Skip to main content
sharethis

สศช.รายงานที่ประชุม ครม. สังคมไทยไตรมาส 3/2557 การจ้างงานลด-ว่างงานเพิ่ม-แต่รายได้ยังเพิ่มขึ้น-ต้องเฝ้าระวังผิดนัดชำระหนี้ หนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ 9 หมื่นล้าน ยอดค้างชำระบัตรเครดิตเกิน 3 เดือนเพิ่มขึ้น 28.1% ความปลอดภัยในชีวิตทรัพย์สินดีขึ้น คดีอาญาลดลง 17.5% แต่ต้องระวังความรุนแรงจากการทวงหนี้นอกระบบ

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีให้สัมภาษณ์สื่อมวลชน ณ หน้าตึกบัญชากาาร1 ทำเนียบรัฐบาล 2 ธันวาคม 2557 (ที่มา: เว็บไซต์รัฐบาลไทย)

 

3 ธ.ค. 2557 – ในการประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 2 ธ.ค. ที่ประชุมมีมติรับทราบตามที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) รายงานภาวะสังคมไทยไตรมาสที่สามของปี 2557 โดยมีสาระสำคัญ ตามที่รายงานในเว็บไซต์ทำเนียบรัฐบาล ดังนี้

000

สาระสำคัญของเรื่อง

สศช. รายงานว่า ได้จัดทำเอกสารเผยแพร่รายงานภาวะสังคมไทยไตรมาสที่สามของปี 2557 เมื่อวันจันทร์ที่ 24 พฤศจิกายน 2557 ดังนี้

1. ความเคลื่อนไหวทางสังคมที่สำคัญไตรมาสที่สามของปี 2557

1.1 การจ้างงานลดลง อัตราการว่างงานเพิ่มขึ้น แต่รายได้ยังเพิ่มขึ้น ในไตรมาสที่สามของปี 2557 การมีงานทำลดลงร้อยละ 1.8 เป็นการลดลงของภาคเกษตรร้อยละ 17.5 เนื่องจากหลายพื้นที่ประสบภาวะขาดฝน และเกิดภาวะน้ำท่วมในบางพื้นที่ รวมถึงความไม่มั่นใจต่อราคาพืชเกษตร ส่วนการมีงานทำภาคนอกเกษตรเพิ่มขึ้นร้อยละ 9.6 ขณะที่อัตราการว่างงานเท่ากับร้อยละ 0.84 เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับร้อยละ 0.77 ในช่วงเดียวกันปีที่แล้ว แรงงานมีชั่วโมงการทำงานเฉลี่ย 44.9 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้วร้อยละ 0.9ค่าจ้างแรงงานและเงินเดือนภาคเอกชนที่ยังไม่รวมค่าล่วงเวลาและผลประโยชน์ตอบแทนอื่นที่หักด้วยเงินเฟ้อแล้วเพิ่มขึ้นร้อย 9.2

1.2 การก่อหนี้สินครัวเรือนมีแนวโน้มชะลอลง แต่ต้องเฝ้าระวังการผิดนัดชำระหนี้ที่เพิ่มขึ้น ในไตรมาสที่สามของปี 2557 ยอดคงค้างสินเชื่อเพื่อการอุปโภคบริโภคส่วนบุคคลของธนาคารพาณิชย์ยังชะลอตัวต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ 7 โดยมีมูลค่ายอดคงค้างสินเชื่อเพิ่มขึ้นร้อยละ 8.0 ชะลอตัวลงเมื่อเทียบกับร้อยละ 10.7 และ 8.8 ในไตรมาสแรกและไตรมาสที่สอง ที่ผ่านมา โดยสินเชื่อเพื่อซื้อที่พักอาศัย และการบริโภคอื่นๆ ยังเพิ่มขึ้น แต่สินเชื่อเพื่อซื้อรถยนต์ลดลงต่อเนื่อง การผิดนัดชำระหนี้สินเชื่อภายใต้การกำกับและบัตรเครดิตเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง แต่ยังไม่ส่งสัญญาณความเสี่ยงต่อภาพรวม โดยหนี้เพื่อการอุปโภคบริโภคที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้มีมูลค่า 90,157 ล้านบาทเพิ่มขึ้นร้อยละ 31.8 และคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 2.7 ต่อสินเชื่อรวม สินเชื่อภายใต้การกำกับผิดนัดชำระหนี้เกิน 3 เดือนเพิ่มขึ้นร้อยละ 48.9 และยอดคงค้างชำระบัตรเครดิตเกิน 3 เดือน เพิ่มขึ้นร้อยละ 28.1

1.3 ผู้ป่วยด้วยโรคเฝ้าระวังลดลง แต่ต้องเฝ้าระวังโรคปอดอักเสบ ไข้หวัดใหญ่ และมือ เท้า ปากในไตรมาสที่สามของปี 2557 จำนวนผู้ป่วยด้วยโรคเฝ้าระวังโดยรวมลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปี 2556 ร้อยละ 19.9 ขณะที่โรคที่แพร่ระบาดในช่วงปลายฝนต้นหนาวได้แก่ โรคปอดอักเสบ และโรคไข้หวัดใหญ่ พบผู้ป่วยเพิ่มขึ้น ส่วนใหญ่เป็นเด็กเล็กและผู้สูงอายุที่ป่วยเป็นโรคเรื้อรัง เนื่องจากมีภูมิคุ้มกันน้อย เกิดการติดเชื้อได้ง่าย และยังต้องเฝ้าระวังการระบาดของโรคมือ เท้า ปาก และโรคตาแดง ซึ่งพบผู้ป่วยเพิ่มขึ้นมาก

1.4 ค่าใช้จ่ายในการบริโภคบุหรี่เพิ่มขึ้น และต้องเฝ้าระวังบุหรี่ไฟฟ้าที่กำลังแพร่ระบาดในกลุ่มวัยรุ่นเมือง ในไตรมาสที่สามของปี 2557 ค่าใช้จ่ายในการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มีมูลค่า 27,907 ล้านบาท ลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปี 2556 ร้อยละ 0.6 ขณะที่ค่าใช้จ่ายในการบริโภคบุหรี่มีมูลค่า 5,308 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปี 2556 ร้อยละ 1.7 และต้องเฝ้าระวังบุหรี่ไฟฟ้าที่กำลังแพร่ระบาดในกลุ่มวัยรุ่นเมือง โดยกรุงเทพมหานครมีอัตราผู้ใช้บุหรี่ไฟฟ้าสูงกว่าพื้นที่อื่นๆ วัยรุ่นหรือวัยเริ่มทำงานอายุ 19-24 ปี มีแนวโน้มใช้มากกว่ากลุ่มอื่น และร้อยละ 94 ของผู้ใช้บุหรี่ไฟฟ้าเป็นผู้ที่เคยสูบบุหรี่ทั่วไปมาก่อน โดยส่วนใหญ่มีพฤติกรรมใช้บุหรี่ไฟฟ้าควบคู่ไปกับบุหรี่ทั่วไปมากกว่าใช้เพื่อลด ละ เลิกบุหรี่อย่างเด็ดขาด

1.5 ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินโดยรวมดีขึ้น แต่ยังคงมีการใช้ความรุนแรงในการทวงหนี้นอกระบบ โดยมีคดีอาญาโดยรวมลดลงร้อยละ 17.5 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปี 2556 คดีประทุษร้ายต่อทรัพย์ลดลงจากไตรมาสก่อนหน้าร้อยละ 11.2 โดยคดียาเสพติดมีสัดส่วนมากที่สุดร้อยละ 84.1 ของคดีอาญารวม ลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปี 2556 ร้อยละ 19.1 ขณะที่ขบวนการทวงหนี้นอกระบบที่มีการเรียกเก็บดอกเบี้ยในอัตราที่สูงและมีการใช้กำลังทำร้ายร่างกายลูกหนี้ ส่วนแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบที่นำไปสู่การลดความรุนแรงที่ถูกทวงหนี้ อาจดำเนินการได้โดยการให้ความช่วยเหลือลูกหนี้นอกระบบโดยจัดทนายความเข้ามาช่วยเหลือลูกหนี้เงินกู้นอกระบบที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม การกำหนดมาตรการสินเชื่อนาโนไฟแนนซ์ เพื่อแก้ไขปัญหาการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของประชาชน จัดให้มีหน่วยงานเฉพาะทำหน้าที่ในการแก้ไขปัญหาเรื่องหนี้สินภาคประชาชนทั้งระบบ รวมทั้งปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้จ่ายของประชาชนให้สามารถหลุดพ้นจากวงจรหนี้นอกระบบ

1.6 การเร่งรณรงค์ “เมา-ง่วง ไม่ขับ-ใช้ความเร็วตามที่กฎหมายกำหนด” อย่างต่อเนื่องเพื่อลดความสูญเสียจากอุบัติเหตุจราจรทางบก การเกิดอุบัติเหตุจราจรทางบกในไตรมาสที่สามของปี 2557 มีผู้เสียชีวิตลดลงร้อยละ 21.2 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปี 2556 เกิดอุบัติเหตุ 13,274 ราย ลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปี 2556 ร้อยละ 5.9 สาเหตุเกิดจากขับรถเร็วเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด การเกิดอุบัติเหตุในช่วงเทศกาลพบว่า “เมาแล้วขับ” ยังเป็นสาเหตุอันดับต้น เพื่อป้องกันการเกิดอุบัติเหตุใน เทศากาลปีใหม่ 2558 ควรรณรงค์ปลูกจิตสำนึกให้ความรู้ในการป้องกันตนเองให้ห่างไกลจากอุบัติเหตุ จัดตั้งจุดตรวจวัดแอลกอฮอล์ให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ จัดตั้งจุดบริการประชาชนเพื่อพักผ่อน จัดหน่วยในบริการตรวจรถบนต์ก่อนการเดินทาง จัดตั้งศูนย์รณรงค์การลดอุบัติเหตุและบริหารการจัดการจราจรในช่วงเทศกาลปีใหม่ 2558 รวมทั้งเร่งให้มีมาตรการลดพฤติกรรมเสี่ยงจากการใช้ความเร็วเกินกว่ากฎหมายกำหนด และเพิ่มบทลงโทษที่รุนแรงกับผู้ที่โทรศัพท์หรือดื่มสุราขณะขับรถและดำเนินคดีทันที

1.7 ร้านค้าออนไลน์: สู่การเติบโตอย่างปลอดภัย พฤติกรรมการซื้อสินค้าออนไลน์เพิ่มขึ้น โดยในปี 2555 มีมูลค่าพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ที่ธุรกิจขายแก่ผู้บริโภคเป็น 121,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 21 โดยมีการซื้อออนไลน์ผ่านคอมพิวเตอร์ร้อยละ 46.9 และผ่านอุปกรณ์เคลื่อนที่ร้อยละ 29.7

ส่วนใหญ่เป็นสินค้าแฟชั่น เครื่องสำอาง ยา อาหารเสริม ฯลฯ ปัจจัยที่สำคัญคือ โปรโมชั่นที่ถูกใจ มีข้อมูลเพียงพอต่อการตัดสินใจ และมั่นใจในความปลอดภัยของเว็บไซต์ ส่วนปัญหาที่พบคือ คุณภาพสินค้าไม่ตรงตามที่ระบุไว้ส่งสินค้าล่าช้า ความไม่รวดเร็วในการดาวน์โหลด และติดต่อกับร้านค้ายาก การแก้ปัญหาส่วนใหญ่นิยมร้องเรียนผ่านเว็บไซต์ของสินค้า/บริการนั้น ๆ แต่ร้อยละ 10 เลือกที่จะไม่ร้องเรียน ซึ่งต้องเร่งสร้างความเชื่อมั่นต่อร้านค้า ให้ความรู้และพัฒนาระบบร้องเรียน รวมทั้งกำกับดูแลให้สินค้าที่ขายออนไลน์มีคุณภาพและปลอดภัยโดยเฉพาะสินค้าสุขภาพ

1.8 การกำจัดขยะอิเล็กทรอนิกส์จากความก้าวหน้าเทคโนโลยีที่เพิ่มขึ้นจากข้อมูลของกรมควบคุมมลพิษ พบว่า ในปี 2556 ซากผลิตภัณฑ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์มีปริมาณสูงถึง 368,314 ตัน คิดเป็นร้อยละ 65.4 จากของเสียอันตรายจากชุมชนทั้งหมด เพิ่มขึ้นจากปี 2555 ที่มีปริมาณ 359,070 ตัน และจากข้อมูลของกรมโรงงานอุตสาหกรรมยังพบว่าในปี 2556 มีปริมาณขยะอิเล็กทรอนิกส์มากกว่า 20 ล้านเครื่อง และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นร้อยละ 10 ต่อปี ขณะที่ปัจจุบันประเทศไทยยังขาดสถานที่กำจัดที่ได้มาตรฐานและมีการดำเนินงานอย่างถูกต้อง โดยการสำรวจพฤติกรรมของผู้บริโภคในการจัดการซากผลิตภัณฑ์ฯ พบว่า กลุ่มครัวเรือนกว่าร้อยละ 25 จะเก็บไว้เอง และปัญหาที่น่าเป็นห่วงคือร้อยละ16 จะทิ้งซากผลิตภัณฑ์ ปะปนกับขยะทั่วไป ทำให้ซากผลิตภัณฑ์ได้รับการจัดการอย่างไม่เหมาะสมหรือถูกวิธี และไม่สามารถนำเอาวัสดุมาใช้ใหม่หรือรีไซเคิลได้อย่างเต็มประสิทธิภาพและอย่างปลอดภัย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net