระทั้งปัจจุบันอยู่อันดับ 102 ฉะนั้นมองในแง่ดีปัญหาการคอร์รัปชั่นของไทยไม่ได้แย่ลง เพียงแต่ว่าประเทศอื่นๆเขาพัฒนาไปไกลกว่าเราแล้ว

ถ้าดูจากกราฟ GDP Growth ของไทยเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ ขณะที่ปัญหาการคอร์รัปชั่นไม่ได้ดีขึ้น และประเทศมีความเป็นประชาธิปไตยแบบขึ้นๆลงๆ ด้วยความสัมพันธ์แบบนี้ค่อนข้างที่จะแตกต่างจากที่อื่นๆในโลก ฉะนั้นทำให้มองเห็นว่า ความสัมพันธ์ระหว่าง GDP Growth กับโอกาสเป็นประชาธิปไตยของประเทศไม่ได้สัมพันธ์กันแบบเส้นตรง แต่มีลักษณะที่สัมพันธ์กันแบบเส้นโค้งคว่ำ หมายความว่าในช่วงแรกหาก GDP สูงขึ้นเรื่อยๆ โอกาสการเป็นประชาธิปไตยก็จะมากขึ้น  แต่ถ้าประเทศนั้นไม่เป็นประชาธิปไตยโดยสมบูรณ์ในจุดหนึ่ง โอกาสพัฒนาเป็นประชาธิปไตยก็จะเริ่มยากขึ้นเรื่อยๆ  เหตุผลเพราะเมื่อเศรษฐกิจโตขึ้นถึงจุดหนึ่งและประเทศยังไม่เป็นประชาธิปไตยนั้น แล้วเกิดมีความพยายามที่จะผลักให้ประเทศเป็นประชาธิปไตย จะมีกลุ่มชนชั้นกลางที่เริ่มเสียผลประโยชน์ เนื่องจากช่วงแรกหากมีการพัฒนาประชาธิปไตยได้เร็ว ชนชั้นกลางกับชนชั้นล่างจะได้ประโยชน์ร่วมกัน  แต่เมื่อปล่อยให้เศรษฐกิจโตขึ้นเรื่อยๆแล้วไม่มีการพัฒนาประชาธิปไตย และยิ่งการเติบโตทางเศรษฐกิจนั้นเอื้อประโยชน์กับชนชั้นกลางมากกว่า  พอไปถึงจุดหนึ่งกลุ่มชนชั้นกลางก็เริ่มจะเคยชินกับการได้ประโยชน์จากความไม่เป็นประชาธิปไตย และรู้สึกว่าจะเสียประโยชน์หากมีการทำให้ประเทศเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น เพราะฉะนั้นโอกาสเป็นประชาธิปไตยจะดีขึ้น หรือแย่ลง เมื่อเศรษฐกิจเติบโตขึ้น ขึ้นอยู่กับความเหลื่อมล้ำของประเทศนั้นๆ ยิ่งประเทศไหนมีความเหลื่อมล้ำสูงชนชั้นกลาง มีโอกาสจะเปลี่ยนไปต่อต้านประชาธิปไตย

ความเป็นประชาธิปไตยของประเทศไทยตั้งแต่เริ่มต้นมา มีลักษณะที่แกว่งไปแกว่งมามาก ทำให้เส้นของความเป็นประชาธิปไตยไม่เคยนิ่ง และการที่ความเป็นประชาธิปไตยของไทยมีลักษณะแบบนี้ ส่งผลให้ความสัมพันธ์ของประชาธิปไตยกับการคอร์รัปชั่นนั้น ไม่ได้มีลักษณะเป็นเส้นตรงเช่นกัน เหตุผลเพราะว่า ช่วงแรกที่มีการถ่ายโอนอำนาจออกไปทำให้เกิดการคอร์รัปชั่นเยอะขึ้น แต่ถึงจุดหนึ่งเมื่อมีการถ่ายโอนอำนาจไปยังคนเล็กๆ ก็จะทำให้เกิดการแข่งขัน และไปกดคอร์รัปชั่นให้ลดลง เพียงแต่ว่าเราต้องรอ คือมันต้องใช้เวลา  ซึ่งขึ้นอยู่กับว่าประเทศนั้นๆจะมีความเร็วในการพัฒนาประชาธิปไตยได้มากน้อยแค่ไหน หากมีการพัฒนาที่ช้าและใช้เวลายาวนาก็จะเป็นปัญหา   

กลุ่มคนชนชั้นกลางเป็นกลุ่มที่มีบทบาทมาก ในการที่จะทำให้ประเทศหลุดพ้นจาก ปัญหาการคอร์รัปชั่น และเพื่อพัฒนาประชาธิปไตย เพราะชนชั้นกลางนั้นต้องการสนับสนุนจากรัฐ ในขณะที่ตัวเองก็จ่ายภาษีด้วย ฉะนั้นการตัดสินใจทางการเมืองของเขาจะอ่อนไหวมาก สามารถเปลี่ยนแปลงขั้วการเมืองไปฝั่งไหนก็ได้ ขึ้นอยู่กับว่าฝั่งไหนให้ประโยชน์กับเขาได้มากกว่ากัน ฉะนั้นคนกลุ่มนี้จึงเป็นตัวขับเคลื่อนที่สำคัญที่จะพัฒนาประชาธิปไตยและกำจัดปัญหาคอร์รัปชั่น  หรืออาจจะกลายเป็นผู้ต่อต้านประชาธิปไตยไปเลยก็ได้

ขณะที่ทางออกจากปัญหาการคอร์รัปชั่น และพัฒนาประชาธิปไตยนั้น มีอยู่สองทาง คือทางลัด และทางหลัก ซึ่งจากประสบการณ์ในหลายประเทศส่วนมากจะเดินไปในทางลัด โดยก่อนที่จะรู้จักทางลัดจำเป็นต้องเข้าใจก่อนว่า เมื่อมีความไม่เท่าเทียมกันเกิดขึ้น การพัฒนาประชาธิปไตยก็ทำได้ยาก เพราะฉะนั้นถ้าจะพัฒนาประชาธิปไตยและลดคอร์รัปชั่น หลักการง่ายๆคือก็ต้องทำให้ทุกคนเท่าเทียมกัน ถ้าคนเท่าเทียมกัน ก็จะมีการเรียกร้องต่อนักการเมืองว่า ไม่ให้คอร์รัปชั่น และเร่งพัฒนาประชาธิปไตย ซึ่งสิ่งหนึ่งที่จะทำให้ความเหลื่อมล้ำลดลงและทุกคนเท่ากันคือ ‘วิกฤตเศรษฐกิจ’

ประสบการณ์ที่เกิดขึ้นในหลายประเทศคือ วิกฤตเศรษฐกิจจะทำให้ประเทศพัฒนาประชาธิปไตยได้ ถ้าวิกฤตนั้นหนักพอ เช่น ในประเทศอินโดนีเซีย หลังรัฐบาลซูฮาโต้ล้มสลายลง เกิดวิกฤตเศรษฐกิจในประเทศอย่างมาก พร้อมกันกับการที่ประชาชนทุกคนลำบาก และเห็นว่าทรัพย์สินของซูฮาโต้มีจำนวนมาก ทุกคนก็พร้อมจะเรียกร้อง โดยจะเห็นได้ว่าความเป็นประชาธิปไตยของอินโดนีเซียเพิ่มสูงขึ้นมากหลังจากวิกฤตเศรษฐกิจ    

ส่วนทางหลักนั้น ต้องเข้าใจว่าในระบบของประเทศหนึ่งๆ จะมีสองระบบคือระบบเศรษฐกิจ และระบบการเมือง สองระบบนี้จะคานกันอยู่ภายใต้ระบอบประชาธิปไตย ซึ่งโดยหลักการทางการเมือง ระบบเศรษฐกิจจะเป็นผู้ให้คะแนนเสียงกับระบบการเมือง และระบบการเมืองก็จะต้องคืนความรับผิดชอบให้กับระบบเศรษฐกิจ ในขณะเดียวกันระบบการเมืองก็จะต้องเก็บภาษีจากรายได้ทางเศรษฐกิจ และก็ต้องจ่ายคืนด้วยการออกแบบนโยบายในการจ่ายคืนให้กับระบบเศรษฐกิจ และถ้ามองในระดับปัจเจกคือ ประชาชนเป็นผู้เลือกนักการเมือง แล้วนักการเมืองก็คืนนโยบายมาให้ และประชาชนเป็นผู้จ่ายภาษีให้รัฐ โดยมีนักการเมืองเป็นผู้จัดสรรเงินที่ได้รับมาว่าจะเอาไปทำอะไร ฉะนั้นนักการเมืองก็ต้องมีความรับผิดชอบต่อประชาชนด้วย แต่ในประเทศไทยสิ่งนี้ขาดหายไป คือเราไม่สามารถทำให้นักการเมืองแสดงความรับผิดชอบได้ 

