Skip to main content
sharethis
สหราชอาณาจักรเป็นประเทศหนึ่งที่มีท่าทีที่ชัดเจนต่อการรัฐประหารของไทย ประชาไทคุยกับเอกอัครราชทูตเคนท์เกี่ยวกับการเข้าพบกับนายรัฐมนตรี ประชาธิปไตยของไทย และสถานการณ์สิทธิมนุษยชน
 
4 ธ.ค. 57 ตั้งแต่การรัฐประหาร 22 พ.ค. เป็นต้นมา สถานการณ์สิทธิมนุษยชนไทยนั้นแย่ลงเรื่อยๆ ในขณะที่ประชาชนในประเทศประท้วงต่อต้านรัฐประหารก็โดนการปราบปรามจากรัฐ ประชาคมโลกก็ส่งเสียงแสดงความไม่เห็นด้วยกับการรัฐประหาร และเป็นห่วงในสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในประเทศ 
 
สหราชอาณาจักรเป็นประเทศหนึ่งที่มีท่าทีที่ชัดเจนต่อการรัฐประหารของไทย โดยเมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา เอกอัครราชทูตสหราชอาณาจักรประจำประเทศไทย มาร์ค เคนท์ ได้เข้าพบนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชาและเรียกร้องให้ประยุทธ์ทำตามคำสัญญาในการคืนประชาธิปไตยให้ประเทศไทยภายในสิ้นปี 2558 และเคารพสิทธิมนุษยชน 
 
เคนท์ยังได้มาเยือนสำนักงานของประชาไทเมื่อวันที่ 27 พ.ย. ที่ผ่านมา เพื่อพูดคุยเกี่ยวกับบทบาทของสื่อในภาวะที่สื่อทำงานยากลำบากภายใต้รัฐบาลทหาร ในโอกาสนี้ ประชาไทจึงได้สัมภาษณ์เอกอัครราชทูตเคนท์เกี่ยวกับการเข้าพบกับนายรัฐมนตรี ประชาธิปไตยของไทย และสถานการณ์สิทธิมนุษยชน 
 
มาร์ค เคนท์ เล่าให้ประชาไทฟังถึงการเข้าพบกับ นายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา
 
คุณได้พูดคุยอะไรกับนายกฯ ประยุทธ์บ้าง ระหว่างการเข้าพบครั้งล่าสุด
 
เราได้แลกเปลี่ยนกันอย่างตรงไปตรงมา ผมอธิบายถึงจุดยืนของสหราชอาณาจักร และเขาก็อธิบายมุมมองของเขาเช่นกัน เรามีความสัมพันธ์อันดีกับประเทศไทยมานานกว่า 400 ปีแล้ว เราใช้ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขเหมือนกัน และความสัมพันธ์อันดีในหลายภาคส่วนของสังคม ตั้งแต่ด้านการศึกษาและวิชาการ ภาคเอกชน ซึ่งเรามีการค้าและการลงทุนกับประเทศไทย การท่องเที่ยวที่มีนักท่องเทียวหลายล้านคนต่อปี เราจึงมีความสนใจที่จะมีความสัมพันธ์อันดีกับประเทศไทย นั่นรวมถึงการมีการแลกเปลี่ยนทางความคิดที่ตรงไปตรงมาว่า เราเห็นสิ่งต่างๆ อย่างไร และเราเห็นอนาคตของความสัมพันธ์ระหว่างเราอย่างไร จากมุมมองที่กล่าวมา มันเป็นการหารือที่ดี  
 
คุณได้เรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีคืนประชาธิปไตยให้ประเทศไทยภายในปี 2558 อีกด้วย ทำไมถึงเป็น 2558 
 
มันไม่ใช่หน้าที่ของเราที่จะไปบอกให้ประเทศไทยทำอะไร เป็นเรื่องที่ประเทศไทยจะต้องตัดสินใจเอง แต่ผมคิดว่า ในสังคมใดก็ตามซึ่งกำลังพัฒนา โดยเฉพาะในภูมิภาคนี้ของโลกซึ่งกำลังพัฒนาอย่างรวดเร็ว อย่างในประเทศอาเซียนที่มีการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่รวดเร็วมาก ดังจะเห็นจาก ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนที่กำลังจะมาถึง การมีภูมิหลังทางการเมืองที่มั่นคงเป็นเรื่องสำคัญมาก 
 
อย่างที่วินสตัน เชอร์ชิลล์เคยกล่าวไว้ว่า "ประชาธิปไตยเป็นรูปแบบการปกครองที่เลวที่สุด หากไม่นับรวมการปกครองอื่นๆ ที่เคยลองผิดลองถูกมาก่อนหน้านี้" หรือพูดอีกอย่างก็คือ ไม่มีประชาธิปไตยไหนที่สมบูรณ์แบบ แต่มันเป็นระรบอบการปกครองที่เปิดโอกาสให้ทุกคนมีส่วนร่วมในการปกครองประเทศ ประชาธิปไตยไม่ใช่แค่การเลือกตั้ง ประชาชนไม่ควรจะออกสิทธิและส่งเสียงแค่ทุกช่วงไม่กี่ปีและรอคอยการเลือกตั้งรอบต่อไป ประชาธิปไตยคือสิ่งที่ทำให้เสียงของประชาชนถูกได้ยินอย่างต่อเนื่อง และรัฐบาลถูกตรวจสอบโดยประชาชน นั่นคือเหตุผลว่าทำไมเราถึงเห็นว่า ประชาธิปไตยนั้นเป็นสิ่งสำคัญ 
 
คุณมีข้อแนะนำหรือความกังวลอะไรอีกไหม ที่ได้บอกกับประยุทธ์ไป
 
เราได้พูดถึงการปฏิรูป ซึ่งนี่ก็นำมาสู่การที่ผมมาคุยกับคุณ [ประชาไท] ในวันนี้ แล้วยังมีบทบาทของนักวิชาการอีก คือถ้าคุณจะมีกระบวนการปฏิรูป มันสำคัญที่ประชาชนจะต้องได้เสนอความเห็นของพวกเขา นี่เป็นไปเพื่อการสร้างสรรค์และพัฒนา ให้ผู้คนได้พบปะแลกเปลี่ยนความเห็นในสิ่งต่างๆ และมันจะช่วยในการปรองดองระยะยาวอีกด้วย คุณไม่สามารถบังคับให้เกิดฉันทามติได้ ควรให้ประชาชนได้พบปะแลกเปลี่ยนความเห็น ซึ่งนั่นจะนำมาสู่ความปรองดองระยะยาว 
 
ฉันทามติเป็นสิ่งที่ไม่สามารถบังคับให้เกิดได้ คุณต้องทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนเกี่ยวกับความสนใจ ผลประโยชน์ และเป้าหมายของประชาชน บทบาทของสื่อมวลชนในสังคมนั้นสำคัญมากๆ นี่เป็นอย่างหนึ่งที่โดยส่วนตัวของผมนั้นเชื่ออย่างมากด้วย ว่าเราต้องทำให้เกิดการไหลเวียนของข้อมูลข่าวสารและความคิดอย่างอิสระ นั่นคือวิธีการที่จะทำให้สังคมเราพัฒนาได้ ดังจะเห็นได้ว่า เมื่อเรามองไปที่เศรษฐกิจของประเทศที่พัฒนาแล้ว ส่วนใหญ่เป็นเศรษฐกิจที่อยู่บนพื้นฐานของความรู้ทั้งนั้น บทบาทของสื่อในการตรวจสอบผู้มีอำนาจ ต่อต้านการทุจริต และการทำข่าวจาะ จึงเป็นสิ่งสำคัญมาก 
 
เรายังได้คุยกันถึงบทบาทของประชาคมโลก ที่คอยจับตามองประเด็นสิทธิมนุษยชน โดยเฉพาะในด้านเสรีภาพในการแสดงออก และเสรีภาพในการชุมนุมอยู่เสมอ นี่ไม่ใช่คอนเซปต์ที่ถูกกำหนดจากภายนอกต่อประเทศไทย แต่ประเทศไทยได้ลงนามในข้อตกลงของสหประชาชาติ ในฐานะมิตรของประเทศไทย เราจึงต้องคอยมองว่า สิทธิและพันธะสัญญาเหล่านี้ได้รับการคุ้มครองและปฏิบัติตามอย่างต่อเนื่อง 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net