Skip to main content
sharethis

ไวรัลวิดีโอที่ชื่อ "10 Hours of Walking in NYC" ซึ่งโด่งดังเมื่อไม่นานมานี้อ้างว่าสร้างความตระหนักเรื่องการคุกคามทางเพศบนท้องถนน แต่ก็ถูกวิจารณ์ในหลายแง่มุมแม้แต่จากมุมมองแบบสตรีนิยมเองว่ามีความอ่อนไหวเกินเหตุ ด้านนักคิดสังคมศาสตร์จากสหรัฐฯ วิจารณ์เรื่องลักษณะการเก็บและคัดกรองข้อมูลอย่างมีอคติด้านสีผิว

13 พ.ย. 2557 เมื่อไม่นานมานี้มีไวรัลวีดิโอชื่อ "10 Hours of Walking in NYC" ซึ่งเป็นวิดีโอที่แสดงให้เห็นสิ่งที่เกิดขึ้นกับผู้หญิงที่เดินตามท้องถนนในนิวยอร์กซิตี้เป็นเวลา 10 ชั่วโมง โดยวิดีโอที่นำเสนอมีการตัดต่อจนเหลือเพียง 1.56 นาที รวมข้อความท้ายวิดีโอและมียอดเข้าชมมากกว่า 35 ล้านครั้งแล้ว

วิดีโอชุดนี้ผลิตโดยกลุ่มที่ชื่อ 'โฮลลาแบ็ค' (Hollaback) ซึ่งเป็นองค์กรรณรงค์ต่อต้าน "การคุกคามทางเพศบนท้องถนน" และต้องการใช้วิดีโอสร้างความตระหนักในประเด็นของพวกเขา อย่างไรก็ตาม วิดีโอชุดนี้ก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางทั้งในแง่ของวิธีการวิจัย และในแง่แนวคิดสตรีนิยม รวมถึงตั้งคำถามกับการนิยามคำว่า "การคุกคามทางเพศ"

10 Hours of Walking in NYC as a Woman
โดยบัญชีผู้ใช้ 'Street HarassmentVideo'

เมื่อวันที่ 10 พ.ย. ที่ผ่านมา รายการ Factual Feminist จากบัญชียูทูบของสถาบันอเมริกันเอนเตอร์ไพรซ์ (AEI) นำวิดีโอ "10 Hours of Walking in NYC" มาวิเคราะห์และวิจารณ์โดยผู้จัดรายการชื่อคริสตินา ฮอฟฟ์ ซอมเมอร์ส นักวิจารณ์แนวคิดสตรีนิยมยุคสมัยปัจจุบัน

ซอมเมอร์สกล่าวว่า แม้ว่าการคุกคามทางเพศบนท้องถนนด้วยวาจาจะเป็นเรื่องที่น่ารำคาญมากก็จริง อีกทั้งเว็บไซต์องค์กรโฮลลาแบ็คจะระบุว่าการคุกคามทางเพศบนท้องถนนจะทำให้ผู้หญิงเงียบเสียงและยอมรับว่าตนมีคุณค่าด้อยกว่าผู้ชาย รวมถึงอ้างว่าเป็น "ความรุนแรงทางเพศสภาพที่แพร่หลายมากที่สุด" แต่วิดีโอ "10 Hours of Walking in NYC" ก็มีช่องโหว่อย่างมากและมีลักษณะโฆษณาชวนเชื่อมากกว่าการรณรงค์สร้างความตระหนัก

"มันคือโฆษณาชวนเชื่อ ไม่ใช่หลักฐานที่ชี้ว่าเป็นอาชญากรรมต่อผู้หญิง วิดีโอชิ้นนี้พยายามแสดงให้เห็นว่าผู้หญิงถูกโจมตีอยู่ตลอดเวลา แต่พวกเราเห็นแค่สิ่งที่ถูกเน้นย้ำจากการถ่ายทำทั้ง 10 ชั่วโมง พวกเราไม่รู้ว่ามีอะไรเกิดขึ้นบ้างในช่วง 9 ชั่วโมง กับอีก 58 นาที ที่เหลือ" ซอมเมอร์สกล่าวในรายการ Factual Feminist

ซอมเมอร์สชี้ให้เห็นว่าวิดีโอ "10 Hours of Walking in NYC" สร้างขึ้นโดยบริษัทโฆษณาที่มีความเชี่ยวชาญในการสร้างวิดีโอไวรัลหรือวิดีโอที่ถูกส่งต่ออย่างแพร่หลาย ซึ่งในเว็บไซต์ของโฮลลาแบ็คระบุว่าผู้ผลิตวิดีโอชุดนี้คือบริษัท "ร็อบบลิสครีเอทีฟ" ซึ่งในเว็บไซต์ของบริษัทออกตัวว่าเป็นบริษัทโฆษณาสร้างไวรัลวิดีโอจริง

โฮลลาแบ็คระบุถึงที่มาของวิดีโอว่ามาจากการที่ร็อบ บลิส เจ้าของบริษัทโฆษณาเข้าองค์กรพวกเขาเอง บลิสอ้างว่าเขาอยากร่วมสร้างสื่อที่เน้นเรื่องผลกระทบจากการคุกคามทางเพศบนท้องถนนเพราะแฟนสาวของเขามักจะโดน "คุกคาม" อยู่เสมอ ทางองค์กรเลยส่งตัวอาสาสมัครชื่อโชชานา บี โรเบิร์ตส เป็นผู้หญิงที่จะเดิน 10 ชั่วโมงไปตามท้องถนนในนิวยอร์กซิตี้โดยถือไมค์ไว้ในมือ ส่วนร็อบจะเป็นคนเดินนำหน้าและแอบติดกล้องไว้ในเป้สะพาย

ซอมเมอร์สวิจารณ์ว่าวิดีโอนี้ทำให้คนดูคิดว่าเกิดการคุกคามทางเพศทางวาจาขึ้นทุกที่แต่มีเว็บไซต์ที่ชื่อ Mass Appeal  วิเคราะห์ว่าร้อยละ 80 ของเหตุการณ์ในวิดีโอนี้เกิดขึ้นบนถนนในย่านฮาร์เล็มและย่านไทม์สแควร์ ทำให้วิดีโอนี้มีลักษณะการโน้มน้าวให้เชื่อในแบบนักโฆษณาด้วยวิธีการจำกัดการรับรู้ของผู้ชม

ซอมเมอร์สวิจารณ์ต่อว่าปัญหาอย่างที่สองของวิดีโอชิ้นนี้คือการเหมารวมการปฏิสัมพันธ์บนท้องถนนทั้งหมดเป็น "การคุกคาม" ไปหมด ทั้งที่ในวิดีโอ "10 Hours of Walking in NYC" มีการปฏิสัมพันธ์หลายรูปแบบทั้งการทักทายอย่างเป็นมิตร การวิจารณ์รูปลักษณ์ การแซวที่หยาบคายและน่ารำคาญ ไปจนถึงการเดินตาม

"การปฏิสัมพันธ์บนท้องถนนเป็นเรื่องซับซ้อนและมีบริบทแวดล้อม ทั้งเรื่องที่ว่ามันเป็นตอนกลางวันหรือตอนกลางคืน เหตุการณ์เกิดขึ้นในย่านไหน ผู้หญิงบางคนอาจจะรู้สึกเขินอายหรือรู้สึกดีใจเวลาที่มีคนทักว่า 'สวัสดีตอนเช้า คนสวย' ขณะที่บางคนอาจจะรู้สึกไม่ชอบใจ" ซอมเมอร์สกล่าว

อแมนดา เฮสส์ คอลัมนิสต์ของนิตยสารสเลทเขียนไว้ในบทความว่า คำติชมจากปากผู้ชายแปลกหน้ารวมถึงคำทักทายเป็นการพยายามเรียกร้องความสนใจที่ไม่เป็นผล โดยที่เฮสส์ระบุในบทความว่ามันเป็น "การคุกคามทางเพศ" อย่างหนึ่ง แต่ซอมเมอร์สวิจารณ์คำกล่าวอ้างของเฮสส์กลับว่า คนที่เดินตามท้องถนนย่อมต้องเจอกับการเรียกร้องความสนใจที่ไม่ได้รับการตอบสนองเป็นเรื่องปกติโดยไม่เกี่ยวกับเรื่องทางเพศ เช่น กรณีคนแจกใบปลิว ขอทาน กลุ่มศาสนา หรืออาสาสมัครด้านสิ่งแวดล้อม

"ท้องถนนในเมืองเป็นพื้นที่เสรี ไม่ใช่ชุมชนปิดที่มีกฎควบคุมเข้มงวด และยังได้รับการคุ้มครองจากบทบัญญัติเพิ่มเติมที่ 1 แห่งรัฐธรรมนูญสหรัฐฯ อีกด้วย (เป็นบทที่ระบุถึงเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น)" ซอมเมอร์สกล่าว

ซอมเมอร์สยังแสดงความเป็นห่วงผ่านรายการ Factual Feminist อีกว่า นักวิชาการในสหรัฐฯ บางคนกำลังนำข้ออ้างเรื่องการคุกคามทางเพศบนท้องถนนมาเรียกร้องให้มีการออกกฎหมายเข้มงวดขึ้นในเรื่องการแสดงออกตามท้องถนน แต่ซอมเมอร์สมองว่าการพูดแซวคนที่เดินผ่านไปมาเช่นนี้เกิดขึ้นเป็นปกติในย่านที่ขาดแคลนทางเศรษฐกิจ และกฎหมายควบคุมที่นักวิชาการเรียกร้องอาจจะทำให้คนจนและชนชั้นแรงงานไม่ว่าจะเป็นคนละติน คนผิวสี หรือคนผิวขาวถูกตั้งเป้าจากตำรวจ

What the catcalling video gets wrong
โดยบัญชีผู้ใช้ 'American Enterprise Institute'

นอกจากจะถูกวิจารณ์เรื่องการเหมารวมและความอ่อนไหวเกินจริงแล้ว ในเว็บไซต์ชื่อ Medium ยังมีการตีแผ่วิธีการเก็บข้อมูลของ  "10 Hours of Walking in NYC" ในบทความของเซย์เนป ตูเฟกจิ อาจารย์และนักวิจัยด้านสังคมวิทยาจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด

ตูเฟกจิตั้งข้อสังเกตว่าคนที่พยายามปฏิสัมพันธ์กับผู้หญิงในวิดีโอทุกคนเป็นผู้ชายที่เป็นคนผิวสี และแทบทั้งหมดเป็นคนผิวสี แม้ว่าในตอนท้ายวีดิโอจะระบุว่ามีการ "คุกคามทางเพศด้วยวาจา" มากกว่า 100 ครั้ง จากคนทุกภูมิหลังสถานะ

ตูเฟกจิวิเคราะห์ว่าวิดีโอนี้ต้องการตั้งคำถามในเชิงการศึกษาวิจัยว่า "ผู้หญิงผิวขาวที่มีความสวยตามแบบฉบับจะถูกคุกคามทางเพศด้วยวาจาในนิวยอร์กหรือไม่" แต่ก็วิจารณ์ว่าวิดีโอนี้ไม่มีระเบียบวิธีที่ชัดเจน

ในฐานะผู้สอนวิชาการวิจัยขั้นพื้นฐาน ตูเฟกจิบอกว่าเขาสอนถึงความสำคัญของระเบียบวิธีให้กับนักศึกษาเสมอว่าถ้าไม่มีความเข้าใจในเรื่องระเบียบวิธี เราก็ไม่สามารถเข้าใจวิธีการตัดสินสิ่งที่คุณเห็นได้ และนอกจากนี้วิดีโอของโฮลลาแบ็คยังแสดงให้เห็นว่าข้อมูลที่ปราศจากทฤษฎีอาจจะทำให้ไขว้เขวได้ และข้อมูลแบบเดียวกันยังสามารถนำมาอธิบายด้วยทฤษฎีที่หลากหลายได้ นอกจากนี้ในขั้นตอนการเก็บข้อมูลยังมีการคัดเลือกข้อมูลที่จะใช้อยู่ด้วย

ตูเฟกจิตั้งสมมติฐานความเป็นไปได้ว่าวิดีโอนี้อาจจะมีอคติด้านการนำเสนอภาพคนผิวสีซึ่งวิดีโอพยายามให้เห็นว่าพวกเขามักจะเข้าหาผู้หญิงในวิดีโอมากกว่าคนเชื้อชาติอื่น โดยไม่ทราบว่าเป็นเพราะคนผิวสีมักจะชอบพูดแซวมากกว่าจริงๆ หรือวิดีโอนี้เป็นการนำเสนอในเชิงเหยียดสีผิวไม่ว่าจะรู้ตัวหรือไม่รู้ตัวก็ตามเนื่องจากการที่พวกเขาไม่มีระเบียบวิธีวิจัย

นอกจากนี้ตูเฟกจิยังวิจารณ์ถึงความเป็นไปได้อีกอย่างหนึ่งว่าวิดีโอนี้เล่นกับความสัมพันธ์กันของข้อมูลแบบเทียมๆ ทำให้เชื่อมโยงเหตุการณ์ 2 แบบว่าเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นเหตุเป็นผลกัน ยกตัวอย่างเช่นในช่วงฤดูที่มีคนทานไอศกรีมมากขึ้นเป็นช่วงเดียวกับที่เกิดเหตุฆาตกรรมมากขึ้นด้วย ซึ่งไม่ได้หมายความว่าการทานไอศกรีมมากขึ้นทำให้เกิดการฆาตกรรมมากขึ้น เปรียบเทียบกับกรณีของวิดีโอ "10 Hours of Walking in NYC" ซึ่งเน้นให้ผู้หญิงไปเดินย่านฮาร์เล็มหรือย่านคนผิวสีอื่นๆ มากกว่าจะเป็นย่านคนผิวขาวแต่ก็อ้างว่าพวกเขาเดินทั่วนิวยอร์ก

มีผู้วิเคราะห์วิดีโอเปิดเผยว่าเหตุการณ์ที่นำเสนอในวิดีโอร้อยละ 59 มาจากย่านฮาร์เล็ม รองลงมาร้อยละ 21 มาจากย่านไทม์สแควร์ ผู้วิเคราะห์จากเว็บไซต์ Mass Appeal ระบุว่าเป็นเรื่องน่าสงสัยว่าการถ่ายทำวิดีโอเน้นอยู่ที่สถานที่เพียง 2 ย่านหรือไม่

ตูเฟกจิระบุว่าอย่างไรก็ตามผู้ชมวิดีโอนี้ก็จะตีความไปตามความเข้าใจของตนเองและหลายคนลงสรุปเหมารวมไปว่ามีการคุกคามทางเพศด้วยวาจาเกิดขึ้นทั่วไปตามท้องถนนของนิวยอร์กไปแล้ว ทำให้ควรมีการวิจัยอย่างเป็นระบบเพื่อลบอคติที่มาจากการสำรวจเพียงคร่าวๆ เช่นนี้

โปรดิวเซอร์ของวิดีโอเคยเขียนบทความลงในนิตยสารสเลทอ้างว่าจริงๆ แล้วก็มีคนผิวขาวที่พูดแซวผู้หญิงในวิดีโอของพวกเขาอยู่ด้วยแต่ว่าถูกกลบด้วยเสียงรบกวนจากภายนอกหมดหรือไม่ก็ไม่ได้ถ่ายติดอยู่ในกล้อง ซึ่งสำหรับตูเฟกจิแล้วเป็นคำอธิบายที่ไม่สามารถให้ความชอบธรรมแก่การนำเสนอแบบนี้ได้ เพราะถ้าเป็นนักวิจัยที่มีจรรยาบรรณพวกเขาจะทำการทดลองซ้ำอีกครั้งถ้าหากเกิดอุปสรรครบกวนดังกล่าว

"ในความเป็นจริงแล้วการออกแบบการวิจัยทุกส่วนต้องมีการคิดไตร่ตรองอย่างหนัก นั่นคือสิ่งที่งานด้านสังคมศาสตร์ดีๆ ทำ" ตูเฟกจิกล่าวในบทความ

 

เรียบเรียงจาก

You won’t believe how many times this woman gets harassed in 10 hours, Hollaback!, 27-10-2014
http://www.ihollaback.org/blog/2014/10/27/new-street-harassment-psa/

Hollaback and Why Everyone Needs Better Research Methods : And Why All Data Needs Theory, Zeynep Tufekci, Medium, 03-11-2014
https://medium.com/message/that-catcalling-video-and-why-research-methods-is-such-an-exciting-topic-really-32223ac9c9e8

A Hidden Camera Reveals How Women Are Constantly Harassed on the Street, Amanda Hess, Slate, 28-10-2014
http://www.slate.com/blogs/xx_factor/2014/10/28/street_harassment_video_a_hidden_camera_records_what_women_go_through_on.html

What the catcalling video gets wrong, AEI, 10-11-2014
http://www.youtube.com/watch?v=T2NUk5AFImw

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net