Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

<--break- />

 

เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาผมได้ไปประชุมทางวิชาการด้านสิทธิมนุษยชนที่ฮ่องกงเลยมีโอกาสได้ไปสังเกตการณ์การชุมนุมประท้วงของนักศึกษาและประชาชนชาวฮ่องกงที่เรียกร้องให้มีการเลือกตั้งผู้นำฝ่ายบริหารของตน(Chief Executive Officer – CEO)อย่างเสรี(Universal Suffrage)แทนการที่จะถูกกำหนดตัวผู้สมัครที่ต้องผ่านการรับรองจากรัฐบาลจีนที่ปักกิ่งเท่านั้น โดยกลุ่มผู้ชุมนุมได้ยึดครองย่านธุรกิจและที่ทำการรัฐบาลใจกลางเมืองเป็นเวลากว่า 1 เดือนมาแล้ว ซึ่งผู้ชุมนุมใช้ “ร่มหรือ umbrella”ที่ใช้กางกันแดดกันฝนของพวกเขาเป็นสัญลักษณ์ในการชุมนุม  การชุมนุมครั้งนี้จึงมีชื่อเรียกว่า “Umbrella Movement”นั่นเอง

อันที่จริงแล้วขบวนการของนักศึกษานั้นมิได้เริ่มเมื่อไม่นานมานี้ แต่เริ่มมีการก่อตั้งมาอย่างยาวนานตั้งแต่ปี 1958 แล้ว โดยใช้ชื่อว่า Hong Kong Federation of Students(HKFS)ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมกิจกรรมทางวัฒนธรรม ทางการศึกษาและแลกเปลี่ยนความสัมพันธ์กับนักศึกษาต่างประเทศ ความเคลื่อนไหวทางการเมืองของนักศึกษาในอดีตครั้งสำคัญเมื่อคราว 1960s-19580s เพื่อปกป้องผลประโยชน์และสิทธิของชนกลุ่มน้อย

ครั้งต่อมาเมื่อ 1980s-1990s มีการรวมกันของขบวนการนักศึกษาและขบวนการเรียกร้องประชาธิปไตยเพื่อเรียกร้องให้ยกเลิกการแต่งตั้งสมาชิกสภานิติบัญญัติ ที่สำคัญล่าสุดก่อนการชุมนุมครั้งนี้คือการชุมนุมเมื่อ 2010s คือ การต่อต้านนโยบายการศึกษาแห่งชาติ(Anti National Education)

จุดเริ่มต้นของ Umbrella Movement ครั้งนี้เกิดขึ้นเมื่อปี 2013 โดย Benny Tai ได้เขียนบทความเกี่ยวกับ Occupy Movement เผยแพร่ทางหนังสือพิมพ์และตามมาด้วยการเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องตามลำดับและมีการหยั่งประชามติทางดิจิตอลเมื่อเดือนพฤษภาคมปีนี้ ต่อมาเมื่อ วันที่ 22- 26 กันยายนได้มีการชุมนุมประท้วงของนักศึกษาจำนวน 13,000 คนและได้เข้ายึดครอง Civil Square ของที่ทำการรัฐบาลและย่านธุรกิจที่สำคัญของฮ่องกงเมื่อวันที่ 26 กันยายนจวบจนปัจจุบัน

จากการที่ได้เข้าไปในพื้นที่พบว่าการชุมนุมแตกต่างจากการชุมนุมที่เราได้พบเห็นในประเทศไทยเราเป็นอันมาก คือ

1)ไม่มีการตั้งเวทีเพื่อปราศรัยปลุกระดมหรือการใช้เครื่องกระจายเสียงที่มีเสียงดัง เพราะพวกเขาให้เหตุผลว่าทุกคนที่มารวมกันชุมนุมนั้นมีเป้าหมายร่วมกันอยู่แล้วคือการเรียกร้องให้มีการเลือกตั้งผู้นำฯของเขาอย่างเสรี จึงไม่จำเป็นที่จะต้องมีการขึ้นกล่าวปราศรัยเพื่อปลุกเร้าอีกแต่อย่างใด อีกทั้งยังจะเป็นการรบกวนผู้พักอาศัยบริเวณไกล้เคียงโดยไม่จำเป็น แต่ก็มีจุดที่จะแถลงข่าวแก่สื่อมวลชนซึ่งมีจุดตั้งกล้องโทรทัศน์หรือไมโครโฟนเพื่อสอบถามเท่านั้นเอง

2)ไม่มีแกนนำอย่างเป็นทางการ จริงอยู่อาจจะมีนักศึกษาที่เด่นๆเช่น Joshua Wong หรือ Tommy ฯลฯ แต่ก็ไม่ถือว่าเป็นหัวหน้าทีมแบบบ้านเราแต่อย่างใด ทุกคนอยู่ในสถานะเท่าเทียมกันและมีการแถลงข่าว(ซึ่งมีไม่พร่ำเพรื่อ)ผลัดเปลี่ยนกัน

3)ไม่มีความก้าวร้าวและกระทำการอันผิดกฎหมาย ยกเว้นการยึดถนนซึ่งมีความจำเป็นเพราะเป็นที่ชุมนุมที่เป็นสัญลักษณ์ของการ Occupy แต่ก็ไม่ปิดสถานที่ราชการแต่อย่างใด ข้าราชการยังเข้าไปทำงานได้ตามปกติ

