Skip to main content
sharethis

พูดคุย "หนึ่ง" กับอดีตนักศึกษาปริญญาตรี ที่ได้สมัครเป็นทหารเกณฑ์ผลัดที่ 1/2557 ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม และเพิ่งปลดประจำการในช่วงสิ้นเดือนตุลาคม โดยเขาจะบอกเล่าถึงชีวิตทหารเกณฑ์และภารกิจประจำวันในช่วงที่เกิดการรัฐประหาร

ปฏิเสธไม่ได้ว่าภายหลังการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 เป็นต้นมา บทบาทของกองทัพในทางการเมืองและด้านอื่นๆ ได้เพิ่มขึ้นอย่างมหาศาล จำนวนงบประมาณและขนาดของกองทัพไทยก็เพิ่มขึ้นคู่ขนานกันไป ทั้งตัวเลขงบประมาณแต่ละปีของรัฐที่ถูกจัดสรรให้กับกระทรวงกลาโหมเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงหลายปีหลัง (ไทยพับลิก้า, 5 ก.พ. 56, ดูรายงานข่าว) หรือจำนวนนายทหารชั้นนายพลก็เพิ่มขี้นอย่างก้าวกระโดดในช่วงสามสี่ปีที่ผ่านมา (กรุงเทพธุรกิจ, 5 ต.ค. 57, ดูรายงานข่าว)

เช่นเดียวกับจำนวนทหารเกณฑ์ที่กองทัพตรวจเลือกไว้ในแต่ละปี ก็เป็นอีกประเด็นหนึ่งที่ชี้ให้เห็นบทบาทของกองทัพที่เพิ่มมากขึ้น จากข้อมูลจำนวนกำลังพลที่ถูกเกณฑ์เป็นทหารในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา มีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยจากปี 2547 มีทหารเกณฑ์จำนวน 80,345 คน ได้เพิ่มขึ้นเป็น 103,555 คน และ 94,480 คน ในปี 2555 และ 2556 ตามลำดับ (TCIJ, 28 พ.ค. 57, ดูรายงานข่าว)

หากพิจารณาข้อมูลการตรวจเลือกทหารกองประจำการปี 2557 ในช่วงต้นเดือนเมษายนที่ผ่านมา จะพบว่ามีชายไทยเข้ารับการตรวจเลือกจำนวน 550,854 คน และกองทัพได้คัดเลือกไว้เป็นทหารกองประจำการจำนวน 100,865 คน แยกเป็นเหล่าทหารบก 77,077 คน ทหารเรือ 16,000 คน และทหารอากาศ 7,788 คน โดยในจำนวนนี้มีผู้ที่ตั้งใจสมัครเป็นทหารจำนวน 33,644 คน (ไทยรัฐ, 18 เม.ย. 57, ดูรายงานข่าว)

ข้อมูลสถิติทหารเกณฑ์ในรอบ 10 ปี (2547-2556) ภาพประกอบโดยสำนักข่าว TCIJ

การเกณฑ์ทหารในเมืองไทยนั้น เป็นไปตามพระราชบัญญัติรับราชการทหาร พ.ศ. 2497 ซึ่งได้กำหนดหน้าที่นี้ให้ชายที่มีสัญชาติเป็นไทยตามกฎหมาย มีหน้าที่ต้องเข้ารับราชการทหารด้วยตนเองทุกคน โดยกำหนดให้ทหารกองเกินซึ่งมีอายุตั้งแต่สิบแปดปีบริบูรณ์และยังไม่ถึงสามสิบปีบริบูรณ์ เป็นผู้ที่อยู่ในระหว่างที่จะต้องเข้ารับราชการทหารกองประจำการ และมีกำหนดสองปีในการเข้าประจำการ

ขณะเดียวกันก็มีการกำหนดกรณีพิเศษที่ลดวันเข้าประจำการ โดยผู้ที่จบการศึกษาระดับปริญญาตรีหรือระดับปวส. หากใช้วิธีจับสลากจะมีกำหนดเป็นทหาร 1 ปี แต่ถ้าสมัครจะมีกำหนดเป็นทหารเหลือ 6 เดือน หรือผู้ที่มีวุฒิการศึกษาระดับปวช.หรือ ม.6 หากเลือกจับสลากจะมีกำหนดเป็นทหาร 2 ปี แต่ถ้าสมัครจะมีกำหนดเป็นทหาร 1 ปี

โดยปกติ การตรวจเลือกทหารกองประจำการนั้นจะมีขึ้นในช่วงเดือนเมษายนของแต่ละปี ก่อนทหารที่เข้าประจำการจะเข้าประจำตามหน่วยทหารต่างๆ ในต้นเดือนพฤษภาคม  ในปีนี้ ภายหลังจากการรัฐประหาร 22 พ.ค.57 โดยคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (คสช.) และการประกาศใช้กฎอัยการศึกทั่วประเทศ ได้ทำให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารมีอำนาจหน้าที่เหนือเจ้าหน้าที่ฝ่ายพลเรือนมาอย่างต่อเนื่องกว่าครึ่งปี และทำให้ทหารเกณฑ์ที่เข้าประจำการในช่วงปีที่ผ่านมา ถูกฝึกฝนและปฏิบัติงานภายใต้ “ช่วงเวลาไม่ปกติ” ที่แตกต่างจากทหารเกณฑ์ใน “ช่วงเวลาปกติ” อยู่บ้าง ประสบการณ์ของทหารเกณฑ์ในช่วงนี้จึงช่วยส่องสะท้อนสภาพของกองทัพไทยและปฏิบัติการของคณะรัฐประหารในบางส่วน

ผู้สื่อข่าวสัมภาษณ์ประสบการณ์ช่วง 6 เดือนของ "นายหนึ่ง" (นามสมมติ) อดีตนักศึกษามหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง ที่ภายหลังจบการศึกษาระดับปริญญาตรี ได้สมัครเข้าเป็นทหารกองประจำการในช่วงผลัดที่ 1/2557 ตั้งแต่ในเดือนพฤษภาคมเป็นต้นมา ก่อนเข้ารับการฝึกทหารใหม่และเข้าประจำการอยู่ที่ค่ายทหารในจังหวัดทางภาคเหนือ และเพิ่งปลดประจำการในช่วงสิ้นเดือนตุลาคมที่ผ่านมา

000

หนึ่งเริ่มต้นเล่าถึงการเข้ารายงานตัวในเช้าวันที่ 1 พ.ค.57 ว่าเขาได้รับเงิน 150 บาทจากเจ้าหน้าที่ เพื่อเป็นค่าเดินทางโดยรถบัสจากจุดรายงานตัวไปยังค่ายทหารแห่งหนึ่งในตัวจังหวัด ทหารใหม่จากต่างอำเภอจะทยอยเดินทางมารวมกัน จากนั้นจึงมีการจำแนกทหารเกณฑ์ไปประจำยังหน่วยทหารต่างๆ ซึ่งอยู่ในค่ายแห่งนั้น ทหารใหม่จะถูกให้กรอกประวัติส่วนตัว กรอกใบแจ้งย้ายที่อยู่ ใบแจ้งย้ายบัตรทอง เปิดบัญชีธนาคารใหม่ รวมถึงได้รับแจกจ่ายชุดทหาร และเครื่องใช้สำหรับทหารใหม่ ซึ่งข้าวของเหล่านี้จะถูกหักค่าใช้จ่ายจากเงินเดือนทหารเกณฑ์ในภายหลัง

ในวันต่อมา เหล่าทหารใหม่ถูกให้ปัดกวาดและดูแลความเรียบร้อยให้กับบริเวณหน่วยฝึกทหารใหม่ ที่จะถูกใช้ในการฝึกฝนตลอดสองเดือนต่อไป ขณะก็มีทหารเกณฑ์อีกบางส่วนที่เดินทางมาจากต่างจังหวัดเข้าสมทบ รวมแล้วมีทหารเกณฑ์ใหม่ในผลัดนี้เข้าในค่ายแห่งนี้ราว 80 นาย

หนึ่งเล่าถึงกิจวัตรประจำวันในช่วงของการฝึกทหารใหม่ว่า แต่ละวันต้องตื่นตั้งแต่ตี 5 ครึ่ง ตามระเบียบจะมีเวลาให้ทำธุระส่วนตัวราว 5 นาที แต่ทหารที่ดูแลก็มักชอบกลั่นแกล้ง โดยให้เวลาเพียง 30 วินาทีเท่านั้น ไม่ว่าทำอะไรเสร็จหรือไม่ ก็จะเป่านกหวีดเรียกรวม ก่อนจะมีการเช็คยอด และให้วิ่งออกกำลังกายประจำวัน ตามด้วยการทำความสะอาดบริเวณหน่วยฝึก เข้าแถวเคารพธงชาติ และรับประทานอาหารเช้า

ก่อนจะเริ่มการฝึกในแต่ละวัน ยังมีการรวมแถวเพื่อพูดคุย โดยมีหัวหน้าหน่วยฝึกทหารใหม่มากล่าวถึงกิจวัตรประจำวัน หรือเรียกว่า “รบจ.” (ระเบียบประจำวัน) พูดถึงกิจกรรมแต่ละวัน และทหารใหม่ต้องทำอะไรบ้าง

ในช่วงเย็นภายหลังการฝึกแต่ละวัน นอกจากการอาบน้ำและทำกิจวัตรส่วนตัวแล้ว บางเย็นยังมีการฝึก “ซ่อม” สำหรับวันที่การฝึกทำผิดพลาดเยอะหรือฝึกไม่ได้ดั่งใจครูฝึก ก่อนจะมีโปรแกรมเข้าห้องอบรมในช่วงหนึ่งทุ่มถึงสองทุ่มครึ่ง โดยแต่ละวันจะมีสิบเวรมาพูดถึงสถานการณ์ประจำวัน และกล่าวย้ำระเบียบต่างๆ ของทหารเกณฑ์ในค่าย เช่น ห้ามออกนอกค่ายไปไหน ห้ามหนีเที่ยว เป็นต้น

“วันๆ หนึ่งจึงมีกิจกรรมตลอดวัน ตั้งแต่ตี 5 ถึงสองทุ่มครึ่ง กว่าจะได้เข้านอนก็ราวสามทุ่ม คือกิจกรรมต่างๆ ที่เป็นส่วนรวมมันจะเยอะมาก ส่วนกิจกรรมส่วนตัวมันจะให้เวลาน้อยมาก นาทีเดียวบ้าง สามสิบวินาทีบ้าง ทันไม่ทันก็แล้วแต่”

หนึ่งเล่าด้วยว่าในช่วงของการฝึกทหารใหม่ ครูฝึกจะไม่ให้ทหารเกณฑ์มีเครื่องมือสื่อสารชนิดใดในครอบครอง หรือไม่ให้รับข่าวสารจากทางใดๆ ไม่ว่าทีวี วิทยุ หนังสือพิมพ์ หรืออินเตอร์เน็ท ทหารเกณฑ์ในช่วงฝึกจะไม่ให้ใช้โทรศัพท์มือถือ ไม่ให้ติดต่อหาญาติ โดยตั้งแต่เข้าประจำในค่ายทหารใหม่ๆ ก็จะมีการเก็บเงินและทรัพย์สินมีค่าทั้งหมด โดยนำฝากผู้ปกครอง หรือให้ฝากที่หน่วยทหารเอาไว้

สำหรับการฝึกนั้นมีตลอดทุกวัน ตั้งแต่จันทร์ถึงศุกร์ และครึ่งเช้าวันเสาร์ โดยมีวันอาทิตย์เป็นวันที่ได้พักผ่อน และอนุญาตให้ญาติมาเยี่ยมได้ การฝึกทหารใหม่ในช่วงแรกจะเน้นไปที่การฝึกท่ามือเปล่าเป็นหลัก ตั้งแต่ฝึกซ้ายหันขวาหัน ฝึกท่าวันทยาวุธ ฝึกท่าเดิน จังหวะเดิน เป็นต้น

