Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ไม่เพียงความกล้าหาญของนักศึกษากลุ่มดาวดินต่อหน้า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. ขณะกำลังกล่าวเปิดงานคืนความสุขให้คนไทยรวมใจสู้ภัยแล้งที่จังหวัดขอนแก่น เมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2557 ที่ผ่านมา ในวันต่อมาเรายังเห็นความกล้าหาญของชาวบ้านกลุ่มคนรักษ์บ้านเกิด ที่ต่อสู้คัดค้านการทำเหมืองแร่ทองคำในเขตตำบลเขาหลวง อ.วังสะพุง จ.เลย ชูสามนิ้วกลางทุ่งนาในฤดูเก็บเกี่ยว เพื่อสนับสนุนการกระทำของนักศึกษากลุ่มดาวดิน เพียงเพราะเป็นห่วงเป็นใยต่อความปลอดภัยในชีวิตของลูกๆ นักศึกษา ปฏิบัติการให้กำลังใจด้วยการชูสามนิ้วของชาวบ้านจึงเกิดขึ้นกลางทุ่งนาในฤดูเก็บเกี่ยวผลผลิต

ความน่าสนใจอยู่ที่สัญลักษณ์ชูสามนิ้วของชาวบ้าน มีความหมายลึกซึ้งกินใจกว่าของนักศึกษากลุ่มดาวดินยิ่งนัก เพราะนอกจากเป็นสัญลักษณ์ที่เห็นด้วยกับการต่อต้านรัฐประหารของนักศึกษาแล้วยังเป็นสัญลักษณ์ที่แสดงออกถึงความเป็นห่วงเป็นใยต่อความปลอดภัยในชีวิตของนักศึกษากลุ่มดาวดินที่ได้ลงมาร่วมกินนอน คลุกคลีกับชาวบ้านเป็นระยะเวลายาวนาน

การสนับสนุนความคิดและการกระทำของนักศึกษากลุ่มดาวดินของชาวบ้านเกิดขึ้นจากการกระทำของทหารในพื้นที่ที่เจอกับตัวเอง หลังจากค่ำคืนอันมืดมนของวันที่ 15 ต่อเนื่องจนถึงรุ่งเช้าของวันที่ 16 พฤษภาคม 2557 ที่กองกำลังอำพรางใบหน้ากว่า 300 คน นำโดยนายทหารทั้งในและนอกราชการ เข้ามาจับตัวชาวบ้านมัดมือมัดเท้า เตะ ต่อยและทุบตีด้วยท่อนไม้ พร้อมกับเอามีดและปืนจี้ชาวบ้านที่ขัดขืน เพื่อเปิดทางให้บริษัททุ่งคำ จำกัด ขนแร่ออกไปในยามวิกาล จนเป็นเหตุให้มีผู้บาดเจ็บกว่า 40 ราย ต่อมาหลังรัฐประหารทหารหนึ่งกองร้อยได้เข้ามาประจำการอยู่ในหมู่บ้านโดยอ้างว่าจะมาดูแลสอดส่องความปลอดภัยให้กับชีวิตและทรัพย์สินของชาวบ้าน แต่สิ่งที่ทหารกระทำกลับตรงกันข้ามเพราะเข้ามาสร้างกระบวนการบีบบังคับให้ชาวบ้านยอมรับการขนแร่รอบใหม่ของบริษัทฯ

ท่ามกลางการกล่าวหาและใส่ร้ายป้ายสีต่อนักศึกษากลุ่มดาวดินว่ามีไอ้โม่งอยู่เบื้องหลังปฏิบัติการชูสามนิ้วต่อหน้า พล.อ.ประยุทธ จันทร์โอชา จะมีสิ่งใดเล่าที่สูงส่งยิ่งกว่าเจตจำนงค์เสรีที่เป็นหลักคิดสำคัญที่นักศึกษากลุ่มดาวดินได้เข้ามาเรียนรู้และใช้ชีวิตกินอยู่หลับนอนร่วมกับชาวบ้านกลุ่มคนรักษ์บ้านเกิด สิ่งนี้คือหลักคิดสำคัญของชาวบ้านและนักศึกษากลุ่มดาวดินใช้ในการรวมตัวกันเพื่อสร้างพลังประชาชนต่อสู้คัดค้านเหมืองแร่ทองคำเป็นระยะเวลาไม่ต่ำกว่า 5 ปีที่ผ่านมา

สิ่งนี้เองคือหลักคิดพื้นฐานของระบอบประชาธิปไตย นอกจากนั้นแล้ว ปฏิสัมพันธ์ของนักศึกษากลุ่มดาวดินกับชาวบ้านในหมู่บ้านต่อต้านเหมืองแร่ทองคำยังประกอบไปด้วยหลักคิดประชาธิปไตยอีกสองส่วน คือ

ส่วนแรก คือตัวตนของประชาชนต้องเกี่ยวพันกับการเมืองในระบบไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง ตั้งแต่หน่วยพื้นที่ที่ย่อยที่สุดในระดับหมู่บ้าน ชุมชน ตำบล ท้องถิ่น ภูมิภาค เรื่อยมาจนถึงระดับประเทศ ซึ่งต้องจัดให้มีการเลือกตั้งทุกระดับ หมายถึง การเมืองการปกครองของไทยต้องสนับสนุนและพัฒนาประชาธิปไตยจากฐานล่างที่สุดด้วยการเลือกตั้ง ไม่ใช่ล้มการเลือกตั้งด้วยกระบอกปืนแล้วเปลี่ยนระบบเป็นการแต่งตั้งหรือสรรหาแต่อย่างใด และรัฐต้องสนับสนุนประชาชนในระดับบุคคล/ปัจเจก (เพื่อป้องกันกลุ่มอิทธิพลและกลุ่มผลประโยชน์ต่าง ๆ) ให้เกี่ยวข้องผูกพันกับการเมืองตั้งแต่ระดับฐานล่างสุดเพื่อให้สถาบันการเมืองเหล่านี้ใช้อำนาจรับใช้ประชาชนให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้

ส่วนที่สอง การเมืองภาคประชาชนหรือการเมืองบนท้องถนนหรือการเมืองนอกสภา (ตั้งแต่สภาท้องถิ่นไปจนถึงรัฐสภา) ที่รัฐจะต้องพัฒนา ส่งเสริม สนับสนุน และมีส่วนร่วมให้ดียิ่งขึ้นในการเสริมสร้างศักยภาพประชาชนให้มีพลังเทียบเท่าหรือมากกว่าการเมืองในระบบ เพื่อคานอำนาจการเมืองในระบบที่ฉ้อฉลและไม่ตอบสนองความต้องการของประชาชน โดยเฉพาะประชาชนซึ่งเป็นคนเล็กคนน้อย คนยากจน ซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ

สิ่งเหล่านี้เองคือปฏิสัมพันธ์ของชาวบ้านในหมู่บ้านต่อต้านเหมืองแร่ทองคำกับนักศึกษากลุ่มดาวดิน (ซึ่งจริง ๆ แล้ว สิ่งเหล่านี้เป็นพื้นฐานที่มีอยู่แล้วโดยธรรมชาติในชีวิตจิตใจของชาวบ้านอีกหลายหมื่นแห่งทั่วประเทศ รวมทั้งนักศึกษากลุ่มอื่น ๆ ด้วย)

ซึ่งการเข้ามายึดอำนาจของ คสช. นอกจากจะเป็นความผิดหวังของประชาชนอีกกลุ่มหนึ่งที่หวังว่า คสช. จะเข้ามาทุบทำลายประชาธิปไตยตัวแทนหรือประชาธิปไตยเลือกตั้งที่มีการโกงกินกันอย่างมโหฬาร เพื่อเข้ามาจัดระบบการเมืองใหม่ให้ปลอดจากสิ่งเหล่านี้ แต่ต้องผิดหวังเพราะ คสช. ได้เข้ามาทุบทำลายจนย่อยยับทั้งสามส่วนที่เป็นหลักการพื้นฐานของประชาธิปไตย นั่นคือ

หนึ่ง เจตจำนงค์เสรีหรือเสรีภาพของปัจเจกชนที่มีอยู่ในคนทุกคน ที่ คสช. ห้ามพูดห้ามเขียนห้ามแสดงออกถึงความเห็นที่แตกต่างจาก คสช.

สอง ประชาธิปไตยในระบบหรือประชาธิปไตยตัวแทนหรือประชาธิปไตยเลือกตั้ง ที่ คสช. จัดสรรอำนาจและวางโครงสร้างอำนาจในรัฐธรรมนูญชั่วคราวที่สะท้อนให้เห็นเพียงแค่ว่า “คอร์รัปชั่นในเสื้อตัวใหม่” เท่านั้นเอง

และสาม ประชาธิปไตยมวลชนนอกสภา ที่ชาวบ้านต่อต้านเหมืองแร่ทองคำจังหวัดเลยเจอกับตัวเอง คือ ห้ามพูดห้ามเขียนห้ามแสดงออกถึงการคัดค้านต่อต้านเหมืองทองคำ ไม่ว่าจะเป็นป้ายตามหมู่บ้าน และห้ามรวมกลุ่มทำกิจกรรมใด ๆ ทั้งสิ้น แต่กลับสนับสนุนทุกกิจกรรมที่บริษัทฯ กระทำ

ท้ายที่สุด นอกจากความรู้ที่ได้จากห้องเรียนประชาธิปไตยที่นักศึกษากลุ่มดาวดินได้ลงไปกินอยู่หลับนอนร่วมกับชาวบ้านแล้ว ความงดงามของนักศึกษากลุ่มดาวดินไม่เพียงการชูสามนิ้วเป็นสัญลักษณ์ต่อต้านรัฐประหารเท่านั้น แต่การชูสามนิ้วของชาวบ้านยังเป็นสัญลักษณ์ของความรัก ความห่วงใยที่พ่อ ๆ แม่ ๆ กลุ่มคนรักษ์บ้านเกิดมีต่อลูก ๆ ดาวดินด้วย ทั้ง ๆ ที่รู้ว่าการท้าทายอำนาจรัฐ ณ ขณะนี้ย่อมเป็นอันตรายต่อชีวิตไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง

 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net