4)ไม่มีการทิ้งขยะเรี่ยราด ผู้ชุมนุมต่างช่วยกันเก็บกวาดขยะสิ่งของ แม้แต่ห้องนำสาธารณะที่ใช้ร่วมกันก็ยังคงความสะอาดเรียบร้อยแม้จะไม่สะอาดเท่ากับในสถานการณ์ปกติก็ตาม

5)ไม่มีการวางขายของที่ระลึกหรือสินค้าต่างๆ เช่น เสื้อยืด ผ้าพันคอ สายรัดข้อมือ พาวเวอร์แบ็งก์ นกหวีด มือตบ ตีนตบ ฯลฯ แบบบ้านเรา

6)มีการตั้งโต๊ะเป็นจุดๆเพื่อทำการบ้านหรือติวกันของนักศึกษา

7)มีการใช้สื่อออนไลน์ติดต่อสื่อสารกัน ซึ่งจากสถิติของชาวฮ่องกง 4.3 ล้านคน มีผู้ใช่เฟซบุ๊กถึง 2.9 ล้านคน จึงมีการสื่อสารและแจ้งข่าวอย่างรวดเร็ว นอกจากนั้นยังมีการใช้แอปพลิเคชั่นต่างๆเป็นการเฉพาะอีกด้วย

ฯลฯ

ผมสอบถามนักศึกษาว่ากลัวการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่หรือไม่ เขาตอบว่าไม่กลัวเพราะเจ้าหน้าที่ของฮ่องกงเองนั้นอยู่ในระบบที่อยู่ภายใต้แนวทางการปฏิบัติแบบอังกฤษมาอย่างเนิ่นนาน การปฏิบัติต่อผู้ชุมนุมจึงต้องทำตามระเบียบกฎหมายและขั้นตอนที่กำหนดไว้และชาวฮ่องกงเองก็ไม่ได้คิดว่าเขาเป็นคนจีน(They think they are Hong Konger, but not Chinese.) แต่ที่เขาหวั่นกลัวก็คือการเข้ามาแทรกแซงของรัฐบาลจีนแผ่นดินใหญ่ ซึ่งอาจจะมาในหลายรูปแบบ เช่น การข่มขู่ทั้งต่อตนเองและครอบครัว การส่งคนเข้าไปแทรกแซงหรือคุกคามการชุมนุมหรือแม้กระทั่งการทำร้ายร่างกาย ฯลฯ

จริงอยู่การชุมนุมนี้คงไม่มีผู้เห็นด้วยทั้งหมดเพราะผู้ที่ได้รับผลกระทบก็มีไม่น้อย แต่การแสดงออกก็คือการยืนตะโกนด่าหรือบ่นหรือมีการรวบรวมรายชื่อเพื่อคัดค้านการชุมนุม ซึ่ง Tung Chee-hwa อดีตCEO คนแรกของฮ่องกงภายหลังที่กลับสู่อ้อมอกจีนซึ่งเป็นผู้ที่ชาวฮ่องกงให้ความเชื่อถือมากคนหนึ่งได้เปิดเผยว่ามีผู้รวบรวมรายชื่อชาวฮ่องกงจำนวนมากส่งมาที่เขาเพื่อคัดค้านการชุมนุมครั้งนี้ ซึ่งส่วนใหญ่ก็คือนักธุรกิจหรือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการค้าขายที่ลดลงทั้งหลายนั่นเอง

ล่าสุดนักศึกษาก็ได้ยื่นข้อเสนอต่อ Tung Chee-hwa เพื่อให้มีการเจรจาระหว่างนักศึกษากับรัฐบาลจีนแผ่นดินใหญ่โดยตรง เพราะนักศึกษาหมดความเชื่อถือต่อ Leung Chun-ying  ซึ่งเป็น CEO คนปัจจุบันของฮ่องกง ส่วนสถานที่การเจรจาอาจจะเป็นที่ปักกิ่งหรือที่ฮ่องกงก็ได้ แต่ ณ วันที่เขียนบทความนี้ Tung Chee-hwa ยังไม่ได้ให้คำตอบต่อนักศึกษาแต่อย่างใด

นักวิเคราะห์ทางการเมืองทั้งหลายต่างมีความเห็นว่าการชุมนุมของนักศึกษาเหล่าไม่มีทางชนะ เพราะจีนคงไม่ยินยอมตามข้อเรียกร้องแน่ๆ แต่ผมกลับเห็นว่าถึงแม้ “พวกเขาไม่ชนะ แต่พวกเขาก็ไม่แพ้” เพราะจีนคงไม่สามารถรุกคืบเข้ามาจัดการได้ตามใจชอบตามแบบที่ตนเองต้องการได้มากกว่านี้ การเข้าสลายการชุมนุมแบบกรณีเทียนอันเหมินในยุคสมัยนี้และในแผ่นดินฮ่องกงทำไม่ได้อย่างแน่นอน แม้ว่าจีนจะมีอำนาจอธิปไตยเหนือฮ่องกงแทนอังกฤษตั้งแต่ปี 1997แล้วก็ตาม

มองเขา มองเรา แล้วนำมาเป็นบทเรียนว่าแม้จะมีอำนาจล้นฟ้าเป็นมหาอำนาจมีอาวุธอยู่ในมือ  หากประชาชนไม่เอาด้วย ก็หาใช่ว่าจะสามารถควบคุมหรือบังคับประชาชนให้ซ้ายหันขวาหันได้ตามใจไม่

 

 

เผยแพร่ครั้งแรกในกรุงเทพธุรกิจฉบับประจำวันพุธที่ 12 พฤศจิกายน 2557

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net