Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

 


ประเด็นปัญหาค้างคาใจที่มีต่อคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญไทยในช่วงระยะเวลาที่ผ่านมาทำให้เกิดข้อถกเถียงตามมาว่าในโอกาสที่เรากำลังร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่ 20 กันอยู่นี้ว่าเราสมควรที่จะยังมีศาลรัฐธรรมนูญกันอยู่หรือไม่ ประการใด

บ้างก็ว่าสมควรมีอยู่ต่อไปแต่จำกัดบทบาทหน้าที่ลง บ้างก็ว่าให้มีคณะตุลาการรัฐธรรมนูญเหมือนที่เคยมีในอดีตก่อนรัฐธรรมนูญปี 40 บ้างก็สุดโต่งไปเลยว่าให้อำนาจศาลยุติธรรมไปเลยเหมือนในสหรัฐอเมริกาหรืออังกฤษ เป็นต้น

เรามาดูว่าข้อดีข้อเสียของแต่ละอย่างเป็นอย่างไร

1)ศาลรัฐธรรมนูญ(Constitutional Court) มีหน้าที่หลักในการวินิจฉัยชี้ขาดว่ากฎหมายในระดับพระราชบัญญัติใดขึ้นไปขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ หรือหน้าที่อื่นๆตามที่แต่รัฐธรรมนูญกำหนด เช่น รัฐธรรมนูญปี 40และ50 ของไทยเราก็ให้มีอำนาจวินิจชี้ขาดข้อขัดแย้งอำนาจหน้าที่ระหว่างองค์กรตามรัฐธรรมนูญ ยุบพรรค ฯลฯ โดยหลักการของการให้จัดให้มีศาลรัฐธรรมนูญนั้นเพื่อต้องการตั้งให้เป็นองค์กรอีกองค์กรหนึ่งต่างหากจากรัฐสภา รัฐบาลหรือศาลยุติธรรม เริ่มมีครั้งแรกในปี 1920 ที่ออสเตรีย จากนั้นประเทศต่างๆ จึงเริ่มทยอยนำไปใช้ เช่น เยอรมัน สเปน โปรตุเกส เกาหลีใต้ แอฟริกาใต้ ไทย ฯลฯ

ลักษณะเช่นนี้เป็นการรวมเอาอำนาจในการพิจารณาความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของกฎหมายที่ตราขึ้นโดยฝ่ายนิติบัญญัติไว้ที่องค์กรๆเดียวแทนที่จะกระจายไปยังหลายองค์กร ซึงเป็นการสร้างความเป็นเอกภาพในทางวินิจฉัยคดีรัฐธรรมนูญให้เกิดขึ้น ส่วนกฎหมายลำดับรองที่ออกโดยฝ่ายบริหารเช่นพระราชกฤษฎีกา กฎกระทรวง ระเบียบกระทรวง ข้อบัญญัติท้องถิ่น ฯลฯ ก็เป็นอำนาจของศาลปกครองในการที่จะทำหน้าที่วินิจฉัยในลักษณะของประเทศที่ใช้ระบบศาลคู่(Dual Courts System)นั่นเอง

สำหรับองค์ประกอบของคณะผู้พิพากษาหรือตุลาการก็แล้วแต่รัฐธรรมนูญของแต่ละประเทศจะกำหนดไว้ โดยทั่วไปมักจะคัดเลือกมาจากผู้ที่มีความเชี่ยวชาญหรือมีประสบการณ์ในทางกฎหมายมหาชนหรือการเมืองมากกว่าจะอาศัยเพียงผู้ผู้พิพากษาในศาลปกติที่มีความเชี่ยวชาญด้านคดีแพ่ง คดีอาญา ซึ่งเป็นกฎหมายเอกชน เนื่องจากคดีที่ขึ้นสู่การวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญจะเกี่ยวข้องกับการใช้อำนาจรัฐซึ่งเป็นมุมมองด้านการเมืองหรือกฎหมายมหาชนและจำเป็นต้องระเบียบวิธีพิจารณาคดีเป็นการเฉพาะที่แตกต่างจากการพิจารณาคดีทั่วไป

ข้อดีที่เห็นได้ชัดก็คือเป็นศาลที่ประกอบไปด้วยผู้เชี่ยวชาญเป็นการเฉพาะ ส่วนข้อเสียก็คือมักจะอิงไปในทางการเมืองเพราะเป็นการเข้าสู่ตำแหน่งภายหลังจากที่ประกอบอาชีพอื่นมาแล้ว ย่อมมีความใกล้ชิดหรือเกี่ยวพันทางการเมืองมาไม่มากก็น้อย

2)ศาลยุติธรรม(Court of Justice) มักใช้ในประเทศที่ใช้ระบบศาลเดี่ยว (Single Court System ) หมายถึงประเทศนั้นไม่มีการจัดตั้งศาลขึ้นมาพิจารณาคดีที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายมหาชนเป็นการเฉพาะ โดยให้อำนาจแก่ศาลยุติธรรมเป็นผู้มีอำนาจวินิจฉัยความชอบด้วยรัฐธรรมนูญนอกเหนือจากการพิจารณาคดีแพ่งคดีอาญาทั่วไป โดยทั้วไปจะเป็นหน้าที่ของศาลชั้นสูงสุดหรือ Supreme Court เช่น สหรัฐอเมริกา บราซิล ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น เดนมากร์ก นอร์เวย์ เป็นต้น

ข้อดีก็คือเป็นที่มั่นได้ว่าผู้พิพากษาในศาลยุติธรรมนั้นจะปลอดจากการแทรกแซงทางการเมืองค่อนข้างสูง ส่วนข้อเสียก็คือขาดความเชี่ยวชาญในด้านกฎหมายมหาชนและการเมือง จึงทำให้ในบางครั้งคำพิพากษาที่ออกมาจึงอยู่ในลักษณะที่เรียกว่า “เกิดผลประหลาด(absurd)”นั่นเอง ทั้งนี้ ก็เนื่องเพราะหลักคิดและนิติวิธีของกฎหมายมหาชนและกฎหมายเอกชนนั้นแตกต่างกัน(ดูเพิ่มเติมได้จาก http://www.pub-law.net/publaw/view.aspx?id=967http://www.pub-law.net/publaw/view.aspx?id=967)

3)คณะตุลาการรัฐธรรมนูญ(Constitutional Council)เป็นองค์กรทางการเมืองหนึ่งซึ่งอยู่ในรูปแบบของคณะกรรมการที่มีองค์ประกอบหลากหลาย มีทั้งที่มาจากการแต่งตั้งของฝ่ายการเมืองหรือโดยตำแหน่งทางการเมือง เช่น ประธานาธิบดี ประธานสภาผู้แทนราษฎร ประธานวุฒิสภา หัวหน้าพรรคฝ่ายค้าน ประธานศาล อัยการสูงสุด ฯลฯ เพื่อมิให้มองประเด็นต่างๆไปในทิศทางเดียวกันหมด ที่สำคัญก็คือเพื่อให้มีสถานะที่เป็นอิสระจากสภานิติบัญญัติ คณะรัฐมนตรีและศาล โดยมีหลักคิดที่ว่าไม่ให้มีองค์กรใดองค์กรหนึ่งขึ้นมามีอำนาจเหนือองค์กรอื่น เช่น หากให้ศาลเป็นผู้มีอำนาจ ก็ดูเสมือนว่าศาลเป็นผู้มีอำนาจสูงยิ่งกว่าฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติไป

ต้นแบบที่สำคัญ คือ ฝรั่งเศสที่เป็นประเทศแรกที่จัดตั้งคณะตุลาการรัฐธรรมนูญขึ้นมาในปี 1958 ซึ่งประเทศอื่นที่ใช้ระบบนี้ ก็คือ กัมพูชา เลบานอน คาซัคสถาน ศรีลังกา อัลจีเรีย เป็นต้น

ข้อดี คือ ทำให้มีองค์กรที่มีอำนาจชัดเจนและจำกัดเฉพาะเรื่องและสามารถถ่วงดุลการใช้อำนาจอธิปไตยของฝ่ายนิติบัญญัติ บริหารและตุลาการ ส่วนข้อเสีย  คือ ประชาชนมีโอกาสใช้สิทธิในการวินิจฉัยว่ากฎหมายใดขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญได้น้อยกว่าสองแบบแรกแต่ก็มีทางแก้ด้วยการบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญเป็นการเฉพาะ

สำหรับไทยเรานั้นใช้มาแล้วทั้งสามแบบข้างต้นคือใช้ศาลยุติธรรมในกรณีคำพิพากษาฎีกาในคดี   อาชญากรสงครามที่ 1/2489 ลงวันที่ 23 มีนาคม 2489 กรณี พรบ.อาชญากรสงครามฯเป็นกฎหมายอาญาที่มีลักษณะการบังคับใช้ที่มีผลย้อนหลังเป็นการต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญฯ ให้ถือว่าเป็นอันบังคับใช้ไม่ได้ ถือเป็นโมฆะ

ต่อมารัฐธรรมนูญฯ ปี 2489 ได้เริ่มมีการจัดตั้งคณะตุลาการรัฐธรรมนูญขึ้นมา และมีบ้างเว้นบ้างแล้วแต่รัฐธรรมนูญแต่ละฉบับจะบัญญัติไว้จวบจนมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญปี 40 และ 50 จึงได้มีการบัญญัติให้มีศาลรัฐธรรมนูญขึ้นมา ซึ่งผลงานก็ปรากฏดังเป็นที่รับทราบโดยทั่วไป

ไม่มีการเมืองการปกครองรูปแบบไหนที่ดีที่สุด ไม่มีการเมืองการปกครองของประเทศไหนดีที่สุดจนสามารถลอกเลียนแบบเอามาใช้ได้เลยโดยไม่ดัดแปลง แต่การเมืองการปกครองเป็นเรื่องของการลองผิดลองถูก หาข้อบกพร่องแล้วปรับปรุงใหม่ พบข้อบกพร่องใหม่ก็ปรับปรุงใหม่อีก กรณีการที่จะให้องค์กรใดมีอำนาจอะไรนั้น ก็อยู่ที่เราจะกำหนดขึ้นมาตามความเห็นของประชาชนผู้เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยว่าจะปรับปรุงแก้ไขในข้อบกพร่องใด

ผมในฐานะที่เป็นหนึ่งเสียงของอำนาจอธิปไตยที่ถึงแม้จะถูกระงับใช้บริการชั่วคราวก็ตาม ขอเสนอว่าผมเลือกการมีคณะตุลาการรัฐธรรมนูญที่มีอำนาจเพียงการวินิจฉัยเฉพาะความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของกฎหมายต่างๆที่ตราโดยฝ่ายนิติบัญญัติเท่านั้น โดยไม่มีหน้าที่อื่นนอกเหนือจากนี้  ดังเหตุผลที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้นครับ

 

 

เผยแพร่ครั้งแรกในกรุงเทพธุรกิจฉบับประจำวันพุธที่ 26 พฤศจิกายน 2557
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net