คนเลยโวย กฟผ.มัดมือชกปักหมุด เตรียมสายส่งไฟจากลาว

วานนี้ (19 พ.ย.2557) ที่ศาลาประชาคม องค์การบริหารส่วนจังหวัดเลย การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยและ บริษัท เอ็นไวร์ไซน์ จำกัด บริษัทที่ปรึกษาด้านสิ่งแวดล้อมได้เปิดเวทีชี้แจงโครงการและรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ต่อขอบเขตและแนวทางการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้น (IEE)  โครงการระบบโครงข่ายไฟฟ้า 500 กิโลโวลต์ เลย2 (ท่าลี่) 3 – ขอนแก่น 4 (ส่วนที่พาดผ่านป่าอนุรักษ์โซน C) จำนวน 5.3 กิโลเมตร จากระยะทางทั้งหมด 196 กิโลเมตร ในพื้นที่เขตป่าสงวนแห่งชาติป่าดงขุนแคม ป่าโคกใหญ่ ป่าภูผาแง่มและป่าลาดค่าง ในเขตตำบลน้ำแคม อ.ท่าลี่ จ.เลย ป่าสวนแห่งชาติป่าโคกภูเหล็ก ต.กกดู่ อ.เมือง และป่าสงวนแห่งชาติป่าภูหัวหมาก ป่าภูทอกและป่าภูปอบิด ต.ชัยพฤกษ์ ต.นาดินดำ และต.น้ำสวย อ.เมือง จ.เลย

นายทรงฤทธิ์ นนทนำ ผู้ชำนาญการสิ่งแวดล้อม ตัวแทนจากบริษัท เอ็นไวร์ไซน์ จำกัด ได้ชี้แจงถึงขอบเขตและแนวทางการศึกษาข้อมูลผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้นในพื้นที่ดังกล่าว ในช่วงเดือนสิงหาคม 2557 – เดือน กรกฎาคม 2558 หลังจากนั้นจึงได้เปิดเวทีให้ประชาชนได้แสดงความเห็น

นายสำรวย ทองจันทร์ ตัวแทนชาวบ้าน ต.นาดินดำ ซึ่งจะถูกสายส่งไฟฟ้าแรงสูงพาดผ่าน กล่าวว่า ที่ผ่านมา ทาง กฟผ.ไม่ได้มีการชี้แจงให้ข้อมูลเกี่ยวกับโครงการดังกล่าวให้รับทราบเลย การทำรายงานการศึกษาดังกล่าว เป็นเหมือนการทำเพื่อให้ครบตามขั้นตอนของกระบวนการและกฎหมายเท่านั้น ยกเลิกไม่ได้ เท่ากับมัดมือชกให้ชาวบ้านยอมรับโครงการดังกล่าว

เขาบอกด้วยว่า หากจะรับฟังความคิดเห็นของชาวบ้านจริงๆ ก็ควรจะอยู่บนพื้นฐานความรู้ที่เท่ากัน แต่ตอนนี้เหมือนพูดคนละเรื่อง เพราะวันดีคืนดี เจ้าหน้าที่ กฟผ.ก็เอาหมุดไปปักในที่ดินของตน โดยที่ไม่ได้แจ้งอะไรเลย มาทำเพื่อให้เป็นไปตามกฎหมาย ตนเองรู้สึกหนักอกหนักใจ บางคนมีที่ดิน 3 ไร่ โดนเสาไฟพาดผ่านไปครึ่งหนึ่งก็ไม่เท่ากับว่าไม่สามารถทำประโยชน์อะไรได้เลย แล้ว กฟผ.จะเยียวยาความรู้สึกและจิตใจชาวบ้านอย่างไร

ด้านนายสายรุ่ง ฝั่งกาน รอง ผอ.สำนักงานการประถมศึกษาเขต 1 จ.เลย กล่าวว่า เรื่องมันเกิดขึ้นมาตั้ง 3 เดือนแล้ว ที่เจ้าหน้าที่ กฟผ.ได้เข้ามาปักหมุดในที่ดินของตนเองโดยที่ไม่แจ้งอะไรเลย ไม่มีการประชาสัมพันธ์ชี้แจงข้อมูลใดๆ และตอนนี้ก็ไม่มีข้อมูลที่ชัดเจนเกี่ยวกับการใช้ประโยชน์ในที่ดินที่เสาไฟแรงสูงจะพาดผ่านว่า ชาวบ้านจะยังสามารถใช้ประโยชน์ได้มากน้อยเท่าไหร่ และเท่าที่ทราบการใช้ พ.ร.บ.การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย พ.ศ.2511 เพื่อเข้ารอนสิทธิในที่ดินของชาวบ้าน ก็มีการจ่ายค่าชดเชยน้อยมาก รวมไปถึงข้อกังวลเรื่องผลกระทบสุขภาพของชาวบ้านที่อาศัยอยู่ใกล้ๆ เสาไฟแรงสูง ซึ่งในงานศึกษาของต่างประเทศ พบว่า มีผลต่อสุขภาพจริง อยากให้ทาง กฟผ.ชี้แจงให้ชัดเจนและต้องมีการศึกษาเรื่องผลกระทบต่อสุขภาพเข้ามา และพื้นที่ป่าอนุรักษ์ที่จะถูกตัดออกไปเป็นจำนวนมากและอาจจะเป็นสาเหตุให้สัตว์ป่าต้องสูญพันธุ์มากขึ้น พร้อมกับห่วงกังวลเรื่องผลกระทบของสายไฟแรงสูงต่อการท่องเที่ยวของจังหวัดที่กำลังส่งเสริมกัน เห็นว่ามันช่างเป็นการพัฒนาที่ขัดแย้งกันอย่างสิ้นเชิง

นายสีธาตุ สุทิน ตัวแทนชาวบ้านกกดู่ กล่าวว่า ตนเองมีที่ดิน 3 แปลง ปลูกยางพาราเป็นรายได้เลี้ยงครอบครัว 8 คนและที่ดินดังกล่าวจะถูกสายไฟแรงสูงพาดผ่านหมดทุกแปลง  ตอนนี้เจ้าหน้าที่ได้เอาสีแดงไปป้ายตามต้นยางพาราไว้หมดแล้ว ถ้าเป็นเช่นนี้จะเอาอะไรเลี้ยงครอบครัว และทราบว่า ที่ดินบางแปลงที่ไม่มีเอกสารสิทธิ์ กฟผ.จะไม่จ่ายค่าชดเชยอะไรให้เลย จึงขอเสนอให้ทาง กฟผ.เช่าที่ดินเป็นระยะยาวหรือเวนคืนที่ดินไปเลยน่าจะดีกว่าการจ่ายค่าลิดรอนสิทธิ์ เพราะยังไงก็ต้องเสียภาษีตลอดชีวิตรวมทั้งลูกหลานด้วย ถ้าจะให้ซื้อที่ดินใหม่ ก็ไม่มีศักยภาพแล้ว 

นอกจากนี้ยังมีตัวแทนชาวบ้านอีกหลายคนที่ได้แสดงความเห็นในทิศทางเดียวกันและตั้งคำถามว่า คนเมืองเลยจะได้ประโยชน์อะไรจากสายไฟฟ้าแรงสูงที่พาดผ่านพื้นที่ครั้งนี้ รวมถึงข้อกังวลเรื่องสุขภาพและสิทธิในที่ดินของตนเอง 

ต่อมา ตัวแทน กฟผ.ได้กล่าวอธิบายต่อที่ประชุมว่า คนจังหวัดเลยจะได้ไม่มีปัญหาไฟฟ้าดับหรือตกอีกต่อไป เพราะจะมีการเพิ่มกำลังวัตต์ในการจ่ายไฟเข้าระบบมากขึ้น และอธิบายถึงกระบวนการเกี่ยวการสำรวจและปักหมุดเสาไฟในที่ดินของชาวบ้าน และมีการปิดประชุมในเวลา 12.00 น. หลังเลิกการประชุมชาวบ้านจำนวนหนึ่งได้แจ้งต่อเจ้าหน้าที่ กฟผ.ว่า ขณะที่จัดเวทีรับฟังความเห็นอยู่นี้ มีเจ้าหน้าที่สำรวจของ กฟผ.ไปเรียกประชุมชาวบ้านและรวบรวมให้นำโฉนดที่ดิน บัตรประจำตัวประชาชนมาส่งในหมู่บ้านและทำให้ชาวบ้านเกิดความงุนงงและสับสนเป็นอย่างมาก และทำให้ชาวบ้านไม่สามารถมาร่วมเวทีวันนี้ได้ เนื่องจากเกิดเหตุการณ์ซ้อนกันในวันนี้  และเมื่อเสร็จเวทีทาง กฟผ.และบริษทที่ปรึกษาได้แจกผ้าห่มให้กับทางชาวบ้านที่มาร่วมงานเป็นที่ระลึกด้วย

สำหรับโครงการระบบโครงข่ายไฟฟ้า 500 กิโลโวลต์ เลย2(ท่าลี่) – ขอนแก่น4 เป็นส่วนหนึ่งของของโครงการพัฒนาระบบส่งไฟฟ้าจังหวัดเลย หนองบัวลำภู และขอนแก่น เพื่อรับซื้อไฟฟ้าจากประเทศลาว เพื่อเสริมความมั่นคงของระบบไฟฟ้าในภาคอีสานและส่งไปยังภาคกลาง ตามแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศปี 2555-2573 (PDP2010 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 3) โดยคณะรัฐมนตรีอนุมัติโครงการเมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน 2555 ซึ่งคาดว่าจะเป็นโครงการสายส่งไฟฟ้าแรงสูงที่ทาง กฟผ.จะรับซื้อไฟฟ้าจากเขื่อนไซยะบุรี ที่กำลังก่อสร้างกั้นในแขวงไซยะบุรี และเครือข่ายประชนไทย 8 จังหวัดลุ่มน้ำโขงได้ยื่นฟ้องศาลปกครองเกี่ยวกับการไม่ปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ ปี 2550

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท