Skip to main content
sharethis

ศาลปกครองสูงสุดพิพากษายืนให้เขตปทุมวัน-กทม.ใช้อำนาจตาม พ.ร.บ.ควบคุมอาคารภายใน 60 วัน กรณีปล่อยเอกชนสร้างตึกสูง ซ.ร่วมฤดี หลังสู้คดียืดเยื้อมา 6 ปี

2 ธ.ค.2557 ศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษาให้สำนักงานเขตปทุมวันและกรุงเทพมหานครใช้อำนาจตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 กรณีปล่อยให้เอกชนก่อสร้างอาคารสูงเกินกว่ากฎหมายกำหนด ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมของชุมชนที่พักอาศัยในซอยร่วมฤดี

ศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษายืนตามศาลชั้นต้นให้สำนักงานเขตปทุมวัน (ผู้ถูกฟ้องที่ 1)  และกรุงเทพมหานคร (ผู้ถูกฟ้องที่ 2)  ใช้อำนาจตามตรา 40 มาตรา 41 มาตรา 42 และมาตรา 43 แห่งพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2535 ดำเนินการกับบริษัท ลาภประทาน จำกัด และบริษัท ทับทิมทร จำกัด แล้วแต่กรณี ทั้งนี้ ภายใน 60 วัน นับแต่วันที่คำพิพากษาถึงที่สุด

นายเฉลิมพงษ์ กลับดี หัวหน้าศูนย์ทนายความอาสาเพื่อผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า "คำพิพากษานี้ถือเป็นบทเรียนชี้ชัดถึงปัญหาการก่อสร้างอาคารสูงในซอยแคบ รวมถึงซอยร่วมฤดีที่มีถนนความกว้างไม่ถึง 10 เมตรตลอดแนว  และกล่าวได้ว่าการต่อสู้ของประชาชนจะได้รับความเป็นธรรม ต้องต่อสู้กันอย่างถึงที่สุด และต้องตระหนักถึงปัญหาที่จะเกิดขึ้นหากไม่ได้รับการแก้ไขจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและอยากเรียกร้องให้มีระบบการตรวจสอบการทำงานของหน่วยงานที่รับผิดชอบให้ชัดเจนมากขึ้น"

นายแพทย์สงคราม  ทรัพย์เจริญ   ผู้ฟ้องคดีที่ 1 กล่าวเพิ่มเติมว่า  “การที่ กทม.อนุญาตให้มีการก่อสร้างอาคารสูงและมีขนาดใหญ่บนถนนที่มีความกว้างไม่ถึง 10 เมตรตลอดแนวได้นั้นขัดกับกฎกระทรวง ฉบับที่ 33 (พ.ศ.2535) ในข้อ 2 ออกตามความในพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 ถือว่าไม่คุ้มครองประชาชน เนื่องจากกฎหมายนี้มีเจตนารมณ์ เพื่อประโยชน์เกี่ยวกับความมั่นคงแข็งแรง ความปลอดภัย การป้องกันอัคคีภัย การสาธารณสุข การรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม การผังเมือง การสถาปัตยกรรม และการอำนวยความสะดวกแก่การจราจร จึงต้องออกกฎกระทรวงกำหนดความกว้างเขตทางสำหรับการก่อสร้างอาคารสูงดังกล่าว ดังนั้น จากคำพิพากษานี้ ข้าราชการกทม.และในภูมิภาคอื่นๆ พึงสังวรให้คำนึงถึงความปลอดภัยของประชาชนในการอนุมัติโครงการต่างๆ ด้วย ไม่ใช่เพียงคำนึงถึงผลทางเศรษฐกิจเท่านั้น”

ทั้งนี้ คดีดังกล่าวเริ่มต้นจากเมื่อวันที่ 17 กันยายน 2551  นายขวัญแก้ว วัชโรทัย  รองเลขาธิการพระราชวัง นายแพทย์สงคราม อาจารย์จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และประชาชนที่อยู่อาศัยในซอยร่วมฤดี เขตปทุมวัน กรุงเทพฯ รวม 24 รายมอบอำนาจให้นายเฉลิมพงษ์  กลับดี หัวหน้าศูนย์ทนายความอาสาเพื่อผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ยื่นฟ้องผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครและผู้อำนวยการเขตปุทมวัน ต่อศาลปกครองกลาง ในฐานะเป็นผู้บริหารราชการในราชการส่วนท้องถิ่นและเป็นผู้ใช้อำนาจหรือออกคำสั่งทางปกครองในเขตปกครองท้องที่สำนักงานเขตปทุมวัน กรุงเทพมหานครและยังเป็นเจ้าพนักงานท้องถิ่นตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 ซึ่งศาลปกครองกลางได้มีคำสั่งให้กรมที่ดินทำการชี้แจงต่อศาลว่า เขตทางถนนซอยร่วมฤดีตามระวางรูปถ่ายทางอากาศหมายเลข 5136 III 6618-4 มาตราส่วน 1:1,000 ตั้งแต่ถนนเพลินจิตจนถึงที่ดินแปลงโฉนดเลขที่ 534 เลขที่ 54 ซึ่งเป็นกรรมสิทธิ์ของบริษัท ลาภประทาน จำกัด มีเขตทางสาธารณประโยชน์บริเวณใดมีความกว้างน้อยกว่า 10.00 เมตรหรือไม่ ถ้ามีให้กำหนดจุดบริเวณที่มีความกว้างเขตทางน้อยกว่า 10.00 เมตร บนระวางรูปถ่ายทางอากาศดังกล่าว

ซึ่งต่อมากรมที่ดินชี้แจงว่า บริเวณที่ให้ตรวจสอบตามระวางรูปถ่ายทางอากาศฉบับดังกล่าว มีเขตทางสาธารณประโยชน์ที่มีความกว้างน้อยกว่า 10.00 เมตร จำนวน 8 จุด  ดังนั้น ศาลจึงมีคำสั่งให้กรมที่ดินรังวัดสอบเขตทางสาธารณประโยชน์ซอยร่วมฤดีในจุดที่กว้างน้อยกว่า 10.00 เมตร จำนวน 8 จุดดังกล่าวอีกครั้ง

ต่อมาวันที่ 23 กันยายน 2553  นายสนอง สุดโค นายช่างรังวัดชำนาญงาน จากสำนักงานที่ดินกรุงเทพมหานคร ได้พาคณะเจ้าหน้าที่มาทำการรังวัดสอบเขตทางของซอยร่วมฤดี ซึ่งเป็นทางสาธารณประโยชน์ตามคำสั่งศาลปกครองกลางเพื่อหาข้อสรุปว่าซอยร่วมฤดีมีความกว้างไม่ถึง 10 เมตรตลอดแนวจริง  ซึ่งในวันดังกล่าว นายแพทย์สงคราม ทรัพย์เจริญ และผู้ถูกฟ้องติดตามสังเกตการณ์อย่างใกล้ชิด ผลการรังวัดปรากฏว่า ซอยร่วมฤดีตั้งแต่ถนนเพลินจิตไปจนถึงบริเวณที่ดินของบริษัท ลาภประทาน จำกัดซึ่งปัจจุบันเป็นที่ตั้งของโรงแรมดิเอทัส บางกอกจำนวน 8 จุดที่ศาลมีคำสั่งให้รังวัดนั้นมีความกว้างไม่ถึง 10 เมตรทั้งสิ้น โดยเฉพาะบริเวณปากซอยร่วมฤดี 1 ขอบเขตทางของซอยร่วมฤดีมีความกว้างเพียง 9.15 เมตรเท่านั้น ซึ่งผลของการรังวัดในครั้งนี้จะถูกรายงานต่อศาลปกครองกลางเพื่อนำไปประกอบการพิจารณาคดีต่อไป

ต่อมาศาลปกครองกลางมีคำพิพากษาให้สำนักงานเขตปทุมวัน(ผู้ถูกฟ้องที่ 1)  และกรุงเทพมหานคร (ผู้ถูกฟ้องที่ 2)  ใช้อำนาจตามตรา 40 มาตรา 41 มาตรา 42 และมาตรา 43 แห่งพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2535 ดำเนินการกับผู้ร้องสอด คือ บ.ลาภประทาน จำกัด และบริษัท ทับทิมทร จำกัด แล้วแต่กรณี ทั้งนี้ ภายใน 60 วัน นับแต่วันที่คำพิพากษาถึงที่สุด แต่ฝ่ายกทม.อุทธรณ์จนมามีคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดให้ยืนตามศาลชั้นต้นในวันนี้

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net