ทหารสั่ง สกน.งดสวมเสื้อ-สัญลักษณ์ ‘เดินก้าวแลก’ เจรจา ม.ล.ปนัดดา

ที่ปรึกษาสหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือดันรัฐบาลเดินหน้าโฉนดชุมชน เตรียมประเด็นนำเสนอ ‘ม.ล.ปนัดดา’ 13 พ.ย.นี้ ปราชญ์ชาวบ้านแนะเปิดใจกว้าง-ลงพื้นที่

ภาพทหารเข้าเจรจาแกนนำ สกน. ที่มาภาพ เว็บไซต์ มูลนิธิพัฒนาภาคเหนือ(มพน.)

12 พ.ย.2557 เว็บไซต์ มูลนิธิพัฒนาภาคเหนือ(มพน.) รายงานว่า วันนี้(12 พ.ย.)เวลาประมาณ 16.00 น. พ.อ.โภคา จอกลอย รองผบ.มณทลทหารบก 33 ค่ายกาวิลละ เชียงใหม่ พร้อมเจ้าหน้าที่ทหารกว่า 10 นาย ได้เดินทางมายังสำนักงานของสหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ(สกน.) เพื่อเจรจากับแกนนำและที่ปรึกษา สกน. โดยขอความร่วมมือสมาชิก สกน. ที่จะเดินทางมาร่วมเจรจากับ ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีและปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี งดสวมเสื้อหรือนำสัญลักษณ์ใดที่เกี่ยวข้องกับการ "เดินก้าวแลก..เพื่อการปฏิรูปที่ดินไทย" ไปด้วย

หลังจากการเจรจานานกว่า 1 ชั่วโมง แกนนำได้ปฏิเสธที่จะปฏิบัติตามคำขอของเจ้าหน้าที่ทหาร โดยให้เหตุผลว่าเป็นสิทธิเสรีภาพและไม่สามารถไปบังคับใครให้ใส่หรือไม่ใส่เสื้ออะไรได้ แต่จะพยายามควบคุมให้กิจกรรมในวันพรุ่งนี้(13 พ.ย.)เป็นไปด้วยความสงบเรียบร้อยให้มากที่สุด

อย่างไรก็ตาม ในเวลา19.00 น. สกน. ได้รับรายงานข่าวจากแกนนำชาวบ้านในพื้นที่ว่า มีทหารจากมณฑลทหารบกที่ 32 ค่ายสุรศักดิ์มนตรี จังหวัดลำปาง นำโดย พ.อ.ชัยณรงค์ แกล้วกล้า รอง.ผบ.มทบ.32  ส่งกองกำลังเข้าไปยังหมู่บ้าน บ้านแหง ตำบลบ้านแหง อำเภองาว จังหวัดลำปาง ซึ่งเป็นหมู่บ้านสมาชิกของ สกน. เพื่อกดดันชาวบ้านไม่ให้เข้าร่วมเคลื่อนไหวในการเจรจากับ ม.ล.ปนัดดา

โดย สกน. มองว่า เป็นการละเมิดสิทธิมนุยชนและขมขู่คุกคามเสรีภาพของชาวบ้านที่เคลื่อนไหวเพื่อการแก้ไขปัญหาร่วมกับรัฐบาล

 

วันเดียวกัน เว็บไซต์ ‘คนชายข่าว คนชายขอบ’ นำเสนอบทสัมภาษณ์ นายประยงค์ ดอกลำไย  ที่ปรึกษาสหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ (สกน.) และ นายตาแย๊ะ  ยอดฉัตรมิ่งบุญ  หรือพะตีระแย๊ะ ปราชญ์ชาวปกาเกอะญอแห่งบ้านสบลาน อำเภอสะเมิง จังหวัดเชียงใหม่ ถึงกรณีที่ ม.ล.ปนัดดา จะเดินทางมาหารือกับสกน.และภาคีในวันที่ 13 พ.ย. นี้

โดย นายประยงค์ ยืนยันว่า เครือข่ายฯ จะพยายามนำเสนอเรื่องนโยบายธนาคารที่ดินและโฉนดชุมชน เพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนได้ใช้ที่ดินอย่างเป็นธรรม  และลดความขัดแย้งระหว่างนายทุน ภาครัฐ และชุมชน  อย่างกรณีตัวอย่างบ้านโป่ง อำเภอสันทราย จังหวัดเชียงใหม่ นั้นเป็นความสำเร็จของชุมชนที่สะท้อนได้ชัดเจนที่สุดว่า ชาวบ้านมีความเข้มแข็งและมีความพยายามเข้าถึงสิทธิในการครอบครองที่ดินเพียงเพื่อยังชีพและหารายได้เสริมเท่านั้น ไม่ใช่ครอบครองเพื่อเก็งกำไร

“กว่าเราจะผ่านมาถึงขั้นเดินเท้า และรณรงค์เรื่องที่ดินได้ขนาดนี้ มันมีระยะเวลายาวนาน ผมไม่อยากเห็นการประท้วงแล้วไม่ได้อะไร  แต่เมื่อวันนี้เราเดินเท้าออกมา แล้วผู้มีอำนาจเต็มมืออย่าง คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ยอมจะเปิดเวทีพูดคุยแล้ว เรื่องปฏิรูปที่ดิน เป็นความจำเป็นขั้นพื้นฐาน ที่ประเทศกสิกรรมอย่างไทยหลีกเลี่ยงไม่ได้  คนจนอีกนับแสนๆ คนขาดแคลนที่ดิน ถูกฟ้องร้องดำเนินคดี ยังไม่ได้รับการแก้ไขเลย แผนแม่บทป่าไม้ก็มาอีกแล้ว  ชาวบ้านเสียยางพารา เสียไร่ เสียนา ดังนั้นพรุ่งนี้ โฉนดชุมชนที่ค้างมาหลายรัฐบาล จะต้องได้เจรจากับรัฐบาลให้ได้   นอกจากนี้จำเป็นต้องเสนอตัวอย่างหมู่บ้านที่จัดการทรัพยากรอย่างยั่งยืน และหมู่บ้านที่เดือดร้อนจากแผนแม่บทป่าไม้ด้วย”  นายประยงค์ กล่าว

ขณะที่ พะตีระแย๊ะ กล่าวว่า ใน 13 พ.ย. ตนและชาวบ้านจากหลายพื้นที่จะมีโอกาสเข้าพบ ม.ล.ปนัดดา และตัวแทนผู้บริหารบ้านเมืองอีกหลายฝ่าย ที่ศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่  เพื่อเจรจาเรื่องแผนแม่บทป่าไม้และแผนปฏิรูปที่ดิน ตนจะนำแผนที่ซึ่งชาวบ้านปกาเกอะญอร่วมกันจัดทำ ไปเสนอให้รัฐมนตรีรับทราบ  พร้อมรูปภาพวิถีชีวิตปกาเกอะญอและรายงานสถานการณ์ป่าไม้ โดยเฉพาะเรื่องราวของการจัดการทรัพยากรป่าไม้ จำนวนกว่า 10,000 ไร่ แบ่งเป็นป่าใช้สอย ไร่หมุนเวียน ป่าอนุรักษ์  ฯลฯ  เป็นหลักฐานยืนยันชัดเจนว่าชาวบ้านต่างมีบทบาท ในการดูแลรักษาป่าได้ดีและยั่งยืน และไม่มีใครอยากให้ภาพวันวานแห่งการประกาศพื้นที่ป่า หรือสัมปทานป่าไม้ทับที่ทำกินชาวบ้านเหมือนในอดีตอีกแล้ว แม้บ้านสบลานไม่ใช่พื้นที่ได้รับผลกระทบจากแผนแม่บทโดยตรง แต่ก็เป็นต้นแบบให้รัฐบาลเห็นชัดเจนว่าชาวบ้านบริหารทรัพยากรได้  จึงอยากให้รัฐลงมาดูพื้นที่ให้เห็นกับตา แล้วการเดินเท้าประท้วง หรือเรียกร้องสิทธิจะได้ไม่เกิดขึ้นอีก  แต่ที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งเพราะรัฐไม่ได้เข้ามารับฟัง

พะตีตาแย๊ะ  กล่าวว่า  ขณะนี้ภัยคุกคามชาวสบลานไม่ใช่แผนแม่บทฯเพียงอย่างเดียว แต่ขณะนี้ชาวบ้านกำลังพบกับบริษัทใหญ่เข้ามาส่งเสริมให้ปลูกพืชเศรษฐกิจ โดยมี 2-3 รายลองทำดูแล้ว พบว่า ขาดทุนหลายบาท จึงระงับโครงการไป หันมาเลี้ยงควาย ทำนา  ทำไร่  ซึ่งตอนนี้ยังทำได้ปกติ แต่ถ้าหากเจอรัฐบาลกดดันเหมือนพื้นที่อื่น ไม่มีใครรู้ว่าอนาคตต้องเปลี่ยนรูปแบบใช้ชีวิตหรือไม่ แม้ว่าปัจจุบันนี้คนสบลานยังไม่เจอสถานการณ์ถูกทำลายนา ไร่ แต่ก็มีบางคนนึกกลัวว่าในอนาคตอาจต้องเผชิญชะตากรรมเดียวกัน จึงทำได้แค่เร่งอนุรักษ์ป่าไม้ไว้ และพยายามอธิบายหลักการให้รัฐบาลเข้าใจ เหมือนเมื่อครั้งอธิบายเรื่องผลกระทบของเขื่อน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท