Skip to main content
sharethis
'ชูวัส' เผยหลังรัฐประหารถูกปิดกั้นเสรีภาพเท่ากันเทียมกับ 3 จังหวัดชายแดนใต้ 'มูฮำหมัด' ชี้คนในสื่อสาร แก้ปัญหาความขัดแย้งจากความไม่เข้าใจ 'ซาฮารี' ระบุ “เจ้าของเรื่องเล่าเองดีที่สุด” 'แวหามะ' การมีส่วนร่วมของคนในพื้นที่ ความร่วมมือของสื่อทางเลือก

 

4 ธ.ค.2557 สถานีวิทยุ ‘มีเดียสลาตัน’ สื่อดังของจังหวัดปัตตานี จัดเสวนาเรื่อง “ทำไมต้องสร้างนักสื่อสาร สื่อสารในปาตานี” เป็นกิจกรรมที่ทำกับเยาวชนจากหลายสถาบันการศึกษาราว 40 คนซึ่งเข้าร่วมโครงการอบรมการจัดและตัดต่อรายการวิทยุ

งานเสวนานี้มีวิทยากร คือ 4 บรรณาธิการจากสำนักข่าวทางเลือกต่างๆ พูดถึงความสำคัญของนักสื่อสารรุ่นใหม่ๆ เพื่อเป็นปากเป็นเสียงให้กับประชาชนในพื้นที่ 3 จังหวัดภาคใต้ โดยมีวิทยากร ได้แก่ แวหามะ แวกือจิก ผู้อำนวยการสถานีวิทยุมีเดียสลาตัน ชูวัส ฤกษ์ศิริสุข อดีต บก.บห.เว็บไซต์ประชาไท  มูฮำหมัด ดือราแม บรรณาธิการโรงเรียนนักข่าวชายแดนใต้  และ ซาฮารี เจ๊ะหลง บรรณาธิการยุทธศาสตร์และกำกับประเด็นสำนักสื่อ Wartani ดำเนินรายการโดย อารีด้า สาเม๊าะ นักเขียนอิสระ

ชูวัส : เมื่อเราถูกปิดกั้นเสรีภาพ เท่าเทียมกันกับ 3 จังหวัดชายแดนใต้ หลังรัฐประหาร

โครงสร้างทางการเมือง โครงสร้างวัฒนธรรมของส่วนกลางนั้นกดทับภาคใต้มานาน แต่สถานการณ์ของเสรีภาพตอนนี้พบว่า ภาคใต้ยังคุยเรื่องสันติภาพได้ แต่กรุงเทพฯ ภาคเหนือ ภาคอีสาน แทบจะจัดเสวนาอะไรไม่ได้ เพราะถูกตีความเป็นการเมืองหมด

ก่อนหน้ารัฐประหาร 2557 การเมืองเหลือง-แดงทำให้หลายๆ อย่างพูดไม่ได้เพราะจะถูกตั้งคำถาม รังเกียจ ล่าแม่มด ฯลฯ สภาพนี้ไม่ได้เกิดขึ้นในระดับปัจเจกเท่านั้นแต่เกิดขึ้นในวงการสื่อด้วย ย้อนกลับไปก่อนหน้านั้นช่วงรัฐบาลประชาธิปไตยสมัยทักษิณ สิทธิเสรีภาพของสื่อในการวิจารณ์ทำได้มากก็จริง แต่ก็ยังติดเพดานการจำกัดเสรีภาพผ่านธุรกิจ ผ่านงบโฆษณา

โดยสรุป ก่อนหน้า 2549 ถ้าสื่อไม่อยู่ภายใต้รัฐก็อยู่ภายใต้ทุน หลัง 2549 ห้ามพูดบางเรื่อง หลังรัฐประหาร 2557 นี้หนักข้อไปอีก เพราะมีอำนาจจากปากกระบอกปืนด้วย

สภาพของสิทธิเสรีภาพอยู่ในสภาพหัวอกเดียวกัน เท่าเทียมกันใน 76 จังหวัด แต่สำหรับสามจังหวัดภาคใต้ บางทีไม่ใช่เรื่องอำนาจอย่างเดียว แต่ความพยายามในการฝ่ากำแพงอำนาจของคนที่นี่อาจยังน้อยเกินไป อาจเพราะถูกกดมานานหรือมีช่องว่างทางวัฒนธรรม ต้องมีการเปิดให้คิด ให้ตั้งคำถามได้มากขึ้น

ในช่วงสิบปีนี้ สิ่งที่โดดเด่นมาในภาคใต้คือ เกิดสื่อทางเลือกในพื้นที่มากมาย เรียกว่าเป็นทศวรรษของสื่อทางเลือกในสามจังหวัดภาคใต้

ท้ายที่สุดอยากฝากว่า การสื่อสารเป็นการสะท้อนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ถ้าเราคิดว่าเราก็เป็นส่วนหนึ่งของสังคมนี้เช่นกันเราย่อมมีสิทธิจะพูดจะแสดงออก

“ถ้าคุณพูดสิ่งที่คุณคิด คุณต้องการ คุณรู้สึกไม่ได้ คุณก็ไม่ใช้เจ้าของสิ่งนั้น ไม่ใช่เจ้าของโรงเรียน ไม่ใช่เจ้าของพื้นที่ ไม่ใช่เจ้าของประเทศ ดังนั้นจึงไม่ต้องพูดว่าทำไมต้องสร้างนักสื่อสาร แต่คำถามคือ ทำไมคุณถึงไม่สื่อสารล่ะ”

มูฮำหมัด : คนในสื่อสาร แก้ปัญหาความขัดแย้งจากความไม่เข้าใจ

มีงานวิจัยชิ้นหนึ่งระบุว่า คนสามจังหวัดเข้าถึงสื่อประเภทไหนมากที่สุด คำตอบคือ ทีวี ซึ่งเหมือนกันทั้งประเทศ ลำดับต่อมา คือ วิทยุชุมชน ถือว่าเป็นช่องทางสื่อหลักในพื้นที่เลยก็ว่า ส่วนอินเตอร์เน็ตนั้นคนเข้าถึงน้อยแต่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ที่น่าสนในคือ คนที่เข้าถึงอินเตอร์เน็ตแม้จะน้อยแต่ก็เป็นคนที่มีความรู้และมีบทบาทชี้นำสังคมได้ ดังนั้นสื่อออนไลน์จึงสำคัญและมีต้นทุนต่ำมากด้วย เยาวชนสามารถเข้าถึงและแม้กระทั่งผลิตสื่อเองได้

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา สื่อหลักถูกโจมตีเยอะว่าเขียนข่าวผิด เขียนข่าวทำให้คนเดือนร้อน ใช้วาทกรรม “โจรใต้” ฯลฯ เป็นเพราะความแตกต่างทางวัฒนธรรมและความไม่เข้าใจ การเรียกร้องต่อสื่อหลักเป็นเรื่องยากที่จะให้เขาปรับเปลี่ยน จึงจำเป็นต้องสร้างคนในพื้นที่ให้สื่อสารเรื่องของตนเองขึ้นมา เพื่อให้คนอีกสังคมที่แตกต่างได้เข้าใจว่าตัวตนของเราคือใคร เพราะความขัดแย้งที่เกิดขึ้น ส่วนหนึ่งเกิดจากความไม่เข้าใจในความแตกต่าง ถ้ายังผิดอีกทีนี้ก็ไม่ต้องไปด่าคนอื่นแล้ว

การสร้าง ‘ซีนารัน’ (Sinaran) สิ่งพิมพ์สองภาษา คือ ภาษาไทย-มลายู มุ่งหวังให้นักสื่อสารในพื้นทีสามารถสื่อสารได้ทั้งสองภาษา มีความแข็งแรงทั้งสองภาษา

“การที่เราสามารถสร้างนักสื่อสารได้คนหนึ่งนั้นเป็นประโยชน์กับคนหลายคน เพราะตัว “สื่อ” นั้น มันตามด้วย “มวลชน” ”

อีกประการหนึ่งของวัตถุประสงค์ที่สร้างสื่อสองภาษาก็เพื่อสื่อสารกับชาติมลายูอื่นๆ ด้วยในมุมมมองที่ลึกซึ้งขึ้นมากกว่าตัวเหตุการณ์ความรุนแรง เพราะตอนนี้เขาก็ยังไม่เข้าใจปัญหาของเรา

 

ซาฮารี : “เจ้าของเรื่องเล่าเองดีที่สุด” การรายงานอีกด้านของเหตุการณ์ความรุนแรง

Wartani เพิ่งเกิดขึ้นได้ราว 2 ปี เป็นสื่อที่ลงพื้นที่เกิดเหตุต่างๆ เพื่อดึงเสียงชาวบ้านขึ้นมา คนทำงานที่นี่เป็นคนหนุ่มสาวทำงานด้านสื่อมาตั้งแต่ยังเป็นนักศึกษา หลังจากจบมาก็พบว่ายังไม่มีคนใหม่ๆ ในพื้นที่ลุกขึ้นมาทำสื่อเองเลย และไม่มีการนำเสียงผู้ได้รับผลกระทบโดยตรงออกมา ในขณะที่สื่อกระแสหลักเอาข้อมูลจากเจ้าหน้าที่เป็นหลัก ยกตัวอย่าง กรณีสังหารเด็กอายุ 14 ปีเมื่อไม่นานมานี้ ข่าวรายงานตามปากคำทหารว่าทหารยิงผู้ก่อการที่พยายามยิงถล่มด่านทหาร ทั้งที่ข้อเท็จจริงคือ เด็กขับรถผ่านด่านถูกยิงเสียชีวิต ปืนในมือเด็กถูกทหารยัด ในภายหลังตำรวจได้สอบสวนและแถลงข้อเท็จจริงและดำเนินคดีกับทหารที่กระทำการนั้นแล้ว หลังนำเสนอเรื่องนี้ ช่อง 9 และสื่อกระแสหลักอื่นๆ ลงพื้นที่ทำรายงานข่าว ทำให้เกิดความหวังกับประชาชนว่า เสียงของเขาก็มีคนรับฟังด้วย

ต้นทุนที่เราเป็นคนในพื้นที่ เคยทำกิจกรรมร่วมกับเครือข่ายในพื้นที่ ทำให้เข้าถึงแหล่งข่าวสะดวก แต่ก็มีแรงเสียดทานสูงมาก ถูกโจมตีมาก ซึ่งต้องพิสูจน์ตัวเองด้วยผลงานให้รอบด้านที่สุด

ตอนนี้พยายามสร้างแนวการสื่อสาร people to people จิตวิญญาณถึงจิตวิญญาณ ทำงานกับเครือข่ายข้างนอกให้มากขึ้น เพื่อให้คนข้างนอกเกิดเข้าใจคนในพื้นที่มากขึ้น และช่วยลดความเข้าใจผิด ความเกลียดชัง และเปลี่ยนเสียงที่สนับสนุนรัฐให้ใช้ความรุนแรงมาเป็นการแก้ปัญหาด้วยสันติ

 

แวหามะ : การมีส่วนร่วมของคนในพื้นที่ ความร่วมมือของสื่อทางเลือก

ในวิกฤตที่ถูกปิดสถานีไปนั้น มีเดียฯ เองมีโอกาส ความโชคดีของมีเดียฯ คือเคยอยู่กับสำนักข่าวที่มีตัวตนชัดเจน คือ ไอเอ็นเอ็น เราทำงานกับสื่อกระแสหลักาตั้งแต่ปี 2546 ก่อนหน้าเหตุการณ์ปล้นปืนปี 2547 เราได้พื้นที่กับวิทยุ มอ.ปัตตานี วันละ 2 ชั่วโมงเท่านั้น แต่เมื่อเกิดเหตุการณ์ปล้นปืน เรามีสถานีร่วมด้วยช่วยกันเต็มตัวเพื่อตอบโจทย์ความรุนแรงในพื้นที่ ทำงานร่วมกับฝ่ายความมั่นคง มีสมาชิกที่ฟังอยู่จำนวนไม่น้อยเป็นต้นทุนที่สำคัญ

ตัดมาในช่วงที่มีเดียสลาตันขับเคลื่อนเอง แยกออกมาจากไอเอ็นเอ็นในปี 2555 โชคดีที่พื้นที่การเจรจาสันติภาพที่กัวลาลัมเปอร์นั้นเปิดขึ้นและมีการสนับสนุนทุนในการทำงาน มีเดียสลาตันเป็นสื่อเดียวที่ใช้ภาษามลายู และเปิดพื้นที่จริงๆ ให้กับประชาชนในพื้นที่ ประเด็นสำคัญคือความสามารถที่ชาวบ้านจะได้สะท้อนเสียงหรือความคิดของเขา เพราะวิทยุยังคงตอบโจทย์คนในพื้นที่ได้ หลัง คสช.สั่งปิดวิทยุชุมชนในพื้นที่ ชาวบ้านรู้สึกอึดอัด ทำให้เรารู้ว่าเราต้องยืนหยัดต่อไป

สิ่งที่มีเดียฯ ทำหลักใหญ่คือ สื่อสารให้คนข้างในเองเข้าใจอย่างแท้จริงในเรื่องต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องข้างในหรือข้างนอกก็ตาม เรื่องใดที่ยังเป็นสีเทา มีเดียฯ มีหน้าที่ทำให้ชัด ให้สว่าง ด้วยภาษาของเราเองและทุกคนมีส่วนเติมเต็มในรายการ ไม่ใช่เราทำคนเดียว

ภารกิจใหญ่ของเราคือ รายการวิทยุ , จัดเวทีนำเสียงชาวบ้านในพื้นที่ออกมาผ่านการถ่ายทอดสด, การสร้างเยาวชนนักสื่อสาร ซึ่งส่วนนี้เป็นจุดอ่อนของมีเดียฯ ที่ผ่านมา เราจึงพยายามทำงานกับมีเดียฯ มากขึ้น สิ่งที่ต้องทำต่อไปคือยุทธศาสตร์ร่วมของสื่อภาคประชาสังคมปาตานีว่าคืออะไร

 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net