การฝึกมักจะมีการลงโทษ หรือที่เรียกว่า “การซ่อม” ถ้าทำผิดหรือไม่ทำตามคำสั่งหัวหน้าหน่วยฝึก หนึ่งเห็นว่าการลงโทษของทหารมีลักษณะการใช้กฎหมู่ คือแม้คนๆ เดียวทำผิด อาจจะโดนลงโทษทั้งหมู่ ซึ่งมีตั้งแต่เรื่องแถวไม่ตรง หรือแม้แต่เดินเท้าไม่พร้อมกัน

ภาพประกอบจาก poltahan.blogspot.com

ขณะเดียวกันก็มีกรณีทหารเกณฑ์ที่โดนลงโทษเพราะฝ่าฝืนวินัยทหาร เช่น ทหารเกณฑ์คนหนึ่งสูบบุหรี่ในระหว่างช่วงการฝึกสองเดือนแรก ถูกลงโทษโดยให้ขยำบุหรี่ใส่น้ำแล้วบังคับให้ดื่ม หรือมีกรณีที่แสดงออกไม่พอใจครูฝึก ก็มีการลงโทษโดยพาไปขังในห้องมืดราวครึ่งวัน

กิจวัตรการฝึกประจำวันนี้ดำเนินไปราวครึ่งเดือน กระทั่งถึงวันที่ 20 พ.ค. (วันที่มีการประกาศกฎอัยการศึก) ความเปลี่ยนแปลงก็เกิดขึ้น

“ตอนนั้นก็หลับกันอยู่ มีการเป่านกหวีดตอนตีสามกว่าๆ ใกล้ตีสี่ ประกาศให้แต่งตัวพร้อมรบ ตอนแรกต่างคนต่างก็นึกว่าจะโดนซ่อมกันตอนกลางดึก ก็รีบแต่งตัวกัน ไม่เกิน 5 นาที ก็ไปรวมแถวอยู่ข้างล่างหน้าเสาธง ตอนนั้นมีการเบิกปืนมาให้ แต่ทหารใหม่ยังไม่มีใครได้ฝึกปืน ยังไม่เคยจับปืนกันมาก่อน แต่เขาให้เบิกอาวุธมาให้ พอรวมแถวได้ประมาณ 45 นาที ก็เริ่มมีการจัดกำลังคนไปเฝ้าบริเวณรั้วค่าย แบ่งเป็นจุดๆ จุดละ 2 นาย”

หนึ่งเล่าว่าตั้งแต่วันนั้น ก็จะมีการให้ทหารเกณฑ์ไปประจำอยู่โดยรอบค่ายทหาร แต่ละนายจะได้รับอาวุธปืนคนละหนึ่งกระบอก เป็นปืนชนิด M16A4 โดยไม่มีการบรรจุกระสุน แต่กระสุนจะอยู่ที่นายสิบถือเอาไว้ ในช่วงแรกกลุ่มทหารเกณฑ์แทบไม่มีใครทราบสาเหตุของปฏิบัติการเหล่านี้ ผู้บังคับบัญชาไม่มีการบอกถึงเหตุผลของการจัดกำลังไปยืนรอบค่าย หนึ่งเล่าว่าเขายังนึกว่าเป็น “การซ่อม” ทหารใหม่ แต่ทหารเกณฑ์บางส่วนก็มีการพูดคุยกันว่าน่าจะเกี่ยวกับเรื่องสถานการณ์ทางการเมือง

กระทั่งเช้าวันถัดมา ก็ได้เริ่มมีการขนอุปกรณ์ข้าวของ ทั้งถังเหล็กและเต้นท์ ออกไปใช้ตั้งด่านบริเวณข้างถนนใหญ่ด้านหน้าค่าย รวมทั้งมีการให้ทหารเกณฑ์เก่าหรือทหารเกณฑ์รุ่นพี่ ออกไปประจำอยู่ตามสถานที่สำคัญในเมือง หรือตามด่านทางหลวงต่างๆ

