ศูนย์ทนายสิทธิมนุษยชน เผยตัวเลข ปชช.ถูกจับหลัง 5 เดือน รปห.

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน เผยตัวเลขประชาชนถูกควบคุมตัว จับกุม และดำเนินคดีตั้งแต่หลังรัฐประหาร 22 พ.ค.-28 ต.ค.57 มีกว่า 300 ราย 102 รายถูกคดีการเมือง

18 พ.ย.2557 ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน เผยตัวเลขประชาชนที่ถูกควบคุมตัว จับกุม และดำเนินคดีตั้งแต่หลังรัฐประหาร 22 พ.ค.2557

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน เผยแพร่ข้อมูลผ่านเอกสาร “สถานการณ์นักโทษการเมืองไทยหลังรัฐประหาร ตุลา 19-ตุลา 57 สถานการณ์ไม่เปลี่ยนแปลง” ระบุว่าจำนวนประชาชนที่ถูกควบคุมตัว จับกุม และดำเนินคดีนับตั้งแต่การยึดอำนาจของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เมื่อวันที่ 22 พ.ค.ที่ผ่านมาจนถึงวันที่ 28 ต.ค.57 มีประชาชนที่ถูกจับและควบคุมตัว 291 คน, ถูกควบคุมตัวโดยไม่แจ้งข้อหาและปล่อยตัวแล้ว 229 คน, มีคดีที่ขึ้นสู่ศาลทหาร 69 คดี, คดีที่ขึ้นสู่ศาลพลเรือน 33 คดี และนักโทษที่ถูกดำเนินคดีด้วยเหตุทางการเมือง 102 คน

ที่มา : TLHR Newsletter 12 Nov. 2014

ในเอกสารดังกล่าวระบุว่า ในจำนวนผู้ที่ถูกดำเนินคดีด้วยเหตุทางการเมือง 102 คน มีผู้ที่ถูกดำเนินคดีในข้อหาดูหมิ่น หมิ่นประมาท แสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ หรือถูกข้อหาในคดีอาญามาตรา 112 จำนวน 18 คน, ผู้ที่ถูกข้อหาครอบครองอาวุธสงคราม 49 คน, ผู้ที่ถูกข้อหาชุมนุมเกินกว่า 5 คน มีจำนวน 22 คน และมีผู้ที่ถูกข้อหาไม่ไปรายงานตัวต่อ คสช. 11 คน

ที่มา : TLHR Newsletter 12 Nov. 2014

เอกสารยังกล่าวถึงสถานการณ์ของนักโทษการเมืองไทยปัจจุบันเปรียบเทียบกับเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ว่ามีความคล้ายคลึงกันบางประการ เช่น การจับกุมและดำเนินคดีกับนักกิจกรรมที่แสดงละครด้วยกฎหมายอาญามาตรา 112 และการใช้ศาลทหารในการดำเนินคดีกับพลเรือน นอกจากนี้ ยังระบุถึงผู้ต้องหาในคดี 112 ที่ไม่ได้รับโอกาสในการประกันตัวเพื่อสู้คดี รวมถึงการเร่งรัดคดี 112 ภายหลังการรัฐประหาร การจำกัดสิทธิการเยี่ยมนักโทษ การติดตามจับกุมและดำเนินคดีกับประชาชนอย่างต่อเนื่อง และผลกระทบต่อสิทธิในกระบวนการยุติธรรมอันเนื่องจากการสอบสวนคดีภายใต้กฎอัยการศึก เช่น การควบคุมตัวโดยไม่มีหมายจับได้ 7 วัน การไม่เปิดเผยสถานที่คุมขัง การไม่ให้ญาติเข้าเยี่ยม และการปฏิเสธสิทธิในการมีทนายความ

ในตอนท้ายของเอกสาร ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน มีข้อเสนอแนะต่อ คสช.และคณะรัฐมนตรีให้
1. ยุติการดำเนินคดีและนิรโทษกรรมในคดีที่เกี่ยวกับเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น
2. ให้สิทธิในการพิจารณาคดีอย่างเป็นธรรมในคดีอาญาอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการเมือง
3. แยกสถานที่ควบคุมตัวระหว่างนักโทษการเมืองและนักโทษในคดีทั่วไป

 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท