Skip to main content
sharethis

เมื่อวันที่ 7 พ.ย.ที่ผ่านมา ประชาไทจัด เรียนเล่นเล่น #4 ตอน "Impunity : เมื่อคนทำผิดไม่รับผิด วงจรแห่งการลอยนวล" โดยมีวิทยากร คือ พิมพ์สิริ เพชรน้ำรอบ เจ้าหน้าที่ฝ่ายเอเชียตะวันออก FORUM-ASIA กุลชาดา ชัยพิพัฒน์ เจ้าหน้าที่ฝ่ายรณรงค์สิทธิเสรีภาพ จากสมาคมเครือข่ายสื่อมวลชนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (SEAPA) ดำเนินรายการโดย ทวีพร คุ้มเมธา ผู้สื่อข่าวประชาไทภาษาอังกฤษ

ทั้งนี้ เดือนพฤศจิกายนถือเป็นเดือนแห่งการรณรงค์ยุติการไม่ต้องรับผิดสากล โดยเมื่อปี 2555 นั้นสมัชชาใหญ่สหประชาชาติได้ยอมรับให้วันที่ 2 พ.ย. ของทุกปีเป็นวันรณรงค์ยุติการไม่รับผิดสากล  ขณะที่ในวันที่  23 พ.ย. เป็นอีกวันที่มีการรณรงค์ยุติการไม่รับผิดสากลอันเนื่องมาจากเหตุการณ์สังหารหมู่นักข่าวในมากินดาเนา ซึ่งการฆ่าหมู่นักข่าว 34 รายเมื่อปี 2552 นับเป็นการสังหารหมู่นักข่าวที่ร้ายแรงที่สุด และในวันที่ 23 พ.ย. นี้จะเป็นการครบรอบ 5 ปีของเหตุการณ์ดังกล่าว

เรียนเล่นเล่นคาบ 4 หัวข้อ "Impunity : เมื่อคนทำผิดไม่รับผิด วงจรแห่งการลอยนวล"
ช่วงนำเสนอโดย พิมพ์สิริ เพชรน้ำรอบ

 

000

พิมพ์สิริ กล่าวถึงความหมายของการไม่ต้องรับผิดว่าคืออะไร และจะพูดถึงมันอย่างไร โดยอ้างอิงนเอกสารของสำนักงานข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติว่า

"การไม่ต้องรับผิดหมายถึงความเป็นไปไม่ได้, ทั้งในเชิงกฎหมายและข้อเท็จจริง, ที่จะนำผู้กระทำผิดมารับโทษ ไม่ว่าจะเป็นกระบวนการทางอาญา ทางแพ่ง ทางปกครอง หรือทางวินัย เพราะผู้กระทำผิดเหล่านี้ไม่ได้เข้าสู่การสอบสวนที่อาจจะนำไปสู่การกล่าวหา จับกุม ไต่สวน และลงโทษอย่างเหมาะสมต่อความผิด ในการกรณีที่พบว่ามีการกระทำความผิด และการชดเชยให้กับเหยื่อของบุคคลเหล่านี้"

 

การไม่ต้องรับผิดต่างจากนิรโทษกรรมอย่างไร ?

การไม่ต้องรับผิดต่างกับนิรโทษกรรม เพราะการไม่ต้องรับผิดคือการไม่สามารถนำผู้กระทำผิดมาลงโทษได้ด้วยเหตุใดก็ตามทั้งในเชิงกฎหมายและข้อเท็จจริง แต่การนิรโทษกรรมคือการใช้กระบวนการทางกฎหมายในการยกโทษให้กับผู้กระทำผิดหรือผู้ละเมิดสิทธิมนุษยชน ในบางกรณีการนิรโทษกรรมเป็นหนึ่งในเครื่องมือสร้างความสมานฉันท์ในบริบทของสังคมหลังความขัดแย้ง เช่นกรณีของแอฟริกาใต้ที่ Truth and Reconciliation Commission (TRC) มีอำนาจในการนิรโทษกรรมให้กับผู้ที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนในช่วง Apartheid หากว่าบุคคลนั้นให้ข้อมูลกับ TRC

อย่างไรก็ตาม ยังเป็นที่ถกเถียงถกเถียงกันโดยตลอดว่า อะไรสำคัญกว่าระหว่างการสร้างความสมานฉัทน์กับความยุติธรรม ดังตัวอย่างคลาสสิกกรณีเซียร์ราลีโอน หลังสงครามกลางเมืองจบลงหัวหน้าฝ่ายกบฏที่เคยปล้นฆ่าข่มขืนผู้คนมากมาย ด้วยความต้องการให้เกิดความสมานฉันท์ในสังคม หัวหน้าคนนี้ได้เป็นรองประธานาธิบดี

วัฒนธรรมการไม่ต้องรับผิด

ส่วนวัฒนธรรมไม่ต้องรับผิด คือ ทัศนคติหรือพฤติกรรมของคนกลุ่มหนึ่งกลุ่มใดที่มองว่ากลุ่มตนได้รับยกเว้น

กรณีของฟิลิปปินส์ ผู้ทรงอิทธิพลระดับท้องถิ่นที่ใกล้ชิดเจ้าอาณานิคมตั้งแต่สมัยที่ถูกสเปนยึดครองมีทัศนคติที่เชื่อว่าตัวเองไม่ต้องรับการลงโทษ ทัศนคตินี้ส่งต่อมาจนกระทั่งฟิลิปปินส์ได้รับเอกราชแล้วก็ตาม ในระดับชาติฟิลิปปินส์มีความก้าวหน้าในการลงนามสนธิสัญญาด้านสิทธิมนุษยชนต่างๆ แต่ในภาคปฏิบัติทำได้น้อยมากและมีอิทธิพลท้องถิ่นเยอะมาก กรณีขบวนนักข่าวที่จะไปคุ้ยเรื่องเลือกตั้ง ถูกยิง 50 กว่าคนแล้วเอารถแบ็กโฮขุดหลุมเพื่อหย่อนรถตู้ลงไปเป็นตัวอย่างที่ชัดเจนของความมั่นใจสูงสุดว่าจะไม่ถูกลงโทษ ซึ่งทุกวันนี้ก็ยังไม่มีใครถูกลงโทษ

ผลกระทบของ 'สังคมไม่ต้องรับผิด'

การไม่ต้องรับผิดส่งผลกระทบระดับบุคคล ทำให้ผู้คนในสังคมไม่เชื่อถือในสถาบันหลักต่างๆ ในสังคมโดยเฉพาะสถาบันตุลาการ เกิดความไม่มั่นใจต่อสิ่งที่ตัวเองพูดหรือทำ เช่น ตอนนี้พยานในคดีมากินดาเนามีบางส่วนที่ถูกฆ่า เมื่อเป็นอย่างนี้ก็ไม่มีพยานคนไหนอยากพูด

"หล่อไปแล้วตาย ก็คงไม่มีใครอยากหล่อ"

ในระดับสังคมก็จะเกิดบรรยากาศความหวาดกลัว ทำให้สังคมขาดความไว้เนื้อเชื่อใจ ไม่รู้ใครเป็นใคร และกลุ่มคนที่มั่นใจว่าตัวเองไม่ต้องรับผิดยังคงสถานภาพตนเองได้ กระทบต่อความอ่อนแอของหลักนิติธรรม

เครื่องมือในการต่อสู้กับการไม่ต้องรับผิด
คนที่พยายามต่อสู้กับเรื่องวัฒนธรรมไม่ต้องรับผิดมีเครื่องมืออะไรบ้าง 

กฎหมายระหว่างประเทศ บทนำของธรรมนูญกรุงโรมว่าด้วยศาลอาญาระหว่างประเทศ กล่าวไว้ชัดเจนว่า ประเทศภาคีต้องมุ่งมั่นต่อการหยดการไม่ต้องรับผิด แต่ในธรรมนูญนี้กำหนดอาชญากรรมหลักๆ ที่ต้องรับผิดระดับศาลอาญาระหว่างประเทศไว้ 4 อย่าง คือ การฆ่าล้างเผ่าพันธ์ อาชญากรรมต่อมนุษยชาติ อาชญากรรมสงคราม และอาชญากรรมรุกราน

ประเทศไทยลงนามแต่ไม่ได้ให้สัตยาบรรณ เพราะเหตุผลทางการหลักๆ ก.ต่างประเทศระบุว่า ถ้าให้สัตยาบรรณ ประมุขของรัฐก็ต้องอยู่ภายใต้เขตอำนาจศาลเช่นกัน จึงไม่ให้ แต่ประเทศอื่นที่มีประมุขของรัฐเป็นกษัตริย์ ก็ให้สัตยาบรรณ

การลงนามเหมือนเป็นการให้สัญญาว่าจะปรับกฎหมายภายในให้สอดคล้องและจะปฏิบัติตาม แต่การให้สัตยาบรรณจะเป็นการปรับกฎหมายปรับกลไกรัฐให้สอดคล้อง

ถ้าไทยลงสัตยาบรรณนี้ได้ จะทำให้ impunity น้อยลงหรือไม่ ?