“ทหารเกณฑ์ใหม่ได้ถูกจัดให้ประจำอยู่บริเวณรอบค่าย และเดินลาดตระเวนรอบรั้วค่าย  โดยตอนแรกยังไม่ให้ทหารเกณฑ์ใหม่ไปประจำตามด่าน แต่ให้นายทหารชั้นประทวน และยศชั้นสัญญาบัตรเป็นคนเปลี่ยนเวรกันมาประจำด่าน ส่วนทหารเกณฑ์ได้ช่วยยกของไปจัดเป็นด่าน ช่วงแรกยังไม่ได้มีการตั้งเป็นด่านกลางถนน แต่กางเป็นเต้นท์อยู่ข้างๆ ถนน”

หนึ่งเล่าต่อว่าในเช้าวันรัฐประหาร (22 พ.ค.) ก็เริ่มมีการเอาเต้นท์ กรวย และหลอดไฟ ไปตั้งเป็นด่านตรวจบนถนนราว 3 จุดรอบค่ายทหาร ในตอนนี้ได้เริ่มมีการจัดกำลังทหารเกณฑ์ใหม่เข้าไปประจำด่าน ส่วนตามรั้วค่ายก็ยังมีการลาดตระเวนอยู่เช่นเดิม

กระทั่งในช่วงเย็น ภายหลังการรัฐประหาร หนึ่งสังเกตว่ามีรถสายพานของทหารวิ่งออกมาจากค่าย มากกว่า 10 คัน เป็นรถคล้ายรถลำเลียงคน โดยถูกนำไปประจำอยู่ที่ด่านถนนหน้าค่าย 2 คัน และไปประจำในจุดอื่นๆ อีก แต่เขาไม่ทราบว่ามีในจุดใดบ้าง รวมทั้งมีรถบรรทุกของทหาร วิ่งตามออกไปอีกจำนวนหนึ่งด้วย

“ตอนนั้นกลุ่มทหารเกณฑ์ก็ยังไม่รู้ว่ามีการรัฐประหาร มีการคาดเดาว่าเป็นการเตรียมกำลังพลอะไรสักอย่าง ไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงคำสั่งอะไร เพียงให้เรายืนประจำด่านเข้าเวรอยู่เหมือนเดิม จนกระทั่งดึกๆ จึงเริ่มทราบกันว่ามีเหตุการณ์รัฐประหาร เนื่องจากได้ยินนายสิบพูดคุยกัน”

หนึ่งเล่าว่าหน้าที่ของทหารประจำด่านในตอนกลางวัน คือการโบกรถให้ผ่านไปผ่านมา และถือปืนยืนประจำไว้ พร้อมกับการสังเกตรถที่วิ่งผ่านว่ามีคันไหนผิดสังเกตบ้าง เช่น มีการขนผู้โดยสาร มีการเคลื่อนขบวนโดยรถยนต์ ฯลฯ แต่ตอนกลางคืน ในช่วงที่มีการประกาศเคอร์ฟิว ตั้งแต่ราวเที่ยงคืน มีคำสั่งให้เรียกรถทุกคันที่ขับผ่านมาเวลานั้นให้จอด ไม่ว่ารถยนต์หรือจักรยานยนต์ แล้วให้สอบถามว่ามาจากไหน จะไปไหน และให้จดป้ายทะเบียนเอาไว้ทุกคัน หรือรถคันไหนมีพิรุธก็ให้เรียกจอด เพื่อลงมาสอบถามพูดคุยในบริเวณเต้นท์ หากคันไหนมีคนบนรถเป็นจำนวนมาก ไม่ว่าตอนกลางวันหรือกลางคืน ก็ให้เรียกเข้ามาสอบถามด้วย

