Skip to main content
sharethis
สวิสประท้วงกฎหมายต้านคนต่างด้าว
 
2 พ.ย. 2014 ชาวสวิสหลายพันคน ออกมาเดินขบวนประท้วงไปตามท้องถนนในกรุงเบิร์น เพื่อคัดค้าน “อีโคป็อป”
 
ข้อเสนอที่จะให้มีการควบคุมชาวต่างชาติในประเทศ ข้อเสนอที่ได้ชื่อตามองค์กรนิเวศวิทยา และประชากร ซึ่งเป็นกลุ่มที่นำเสนอเรื่องนี้ขึ้นมา และทางการจะจัดให้มีการลงประชามติราวสิ้นเดือนพฤศจิกายนนี้ โดยแกนนำการประท้วง ระบุว่า สวิตเซอร์แลนด์ต้องการแรงงานต่างชาติ เพราะกำลังขาดแคลนทั้งแรงงานมีทักษะ และไร้ฝีมือทั่วประเทศ
 
เยอรมนี พัฒนาโรงงานอุตสาหกรรมแห่งอนาคต
 
2 พ.ย. 2014 lab สำหรับงานด้านการวิจัยและพัฒนา หรือ R&D ของ Germany ตั้งอยู่ในรัฐ Saxony ซึ่งเครื่องจักรเหล่านี้ ในอนาคตอาจจะถูกนำไปใช้จริงในโรงงานอุตสาหกรรมต่อไป
 
Marko Pfeifer จากแผนกประกอบชิ้นส่วน ของ Fraunhofer IWU อธิบายว่า เครื่องจักรเหล่านี้ พัฒนาขึ้นตามหลักการ 3E คือ Efficiency หรือประสิทธิภาพ, Energy หมายถึง การประหยัดพลังงาน และ Employment หรือการจ้างงานในรูปแบบใหม่ โดยกระบวนการผลิตที่ lab นี้กำลังคิดค้น จะซับซ้อนกว่าที่มีใช้ในโรงงานอุตสาหกรรมทั่วไปมาก
 
นอกจากนี้ ที่นี่ยังใช้เทคโนโลยีภาพเสมือนจริง 3 มิติ ช่วยออกแบบด้วย เพื่อให้นักวิทยาศาสตร์สามารถทดสอบสภาพแวดล้อมในการทำงานแบบต่างๆ ให้เหมาะสมที่สุด แต่ใช้ต้นทุนต่ำที่สุด และถ้าไม่พอใจในส่วนใด หรือทำอะไรผิดพลาด ก็แก้ใหม่ได้ง่ายๆ ด้วย
 
สถาบัน Fraunhofer นี้ เป็นความร่วมมือระหว่าง 70 องค์กรของ Germany และยังได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลด้วย ปฏิเสธไม่ได้ว่า อุตสาหกรรมของ Germany ก็เปรียบเสมือนกระดูกสันหลังของระบบเศรษฐกิจทั้งยุโรป ดังนั้นการลงทุนในโรงงานอัจฉริยะลักษณะนี้ ได้รับความสำคัญ และเชื่อว่า จะช่วยรักษาความสามารถในการแข่งขันของประเทศต่อไปได้
 
ผลสำรวจพบลูกจ้างเกือบ 30% ยอมรับลาป่วยทั้งที่สบายดี โดยให้เหตุผลง่ายๆว่าไม่ต้องการมาทำงาน
 
3 พ.ย. 2014 ผลสำรวจจัดทำโดยบริษัทแคเรียร์บิลเดอร์ เผยว่า ลูกจ้างเกือบ 30% ยอมรับว่า เคยลาป่วยทั้งที่สบายดี โดยให้เหตุผลง่ายๆว่าไม่ต้องการมาทำงาน ส่วนผู้ตอบแบบสำรวจอีก 29% ระบุว่า ต้องการหยุดงานเพื่อพักผ่อน ขณะที่ 19% ต้องการนอนหลับให้เต็มอิ่ม และอีก 11% บอกว่า สภาพอากาศที่ย่ำแย่เป็นเหตุผลที่ดีในการลาป่วย
 
นอกจากนี้ ผลสำรวจยังพบว่า บางองค์กรไม่เชื่อเรื่องการลาป่วยของพนักงานเสมอไป โดยมีนายจ้างกว่า 30% ตรวจสอบว่า ลูกจ้างป่วยจริงหรือไม่ ด้วยการขอใบรับรองแพทย์และโทรหาลูกจ้าง ขณะที่ 15% ลงทุนขับรถผ่านบ้านของพนักงานเพื่อดูว่าพนักงานนอนป่วยอยู่บ้านจริงหรือไม่
 
เยอรมนีโล่ง พนง.ขับรถไฟยุติประท้วงก่อนงานรำลึกกำแพงเบอร์ลิน
 
7 พ.ย. 2014 เคลาส์ เวเซลสกี ประธานสหภาพแรงงานจีดีแอล แถลงในวันศูกร์(7พ.ย.) ว่าจะเลิกประท้วงเร็วกว่ากำหนด หลังจากเหล่าพนักงานขับรถไฟเริ่มต้นผละงานจากรถไฟขนส่งสินค้าในวันพุธ(5พ.ย.) ก่อนขยายขอบเขตสู่ขบวนโดยสารในวันพฤหัสบดี(6พ.ย.) และตามกำหนดเดิมมีกำหนดสิ้นสุดในตอนเช้าวันจันทร์(10พ.ย.)
       
อย่างไรก็ตามด้วยถ้อยแถลงล่าสุดของนายเวเซลสกี ส่งผลให้การประท้วงใหญ่ครั้งนี้ซึ่งทำให้การเดินรถไฟของชาติเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดของยุโรปต้องเป็นอัมพาตในวงกว้าง จะยุติลงก่อนหน้างานเฉลิมฉลองครบ 25 ปีแห่งการพังทลายของกำแพงเบอร์ลินช่วงสุดสัปดาห์นี้ ที่คาดหมายว่าประชาชนเกือบๆ 2 ล้านคนจะมุ่งสู่เมืองหลวง โดยแน่นอนว่าหากยังมีการผละงานต่อไปสถานการณ์คงเลวร้ายเกินกว่าจะคาดเดา
       
ก่อนหน้านี้ ดอยท์เชบาห์น การรถไฟแห่งชาติเยอรมนี ยื่นฟ้องร้องทางกฎหมายเพื่อยับยั้งการผละงานประท้วงของพนักงาน อย่างไรก็ตามศาลแรงงาน 2 แห่งวินิจฉัยว่าการหยุดงานประท้วงเป็นการกระทำภายในขอบเขตสิทธิแรงงาน แต่อูลริช เวเบอร์ หัวหน้าฝ่ายบุคลากรของบริษัท บอกหลังมีความคืบหน้าล่าสดมาจากสหภาพว่า ถือเป็นพัฒนาการที่ดีสำหรับลูกค้าและพนักงาน
       
การผละงานประท้วงของสหภาพแรงงานจีดีแอล ครั้งที่ 6 นับตั้งแต่เดือนกันยายน ส่งผลกระทบกับขบวนรถไฟทางไกลและสายท้องถิ่น เช่นเดียวกับเครือข่ายเดินรถไฟ S-Bahn
       
สหภาพจีดีแอล กล่าวหาดอยท์เชบาห์นพยายามขัดขวางการเจรจาเรื่องข้อเรียกร้องของแรงงานที่ต้องการขึ้นค่าจ้างอีกร้อยละ 5 และปรับลดชั่วโมงทำงานลงจากสัปดาห์ละ 39 ชั่วโมง เหลือ 37 ชั่วโมง นอกจากนี้ แกนนำสหภาพยังต้องการเป็นตัวแทนของพนักงานกลุ่มอื่นๆภายในดอยท์เชบาห์น อาทิผู้ควบคุมรถไฟหรือพนักงานจัดเลี้ยง ไม่ใช่แค่กลุ่มพนักงานขับรถไฟเท่านั้น ทว่าฝ่ายบริการปฏิเสธข้อเรียกร้องดังกล่าว ส่งผลให้การเจรจารอบล่าสุดเมื่อวันอาทิตย์ (2 พ.ย.) มีอันต้องพังครืนลง 
 
ภาคแรงงานสหรัฐฯ ฟื้นยอดคนว่างงานต่ำที่สุดในรอบ 6 ปี
 
7 พ.ย. 2014 อัตราคนว่างงานสหรัฐฯยังลดลงอย่างต่อเนื่องในเดือนตุลาคมสู่ระดับร้อยละ5.8 แม้ว่าตัวเลขการจ้างงานจะน้อยกว่าเดือนที่ผ่านมา แต่ข้อมูลดังกล่าวก็ย้ำว่าเศรษฐกิจอเมริกามีความยืดหยุ่นพอจะรับมือกับอุปสงค์โลกที่อ่อนแอได้
       
แม้ภาพของภาคแรงงานกำลังเข้มแข็งขึ้นเรื่อยๆ แต่การเติบโตยังคงเอื่อยเฉื่อย บ่งชี้ว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ(เฟด) คงจะไม่รีบขึ้นอัตราดอกเบี้ยเร็ววันนี้
       
กระทรวงแรงงานอเมริกาเผยในวันศุกร์(7พ.ย.) ว่าเหล่านายจ้างมีการจ้างงานเพิ่มเติม 214,000 อัตราในเดือนตุลาคม และตัวเลขคนว่างงานร่วงจากร้อยละ 5.9 ของเดือนกันยายน มาอยู่ที่ร้อยละ 5.8 ต่ำที่สุดในรอบ 6 ปี โดยการที่มีคนเข้าสู่กำลังแรงงานมากขึ้น คือสัญญาณของความเข้มแข็งของตลาดแรงงาน
       
ขณะเดียวกันทางกระทรวงแรงงานก็มีการปรับแก้ตัวเลขของเดือนสิงหาคมและกันยายน ด้วยพบมีการจ้างงานเพิ่มขึ้น 31,000 อัตรา มากกว่ารายงานที่เผยแพร่ออกมาก่อนหน้านี้
       
"รายงานการจ้างงานในวันนี้ ยืนยันว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯยังคงเป็นจุดที่สว่างไสวท่ามกลางภาพเศรษฐกิจโลกที่เต็มไปด้วยหมอกควัน" ไมเคิล กริฟฟิน กรรมการผู้จัดการของซีอีบีในเวอร์จิเนียกล่าว ขณะที่ผลสำรวจรอยเตอร์ เหล่านักเศรษฐศาสตร์คาดหมายว่าในเดือนที่แล้วจะมีการจ้างงาน 231,000 อัตราและตัวเลขคนว่างงานจะทรงตัว
       
อย่างไรก็ตามหากเจาะลึกเข้าไปดูในรายละเอียดแล้ว จะพบว่ายอดการจ้างงานรายเดือนเกินกว่า 200,000 อัตราเป็นเดือนที่ 9 ติดต่อกันแล้ว ยาวนานที่สุดนับตั้งแต่ปี 1994 เพียงพอที่จะพยุงเศรษฐกิจให้เติบโตตามเส้นทาง หลังจากขยายตัวร้อยละ 3.5 ในไตรมาส 3
       
กระนั้นก็ดีข้อมูลที่สดใสของภาคแรงงานนี้ คงยังไม่เพียงพอที่จะโน้มน้ามให้ธนาคารกลางสหรัฐฯ(เฟด) เริ่มปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยก่อนกำหนดเดิมช่วงไตรมาส 2 ของปี 2015 เนื่องจากภาวะเงินเฟ้อยังอยู่ในระดับต่ำ
 
ชาวอินโดนีเซียอายุระหว่าง 15-24 ปีตกงานสูงถึง 22% นับเป็นแรงกดดันสำหรับรัฐบาลใหม่
 
10 พ.ย. 2014 ผลสำรวจล่าสุดชี้ กลุ่มคนหนุ่มสาวชาวอินโดนีเซียอายุระหว่าง 15-24 ปี ตกงานสูงถึง 22% นับเป็นแรงกดดันสำหรับรัฐบาลใหม่ของประธานาธิบดีโจโก วิโดโด ในการจัดหาตำแหน่งงานเพิ่มให้กับคนหนุ่มสาวในตลาดแรงงานของประเทศ
 
ปัจจุบัน กลุ่มนักศึกษาอาชีวะในอินโดนีเซียมีบทบาทสำคัญในการสร้างความเติบโตให้กับภาคการผลิตของประเทศ โดยในแต่ละปีมีนักศึกษาจบจากอาชีวศึกษา 1.3 ล้านคน และหลายคนได้งานทำตั้งแต่ยังเรียนไม่จบ
 
อย่างไรก็ตาม วัยรุ่นชายราว 1 ใน 5 และวัยรุ่นหญิงราว 1 ใน 3 ในอินโดนีเซียยังคงไม่มีงานทำ ทำให้เกิดความกังวลว่าอัตราการว่างงานที่รุนแรงของประเทศอาจนำไปสู่การทำลายค่านิยมทางสังคม และมักนำไปสู่ความรุนแรง ขณะที่บรรดานายจ้างระบุว่า กฎหมายที่เข้มงวดของประเทศทำให้จ้างคนได้ยากขึ้น โดยการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำนำไปสู่ค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นอย่างมหาศาลของบริษัท ทำให้การเติบโตของธุรกิจหยุดชะงัก และนำไปสู่การจ้างงานลดลง ด้านผู้เชี่ยวชาญมองว่า หน้าที่ในการแก้ปัญหานี้ไม่ควรอยู่ที่ภาคธุรกิจเพียงฝ่ายเดียว แต่ควรเป็นหน้าที่ของรัฐบาลในการสร้างตลาดงานที่สามารถรองรับจำนวนแรงงานได้มากขึ้น
 
ขณะที่เจ้าหน้าที่ฝ่ายการศึกษาของธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย หรือเอดีบี นายซาตารัม วีร์โยโน กล่าวว่า รัฐบาลจำเป็นต้องเพิ่มแรงจูงใจให้กับภาคอุตสาหกรรม เพื่อให้พวกเขาเต็มใจที่จะร่วมมือกับโรงเรียนอาชีวศึกษาหรือโปลีเทคนิค เพราะในท้ายที่สุด คนเหล่านี้จะกลายเป็นลูกค้า และเป็นผู้ที่นำนักศึกษาที่เรียนจบไปใช้งาน
 
ทั้งนี้ นักวิเคราะห์มองว่า การแก้ปัญหาอัตราการว่างงานสูงของคนหนุ่มสาวในอินโดนีเซียจำเป็นต้องร่วมมือกันหลายมิติ ทั้งจากภาครัฐ อุตสาหกรรม และการศึกษา
 
สื่อเผยเวียดนามเข้าร่วมห่วงโซ่การผลิตของโบอิ้ง-แอร์บัส
 
12 พ.ย. 2014 สำนักข่าวเวียดนามเน็ต บริดจ์ รายงานว่า เวียดนามได้เข้าร่วมในห่วงโซ่การผลิตระดับโลกของโบอิ้งและแอร์บัส ซึ่งเป็นผู้ผลิตอากาศยานชั้นนำของโลก โดยดำเนินการจัดหาอุปกรณ์และชิ้นส่วนราคาถูก
 
รายงานที่อ้างคำพูดของผู้บริหารระดับสูงของบริษัทระบุว่า เอ็มเอชไอ แอโรสเปซ เวียดนามที่เป็นโรงงานของมิตซูบิชิ เฮฟวี อินดัสตรีส์ (MHI) ซึ่งตั้งอยู่ที่เขตอุตสาหกรรมธางลองในเมืองฮานอย จะเป็นผู้ประกอบชิ้นส่วนประตูผู้โดยสารของเครื่องบินรุ่นโบอิ้ง 777
 
ในปัจจุบัน โรงงานสามารถประกอบประตูได้ 4-8 บานต่อเดือน ซึ่งจะเพิ่มเป็น 32 บานในอนาคต นอกจากนี้ โรงงานยังผลิตส่วนปีกของเครื่องบินรุ่นโบอิ้ง 737 ด้วย
 
โรงงานดังกล่าว ซึ่งญี่ปุ่นเป็นนายทุน มีแผนขยายการผลิตในเวียดนาม โดยประกอบชิ้นส่วนเครื่องบินและอุปกรณ์ต่างๆ ตามคำสั่งของบริษัทโฮลดิงส์ในนาโกยา ประเทศญี่ปุ่น MHI ซึ่งเป็นหุ้นส่วนร่วมทุนของโบอิ้ง เป็นผู้รับผิดชอบผลิตประตูสำหรับผู้โดยสารและชิ้นส่วนด้านหลังของเครื่องบินโบอิ้ง 777
 
ทั้งนี้ MHI เปิดเผยว่า เวียดนามมีข้อได้เปรียบมากที่สุดในเรื่องแรงงานราคาถูกและมีทักษะ เมื่อเข้าร่วมในห่วงโซ่การผลิตกับโบอิ้ง
 
พนักงาน บริษัทอะเมซอน ในเยอรมนี นัดหยุดงานประท้วง
 
11 พ.ย. 2014 ศูนย์ของอะเมซอนในเยอรมนีห้าแห่งต้องเผชิญหน้ากับการนัดหยุดงานของแรงงานในวันจันทร์ที่ผ่านมา (10 พ.ย.) จากข้อพิพาทด้านค่าแรงกับ บริษัทจำหน่ายสินค้าออนไลน์ยักษ์ใหญ่ของสหรัฐ
 
โดยสหภาพแรงงานแจ้งว่า ลูกจ้างกว่า 2,000 คน ที่เข้าร่วมการนัดหยุดงานครั้งนี้ ในศูนย์ของอะเมซอน 5 แห่ง ประกอบด้วย เมือง ไลป์ซิก, แบด เฮอร์สเฟลด์, กราเบน, ไรน์เบิร์ก และ เวิร์น
 
ทางสหภาพเรียกร้องให้อะเมซอนจ่ายค่าแรงให้กับแรงงานกว่า 9,000 คน ด้วยค่าแรงในระดับเดียวกับลูกจ้างในธุรกิจค้าปลีก
 
แต่ทางอะเมซอนชี้แจงว่าศูนย์กระจายสินค้าของตนเป็นบริการด้านการขนส่งและกระจายสินค้า และทางบริษัทได้จ่ายค่าแรงแก่ลูกจ้างถูกต้องตามกฎหมายแล้ว
 
สเตฟานี่ นัทเซนเบอร์เกอร์คณะกรรมการสหภาพได้ให้สัมภาษณ์กับทางเอเอฟพีว่า สมาชิกสหภาพได้แสดงให้เห็นเจตนาโดยชัดแจ้งว่าพวกเขาจะสู้เพื่อความยั่งยืนและเงื่อนไขในการทำงานที่ดีขึ้น
 
การหยุดงานจะมีถึงวันอังคารทีศูนย์เมืองเวิร์น และวันพุธในศูนย์ที่เหลืออีกสี่แห่ง อะเมซอนมีศูนย์กระจายสินค้าทั้งสิ้น 9 แห่ง ในเยอรมนี และถูกนัดหยุดงานประท้วงมาแล้วหลายครั้งในรอบ 18 เดือน 
 
ญี่ปุ่นและสหรัฐ เห็นชอบร่วมกันที่จะช่วยพม่าพัฒนากฏหมายแรงงานของประเทศ
 
15 พ.ย. 2014 แหล่งข่าววงในเผยว่า ญี่ปุ่นและสหรัฐ เห็นชอบร่วมกันที่จะช่วยพม่าพัฒนากฏหมายแรงงานของประเทศ ในโครงการที่มีระยะเวลาดำเนินงานหลายปี เพื่อขจัดอุปสรรคด้านการลงทุนของต่างชาติในพม่า
 
ภายใต้โครงการดังกล่าว ซึ่งจะดำเนินการในระยะเวลา 3-5 ปี และได้รับความช่วยเหลือจากองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ไอแอลโอ)นั้น ญี่ปุ่นและสหรัฐ จะส่งทีมผู้เชี่ยวชาญเข้าไปช่วยเหลือในเรื่องการปรับปรุงแก้ไขกฏหมายแรงงาน และช่วยกำหนดกรอบการทำงานด้านการพูดคุยระหว่างรัฐบาลพม่า นายจ้างและแรงงาน เพื่อการปกป้องสิทธิของแรงงาน
 
แหล่วงข่าว ระบุว่า เดนมาร์กและประเทศในแถบยุโรป ได้แสดงท่าทีสนับสนุนโครงการนี้ ซึ่งถือเป็น "แนวคิดริเริ่มสู่การส่งเสริมการปฏิบัติและสิทธิด้านแรงงานพื้นฐานในพม่า" และอาจเข้าร่วมในโครงการดังกล่าวด้วย โดยกล่าวเสริมว่า อาจจะมีการแถลงเปิดเผยเกี่ยวกับโครงการดังกล่าวจากรัฐบาลพม่าในวันนี้
 
ทั้งนี้ กฏหมายที่เกี่ยวข้องกับแรงงานในประเทศพม่า ส่วนใหญ่ไม่มีประสิทธิภาพ และเป็นอุปสรรคต่อการลงทุนใหญ่ของภาคธุรกิจต่างชาติจำนวนมาก ซึ่งการปรับปรุงแก้ไขกฏหมายในครั้งนี้ เป็นส่วนหนึ่งของความพยายามของญี่ปุ่นและสหรัฐ ที่ต้องการช่วยพัฒนาเศรษฐกิจในเอเชีตะวันออกเฉียงใต้ และมีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยประธานาธิบดีเต็ง เส่งของพม่า ในการยกระดับการปฏิรูปประชาธิปไตยด้วย
 
อิตาลีประท้วงต้านแผนปฏิรูปด้านแรงงานของรัฐบาล
 
15 พ.ย. 2014 การชุมนุมประท้วงของแรงงานและนักศึกษาชาวอิตาลีในเมืองต่างๆ ที่เริ่มเปิดฉากมาตั้งแต่วันศุกร์ (14พ.ย.)กลายเป็นเหตุการณ์รุนแรงและลุกลามไปหลายเมือง ทั้งในเมืองหลวงคือกรุงโรม มิลาน ตูริน เนเปิ้ล เจนัว และปาดัว ทางตอนเหนือของประเทศ โดยเฉพาะในกรุงโรม กลุ่มผู้ชุมนุมเข้ายึดพื้นที่บริเวณคอลอสเซียม เพื่อต่อต้านแผนปฏิรูปด้านแรงงานที่เสนอโดยรัฐบาลของนายกรัฐมนตรีแมททีโอ เรนซิ วัย 39 ปี พร้อมทั้งพากันขว้างปาไข่และขนมปังกรอบใส่กระทรวงเศรษฐกิจ
 
ส่วนในแถบชานกรุงโรม บริเวณด้านนอกศูนย์อพยพ เกิดสถานการณ์ตึงเครียดขึ้น เมื่อชาวบ้านในพื้นที่พากันทำร้ายบรรดาผู้อพยพในศูนย์ตลอดช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ทั้งในรูปแบบของการปาก้อนหินเข้าใส่ จุดไฟเผาที่พัก และยิงขีปนาวุธเข้าใส่ศูนย์อพยพ จนส่งผลให้เจ้าหน้าที่ ต้องย้ายผู้อพยพที่เป็นวัยรุ่นกลุ่มหนึ่งประมาณ 36 คน ออกไปพำนักในเขตที่ปลอดภัย
 
นอกจากนี้ กลุ่มผู้ชุมนุมประท้วงชาวอิตาลีที่ก่อเหตุรุนแรงในเขตผู้อพยพ ยังเรียกร้องให้ปิดศูนย์อพยพแห่งนี้ พร้อมทั้งอ้างว่า ผู้อพยพจากแอฟริกา และเอเชียสกปรก ต่อต้านสังคม และเป็นพวกชอบก่อเหตุรุนแรง
 
บรรยากาศสับสนวุ่นวายจากการชุมนุมประท้วง รุนแรงยิ่งขึ้นเมื่อมีการนัดหยุดงานประท้วงของระบบขนส่งมวลชนหลักๆ ส่งผลให้ระบบขนส่งมวลชนในอิตาลีกลายเป็นอัมพาต ทั้งรถประจำทาง รถราง รถไฟ หรือแม้กระทั่งเที่ยวบินต่างๆที่จะต้องใช้สนามบินฟิอูมิซิโน ในกรุงโรมพากันหยุดให้บริการ หรือไม่ก็บริการล่าช้า
 
มีผู้เสียชีวิต 4 คนจากเหตุระเบิดเนื่องจากสารเคมีรั่วไหล ในโรงงานที่รัฐเทกซัสของสหรัฐ 
 
16 พ.ย. 2014 ผู้จัดการโรงงานดูปองท์ ในรัฐเทกซัส ของสหรัฐ กล่าววานนี้ว่า มีผู้เสียชีวิต 4 คน จากเหตุระเบิดในโรงงานเนื่องจากสารเคมีรั่วไหล เมื่อเช้าวันเดียวกันตามเวลาท้องถิ่น ส่วนคนงานอีกคนถูกนำตัวส่งโรงพยาบาลเพื่อเข้ารับการตรวจดูอาการ นายรันแดลล์ คลีเมนต์ ผู้จัดการโรงงานดังกล่าว ที่เมืองลาปอร์ทเต ออกแถลงการณ์ว่า ขอแสดงความเสียใจไปยังครอบครัวของผู้เสียชีวิต ขณะนี้กำลังมีการสอบสวนสาเหตุของการระเบิด และว่า สามารถควบคุมการรั่วไหลของสารเมทาเนทิออลได้แล้ว จึงไม่ส่งผลกระทบที่เป็นอันตรายต่อชุมชนใกล้เคียง
 
แคนาดา-ร้านอาหารมีพนักงานเสิร์ฟหูหนวก
 
17 พ.ย. 2014 สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่าร้านอาหารที่มีชื่อว่า Sign Restaurant ตั้งอยู่ที่โตรอนโต พนักงานที่คอยดูแลลูกค้าทั้งหมดเป็นคนหูหนวก โดยบนโต๊ะจะมีเมนูภาษามือ ASL หรือ American Sign Language เพื่อช่วยให้ลูกค้าสามารถเรียนรู้และใช้สั่งอาหาร ที่มีทั้งอาหารท้องถิ่นของชาวแคนาดาและอาหารนานาชาติ รวมถึงยังมีรูปภาพของภาษามือที่ติดอยู่บนผนังของร้าน ให้ลูกค้าที่ฝึกการใช้ภาษามือ
 
แนวคิดของร้านเริ่มต้นมาจาก อันจาน มานิคูมาร์ เจ้าของร้านที่เคยเป็นผู้จัดการร้านพิซซ่า ซึ่งต้องต้อนรับแขกที่มีความบกพร่องทางการได้ยิน และประสบการณ์ครั้งนั้นทำให้ อันจาน สนใจที่จะเรียนภาษามืออเมริกันเพื่อใช้สื่อสารกับลูกค้า ทำให้ที่นี่กลายเป็นจุดนับพบที่เชื่อมโยงผู้บกพร่องทางการได้ยินให้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในสังคม
 
ที่ร้านอาหารภาษามือ นอกจากบริกรผู้มีความบกพร่องทางการได้ยินจะได้ใช้ความสามารถในการประกอบอาชีพแล้ว ยังเป็นการเปิดพื้นที่ให้คนทั่วไปเรียนรู้ภาษามืออีกด้วย
 
ปัจจุบันผู้ที่มีความบกพร่องทางการได้ยินจะมีจำนวนมากถึง 360 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 5 ของจำนวนประชากรทั่วโลก
 
ไฟไหม้โรงงานจีน คนงานสังเวยพระเพลิง ดับอนาถ 18 ศพ
 
17 พ.ย. 2014 สำนักข่าวต่างประเทศ รายงานว่า เกิดเหตุเพลิงไหม้รุนแรงที่โรงงานบรรจุภัณฑ์อาหาร "หลองหยวน ฟู้ด" ในเมืองโฉกวง มณฑลชานตง ประเทศจีน เมื่อค่ำวันอาทิตย์ที่ 16 พ.ย. เป็นเหตุให้มีคนงานเสียชีวิตอนาถอย่างน้อย 18 ศพ และมีผู้ได้รับบาดเจ็บอย่างน้อย 13 ราย ส่วนสาเหตุเพลิงไหม้นั้น เจ้าหน้าที่ตำรวจในพื้นที่อยู่ระหว่างดำเนินการสืบสวน
 
ด้านสำนักข่าวซินหัว กระบอกเสียของทางการจีน แจ้งว่า เหตุเพลิงไหม้โรงงานบรรจุภัณฑ์อาหาร เกิดขึ้นเมื่อเวลาประมาณ 19.00 น. และพนักงานดับเพลิงต้องใช้เวลานานเกือบ 3 ชั่วโมง จึงจะสามารถควบคุมเพลิงให้สงบลงได้ โดยขณะนี้บรรดาผู้จัดการฝ่ายต่างๆ ในโรงงานแห่งนี้ ถูกตำรวจควบคุมตัวเพื่อสอบปากคำ ขณะที่ยังไม่มีการเปิดเผยรายละเอียดใดๆ เพิ่มเติม
 
สำหรับเหตุเพลิงไหม้ หรือการเกิดเหตุระเบิดในโรงงานของจีน จนมีคนงานเสียชีวิต ถือเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งในจีน ขณะที่องค์กรแรงงานสากลได้วิพากษ์วิจารณ์ถึงสภาพการทำงานของคนงานที่ไม่ได้มาตรฐานความปลอดภัย
 
เวียดนามเผย ป.ตรียังไร้งานกว่า 174,000 คน ช่วงไตรมาส 3 ของปี
 
18 พ.ย. 2014 ผู้จบการศึกษาระดับปริญญาตรีราว 174,000 คน ในเวียดนาม ยังคงไร้งานจนถึงท้ายไตรมาสที่ 3 ของปีนี้ คิดเป็นสัดส่วนที่ 16.8% ของจำนวนผู้ว่างงานทั้งหมดในประเทศ ฝ่าม ถิ ฮาย เจวียน รัฐมนตรีกระทรวงแรงงาน ผู้ทุพพลภาพและสวัสดิการสังคม ระบุ
       
รายงานระบุว่า สิ้นไตรมาสที่ 2 ของปี ผู้จบการศึกษาระดับปริญญาตรีว่างงานมีจำนวนทั้งสิ้น 147,000 คน และจำนวนผู้จบการศึกษาระดับปริญญาตรีว่างงานที่เพิ่มขึ้นนี้ เนื่องมาจากการขาดความกระตือรือร้นในการหางานของกลุ่มแรงงานเยาวชนชาวเวียดนาม และตัวเลือกที่ไม่เหมาะสมของอาชีพ
       
ในไตรมาสที่ 3 ของปี อัตราการว่างงานในกลุ่มวัยแรงงานอยู่ที่ 2.17% ขยับเพิ่มสูงขึ้นจากไตรมากก่อนหน้าที่ 1.84% ส่วนอัตราว่างงานของแรงงานเยาวชนที่มีอายุระหว่าง 15-24 ปี อยู่ที่ 7.02% หรือ 543,820 คน คิดเป็นสัดส่วน 43.9% ของผู้ว่างงานทั้งหมดในประเทศ
       
สำหรับพื้นที่ที่มีอัตราการว่างงานสูงสุดนั้น คือ เขตสามเหลี่ยมปากแม่น้ำแดงทางภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงใต้ ในขณะที่กรุงฮานอย และนครโฮจิมินห์ มีอัตราว่างงานที่ 4.3% และ 3.32% ตามลำดับ
 
ศาลอียูตัดสิน "แรงงานพลัดถิ่น" ถูกตัดสิทธิ์สวัสดิการว่างงาน
 
18 พ.ย. 2014 นโยบายการเคลื่อนย้ายแรงงานอย่างเสรีของสหภาพยุโรป (EU) ได้ก่อให้เกิดข้อโต้แย้งกันหลายประการ ทั้งเรื่องปัญหาการว่างงาน ไปจนถึงการสร้างภาระด้านสวัสดิการ ให้กับประเทศที่แรงงานต่างชาติเข้ามาพำนัก โดยเฉพาะในอังกฤษที่มีท่าทีต้องการให้มีการแก้ไขกฎหมายในเรื่องนี้อย่างจริงจัง
 
คำตัดสินของศาลยุติธรรมกลางยุโรป (ECJ) เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ถือว่าสร้างมาตรฐานใหม่ให้รัฐบาลชาติสมาชิกอียู หลังศาลระบุว่า "ตามข้อกำหนดของยุโรปนั้น ผู้อพยพที่ไม่มีแหล่งรายได้ต้องมีทรัพยากรของตัวเองเพียงพอสำหรับใช้จ่ายช่วง 5 ปีแรกที่ย้ายไปยังประเทศสมาชิกอียูและประเทศสมาชิกอียูมีสิทธิ์ที่จะปฏิเสธการให้สวัสดิการแก่ชาวผู้อพยพจากชาติสมาชิกอียูด้วยกันที่ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ทางเศรษฐกิจ" คำตัดสินดังกล่าวมาจากกรณีของ นางอลิซาเบตา ดาโน สาวชาวโรมาเนีย และลูกชาย ยื่นฟ้องรัฐบาลเยอรมนีฐานปฏิเสธที่จะจ่ายเงินสวัสดิการของผู้ว่างงานถาวร หลังพบว่า นางดาโน ซึ่งเดินทางเข้ามาพำนักยังเมืองไลป์ซิกของเมืองเบียร์ ตั้งแต่พฤศจิกายน 2553 ไม่ได้พยายามหางานทำอย่างจริงจัง และได้เรียกร้องขอเงินสวัสดิการจากรัฐบาลเยอรมนีเพื่อเลี้ยงดูบุตร นอกจากนี้ นางดาโนยังไม่มีเงินมากพอที่จะขอสิทธิเป็นผู้พำนักถาวรในเยอรมนี
 
บีบีซี และ เดอะ การ์เดียน ระบุว่า คำชี้ขาดดังกล่าวของศาล แม้จะเป็นกรณีของรัฐบาลเยอรมนี แต่ก็ถือว่าบังคับใช้กับสมาชิกอียูทุกประเทศ
 
อย่างไรก็ตาม คำตัดสินครั้งนี้จะมีนัยสำคัญอย่างมาก ต่อการปรับเปลี่ยนนโยบายของอังกฤษ ที่ต้องการลดสวัสดิการที่ให้กับแรงงานที่ไม่ก่อให้เกิดความเคลื่อนไหวทางเศรษฐกิจ เพื่อให้มั่นใจว่าแรงงานต่างด้าวที่เข้ามาทำงานและเสียภาษีเท่านั้นจะสามารถได้รับสวัสดิการจากรัฐบาล นอกจากนี้ คำตัดสินยังชี้ว่า อังกฤษไม่ใช่ประเทศเดียวที่กังวลเรื่องการเคลื่อนย้ายแรงงานอย่างเสรีในอียู ก่อนหน้านี้ อังกฤษต่อต้านนโยบายการเคลื่อนย้ายแรงงานเสรีอย่างชัดเจน พร้อมผลักดันการแก้ไขนโยบายดังกล่าว เนื่องจากเห็นว่าตนเองต้องแบกภาระดูแลแรงงานจากชาติยุโรปตะวันออกมากเกินไป ขัดแย้งอย่างรุนแรงกับนางอังเกลา แมร์เคิล ผู้นำเยอรมนีที่ยืนยันว่า อียูต้องเปิดเสรีเคลื่อนย้ายแรงงาน
 
โดยรัฐบาลของ นายเดวิด คาเมรอน นายกรัฐมนตรีอังกฤษ ได้จัดการกับ "นักท่องเที่ยวที่เข้ามาอ้างสวัสดิการ" อย่างเข้มงวด โดยแก้ไขกฎหมายในประเทศว่า แรงงานต่างด้าวจากประเทศสมาชิกอียู ที่ย้ายเข้ามาพำนักในอังกฤษ ต้องรออย่างน้อย 3 เดือน ก่อนจะสามารถอ้างใช้สิทธิสวัสดิการเพื่อเลี้ยงดูบุตร และขอลดหย่อนภาษีจากการมีบุตรได้ รวมทั้งหากแรงงานยังไม่มีงานทำ และไม่กระตือรือร้นหางานอย่างจริงจัง ก็ไม่สามารถขอใช้สวัสดิการผู้ว่างงานได้
 
ขณะที่ นายสตีเฟน บูธ จากสถาบันวิจัยโอเพ่นยุโรป เผยกับเทเลกราฟว่า "อังกฤษและชาติสมาชิกอียูสามารถใช้คำตัดสินของศาลเป็นข้ออ้างในการงดเว้นการจ่ายสวัสดิการ รวมทั้งการขอยกเว้นภาษี การใช้สิทธิการรักษาพยาบาล และบ้านสวัสดิการของรัฐให้กับแรงงานจากชาติสมาชิกอียู ที่ย้ายไปพำนักในประเทศตนได้แล้ว แต่การจะนำคำตัดสินไปปฏิบัติจริงนั้น จะต้องมีการแก้ไขกฎข้อบังคับของอียู ซึ่งแน่นอนว่าชาติที่เห็นด้วยกับอังกฤษจะหนุนการแก้กฎครั้งนี้"
 
ด้านเยอรมนีที่ประสบปัญหาขาดแคลนแรงงาน และสนับสนุนการเคลื่อนย้ายแรงงานเสรี ก็มีความเห็นไปในทางเดียวกับอังกฤษในเรื่องของการจ่ายสวัสดิการ โดยพรรคอนุรักษนิยมคริสเตียนจากแคว้นบาวาเรีย ซึ่งเป็นพรรคพันธมิตรของนางแมร์เคิล ตลอดจนพรรคการเมืองหน้าใหม่ในรัฐสภาเยอรมนี อย่าง พรรคทางเลือก (Alternative for Germany) ได้ออกแถลงการณ์คัดค้านการเอาเปรียบสวัสดิการจากชาติผู้ให้ที่พำนัก โดยที่ผู้มาใหม่ไม่อุทิศตนให้เกิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจ
 
ด้านนายมานเฟรด เวเบอร์ สมาชิกสภายุโรปจากเยอรมนี ระบุกับเอพีว่า คำตัดสินของศาลถือว่าชาติอียูมีสิทธิงดจ่ายเงินสวัสดิการ ให้กับนักท่องเที่ยวผู้เข้ามาแสวงหาประโยชน์ โดยไม่ละเมิดนโยบาย
 
การเคลื่อนย้ายแรงงานอย่างเสรีและคำตัดสินนี้ เน้นไปที่ผู้ที่อ้างสิทธิในเงินสวัสดิการ โดยไม่ได้ทำงานและเสียภาษี ขณะที่กระทรวงแรงงานของเยอรมนี ได้ออกแถลงการณ์ชี้ชัดว่า "สิทธิในการเดินทางของประชาชนชาวยุโรปนั้นเป็นนโยบายที่ควรค่า และยืนหยัดตามวัตถุประสงค์ของอียู แต่ก็มีข้อจำกัดต่อการอ้างสิทธิในการใช้สวัสดิการ ซึ่งเป็นเงื่อนไขของแนวทางในการเคลื่อนย้ายแรงงานเสรี"
 
อย่างไรก็ตาม นักการเมืองเยอรมนีบางคนมองว่าคำตัดสินของศาลเป็นการจำกัดเสรีภาพในการเคลื่อนย้าย ขณะที่หลายคนมองว่า คำตัดสินนั้นยืนยันความสำคัญของนโยบายเคลื่อนย้ายแรงงานเสรี และแรงงานที่พร้อมจะทำงานทั่วยุโรปมีสิทธิ์ที่จะเดินทางและขอใช้สวัสดิการ
 
แรงงานอินโดประท้วงรัฐขึ้นราคาน้ำมันกว่า 30 เปอร์เซ็นต์
 
21 พ.ย. 2557 แรงงานชาวอินโดนีเซียออกประท้วงในกรุงจาการ์ต้าเมื่อวันพุธที่ผ่านมา หลังประธานาธิบดีโจโก วิโดโดประกาศขึ้นราคาน้ำมันเชื้อเพลิงเมื่อวันจันทรที่ 17 พฤษจิกายนที่ผ่านมา รัฐบาลอินโดนีเซียลดการอุดหนุนราคาน้ำมันเชื้อเพลิง ทำให้ต้องปรับขึ้นราคาให้กับผู้บริโภค โดยมีการปรับขึ้นราคาน้ำมันเบนซิน และราคาน้ำมันดีเซล กว่า 30 เปอร์เซ็นต์
 
ประธานาธิบดี โจโก วิโดโด คาดว่าเงินที่รัฐบาลสามารถประหยัดงบประมาณจากการอุดหนุนราคาน้ำมันเชื้อเพลิงจะสูงถึง กว่า 370,000  ล้านบาท ในปีหน้า
 
โดยกองทุนนี้ จะนำไปใช้ในด้าน โครงสร้างพื้นฐาน สาธารณสุข การศึกษา และการเกษตรแทน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของนโยบายปฏิรูปของผู้นำอินโดนีเซียคนใหม่ ผู้ประท้วงจากกลุ่มแรงงาน ราว 100 คนเรียกร้องให้รัฐบาลยังคงปรับลดราคาน้ำมันและให้เงินอุดหนุนกับประชาชนต่อไป
 
สื่อท้องถิ่นรายงานการประท้วงในพื้นที่อื่นของประเทศ เช่นที่เมืองการุท ในจังหวัดชวาตะวันตก ที่มีคนขับรถตู้โดยสารหยุดงานเพื่อประท้วงและปล่อยให้ผู้โดยสารยืนรอข้างถนน
 
อย่างไรก็ตาม รัฐบาลอินโดนีเซียก็ได้ให้คำมั่นสัญญาว่าจะให้เงินสนับสนุนอย่างน้อย 17,000 ล้านบาท กับประชาชนยากจนกว่า 15 ล้านครัวเรือนเพื่อลดผลกระทบในปีนี้ 
 
บริษัทจัดหางานเผยญี่ปุ่นต้องการแรงงานต่างด้าวเพิ่มขึ้นรับท่องเที่ยวเพิ่ม
 
23 พ.ย. 2014 GLOBALPOWER Inc. ซึ่งเป็นบริษัทจัดหางานในโตเกียวที่เชี่ยวชาญในการจัดหาแรงงานจากต่างประเทศเปิดเผยว่า ญี่ปุ่นมีอุปสงค์ด้านแรงงานจากต่างประเทศอย่างแข็งแกร่งในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา เนื่องจากนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่เดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น
 
GLOBALPOWER ระบุว่า มีบริษัทญี่ปุ่นกว่า 1,000 แห่งจากทุกอุตสาหกรรมแจ้งความต้องการพนักงานจากต่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่มีทักษะภาษาญี่ปุ่
 
GLOBALPOWER อธิบายว่า ห้างสรรพสินค้าและร้านค้าขนาดใหญ่ต้องการให้บริการด้านภาษาแก่ลูกค้าจากต่างประเทศ ในขณะที่โรงงานต่างๆต้องการขยายตัวไปยังต่างประเทศและต้องการแรงงานจากต่างประเทศเพิ่มขึ้น
 
ทั้งนี้ บริษัทได้โพสต์เทคนิคเพื่อให้ได้รับบรรจุเข้าเป็นพนักงานบริษัทญี่ปุ่นในส่วนข้อมูลเกี่ยวกับตำแหน่งงานที่เว็บไซต์ของบริษัท รวมไปถึงเทคนิคการเขียนเรซูเม หรือประวัติการทำงาน การแต่งกายขณะเข้าสัมภาษณ์ และการแสดงความเห็นของชาวต่างประเทศที่ผ่านการสัมภาษณ์และได้รับบรรจุเข้าทำงาน สำนักข่าวเกียวโดรายงาน
 
วอนประเทศอ่าวเปอร์เซียคุ้มครองแรงงานต่างชาติ
 
24 พ.ย. 2014 กลุ่มสิทธิมนุษยชน และกลุ่มแรงงานรวม 90 กลุ่ม ออกแถลงการณ์ร่วม เรียกร้องให้ประเทศรอบอ่าวเปอร์เซีย คุ้มครองแรงงานต่างชาติ จากการถูกทารุณกรรมและล่วงละเมิดในรูปแบบต่างๆ
 
แถลงการณ์ร่วมนี้ ซึ่งมีขึ้นก่อนการประชมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานของประเทศรอบอ่าวเปอร์เซีย และเอเชียที่จะจัดขึ้นในสัปดาห์นี้ ระบุว่า มีแรงงานชาวเอเชียและแอฟริกานับล้านคน กำลังเผชิญหน้ากับการถูกล่วงละเมิด ไม่ว่าจะเป็น การเบี้ยวค่าจ้าง การยึดพาสปอร์ต การทำร้ายร่างกาย รวมถึงการบังคับใช้แรงงาน
 
นักวิจัยด้านสิทธิสตรีตะวันออกกลาง ขององค์กรสิทธิมนุษยชน ฮิวแมน ไรท์ส วอทช์ ในนครนิวยอร์ก นางรอธนา เบกัม กล่าวว่า ไม่ว่าจำนวนสาวใช้ที่ถูกทำร้ายร่างกาย หรือถูกทารุณกรรม จะถูกปิดบังจากสังคม หรือตัวเลขช่างก่อสร้างที่เสียชีวิต จะมีมากน้อยเพียงใด แต่แรงงานในประเทศตะวันออกกลางเหล่านี้ ต้องการปฏิรูปการปฏิบัติต่อแรงงานต่างชาติอย่างเร่งด่วนและจริงจัง
 
นอกจากฮิวแมน ไรท์ส วอทช์ จะร่วมลงนามในแถลงการณ์ร่วมฉบับนี้แล้ว ยังมีอีกหลายองค์กรเข้าร่วม อาทิ องค์การนิรโทษกรรมสากล สมาพันธ์สหภาพแรงงานสากล และ สหพันธ์แรงงานคนทำงานบ้านนานาชาติ ให้ปฏิรูปกฎหมายคุ้มครองแรงงาน และปรับปรุงระบบการป้อนแรงงานให้กับผู้ว่าจ้าง ที่ไม่อนุญาตให้แรงงานเปลี่ยนงาน หากไม่หมดสัญญา แม้ว่าจะถูกทารุณกรรมจากผู้ว่าจ้างก็ตาม
 
ทั้งนี้ แรงงานต่างชาติในกลุ่มประเทศสมาชิกสภาความร่วมมือแห่งอ่าวเปอร์เซีย หรือ จีซีซี ได้แก่ กาตาร์ คูเวต ซาอุดิอารเบีย บาห์เรน สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และโอมาน มีมากถึง 23 ล้านคน และในจำนวนนี้ 2.4 ล้านคนมีอาชีพเป็นแม่บ้าน
 
"เบอร์เกอร์คิง" สั่งปิดสาขาในเยอรมนีเกือบ 90 แห่ง หลังถูกแจ้งเอาเปรียบพนักงาน
 
25 พ.ย. 2014 สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า  เบอร์เกอร์ คิง ร้านขายแฮมเบอร์เกอร์ชื่อดังของสหรัฐ ต้องประสบภาวะเสียชื่ออย่างหนัก ภายหลังถูกร้องเรียนว่า ร้านสาขาย่อยในประเทศเยอรมนี ปฎิบัติต่อพนักงานอย่างไม่เหมาะสมในหลายด้าน ๆ และส่งผลให้ต้องมีการปิดสาขาในประเทศนี้หลายสาขา 
 
รายงานระบุว่า  เบอร์เกอร์คิง ในสหรัฐ ได้สั่งให้มีการปิดสาขา 89 แห่งในเยอรมนี หลังจากมีรายงานแจ้งว่า สาขาเหล่านี้มีพฤติกรรมเอาเปรียบพนักงานและลูกจ้าง รวมทั้งไม่จัดหาอุปกรณ์อย่างเพียงพอสำหรับการทำอาหารของพนักงานในร้าน และยังกระทบต่อบริษัท "ยิ โก โฮลดิ้ง" ซึ่งถือเป็นผู้ถือสิทธิแฟรนซ์ไชส์ ใหญ่ที่สุดของเบอร์เกอร์ คิง ในเยอรมนีด้วย หลังจากบริษัทไม่ยอมปฎิบัติตามสัญญาเกี่ยวกับการรับประกันสภาพการทำงานที่เหมาะสมแก่ลูกจ้างเป็นจำนวนกว่า 3,000 คน
 
ทั้งนี้ "เบอร์เกอร์ คิง" ในเยอรมนี มีทั้งหมด 600 สาขา เปิดให้บริการภายใต้การซื้อแฟรนซ์ไชส์จากเบอร์เกอร์ คิง ของสหรัฐอเมริกา  
 
ยอดเด็กที่ตกเป็นเหยื่อของขบวนการค้ามนุษย์ทั่วโลก มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น โดย 1 ใน 3 ของเหยื่อเป็นเด็กและเยาวชน
 
25 พ.ย. 2014 สำนักงานสหประชาชาติว่าด้วยปัญหายาเสพติดและอาชญากรรม หรือยูเอ็นโอดีซี เผยแพร่รายงานล่าสุดระบุ ยอดเด็กที่ตกเป็นเหยื่อของขบวนการค้ามนุษย์ทั่วโลก มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นโดย 1 ใน 3 ของเหยื่อค้ามนุษย์ในปัจจุบันเป็นเด็กและเยาวชน
 
รายงานล่าสุดของยูเอ็นโอดีซี ระบุว่า ประมาณ 33% ของเหยื่อในขบวนการค้ามนุษย์ทั่วโลกในช่วงปี 2553 - 2555 เป็นเด็กและเยาวชน ถือเป็นตัวเลขที่เพิ่มสูงขึ้น 5% จากการสำรวจครั้งก่อนในช่วงปี 2550 - 2553
 
ยูเอ็นโอดีซี ระบุด้วยว่า ทวีปแอฟริกาและภูมิภาคตะวันออกกลาง ยังคงเป็นศูนย์กลางของการค้ามนุษย์ โดยเฉพาะในส่วนของการค้าเด็กที่สูงที่สุดในโลกแต่เด็กๆ จากภูมิภาคเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กลับมีสัดส่วนการตกเป็นเหยื่อของขบวนการค้ามนุษย์มากที่สุดเมื่อเทียบกับเด็กจากภูมิภาคอื่นของโลก
 
ผลสำรวจล่าสุด พบว่า มีเด็กตกเป็นเหยื่อของธุรกิจค้าบริการทางเพศ ใน 152 ประเทศทั่วโลก ขณะเดียวกันก็พบรูปแบบการค้ามนุษย์เพื่อบังคับใช้แรงงานทาส และการค้ามนุษย์เพื่อวัตถุประสงค์อื่นๆใน 124 ประเทศ โดยข้อมูลจากหน่วยงานสหประชาชาติ ระบุด้วยว่า ในแต่ละปี มูลค่าของธุรกิจการค้ามนุษย์ทั่วโลกสูงถึง 31,600 ล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 1.04 ล้านล้านบาท
 
คนเลี้ยงแกะต้อนแกะมาประท้วงที่หอไอเฟลขอให้รัฐบาลฝรั่งเศสช่วยเหลือเรื่องหมาป่ามากินแกะ
 
27 พ.ย. 2014 บรรดาผู้เลี้ยงแกะในฝรั่งเศสนำแกะราว 250 ตัวมาปรากฏตัวที่หอไอเฟลในกรุงปารีส เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลฝรั่งเศสจัดการกับปัญหาเดือดร้อนของพวกเขา นั่นคือจำนวนหมาป่ากำลังเพิ่มขึ้น และคุกคามลูกแกะในการเลี้ยงดูของพวกตน
 
หมาป่าเริ่มถูกนำเข้ามาในฝรั่งเศสในช่วงทศวรรษ 1990 ตามข้อตกลงอนุรักษษ์พันธุ์สัตว์ป่าในยุโรป คาดว่าปัจจุบันมีหมาป่าในฝรั่งเศสราว 300 ตัว และเพิ่มขึ้นทุกๆ ปี ซึ่งสมาคมผู้เลี้ยงแกะฝรั่งเศส (FNO) แจ้งว่ามีแกะที่ถูกหมาป่าจับไปกินเพิ่มขึ้นเช่นกันตั้งแต่ปี ค.ศ 2011 และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 8,000 ตัวในปีนี้
 
ที่ผ่านมารัฐบาลฝรั่งเศสมีมาตรการจ่ายเงินชดเชยให้กับผู้เลี้ยงแกะตกปีละประมาณ 15 ล้านยูโร แต่บรรดาผู้เลี้ยงแกะบอกว่า เงินไม่ใช่สิ่งที่พวกตนต้องการ แต่อยากมีสิทธิ์ในการปกป้องฝูงแกะมากกว่า รวมทั้งสิทธิ์ในการยิงหมาป่าได้ทันทีที่เกิดเหตุหมาป่าทำร้ายแกะ และการเพิ่มโควต้าการฆ่าหมาป่าให้มากกว่าระดับ 24 ตัวต่อปีในขณะนี้
 
กรีซประท้วงหยุดงานทั่วประเทศ 24 ชั่วโมง ต้องยกเลิกเที่ยวบินและปิดโรงเรียน
 
28 พ.ย. 2014 การประท้วงหยุดงานทั่วประเทศเป็นเวลา 24 ชั่วโมงในกรีซวานนี้ ส่งผลให้ต้องยกเลิกเที่ยวบิน ปิดโรงเรียน และโรงพยาบาลของรัฐหลายแห่งเหลือแต่เจ้าหน้าที่ฉุกเฉินเท่านั้นที่ยังคงปฏิบัติงานอยู่ สหภาพแรงงานกรีซสั่งให้มีการประท้วงดังกล่าวเพื่อต่อต้านมาตรการตัดลดค่าใช้จ่ายของรัฐบาลเมื่อเดือนเมษายน ซึ่งที่กรุงเอเธนส์มีผู้เข้าร่วมประท้วงประมาณ 30,000 คน การประท้วงดังกล่าวส่งผลให้เที่ยวบินทั้งภายในและต่างประเทศต้องยกเลิก ขณะที่ประชาชนทั่วไปเดือดร้อนเนื่องจากพนักงานรถบัส และรถใต้ดินเข้าร่วมประท้วงด้วย
 
ตัวแทนสหภาพแรงงานพนักงานห้างวอลมาร์ทรวมตัวกันประท้วงขอขึ้นค่าแรง
 
29 พ.ย. 2014 ตัวแทนสหภาพแรงงานพนักงานห้างวอลมาร์ทราว 30 แห่ง และกลุ่มผู้สนับสนุนได้มารวมตัวกันหน้าห้างวอลมาร์ทในลอสแองเจลิส เมื่อเช้าวานนี้ (28 พ.ย.) ตามเวลาท้องถิ่น เพื่อเรียกร้องขอขึ้นค่าแรงเป็นชั่วโมงละ 15 ดอลลาร์ มีกำหนดการทำงานที่แน่นอน และจ้างพนักงานทำงานเต็มเวลามากขึ้น โดยผู้ประท้วงได้ถือป้าย แจกใบปลิว และชี้แจงกับลูกค้าที่มาซื้อของในวันแบล็กฟรายเดย์ เทศกาลลดราคาครั้งสำคัญประจำปี ให้เข้าใจถึงสภาพการทำงานที่ย่ำแย่ และค่าจ้างที่ถูกมากของพวกเขา ซึ่งนอกจากในลอสแองเจลิสแล้วยังมีการประท้วงห้างวอลมาร์ทในวันแบล็กฟรายเดย์ทั่วสหรัฐ ทั้งในส่วนอื่นของรัฐแคลิฟอร์เนีย ฟลอริดา นิวเจอร์ซีย์ และวอชิงตัน ดีซีด้วย
 
ชาวสวิสลงมติ ไม่รับร่างกฎหมายจำกัดจำนวนผู้อพยพ 
 
30 พ.ย. 2014 ประชาชนชาวสวิสกว่าร้อยละ 74 ลงคะแนนไม่ยอมรับร่างกฎหมายจำกัดจำนวนผู้อพยพ ที่จะอนุญาตให้ชาวต่างชาติอพยพเข้าประเทศได้ปีละไม่เกินร้อยละ 0.2 ของจำนวนประชากรทั้งหมด
 
โดยผู้สนับสนุนร่างกฎหมายอ้างเหตุผลทางด้านสิ่งแวดล้อม โดยอ้างว่าประชากรที่เพิ่มขึ้น จะเป็นภาระต่อทรัพยากรที่มีจำกัดของสวิตเซอร์แลนด์
 
ขณะที่ฝ่ายต่อต้านมองว่าร่างกฎหมายนี้ จะทำลายเศรษฐกิจของประเทศที่ต้องอาศัยแรงงานต่างชาติ เป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อน ตามข้อมูลของสำนักสำมะโนประชากรของสวิตเซอร์แลนด์ระบุว่า ในจำนวนประชากร 8.18 ล้านคนนั้น มีประชาการประมาณ 1.96 ล้านคน หรือราว 1 ใน 4 เป็นคนต่างชาติ โดยผู้คนเมืองส่วนใหญ่มาจากประเทศในสหภาพยุโรป กลุ่มใหญ่ที่สุดมาจากอิตาลี เยอรมนี และอดีตประเทศยูโกสลาวัย
 
นอกจากนี้ เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา (30 พ.ย.) ยังมีการลงประชามติในร่างกฎหมายที่บังคับให้ธนาคารกลางเพิ่มการสำรองทองคำ และร่างกฎหมายเพิ่มภาระทางภาษีให้กับชาวต่างชาติที่ร่ำรวย ซึ่งทั้งสองฉบับก็ไม่ผ่านการลงประชามติเช่นกัน
 
 
ที่มาข่าวเรียบเรียงจาก: ประชาไท, ครอบครัวข่าว, ASTV ผู้จัดการออนไลน์, สำนักข่าวไทย, กรุงเทพธุรกิจ, ไทยรัฐออนไลน์, เดลินิวส์, สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์, VOA
 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net