สิ่งที่สำคัญที่สุดในตอนนี้คือ เราจะสามารถสร้างความรับผิดชอบได้อย่างไร ซึ่งสิ่งที่พอจะเป็นไปได้ในตอนนี้ และเป็นรูปธรรม คือในจุดเริ่มต้นของการสร้างความรับผิดชอบ เราต้องเสนออะไรบางอย่างที่ไม่เป็นการโจมตีนักการเมืองโดยตรง ซึ่งไม่ได้หมายความว่านักการเมืองทำถูกแล้ว แต่ต้องเข้าใจว่าการเรียกร้องกฎหมายที่ออกมาโจมตีนักการเมืองโดยตรงนั้น ส่วนมากจะไม่สำเร็จ เพราะรัฐสภาซึ่งก็คือนักการเมืองเป็นผู้ออกกฎหมาย เพราะฉะนั้นเขาไม่มีทางจะทำร้ายตัวเอง  ในขณะเดียวกันประชาชนต้องเสนออะไรบางอย่างที่ทุกฝ่าย ทุกสีเห็นเหมือนกัน โดยกฎหมายที่พอจะเป็นไปได้ในตอนนี้ก็คือ การเปิดเผยข้อมูลข่าวสารสาธารณะ (ภาครัฐ) ซึ่งแม้ว่าตอนนี้จะลงโทษนักการเมืองไม่ได้ แต่ประชาชนทุกคนจะรู้ว่า ตอนนี้เกิดอะไรขึ้นบ้าง

ปัญหาที่ควรจะต้องแก้เพื่อให้เกิดความรับผิดชอบอีกประการคือ การปัจจุบันนักการเมืองมีอำนาจมาก ในขณะที่ประชาชนไม่มี แม้ตอนนี้จะมีกฎหมายที่ให้ประชาชนได้รวมรายชื่อเพื่อเสนอกฎหมาย แต่ก็ไม่เคยได้ผล เพราะกระบวนการและขั้นตอนในการเสนอกฎหมายก็ติดอยู่กับนักการเมืองอยู่ดี  ฉะนั้นการเอื้อให้ประชาชนได้มีโอกาสเสนอกฎหมายได้ง่ายขึ้นก็จะทำให้เกิดการคานอำนาจกับนักการเมืองได้ และมีความเป็นไปได้สูง

ประจักษ์ ก้องกีรติ : สังคมไทยตั้งโจทย์การแก้ปัญหาคอร์รัปชั่นผิดตั้งแต่ต้น

“หากอยากรู้ว่าคอร์รัปชั่นทำงานอย่างไร สมมติถ้าเราแปลงสังคมให้เป็นห้องทดลองได้ ง่ายๆครับ นี่พูดแบบนักวิทยาศาสตร์เลย อยากเห็นไหมคอร์รัปชั่น ผมออกแบบให้ได้ ก็คือเอาอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดไปให้คนกลุ่มไหนก็ได้ แล้วทำลายกลไกการตรวจสอบทั้งหมด แล้วท่านรอประมาณ 6 เดือน หรือ 1 ปี กลุ่มคนเหล่านั้นที่ท่านเคารพศรัทธา จะเป็นอย่างไร นี่คือสูตรสำเร็จของคอร์รัปชั่นทั่วโลก ผูกขาดอำนาจเมื่อไร โดยไม่มีความรับผิดชอบ หรือไม่มีกลไกการตรวจสอบได้ คนดีในโลกนี้เสียคนมาแล้วทั้งสิ้น”