สำหรับทหารเกณฑ์ที่ประจำด่านนั้น ให้มีการเปลี่ยนเวรกันอยู่ตลอดวัน โดยด่านหนึ่งจะมีทหารเกณฑ์ทั้งหมด 3 ชุด ชุดละ 4 นาย ประจำการอยู่ในด่านชุดละ 2 ชั่วโมง รวมๆ แล้วทำให้ชุดหนึ่งมีเวลาพักเพียง 4 ชั่วโมง ก็ต้องกลับมาประจำเวรใหม่ วนไปมาเช่นนี้ตลอดทั้งวันทั้งคืน

หนึ่งเล่าว่าทหารเกณฑ์หลายคนต้องอดนอนจนตาบวม บางทีในช่วงพัก 4 ชั่วโมงก็ไม่ได้พักดี บางคนถูกใช้ไปเอาน้ำ เอาข้าวที่โรงเลี้ยง หรือตักน้ำใส่ถังให้พวกนายสิบอาบ แต่ช่วงนั้นทหารใหม่ก็ไม่ต้องเข้ารับการฝึกแต่อย่างใด

ในช่วงสองสามวันแรกหลังการรัฐประหาร เนื่องจากต้องกินนอนอยู่บริเวณหน้าค่าย ทำให้หนึ่งสังเกตเห็นว่ามีการควบคุมตัวหรือจับกุมตัวคนข้างนอกเข้ามาในค่ายทหาร เพราะเห็นรถกระบะของค่ายมีคนอยู่ท้ายกระบะ และมีทหารถือปืนคุมเข้ามาในค่าย แต่ก็ไม่ทราบว่าคนที่ถูกนำตัวมาเป็นใครบ้าง และถูกคุมตัวไปไว้ที่ไหน นานแค่ไหน

หนึ่งให้ข้อมูลว่าในช่วงที่เขาอยู่เวร ไม่เคยมีการจับกุมคนที่เดินทางในช่วงหลังเวลาเคอร์ฟิวห้ามออกจากบ้าน แต่ในช่วงเวรผลัดอื่น เขาทราบว่ามีทหารไปเซ็นเอกสารการจับกุม แต่ก็ไม่ทราบรายละเอียดคนที่ถูกจับกุม

ในช่วงที่ตั้งด่านแรกๆ ยังมีประชาชนบางส่วนเอาอาหาร เครื่องดื่ม หรือเครื่องดื่มชูกำลังมาให้ โดยทหารที่ด่านก็จะถ่ายรูปคนที่ให้ข้าวของเอาไว้ด้วย เนื่องจากส่วนหนึ่งมีความกังวลว่าจะมีการใส่ของเป็นพิษลงไปในเครื่องดื่ม โดยแต่ละด่านจะมีกล้องไว้ประจำเต้นท์ทหาร

สำหรับรูปแบบการรับคำสั่ง หนึ่งเล่าว่าหัวหน้าชุดแต่ละชุดจะไปรับคำสั่งจากผู้บังคับการฯ ที่กรม และผู้บังคับการหรือรองผู้บังคับการฯ ก็จะมาตรวจและถ่ายรูปแต่ละหน่วย หรือแต่ละจุดตั้งด่าน ในช่วงแรกก็จะมีการออกมาตรวจบ่อยครั้ง โดยเฉพาะช่วงกลางคืน

หลายวันต่อมา หนึ่งเล่าว่ายังมีการนำบอร์ดรูปภาพบุคคลที่ถูกประกาศจับเพราะไม่ไปรายงานตัวกับ คสช. มาไว้ที่ด่านด้วย โดยมีคำสั่งว่าถ้าหากเจอบุคคลในภาพก็สามารถควบคุมตัวได้ นอกจากนั้นเขายังได้เห็นประกาศที่มีรายชื่อให้คนไปรายงานตัวกับทางคสช.ส่วนกลางวางไว้บนโต๊ะในด่านอีกด้วย แต่ไม่เคยเห็นรายชื่อคนที่ถูกติดตามให้รายงานตัวในระดับท้องถิ่น

รวมแล้วเป็นเวลาราวสองอาทิตย์ภายหลังการรัฐประหาร ที่ทหารเกณฑ์ใหม่ถูกให้ประจำตามด่านในลักษณะนี้ ภาพรวมในช่วงนั้นก็ไม่มีเหตุการณ์ความรุนแรงใดๆ เกิดขึ้นในบริเวณค่ายที่หนึ่งอยู่

สำหรับทหารที่เข้าเวรตามด่านในช่วงนั้น มีเงินเบี้ยเลี้ยงให้เพิ่มเติมอีกด้วย โดยให้ทหารใหม่คนละ 2,000 บาท (รวมตลอดสองอาทิตย์) ส่วนทหารรุ่นพี่หลายคนได้เงินจากการเข้าเวรในช่วงนั้นกันหลายหมื่นบาท จากปกติทหารเกณฑ์จะได้เงินเดือนๆ ละ 5,600 บาท และได้เบี้ยเลี้ยงอีกวันละ 15 บาท ในช่วงสถานการณ์ปกติ

หนึ่งเล่าต่อว่าหลังจากช่วงสองอาทิตย์กว่าๆ หลังการรัฐประหาร ทหารใหม่จึงได้กลับไปฝึกที่หน่วยฝึกทหารใหม่ตามกำหนด โดยที่ด่านตรวจยังมีอยู่เช่นเดิม แต่จัดกำลังให้นายสิบและทหารเกณฑ์รุ่นเก่าไปประจำอยู่แทน

การฝึกในช่วงที่สองนี้ได้เริ่มฝึกการยิงปืน และการสอนทฤษฎีทางทหาร ทั้งการปาระเบิด การยิงปืน การแทงดาบ แต่โดยส่วนใหญ่ก็ไม่ได้เป็นการสอนเจาะลึกอะไรนัก

ขณะเดียวกันยังมีการให้ท่องจำคำถาม-คำตอบ 100 ข้อ ที่จะใช้ออกสอบตอนฝึกเสร็จ เนื่องจากโดยปกติช่วงใกล้ฝึกเสร็จ คือราวสิ้นเดือนมิถุนายน จะมีการทดสอบ และการตรวจสอบโดยมีทหารระดับกองพลและกองทัพบกมาตรวจตรา ว่าการฝึกทหารใหม่ผ่านเกณฑ์หรือไม่ ถ้าไม่ผ่านอาจจะถูกสั่งให้มีการฝึกใหม่อีกหนึ่งเดือน

หลังจากช่วงสองเดือนของการฝึก ทหารเกณฑ์ก็จะถูกแยกจากหน่วยฝึกทหารใหม่ขึ้นไปตามกองร้อย หนึ่งได้ขึ้นไปที่กองร้อยบริการ ที่รับผิดชอบงานด้านพัฒนาค่าย งานที่ได้ทำในช่วงเดือนที่เหลือของเขา จึงเน้นไปที่งานตัดหญ้า พัฒนารอบค่าย ได้ออกไปร่วมปลูกต้นไม้ และร่วมทำกิจกรรมในวันสำคัญต่างๆ ซึ่งหนึ่งเล่าว่าเป็นช่วงที่โหดน้อยกว่าตอนฝึกสองเดือนแรก

ในช่วงขึ้นกองร้อยภายหลังฝึกเสร็จนี้ ทหารเกณฑ์ได้รับอนุญาตให้ใช้โทรศัพท์ได้ และอนุญาตให้ลากลับบ้านได้ครั้งละสามวัน แต่แม้จะได้ติดตามข่าวสารการเมืองบ้างในช่วงนี้ หนึ่งก็ไม่ทราบถึงสถานการณ์ภาพรวมมากนัก  อีกทั้งบริบทสังคมทหารเกณฑ์นั้น ก็แทบไม่ค่อยมีการพูดคุยกันในประเด็นการเมือง

หนึ่งตั้งข้อสังเกตว่าตั้งแต่ในช่วงราวเดือนกรกฎาคมเป็นต้นมา ผู้การฯ ซึ่งจะพูดชี้แจงและอบรมในช่วงรวมแถวทหารตอนเช้า ยังมีการกล่าวหลายครั้งถึงคำสั่งที่ให้ทหารแต่ละกองร้อยค้นหาข้อความที่ลักษณะหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ หรือข้อความที่มีความคิดทางการเมืองในเชิงลบกับการรัฐประหารหรือ คสช. ในโลกโซเชียลมีเดียหรือสื่อบนอินเตอร์เน็ทต่างๆ โดยให้ค้นหาให้ได้กองร้อยละ 300 ข้อความต่อวัน แล้วรวบรวมส่งที่กองบัญชาการของกรม แต่เขาไม่ทราบรายละเอียดและผลการดำเนินการในเรื่องนี้ เพราะไม่ได้ให้ทหารเกณฑ์ใหม่เป็นผู้ดำเนินการ

ความเปลี่ยนแปลงอีกประการหนึ่งภายหลังการรัฐประหาร คือภายในหน่วยทหารมีการเปิดเพลง “คืนความสุขให้ประเทศไทย” ที่แต่งโดยพล.อ.ประยุทธ์อยู่บ่อยครั้ง และฝึกให้ทหารเกณฑ์ร้องทุกวัน ทั้งในตอนเข้าแถวหน้าเสาธง ตอนอบรมช่วงค่ำ และแม้แต่ในตอนวิ่งออกกำลังกายในช่วงเช้า

ในช่วงเดือนหลังๆ นั้น ไม่ได้มีปฏิบัติการที่มีการใช้ทหารเกณฑ์ไปดำเนินการอีก แต่ช่วงผลัดเปลี่ยนกำลังเดือนกันยายน หนึ่งได้รับคำสั่งให้ออกไปเฝ้าในด่านตรวจทหารอีกแห่งหนึ่งในตัวเมืองเป็นเวลา 5 วัน โดยเป็นจุดที่มีการจัดกำลังพลดูแลในช่วงกลางคืน ด้วยรูปแบบคล้ายคลึงกันกับช่วงแรกที่เขาได้ประจำด่าน คือมีทหารเกณฑ์ใหม่ 4 นาย คอยผลัดเวรประจำด่านกันคนละ 2 ชั่วโมง ตั้งแต่ช่วงสามทุ่มถึงตีห้าในทุกๆ วัน

นอกเหนือจากช่วงนั้น กิจกรรมส่วนใหญ่ก็ดำเนินไปตามกิจวัตรปกติของทหารเกณฑ์ประจำกองร้อย จนกระทั่งหนึ่งปลดประจำการมาเมื่อสิ้นเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ตอนปลดได้มีพิธีลาธงชัยเฉลิมพลตามปกติ และมีการจัดงานเลี้ยงโต๊ะจีนร่วมกัน โดยทหารที่ปลดประจำการสมทบทุนคนละ 1 พันบาทร่วมจัดงาน และมีการจ้างนักร้องภายนอกมาร้องเพลงด้วย

หนึ่งกล่าวถึงความรู้สึกการเป็นทหารตลอดหกเดือนว่าเขารู้สึกอึดอัดกับชีวิตทหารเกณฑ์ เนื่องจากต้องอยู่ภายใต้คำสั่งและระเบียบวินัยตลอดเวลา ทั้งแทบไม่มีเวลาส่วนตัวในแต่ละวัน

“มันมีคำยอดฮิตที่เขาพูดกัน คือคำสั่งทหารมันเด็ดขาด แต่มันไม่แน่นอน หมายถึงคำสั่งทุกอย่างเราต้องทำหมด แต่พอทำไปสักพักปุ๊บ มันเปลี่ยนคำสั่งให้ทำอีกอย่างหนึ่ง พอเราทำตามคำสั่งแรกไปแล้ว ทำให้เราเหนื่อยเปล่า คือมันเปลี่ยนคำสั่งได้ตลอด แต่ยังไงเราก็ต้องทำไปก่อน แล้วเราก็ไม่มีสิทธิจะไปท้วงไปติง ไปเรียกร้อง ถ้าไปฟ้องกัน ก็โดนอีก” หนึ่งกล่าว

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net