ปีกว่าการต่อสู้สหภาพแรงงานสแตนเล่ย์ฯ ท่ามกลางทุน-รัฐที่หยามเยาะศักดิ์ศรี

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

1 ธันวาคม 2557 สมาชิก “สหภาพแรงงานสแตนเล่ย์ประเทศไทย” จำนวน 12 คน ที่ถูกนายจ้างปิดงานทั้งหมดจำนวน 44 คน และยังคงสามารถยืนหยัดต่อสู้มาตั้งแต่วันที่บริษัท “ปิดงาน” คือเมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2556 หรือเมื่อ 1 ปีที่ผ่านมานั้น ได้กลับเข้าไปรายงานตัวกับทางบริษัทฯ เพื่อทำงานต่อเรียบร้อยแล้ว

สถานการณ์ดังกล่าวนี้เกิดขึ้นหลังจากที่บริษัทสแตนเล่ย์ เวิร์คส์ จำกัด ซึ่งตั้งอยู่ที่นิคมอุตสาหกรรมเวลโกรว์ ตำบลบางวัว อำเภอบางปะกง จังหวัดฉะเชิงเทรา ได้ใช้สิทธิตาม พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 “ปิดงาน” เฉพาะสมาชิก “สหภาพแรงงานสแตนเล่ย์ประเทศไทย” จำนวน 44 คน มาตั้งแต่ปีที่แล้ว

การปิดงาน หมายถึง การที่นายจ้างปฏิเสธไม่ยินยอมให้ลูกจ้างทำงานชั่วคราว เนื่องจากมีปัญหาข้อพิพาทแรงงานที่ตกลงกันไม่ได้ เป็นมาตรการที่นายจ้างมีความประสงค์จะให้ลูกจ้างได้รับความเดือดร้อนในระหว่างปิดงาน เพราะลูกจ้างจะไม่มีรายได้

เนื่องจากเมื่อลูกจ้างมาทำงานไม่ได้ ก็จะไม่ได้รับค่าจ้าง เพราะสัญญาจ้างแรงงานเป็นสัญญาต่างตอบแทน เมื่อไม่ได้ทำงานให้นายจ้าง นายจ้างก็ไม่ต้องจ่ายค่าจ้าง เป็นวิธีการกดดันลูกจ้างให้ยอมตามข้อเรียกร้องที่นายจ้างกำหนด การปิดงานเป็นการกระทำโดยการห้ามให้ลูกจ้างเข้าทำงาน ดังนั้นคนที่ได้รับความเดือดร้อนคือ ลูกจ้างนั้นเอง

ใครบางคนบอกมาว่า “1 ธันวาคม 2557 ไม่ใช่วันที่สวยงานของผู้กล้าสแตนเล่ย์จริงๆ เพราะนายจ้างได้สร้างเงื่อนไขไม่น้อยที่ทำให้ลูกจ้างเกิดความสับสนว่าจะเอายังไงดี อีกทั้งยังสร้างให้เกิดความหวาดกลัวประเด็นทางกฎหมาย กลัวเสียเปรียบ และบริษัทก็มีข้อเสนอทั้งแลกกับการลาออก และการกดดันเพิ่มถ้ายังคงทำงานต่ออยู่ในบริษัทแห่งนี้ วันนี้หลังจากรายงานตัวแล้ว บริษัทก็มีการหาเหตุเลิกจ้างสมาชิกสหภาพแรงงานเพิ่มอีก 1 คน จากข้อหาเรื่องการโพสต์ facebook”

ไม่ว่าสถานการณ์จะเลวร้ายหรือไม่สวยงามอย่างไร ฉันก็ยังขอคารวะอย่างสุดจิตสุดใจต่อความเข้มแข็งของ “ใจ” ของพี่น้องแรงงานกลุ่มนี้ทั้ง 10 กว่าคนนี้อยู่เช่นเดิม

ฉันเชื่อและตระหนักดีว่า “ศักดิ์ศรีแรงงานในฐานะแรงงาน ในฐานะสมาชิกสหภาพแรงงาน ถึงกินไม่ได้ แต่มันทำให้เราอิ่มอกอิ่มใจได้จริง”

ฉันเชื่ออีกว่า “สิ่งที่พวกเขาและเธอทั้ง 11 คน” เลือกยืนหยัดมาจน ณ วินาทีนี้ ไม่ได้ลดหรือเพิ่มคุณค่าการกระทำของพวกเขาและเธอลงไปได้

ความสำคัญที่แท้ของการมีเข็มมุ่งเรื่องอุดมการณ์สหภาพแรงงานเป็นเข็มทิศในการนำทางชีวิต อยู่ที่การได้ท้าทายตัวเอง ได้ผลักดันตัวเอง ได้ร่วมทุกข์ร่วมสุขไปด้วยกัน และยังมีคนที่คิด เชื่อ และลงมือทำเหมือนกับเรา

เมื่อเป้าหมายของชีวิตแบบนี้ คือ ปลายทางของคุณภาพชีวิตที่ดีที่ได้จากการทำงาน ดังนั้นการกระทำของพวกเขาและเธอ ก็ไม่ควรด้อยค่าไปกว่าการได้กลับเข้ารั้วโรงงานหรือเลือกเดินจากไป

ย้อนไปบางวันเมื่อต้นปี 2557 ที่ฉันได้มีโอกาสไปนั่งผิงไฟ ณ ที่ชุมนุมหน้าบริษัทสแตนเล่ย์ เวิร์คส์ จำกัด

ฉันแอบมองแววตาของพวกเขาและเธอทั้ง 44 คน

แน่นอนคนกลุ่มนี้ไม่ใช่แรงงานประเภทที่เดินไปไหนมาไหนแล้วจะมีรัศมีของนักสหภาพแรงงานจับให้เห็นอย่างโดดเด่นชัด

พวกเขาและเธอทั้ง 44 คน ไม่ได้เป็นคนประเภทที่เกิดมาเพื่อจะเป็นนักต่อสู้

แต่พวกเขาและเธอทั้ง 44 คน เพียงแต่ต่อสู้ในสิ่งที่ตนเชื่อว่าถูกต้อง ยืดหยัดในศักดิ์ศรีความเป็นแรงงาน

ศักดิ์ศรีแรงงานมันกินไม่ได้หรอก แต่มันช่วยยืนยันความเป็นมนุษย์บนโลกพิกลพิการใบนี้ ที่เราต้องอยู่และสู้ต่อไป

ท่ามกลางที่ชีวิตแรงงานในประเทศไทยต้อง

- ทำงานล่วงเวลาเพื่อหารายได้ สมาชิกรวมถึงกรรมการสหภาพแรงงานหลายคนจึงปฏิเสธงานล่วงเวลาตามที่สหภาพแรงงานกำหนด

- สมาชิกสหภาพแรงงานจำนวนไม่น้อยไม่เห็นด้วยกับการนัดหยุดงาน เพราะทำให้เสียรายได้ และเสี่ยงต่อการถูกเลิกจ้างในภายหลัง ขณะเดียวกันก็กลัวการปิดงานของนายจ้าง ซึ่งก็ทำให้ตนเองจะไม่ได้รับค่าจ้าง

- นายจ้างหลายแห่งมีข้อเรียกร้องสวนทาง เมื่อการเจรจาถึงทางตันสหภาพแรงงานเลือกถอนข้อเรียกร้อง เพื่อใช้ข้อตกลงเดิมต่อไปอีก 1 ปีตามกฎหมายแรงงานสัมพันธ์ สถานการณ์ดังกล่าวนี้ไม่ได้ทำให้ข้อพิพาทแรงงานยุติ แต่ข้อพิพาทแรงงานยังคงอยู่ จนกว่าพนักงานจะลงชื่อยินยอมตามข้อเสนอของนายจ้างเท่านั้น

ดังนั้นสิ่งที่แรงงานทั้ง 44 คน เจอนี้จึงไม่ใช่โชคชะตา แต่คือสิ่งที่มนุษย์กระทำต่อมนุษย์ต่อกัน

คือสิ่งที่ทุนและรัฐหยามเยาะและโบยตีศักดิ์ศรีความแรงงานในตลอด 1 ปีกว่าที่ผ่านมา

แน่นอนพวกเขาและเธอทั้ง 44 คน ต่างก็มีความกลัวนายจ้าง รัฐ ทุน และอื่นๆอีกมากมาย

แต่นั้นเองด้วยหัวใจที่สัตย์ซื่อในความเป็นกรรมกรตัวเล็กๆที่มีศักดิ์ศรีอย่างเต็มเปี่ยม ที่ไม่มีอาวุธหรือเครื่องไม้เครื่องมือใดๆ นอกจากคำว่า “สหภาพแรงงาน”

เมื่อเทียบกับพลานุภาพของนายจ้างหรือภาครัฐที่ถือกฎหมายในมือ และพร้อมจะโบกโบยตีฟาดฟันพวกเขาและเธอได้ตลอดเวลา

การต่อสู้จึงดำเนินมาและจะดำเนินต่อไป

และเช่นเดียวกันไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น ฉันก็จะไม่หยุดพูดเรื่อง “สหภาพแรงงานสแตนเล่ย์ประเทศไทย” อย่างแน่นอน

ความเดิม

สหภาพแรงงานสแตนเล่ย์ประเทศไทย เป็นการรวมตัวของแรงงานบริษัทสแตนเล่ย์ เวิร์คส์ จำกัด

บริษัทสแตนเล่ย์ เวิร์คส์ จำกัด ตั้งอยู่ที่นิคมอุตสาหกรรมเวลโกรว์ ซอย 12 เลขที่ 92 หมู่ 9 ถนนบางนา-ตราด ตำบลบางวัว อำเภอบางปะกง จังหวัดฉะเชิงเทรา เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด สัญชาติแคนาดาร่วมทุนกับสัญชาติอเมริกัน เลขทะเบียนนิติบุคคล 0-10-5-532-08270-6 ทะเบียนเลขที่ 0104432082706 ประกอบธุรกิจเกี่ยวกับการผลิตเครื่องมือวัด

มีนายโนอาห์ เชพเฟิร์ด เป็นกรรมการผู้จัดการ และมีนายวินัย สุวรรณโรจน์ เป็นฝ่ายบุคคลบริษัท ทำหน้าที่ประสานงานกับกรรมการชาวต่างประเทศ ปัจจุบันมีพนักงานรวม 482 คน โดยเป็นพนักงานประจำ 382 คน และพนักงานเหมาค่าแรง 100 คน ทั้งนี้บริษัทสแตนเลย์ที่มีการจ้างงานทั่วโลกรวมแรงงานทั้งหมด 4-5 หมื่นคน แต่พบว่ามีแรงงานอยู่ภายใต้ข้อตกลงการเจรจาต่อรองร่วมเพียงแค่ 800 คนเท่านั้น

ย้อนหลังไปเมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 2556 บริษัทสแตนเล่ย์ เวิร์คส์ได้มีการจัดตั้งสหภาพแรงงานขึ้นมาอีกสหภาพหนึ่งในบริษัท ชื่อว่าสหภาพแรงงานสแตนเล่ย์ เวิร์คส์ ทั้งนี้สมาชิกส่วนใหญ่ของสหภาพแรงงานนี้ คือ สมาชิกที่ลาออกไปจากสหภาพแรงงานสแตนเล่ย์ ประเทศไทย ซึ่งเป็นสหภาพแรงงานที่จัดตั้งมาตั้งแต่ปี 2547

