Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

 

 

เบื้องหลังความคิดของปฏิบัติการไร้ความรุนแรงในสายที่มองว่าการไม่ใช้ความรุนแรงเป็นยุทธศาสตร์ [1] นั้นเรียบง่ายตรงไปตรงมา  หากจะสรุปสั้นๆ ก็คงจะพอสรุปได้ว่าการใช้ความรุนแรงไม่ใช่ทางเลือกของนักปฏิบัติการไร้ความรุนแรงสายยุทธศาสตร์เพราะนักปฏิบัติการไม่ใช้ความรุนแรงสายยุทธศาสตร์มองว่าการไม่ใช้ความรุนแรงนั้นมีโอกาสได้รับชัยชนะในประเด็นที่กำลังต่อสู้อยู่มากกว่าการใช้ความรุนแรง

จีน ชาร์ป นักวิชาการที่ศึกษาเรื่องการไม่ใช้ความรุนแรงและปฏิบัติการไม่ใช้ความรุนแรงเสนอว่าการไม่ใช้ความรุนแรงเพื่อตอบโต้กับการกดขี่และความรุนแรงที่รัฐใช้กับพลเมืองของตนสามารถทำให้ความรุนแรงนั้นย้อนกลับไปทำลายความชอบธรรมของรัฐแบบที่ชาร์ปเรียกว่า ‘ยิวยิตสูทางการเมือง’ (Political Jiu-Jitsu) ในหนังสือ The Politics of Nonviolent Action (1973)

ในบริบทการโค่นล้มเผด็จการร่วมสมัย เซอร์ดา โปโปวิช (หนึ่งในผู้ก่อตั้งกลุ่ม Otpor! ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการโค่นล้มรัฐบาลเผด็จการของประธานาธิบดีสโลโบดาน มิโลเซวิชในปี 2003 ด้วยปฏิบัติการไร้ความรุนแรงหลากหลายรูปแบบและ มลาเดน ยอคซิค ได้อธิบายเพิ่มเติมไว้ในบทความ ‘The Secret of Political Jiu-Jitsu’ [2] ว่าความลับของการใช้ยุทธศาสตร์ยิวยิตสูทางการเมืองอยู่ที่การฝึกฝนปฏิบัติการเหล่านี้ให้เป็นทักษะ 1) เตรียมตัวสำหรับการถูกกดขี่ โดยยกตัวอย่างจากการต่อสู้เพื่อสิทธิพลเมืองในสหรัฐอเมริกาซึ่งมีการฝึกฝนให้ผู้เข้าร่วมปฏิบัติการไร้ความรุนแรงเตรียมพร้อมกับการถูกกดขี่และการใช้ความรุนแรงจากรัฐทั้งในทางร่างกายและจิตใจ จนทำให้ผู้เข้าร่วมปฏิบัติการสามารถจัดการความกลัวและรับมือกับการใช้ความรุนแรงของรัฐได้ 2) เผชิญหน้ากับการถูกกดขี่ โดยรัฐอำนาจนิยมหรือรัฐเผด็จการ 3) ทำให้การกดขี่นั้นได้ผลในทางตรงกันข้าม ด้วยการทำให้รัฐสูญเสียความชอบธรรมจากการปราบปรามหรือใช้ความรุนแรงกับนักปฏิบัติการไร้ความรุนแรง เช่นการเผยแพร่วิดีโอที่ผู้ชุมนุมรายหนึ่งถูกตำรวจยิงเสียชีวิตในการประท้วงในอิหร่านในปี 2009

ในแง่นี้ จีน ชาร์ปจึงเลือกที่จะอธิบายโมฮันดาส คานธีในฐานะนักยุทธศาสตร์ทางการเมืองที่เลือกใช้ปฏิบัติการไร้ความรุนแรงในการต่อสู้เพื่อปลดแอกอินเดียจากเจ้าอาณานิคมอังกฤษ แทนที่จะอธิบายปฏิบัติการต่างๆ ของคานธีด้วยแนวคิดทางศาสนาหรือแนวคิดที่ว่าคานธีเป็นผู้ใฝ่สันติ (Pacifist) โดยธรรมชาติซึ่งฟังดูสูงส่งจนคนธรรมดาไม่อาจจับต้องได้ [3]

ในประเทศไทย หลังจากการเกิดรัฐประหารในเดือนพฤษภาคม 2557 การประท้วงเชิงสัญลักษณ์โดยหลายกลุ่มเกิดขึ้นแทบจะทันทีทันใด ไม่ว่าจะเป็นการอ่านหนังสือ 1984 การกินแซนด์วิช หรือการใช้โซเชียลมีเดียทำกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ แต่กระแสการต่อต้านรัฐประหารกลับแผ่วลงเมื่อเวลาผ่านไป เท่ากับว่าผู้ก่อรัฐประหารสามารถควบคุมประชาชนที่ไม่พอใจไว้ได้ด้วยการสร้างความกลัวให้เกิดขึ้นในสังคม

การแสดงออกของนักศึกษากลุ่มดาวดินทั้งห้าคนที่ใส่เสื้อยืดชูสามนิ้วต่อหน้าพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา แม้จะไม่มีนักวิชาการสันติวิธีคนไหนหรือกลุ่มใดออกมาอธิบายว่านี่คือปฏิบัติการไร้ความรุนแรงเชิงสัญลักษณ์ แต่ผลสะเทือนของปฏิบัติการในครั้งนี้กลับกว้างไกลกว่าที่หลายคนประเมินไว้ เพราะสิ่งที่นักศึกษาดาวดินได้กระทำคือการทำลายกำแพงแห่งความหวาดกลัว เหมือนที่เราได้เห็นการแสดงออกที่ตามมาอีกเป็นระลอกจากกลุ่มนักศึกษาธรรมศาสตร์หรือกระทั่งการชูสามนิ้วหน้าโรงหนัง

อย่างไรก็ตาม การแสดงออกหรือการประท้วงเชิงสัญลักษณ์ไม่ใช่ทั้งหมดของปฏิบัติการไร้ความรุนแรง การประท้วงเชิงสัญลักษณ์เป็นเพียงหนึ่งในแท็คติคที่ผู้ต่อต้านรัฐสามารถนำไปใช้เหมือนที่หน้ากากกาย ฟอว์คส์เป็นสัญลักษณ์ในการประท้วงของกลุ่ม Occupy Wall Street ในปี 2011 หรือริบบิ้นสีเหลืองของการปฏิวัติร่มในฮ่องกง ในที่นี้ จีน ชาร์ปได้จัดกลุ่มของปฏิบัติการไร้ความรุนแรงต่างๆ ออกเป็น 5 กลุ่มคือ 1) การประท้วงและการชักจูงโดยไม่ใช้ความรุนแรง เช่น การออกแถลงการณ์ การเล่นละครล้อเลียน การใช้สัญลักษณ์ต่างๆ ก็จัดอยู่ในกลุ่มนี้ 2) การไม่ให้ความร่วมมือทางสังคม เช่นการบอยคอตเจ้าหน้าที่รัฐในชีวิตประจำวัน (บางกรณีรวมถึงสมาชิกครอบครัวของเจ้าหน้าที่รัฐ) หรือการลาออกจากสถาบันทางสังคมต่างๆ ที่ต้องการการมีส่วนร่วมของสมาชิกในสังคม 3) การไม่ให้ความร่วมมือทางเศรษฐกิจ เช่นการไม่จ่ายภาษีหรือการถอนเงินจากสถาบันการเงินของรัฐ 4) การไม่ให้ความร่วมมือทางเศรษฐกิจด้วยการนัดหยุดงาน 5) การแทรกแซงโดยไม่ใช้ความรุนแรงทั้งในทางจิตใจ กายภาพ สังคม เศรษฐกิจ และการเมือง [4]

นักกิจกรรมหรือผู้ต่อต้านเผด็จการจำเป็นที่จะต้องวิเคราะห์เสาที่ค้ำยัน (Pillars of Support) รัฐหรือเผด็จการ แล้วเลือกใช้วิธีการต่างๆ ที่เหมาะสมกับบริบทในสังคมนั้นๆ เพื่อทำลายการสนับสนุนของเสาค้ำยัน เหมือนที่ครั้งหนึ่งประชาชนฟิลิปปินส์ ประชาชนชิลี และประชาชนเซอร์เบียเคยประสบความสำเร็จในการทำให้ทหารและตำรวจกลับมายืนข้างประชาชนและหันปากกระบอกปืนใส่ผู้นำเผด็จการ

ประกายไฟที่นักศึกษาดาวดินทั้งห้าคนจุดขึ้นอาจจะมอดดับไปหรือกลายเป็นเชื้อไฟที่ไหม้ลามอำนาจเผด็จการทหาร คำตอบอยู่ที่ก้าวต่อไปของพวกเราทุกคน

 

 

 




[1] ทบทวนวรรณกรรมปฏิบัติการไร้ความรุนแรง (nonviolent action) ในโลกตะวันตก: ระแสหลักการ ปฏิบัติการ และทฤษฎี, จันจิรา สมบัติพูนศิริ, รัฐศาสตร์สาร ปีที่ 34 ฉบับที่ 2 (2556)

 

[2] http://www.foreignpolicy.com/articles/2014/03/03/the_secret_of_political_jiu_jitsu

[3] Gandhi as Political Strategist, with Essays on Ethics and Poitics, Gene Sharp, 1979

[4] http://www.aforcemorepowerful.org/resources/nonviolent/methods.php

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net