ประจักษ์ เริ่มต้นด้วยตั้งข้อสังเกตว่า การที่กล่าวว่าสถาบันต่างๆพร้อมแล้วที่จะจัดการกับปัญหาคอร์รัปชั่น แต่คนไทยไทยยังไม่มีความรู้สึกร่วมนั้น อาจจะไม่จริง เพราะปัญหาที่ประเทศไทยประสบทั้งตอนนี้และก็หน้านี้คือ การไม่ทำหน้าที่ของตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นสถาบันที่ทำหน้าที่เกี่ยวข้องกับการสร้างประชาธิปไตย หรือสถาบันเกี่ยวข้องกับการต่อสู้คอร์รัปชั่น ขณะที่ข้อสังเกตอีกประการคือ การที่สังคมไทย โดยเฉพาะชนชั้นนำไทย และชนชั้นกลาง มีความคิดว่าการเป็นอย่างประเทศสิงคโปร์คือจุดหมายสูงสุดของการพัฒนา หรือมีสภาวะที่เรียกว่า ‘สิงคโปร์ซินโดรม’ คือมีภาพในฝันว่าสิงคโปร์เป็นโมเดลหลักของการพัฒนาเศรษฐกิจและการเมือง  ซึ่งอาการของสังคมไทยตรงนี้มีปัญหามาก และหากไม่ก้าวข้ามอาการเหล่านี้ได้ ก็จะยิ่งทำให้เกิดปัญหาอีกมากมายตามมา เพราะสังคมไทยไม่เคยเข้าใจจริงๆว่า โมเดลแบบสิงคโปร์เป็นโมเดลที่มีปัญหา

หากมองไปไหนหลายประเทศทั่วโลกก็จะพบว่ามีอีกหลายประเทศที่มีการพัฒนาทางเศรษฐกิจที่ดี  มีการจัดการกับคอร์รัปชั่นที่ดี และมีประชาธิปไตยในแง่ที่ว่ามีการเลือกตั้งเสรี และมีการตรวจสอบถ่วงดุลอำนาจรัฐด้วย แต่สังคมไทยกลับยึดมั่นในโมเดลแบบสิงคโปร์ ลักษณะนี้เหมือนกับการตั้งโจทย์ผิดว่า การแก้ปัญหาคอร์รัปชั่นไม่จำเป็นต้องเป็นประชาธิปไตยก็ได้

“คือผมไม่แน่ใจว่าพ้นไปจากประเทศไทยแล้วมีประเทศไหนอีกบ้างที่ฝันอยากจะเป็นอย่างสิงคโปร์ และมันเป็นเรื่องที่ตลกเข้าไปอีก เพราะว่าที่ผ่านไม่ว่าจะเป็นชนนำ ชนชั้นกลาง ต่างก็ไม่พอใจกับคุณภาพของประชาธิปไตย ต่างก็ว่ามันไม่ตอบสนองกับประชาชน และเป็นเพียงการเอาการเลือกตั้งมาเป็นพิธีกรรมในการขึ้นสู่อำนาจ ในขณะที่เมื่อเราถามว่าประเทศไหน ในSoutheast Asia ที่มีการเลือกตั้งเป็นพิธีกรรมมากที่สุด…สิงคโปร์ไง” ประจักษ์กล่าว

ประจักษ์เริ่มต้นประเด็นของตัวเองว่า ด้วยมุมมองของนักรัฐศาสตร์ เมื่อต้องมาคิดถึงโจทย์เรื่องการคอร์รัปชั่น ก็ต้องคิดจากแง่มุมทางการเมือง แล้วทำให้พบว่างานที่เกี่ยวข้องกับคอร์รัปชั่นในสังคมไทยส่วนมากละเลยปัจจัยทางการเมือง ไปอย่างน่าประหลาดใจ โดยที่ผ่านมามีการเน้นเพียงแค่การมองการคอร์รัปชั่นในกรอบของเศรษฐศาสตร์ หรือไม่ก็มองผ่านกรอบทางวัฒนธรรม ซึ่งเป็นการสนใจเพียงแค่ความสัมพันธ์ของระดับเศรษฐกิจกับการคอร์รัปชั่นเป็นอย่างไร จะแก้ปัญหาการคอร์รัปชั่นด้วยการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างไร

หรืออีกประเภทหนึ่งที่มีการศึกษากันมากคือ มีวัฒนธรรมอะไรที่นำไปสู่ปัญหาการคอร์รัปชั่น และจะแก้ปัญหาคอร์รัปชั่นได้ด้วยการปลูกฝั่งค่านิยมใหม่ ซึ่งทั้งแนวทางการศึกษาทั้งสองประเภทนี้ก็มียังมีความสำคัญอยู่ หากแต่อาจจะทำให้เกิดการละเลยปัจจัยที่สำคัญอีกประเภทหนึ่งคือปัจจัยทางการเมือง ซึ่งเป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง และเป็นต้นต่อการคอร์รัปชั่น

ที่จริงแล้วมีงานวิจัยที่ชี้ให้เห็นว่า คอร์รัปชั่นเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นมาจากโครงสร้างการเมือง (Political structure) บางชนิด และระบอบการเมือง (Political regime) บางชนิดที่มีปัญหา ซึ่งก็คือโครงสร้างการเมือง หรือระบอบการเมืองที่ล้าหลัง และผูกขาดอำนาจ เป็นตัวสร้างแรงจูงใจให้คนอยากคอร์รัปชั่น โดยทำให้ตำแหน่งทางการเมืองมีอำนาจมากเกินจริง ในการแสวงหาผลประโยชน์ส่วนเกินจากตำแหน่งทางการเมืองนั้น และทำให้ต้นทุนในการทุจริตคอร์รัปชั่นค่อนข้างต่ำ

ถึงที่สุดแล้วเราไม่สามารถแยกการจัดการปัญหาคอร์รัปชั่น กับการพัฒนาประชาธิปไตยที่ยั้งยืนออกจากกันได้ แต่สังคมไทยตอนนี้มีกลุ่มการเมืองที่พยายามแยกสองสิ่งนี้ออกจากกัน ซึ่งเขารู้สึกว่าจำเป็นต้องแก้ไขปัญหาคอร์รัปชั่นอย่างเดียวให้ได้ก่อน โดยให้การแก้ปัญหาคอร์รัปชั่นเป็นตัวตั้ง ตราบใดที่ยังแก้เรื่องนี้ไม่ได้ เราก็จะทำอย่างอื่นไม่ได้ เพราะจะทำให้เกิดปัญหาตามมา ซึ่งนี่เป็นปัญหาสำคัญ และในขณะเดียวกันกลุ่มการเมืองอีกฝ่าย ก็สร้างวาทกรรมเรื่องประชาธิปไตยขึ้นมา แต่ว่ามีการหยิบประเด็นเรื่องคอร์รัปชั่นขึ้นมาพูดน้อย จนถูกมองว่าไม่ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้เท่าไหร่ ถึงที่สุดแล้วสังคมไทยควรจะก้าวข้ามการแบ่งสองประเด็นนี้ออกจากกัน เพราะแท้จริงแล้วมันมีความสัมพันธ์กันอย่างแนบแน่น           

การตั้งโจทย์เรื่องคอร์รัปชั่นของสังคมไทยที่ผ่านมาผิดตั้งแต่ต้น เพราะมีลักษณะของการมองปัญหาในมติเดียว จนที่สุดแล้วทำให้เกิดความเข้าใจว่า เพื่อที่กำจัดคอร์รัปชั่นได้ จะใช้วิธีการใดก็ได้ โดยไม่คิดคำนึงถึงระบอบการเมือง  ถ้าเราเห็นว่าทั้งการจัดการคอร์รัปชั่น และการพัฒนาประชาธิปไตยเป็นสิ่งดี และเราอยากได้ทั้งสองสิ่ง เราก็ต้องมองหาประเทศที่มีประชาธิปไตย และสามารถกำจัดปัญหาการคอร์รัปชั่นได้ ถ้าเราตั้งโจทย์แบบนี้ ก็จะพบว่ามีหลายประเทศมากที่ทำได้  ฉะนั้นเราไม่จำเป็นต้องเลือกระหว่างการพัฒนาประชาธิปไตย กับการกำจัดปัญหาคอร์รัปชั่น เพราะสองสิ่งนั้นทำไปพร้อมๆ กันได้

อย่างไรก็ตามปัญหาของเมืองไทยจริงๆตอนนี้ไม่ใช่ว่าจะแก้ปัญหาคอร์รัปชั่นได้อย่างไร แต่ปัญหาที่แท้จริงของเราคือเราไม่มีระบอบการเมืองที่มีเสถียรภาพ แม้แต่จะเป็นเผด็จการก็ยังไม่มีเสถียรภาพเลย ฉะนั้นด้วยระบอบการเมืองที่ไร้เสถียรภาพแบบนี้ไม่สามารถจะจัดการกับปัญหาคอร์รัปชั่นได้ เพราะขาดความต่อเนื่องของนโยบาย ไม่มีทางที่จะมีเจตจำนงทางการเมือง(Political Will) ขึ้นมาที่จะจัดการกับปัญหาใดปัญหาหนึ่ง ฉะนั้นสิ่งที่เราต้องหันกลับมาสนใจคือ เราจะทำอย่างไรที่จะสร้างฉันทามติ (Consensus) ขึ้นมาใหม่ สังคมไทยต้องหันกลับมาพูดเรื่องอะไรคือสัญญาประชาคม(Social contract)ใหม่ ไม่เช่นนั้นเราก็วนเวียนอยู่กับอุตสาหกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ

ถึงที่สุดการสร้างประชาธิปไตย กับการต่อสู้คอร์รัปชั่นมีโจทย์ร่วมกันคือการทำลายการผูกขาด ซึ่งระบอบประชาธิปไตยก็คือการกระจายอำนาจไปอยู่ในมือของคนธรรมดาให้ได้มากที่สุด เพื่อที่จะกำหนดชะตากรรมของตนเอง ฉะนั้นศัตรูที่สำคัญของประชาธิปไตยคือการผูกขาดอำนาจ เพราะการผูกขาดอำนาจมันนำไปสู่การคอร์รัปชั่น ในความหมายกว้าง ซึ่งคือการบิดเบือนอำนาจ และยิ่งตราบใดก็ตามที่มีการใช้อำนาจแบบบิดเบือนโดยไม่ต้องตอบสนองกับประชาชน กระบวนการคอร์รัปชั่นมันได้เกิดขึ้นแล้ว และเมื่อใดก็ตามที่อำนาจกระจุกตัวอยู่ที่ไหนก็ตาม แล้วไม่มีการตรวจสอบ นั่นคือสูตรสำเร็จของคอร์รัปชั่น

หากอยากรู้ว่าคอร์รัปชั่นทำงานอย่างไร สมมติถ้าเราแปลงสังคมให้เป็นห้องทดลองได้  ง่ายๆครับ นี่พูดแบบนักวิทยาศาสตร์เลย อยากเห็นไหมคอร์รัปชั่น ผมออกแบบให้ได้ ก็คือเอาอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดไปให้คนกลุ่มไหนก็ได้ แล้วทำลายกลไกการตรวจสอบทั้งหมด แล้วท่านรอประมาณ 6 เดือน หรือ 1 ปี กลุ่มคนเหล่านั้นที่ท่านเคารพศรัทธา จะเป็นอย่างไร นี่คือสูตรสำเร็จของคอร์รัปชั่นทั่วโลก  ผูกขาดอำนาจเมื่อไร โดยไม่มีความรับผิดชอบ หรือไม่มีกลไกการตรวจสอบได้  คนดีในโลกนี้เสียคนมาแล้วทั้งสิ้น

สุดท้ายการคอร์รัปชั่นจริงๆ แล้วไม่ได้ทำให้ระบอบประชาธิปไตยอ่อนแอเพียงระบอบเดียว แต่มันยังทำให้ทุกระบอบการเมืองอ่อนแอ  ซึ่งระบอบการเมืองจำนวนมากที่ไม่ใช่ระบอบประชาธิปไตย ถึงที่สุดแล้วฟางเส้นสุดท้ายที่ทำให้ระบอบล้มลงไป หรือทำให้ประชาชนทนไม่ไหวก็คือ การใช้อำนาจในทางมิชอบ (abuse of power) ของระบอบนั้น จนนำไปสู่ความไม่พอใจของประชาชน ตัวอย่างเช่น 14 ตุลา ในไทย อาหรับสปริง การล้มลงของซูฮาโต้ และมาร์กอส เป็นเรื่องเดียวกันทั้งสิ้น

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net