ต่อมาในวันที่ 24 กันยายน 2556 สหภาพแรงงานสแตนเล่ย์ ประเทศไทย ซึ่งขณะนี้เหลือสมาชิกเพียง 44 คน (จากทั้งหมด 295 คน เป็นผู้ชาย 93 คน ผู้หญิง 202 คน) ได้มีการยื่นข้อเรียกร้องประจำปีเพื่อขอปรับสภาพการจ้างกับบริษัท ก่อนที่ข้อเรียกร้องเดิมที่มีระยะเวลา 2 ปี จะหมดอายุ (28 ตุลาคม 2554 - 27 ตุลาคม 2556)

ระหว่างวันที่ 25 กันยายน – 28 ตุลาคม 2556 มีการเจรจาระหว่างบริษัทฯกับสหภาพแรงงานสแตนเล่ย์ ประเทศไทยเพียง 2 ครั้ง แต่ไม่สามารถหาข้อยุติได้

อีกทั้งบริษัทได้มีการยื่นข้อเรียกร้องสวนต่อสหภาพแรงงานสแตนเล่ย์ ประเทศไทย เพื่อขอยกเลิกข้อตกลงสภาพการจ้างเดิมที่เคยปฏิบัติมาทั้งหมด รวมถึงการยื่นข้อเรียกร้องเพิ่มเติมเรื่องการไม่ปรับขึ้นเงินโบนัสและจำนวนเงินขึ้นประจำปีเป็นเวลารวม 3 ปี

ข้อเรียกร้องสวนดังกล่าวทำให้สมาชิกสหภาพแรงงานสแตนเลย์ ประเทศไทย จำนวน 251 คน ยอมรับเงื่อนไขดังกล่าวเพื่อแลกกับเงินโบนัสปลายปีที่จะได้รับ และไม่ต้องถูกปิดงาน

11 ตุลาคม 2556 บริษัทแจ้งว่าได้ทำข้อตกลงสภาพการจ้างฉบับใหม่กับสหภาพแรงงานสแตนเล่ย์ เวิร์คส์ เรียบร้อยแล้ว และถ้าลูกจ้างคนใดไม่ยินยอมเซ็นรับข้อตกลงใหม่จะถือว่าไม่ใช่ลูกจ้างบริษัทอีกต่อไป

ทั้งนี้ในวันที่ 29 ตุลาคม 2556 บริษัทได้ใช้สิทธิปิดงานเฉพาะสมาชิกสหภาพแรงงานสแตนเล่ย์ ประเทศไทย รวม 44 คน ทำให้พนักงานกลุ่มนี้ไม่ได้รับค่าจ้างมาตั้งแต่วันที่ 29 ตุลาคม 2556 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน และทำให้มีพนักงานหญิงที่ตั้งครรภ์คนหนึ่งเกิดความเครียดและแท้งบุตร

อีกทั้งในวันที่ 9 มกราคม 2557 บริษัทได้ยื่นเงื่อนไขเพิ่มเติมจำนวน 18 ข้อ สำหรับพนักงาน 44 คนเพียงเท่านั้น ถึงจะยอมรับการกลับเข้าทำงาน

ก่อนหน้านั้นเมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2556 สหภาพแรงงานสแตนเล่ย์ ประเทศไทย ได้ยื่นฟ้องต่อคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ (ครส.) กรณีที่นายจ้างกระทําการละเมิด พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 มาตรา 121 (1), (2), (3), (4) และมาตรา 122 (1)

เพื่อขอให้ครส.ชี้ขาดและมีคําสั่งให้นายจ้างจ่ายค่าเสียหายเท่ากับค่าจ้างที่ได้รับในอัตราสุดท้ายก่อนถูกปิดงาน จนกว่าจะได้เข้าทํางานและสิทธิประโยชน์อื่นๆ เสมือนมิได้ถูกปิดงาน พร้อมดอกเบี้ย 7.5 %

ซึ่งในกรณีนี้คณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ได้วินิจฉัยว่า ทั้งสองฝ่ายได้ใช้สิทธิยื่นข้อเรียกร้องและดําเนินการตามขั้นตอนของกฎหมาย นายจ้างมิได้กระทําการใดๆ ที่เป็นการฝ่าฝืนกฎหมายที่กล่าวอ้าง จึงมีคําสั่งที่ 464 - 507/2557 ยกคําร้องของสหภาพแรงงานสแตนเล่ย์ประเทศไทย

ทำให้สหภาพแรงงานสแตนเล่ย์ ประเทศไทย จึงใช้สิทธิทางศาลแรงงานต่อ และนำมาสู่วันที่ 14 ตุลาคม 2557 ที่ศาลแรงงานภาค 2 จังหวัดชลบุรี มีคำพิพากษายกฟ้องที่ทางสหภาพแรงงานสแตนเลย์ ประเทศไทย ฟ้องบริษัทสแตนเล่ย์ เวิร์คส์ มาตั้งแต่เดือนตุลาคม 2556

ทั้งนี้ศาลได้พิพากษาว่า การปิดงานของบริษัทสแตนเล่ย์ เวิร์คส์ ชอบด้วยกฎหมาย ดังนั้นประเด็นอื่นๆที่เกี่ยวข้องจึงไม่นำมาพิจารณาต่อไป เช่น การที่บริษัทแทรกแซงโดยการสนับสนุนให้จัดตั้งสหภาพใหม่ขึ้นมา เพราะถือว่าเป็นการปิดงานโดยชอบแล้ว

ด้วยความเคารพในคำตัดสินทั้งของศาล และ ครส. ข้อสังเกตของฉันก็คือ ศาลและ ครส. ไม่ได้พิจารณาว่าในข้อเท็จจริงที่ไม่เกี่ยวกับกฎหมาย แต่เป็นเรื่องความเป็นธรรมในความเป็นมนุษย์ที่ว่า ก่อนหน้าที่จะปิดงาน บริษัทได้กดดันและลดทอนอำนาจการต่อรอง ผ่านการตัดสิทธิประโยชน์และสวัสดิการที่ได้รับก็ตาม

นี้ไม่นับว่าการสนับสนุนให้มีการก่อตั้งสหภาพแรงงานอีกแห่งหนึ่งขึ้นมาในสถานประกอบการเดียวก็ตาม ทั้งการสนับสนุนเงินและสถานที่ และการประชุมต่างๆก็ตาม โดยที่ไม่ได้สนับสนุนสหภาพแรงงานแห่งเดิมในลักษณะเช่นเดียวกัน

แน่นอนฉันตระหนักดีมากว่า ช่องว่างของพ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 มาตรา 13 ที่ระบุเรื่อง การให้โอกาสทั้งลูกจ้างและนายจ้างในการเสนอเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้าง โดยให้จัดทำเป็นหนังสือยื่นต่ออีกฝ่ายหนึ่ง เป็นช่องว่างสำคัญต่อลูกจ้าง

กล่าวคือ หากสหภาพแรงงานหรือลูกจ้างปฏิเสธไม่รับหรือไม่เจรจาข้อเรียกร้องที่นายจ้างยื่นมานั้นก่อนข้อตกลงเดิมหมดอายุ

เมื่อครบกำหนด 3 วันแล้ว นายจ้างสามารถใช้สิทธิแจ้งเจ้าหน้าที่แรงงาน เพื่อกลายเป็นข้อพิพาทแรงงาน และนำไปสู่การใช้สิทธิ “ปิดงาน” ของนายจ้างได้อย่างถูกกฎหมาย

นอกจากนั้นแล้วเมื่อสหภาพแรงงานได้เลือกยุติข้อพิพาทด้วยการถอนข้อเรียกร้องของตนเอง แต่ข้อพิพาทในข้อเรียกร้องของนายจ้างยังคงอยู่ จนกว่าฝ่ายลูกจ้างจะยอมเจรจาหรือยอมตกลงตามเงื่อนไขนายจ้าง นายจ้างก็ยังสามารถใช้สิทธิปิดงานได้อีกต่อไปโดยไม่มีกำหนด จนกว่าลูกจ้างจะยอมรับเงื่อนไขของนายจ้าง

นี้จึงเป็นจุดอ่อนที่สำคัญมากของสหภาพแรงงานในประเทศไทย

เมื่อคำพิพากษาปรากฏออกมาเช่นนี้ ทำให้สหภาพแรงงานสแตนเลย์ ประเทศไทย จึงกลับไปสู่การใช้กระบวนการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทอีกครั้งหนึ่ง และในที่สุดเมื่อวันที่ 7 เดือนพฤศจิกายน 2557 ทางสหภาพแรงงานฯจึงตัดสินใจยอมรับข้อเรียกร้องของนายจ้างฉบับลงวันที่ 11 ตุลาคม 2556 โดยเฉพาะในเรื่องการไม่ปรับเงินขึ้น และการไม่ได้โบนัสตลอดช่วง 3 ปีของการทำงาน

ดังนั้นเมื่อลูกจ้างรับข้อเรียกร้องดังกล่าว ข้อพิพาทแรงงานจึงเป็นอันยุติ และบริษัทฯจักต้องรับลูกจ้างในส่วนที่ยังเหลืออยู่ทั้งหมดกลับเข้าทำงานโดยไม่สามารถบิดพลิ้วได้

ทั้งนี้บริษัทแจ้งว่าจะจ่ายค่าจ้างนับตั้งแต่วันที่ 8 พฤศจิกายน 2557 เป็นต้นไป โดยลูกจ้างที่เหลืออยู่ทั้ง 12 คน ต้องเข้าไปรับหนังสือที่บริษัทฯเมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน 2557 เพื่อให้กลับเข้าไปรายงานตัวในวันที่ 1 ธันวาคม 2557

สถานการณ์ก่อนถึงวันที่ 1 ธันวาคม 2557 คือ ทั้ง 44 คน ยังไม่มีใครได้รับค่าจ้าง พนักงานจำนวนหนึ่งที่ทนแรงกดดันและแบกรับภาระทางเศรษฐกิจไม่ไหว ได้ตัดสินใจลาออกจากบริษัทเพื่อเลือกรับค่าชดเชยแทน

อีกประการหนึ่งที่สำคัญ คือ แม้ลูกจ้างทั้ง 12 คน จะกลับเข้าไปทำงานแล้วก็ตาม

แต่ตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2557 ที่ผ่านมา ยังมีนักสหภาพแรงงานอีก 4 คน ที่เข้าไปช่วยในกระบวนการต่อสู้ของสหภาพแรงงานสแตนเลย์ ประเทศไทย ได้แก่ นายลาเร่ อยู่เป็นสุข (1 คดี) นายวินัย ติ่นโตนด (2 คดี) นายประสิทธิ์ ประสพสุข (3 คดี) และนางสาวเรืองรุ่ง วิเชียรพงษ์ (1 คดี) ได้ถูกบริษัทสแตนเล่ย์ เวิร์คส์ ฟ้องดำเนินคดีในข้อหาหมิ่นประมาท ต่อศาลอาญาจังหวัดฉะเชิงเทรา รวมทั้ง 4 คน 7 ข้อหา ซึ่งขณะนี้ได้มีการประกันตัวออกมาแล้ว

ทั้งนี้ในวันที่ 8 ธันวาคม 2557 ศาลได้มีการนัดไกล่เกลี่ยคดีหมิ่นประมาทของนายวินัย ติ่นโตนด นายประสิทธิ์ ประสพสุข และนางสาวเรืองรุ่ง วิเชียรพงษ์ ส่วนกรณีของนายลาเร่ อยู่เป็นสุข ได้มีการนัดสืบพยานนัดแรก ในวันที่ 17-18 กุมภาพันธ์ 2558

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท