Skip to main content
sharethis

ระหว่างวันที่ 27 - 29 พฤศจิกายน 2557 ที่ผ่าน ณ โรงแรมอิมพีเรียลแม่ปิง จ.เชียงใหม่ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ร่วมกับเวทีวิจัยมนุษยศาสตร์ไทย ครั้งที่ 8 จัดประชุมวิชาการนานาชาติ หัวข้อ มนุษยศาสตร์ที่แปรเปลี่ยนในโลกที่เปลี่ยนแปลง (Changing Humanities in a Changing World)

ในการประชุมมีบทความนำเสนอที่เกี่ยวข้องกับจังหวัดชายแดนใต้ 4 เรื่อง ได้แก่

1.การปฏิรูปกฎหมายและการศาลในเจ็ดหัวเมืองมลายูในช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19 ถึงต้นศตวรรษที่ 20 ของ ผศ.ดร.ปิยดา ชลวร

2.การแก้ไขปัญหาภาคใต้ครั้งแรกของรัฐไทย : ข้อเรียกร้องของมลายูมุสลิมกับการตอบสนองของรัฐไทย ของอาจารย์พุทธพล มงคลวรวรรณ

3.ในระหว่างพื้นที่ : อัตลักษณ์ผู้หญิงมาเลย์-มุสลิมปาตานีสามรุ่นที่ผ่านการศึกษาแผนใหม่ ระหว่าง พ.ศ.2500-2525 ของนางสาวทวีลักษณ์ พลราชม

4.อิสลามการเมืองในการเมืองไทย ของนายอิมรอน ซาเหาะ

ดับไฟใต้ครั้งแรกของรัฐไทย

นายพุทธพล มงคลวรวรรณ อาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ นำเสนอบทความ เรื่อง การแก้ไขปัญหาภาคใต้ครั้งแรกของรัฐไทย:ข้อเรียกร้องของมลายูมุสลิมกับการตอบสนองของรัฐไทยโดยกล่าวว่า บทความของตนต้องการที่จะศึกษากรณีการยื่นข้อเรียกร้องของชาวมลายูมุสลิมใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทยเกี่ยวกับการจัดการปกครองเมื่อปี 2490 และการตอบสนองของรัฐบาลไทยในขณะนั้น

นายพุทธพล อธิบายว่า เป็นเวลาชั่วทศวรรษที่ความรุนแรงใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ระรอกใหม่ที่เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2547 ที่รัฐบาลก็อยู่ในภาวะที่ยากลำบากในการรักษาความชอบธรรมทางการเมือง ทั้งจากการรัฐประหารและการเลือกตั้งในระบบรัฐสภาในความพยายามที่จะแก้ไขปัญหาความไม่สงบดังกล่าว

นายพุทธพล อธิบายต่อไปว่า การค้นหาคำตอบหรือทางแก้ของปัญหา ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ภาควิชาการ ตลอดจนสาธารณชนที่ให้ความสนใจก็มักกล่าวว่า ประวัติศาสตร์เป็นส่วนหนึ่งของต้นตอของปัญหานี้ กระนั้นประวัติศาสตร์ก็ยังกลับเป็นสิ่งที่ไม่ได้มีผู้คนสนใจค้นคว้าอย่างจริงจังเสียยิ่งไปกว่าการแสวงหาความชอบธรรมทางการเมือง

“การแก้ไขปัญหา 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้นี้ แท้จริงแล้วก็ไม่ได้เกิดขึ้นเป็นครั้งแรก เพราะปัญหาชายแดนใต้ก็เป็นปัญหาที่ปะทุออกมา เป็นภาวะของความไม่สงบที่เกิดขึ้นอยู่หลายระรอก”

นายพุทธพล อธิบายว่า แนวทางการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นตลอดระยะเวลาของทศวรรษ 2490 ซึ่งถ้าไม่นับการจับกุมตัวหะยีสุหลงแล้ว ถือว่ามีความสืบเนื่องระหว่างก่อนและหลังรัฐประหารในสมัยนั้น โดยระบบราชการยอมผ่อนปรน ยืนหยุ่นและคำนึงถึงความอ่อนไหวทางศาสนาเป็นอย่างมาก อาจมากเสียยิ่งกว่าในปัจจุบัน

นายพุทธพล อธิบายต่อไปว่า แต่ภายใต้ภาวะที่อาจเรียกว่าปรกติตลอดระยะเวลาของทศวรรษ 2490 และ 2500 นั้น ทว่าปัญหาในระดับพื้นฐานก็ยังไม่ได้รับการแก้ไข โดยเฉพาะอย่างยิ่งการละเมิดสิทธิเสรีภาพทางการเมือง และการใช้อำนาจรัฐนอกกฎหมาย ก็ยิ่งทำให้ปัญหาถูกซุกซ่อนเอาไว้มากกว่าที่จะเป็นการแก้ไขปัญหา

ภาพปัจจุบันยังซ้ำอดีต

นายพุทธพล อธิบายต่อไปว่า เมื่อความผ่อนปรนและความระมัดระวังซึ่งไม่ใช่ภาวะปรกติถูกยกเลิกไป โดยเฉพาะในครึ่งหลังทศวรรษ 2500 ที่เริ่มจากการเปลี่ยนจากวันหยุดราชการประจำสัปดาห์มาเป็นวันเสาร์และอาทิตย์ และการยกเลิกการเรียนการสอนภาษามลายูในโรงเรียน ภาวะของการประนีประนอมและการยกเว้นการผสมกลมกลืนทางวัฒนธรรม ถูกแทนด้วยความเป็นปรกติซึ่งเป็นไปในทางตรงกันข้ามกับในพื้นที่กลับเข้ามาแทน ปัญหาดังกล่าวก็ย่อมนำมาซึ่งการปะทุออกมาในทางใดทางหนึ่ง”

“โครงสร้างการเมืองของรัฐไทยที่เป็นอยู่ ไม่ได้รองรับการปะทุดังกล่าวเอาไว้ แน่นอนว่าภาพเช่นนี้ถูกฉายซ้ำมาแล้วในทศวรรษ 2520 และยังคงเป็นอยู่ในปัจจุบัน”พุทธพลกล่าว

ปฏิรูปกฎหมายและศาล 7 หัวเมืองมลายู

ผศ.ดร.ปิยดา ชลวร อาจารย์ประจำคณะนโยบายศึกษา มหาวิทยาลัยริทซึเมคัง ประเทศญี่ปุ่น นำเสนอบทความเรื่อง การปฏิรูปกฎหมายและการศาลในเจ็ดหัวเมืองมลายูในช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19 ถึงต้นศตวรรษที่ 20 โดยกล่าวว่า บทความของตนมุ่งศึกษาการปฏิรูปกฎหมายและการศาลใน 7 หัวเมืองมลายูของสยามในสมัยปลายรัชกาลที่ 5 นั่นคือช่วงค.ศ 1896 ถึงค.ศ 1910

ผศ.ดร.ปิยดา อธิบายว่า นักวิชาการไทยส่วนใหญ่มักมองว่าการที่สยามเข้าไปปรับเปลี่ยนกฎข้อบังคับเกี่ยวกับกฎหมายและการศาลนั้น เป็นการวางระบบและปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมในหัวเมืองมลายูซึ่งสยามมองว่าล้าสมัย สยามบังคับให้ใช้กฎหมายสยามใน 7 หัวเมือง

ผศ.ดร.ปิยดา กล่าวต่อไปว่า ในขณะเดียวกันก็ยังคงให้ศาลที่ว่าความเกี่ยวกับศาสนาอิสลามหรือที่เรียกว่าศาลโต๊ะกาลีมีอยู่เหมือนเดิม ซึ่งที่ผ่านมามีการตีความว่าเป็นนโยบายอะลุ่มอล่วยของสยามโดยเฉพาะในสมัยรัชกาลที่ 5

“โต๊ะกาลี” ปมสยามถูกมองเป็นเจ้าอาณานิคม

“อย่างไรก็ตาม หากมองในบริบทของลัทธิอาณานิคมแล้ว สยามถูกวิจารณ์ว่าเป็นเหมือนเจ้าอาณานิคมที่เข้าไปปกครองปัตตานี การที่สยามรักษาศาลโต๊ะกาลีไว้หลังจากนำระบบที่ทันสมัยกว่ามาใช้นั้น ถูกมองว่าเป็นการกระทำที่ไม่ต่างจากที่อังกฤษหรือฮอลันดาทำกับเมืองขึ้นของตนในแหลมมลายูหรือหมู่เกาะอินโดนีเซีย” ผศ.ดร.ปิยดา

ผศ.ดร.ปิยดา อธิบายต่อไปว่า แม้ว่าสยามจะเริ่มการปฏิรูปการศาลไปแล้วก็ยังมีปัญหาอยู่ สจ๊วต แบล็ค ที่ปรึกษาด้านกฏหมายในปลายสมัยรัชกาลที่ 5 ชี้ให้เห็นปัญหาในกระบวนการศาลไทยในตอนนั้นหลายประการ เช่น ตุลาการในศาลแขวงไม่สามารถชั่งน้ำหนักของหลักฐานได้ ทนายในศาลแทบไม่ได้ทำหน้าที่อะไร อัยการเองก็ไม่มีความสามารถและเกียจคร้าน

การปฏิรูปของสยามยังเป็นเรื่องถกเถียงอีกนาน

“เพราะฉะนั้นจากข้อมูลเกี่ยวกับการศาลของไทยเองอาจจะพูดได้ว่า การปรับปรุงการศาลใน 7 หัวเมืองทำไปพร้อมๆกับการปรับปรุงการศาลในส่วนอื่นของสยามซึ่งอยู่ในระยะเริ่มต้นด้วย อาจพูดได้ว่าเอาเข้าจริงแล้ว ปัญหาด้านการศาลใน 7 หัวเมืองก็ไม่ต่างอะไรกับปัญหาที่สยามเองเผชิญอยู่ในตอนนั้น”ผศ.ดร.ปิยดา กล่าว

ผศ.ดร.ปิยดา อธิบายต่ออีกว่า การจะชี้ลงไปว่าการปฏิรูปของสยามดีและมีความชอบธรรมหรือไม่คงยังเป็นเรื่องถกเถียงกันอีกนานตราบเท่าที่สำนึกทางประวัติศาสตร์ระหว่างสยามกับปัตตานียังขัดแย้งกันอยู่ แต่สิ่งหนึ่งที่ชี้ได้คืออย่างน้อยในสมัยรัชกาลที่ 5 การปรับเปลี่ยนระบบการศาลทำให้เจ้าเมืองหมดอำนาจลงในการตัดสินคดี

“การเปลี่ยนแปลงนี้ทำให้เจ้าเมืองไม่พอใจแต่ในขณะเดียวกันก็เป็นการเปิดโอกาสให้ประชาชนที่ถูกเอาเปรียบฟ้องร้องเจ้าเมืองของตนได้โดยอาศัยกระบวนการศาลแบบใหม่ และให้โต๊ะกาลีมีส่วนเข้ามากำหนดนโยบายในการจัดการศาลศาสนามากขึ้น” ผศ.ดร.ปิยดา กล่าว

อย่ามองไทยกับหัวเมืองมลายูเพียงมิติเดียว

ผศ.ดร.ปิยดา อธิบายต่อไปด้วยว่า เอกสารของไทยถึงแม้จะเสนอมุมมองของนักปกครองชาวสยามเพียงฝ่ายเดียว แต่ก็ทำให้เราเห็นสังคมของ 7 หัวเมืองในขณะนั้นว่า มีการขัดผลประโยชน์กันเองระหว่างชนชั้นปกครองเหมือนกัน และเมื่อมีความขัดแย้งเกิดขึ้น บางครั้งสยามก็ถูกดึงเข้ามาเกี่ยวข้องด้วยในฐานะคนกลาง

“การมองประวัติศาสตร์ไทยกับหัวเมืองมลายูจึงไม่ควรมองเพียงมิติเดียวในแง่ของ “ผู้ปกครอง” และ “ผู้ถูกปกครอง” ข้อมูลด้านการศาลและกฏหมายทำให้เรารู้ว่ายังมีมิติที่ลึกกว่านั้น นั่นคือการดูว่าสังคมมลายูในตอนนั้นเองเป็นอย่างไร มีความขัดแย้งภายในอย่างไรและมีวิธีจัดการกับปัญหาอย่างไร” ผศ.ดร.ปิยดา กล่าว

 

 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

งานวิจัยฉายภาพปาตานีที่เชียงใหม่(1) : ความ(ไม่)หวังของผู้เห็นต่าง–อัตลักษณ์ผู้หญิงที่โลดแล่นจากอดีต

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net