Skip to main content
sharethis

เบญรัตน์ แซ่ฉั่ว อภิปรายหัวข้อ "หลากหลายมุมมองต่อสถานการณ์คนจน" เพื่อตอบคำถามที่ว่า "ความยากจนเป็นภัยต่อประชาธิปไตย หรือว่าการขาดประชาธิปไตยต่างหากที่ทำให้เกิดคนจนและความไม่เป็นธรรม"

4 ธ.ค. 2557 - ที่ห้องประชุมประกอบ หุตะสิงห์ อาคารเอนกประสงค์ 1 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ มีการจัดเวทีสาธารณะหัวข้อ "เหลียวหลังแลหน้าสถานการณ์คนจน" เพื่อรำลึกถึงการก่อตั้งสมัชชาคนจนปีที่ 19 โดยการประชุมดังกล่าวจัดโดย สมัชชาคนจน ร่วมกับ คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ

หลังการปาฐกถาเปิดโดยวรวิทย์ เจริญเลิศ (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง) มีการเสวนาหัวข้อ “หลากหลายมุมมองต่อสถานการณ์คนจน” โดย สมชาย ปรีชาศิลปกุล คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, เบญจรัตน์ แซ่ฉั่ว สถาบันสิทธิมนุษยชนศึกษาและการพัฒนาสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล, วีรบูรณ์ วิสารทสกุล คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, วิทยา อาภรณ์ สำนักวิชาศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ดำเนินรายการโดย อนุสรณ์ อุณโณ คณบดีคณะสังคมวิทยาและมานุษวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

โดยในการอภิปรายของเบญจรัตน์ แซ่ฉั่ว มีรายละเอียดดังนี้

000

คลิปการอภิปราย "หลากหลายมุมมองต่อสถานการณ์คนจน" โดยเบญจรัตน์ แซ่ฉั่ว

ลงทะเบียนเพื่อติดตามวิดีโอจากประชาไทได้ที่

 

 

เบญจรัตน์ แซ่ฉั่ว อภิปรายหัวข้อ "หลากหลายมุมมองต่อสถานการณ์คนจน" ในเวทีสาธารณะ "เหลียวหลังแลหน้าสถานการณ์คนจน" เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2557 ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ก่อนที่จะเข้าถึงเนื้อหาที่เตรียมมา อยากอธิบายถึงกรอบของการพูดในวันนี้สองเรื่องสั้นๆ เรื่องแรก เข้าใจว่าที่ได้รับเชิญให้มาพูด เพราะว่าเป็นผู้หญิง ดังที่ทุกท่านก็คงเห็นแล้วว่าวิทยากรวันนี้ทั้งวัน และผู้ดำเนินรายการ ไปจนถึงองค์ปาฐก เป็นผู้ชายทั้งหมด แต่สิ่งที่ดิฉันจะมาแลกเปลี่ยนในวันนี้คงไม่ใช่ในฐานะเป็นผู้หญิงหรือพูดด้วยมุมมองจากผู้หญิง แต่อยากชวนคุยด้วยจากมุมมองด้านสิทธิมนุษยชน

เรื่องที่สอง เมื่อแรกที่ผู้จัดงานเชิญดิฉันมาพูด ได้บอกว่าจะให้คุยเรื่อง “ภารกิจของคนจนในการฟื้นฟูประชาธิปไตย” แต่ตอนหลังเพื่อเป็นการหลีกเลี่ยงการถูกห้ามชัดโดยคสช. คำว่า “ฟื้นฟูประชาธิปไตย” ก็ถูกตัดออกไปและเป็นหัวข้อกว้างๆ อย่างที่เราเห็นกันแทน คือ “หลากหลายมุมมองต่อสถานการณ์คนจน” โดยที่ผู้จัดก็บอกว่า จริงๆ แล้วก็ให้พูดอย่างเดิม

สิ่งที่จะมาคุยในวันนี้ จึงเป็นการพยายามโยงทั้งสองเรื่อง คือเรื่องการ “ฟื้นฟูประชาธิปไตย” ซึ่งที่จริงคำนี้ “ฟื้นฟู” ก็น่าสนใจ เพราะเป็นการสะท้อนมุมมองที่ว่าประชาธิปไตยทุกวันนี้มันถดถอย มันเสื่อมโทรม เราจึงต้องฟื้นมันขึ้นมาใหม่ จากแนวคิดเรื่องสิทธิมนุษยชน คือจะชวนมาคิดกันว่าประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชนและคนจน สัมพันธ์กันอย่างไร

และต้องขอโทษไว้ ณ ตรงนี้ว่าสิ่งที่พูดวันนี้เป็นเรื่องพื้นๆ มากๆ แต่ก็เห็นว่าเป็นสิ่งที่จำเป็นต้องพูด พูดย้ำแล้วย้ำอีกด้วย เพราะเรื่องพื้นฐานพวกนี้ถูกตั้งคำถามในช่วงหลายปีที่ผ่านมา และเราจึงควรที่จะช่วยกันยืนยันและพูดซ้ำ และทำให้การเมืองและประชาธิปไตยเป็นเรื่องของเราทุกคน

ทำไมเราถึงต้องพูดถึงประชาธิปไตยกับคนจน หรือประชาธิปไตยของคนจน

การฟื้นฟูประชาธิปไตยนี้ คงไม่ได้เป็น “ภารกิจ” ของคนจน เพราะการสร้างประชาธิปไตยหรือระบอบการปกครองที่เคารพสิทธิเสียงของประชาชนทุกคนอย่างเท่าเทียมกันนั้นเป็นภารกิจของทุกคน ไม่ใช่เฉพาะเรื่องของคนจน ไม่ใช่ว่าคนจนมีหน้าที่เรื่องนี้มากกว่าคนอื่น เพราะนี่เป็นเรื่องที่ส่งผลต่อชีวิตของทุกคนในสังคม

แต่ที่เราจำเป็นต้องพูดถึงคนจนเป็นพิเศษ ก็เพราะอย่างที่เราเห็นได้ชัดในช่วงหลายปีมานี้ ว่าคนจนมักจะตกเป็นจำเลยของสังคม ว่าเป็นความผิดของคนจนที่เลือกเอานักการเมืองเลวๆเข้ามาบริหารประเทศ แต่ในขณะเดียวกัน โดยเฉพาะหลังการรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา เราก็พบว่าคนจนมักจะเป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบก่อนและหนักกว่าเสมอเวลาที่ระบอบการเมืองไม่เป็นประชาธิปไตย

คำถามสำคัญจึงอยู่ที่ว่า ความยากจนเป็นภัยต่อประชาธิปไตย หรือว่าการขาดประชาธิปไตยต่างหากที่ทำให้เกิดคนจนและความไม่เป็นธรรม

เพื่อจะตอบคำถามนั้น ก็อยากเชิญชวนพวกเรามาทบทวนดูประสบการณ์ของคนจนกับประชาธิปไตย และความเป็นธรรม

บางคนอาจจะบอกว่าการต่อสู้เรื่องทรัพยากร ซึ่งเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อมตามธรรมชาติ และที่สำคัญคือเกี่ยวข้องวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของพวกเรา นี่เป็นเรื่องที่ไม่เกี่ยวกับการเมือง ส่วนหนึ่งการพูดเช่นนี้อาจจะเป็นเพราะเพื่อเลี่ยงการถูกจับจ้องจากรัฐ

จริงอยู่ว่าปัญหาปากท้องหรือปัญหาเกี่ยวกับการจัดสรรทรัพยากรซึ่งเป็นเรื่องที่พวกเราส่วนใหญ่ประสบอยู่นี้เกิดขึ้นอยู่เสมอไม่ว่ากับรัฐบาลระบอบอะไร อย่างที่สมัชชาคนจนเองก็มีประสบการณ์ตรงที่ต้องออกมาเรียกร้องกับทุกรัฐบาล ทั้งทหารและพลเรือน

แต่ส่วนตัวดิฉัน คิดว่าการพยายามแยกว่าการเคลื่อนไหวคัดค้านนโยบายรัฐไม่ใช่เรื่องการเมือง นี่มันสะท้อนแนวคิดสำคัญเกี่ยวกับประชาธิปไตย — การพูดแบบนี้มองว่า “การเมือง” หมายความถึงแค่การแก่งแย่งอำนาจกันระหว่างนักการเมืองที่เลวร้าย ที่คอร์รัปชั่น ที่สนใจแค่เรื่องผลประโยชน์ของตัวเอง การพูดแบบนี้มีนัยยะว่าจะเสนอว่าการต่อสู้เพื่อสิ่งแวดล้อมและเพื่อวิถีชีวิตเป็นเรื่องบริสุทธิ์ ไม่แปดเปื้อนกับความสกปรกของนักการเมืองและผลประโยชน์

จริงอยู่ว่าสิ่งที่พวกเราเรียกร้องเป็นเพียงเรื่องการได้มีชีวิตรอด การได้เข้าถึงทรัพยากรธรรมชาติเพื่อดำรงชีพ ไม่ใช่เพื่อสร้างความมั่งคั่งร่ำรวย แต่สิ่งที่พวกเราต่อสู้กันอยู่ นี่คือเรื่องการเมืองล้วนๆ เราต่อสู้เพื่อจะได้มีอำนาจมากขึ้นในการบอกว่าเราต้องการมีวิถีชีวิตอย่างไร เราต่อสู้เพื่อจะได้มีสิทธิมีเสียงในการกำหนดว่าใครจะได้มีสิทธิในการจัดการหรือได้ประโยชน์จากทรัพยากรอย่างไรบ้าง นี่คือเรื่องการเมือง

ดิฉันเห็นว่าเราต้องพยายามทวงคืนความหมายของคำว่า “การเมือง” และประชาธิปไตย กลับมาให้เป็นเรื่องของพวกเรา เราต้องไม่ปล่อยให้การเมืองถูกมองว่าเป็นแค่เรื่องของการคอร์รัปชั่น หรือการแย่งชิงกันระหว่างชนชั้นสูง จนกลายเป็นว่าการเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิทางการเมืองของประชาชนกลายเป็นสิ่งสกปรกแปดเปื้อน หรือถูกมองว่าเป็นสิ่งที่ก่อความวุ่นวายให้สังคม หรือปล่อยให้การเมืองกลายเป็นเรื่องของ “คนดี” ที่ถูกมอบอำนาจให้มาทำการตัดสินทุกอย่างแทนเรา

“ประชาธิปไตย” กับความเป็นธรรม ต้องพยายามขยายนิยามความหมายของประชาธิปไตยไปแล้ว ว่าต้องไม่ไปยึดติดภาพว่าเวทีการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตยนี่เป็นเวทีของนักการเมืองเท่านั้น และในขณะเดียวกันเราก็ต้องพยายามขยายความหมายของประชาธิปไตยไปกลับไปสู่ความหมายจริงๆ ของมัน คือให้ครอบคลุมถึงการออกนโยบายที่เป็นธรรมในสังคมด้วย

พวกเราคงคุ้นเคยกับคำที่ประภาส ปิ่นตบแต่ง เสนอว่าเวลาเราพูดถึงประชาธิปไตย ต้องเป็น “ประชาธิปไตยที่กินได้ และเห็นหัวคนจน” ที่เน้นถึงว่ารัฐบาลจะต้องตอบสนองต่อความต้องการด้านปากท้องของประชาชน และฟังเสียงจากประชาชน ซึ่งเป็นการพยายามขยายความหมายของคำว่าประชาธิปไตยไปมากไปกว่าการลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง

ซึ่งข้อถกเถียงเกี่ยวกับประชาธิปไตยที่เราได้ยินกันช่วงนี้ มันถอยหลังกลับไปหลายปี ทุกวันนี้ที่เราคุยกันเรื่องประชาธิปไตยมันกลายเป็นข้อถกเถียงเป็นเรื่องพื้นฐานไปกว่านั้นอีก โดยหมายถึงตั้งแต่เรื่องการมีสิทธิมีเสียงเป็น “พลเมือง” ที่เท่าเทียมกัน ซึ่งก็อย่างที่บอก ว่าที่จริงก็ไม่นึกว่า ณ วันนี้เรายังต้องมาพูดเรื่องนี้กันอีก

เพื่อให้ได้ประชาธิปไตยที่เห็นหัวคนจนนี่ เรายังจำเป็นต้องยึดประชาธิปไตยตามรูปแบบหรือไม่ พูดง่ายๆก็คือ เรายังจำเป็นต้องยึดหลัก “ประชาธิปไตย” ระบบการเลือกตั้ง ที่ถูกมองว่าแสนจะเลวร้ายนี้ หรือไม่ หรือว่าระบอบอะไรก็ได้ที่ได้คนดีขึ้นมาปกครองแล้วก็ออกนโยบายเพื่อคนจนก็เพียงพอแล้ว อันนี้เป็นคำถามสำคัญในช่วงเวลาที่ผ่านมาเพราะเราก็ได้เห็นข้อบกพร่องของการปฏิบัติในระบอบประชาธิปไตยอยู่เสมอ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการที่นักการเมืองเข้ามาแสวงประโยชน์ หรือการผูกขาดอำนาจของรัฐโดยนักการเมือง และจึงไม่ได้ตอบสนองประโยชน์ของคนส่วนใหญ่

ประเด็นที่ต่อเนื่องมาก็คือ เราจำเป็นจะต้องทบทวนระบอบการเมืองแบบคนดีที่เราอยู่ในปัจจุบันนี้ ว่ามันเอื้อต่อสิทธิของพวกเราหรือไม่ เอื้อต่อการสร้างความเป็นธรรมในสังคมหรือไม่ ซึ่งถ้าเราตอบข้อนี้ได้เราก็จะได้คำตอบของข้อแรกด้วยนะคะว่าประชาธิปไตยแบบเลือกตั้งยังจำเป็นหรือไม่

ตัวดิฉันก็อยากจะลองตอบคำถามเรื่องหลักการพื้นๆ ทั้งสองนี้ ไม่ใช่ด้วยหลักทฤษฎีหรือหลักปรัชญาทางการเมือง แต่ด้วยการมองย้อนประสบการณ์ของไทยเราในช่วงที่ผ่านมา

ประการแรก การไม่ยอมรับหลักการเลือกตั้งหมายถึงอะไร - มันหมายถึงการปฏิเสธไม่ยอมรับหลักว่าประชาชนทุกคนมีความเท่าเทียมกัน และมีความสามารถในการพิจาณาตัดสินใจเลือกนักการเมืองและนโยบายทางการเมืองได้อย่างเท่าเทียมกัน เมื่อปราศจากความเชื่อในเรื่องความเท่าเทียมกันของประชาชนทุกคนแล้ว เราก็แทบจะไม่ต้องมาพูดถึงเรื่องความเป็นธรรมในการจัดสรรสิทธิในทรัพยากรต่างๆ เลย และนี่เองที่เป็นหัวใจของประชาธิปไตย

ประการต่อมา ดังที่ได้พูดมาแล้วนะคะ ว่าเมื่อสังคมไม่เป็นประชาธิปไตย คนที่ได้รับผลกระทบก่อนคนอื่น และมักจะได้รับผลกระทบหนักกว่าคนอื่น ก็มักจะเป็นคนจน คนด้อยโอกาส คนที่มีอำนาจน้อยกว่าในสังคมอยู่เสมอ

ช่วงที่ผ่านมา ผลกระทบต่อคนจนนี่เห็นได้ชัด และปรากฏออกมาในหลายรูปแบบ

เราเห็นตัวอย่างมาตั้งแต่เรื่องการที่รัฐเอื้อประโยชน์ต่อธุรกิจหรือคนรวย ในขณะที่ชาวบ้านต้องเสียสละ อย่างเช่นกรณีการใช้เจ้าหน้าที่ฝ่ายบังคับใช้กฎหมายของรัฐ ทั้งตำรวจและทหาร เข้าไปเอื้อการดำเนินงานของเอกชนที่ทำเหมืองทองที่จ.เลย

เราได้เห็นการเคร่งครัดกับนโยบายทรัพยากรที่เป็นการละเมิดสิทธิของประชาชน เช่น เรื่องแผนป่าไม้ หรือการบังคับใช้นโยบายโดยปราศจากการปรึกษาหารือกับประชาชนที่ได้รับผลกระทบ แม้ว่าบางนโยบายอาจจะดูมีเป้าหมายที่ดี เช่นเรื่องการจัดระเบียบร้านค้าตามท้องถนนหรือย่านตลาด แต่ถ้าไม่ได้ปรึกษาหารือก่อนหรือไม่ได้เปิดโอกาสให้คนที่เกี่ยวข้องได้แสดงความเห็น ก็มีโอกาสสูงมากที่การจัดระเบียบจะทำให้คนหาเช้ากินค่ำไม่มีที่ทำกินหรือต้องจ่ายค่าแพงขายของที่แพงขึ้น

อีกอย่างคือการตัดตอนการมีส่วนร่วมของประชาชนในการเมืองท้องถิ่น การที่ไม่ให้มีการเลือกตั้งระดับท้องถิ่นก็ทำให้การเมืองกระจุกตัวอยู่ในกรุงเทพฯ โอกาสที่เราจะเจรจาต่อรองกับการเมืองได้ก็ยากขึ้น

แน่นอนว่าเรื่องที่พูดมานี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ มันเกิดกับทั้งรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งและรัฐบาลทหาร หรือบางครั้งสถานการณ์บางเรื่องอาจจะรุนแรงกว่าด้วยซ้ำในรัฐบาลพลเรือนบางรัฐบาล แต่สิ่งที่ต่าง และเป็นที่สำคัญที่สุด คือการไม่เปิดโอกาสให้คัดค้าน เมื่อมีการตั้งคำถามหรือออกมาพูดถึงปัญหาของการบังคับใช้นโยบายเหล่านั้น ก็จะถูกหยุด เช่น กลุ่มเดินขาหุ้นของภาคใต้ที่เคลื่อนไหวเรื่องนโยบายพลังงานถูกหยุดระหว่างทาง การใช้กำลังข่มขู่คุกคามชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากเหมืองทองที่เลยรวมไปถึงกลุ่มนักศึกษาที่เข้าไปสนับสนุน หรืออย่างการเดินผลักดัน พ.ร.บ.สี่ฉบับที่เกี่ยวกับที่ดินที่เชียงใหม่ เรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องสำคัญ การตั้งคำถามไม่ได้ รับรู้ข้อมูลไม่ได้ คัดค้านไม่ได้ เคลื่อนไหวไม่ได้ และการไม่มีส่วนร่วม นี่เป็นหัวใจของประชาธิปไตย

สิ่งสำคัญที่จะทำให้ประชาธิปไตยตอบสร้างความต้องการของประชาชน และความเป็นธรรมได้จริง ก็คือพลังของประชาชนที่จะผลักดันให้เกิดความรับผิดชอบของนักการเมืองเหล่านั้นต่อประชาชน ประชาธิปไตยเป็นกระบวนการตัดสินใจร่วมกัน ที่คนแต่ละกลุ่มในสังคมมีปากมีเสียงเท่าเทียมกันในการกำหนดกฎกติกาต่างๆที่จะมาปกครองพวกเขาเอง การเคารพหลักการเช่นนี้ก็จำต้องมีการคุ้มครองเสรีภาพในการพูด การแสดงความเห็น การชุมนุมรวมตัว การยอมรับในเสียงของคนส่วนใหญ่ในการตัดสินว่าใครจะเป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง และว่าจะใช้กฎหมายอะไรในการปกครองชุมชน โดยที่ทุกคนในสังคมมีสิทธิเท่าเทียมกันในการออกเสียงเช่นนั้น

เพราะฉะนั้นสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานในการแสดงออก ในการวิพากษ์วิจารณ์รัฐ นโยบายรัฐ การดำเนินกิจการต่างๆ ของรัฐและเจ้าหน้าที่รัฐ จึงเป็นสิ่งสำคัญมาก สิทธิในการแสดงความไม่เห็นด้วย การต่อต้าน การขัดขั้น เป็นเสรีภาพขั้นพื้นฐานที่ทำให้ประชาธิปไตยเป็นจริง ถ้าไม่มีสิทธิเหล่านี้ประชาธิปไตยก็ไม่สามารถดำเนินไปได้ สิทธินี้เกี่ยวข้องกับสิทธิในการมีส่วนร่วมในทุกขั้นตอนของกระบวนการกำหนดนโยบาย

ดังนั้น แม้ผลของกระบวนการประชาธิปไตย การเลือกตั้ง อาจจะนำนักการเมืองที่ไม่เป็นธรรมมาสู่อำนาจก็ได้ แต่อย่างไรเสียกระบวนการประชาธิปไตยก็เป็นวิธีการที่่ดีที่สุดในการทำให้เกิดความเป็นธรรม สังคมที่ปกครองโดยคนดี คนฉลาด หรือชนชั้นสูงไม่กี่คน ไม่มีทางเป็นธรรมได้ ไม่ว่าคนเหล่านั้นจะออกนโยบายที่นำไปสู่การจัดสรรทรัพยากรที่เป็นธรรมอย่างไร องค์กรทางการเมืองจะต้องเป็นธรรมด้วยจึงจะเป็นประชาธิปไตย ประชาธิปไตยจึงเป็นทั้งวิธีการและเป้าหมายเพื่อไปสู่สังคมที่เป็นธรรม

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net