มันเป็นกลไกที่ถูกสร้างมาเพื่อการนี้ ศาลอาญาระหว่างประเทศ จริงๆ ก็มีพัฒนาการมาเรื่อยๆ ตั้งแต่ศาลที่ไต่สวนคดีนาซี แต่จุดเปลี่ยนจริงๆ น่าจะเป็นเหตุฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในรวันดา นานาชาติต่างตีอกชกหัวเพราะแม้มีกองกำลังอยู่ แต่ UN Security Council ไม่มีอำนาจทำอะไรไม่ได้ ทำได้เพียงดูคนฆ่ากัน อย่างไรก็ตาม มันขึ้นอยู่กับวัฒนธรรมแต่ละประเทศด้วย เพราะอย่างที่กล่าวไปแล้วว่าฟิลิปปินส์ก็ให้สัตยาบรรณแล้ว แต่พอเป็นระดับวัฒนธรรม ระดับท้องถิ่นจริงๆ ทุกอย่างก็ยังเหมือนเดิม

นอกจากนี้ในทางกลับกันธรรมนูญนี้ก็ปกป้องศักดิ์ศรีผู้ถูกกล่าวหาว่าก่ออาชญากรรมด้วย ให้มีการต่อสู้คดีในชั้นศาล อยู่บนหลักเป็นผู้บริสุทธิ์ไปก่อนจนกว่าจะพิสูจน์ได้

อีกเครื่องมือ คือ ความยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่าน มีกระบวนการ คือ 1.การค้นหาความจริง ผู้เสียหายควรมีสิทธิได้รับรู้ความจริง 2.การดำเนินคดีกับผู้กระทำผิด 3. การเยียวยา 4. การปฏิรูปสถาบันต่างๆ ในสังคมเพื่อป้องกันการเกิดเหตุ

สำหรับประเทศไทยน่าจะได้แค่ข้อสาม คือ จ่ายเงินเยียวยาไป การดำเนินคดีก็ดูเป็นไปได้ยาก นี่ก็เป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมไม่ต้องรับผิด การที่อดีตนายกรัฐมนตรี อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ กล้าออกคำสั่งแข็งกร้าวอันนำมาซึ่งการสังหารหมู่กลางเมือง ก็เพราะด้วยความที่เขามั่นใจว่ารอดตัวได้ มีวัฒนธรรมไม่ต้องรับผิดอยู่ในสังคมไทย จริงๆ การเยียวยาควรมาทีหลังการค้นหาความจริงและการดำเนินคดีอาญา เพราะการเยียวยาอย่างเดียว บาดแผลและความเจ็บปวดก็ยังอยู่

"การปฏิรูปสถาบันการเมืองต่างๆ จะทำได้สังคมต้องเปลี่ยนผ่านไปแล้วจริงๆ เปลี่ยนระบอบเผด็จการไปสู่ประชาธิปไตยมากขึ้น กรณีที่สำเร็จน่าจะเป็นอินโดนีเซีย มีการปฏิรูปกองทัพ ปฏิรูปตำรวจ ทำให้มีบทบาทน้อยลงในการเมืองอินโดนีเซีย”

ประเทศที่สำเร็จในการต่อสู้กับการไม่ต้องรับผิด

อาร์เจนตินา เป็นกรณีที่คลาสสิกมาก ในช่วงทศวรรษ 1960-70 เป็นช่วงเผด็จการ มีรัฐประหารตลอดจนเผด็จการทหารเต็มตัว ปราบปรามฝ่ายซ้ายคนหนุ่มสาว คนที่สงสัยว่าจะใกล้ชิดกับฝ่ายซ้าย ประมาณกันว่าในช่วง 3 ปีของการปราบปรามมีการอุ้มหาย 30,000 กว่าคดี จนผู้คนเรียกเหตุการณ์ในครั้งนั้นว่า สงครามสกปรก (dirty war)

ปี 1983 เปลี่ยนผ่านเป็นระบอบประธานาธิบดี มีการตั้งคณะกรรมการที่เก็บข้อมูลละเมิดสิทธิและการอุ้มหาย มีการไต่สวน ลงโทษจำคุกทหารระดับสูงที่มีส่วนร่วมด้วย ในปี 1985 เกิดคลื่นใต้น้ำ ทหารขู่จะทำรัฐประหารถ้าไม่หยุดกระบวนการนี้ มีการก่อจลาจลด้วย 2-3 ครั้ง สุดท้ายกฎหมาย full stop ก็ผ่านสภาในเดือนธันวาคม ปี 1986 ยกเลิกการสอบสวนและลงโทษผู้ถูกกล่าวหาว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับความรุนแรงทางการเมืองทั้งหมด

จากนั้นปี 1987 มีกฎหมายลูกผ่าน นายทหารชั้นผู้น้อยที่รับคำสั่ง ไม่จำเป็นต้องรับโทษจากการกระทำละเมิด ในปี 1989 ประธานาธิบดีใหม่ปล่อยทุกคนจากคุก โดยอ้างว่าจะสร้างความสมานฉันท์แห่งชาติ แต่ก็มีขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคม แข็งแรงมาก กลุ่มแม่ๆ แห่งจัตุรัสเดอร์มาโย (Mother of Plaza De Mayo) จัตุรัสดังกล่าวเป็นลานหน้าทำเนียบประธานาธิบดี บรรดาแม่มารวมตัวกันประท้วงตั้งแต่ปี 1977 เพื่อเรียกร้องถามว่า “ลูก(กู)อยู่ไหน” มากันทุกวันพฤหัสในทุกสัปดาห์

“มีการประท้วงกันจนแม่บางคนก็ถูกอุ้มหายไปเหมือนกัน จึงมีกลุ่มแม่ของแม่ขึ้นมาทวงถามว่า ลูกกูที่มาประท้วงให้หลานกูล่ะ ไปไหน”

ปี 1983 มีการเปลี่ยนผ่านมาเป็นระบอบประชาธิปไตย กลุ่มแม่ๆ ก็ไม่หยุดการเคลื่อนไหวทางการเมืองและไม่ยอมรับค่าชดเชย จนกว่ารัฐบาลทหารอาร์เจนตินาจะยอมรับผิดและต้องการเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมทางการเมือง จนถึงปี 2005 สภาโหวตยกเลิกกฎหมาย full stop และกฎหมายลูก ปี 2006 ศาลสูงสุดตัดสินว่ากฎหมายทั้งสองฉบับนี้ขัดรัฐธรรมนูญ การไต่สวนคดีจึงเริ่มขึ้นอีกครั้ง หลังผ่านมา 22 ปี กลุ่มแม่ๆ บางส่วนก็ประกาศยุติการเดินขบวนประจำปี แต่ยังมีบางส่วนเดินขบวนทุกอาทิตย์เพื่อพูดถึงประเด็นทางสังคมอื่นๆ

วิธีในการต่อสู้กับการไม่ต้องรับผิด ยังคงมีวิธีที่ไม่ผ่านกระบวนการของรัฐที่เราอาจช่วยๆ กันทำได้ เช่น การค้นหาความจริงโดยการจัดการของภาคประชาสังคม อย่างที่ศูนย์ข้อมูลประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากการสลายการชุมนุม เม.ย.-พ.ค.2553 (ศปช.) โดยทำคู่ขนานกับคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อความปรองดอง (คอป.) หรือการบันทึกข้อมูลอย่างที่โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) ทำ หรือการใช้สื่ออื่นๆ เช่น การใช้ภาพยนตร์ the act of killing ในอินโดนีเซีย หรือ enemies of the people ที่ผู้ทำสารคดีติดตามเป็นสิบปีกว่านวนเจีย จะยอมให้สัมภาษณ์ , การเก็บรักษาความทรงจำของเหยื่อและผู้ได้รับผลกระทบ เช่น รูปปั้นรำลึก 6 ตุลา ที่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

“22 ปีมันก็นานจริงๆ แต่ที่อยากจะบอกคือ มันเป็นไปได้จริงๆ จากการเคลื่อนไหวของประชาสังคมที่ไม่ยอม” พิมพ์สิริสรุป

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net