สถานการณ์แรงงานประจำสัปดาห์ 12-18 พฤศจิกายน 2557

พยาบาลพ้อ งานหนัก แถมถูกลิดรอนสิทธิ์ ‘ตำแหน่งแป้ก-เงินเดือนตัน’ 
 
12 พ.ย.57 นางมัลลิกา ลุนจักร์ ประธานสหภาพพยาบาลแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ที่ผ่านมาพยาบาลคือกลุ่มวิชาชีพที่ทำงานค่อนข้างหนักแต่ถูกลิดรอนสิทธิมานาน จึงได้มาการรวมตัวกันขึ้นมาเป็นสหภาพฯ เพื่อขับเคลื่อนข้อเรียกร้อง 5 ประเด็นคือ 1.ขอให้มีการปรับโครงสร้างของกระทรวงสาธารณสุข ให้สัดส่วนพยาบาลเข้าไปเป็นหนึ่งในคณะผู้บริหารทุกระดับ ตั้งแต่กระทรวง กรม จังหวัด และระดับโรงพยาบาล 2.เพิ่มความก้าวหน้าให้กับวิชาชีพพยาบาลด้วยการเปิดเพิ่มทำชำนาญการระดับ 8 ได้ จากเดิมให้สูงสุดอยู่แค่ระดับ 7 ไม่ว่าจะเป็นผู้มีประสบการณ์การทำงานมามากแค่ไหน จะจบการศึกษาระดับปริญญาตรี ปริญญาโท หรือปริญญาเอก ก็มีความก้าวหน้าอยู่แค่นี้ เงินเดือนตันอยู่แค่นี้ ทำให้พยาบาลเก่งๆ หลายคนลาออกจากระบบของรัฐไปทำงานให้กับเอกชน หรือทำงานที่ต่างประเทศซึ่งได้รับค่าตอบแทนสูงกว่าระบบของรัฐถึง 30 เท่า
 
3.เพิ่มค่าตอบแทนพิเศษให้กับผู้ที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน 4.เพิ่มสวัสดิการบ้านพัก ห้องพักสำหรับพยาบาลที่ต้องเข้าเวรดึก หากบ้านพักหรือห้องพักไม่เพียงพอต้องจัดหาให้เพิ่มเติม เนื่องจากที่ผ่านมาจะเห็นว่ามีพยาบาลเกิดอุบัติเหตุเสียชีวิตระหว่างเดินทางกลับบ้านหลังจากลงเวรรอบดึกแล้ว โดยสาเหตุมาจากความง่วง และความเหนื่อยล้า นอกจากนี้จะต้องมีเงินชดเชยกรณีเสียชีวิตจากการปฏิบัติหน้าที่ให้ด้วย และ 5.การเรียกร้องให้บรรจุพยาบาลลูกจ้างชั่วคราวเป็นข้าราชการ แต่ข้อนี้ทางกระทรวงสาธารณสุขได้ดำเนินการแก้ไขให้จนอยู่ในระดับที่น่าพอใจแล้ว เหลือเพียงที่ 4 ข้อเท่านั้นที่ยังไม่ได้รับการตอบสนอง ซึ่งที่ผ่านมาได้เรียกร้องต่อกระทรวงสาธารณสุข ศูนย์ดำรงธรรม และเมื่อเร็วๆ นี้ก็เพิ่งได้เข้าพบกับ นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขเพื่อชี้ให้เห็นถึงปัญหา และเสนอข้อเรียกร้องไปแล้ว ซึ่งนพ.รัชตะ รับปากว่าจะดำเนินการให้แต่จนถึงตอนนี้เรื่องก็ยังไม่ไปถึงไหน
 
นางมัลลิกา กล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ทางสหภาพพยาบาลฯ อยู่ระหว่างศึกษาข้อมูลเพิ่มเติม และวางแผนในการขับเคลื่อนข้อเรียกร้องให้ประสบผลสำเร็จ เบื้องต้นคิดว่าจะนำเอาผลการศึกษาต่างๆ ไปยื่นต่อสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) ให้ทราบถึงภาระงานที่ต้องทำ ตลอดจนข้อเสนอต่างๆ และคิดว่าจะเดินทางไปยื่นต่อคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ส่วนกระทรวงสาธารณสุขนั้นยังไม่แน่ใจว่าจะไปอีกหรือไม่ เพราะที่ผ่านมาพูดกันมาเยอะ แล้วก็ไม่มีผลอะไรออกมา
 
“สหภาพพยาบาลฯ ตั้งขึ้นมาเพื่อขับเคลื่อนงานกลุ่มพยาบาลหลังจากที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมมานาน แต่กลับไม่มีใครเข้ามาให้การช่วยเหลืออย่างจริงใจ แม้แต่หน่วยงานที่ดูแลเหล่าพยาบาลโดยตรงก็ทำแค่รับปากว่าจะช่วยเหลือ แต่ก็ไม่เคยดำเนินการอย่างจริงจัง” นางมัลลิกา กล่าว
 
(สำนักข่าว Hfocus, 12-11-2557)
 
ไฟไหม้โรงงานในนิคมฯ บางกะดี พบแรงงานบาดเจ็บ 2 ราย 
 
(12 พ.ย.) นายพีรพัฒน์ พรศิริเลิศกิจ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) เปิดเผยว่า ได้รับรายงานจากเจ้าหน้าที่สวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดปทุมธานี ว่า เมื่อเวลา 05.00 น.ที่ผ่านมาเกิดเหตุเพลิงไหม้โรงงานผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ของบริษัท SVI จำกัด (มหาชน) ภายในนิคมอุตสาหกรรมบางกะดี ถ.ติวานนท์ จังหวัดปทุมธานี โดยจุดเกิดเหตุเป็นโกดังการผลิตขนาด 200x300 เมตร ขณะเกิดเหตุมีเสียงระเบิดดังขึ้นเป็นระยะ เจ้าหน้าที่ได้ระดมรถน้ำกว่า 20 คันเร่งสกัดเพลิงไว้ได้ในวงจำกัดแล้ว เบื้องต้นมีผู้ได้รับบาดเจ็บเป็นคนงานหญิงจำนวน 2 คน มีอาการสำลักควัน เจ้าหน้าที่จึงช่วยเหลือนำส่งโรงพยาบาลปทุมธานีแล้ว ทั้งนี้ได้กำชับให้สวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดปทุมธานี ประสานสำนักงานประกันสังคม ลงพื้นที่ไปช่วยเหลือผู้ใช้แรงงานและผู้ที่เกี่ยวข้องแล้ว
       
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ขณะนี้ยังอยู่ระหว่างควบคุมเพลิง ในที่เกิดเหตุมีกลุ่มควันและกลิ่นสารเคมีแรงมากและเบื้องต้นมีผู้ได้รับบาดเจ็บเป็นคนงานหญิงจำนวน 2 คนโดยหนึ่งในนี้ผู้บาดเจ็บชื่อ น.ส.จิราภรณ์ โชติช่วง อายุ 34 ปี ลูกจ้างแผนก SMT ที่มีอาการสำลักควันขณะเดียวกันได้มีการอพยพคนงานกว่า 200 คนออกจากพื้นที่มาหมดแล้ว ส่วนสาเหตุเพลิงไหม้นั้นคาดว่าเกิดสะเก็ดลูกไฟจากการเชื่อมกระเด็นไปติดกองกล่องชิ้นส่วนระหว่างการต่อเติมอาคารทำให้เกิดเหตุการณ์เพลิงไหม้ 
 
(ASTV ผู้จัดการออนไลน์, 12-11-2557)
 
บอร์ดค่าจ้างยันยังไม่ปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ
 
วันที่ 12 พฤศจิกายน ที่กระทรวงแรงงาน นายนคร ศิลปอาชา ปลัดกระทรวงแรงงาน เปิดเผยภายหลังเป็นประธานประชุมคณะกรรมการค่าจ้าง(บอร์ดค่าจ้าง) ว่า ที่ประชุมได้รายงานสถานการณ์เศรษฐกิจและสถานการณ์ด้านแรงงานในรอบเดือนตุลาคมที่ผ่านมาว่าสถานการณ์การอยู่ในระดับที่ดีเนื่องจากอัตราเงินเฟ้ออยู่ในระดับต่ำรวมทั้งราคาน้ำมันที่ลดลงส่งผลให้สถานการณ์ดีขึ้น โดยเฉพาะการจ้างงานที่มีอัตราการว่างงานเพียงร้อยละ 0.8
 
นอกจากนี้ในที่ประชุมยังเสนอให้จัดทำข้อมูลด้านเศรษฐกิจรายงานต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรีให้รับทราบด้วย ส่วนการพิจารณาปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำนั้นยังไม่มีการพิจารณาเนื่องจากยังไม่มีผลกระทบที่ชัดเจน ดังนั้นจึงยึดตามมติเดิมในการพิจารณาอัตราค่าจ้างขั้นต่ำอีกครั้งในช่วงปลายปี 2558 ต้องพิจารณาทั้งทางด้านเศรษฐกิจและความมั่นคงเพื่อไม่ให้แรงงานต่างด้าวทะลักเข้ามาทำงานในไทยเป็นจำนวนมาก
 
นายนคร กล่าวอีกว่า ที่ประชุมยังเห็นควรให้ดำเนินโครงการอัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือแรงงาน โดยในปี 2558 จะจัดทำเพิ่มเติมอีก 20 สาขา ใน 5 กลุ่มอุตสาหกรรม คือ อุตสาหกรรมไฟฟ้า ชิ้นส่วนยานยนต์ ยานยนต์ อัญมณี และโลจิสติกส์ หลังจากที่ได้จัดทำและประกาศอัตราค่าจ้างไปแล้ว 35 สาขา
 
ด้านนายปัณณพงศ์ อิทธิ์อรรถนนท์ กรรมการค่าจ้างฝ่ายนายจ้างกล่าวว่า ตนเห็นด้วยว่าขณะนี้ยังไม่ควรปรับขึ้นค่าจ้าง เพราะสภาพเศรษฐกิจยังไม่มีปัญหา ส่วนเรื่องค่าจ้างลอยตัวนั้นอยู่ระหว่างการศึกษา ทั้งนี้ฝ่ายนายจ้างสนับสนุนให้มีค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือเพื่อให้ลูกจ้างมีการบกระดับทักษะฝีมือตนเอง
 
ขณะที่นายสุรเดช ชูมณี กรรมการค่าจ้างฝ่ายลูกจ้างกล่าวว่า เห็นด้วยที่ยังไม่ปรับขึ้นค่าจ้าง แต่หากมีการปรับขึ้นเงินเดือนข้าราชการก็ต้องมาพิจารณาว่าจะกระทบต่อค่าครองชีพของแรงงานหรือไม่ หากมีผลกระทบก็ควรหาทางช่วยเหลือลูกจ้าง 
 
(มติชน, 12-11-2557)
 
เด็กลาวถูกกักขังใช้แรงงานร้านทองรูปพรรณ โรยตัวปีนเสาไฟฟ้าหนี-แจ้งตร.
 
พล.ต.ต.เสริมคิด สิทธิชัยกานต์ ผบก.ภ.จว.พระนครศรีอยุธยา พ.ต.อ.วิโรจน์ ข้าวบ่อ ผกก.สภ.เสนา จ.พระนครศรีอยุธยา พร้อมด้วยกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทหาร ฝ่ายปกครอง เจ้าหน้าที่พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ พระนครศรีอยุธยา นำกำลังเข้าตรวจสอบภายในอาคารพาณิชย์ 3 ชั้น เลขที่ 69/222-3 ม.8 ต.สามกอ อ.เสนา จ.พระนครศรีอยุธยา ซึ่งชั้นบนเปิดเป็นร้านทำทองรูปพรรณ หลังจากมีแรงงานเป็นเด็กชายจำนวน 2 คน และหญิง 1 คน ชาวลาว อายุ 14-15 ปี ได้ปีนตึกหลบหนีออกมา ขอความช่วยเหลือเจ้าหน้าที่พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์พระนครศรีอยุธยา ว่าถูกกังขัง ใช้แรงงานหนัก และไม่ได้เงินเดือน
 
โดยการตรวจค้นมีนางสุมณธณี โอภาสสุวรรณ อายุ 35 ปี เป็นผู้ดูแล พาเจ้าหน้าที่ตำรวจตรวจสอบภายในห้องที่ทำทองรูปพรรณ และห้องพักของคนงาน พร้อมกับนำเอกสารและบัตรคนงานต่างด้าว พบว่ามีการเข้ามาทำงานอย่างถูกต้อง
 
นางสุมณธณี กล่าวว่า ตนเองรับเด็กชาวลาวทั้ง 3 คน มาทำงานตั้งแต่ เดือนก.ค. 2557 จนถึงปัจจุบันโดยให้ค่าแรงวันละ 300 บาท ทำหน้าที่ร้อยสร้อยทองคำ ตั้งแต่เวลา 09.00 น.จนถึง 17.00 น. มีพักรับประทานอาหารกลางวันตามปกติ พักอาศัยอยู่ด้วยกัน ไม่ได้มีการบังคับขู่เข็ญ ส่วนที่ไม่ยอมให้ออกไปไหน ด้วยเห็นว่าเป็นเด็ก จึงไม่อยากให้ออกไปไหนกลัวว่าจะโดนหลอกลวงไปในทางไม่ดี การดุด่าอาจจะมีบ้าง เพราะเด็กยังมีความซุกซน เงินเดือนจะจ่ายให้ทุกวันที่ 15 ของเดือน
 
พล.ต.ต.เสริมคิด กล่าวว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจร่วมกับ พม.พระนครศรีอยุธยา ดำเนินการไปตามข้อร้องเรียนของเด็กชาวลาวทั้งสองคนที่ได้หลบหนีออกมาตั้งแต่วันที่ 7 พ.ย.ที่ผ่านมา และให้การกับเจ้าหน้าที่ว่าถูกใช้ให้ทำงานเกินเวลา กักขังไม่ให้ออกไปไหน ไม่ได้รับเงินเดือน จึงได้หลบหนีออกมา แจ้งกับเจ้าหน้าที่ ซึ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจจะทำการสอบสวนให้ความเป็นธรรมกับทั้งสองฝ่าย โดยเด็กทั้ง 3 คน ขณะนี้อยู่ในความดูแลของ เจ้าหน้าที่ พม. โดยให้เจ้าของร้านทำทอง นำเอกสารต่างๆ มาแสดง เบื้องต้นทางเจ้าของร้านไม่มีเอกสารเรื่องการจ่ายเงินมาแสดงกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ
 
ด.ญ.ปู (นามสมมติ) อายุ 14 ปี กล่าวว่า ตนเองพร้อมกับเพื่อนชาวลาวต้องตื่นตั้งแต่เช้ามืด ทำความสะอาดร้านทั้งหมด จากนั้นเริ่มร้อยทองรูปพรรณ โดยไม่ได้กินข้าวเช้าทำจนเที่ยงจึงจึงได้กินอาหารกลางวัน จากนั้นจะทำงานต่อจนถึงเย็น หยุดพักกินอาหาร และทำงานต่ออีก จนถึงเวลา 01.00 น. ของทุกวัน โดยถูกห้ามไม่ออกไปไหน โดยไม่มีใครไปด้วย
 
ครั้งแรกที่เริ่มเข้าทำงานมีการตกลงกันว่าจะให้จ่ายเงินให้เดือนละ 4,000 บาท นับตั้งแต่เริ่มทำงานมาได้ 3 เดือน เพิ่งจะได้เงิน 1,000 บาท ส่วนเพื่อนคนงานที่เป็นชายได้ คนละ 500 บาท จึงทนไม่ไหว ตัดสินใจปีนตึกแล้วโรยตัวเสาไฟฟ้าหลบหนีออกมา เพื่อจะกลับบ้าน แต่ไปพบกับเจ้าหน้าที่ตำรวจก่อน 
 
(ข่าวสด, 12-11-2557)
 
ชาวนาแห่สมัครรับจ้างกรมชล หารายงานได้เสริมช่วงงดทำนาปรัง
 
นายเลิศวิโรจน์ โกวัฒนะ อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า จากการลงพื้นที่ติดตามการรับสมัครแรงงานชาวนาเพื่อมาทำงานปรับปรุงและซ่อมแซมระบบชลประทานในลุ่มน้ำเจ้าพระยา ตามนโยบายของรัฐบาล นั้นพบว่า มีผู้ให้ความสนใจเข้ามาสมัครเป็นแรงงานจำนวนพอสมควร เช่น ในพื้นที่ชลประทานของโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษายางมณี ในเขต จ.อ่างทอง และ จ.พระนครศรีอยุธยา และพื้นที่ชลประทานของโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาชันสูตร ในเขต จ.สิงห์บุรี มีเกษตรกรเข้ามาสมัครแล้วกว่า 500 ราย โดยกิจกรรมงานที่มาสมัครส่วนใหญ่ จะเป็นงานขุดลอกตะกอนดินในคูส่งน้ำ-คลองส่งน้ำ ซึ่งมีความยาวรวมกันประมาณ 100 กิโลเมตร ลองลงมาจะเป็นงานซ่อมแซมสิ่งก่อสร้าง ถางหญ้า ทำความสะอาดคลอง ตามลำดับ
 
“ในอดีตที่ผ่านมาคูคลองส่งน้ำในพื้นที่ของโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาทั้ง 2 แห่งดังกล่าวแทบจะไม่ได้ทำการขุดลอกเลยเพราะใช้ส่งน้ำต่อเนื่องตลอดทั้งปี ทำให้มีตะกอนดินสะสมและประสิทธิภาพการไหลของน้ำเหลือเพียงร้อยละ 60 ทางภาครัฐเคยเสนอให้หยุดส่งน้ำเพื่อทำการขุดลอกก็ทำไม่ได้ เนื่องจากเกษตรกรต้องการใช้น้ำตลอดเวลา อย่างไรก็ตามปีนี้กรมชลประทานจะงดส่งน้ำสำหรับการทำนาปรัง จึงใช้เวลาในช่วงนี้เปลี่ยนวิกฤติเป็นโอกาสให้คนใช้น้ำมาขุดลอกคลองเอง ซึ่งจะทำให้สามารถส่งน้ำได้เต็มประสิทธิภาพร้อยเปอร์เซ็นต์สำหรับการใช้งานในปีต่อๆไป” นายเลิศวิโรจน์ กล่าว
 
อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวต่อว่า การรับสมัครแรงงานในครั้งนี้ถือเป็นทางเลือกหนึ่งที่จะเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกรที่ต้องว่างเว้นจากการทำนาปรัง นอกจากนี้หน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ก็จะมีมาตรการอื่นๆ ที่เข้าช่วยเหลือเกษตรกรเช่นกัน
 
อย่างไรก็ตาม การงดการทำนาปรังนั้น ไม่มีมาตรการทางกฎหมายห้าม เกษตรกรจะทำนาปรังก็ไม่มีความผิดใดๆ เพียงแต่เป็นมาตรการขอความร่วมมือ เนื่องจากปริมาณน้ำต้นทุนมีน้อย หากเกษตรกรทำนาปรังอาจจะมีความเสี่ยงสูงที่ข้าวจะได้รับความเสียหายจากภาวะขาดแคลนน้ำในช่วงและปลายฤดู และกรมชลประทานก็จะไม่ส่งน้ำให้เกษตรต้องรับความเสี่ยงเอง ดังนั้น หากพบเจอผู้ที่แอบอ้างว่า เป็นเจ้าหน้าที่กรมชลประทาน ทหาร หรือตำรวจ เข้ายึดเครื่องมือการเกษตรจากเกษตรกรที่ทำนาปรัง ขออย่าได้หลงเชื่อให้เครื่องมือการเกษตรไปอย่างเด็ดขาด ขอให้รีบไปแจ้งความดำเนินคดีทันที ทั้งนี้ เกษตรกรสามารถสอบถามข้อสงสัยต่างๆ รวมถึงการเข้าสมัครงานกับกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และเจ้าหน้าที่กรมชลประทานในท้องถิ่นที่ตัวเองอาศัยนั้นๆ ได้ตลอดเวลา
 
(แนวหน้า, 13-11-2447)
 
สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง ออกกฎคุมเข้มแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมาย ขู่ดำเนินคดีผลักดันออกนอกประเทศ
 
พล.ต.ท.ศักดา ชื่นภักดี ผู้บัญชาการสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง มีวิทยุสั่งการในสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง ให้ดำเนินการตรวจสอบแรงงานต่างด้าวสัญชาติเมียนมาร์ ลาว และกัมพูชา ที่เดินทางเข้าออกประเทศอย่างเข้มงวดมากขึ้น หากตรวจสอบพบว่า หนังสือเดินทางหรือหนังสืออนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักร ไม่ว่าจะเป็นการอนุญาตประเภทใดสิ้นสุดลง ให้ดำเนินการจับกุมส่งสถานีตำรวจท้องที่ที่รับผิดชอบ เพื่อสอบสวนดำเนินคดีตามกฎหมายและผลักดันออกนอกประเทศ กรณีที่ได้รับการตรวจตราลงประเภท Non Immigant L-A แต่อยู่นอกเขตท้องที่ที่ได้รับอนุญาตให้ทำงาน หากตรวจสอบพบว่าทำงานผิดท้องที่ที่ได้รับอนุญาต ให้ดำเนินคดีตาม มาตรา 26 แห่ง พ.ร.บ.การทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2551 กรณีไม่ได้ทำงานให้ปล่อยตัวไป
 
สำหรับ กรณีพบมีบัตรประจำตัวคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทย หรือบัตรสีชมพู ตามที่ศูนย์จดทะเบียนแรงงานต่างด้าวแบบเบ็ดเสร็จ หรือ One Stop Service ออกให้ ให้ตรวจสอบว่าผู้ถือบัตรและบุคคลในบัตรเป็นคนเดียวกันหรือไม่ และหากพบว่าไม่ได้ทำงานกับนายจ้างตามที่จดทะเบียนไว้ ถือเป็นความผิดตามมาตรา 26 แห่ง พ.ร.บ.การทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2553 ส่วนบุคคลใดไม่มีเอกสารหลักฐานตามที่กล่าวมา ให้สงสัยว่าเข้าเมืองผิดกฎหมาย และหากพิสูจน์ว่าเป็นบุคคลที่เข้าเมืองโดยผิดกฎหมายให้จับกุมส่งตำรวจท้องที่เพื่อดำเนินคดีและผลักดันออกนอกประเทศต่อไป
 
(ไอเอ็นเอ็น, 13-11-2557)
 
โพลชี้คนพอใจสิทธิประกันสังคม ให้คะแนน 8.67 จากเต็ม 10 
 
วันที่ 14 พ.ย. รศ.ดร.เชษฐ รัชดาพรรณาธิกุล ประธานชมรมนักวิจัยไทยเพื่อความสุขชุมชน  เปิดเผยผลวิจัยเชิงสำรวจมาสเตอร์โพลล์ เรื่อง "แกนนำชุมชนคิดอย่างไรต่อ พ.ร.บ.ประกันสังคมของกระทรวงแรงงาน" กรณีศึกษาตัวอย่างแกนนำชุมชน จำนวนทั้งสิ้น 601 ชุมชน โดยผลการสำรวจพบว่า ร้อยละ 92.8 ระบุดีมากกว่าแย่ ในขณะที่ร้อยละ 7.2 ระบุแย่มากกว่าดี
 
นอกจากนี้ เมื่อคณะผู้วิจัยได้สอบถามแกนนำชุมชนต่อไปถึงความพึงพอใจในสิทธิประโยชน์ที่ประชาชนผู้ประกันตนจะได้รับจากกฎหมายประกันสังคมที่มีอยู่ใน สนช.ในเวลานี้ พบว่า การที่ผู้ประกันตนได้รับสิทธิป้องกันโรค เช่น วัคซีน ได้คะแนนความพึงพอใจสูงสุดเท่ากับ 8.67 คะแนน จากคะแนนเต็ม 10 คะแนน การที่กรรมการบอร์ดประกันสังคม ต้องแสดงบัญชีทรัพย์สินและเปิดเผยต่อสาธารณชน ได้ 8.60 คะแนน ผู้ประกันตนใช้สิทธิประโยชน์ประกันสังคมได้เต็มที่ และใช้สิทธิในประกันอื่นๆ ได้ด้วย ได้ 8.51 คะแนน
 
นอกจากนี้ กรณีอุบัติเหตุต้องรักษาพยาบาลนาน สามารถรับเงินทดแทนการขาดรายได้นั้น ได้ 8.43 คะแนน ลูกจ้างรายเดือน รายวัน รายชั่วโมง ได้รับความคุ้มครองสิทธิประโยชน์ ได้ 8.41 คะแนน ถ้านายจ้างเจอเหตุภัยพิบัติไม่สามารถประกอบการได้ จะได้รับการลดอัตราเงินสมทบ ได้ 8.33 คะแนน และถ้าทำร้ายตัวเอง สามารถรับสิทธิค่ารักษาพยาบาลได้นั้น ได้คะแนนความพึงพอใจเฉลี่ย เท่ากับ 7.42 คะแนนจากคะแนนเต็ม 10 คะแนน ตามลำดับ
 
อย่างไรก็ตาม เมื่อสอบถามความคิดเห็นของแกนนำชุมชนต่อ พ.ร.บ.ประกันสังคมฉบับที่กำลังรอพิจารณาอยู่ใน สนช. เปรียบเทียบกับ พ.ร.บ.ประกันสังคม ฉบับที่ใช้อยู่ในปัจจุบันนี้ พบว่า ตัวอย่างเกือบร้อยละ 93.2 คิดว่า พ.ร.บ.ประกันสังคมฉบับที่กำลังรอพิจารณาอยู่ใน สนช. ดีกว่า พ.ร.บ. ประกันสังคม ฉบับปัจจุบัน ในขณะที่ร้อยละ 6.8 ที่คิดว่า พ.ร.บ.ประกันสังคมฉบับที่กำลังรอพิจารณาอยู่ใน สนช. แย่กว่า พ.ร.บ.ประกันสังคม ฉบับปัจจุบัน
 
ประเด็นสำคัญที่น่าพิจารณาคือเมื่อสอบถามความคิดเห็นของแกนนำชุมชนต่อรัฐบาลในการให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาแรงงานนั้นพบว่า ประมาณครึ่งหนึ่งคือร้อยละ 51.6 ระบุคิดว่ารัฐบาลให้ความสำคัญมากพอแล้ว ในขณะที่ร้อยละ 32.9 ระบุยังไม่มากพอ และร้อยละ 15.5 ไม่ระบุความคิดเห็น
 
ทั้งนี้ แกนนำชุมชนได้ระบุปัญหาของกลุ่มผู้ใช้แรงงาน (ลูกจ้าง) ที่ควรต้องได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วน เรียงตามลำดับ ดังต่อไปนี้ อันดับที่หนึ่ง คือ ปัญหาสวัสดิการของลูกจ้าง/พนักงาน อาทิ ค่าครองชีพ / ค่ารักษาพยาบาล (ร้อยละ 64.1) อันดับที่สอง คือ ปัญหาการว่างงาน /ตกงาน /ไม่มีงานรองรับ (ร้อยละ 61.9) อันดับที่สาม คือ การถูกเอารัดเอาเปรียบจากนายจ้าง /การกดขี่ข่มเหง/ไม่ได้รับความเป็นธรรม (ร้อยละ 57.4) อันดับที่สี่ คือ ค่าแรงขั้นต่ำ /ค่าจ้าง/ค่าตอบแทนการทำงาน (ร้อยละ 56.9) อันดับที่ห้า คือ ปัญหาแรงงานเถื่อน /แรงงานต่างด้าว (ร้อยละ 47.6) และรองๆ ลงไป คือ หลักประกันการว่างงาน / กองทุนประกันสังคม (ร้อยละ 39.1) การพัฒนาทักษะฝีมือแรงงาน (ร้อยละ 28.5) และคุณภาพชีวิตในการทำงานของแรงงาน / ความปลอดภัยในการทำงาน (ร้อยละ 28.3) ตามลำดับ
 
(ไทยรัฐ, 14-11-2557)
 
พิษห้ามท้อง รพ.เด้งคนสั่ง ผอ.ราชวิถีแจง ตั้งกก.สอบด้วย
 
จากกรณีที่แผนกจ่ายยาของโรงพยาบาลราชวิถี ย่านอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ติดประกาศห้ามเจ้าหน้าที่หญิงท้อง โดยระบุว่าถ้าท้องให้ลาออกไป ซึ่งต่อมา นพ.อุดม เชาวรินทร์ ผอ.โรงพยาบาลราชวิถี ระบุว่าเป็นเพียงการตกลงภายในแผนก ซึ่งต้องการแก้ไขปัญหาพนักงานขาดแคลน เพราะมีพนักงานเป็น ผู้หญิงเกือบทั้งหมด แต่ไม่ใช่ประกาศของ โรงพยาบาล จนสั่งยกเลิกคำสั่งดังกล่าวพร้อมตักเตือนหัวหน้าส่วนงานแล้ว 
 
ความคืบหน้าล่าสุด เมื่อวันที่ 14 พ.ย. นพ.อุดม เชาวรินทร์ ผอ.รพ.ราชวิถี กล่าวว่า จากที่สั่งให้ยกเลิกคำสั่งดังกล่าวไปแล้วนั้น ยังมีคำสั่งสลับตำแหน่งของเจ้าหน้าที่ผู้ออก คำสั่งดังกล่าวไปอยู่ฝ่ายวิชาการ เพื่อสอบสวนข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น แต่ไม่ใช่เป็นการสอบสวน เพื่อเอาผิดใคร แต่จะสอบสวนเพื่อให้ได้ ข้อเท็จจริง ตามระเบียบของราชการ เพื่อให้รับทราบปัญหาที่เกิดขึ้น เพื่อสร้างแนวปฏิบัติให้เป็นมาตรฐานที่ตรงกัน เพราะตามข่าว ที่ออกมามีทั้งเรื่องจริง และเรื่องที่ไม่จริง ซึ่งสร้างความเสียหายให้กับบุคลากร ทั้งนี้ยังไม่แน่ใจว่าจะได้ข้อสรุปเมื่อไหร่
 
"เรื่องที่เกิด เกิดขึ้นในหน่วยย่อยของแผนกยา จึงทำเพียงสลับบุคคลดังกล่าวไปอยู่ฝ่ายวิชาการ เพื่อทำการสอบสวนข้อเท็จจริงเพื่อให้ความยุติธรรมแก่ทั้ง 2 ฝ่าย เนื่องจากข่าวที่ออกมามีทั้งที่เป็นจริง และไม่จริง เราเลย มาดูเพื่อความเป็นธรรม และเพื่อหาแนวปฏิบัติสำหรับหน่วย ปรับปรุงระบบการทำงาน และเพื่อการชี้แจงต่อหน่วยงานที่มีความเป็นห่วงในเรื่องนี้และถามมา" นพ.อุดม กล่าว
 
ทั้งนี้กรณีดังกล่าว สืบเนื่องจาก เมื่อวันที่ 9 พ.ย. มีการวิพากษ์วิจารณ์ในโลกออนไลน์ว่า มีโรงพยาบาลแห่งหนึ่งย่านอนุสาวรีย์ชัย สมรภูมิ ติดประกาศที่แผนกจ่ายยาของ โรงพยาบาลดังกล่าว มีใจความว่า "ประกาศ.... ตั้งแต่ 30 ต.ค.57-31 ธ.ค.58 เจ้าหน้าที่ผู้หญิงทุกท่านให้กินยาคุมกำเนิด (ห้ามท้อง) ถ้าท้องให้ลาออกไปเลย" โดยในประกาศดังกล่าว ยังให้เจ้าหน้าที่เซ็นชื่อรับทราบในแผ่นประกาศด้วย ซึ่งมีเจ้าหน้าที่ผู้หญิงเซ็นชื่อรับทราบกว่า 30 คน พร้อมกำกับวันเดือนปีที่ลงชื่อรับทราบไว้ด้วย จนทำให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างชัดเจน อีกทั้งขัดกับกฎหมายแรงงานที่อนุญาตให้ลาคลอดได้
 
(ข่าวสด, 15-11-2557)
 
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เผยแนวคิดดึงนักโทษพ้นคุกทำงานประมง
 
พลเอกสุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวถึงการแก้ปัญหาภาวะขาดแคลนแรงงานในกิจการประมง ว่าขณะนี้ มีแนวคิดเปิดโอกาสให้นักโทษในเรือนจำทั่วประเทศกลับคืนสู่สังคมในลักษณะมีงานทำโดยเป็นแรงงานประมง โดยเตรียมนำนักโทษชั้นดีที่กำลังจะพ้นจากเรือนจำเข้าสู่ภาคประมง คล้ายกับโครงการวิวัฒน์พลเมืองของกองทัพบก ที่เปิดโอกาสให้นักโทษได้คืนสู่สังคม เพราะคนเหล่านี้ส่วนใหญ่ต้องคดีอาญา และมักถูกสังคมปฏิเสธ ทำให้โอกาสมีงานทำเป็นไปได้ยาก จึงมอบหมายให้หน่วยงานของกระทรวงแรงงานไปศึกษาแนวทางก่อนนำไปสู่การปฏิบัติ
 
อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ประเทศไทยได้รับการติดต่อจากผู้แทนหลายประเทศ อาทิ บังกลาเทศ ศรีลังกา เวียดนาม อินโดนีเซีย เพื่อสอบถามความคืบหน้าในกรณีจะจัดส่งแรงงานประมงเข้ามาทำงานในประเทศไทย ซึ่งต้องพิจารณาว่าควรดำเนินอย่างไร
 
ด้าน นางเพ็ญทิพย์ พรจะเด็ด นายกสมาคมส่งเสริมผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมไทย และกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) กล่าวว่า แนวคิดของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานที่จะเปิดโอกาสให้นักโทษในเรือนจำทั่วประเทศกลับคืนสู่สังคมและมีงานทำ โดยเป็นแรงงานประมงถือเป็นสิ่งที่ดีมาก เนื่องจากงานประมง เป็นงานหนักและเสี่ยง ทำให้คนไทยไม่นิยมทำงานลักษณะนี้ จากข้อมูลของกระทรวงยุติธรรม พบว่า ปัจจุบัน มีนักโทษในเรือนจำกว่า 3 แสนคน ส่วนใหญ่ต้องคดีอาญาและหางานทำยาก อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าคนเหล่านี้สามารถนำมาฝึกฝนและพัฒนาได้
 
(สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์, 16-11-2557)
 
หวั่นเปิดเออีซี แรงงานไทย 24 ล.คน เสียเปรียบทั้งฝีมือ-ภาษา
 
พล.อ.สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน (รมว.รง.) กล่าวถึงนโยบายการเตรียมความพร้อมรับประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) ด้านแรงงาน ในปลายปี 2558 ว่า  ต้องยอมรับความจริงว่าภาพรวมยังไม่มียุทธศาสตร์ของชาติที่ชัดเจน  ทั้งนี้ โดยส่วนตัวมองว่าแรงงานจะเข้าสู่เอซีอีไม่ใช่แค่ฝึกทักษะฝีมือหรือพูดภาษาอังกฤษได้  หากเน้นเพียงสองทักษะนี้คงออกตัวไม่ทันชาติอื่นๆ ดังนั้น สิ่งที่ต้องคิดเมื่อเปิดเออีซีแล้วแรงงานนอกระบบ 24 ล้านคนจะทำอย่างไร เพราะคนกลุ่มนี้ยังไม่ได้รับการพัฒนาด้านทักษะฝีมือและภาษา ทั้งนี้ การเข้าสู่เออีซีจึงเป็นโอกาสที่มาพร้อมกับวิกฤติเนื่องจากการเป็นพันธมิตรกันในกลุ่ม 10 ประเทศ และคู่แข่งในคราวเดียวกัน 
       
รมว.แรงงาน กล่าวอีกว่า  ตนได้ให้นโยบายแก่ นายนคร  ศิลปอาชา   ปลัดกระทรวงแรงงาน ว่า ต่อไปคนไทยทุกคนต้องมีงานทำโดยต้องปรับเปลี่ยนทัศนคติการเลือกงานของคนไทยไปพร้อมกับการสร้างระบบที่รองรับการมีงานทำของคนไทยซึ่งต้องเข้าถึงได้ง่ายโดยมีฐานข้อมูลตำแหน่งงานที่ทันสมัย และมีอาคารสถานที่ที่เป็นศูนย์รวมของตำแหน่งงานที่มีการปรับเปลี่ยนข้อมูลให้ทันสมัยอยู่เสมอ  การรับสมัครและการช่วยเหลือให้ผู้ว่างงาน ผู้ถูกเลิกจ้างอย่างไม่เป็นธรรมหรือผู้ที่เรียนจบใหม่ได้มีงานทำ ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวยังไม่แน่ใจว่าจะได้ผลแค่ไหน  แต่จะมีการประเมินผลเป็นระยะเพื่อแก้ไขจุดอ่อนต่อไป
       
“วันนี้อนาคตของแรงงานนอกระบบน่าห่วง เพราะถ้าจะไปทำงานต่างประเทศก็ไม่ง่าย เพราะขาดทุนทรัพย์ หากจะทำงานในประเทศก็ไม่มีทักษะฝีมือเพียงพอ จุดนี้จึงเป็นช่องว่างให้ผู้ประกอบการรับแรงงานต่างด้าวเข้ามาทำงานเพราะแรงงานต่างด้าวสู้งานมากกว่า อยากให้ผู้บริหารกระทรวงแรงงานช่วยกันคิดรับมือกับโจทย์ใหญ่ข้อนี้”พล.อ.สุรศักดิ์ กล่าว
 
(ASTV ผู้จัดการออนไลน์, 17-11-2557)
 
รมว.ศึกษา สั่ง สอศ.เพิ่มสัดส่วนผู้เรียนสายอาชีพปี 58 ตั้งเป้าที่ 40:60
 
(17 พ.ย.) พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยถึงการเตรียมความพร้อมในการผลิตกำลังคนด้านอาชีวศึกษา เพื่อรองรับความต้องการแรงงานฝีมือในการพัฒนาประเทศ ว่า ตนให้ความสำคัญกับการเรียนอาชีวศึกษา เพราะเห็นว่าเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศ จึงได้มีนโยบายให้สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) เพิ่มสัดส่วนนักเรียนสายอาชีวศึกษาต่อสายสามัญให้สูงขึ้น ซึ่งปัจจุบันสัดส่วนอยู่ที่ประมาณ 36:64 แต่ในปีการศึกษา 2558 จะต้องเพิ่มสัดส่วนเป็น 40:60 และในปีถัดไปอาจขยับเป็น 45:55 และมีเป้าหมายให้ไปถึง 50:50 ในอนาคต ทั้งนี้ ตนเชื่อว่าการที่ สอศ.จัดการศึกษาในระบบทวิภาคีร่วมกับภาคเอกชนและสถานประกอบการ การที่ สอศ. เปิดหลักสูตร พรี - อาชีวะ เพื่อเตรียมความพร้อมและลบภาพลักษณ์ในเรื่องการก่อเหตุละเลาะวิวาท และรวมทั้งการเชิญ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีมาร่วมเป็นประธานเปิดงานอาชีวศึกษาทวิภาคีไทย ที่จะขึ้นในวันที่ 27 - 28 พ.ย. นี้ ที่อิมแพ็ค อารีน่า เมืองทองธานี ตนเชื่อว่าจะเป็นการปลุกค่านิยมและเป็นแรงกระตุ้นให้เด็กและเยาวชนให้ความสนใจมาเรียนอาชีวะเพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน
       
ด้าน นายชัยพฤกษ์ เสรีรักษ์ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (เลขาธิการ กอศ.) กล่าวว่า ขณะนี้สัดส่วนนักเรียนสายอาชีพต่อสายสามัญ อยู่ที่ 36:64 ซึ่งในปี 2558 ตั้งเป้าว่าจะเพิ่มสัดส่วนขึ้นอีก 5% เป็น 41:59 จากนั้นในปี 2559 จะเพิ่มสัดส่วนอีก 9% เป็น 50:50 ทั้งนี้ มีแนวโน้มว่า สอศ. จะทำได้ตามแผนที่วางไว้ เพราะที่ผ่านมาจำนวนนักเรียนเข้าศึกษาต่อสายอาชีพลดลงอย่างต่อเนื่อง แต่ในปี 2557 สอศ. สามารถทำให้จำนวนนักเรียนที่เข้าเรียนต่ออยู่คงที่ ไม่ลดลงเหมือนปีที่ผ่านๆ มาจึงมั่นใจว่า ในปี 2558 สอศ. จะสามารถทำให้นักเรียนมาเรียนต่ออาชีวะเพิ่มมากขึ้นได้ ซึ่งไม่เฉพาะแต่เด็กในระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) เท่านั้น แต่จะรวมถึงเด็กในระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) ด้วยซึ่งตั้งเป้าว่าจะเพิ่มจำนวนนักเรียน ปวส. ให้เพิ่มขึ้น 11%
       
“เรามีช่องทางที่คิดว่าจะทำให้จำนวนนักเรียนมาเรียนต่ออาชีวะเพิ่มมากขึ้นหลายโครงการ เช่น โครงการอาชีวะ 1 อำเภอ 1 แห่ง ซึ่งขณะนี้มีอยู่ 12 แห่ง จะเป็นจุดที่เพิ่มจำนวนนักเรียนอาชีวะมากขึ้นจำนวนหนึ่ง นอกจากนี้ ยังมีโครงการอาชีวศึกษาระบบทวิภาคี โดยมีเด็กเข้าร่วมโครงการแล้วกว่า 40,000 คน และในปี 2558 จะเพิ่มมากขึ้นไปอีก ซึ่งจะเป็นอีกหนึ่งจุดที่สามารถดึงเด็กมาเรียนเพิ่มขึ้นได้เช่นกัน เพราะการเรียนในรูปแบบทวิภาคีจะเป็นประโยชน์แก่นักเรียน ซึ่งจะทำให้เด็กทำงานเป็น มีงานทำ และมีรายได้ดีในอนาคต ขณะเดียวกัน จะมีการจัดอบรมระยะสั้นให้แก่ผู้ที่อยู่ในวัยแรงงานที่ทำงานอยู่แล้ว จากปีที่ผ่านมาเข้าอบรมแล้วประมาณ 8.9 แสนคน เป็น 1.5 ล้านคน ในปี 2558 เพื่อตอบโจทย์ความต้องการกำลังคนของภาคอุตสาหกรรม เพราะจะให้รอแต่การผลิตเด็กอาชีวะอย่างเดียวคงไม่เพียงพอ และไม่ทันกับความต้องการ” เลขาธิการ กอศ. กล่าว
 
(ASTV ผู้จัดการออนไลน์, 17-11-2557)
 
วิจัยพบสิทธิรักษาประกันสังคมห่วยสุด! ส่งเงิน รพ.บริหารความเสี่ยงเอง ทำรับบริการขั้นต่ำ
 
นพ.ยศ ตีระวัฒนานนท์ เมธีวิจัยอาวุโสด้านเศรษฐศาสตร์สาธารณสุข สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) กล่าวว่า จากการที่โครงการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ (HITAP) ทำการวิจัยในด้านสิทธิประโยชน์ด้านการรักษาพยาบาลกว่า 30 - 40 เรื่อง พบว่า ผู้ประกันตนในสิทธิประกันสังคมมีสิทธิด้อยกว่ากองทุนสุขภาพอื่นในประเทศทั้งสิ้น ทั้งกองทุนหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า กองทุนสวัสดิการข้าราชการ ซึ่งขณะนี้มีการตั้งคณะทำงานศึกษาแนวทางปฏิรูปกองทุนประกันสังคม และกองทุนเงินทดแทน มูลค่า 1.2 ล้านล้านบาทนั้น ถือเป็นเรื่องดีในการให้ความสำคัญกับการปฏิรูปกองทุน แต่การปฏิรูปกองทุนนั้น ควรทำในหลายๆ ด้าน ไม่เฉพาะแต่การทำให้เกิดความโปร่งใส ปลอดการแทรกแซงจากการเมือง หรือ การใช้เงินลงทุนให้มั่นคง แต่ควรให้ความสำคัญกับประสิทธิภาพและสิทธิประโยชน์ของผู้ประกันตนให้มากกว่านี้ เพราะเป็นเรื่องสำคัญของผู้ประกันตนแต่กลับถูกละเลยทำให้ผู้ประกันตนไม่สามารถเข้าถึงสิทธิของตนเองได้
       
นพ.ยศ กล่าวว่า ปัจจุบันการบริหารจัดการกองทุน ในแง่การรักษาพยาบาล ประกันสังคมจะใช้วิธีคำนวณเงินรายหัว และให้โรงพยาบาลไปบริหารความเสี่ยงทั้งหมดเองครั้งเดียว โดยไม่มีกระบวนการตรวจสอบหรือติดตามว่า เงินดังกล่าวมีการนำไปใช้เพื่อให้บริการผู้ประกันตนได้อย่างมีคุณภาพหรือไม่ ซึ่งจากที่ไม่มีกระบวนการตรวจสอบทำให้โรงพยาบาล โดยเฉพาะภาคเอกชน ไม่มีแรงจูงใจในการพัฒนาบริการในกลุ่มสิทธิประกันสังคม โดยให้บริการขั้นต่ำสุดของมาตรฐาน เช่น ยาต้องไม่ต่ำกว่าบัญชียาหลัก ก็จ่ายยาแต่เพียงบัญชียาหลักแห่งชาติ ทั้งที่จริงแล้วสามารถรับยาที่มากไปกว่ายาบัญชียาหลักฯได้ เพื่อประหยัดต้นทุน และยาบางรายการก็ได้รับสิทธิน้อยกว่า สิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า หรือ บัตรทอง เช่น ผู้ป่วยมะเร็งเม็ดเลือดขาว ซึ่งต้องใช้ยาเม็ดละแสนกว่าบาท ซึ่ง​บัตรทอง จะได้ยาฟรี สิทธิข้าราชการสามารถเบิกได้ ​ในขณะที่ประกันสังคมจะไม่ได้รับ เป็นต้น ซึ่งการบริหารจัดการแบบนี้ ยังทำให้​สถานพยาบาลไม่จัดบริการอย่างอื่น โดยเฉพาะการตรวจวินิจฉัยโรค การป้องกันส่งเสริมโรค ทั้งที่จำเป็น
       
“กองทุนประกันสังคม มีคณะกรรมการการแพทย์เพียงคณะเดียวที่ดูเรื่องสิทธิประโยชน์ โดยไม่มีการเปิดให้ภาคส่วนอื่นมีส่วนร่วมหรือทำประชาพิจารณ์ ในขณะที่บัตรทอง มีคณะอนุกรรมการพัฒนาชุดสิทธิประโยชน์ ซึ่งเปิดรับฟังความคิดเห็น รวมทั้งแต่ละปียังมีการสำรวจความพึงพอใจของประชาชน หน่วยบริการ และมีการเพิ่มสิทธิประโยชน์ตลอดเวลา ทำให้ปัจจุบันประกันสังคม ถือเป็นกองทุนที่มีการพัฒนาสิทธิประโยชน์น้อยที่สุด โดย​ประกันสังคม ยังไม่เคยมีข้อมูลว่า ผู้ประกันตนสามารถเข้าถึงสิทธิตนเองได้เท่าใด ได้รับบริการที่พึงพอใจ หรือ มีคุณภาพหรือไม่อีกด้วย ทั้งนี้ การมีคณะกรรมการปฏิรูปกองทุนฯ ถือเป็นสิ่งที่ดี แต่ขณะนี้วัตถุประสงค์การปฏิรูปมุ่งไปเพียงเรื่องการลงทุน การนำเงินกองทุนไปบริหารเท่านั้น จึงอยากให้มีการพัฒนาชุดสิทธิประโยชน์​ เพิ่มคุณภาพ ​และตรวจสอบคุณภาพด้วย ” นพ.ยศ กล่าว
 
(ASTV ผู้จัดการออนไลน์, 17-11-2557)
 
สคร.ขอดูแผนขึ้นเงินเดือนข้าราชการ ก่อนพิจารณาในส่วนของรัฐวิสาหกิจ
 
นายกุลิศ สมบัติศิริ ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) เปิดเผยว่า ขอดูแนวทางการปรับขึ้นเงินของข้าราชการก่อน จะสรุปออกมาอย่างไร เพื่อนำมาพิจารณาให้สอดคล้องกับเงินเดือนของพนักงานรัฐวิสาหกิจ หากเทียบเงินเดือนของข้าราชการชั้นผู้น้อยกับรัฐวิสาหกิจในระดับเดียวกัน พบว่ารัฐวิสาหกิจมีเงินเดือนสูงว่าข้าราชการ แต่รัฐวิสาหกิจยังมีเงินเดือนต่ำกว่าภาคเอกชน
 
สำหรับกรณีแผนล้างหนี้ของการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ในแผนฟื้นฟูที่ผ่านการพิจารณากระทรวงคมนาคม พูดถึงนำที่ดินมาแลกหนี้ด้วย แต่ สคร. จะขอรอดูแผนอย่างเป็นทางการก่อน จำนวนหนี้ที่ต้องการลดลงเท่าใด หลังจากนั้นกระทรวงการคลังต้องมาหารือกันภายในถึงความเป็นไปได้ และการประเมินราคาที่ดิน ซึ่งร.ฟ.ท.จะเร่งสรุปแผนฟื้นฟูส่งมาให้สคร. เพื่อนำเสนอไปยัง คณะกรรมการนโยบายและกำกับดูแลรัฐวิสาหกิจ (คนร.) หรือ ซูเปอร์บอร์ด ในเดือน ธ.ค.นี้
 
ด้านนายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กล่าวว่า เห็นด้วยกับแนวทางการปรับขึ้นเงินเดือนของข้าราชการ เพราะการปรับขึ้นเงินเดือนข้าราชการ มีส่วนสำคัญกระตุ้นเศรษฐกิจ ยิ่งเป็นการปรับให้ข้าราชการชั้นผู้น้อย เงินที่คนกลุ่มนี้ได้รับจะถูกนำมาใช้จ่ายทันที ซึ่งจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในด้านการบริโภคได้เป็นอย่างดี
 
สำหรับเงินที่จะนำมาใช้ในช่วงปีงบ 2558 นั้นสามารถนำมาจากงบกลางที่ตัดลดงบของหน่วยงานต่างๆ ในช่วงแปรญัตติ 16,800 ล้านบาท ส่วนในปีงบ 2559 ให้หน่วยงานต่างๆ ตั้งเบิกไว้ในงบประจำปีเกี่ยวกับเงินเดือนค่าจ้างของแต่ละหน่วยงานให้เพิ่มขึ้น ซึ่งการปรับขึ้นเงินเดือนครั้งนี้ปรับลดลงจากครั้งก่อนที่ศึกษาว่าจะขึ้น 8% ถ้าขึ้นตั้งแต่ต.ค. 2557 นั้นต้องใช้เงินประมาณ 5.6 หมื่นล้านบาท
 
(กรุงเทพธุรกิจ, 18-11-2557)
 
"ขรก.-ลูกจ้างชั้นผู้น้อย" 4 แสนรายเฮ ครม.ไฟเขียวปรับเพิ่มเงินค่าครองชีพ มีผลย้อนหลัง 1 ต.ค.57
 
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.)วันนี้(18พ.ย.) มีมติอนุมัติปรับเพิ่มเงินค่าครองชีพให้แก่ข้าราชการและลูกจ้างชั้นผู้น้อยที่มีรายได้ต่อเดือนไม่ถึง 9,000 บาท เพื่อให้รายได้ปรับเพิ่มขึ้นเป็น 10,000 บาท ส่วนกรณีของข้าราชการและลูกจ้างที่มีรายได้เกินกว่าเดือน 10,000 บาทอยู่แล้ว จะมีการปรับเพิ่มให้ แต่สูงสุดจะต้องไม่เกินเดือนละ 13,285 บาท ขึ้นอยู่กับฐานเงินเดือนของแต่ละบุคคล โดยให้ผลย้อนหลังตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.57 ที่ผ่านมา  ครอบคลุมข้าราชการและลูกจ้างกว่า 3 แสนคนทั่วประเทศ
 
วันนี้ (18 ต.ค.57)ณ ศูนย์แถลงข่าวรัฐบาล ตึกนารีสโมสร ทำเนียบรัฐบาล ภายหลังเสร็จสิ้นการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.)  ซึ่งมีพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี  เป็นประธานฯ ร้อยเอก ยงยุทธ มัยลาภ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี พร้อมด้วย พลตรี สรรเสริญ แก้วกำเนิด รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้แถลงผลการประชุมฯ สรุปสาระสำคัญ ดังนี้
 
รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้กล่าวว่า คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบในหลักการร่างระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการเบิกจ่ายเงินเพิ่มการครองชีพชั่วคราวของข้าราชการและลูกจ้างประจำของส่วนราชการ (ฉบับ ..) พ.ศ. …. ตามที่กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอ และให้ส่งคณะกรรมการตรวจสอบร่างกฎหมายและร่างอนุบัญญัติที่เสนอคณะรัฐมนตรีตรวจพิจารณา แล้วดำเนินการต่อไปได้
 
สำหรับสาระสำคัญของเรื่อง มีดังนี้ กระทรวงการคลัง เสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาว่า 1. สืบเนื่องจากนโยบายของรัฐบาลด้านที่ 10 การส่งเสริมการบริหารราชการแผ่นดินที่มีธรรมาภิบาลและการป้องกันปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบในภาครัฐ ข้อ 10.1 จัดระบบอัตรากำลังและปรับปรุงค่าตอบแทนบุคลากรภาครัฐให้เหมาะสมและเป็นธรรม สำนักงาน ก.พ. จึงได้จัดทำข้อเสนอเรื่อง การยกระดับรายได้ข้าราชการและเจ้าหน้าที่ของรัฐชั้นผู้น้อยให้นายกรัฐมนตรีพิจารณา โดยเสนอแนวทางดำเนินการ 2 แนวทางคือ 1) ปรับเงินเพิ่มการครองชีพชั่วคราว และ 2) ปรับบัญชีเงินเดือน ซึ่งในแนวทางการปรับเงินเพิ่มการครองชีพชั่วคราวของข้าราชการและเจ้าหน้าที่ของรัฐทุกประเภท ให้ กค. เสนอแก้ไขระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการเบิกจ่ายเงินเพิ่มการครองชีพชั่วคราวของข้าราชการและลูกจ้างประจำของส่วนราชการ พ.ศ. 2548 และที่แก้ไขเพิ่มเติม และนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาโดยเร็ว
 
2. โดยให้ระเบียบมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2557 เป็นต้นไป และมีการปรับเพดานเงินเดือนขั้นสูงจาก 12,285 บาท เป็น 13,285 บาท และปรับเงินเพิ่มการครองชีพชั่วคราวเพิ่มขึ้นจากอัตราเดือนละ 1,500 บาท เป็น 2,000 บาท แต่เมื่อรวมกับเงินเดือนแล้วต้องไม่เกินเดือนละ 13,285 บาท และกรณีที่มีรายได้ไม่ถึงเดือนละ 10,000 บาท ให้ได้รับเงินเพิ่มการครองชีพชั่วคราวเพิ่มขึ้นอีกจนถึงเดือนละ 10,000 บาท ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้พิจารณาเห็นชอบกับแนวทางตามที่สำนัก ก.พ. เสนอ
 
3. เพื่อให้สอดคล้องเป็นไปตามนโยบายของรัฐบาลและแนวทางที่นายกรัฐมนตรีเห็นชอบจึงได้ดำเนินการยกร่างระเบียบการคลังว่าด้วยการเบิกจ่ายเงินเพิ่มการครองชีพชั่วคราวของข้าราชการลูกจ้างประจำของส่วนราชการ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ขึ้น โดยได้กำหนดให้เบิกจ่ายตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2557 เป็นต้นไป
 
ร่างระเบียบมีสาระสำคัญ ดังนี้
 
1. กำหนดวันใช้บังคับระเบียบดังกล่าวตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2557 เป็นต้น
 
2. กำหนดให้ข้าราชการและลูกจ้างประจำที่บรรจุ หรือแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งที่กำหนดคุณสมบัติเฉพาะตำแหน่งต้องใช้ผู้สำเร็จการศึกษาระดับต่ำกว่าปริญญาตรี ที่มีอัตราเงินเดือนหรืออัตราค่าจ้างไม่ถึงเดือนละ 13,285 บาท ให้ได้รับเงินเพิ่มการครองชีพชั่วคราวเดือนละ 2,000 บาท แต่เมื่อรวมกับเงินเดือนหรือค่าจ้างแล้วต้องไม่เกินเดือนละ 13,285 บาท
 
3. กำหนดให้ข้าราชการและลูกจ้างประจำตามข้อ 2 ที่ได้รับเงินเดือนหรืออัตราค่าจ้างรวมกับเงินเพิ่มการครองชีพชั่วคราวไม่ถึงเดือนละ 10,000 บาท ให้ได้รับเงินเพิ่มการครองชีพชั่วคราวเพิ่มขึ้นจากเงินเดือนหรือค่าจ้างอีกจนถึงเดือนละ 10,000 บาท
 
4. กำหนดให้ลูกจ้างชั่วคราวที่กำหนดคุณสมบัติเฉพาะตำแหน่งต้องใช้ผู้สำเร็จการศึกษาระดับต่ำกว่าปริญญาตรี ที่มีค่าจ้างไม่ถึงเดือนละ 10,000 บาท ให้ได้รับเงินเพิ่มการครองชีพชั่วคราวเพิ่มขึ้นจากค่าจ้างอีกจนถึงเดือนละ 10,000 บาท
 
5. กำหนดให้ทหารกองประจำการที่ได้รับเงินเดือนในระดับ พ.1 ที่ได้รับเงินเดือนไม่ถึงเดือนละ 10,000 บาท ให้ได้รับเงินเพิ่มการครองชีพชั่วคราวเพิ่มขึ้นจากเงินเดือนอีกจนถึงเดือนละ 10,000 บาท
 
ทางด้านนายมนัส แจ่มเวหา อธิบดีกรมบัญชีกลาง เปิดเผยว่า จากมติ ครม.ในครั้งนี้จะมีข้าราชการและลูกจ้างได้รับสิทธิตามระเบียบนี้มีประมาณ 400,000 คน ซึ่งหลังจากระเบียบมีผลบังคับใช้ ส่วนราชการจะต้องออกคำสั่งให้ได้รับเงินเพิ่มการครองชีพชั่วคราว และขอเบิกเงินที่กรมบัญชีกลางหรือสำนักงานคลังจังหวัด ซึ่งกรมบัญชีกลางได้เตรียมการเพื่อรองรับการเบิกจ่ายเงินเพิ่มการครองชีพชั่วคราวฯไว้พร้อมแล้ว และการปรับเพิ่มรายได้ครั้งนี้เป็นไปตามคำแถลงนโยบายต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ของรัฐบาลเมื่อวันที่ 12 กันยายน 2557 ที่ว่าให้จัดระบบอัตรากำลังและปรับปรุงค่าตอบแทนบุคลากรภาครัฐให้เหมาะสมและเป็นธรรม ยึดหลักการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี การบริหารจัดการภาครัฐแบบใหม่ เพื่อให้สอดรับกับนโยบายดังกล่าว กรมบัญชีกลางได้เสนอเพิ่มค่าครองชีพแก่ข้าราชการขึ้น
 
(มติชน, 18-11-2557)

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท